แม้ว่าน้ำนมคืออาหารชนิดแรก ๆ ที่มนุษย์จะได้กินหลังเกิดมา และยังเป็นส่วนประกอบของอาหารแสนอร่อยมากมายหลายเมนู ทว่าในน้ำนมนั้นก็มีส่วนประกอบของน้ำตาลแลคโตส ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สนุกเอาเสียเลยสำหรับคนที่มีอาการแพ้น้ำตาลชนิดนี้

อาการแพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose Intolerance) คืออาการที่ร่างกายย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ไม่หมด ส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดหรือท้องเสียตามมา พบได้ในคนทั่วโลกกว่า 65% และในประเทศไทย ผู้คนกว่า 84% มีอาการนี้แฝงอยู่

โดยเฉพาะสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แค่เพียงจินตนาการว่าลูกน้อยมีอาการนี้ก็น่าเหนื่อยใจแล้ว

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ หยอง-ฐานันต์ แก้วดิษฐ์ อดีตนักออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิกและทีมโปรดักชั่นสื่อโทรทัศน์ สู่ผู้ก่อตั้งแบรนด์ White Tiger King ผลิตภัณฑ์นมจากถั่วลายเสือ แห่งอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

หยอง-ฐานันต์ แก้วดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ White Tiger King

เมื่อลูกสาวของเขาต้องเกิดมาพร้อมอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนปัญหานี้ให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่นอกจากช่วยเหลือเกษตรกรในชุมชนได้แล้ว ยังประสบความสำเร็จจนเข้าชิงรางวัลหลายรายการ ตั้งแต่รางวัลสุดยอด SMEs ดีเด่น ไปจนถึงรางวัลจากงานแสดงสินค้าระดับโลกอย่าง Fi Asia Thailand

ถั่วลายเสือคั่วคือเมนูของกินเล่นตามตลาดทั่ว ๆ ไปที่หลายคนคงชินตาและมองข้าม

แล้วคนคนหนึ่งที่ไม่ได้มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อาหาร (Food Science) มาก่อน เปลี่ยนของที่ถูกมองข้ามนี้ให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจนี้ได้อย่างไร นี่คือจุดเริ่มต้นของบทสนทนาในวันนี้

จากเมืองกรุงสู่เมืองปาย

ชีวิตของหยองเริ่มต้นขึ้นเหมือนคนทั่วไป หลังจากเรียนจบด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกและโฆษณา เขาทำงานต่อในสายงานด้านโปรดักชั่นสื่อโทรทัศน์ตามแนวทางที่เรียนมา

จนกระทั่งภรรยาของเขาตัดสินใจว่าอยากกลับบ้านเกิดเมืองนอนที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน หยองที่อิ่มตัวกับสายงานด้านการกำกับหนังสั้น จึงตัดสินใจกลับไปช่วยภรรยาทำธุรกิจเดิมของครอบครัว

“ตอนแรกฝันอยากเป็นผู้กำกับหนังเพราะความเท่ จนวันหนึ่งเราคิดว่าได้ทำทุกอย่างในตำแหน่งนั้นแล้ว เลยอยากหาความท้าทายใหม่ โดย ณ ตอนนั้น คุณแม่ยายกำลังจะทำธุรกิจขายเสื้อยืด”

หยองจึงใช้ประสบการณ์ที่เคยขายเสื้อยืดมาก่อน ช่วยลดต้นทุนให้กับคุณแม่ยายของเขา จากเดิมที่รับเสื้อจากจังหวัดอื่นมาขายต่อ เปลี่ยนเป็นทำเสื้อยืดขายเอง ทำให้ประหยัดต้นทุนได้หลายร้อยบาท

“พอมาขายเสื้อยืด ช่วงพีกที่สุดได้กำไรคืนละหลายแสน มนุษย์เงินเดือน ได้เงินเดือนหลักหมื่นที่เราว่าเท่แล้ว เอาจริง ๆ พ่อค้านี่เท่กว่าเยอะเลย”

ณ ตอนนั้น ‘เสื้อฅนปาย’ ของหยองนับว่าเป็นแบรนด์แรก ๆ ในอำเภอ จึงได้รับการตอบรับที่ล้นหลามจากนักท่องเที่ยว

“หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนทำเลียนแบบเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แต่ว่าคุณภาพลดลง จนคนเลิกซื้อเสื้อยืดไปเยอะ เงินที่เคยได้หลักหมื่นหลักแสนต่อคืน ลดลงไปเยอะเลย”

เมื่อน่านน้ำสีคราม (Blue Ocean หรือตลาดใหม่ที่การแข่งน้อย) กลายเป็นนานน้ำสีแดง (Red Ocean หรือตลาดที่การแข่งขันดุเดือด ทำให้เกิดการตัดราคาอย่างดุเดือด) หยองจึงต้องตัดสินใจหาตลาดใหม่ โดยเขาได้ตัดสินใจเปลี่ยนไปทำธุรกิจโรงแรมแทน

“เผอิญว่าตอนนั้นเรามีทำเลที่ดี ติดถนนคนเดิน เลยเปิดเป็นโรงแรมที่ชื่อว่า ‘บ้านฅนปาย’ ”

กลุ่มลูกค้าของโรงแรมนี้คือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เมื่อเปิดโรงแรมแล้ว สิ่งหนึ่งที่ตามมาเหมือนกับโรงแรมอื่น ๆ คือร้านอาหาร

ร้านอาหารของหยองชื่อว่า ‘สวนฅนปาย’ โดยใช้จุดเด่นของเมืองปายในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มาเปิดร้านอาหารที่ใช้ผักไฮโดรโปนิกส์หรือผักที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินเป็นวัตถุดิบ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างไม่คาดคิด

SMART FARMER

“ตอนมาอยู่เมืองปาย เราเหมือนคนแก่ที่อยากอยู่กับธรรมชาติ ปลูกผักอยู่ที่บ้าน รู้สึกเหมือนว่าเราเกษียณแล้ว” หยองเล่าพลางหัวเราะ

หลังจากเริ่มปลูกผักเพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับร้านอาหารในโรงแรม หยองก็เริ่มจริงจังกับการทำการเกษตรในรูปแบบไฮโดรโปนิกส์ขึ้นเรื่อย ๆ

“ตอนนั้นเราอยากปลูกผักสวนครัว เลยขึ้นแปลงเอง ยกแปลงเอง เราว่ามันสนุก และยังได้สอนวิธีการทำเกษตรรูปแบบใหม่ให้กับเด็ก ๆ ด้วย

“เราเลยรู้สึกว่าเกษตรกรก็เท่นะ”

แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าการผันตัวมาเป็นเกษตรกรของเขาเป็นสิ่งที่บ้าและไม่น่ารอด แต่หลักที่หยองยึดถืออยู่เสมอไม่ว่าจะต้องหยุดหรือเจอความล้มเหลวใด ๆ นั่นคือ ‘ช่างแม่ง’

นี่จึงกลายเป็นจุดพลิกผันอีกครั้งในชีวิตอีกครั้ง เมื่อการทำเกษตรแบบไฮโดรโปนิกส์ทำให้หยองรู้จักกับเครือข่าย Young Smart Farmer ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เขาจึงได้เห็นโอกาสหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของที่นั่น แต่ยังไม่มีใครนำมายกระดับ

ในอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นคือถั่วลายเสือที่รสชาติอร่อย เกิดจากนำถั่วลิสงมาปลูกเหนือระดับน้ำทะเลถึง 800 เมตร แร่ธาตุในดินภูเขาไฟจึงทำให้ถั่วที่ปลูกกลายพันธุ์เป็นลายเสือ

“ตอนนั้นมีพี่เกษตรกรที่เป็น Smart Farmer ด้วยกันมาเล่าให้ฟังทุกวันว่าถั่วของเขาขึ้นลายเพราะอะไร แต่เราเห็นถั่วลายเสือคั่วขายอยู่ข้างทางเยอะมาก ไม่มีนวัตกรรมอะไรนอกจากการคั่ว” หยองเล่าถึงความเสียดายในผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรที่มีฝีมือ แต่กลับนำมาขายเหมือนถั่วคั่วทั่ว ๆ ไป โดยไม่ได้นำมายกระดับ

ชาติเสือต้องไว้ลาย

“ผมอยากเป็นนวัตกร เลยลองคิดดูว่าจะยกระดับถั่วลายเสือได้อย่างไร”

ในตอนแรก หยองตัดสินใจลองทำผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นเนยถั่ว เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติชอบกิน ทว่าเนยถั่วเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้ามักไม่ซื้อซ้ำ และตลาดในไทยก็ยังเล็กมาก หยองจึงตัดสินใจหยุดทำไปพักหนึ่ง จนกระทั่ง…

“ตอนนั้นลูกสาวอายุประมาณ 3 – 4 เดือน เขาเป็นอะไรก็ไม่รู้ ต้องเข้าโรงพยาบาล และแพ้อาหารเกือบ 9 ชนิด เช่น ไข่ขาว นม เนย ฯลฯ”

เมื่อลูกสาวของหยองมีอาการแพ้แลคโตส เขาจึงตัดสินใจลองทำนมจากถั่วลายเสือซึ่งไม่มีแลคโตสขึ้นมา โดยสังเกตวิธีทำมาจากตอนที่ผลิตเนยถั่วก่อนหน้านี้

“ตอนที่ปั่นเนย พอล้างเนยออกจากกระบอกแล้วกลายเป็นนม เลยไปศึกษาต่อ จนค้นพบว่าเกิดจากการที่นำเนยไปใส่น้ำนั่นเอง”

หลังจากคิดค้นนมสูตรนี้ขึ้นมาได้ ในวันเกิดของลูกสาว หยองจึงตัดสินใจส่งนมถั่วลายเสือที่เขาคิดค้นขึ้นไปให้เพื่อน ๆ ลูกที่โรงเรียนชิม และปลายสายจากทางโรงเรียนก็ดังขึ้น

“ตอนนั้นคุณครูโทรมา เขาบอกว่า คุณพ่อใช่ไหมคะ พอดีมีเด็กแพ้ถั่ว 2 คน ผมก็เลยบอกว่าเขาทานไม่ได้ใช่ไหมครับ ขอโทษครับ ตอนนี้น้องอยู่ที่ไหน แต่คุณครูกลับบอกว่า อ๋อ อร่อยมากเลยค่ะ กินไป 2 แก้ว”

ณ ตอนนั้นหยองก็ตะลึงไม่น้อย เมื่อค้นพบว่านมถั่วลายเสือของเขาไม่ทำให้คนที่แพ้ถั่วเกิดอาการแพ้ แม้แต่พี่สาวของหยองที่ปกติทานถั่วไม่ได้ก็ทานได้

เมื่อส่งไปวิจัย จึงค้นพบว่าการกลายพันธุ์จากการปลูกที่แม่ฮ่องสอนทำให้ถั่วลายเสือชนิดนี้มีวิตามินบางชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ในคนที่แพ้ถั่วปกติ*

*หมายเหตุ : เรื่องนี้ยังต้องวิจัยในเชิงลึกต่อไป จึงไม่แนะนำให้คนที่แพ้ถั่วทาน

The Tiger King

เมื่อค้นพบว่าถั่วลายเสือมีจุดเด่นต่างจากถั่วชนิดอื่น ๆ ประกอบกับมีโปรตีนและวิตามินสูง หยองจึงใช้เวลากว่า 4 เดือนรวบรวมข้อติชม จนได้นมถั่วลายเสือ White Tiger ที่มีน้ำตาลต่ำ โปรตีนสูง วิตามินสูง และยังนำมาตีฟองกาแฟได้อีกด้วย

“เราเลือกใช้ชื่อแบรนด์ว่า White Tiger เพราะนมถั่วลายเสือของเราแตกต่าง เหมือนเราเป็นเสือที่แตกต่างจากเสือตัวอื่น ๆ”

วันนี้ White Tiger มี 2 ผลิตภัณฑ์หลัก

หนึ่ง คือนมผงถั่วลายเสือและโยเกิร์ตถั่วลายเสือชนิดผง ซึ่งเป็นโยเกิร์ตดริงก์แบบ Plant Based แบรนด์แรก ๆ ของไทย

สอง คือนมถั่วลายเสือพร้อมดื่ม เป็นผลิตภัณฑ์พิเศษ หาทานได้ที่แม่ฮ่องสอนเท่านั้น

อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจคิดว่า ณ วันแรกที่เปิดตัว นม White Tiger จะขายหมด แต่เปล่าเลย มีสินค้าจำนวนมากถูกเททิ้ง

“ในช่วงแรกที่นำนมไปขายที่ถนนคนเดินก่อนสร้างแบรนด์ขึ้นมา เราต้องเททิ้งเป็นถัง ๆ จนชิน เพราะไม่ได้ใส่สารกันบูด เราเลยต้องทำนมใหม่วันต่อวัน”

หยองจึงต้องหันกลับมาทำนมถั่วลายเสือแบบพาสเจอไรซ์เพื่อยืดอายุการเก็บ และวางแผนกำลังการผลิต พร้อมกับหาวิธีจำหน่ายและกลุ่มเป้าหมายใหม่ โดยเป็นพาร์ตเนอร์กับร้านกาแฟท้องถิ่น เพื่อจำหน่ายนมถั่วลายเสือ White Tiger นี้แทน

ในขณะนี้ หยองเลือกจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมผงและโยเกิร์ตผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจาก 2 ผลิตภัณฑ์นี้เก็บได้นานและง่ายต่อการจัดส่ง

ส่วนนมถั่วลายเสือพร้อมดื่ม เนื่องจากการจัดส่งต้องใช้รถห้องเย็น เขาจึงตัดสินใจให้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นผลิตภัณฑ์พิเศษ เสมือนเป็น Signature Menu ของอำเภอปาย

ลูกค้าของ White Tiger มีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทานอาหาร Plant Based และคนไทยที่อยากลองเป็นจำนวนมาก โดยผลิตนมพร้อมดื่มมากกว่า 200 ลิตรต่อวัน

“ตอนนี้ถ้ามาปายแล้วไม่ได้กินนมถั่วลายเสือก็เหมือนมาไม่ถึง” หยองกล่าวด้วยรอยยิ้ม แต่ไม่แน่ว่าถ้าหากผลตอบรับดี ชาวไทยในจังหวัดอื่นอาจได้ลิ้มลองด้วยก็เป็นได้

ในอนาคต หยองยังตั้งใจจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มขึ้น รวมไปถึงวัตถุดิบยอดนิยมอย่างชีส และนมสูตรพิเศษสำหรับบำรุงข้อเข่าในผู้สูงวัยและสำหรับเสริมสร้างไอคิวในเด็กอีกด้วย

ในด้านการทำธุรกิจ White Tiger ไม่ใช่เพียงบริษัทธรรมดา แต่เป็นธุรกิจเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise ที่ตั้งใจจะพัฒนาท้องถิ่น

“เราเชื่อมต่อใจ เชื่อมต่อสุขภาพ เชื่อมต่อสังคมและโลก โดยการทำให้คนที่ดื่มนมไม่ได้ดื่มได้ ทำให้คนมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรท้องถิ่นอีกด้วย”

และนี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ White Tiger ประสบความสำเร็จในการแข่งขันชิงเงินทุนในหลายรายการ และได้รับการสนับสนุนทั้งในแง่การวิจัยและเงินทุน จนขยายกิจการได้เรื่อย ๆ อย่างทุกวันนี้

Lessons Learned

  • ในเวลาล้ม ถ้าเก็บมานั่งคิดและจมอยู่ ก็จะไปต่อไม่ได้ บางครั้งการปล่อยวางก็เป็นกุญแจสู่การเดินหน้า
  • การมีแผนธุรกิจที่ดีหรือรู้ว่าจะขายใคร เปรียบเสมือนการป้องกันไม่ให้เกิดแผล เพราะถ้ามีแผลมากเกินไป เลือดอาจไหลจนหมดตัวได้
  • ในหลายครั้ง โอกาสก็อยู่ใกล้ตัว และธุรกิจก็อาจเริ่มต้นจากปัญหาใกล้ตัวเช่นกัน

Writer

Avatar

วุฒิเมศร์ ฉัตรอิสราวิชญ์

นักเรียนรู้ผู้ชื่นชอบการได้สนทนากับผู้คนและพบเจอสิ่งใหม่ๆ หลงใหลในการจิบชา และเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราวให้ค้นหา

Photographer

ณัฏฐคเณศ ทองอยู่สุข

ณัฏฐคเณศ ทองอยู่สุข

ช่างภาพบนดอยแห่งเมืองสามหมอกที่มีคำนิยามไว้ว่า “ถ้าเข้าใจบท ก็จะเข้าใจในภาพ“ นี่คือคำที่ช่างภาพทุกคนต้องมี