“คนว่ากันว่านักศึกษาแพทย์เป็นซึมเศร้ากันครึ่งคณะ เธอเคยได้ยินหรือเปล่า”
นี่คือสิ่งที่ผู้ให้สัมภาษณ์ของเราวันนี้พูดคุยกัน คนถามคือ ปอนด์-ศุภานัน เจนธีรวงศ์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนคนถูกถามคือ มาย-ธัชพล วงศ์สุขสวัสดิ์ นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นน้องที่มาร่วมพูดคุย ไม่มีใครแปลกใจที่เห็นนักเรียนแพทย์เรียนหนัก แต่สิ่งที่ควบคู่กันมาคือข่าวปัญหาสุขภาพจิตของเด็ก ๆ สายนี้ที่มีมาให้ได้ยินกันเป็นระยะ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีความพยายามแก้ปัญหานี้อยู่ไม่ขาด แต่ที่เราสนใจสิ่งซึ่งนักศึกษา 2 คนตรงหน้าทำ เพราะพวกเขาและเพื่อน ๆ คณะแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ ได้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหานี้ด้วยการ ‘ร่างนโยบาย’ เพื่อเสนอต่อสถานศึกษาและหน่วยงานภาครัฐ เป็นความเคลื่อนไหวแบบ Bottom-up จากเด็กสู่ผู้ใหญ่ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแล ทั้งยังเป็นความเคลื่อนไหวที่จริงจัง ตั้งใจให้เกิดผลจริงเป็นวงกว้าง
‘กาวน์ใจ’ คือชื่อโครงการร่างนโยบายของเด็ก ๆ เหล่านี้
การได้เห็นเด็กนักศึกษาตัวเล็ก ๆ รวมกลุ่มกันผลักดันสิ่งยิ่งใหญ่อย่างนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาของพวกเขาด้วยตัวเอง เป็นประสบการณ์ที่ทรงพลังและให้ความหวัง
ลองนั่งลงอ่านเรื่องราวของสิ่งที่พวกเขาทำ
จากการนั่งคุยเรื่องชีวิต สู่โครงการใหญ่
ปอนด์เล่าว่านักศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ ต่างมีเครือข่ายนักศึกษาของตัวเอง วันหนึ่งเมื่อมีการจัดงานที่ทั้ง 3 คณะมารวมตัวกัน เธอในฐานะนายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ฯ ก็มีโอกาสนั่งลงพูดคุย (หรือเรียกอีกอย่างว่าปรับทุกข์) กับนายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย
“นายกแพทย์ฯ กับนายกเภสัชฯ ไปงานก็นั่งคุยกัน แชร์กันว่าชีวิตเราและเพื่อน ๆ ทุกวันนี้เป็นยังไง ปรากฏว่าเมื่อคุยกันถึงปัญหาสุขภาพจิต ก็พบว่ามหาวิทยาลัยของพวกเราทั้งคู่ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลแบบจริงจัง”
เมื่อไม่มี Data ก็ยากที่จะหยิบอะไรมาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม นักศึกษาทั้งสองจึงเห็นตรงกันว่าจะริเริ่มเก็บข้อมูลสุขภาพจิตนักศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม แบบที่นำมาใช้วิเคราะห์เป็นสถิติได้
หลังจากนั้นจึงเกิดการเก็บข้อมูลในคณะแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ จากนักศึกษาผู้ให้ข้อมูลรวมแล้วกว่าหมื่นคน จนได้ผลลัพธ์ชัดเจน
นักศึกษา 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปมีภาวะซึมเศร้าระดับน้อย และเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เคยมีอาการไม่ได้พบจิตแพทย์
ข้อมูลตรงหน้าทำให้ปอนด์และเพื่อนตัดสินใจลงมือแก้ปัญหา
แต่ไม่ใช่แค่เดินไปเล่าให้อาจารย์ฟัง พวกเธอก้าวไปไกลกว่านั้น
แก้ทั้งที แก้ให้ดีไปเลย
“เราตั้งใจแก้ปัญหาในรูปแบบนโยบาย เพราะมองว่า ถ้าแค่นักศึกษาแก้กันเองหรือไปขอให้อาจารย์ช่วยแก้ มันอาจจะไม่เกิดผลลัพธ์มากพอ การที่เราเสนอนโยบายเป็นการเคลื่อนไหวแบบ Bottom-up เพื่อให้ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตัดสินใจ Top-down ลงมาช่วยเรา” ปอนด์อธิบายสิ่งที่คิด
เพราะอย่างนี้ โครงการ ‘กาวน์ใจ’ จึงเกิดขึ้น เพื่อรวมพลังนักศึกษาทั้ง 3 คณะร่างนโยบายที่มาจากอินไซต์ของพวกเขาจริง ๆ
โครงการนี้เริ่มต้นจากการชวนนักศึกษาและอาจารย์ที่สนใจมาร่วมแลกเปลี่ยนเสวนา ก่อนจะลงมือคิดหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดสไตล์ Design Thinking หรือกระบวนการคิดเชิงออกแบบ
ตัวงานระดมไอเดียจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในชื่อ โครงการสมัชชาสุขภาพจิตนิสิตนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพและเยาวชน ประจำปีการศึกษา 2566 (White Coat’s Mental Health Assembly) มีผู้ใหญ่ระดับรัฐมนตรีอย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธี
“พวกเราที่เป็นนายกของทั้ง 3 องค์กรก็จะเอาข้อมูลที่เคยสำรวจปัญหาสุขภาพจิตนักศึกษามาวิเคราะห์ หลังจากนั้นจึงนำมาเสนอให้ผู้ที่มาร่วมคิดนโยบาย ซึ่งมีประมาณ 120 คน แล้วเราก็สอนหลักการสร้างนโยบาย ชวนจิตแพทย์มาให้ความรู้ ก่อนจะให้น้อง ๆ ที่มาร่วมคิดแบ่งกลุ่มกันตามเรื่องที่สนใจ เช่น เรื่องส่วนตัว เรื่องปัญหาการเรียน และเรื่องสังคมหรือสภาพแวดล้อม
“จากนั้นเราก็เริ่มกระบวนการคิดหาทางแก้ปัญหาในแนวทาง Design Thinking ตั้งแต่ Empathy หรือการทำความเข้าใจปัญหา Define หรือระบุปัญหา จนถึง Ideate หรือการระดมคิดทางออกของปัญหาเหล่านั้น แล้วก็จะนำทางแก้ปัญหามาจัดอันดับหาทางที่ทำได้ง่ายที่สุดและมีผลสูงสุด ก่อนจะนำทางแก้ปัญหาเหล่านั้นไปพัฒนาเป็นนโยบายต่อไป”
การรวมตัวกันของนักศึกษาทั้ง 3 คณะผลิดอกออกผลมาเป็นทางแก้ปัญหาที่พร้อมกลายเป็นนโยบาย ตั้งแต่อยากให้นักศึกษาได้ร่วมจัดตารางเรียน เพื่อแก้ปัญหาตารางสอนแน่นเกินไป จนถึงอยากให้มีการจัดหาจิตแพทย์ประจำคณะ เพื่อให้นักศึกษาเข้าไปพูดคุยได้ง่ายเมื่อรู้สึกเครียด
จุดเด่นที่ทำให้การคิดนโยบายต่างจากการระดมไอเดียปกติ คือนโยบายต้องระบุว่า Next Step หลังได้ทางแก้ปัญหา นักศึกษาจึงต้องระบุให้ชัดว่าจะเสนอเรื่องอะไร ให้ใครต่อไป ซึ่งปอนด์เล่าว่าเธอตั้งใจจะนำนโยบายเหล่านี้ยื่นต่อแพทยสภา เภสัชสภา ทันตสภา รวมถึงคณบดีแต่ละมหาวิทยาลัย
แน่นอนว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของนโยบายที่จะช่วยดูแลสุขภาพจิตของว่าที่แพทย์ เภสัชกร และทันตแพทย์อย่างตรงจุด มีอีกหลายสิ่งต้องทำ และทุกอย่างคงไม่ได้เสร็จในวันเดียว
แต่เมื่อถามความเห็นของปอนด์ เธอก็ยิ้มแล้วบอกเราว่าการเริ่มต้นเล็ก ๆ จากพลังนักศึกษาก็นับเป็นการเริ่มต้นเช่นกัน
“พวกเราคุยกันว่า ไม่ว่าก้าวของเราจะสั้นหรือยาว มันก็คือการเดิน ไม่ว่าจากนี้ทุกอย่างจะดีขึ้นมากหรือน้อย มันก็คือดีขึ้น แล้วในที่สุดคนอื่น ๆ ก็จะเริ่มเห็นความสำคัญแล้วเดินตามเรามา”
เส้นทางของกาวน์ใจยังอีกยาวไกล แต่ในวันนี้พวกเขาได้เริ่มต้นเดินก้าวแรกแล้ว
ติดตามเฝ้าดูการเติบโตของกาวน์ใจได้ที่ Facebook : สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย (สพท.) : SMST