แททททททททแด๊มมมมมมมมมมม………

หากคลิกเข้าไปในเพจ ‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ ก็จะเจอประโยคเปิดโพสต์เช่นนี้เสมอ

“เราอยากให้เพจเข้าถึงง่าย ใช้ภาษาแนวคุยเล่นให้มากที่สุด เพราะเนื้อหาเป็นเรื่องผ่าชันสูตรซาก เรื่องขยะในท้องเต่า เราก็ไม่อยากให้หดหู่เกินไป” 

พีท-ภัทร กิตติอุดมสุข เล่าถึงสไตล์การทำเพจ ซึ่งเขาทำร่วมกับ คุณหมอข้าวตู-สพ.ญ.อรณี จงกลแพทย์ สัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง

‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ สารพัดเรื่องเล่าว่าในท้องของพวกมันมีอะไร ซึ่งไม่ควรอยู่ในนั้น

แม้พีทจะไม่ใช่สัตวแพทย์ แต่ด้วยความที่ทำงานในศูนย์เดียวกัน และพีทเองก็เคยใช้เวลาว่างช่วยงานคุณหมอในโรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเขาบอกว่าประสบการณ์ครั้งนั้นเปลี่ยนมุมมองความคิดและสร้างความสั่นสะเทือนในใจ จนรู้สึกว่าอยากให้คนอื่นได้เห็นแบบนี้ด้วย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาไปชวนหมอข้าวตูทำเพจ

“ก่อนหน้านี้เราได้เห็นปัญหาขยะต่อสัตว์ทะเลตามข่าวทั่วไปอยู่แล้ว แต่การไปช่วยงานที่โรงพยาบาลวันนั้น ทำให้เห็นว่าปัญหาที่ไม่ได้นำเสนอยังมีอีกเยอะมาก เราเลยอยากให้คนอื่นมองเห็นมุมนี้บ้าง ถ้าเขาได้เห็นปัญหาเหมือนเรา อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง” 

เช่น ถ้าคุณรู้ว่าหนึ่งในขยะที่อยู่ในท้องเต่าคือ ‘หน้ากากอนามัย’ !

ท้องเต่ามีอะไร ท้องเต่ามีอะไร…

หากเต่าทะเลพูดได้แบบจุ๊มเหม่ง พวกมันก็คงอยากโชว์ให้มนุษย์เห็นเช่นกันว่า ในท้องของมันมีอะไร (ที่ไม่ควรอยู่ในนั้น)

แต่เนื่องจากเต่าทะเลพูดไม่ได้ คุณหมอข้าวตูและพีทจึงต้องรับหน้าที่ส่งเสียงแทน

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่พวกเขานำเสนอเรื่องราวผ่านเพจ ‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ เคสที่พวกเขานำมาเล่ามีตั้งแต่ลูกเต่าตัวจิ๋วอายุ 1 เดือนที่เกยตื้นพร้อมแพขยะ ผลชันสูตรพบขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากมายเต็มทางเดินอาหาร หรือเต่าตนุที่ชื่อ ‘ภาระก้อน’ ที่แม้จะอยู่ในความดูแลของคุณหมอมาเกือบครึ่งปีแล้ว แต่น้องก็ยังมีขยะปนออกมากับอึเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่าเต่า 1 ตัวมีขยะตกค้างในลำไส้ได้มากมายและยาวนานขนาดไหน แถมขยะที่พบก็มีตั้งแต่ถุงพลาสติกใบใหญ่ เศษเชือก ไปจนถึงหน้ากากอนามัย!

ส่วนเต่าบางตัวก็ถูกส่งมาด้วยเบ็ดที่เกี่ยวในหลอดอาหาร บางตัวมาในสภาพซากที่มีรอยแตกร้าวของกระดองซึ่งน่าจะเกิดจากใบพัดเรือ บางตัวมีขยะรัดครีบจนครีบเน่าเห็นกระดูก บางตัวที่ถูกอวนรัดจนตาย พบว่าร่างน้องเต็มไปด้วยบาดแผล และผลชันสูตรสันนิษฐานว่าน้องติดอวนลอยตากแดดอยู่ที่ผิวน้ำนาน จนปอดข้างหนึ่งเสียสภาพจากความร้อน ทำให้หายใจลำบากและตายในที่สุด

ส่วนเคสที่โด่งดังและได้รับการแชร์ต่อเป็นจำนวนมากก็คือเต่าตนุชื่อ ‘ใบพัด’ ซึ่งมีขยะคาอยู่ที่รูก้นไม่ยอมหลุดออกสักที จนคุณหมอต้องมาช่วยดึงออก ซึ่งใช้เวลาพอสมควร เพราะขยะอัดอยู่แน่นมาก และถ้าดึงแรงเกินไปน้องก็จะเจ็บและลำไส้อาจปลิ้นออกมาได้

“พอดึงออกมาก็พบว่าขยะชิ้นนั้นยาวถึง 40 เซนติเมตร คือแทบจะครึ่งหนึ่งของลำตัวแล้ว ไม่รู้ว่ามีอีกเท่าไหร่ที่ยังอยู่ในนั้น”

ส่วนชื่อ ‘ใบพัด’ ของน้อง ก็มาจากการที่กระดองมีรอยโดนใบพัดมา แต่โชคดีที่โดนไม่ลึกมาก เรียกว่าเป็นเต่าสู้ชีวิตแบบสุด ๆ ซึ่งคุณหมอบอกว่าน้องกินเก่งและร่าเริงมาก จนในที่สุดก็รักษาหายและปล่อยกลับลงทะเลได้

คุณหมอข้าวตูเล่าว่า การรักษาเต่าทะเลที่กินขยะเข้าไปนั้น ขั้นแรกคือประเมินว่าเป็นขยะมีคมหรือไม่ และร่างกายน้องอยู่ในสภาพไหน หากเต่ายังขับถ่ายได้ ลำไส้บีบตัวดี อาจให้สารหล่อลื่นเพื่อช่วยให้น้องขับถ่ายง่ายขึ้น แต่ถ้าลำไส้น้องไม่บีบตัวแล้ว หรือวัตถุที่น้องกลืนไปเป็นของมีคม เช่น เบ็ด อาจต้องผ่าตัด ซึ่งถือเป็นทางเลือกท้าย ๆ เพราะจะสร้างบาดแผลใหญ่และใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว อย่างเช่นน้องภาระก้อน ที่แม้หลายเดือนแล้วแต่ขยะยังไม่หมดสักที คุณหมอก็ยังไม่อยากผ่า

‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ สารพัดเรื่องเล่าว่าในท้องของพวกมันมีอะไร ซึ่งไม่ควรอยู่ในนั้น
‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ สารพัดเรื่องเล่าว่าในท้องของพวกมันมีอะไร ซึ่งไม่ควรอยู่ในนั้น

“เคสนี้เอกซเรย์แล้วมองไม่เห็นว่าขยะอยู่ตำแหน่งไหนของลำไส้กันแน่ การไปคลำหาขณะผ่าเป็นการทรมานเขาเกินไป เขาอาจทนบาดแผลไม่ไหว และเท่าที่ดูก็ไม่ใช่ของมีคมขนาดนั้น และเขายังขับถ่ายได้ ลำไส้บีบตัวได้ เราก็จะช่วยให้ยาที่ทำให้เขาขับถ่ายง่ายขึ้นมากกว่า”

แต่บางตัวก็ไม่โชคดีขนาดนั้น เพราะถ้าขยะที่กินมีเนื้อสัมผัสหยาบ อาจไปเสียดสีลำไส้จนเกิดการระคายเคืองและอักเสบ ซึ่งอาจส่งผลให้เลือดออก ติดเชื้อ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ 

เมื่อถามว่ามีเต่าทะเลสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่มีขยะในท้อง คุณหมอข้าวตูประมาณคร่าว ๆ ว่า หากนับที่รักษาและชันสูตรทั้งหมด อาจอยู่ที่ราว ๆ 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแต่ละตัวมีมากน้อยต่างกัน ส่วนที่เหลือคือตัวที่ไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่ เนื่องจากเป็นการช่วยระยะสั้น น้องยังไม่ทันได้ขับถ่ายออกมาให้เห็น แต่ถ้าหากนับเฉพาะตัวที่ได้รับการผ่าพิสูจน์ซาก คุณหมอก็ประมาณตัวเลขของเต่าที่มีขยะในท้องที่ 70 เปอร์เซ็นต์

ส่วนพีทเสริมว่า ปัญหาขยะชิ้นใหญ่ ๆ ที่อุดตันลำไส้จนทำให้เต่าตายเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ปัญหาที่ใหญ่และสำคัญกว่า ก็คือการที่ขยะไปปนเปื้อนในระบบนิเวศแทบทุกที่แล้ว

“ตอนนี้สัตว์ทะเลแยกขยะออกจากอาหารไม่ได้แล้ว ในการผ่าชันสูตรซาก เราจะเจอขยะเล็ก ๆ น้อย ๆ มากกว่าชิ้นใหญ่ บางทีในอึเต่าก็มีเศษเอ็นตกปลาเล็ก ๆ ปนออกมา บางชิ้นมันอาจยังไม่ทันได้ส่งผลต่อร่างกายเต่า แต่มันแสดงให้เห็นว่าขยะเข้าไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมเยอะมาก ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแนวปะการังหรือแนวหญ้าทะเล”

คุณหมอข้าวตูชวนให้นึกภาพว่า สมมติว่าเต่าตนุ 1 ตัวกินหญ้าทะเลแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ถ้านี่เป็นการสุ่มตัวอย่าง การสุ่มในพื้นที่ 10 เปอร์เซ็นต์นี้ก็เจอขยะแล้ว แปลว่าในพื้นที่นั้นต้องมีขยะอยู่เยอะมาก ๆ นี่คือปัญหาที่หลายคนไม่ทันได้นึกถึง

นอกจากขยะแล้ว สาเหตุการตายอื่น ๆ ของสัตว์ทะเลมีตั้งแต่การถูกเรือชน การติดอวน ไปจนถึงความเจ็บป่วยอื่น ๆ เช่น ปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ พยาธิ โรคติดเชื้อ ฯลฯ

“เราผ่าชันสูตรซากเพื่อหาสาเหตุการตาย ซึ่งข้อมูลนี้อาจช่วยให้เราปกป้องเขาได้ดีขึ้น เช่น ถ้าช่วงไหนที่มีเกยตื้นถี่ ๆ และมีสาเหตุคล้าย ๆ กัน เช่น มีอาการติดเชื้อ อาจแปลว่ามีโรคระบาดหรือเปล่า หมอ ๆ ก็ช่วยเฝ้าระวัง และอาจช่วยชีวิตเขาได้มากขึ้น รวมถึงปกป้องเขาในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ถ้ามีคราบน้ำมันก็อาจแปลว่าสิ่งแวดล้อมมีมลพิษ”

ไม่เพียงแต่เต่าทะเลเท่านั้นที่เป็นผู้ป่วยของคุณหมอ แต่สัตว์ทะเลหายากอื่น ๆ ก็เป็นงานของคุณหมอเช่นกัน โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล เช่น โลมา วาฬ พะยูน และงานของคุณหมอไม่ใช่แค่การรักษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานสำรวจประชากรสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งในศูนย์ที่คุณหมอข้าวตูประจำอยู่ จะดูแลในโซนจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด

“เรามีทั้งการสำรวจทางเรือและการบินโดรน เพื่อดูว่าประชากรสัตว์ในพื้นที่มีใครบ้าง มีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลนี้นำไปสู่การอนุรักษ์ได้ เช่น ติดตามว่าประชากรกำลังฟื้นฟูหรือน้อยลง เขามีพื้นที่อาศัยตรงไหน ตรงนั้นมีอันตรายไหม และเราจะช่วยเขาได้ยังไง”

และจากข้อมูลการบินโดรนสำรวจ ก็นำมาสู่ข้อมูลใหม่ที่น่าตื่นเต้น

‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ สารพัดเรื่องเล่าว่าในท้องของพวกมันมีอะไร ซึ่งไม่ควรอยู่ในนั้น

จากลูกพะยูนถึงลูกโลมา

“ก่อนที่เราจะเริ่มบินโดรน พะยูนแถวนี้ก็เหมือนผี คือคนที่นี่บอกว่ามี แต่ตั้งแต่หมอทำงานมาก็ยังไม่เคยมีใครมีหลักฐานยืนยัน”

คุณหมอข้าวตูเล่าถึงพะยูนในทะเลแถวปากแม่น้ำประแส ซึ่งมีดงหญ้าทะเลที่เป็นอาหารพะยูนเช่นกัน แต่ยังไม่เคยมีใครถ่ายภาพน้องได้ 

“จนกระทั่งวันหนึ่งเราบินโดรนแล้วเจอเขากินอาหารดุ๊ก ๆ อยู่ตรงนั้น ก็ทำให้ใจฟูขึ้นมา เพราะเป็นหลักฐานแรกที่บอกว่าที่นี่มีพะยูนจริง ๆ นะ”

ส่วนพีทเสริมว่า ตลอดปีกว่า ๆ ที่บินโดรนมา 200 กว่าไฟลต์ มีเพียง 4 ไฟลต์เท่านั้นที่พบพะยูน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็น 2 ตัวที่ต่างกัน แต่ก็ยืนยันไม่ได้ เพราะในแต่ละครั้งพบแค่ 1 ตัว

แต่หลังจากข่าวดีที่ทำให้ใจฟูผ่านไป ข่าวร้ายก็มาถึง เมื่อวันหนึ่งมีชาวบ้านพบซากพะยูนและพาขึ้นมา ซึ่งเมื่อคุณหมอไปชันสูตรก็พบว่าน้องเป็นลูกพะยูนที่มีเลือดออกในช่องท้องจำนวนมาก แต่บอกไม่ได้ว่าสาเหตุมาจากอะไร เนื่องจากภายนอกไม่มีบาดแผลเด่นชัด อีกทั้งอวัยวะภายในอื่น ๆ ก็ดูปกติดี

“เคสนี้ถือว่าเป็นเคสที่เศร้ามากเคสหนึ่ง เพราะเราเพิ่งดีใจกับการเจอพะยูนในพื้นที่ไป แล้วก็ต้องมาเจอตอนที่มันเป็นซาก แต่อย่างน้อยการเจอลูกพะยูนก็แปลว่าในพื้นที่ต้องมีพะยูนอย่างน้อย 2 ตัว คือตัวผู้กับตัวเมีย”

นอกจากเคสลูกพะยูนที่สร้างความสะเทือนใจแล้ว อีกเคสที่ถือเป็นตำนานของที่นี่ ก็คือลูกโลมาอิรวดีกำพร้าที่ชื่อ ‘ภาระดอน’ ซึ่งพบเกยตื้นพร้อมปัญหาการทรงตัว

“นี่ถือว่าเป็นเคสยากที่สุด ข้อแรก คือด้วยความที่เขาเป็นโลมาเด็กและยังต้องกินนม แต่เราไม่มีสูตรเฉพาะว่านมสำหรับโลมาอิรวดีควรเป็นแบบไหน ทำให้เราต้องปรับสูตรกันเอง ถ้าสูตรไม่เหมาะสม เขาก็ท้องเสีย”

ส่วนเหตุผลข้อถัดมา คือโลมาต้องหายใจในอากาศ แต่ร่างกายจำเป็นต้องอยู่ในน้ำตลอดเวลา และปัญหาคือน้องทรงตัวในน้ำเองไม่ได้

“เราจะให้เขานอนบนบกหรือน้ำตื้น ๆ เหมือนเต่าทะเลไม่ได้ เพราะน้ำหนักร่างกายจะกดทับตัวเอง ทำให้เราต้องประคองในน้ำตลอดเวลา เคยลองใช้เปลช่วยคล้องแต่เขาก็เครียด ถ้าให้คนประคองจะดีกว่า แต่กลายเป็นว่าคนต้องอยู่ในน้ำกับเขา 24 ชั่วโมง”

‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ สารพัดเรื่องเล่าว่าในท้องของพวกมันมีอะไร ซึ่งไม่ควรอยู่ในนั้น
‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ สารพัดเรื่องเล่าว่าในท้องของพวกมันมีอะไร ซึ่งไม่ควรอยู่ในนั้น

จากช่วงแรกที่มีสัตวแพทย์ประจำศูนย์แค่ 2 คน ทำให้คุณหมอทั้งสองต้องผลัดเวรกันประคองคนละ 12 ชั่วโมง แม้ต่อมาจะมีสัตวแพทย์จากศูนย์อื่น ๆ หมุนเวียนมาช่วย ทำให้ลดลงเหลือคนละ 8 ชั่วโมง แต่นั่นก็ยังถือเป็นงานหนัก เมื่อนึกถึงว่าต้องทำแบบนี้ทุกวันเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน แถมครั้งหนึ่งมีใครไม่รู้เดินเข้ามาดูและเปรยขึ้นว่า “เดี๋ยวก็ตายละ” แล้วเดินจากไป ทิ้งไว้เพียงความรู้สึกที่ถูกทำลายของคนทำงานที่ทุ่มเทเพื่อยื้อชีวิตโลมาน้อยตัวนี้ 

แม้ต่อมาทีมหมอจะได้อาสาสมัครที่เคยดูแลน้องมาเรียมและยามีลมาช่วย และทีมงานจาก ThaiWhales ก็ช่วยประกาศรับอาสาจากบุคคลทั่วไปด้วย แต่ยังไม่ทันที่อาสาชุดแรกจะเข้ามา น้องก็จากไปเสียก่อน

“ในวันที่เขาจากไป ทุกคนช่วยกันเต็มที่ ปั๊มหัวใจกันจนวินาทีสุดท้าย ทุกคนพยายามหาวิธีว่าจะทำยังไงได้บ้างที่จะช่วยเขา จนสุดท้ายก็ต้องประกาศเวลาเสียชีวิต” คุณหมอเล่าถึงนาทีบีบคั้นหัวใจ

“ความท้าทายของงานนี้ คือสัตว์ส่วนใหญ่ที่มาถึงมือเราจะมาในสภาพที่ไม่ไหวแล้ว ไม่เหมือนหมาแมวที่พอเจ้าของเห็นความผิดปกตินิดหนึ่งก็พามาหาหมอ แต่นี่คือมันต้องไม่ไหวมาก ๆ ถึงจะเข้ามาใกล้ฝั่ง แล้วกว่าจะมีคนเจอ กว่าเขาจะพามาจนถึงมือเรา”

แน่นอนว่าการเห็นสัตว์ทะเลหลายตัวที่ต้องเจ็บป่วยและตายเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่สิ่งที่เป็นกำลังใจของคุณหมอ คือการได้เห็นสัตว์ทะเลหลายตัวที่รักษามีอาการดีขึ้นจนกลับสู่ธรรมชาติได้ รวมถึงการให้กำลังใจกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน

‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ สารพัดเรื่องเล่าว่าในท้องของพวกมันมีอะไร ซึ่งไม่ควรอยู่ในนั้น

“เคสที่ประทับใจส่วนใหญ่จะเป็นเคสแรก ๆ ที่เราได้เห็นกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่เขามาถึงในสภาพที่แย่ จนกระทั่งอาการค่อย ๆ ดีขึ้น อย่างเช่น ‘พีช’ ที่เป็นเต่าทะเลที่เราได้เห็นตั้งแต่เขานอนซม ไม่มีแรง แบบขยับตัวไม่ไหวเลย เราก็ค่อย ๆ รักษาจนเขาดีขึ้น สุดท้ายก็ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้”

ทางพีทเสริมว่า นี่เป็นเคสที่เขาประทับใจเช่นกัน จากการได้เห็นทุกคนพยายามช่วยกัน จนน้องค่อย ๆ ดีขึ้น อย่างช่วงหนึ่งที่น้องไม่ยอมกินเม็ดอาหารเสริม ซึ่งน้องฝึกงานแต่ละกลุ่มที่มาก็จะพยายามหาวิธีหลอกล่อต่าง ๆ นานาให้น้องยอมกิน

“พอได้เห็นตั้งแต่เริ่มแรกจนเขาหายเป็นปกติ มันก็เติมเต็มและอิ่มใจว่าสิ่งที่เราทำได้ผลจริง ส่วนอีกความประทับใจคือช่วงดูแลภาระดอน ผมเห็นความอุทิศตนของสัตวแพทย์ ทช. ที่จำนวนหมอก็น้อยอยู่แล้ว แต่ทุกคนยังแบ่งเวลามาดูแลสัตว์ตัวหนึ่งตลอด 24 ชั่วโมง แม้ว่าทุกคนจะรู้ว่าโอกาสรอดน้อยมาก แต่ทุกคนก็ยังทุ่มเทเต็มที่”

นอกจากกำลังใจจากการเห็นสัตว์ที่รักษาสุขภาพดีขึ้นแล้ว การทำเพจก็เป็นอีกสิ่งที่ชุบชูจิตใจให้มีความหวัง

“เพจก็เป็นทางหนึ่งที่สร้างกำลังใจ เพราะอย่างน้อยเราได้ถ่ายทอดปัญหา ได้ทำให้คนอื่นเห็นในสิ่งที่เราเจอ เพื่อที่ว่าเขาอาจช่วยปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง ก็เป็นความหวังว่าวันหนึ่งทุกอย่างจะดีขึ้น”

‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ สารพัดเรื่องเล่าว่าในท้องของพวกมันมีอะไร ซึ่งไม่ควรอยู่ในนั้น
‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ เพจที่เปิดให้เห็นขยะและสิ่งแปลกปลอมในท้องของสัตว์ทะเล สะท้อนปัญหาขยะที่ตั้งต้นมาจากมนุษย์

จุดเล็ก ๆ แห่งความเปลี่ยนแปลง

จากจุดเริ่มต้นที่พีทเล่าว่าไม่ได้หวังอะไรมาก ขอแค่มีคนแชร์สัก 10 คนก็ดีใจแล้ว แต่มาถึงวันนี้ เพจของเขาและคุณหมอข้าวตูมีผู้ติดตามกว่า 24,000 คน และได้เห็นผลที่มากกว่าแค่ยอดไลก์ยอดแชร์ในโลกออนไลน์

หนึ่งในเหตุการณ์ประทับใจที่คุณหมอเล่าให้ฟัง คือมีนักเรียน ม.4 คนหนึ่งติดต่อเข้ามา พร้อมบอกว่าได้เห็นเพจและสนใจอยากเข้ามาดูที่ศูนย์ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ของน้องก็พามา พอน้องกลับไปก็ไปทำสเปรย์แอลกอฮอล์ขาย โดยออกแบบลวดลายขวดเอง และนำเงินที่ได้มามอบให้เพื่อเป็นค่าอาหารเต่าทะเล แถมยังเขียนจดหมายเป็นลายมือมาให้ด้วย ซึ่งคุณหมอข้าวตูยังคงเก็บไว้อย่างดี 

‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ เพจที่เปิดให้เห็นขยะและสิ่งแปลกปลอมในท้องของสัตว์ทะเล สะท้อนปัญหาขยะที่ตั้งต้นมาจากมนุษย์

ส่วนพีทก็ย้ำถึงเหตุการณ์นี้ว่า “สิ่งที่ทำให้เราภูมิใจไม่ใช่ที่เงิน แต่คือการที่สิ่งที่เราทำไปสะกิดให้คนคนหนึ่งลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง มันแปลว่าอย่างน้อยสิ่งที่เราทำก็มีผลต่อใครสักคน ตรงนี้คือที่เราดีใจ”

คุณหมอข้าวตูเสริมว่า “มีคนติดต่อมาแบบนี้ 3 ครั้งนะ บางทีก็เป็นคนวัยทำงาน แต่ด้วยความที่เพจของเราไม่ใช่เพจรับบริจาค เราแค่อยากสื่อสาร เลยปรึกษากับทีมแล้วขอว่า งั้นรับเป็นยาแทนแล้วกัน โดยเขียนรายชื่อยาที่ต้องใช้ให้เขาไป”

อย่างไรก็ตาม ทั้งคุณหมอข้าวตูและพีทยืนยันว่า ความช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องมาในรูปสิ่งของหรือเงินทองเสมอไป แต่การช่วยเหลือที่ดีที่สุดที่ทุกคนทำได้ คือการช่วยกันลดขยะในชีวิตประจำวัน เพียงเท่านั้นก็จะลดภาระคุณหมอและช่วยชีวิตน้อง ๆ สัตว์ทะเลได้มากแล้ว

“อาจไม่ถึงขั้นต้อง Zero Waste สุดขั้วก็ได้ ขอแค่ลดสร้างขยะที่ไม่จำเป็น ใช้ทุกอย่างให้คุ้มค่า แยกขยะ ทิ้งให้เป็นที่ แค่นี้ก็ช่วยได้มากแล้ว”

ส่วนพีทก็บอกเช่นกันว่า พลาสติกเองไม่ใช่ผู้ร้าย แต่ปัญหาอยู่ที่การใช้เกินความจำเป็นของมนุษย์เรามากกว่า

“อย่างเช่นถ้าไปซื้อน้ำสักแก้ว การใช้มือเราทนความเย็นของแก้วน้ำแทนถุงหิ้ว มันไม่ใช่เรื่องลำบากเกินไปเลย หรือเวลาไปตลาด ก็อาจรับถุงแค่ใบเดียวแล้วใส่ให้เต็มความจุ นี่คือเรื่องง่ายสุดที่ทุกคนทำได้ นั่นคืออะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้ แม้จะเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ยังดีกว่าไม่ทำอะไร และแม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนน้อย ๆ แต่ด้วยจำนวนประชากรที่เยอะ มันก็สร้างอิมแพกต์ได้”

จากสถิติการเกยตื้นของเต่าทะเลในพื้นที่ระยอง จันทบุรี และตราด นับตั้งแต่ พ.ศ. 2562 – 2565 พบว่า มีแนวโน้มลดลง คือ 156 ตัว 110 ตัว 83 ตัว และ 87 ตัว ตามลำดับ ซึ่งไม่แน่ว่าจะเกี่ยวข้องกับกระแสการแยกขยะที่มากขึ้นหรือเปล่า แต่นั่นอาจเป็นภาพแห่งความหวังเล็ก ๆ ว่า ถ้าทุกคนช่วยกัน ก็อาจลดจำนวนเต่าที่ตายเพราะขยะในแต่ละปีได้

“ถ้าทุกคนช่วยกันลดขยะและทำสิ่งนี้ให้แพร่หลายก็น่าจะลดได้อีก เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ได้ด้วยใครคนหนึ่ง แต่ทุกคนต้องช่วยกัน เราหวังว่าเพจของเราจะช่วยกระจายแนวคิดนี้ออกไป เป็นเหมือนคลื่นน้ำเล็ก ๆ ที่ส่งแรงกระเพื่อม จะได้มากน้อยไม่เป็นไร แค่เปลี่ยนได้สักคนเราก็ดีใจแล้ว”

เครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก

นอกจากการสร้างความตระหนักต่อสาธารณะในสื่อโซเชียลแล้ว ทางด้านชาวบ้านในพื้นที่เองก็มีการรับรู้ปัญหาเหล่านี้มากขึ้นเช่นกัน

“อย่างชาวบ้านที่ช่วยเต่าขึ้นมา เขาก็มีมาถามต่อนะว่าเต่าตัวนั้นเป็นยังไงบ้าง ทีนี้พอเราบอกว่ามันตายแล้วนะ ผ่าซากเจอขยะในท้อง เขาก็เริ่มตระหนักว่าในพื้นที่ของเขามีเต่าเกยตื้นเพราะกินขยะ เขาก็พยายามคุยกันในหมู่บ้าน ช่วยกันลดขยะ เก็บขยะกัน” หมอข้าวตูเล่าถึงมุมเล็ก ๆ ที่น่าชื่นใจ

“หลายคนอาจคิดว่าชาวประมงกับสัตว์ทะเลหายากเป็นปฏิปักษ์กัน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ชาวประมงและคนในชุมชนรักและหวงแหนสัตว์ทะเลพวกนี้มาก พอเราได้คุยกับชาวประมงหลาย ๆ คน เขาไม่กล้าแตะต้องมันด้วยซ้ำ เราต้องเข้าไปสอนเขาว่า เต่าแบบนี้คือป่วยนะ ปกติถ้าเราขับเรือไปใกล้ มันต้องหนีแล้ว ถ้าเข้าใกล้แบบเรือเทียบได้นี่ไม่ปกติแล้ว”

ที่ผ่านมา ทางศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้ง 7 ศูนย์ มีการจัดอบรมเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเป็นประจำ โดยหมุนเวียนกันไปในแต่ละศูนย์ ซึ่งเป็นการชวนผู้นำชุมชน ผู้นำเรือประมงเล็กในพื้นที่ หน่วยกู้ภัย ประมงอำเภอ ให้เข้ามาเรียนรู้เบื้องต้นว่า การสังเกตว่าสัตว์ทะเลป่วยทำอย่างไร เมื่อเจอแล้วต้องติดต่อใคร และดูแลเบื้องต้นอย่างไรก่อนถึงมือหมอ

“พอเราให้ความรู้ ชาวประมงที่เป็นเครือข่ายจะรู้ว่าเจอแบบนี้ต้องพาขึ้นเรือและโทรตามเรา และดูแลเบื้องต้นให้ ชาวบ้านและชาวประมงที่นี่น่ารักมาก เขายินดีเสียค่าน้ำมันพามาส่งให้เราที่ท่าเรือ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้อะไรเลย แต่เขาก็ยินดีช่วย บางทีซากมันเน่า เขาก็ผูกซากกับเรือแล้วลากเข้ามา”

‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ เพจที่เปิดให้เห็นขยะและสิ่งแปลกปลอมในท้องของสัตว์ทะเล สะท้อนปัญหาขยะที่ตั้งต้นมาจากมนุษย์

เยี่ยมผู้ป่วย

หลังจากคุยจบ คุณหมอก็พาเราเดินเยี่ยมผู้ป่วยในวอร์ด ซึ่งทั้งหมดเป็นเต่าทะเลจำนวน 10 กว่าตัว มีทั้งเต่าตนุและเต่ากระ โดยแต่ละตัวจะอยู่ในบ่อของตัวเอง

ตัวแรกที่โดดเด่นที่สุด คือน้องเต่าตนุตัวใหญ่ที่อยู่ในบ่อน้ำตื้น ๆ มีผ้าขนหนูรองใต้คางให้หัวน้องโผล่เหนือน้ำ และมีผ้าห่มคลุมบนหลังกระดองเพื่อรักษาความชื้น

“น้องตัวนี้ชื่อ ‘บัวลอย’ เพราะตอนที่เจอน้องลอยน้ำ ดำน้ำไม่ได้ มีอาการอ่อนแรง ปอดอักเสบและลำไส้อักเสบด้วย ตอนนี้ขยับตัวได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีแรงว่ายน้ำ เลยต้องให้อยู่ในน้ำตื้น ๆ ก่อน”

ส่วนตัวต่อมาในบ่อข้าง ๆ ที่มีน้ำลึกกว่าเล็กน้อย ก็คือน้องภาระก้อนที่เกยตื้นในช่วงเวลาเดียวกับโลมาภาระดอนและอึออกมาเป็นขยะไม่ยอมหมดสักที

“ตอนนี้เขามีแรงมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังผอมมาก ตัวนี้เขาสู้มากนะ ช่วงที่ทรุดมาก ๆ ก็ยังสู้ ตอบสนองต่อยา ช่วงแรก ๆ นี่คือนอนแห้งเกือบ 2 เดือน ตอนนี้เริ่มว่ายไปมาได้แล้ว แต่ยังมีแผลกดทับที่ต้องรักษา แล้วเขายังอ้าปากได้ไม่มาก กินปลาไม่ได้ ทำได้แค่คาบปลาไปมา เราเลยต้องใช้อาหารปั่นเสริม แล้วก็มีการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้าช่วย ซึ่งที่ผ่านมาเคยใช้ได้ผลกับเต่าที่มีอาการแบบเดียวกัน”

‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ เพจที่เปิดให้เห็นขยะและสิ่งแปลกปลอมในท้องของสัตว์ทะเล สะท้อนปัญหาขยะที่ตั้งต้นมาจากมนุษย์

ตัวต่อมาที่คุณหมอแนะนำให้เรารู้จักก็คือน้องเต่า 3 ขา ชื่อ ‘แชงคูส’ ซึ่งตั้งชื่อตามตัวละครในการ์ตูน วันพีซ ที่แขนขาด

“เขาเป็นแผลเรื้อรังแล้วกัดแผลตัวเอง ตอนที่เราเจอคือแผลแย่มากจนต้องตัดขา เป็นผู้ป่วยที่อยู่นานที่สุดเลยมั้ง น่าจะ 3 ปีกว่าแล้ว เพราะมีปัญหาลำไส้เรื้อรัง ทุกวันนี้ดีขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์”

สำหรับน้องแชงคูสนั้น ถ้าเมื่อไหร่ที่ลำไส้เป็นปกติก็จะปล่อยคืนสู่ทะเลได้ เพราะเต่า 3 ขายังใช้ชีวิตได้ตามปกติ ต่างจากน้อง ‘แหลมแท่น’ ที่ตาบอด ทำให้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไม่ได้ เนื่องจากหากินเองไม่ได้

“ศูนย์เราตอนนี้มีเต่าตาบอดอยู่ 2 ตัว อย่างแหลมแท่นนี่ตาบอดจากภายใน คือลูกตายังปกติ แต่การมองเห็นมีปัญหาจากภายใน เขาถูกส่งมาเพราะกินเบ็ด พอผ่าเอาเบ็ดออก เขาก็ยังไม่ตอบสนอง พอตรวจดูถึงรู้ว่าตาบอด ส่วนอีกตัวตาบอดจากภายนอก คือมีปัญหาที่ลูกตาเลย พวกนี้เราต้องดูแลเขาตลอดชีวิต”

เมื่อถามถึงอนาคตและความเป็นไปได้ของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสัตว์พิการที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไม่ได้เหล่านี้ คุณหมอเล่าว่าที่ผ่านมาก็มีความพยายามหลายอย่างแต่ก็ยังมีอุปสรรค

หนึ่งในนั้นคือแนวคิดที่ว่า การนำน้อง ๆ ไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้เป็นครูมีชีวิตที่ผู้คนเรียนรู้จากมันได้ และน้องก็น่าจะมีพื้นที่ว่ายน้ำกว้างขวางมากกว่าบ่อในโรงพยาบาล แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยมีพิพิธภัณฑ์ไหนอยากรับมาดูแล ทั้งจากข้อจำกัดเรื่องกฎหมายสัตว์คุ้มครอง ไปจนถึงความรู้สึกที่ว่าการรับมาอาจเป็นภาระยุ่งยาก ไปจนถึงความเชื่อที่ว่า คนที่มาพิพิธภัณฑ์ไม่ได้อยากมาดูสัตว์พิการ

‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ เพจที่เปิดให้เห็นขยะและสิ่งแปลกปลอมในท้องของสัตว์ทะเล สะท้อนปัญหาขยะที่ตั้งต้นมาจากมนุษย์

“ในมุมมองเรา เราอยากให้มีการจัดแสดงนะ เพราะสัตว์พิการที่ปล่อยไม่ได้มีเยอะมาก และพวกเขาก็มีเรื่องราวที่ให้คนเรียนรู้ได้ เช่น เขาพิการจากอะไร และอาจทำให้คนเข้าใจปัญหามากขึ้น เด็ก ๆ ก็จะได้เห็นว่าเต่ารูปร่างเป็นยังไง เพราะอย่างตัวนี้เขาแค่ตาบอด แต่ภายนอกยังปกติเหมือนเต่าทั่วไป และไหน ๆ เขาก็ต้องอยู่กับเราไปตลอดอยู่แล้ว”

ส่วนพีทก็เห็นตรงกันและเสริมว่า “ยิ่งถ้าสัตว์ตัวนั้นพิการจากปัญหาขยะทะเลก็ยิ่งเป็นเรื่องราวที่สร้างจุดเด่นได้ ถ้าพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสักแห่งมีโซนสำหรับสัตว์พิการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะ ก็น่าจะสร้างอิมแพกต์ให้คนรู้สึกได้”

แม้พิพิธภัณฑ์ในฝันนั้นยังไม่เกิดขึ้น แต่พีทเองก็ลองเริ่มต้นเล็ก ๆ จากเคสเต่าตนุตัวหนึ่งที่โดนขยะพันรัดครีบจนเน่าเห็นกระดูกและคุณหมอต้องตัดครีบทิ้ง ซึ่งพีทก็เก็บกระดูกครีบนั้นไว้ และนำไปแปะกับซากปะการังพร้อมแผ่นอินโฟกราฟิกเล็ก ๆ ไปวางข้าง ๆ ในตู้พิพิธภัณฑ์ของกรมทรัพย์ฯ ในขณะที่เจ้าของกระดูกที่ตอนนี้เหลือแค่ 3 ขา ก็ได้รับการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติแล้ว

หากเต่าทะเลพูดได้แบบจุ๊มเหม่ง… มันก็คงอยากให้ถึงวันที่มันและเพื่อน ๆ ไม่มีขยะในท้องมาอวดอีกต่อไป

*หากพบเจอสัตว์ทะเลบาดเจ็บหรือเกยตื้น ติดต่อได้ที่ สายด่วน 1362 หรือศูนย์ต่าง ๆ ตามภาพด้านล่างนี้

‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ เพจที่เปิดให้เห็นขยะและสิ่งแปลกปลอมในท้องของสัตว์ทะเล สะท้อนปัญหาขยะที่ตั้งต้นมาจากมนุษย์

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ