เวลานึกถึงโบสถ์วิหารตามวัดวาอารามต่าง ๆ เรามักจะนึกถึงอาคารก่ออิฐผนังสีขาว ๆ หลังคามุงกระเบื้อง ในขณะที่ถ้าพูดถึงอาคารที่สร้างจากไม้ในวัด ภาพแรก ๆ ที่เราน่าจะนึกขึ้นมาก่อน น่าจะเป็นกุฏิพระไม่ก็พวกศาลาต่าง ๆ ใช่ไหมครับ แต่ในบ้านเรายังมีอุโบสถแบบหนึ่งที่สร้างขึ้นจากไม้ 100% เหมือนกันนะ ซึ่งในยุคนี้ถือเป็นของที่หาชมไม่ง่าย หลายหลังพูดได้เต็มปากว่าสวยวิจิตรไม่แพ้โบสถ์ปูนเลย และ ‘วัดกุฏิบางเค็ม’ ก็เป็นหนึ่งในนั้นครับ

'วัดกุฏิบางเค็ม' สุด Unseen ที่ช่างเมืองเพชรสร้างโบสถ์จากไม้ ตกแต่งลายด้วยไม้ผสมปูนปั้น โดยมีเจ้าอาวาสร่วมแกะสลัก

จากวัดวัดกุฏิเดิมสู่วัดใหม่วัดกุฏิบางเค็ม

‘วัดกุฏิบางเค็ม’ แห่งนี้เดิมมีชื่อว่า ‘วัดกาจับ’ เป็นวัดโบราณที่น่าเสียดาย เพราะไม่มีหลักฐานเอกสารมากพอที่บอกได้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ บ้างก็ว่ากรุงศรีอยุธยาตอนปลาย บ้างก็ว่าต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ข้อมูลที่พูดตรงกัน คือวัดกาจับแห่งนี้ถูกกองทัพพม่าทำลายและอาจอยู่ในสภาพที่เกินเยียวยา ชาวบ้านเลยย้ายโบราณวัตถุบางอย่างมาสร้างวัดใหม่ และวัดใหม่ที่ว่าคือ ‘วัดกุฏิ’ แห่งนี้นี่เอง

ส่วนเหตุผลที่มีคำสร้อยว่า ‘บางเค็ม’ ห้อยท้าย ส่วนหนึ่งเพราะชื่อวัดกุฏิไม่ได้มีแค่วัดเดียว ถ้าเรียกวัดกุฏิเฉย ๆ เดี๋ยวไม่รู้ว่ากำลังพูดถึงที่อำเภอไหน จังหวัดอะไร ส่วนที่เป็นคำว่า ‘บางเค็ม’ เพราะวัดนี้ตั้งอยู่ในตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรีนั่นเอง

โบสถ์ไม้ศิลปะวิเศษแห่งวัดกุฏิ

วัดกุฏิบางเค็ม หรือ วัดกุฏิ มีโบสถ์เป็นอาคารหลักของวัดที่มีสถานะเป็นทั้ง ‘อาคารประธาน’ ของวัดและยังถือเป็นหนึ่งใน Unseen ของจังหวัดเพชรบุรีด้วย เพราะถึงความเป็น ‘โบสถ์ไม้’ ของวัดนี้จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ (แถมยังไม่ใช่ไม้ 100% ด้วย เพราะฐานยังเป็นแบบก่ออิฐอยู่) เพราะทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ต่างก็มีโบสถ์ไม้กันอยู่แล้ว แต่วัดกุฏิมีหลายสิ่งที่โบสถ์ไม้อื่นไม่มี

เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้เกี่ยวกับโบสถ์ไม้หลังนี้ คือโบสถ์หลังนี้ไม่ใช่โบสถ์หลังแรกของวัดกุฏิหรอกนะครับ เพราะดั้งเดิมวัดแห่งนี้มีโบสถ์อยู่แล้ว เป็นโบสถ์อิฐโบสถ์ปูนทั่ว ๆ ไปนี่แหละ แต่ใน พ.ศ. 2473 โบสถ์หลังเก่าชำรุดทรุดโทรมลง พระครูเกษตรสุตคุณ หรือ หลวงพ่อชุ่ม เจ้าอาวาสในเวลานั้นจึงตัดสินใจสร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้น โดยไม่ได้ตั้งอยู่ที่เดิม แต่ตั้งอยู่ระหว่างโบสถ์ปัจจุบันกับศาลาการเปรียญของวัด

ส่วนไม้สักที่ใช้สร้างโบสถ์หลังนี้ก็ไม่ใช่ไม้ของเพชรบุรีอีกต่างหาก เพราะนำมาจากจังหวัดนครสวรรค์ ใช้เวลาเตรียมการอีกประมาณ 2 ปี ถึงแม้ไม้จะเป็นของนำเข้า แต่ช่างที่แกะสลักโบสถ์หลังนี้ยังคงเป็นช่างเมืองเพชรฯ เหมือนเคย เพราะเพชรบุรีไม่ได้มีดีแค่ช่างปั้นเท่านั้น ช่างไม้ก็ฝีมือดีไม่แพ้กัน ที่สำคัญ ช่างแกะสลักไม้ของวัดกุฏิมีทั้งฆราวาสอย่าง นายระย่อม ศรีสังวาล, ช่างเนื่อง, ช่างหวาน, ช่างปิ่น, ช่างเทียน และ เจ๊กโฮ่ง และแม้แต่เจ้าอาวาสวัดในเวลานั้นอย่างพระครูเกษตรสุตคุณยังร่วมแกะสลักด้วยเลย

โบสถ์ไม้หลังงามกับใบเสมาเก่าแก่

'วัดกุฏิบางเค็ม' สุด Unseen ที่ช่างเมืองเพชรบุรี สร้างโบสถ์จากไม้ ตกแต่งลายด้วยไม้ผสมปูนปั้น โดยมีเจ้าอาวาสร่วมแกะสลัก

โบสถ์ไม้ของวัดกุฏินี้ถือเป็นโบสถ์หลังไม่ใหญ่ไม่เล็ก ไซซ์กำลังดี มาพร้อมกับหน้าบันที่ไม่ได้เป็นรูปเทพเจ้าหรือแค่ลายประดับเฉย ๆ แต่ช่างได้เลือกเอาลายบนเหรียญเงินมาใช้ ฝั่งหนึ่งเป็นรูปมงกุฎซึ่งเป็นตราบนเหรียญสมัยรัชกาลที่ 4 อีกฝั่งเป็นรูปตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 มาจากเหรียญในสมัยรัชกาลที่ 5 ครับ เป็นอะไรที่แปลกเอาเรื่องเลย เพราะไม่ค่อยเจอที่ไหนทำแบบนี้สักเท่าไหร่ ส่วนหลังคามีการเรียงกระเบื้องเป็น พ.ศ. 2473 บอกปีที่โบสถ์หลังนี้สร้างขึ้น เป็นเครื่องการันตีว่าโบสถ์หลังนี้สร้างขึ้นในปีนั้นจริง ๆ

'วัดกุฏิบางเค็ม' สุด Unseen ที่ช่างเมืองเพชรสร้างโบสถ์จากไม้ ตกแต่งลายด้วยไม้ผสมปูนปั้น โดยมีเจ้าอาวาสร่วมแกะสลัก

รอบ ๆ โบสถ์มีซุ้มเสมาที่บางใบก็อยู่ในซุ้ม แต่ก็มีบางใบที่มาตั้งอยู่ข้างซุ้ม ซึ่งหน้าตาก็เป็นใบเสมาหินทรายแดง (ที่ถูกทาสี) ทรงใบโพธิ์แบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยเฉพาะวัดที่สร้างนอกกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่การันตีว่าวัดนี้น่าจะเก่าถึงสมัยปลายกรุงศรีฯ จริง

งานไม้ชั้นดีแห่งเมืองเพชร

ไฮไลต์สำคัญของโบสถ์หลังนี้คืองานแกะสลักไม้บนผนังด้านนอก ด้วยความที่เป็นโบสถ์ไม้ จึงมีงานแกะสลักไม้อยู่บนผนังทุกด้านทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง มีภาพขนาดใหญ่รวมทั้งสิ้น 20 ภาพ ภาพขนาดเล็กกว่าอีกหลายภาพ มากไปกว่านั้น ภาพทั้งหมดไม่ได้ซี้ซั้วแกะนะครับ เพราะช่างผู้ออกแบบน่าจะคัดเลือกเนื้อเรื่องที่นำมาแกะสลักมาแล้ว

'วัดกุฏิบางเค็ม' สุด Unseen ที่ช่างเมืองเพชรบุรี สร้างโบสถ์จากไม้ ตกแต่งลายด้วยไม้ผสมปูนปั้น โดยมีเจ้าอาวาสร่วมแกะสลัก

ผนังด้านข้างทั้งซ้ายและขวาแบ่งภาพเป็น 2 ตอน ตอนบนเป็นเรื่อง เวสสันดรชาดก แบบครบ 13 กัณฑ์ บวก เตมียชาดก 1 ช่อง เพราะผนังด้านข้างมีรวมกัน 14 ช่อง พอแกะเรื่อง เวสสันดรชาดก ครบแล้วเหลือช่องหนึ่งพอดี เลยต้องมาหาเรื่องอื่นมาใส่ ช่างเลยเลือกชาดกลำดับที่ 1 ในทศชาติชาดกมาแกะเอาไว้ด้วย ส่วนตอนล่างเป็นหน้าต่าง ทีนี้ช่างคงเสียดายพื้นที่ข้าง ๆ ทั้ง 2 ฝั่ง เลยแกะเป็นภาพต้นไม้แทรกด้วยรูปสัตว์และนายพรานเอาไว้ด้วย ที่สำคัญ ต้นไม้ที่แกะไว้บางต้นดูเหมือนจริงสุด ๆ อีกต่างหาก เผลอ ๆ ต้นไม้ทั้งหมดอาจปลูกอยู่ในจังหวัดเพชรบุรีสมัยก่อนก็ได้

ส่วนฝั่งด้านหน้าและด้านหลังนั้นแบ่งเป็นตอนบนและตอนล่างเหมือนกัน และในเมื่อด้านข้างทั้ง 2 ฝั่งมีทศชาติชาดกเรื่องแรกกับเรื่องสุดท้ายไปแล้ว ผนังตอนบนของด้านหน้าและหลังก็ต้องแกะสลักเรื่องที่เหลือสิครับ แต่ใช่ว่าจะแกะครบทั้ง 8 เรื่องนะครับ เพราะมีเพียง 6 เรื่องเท่านั้นที่ถูกเลือก โดยฝั่งด้านหน้าจะแกะ 4 เรื่อง โดยคัดชาดกลำดับที่ 3 – 6 มา (สุวรรณสามชาดก ถึง ภูริทัตตชาดก) ส่วนฝั่งด้านหลังเลือกมาแค่ 2 เรื่อง คือชาดกลำดับที่ 7 (จันทกุมารชาดก) กับ 8 (พรหมนารทชาดก) มา ถ้าช่องไหนใหญ่โดยเฉพาะช่องกลาง มีแผ่นไม้เขียนชื่อชาดกเอาไว้หน่อย ส่วนช่องอื่น ๆ ต้องคาดเดากันไปว่าเป็นเรื่องไหนผ่านฉากที่ช่างแกะไว้ แต่ไม่ต้องห่วงหรอกครับ เพราะฉากที่ช่างแกะไว้จัดอยู่ในฉากมาตรฐานที่พบได้ทั่วไป ไม่ได้พิสดารอะไร

'วัดกุฏิบางเค็ม' สุด Unseen ที่ช่างเมืองเพชรบุรี สร้างโบสถ์จากไม้ ตกแต่งลายด้วยไม้ผสมปูนปั้น โดยมีเจ้าอาวาสร่วมแกะสลัก
'วัดกุฏิบางเค็ม' สุด Unseen ที่ช่างเมืองเพชรบุรี สร้างโบสถ์จากไม้ ตกแต่งลายด้วยไม้ผสมปูนปั้น โดยมีเจ้าอาวาสร่วมแกะสลัก

แล้วชาดกอีก 2 เรื่องอย่าง มหาชนกชาดก กับ วิธุรชาดก หายไปไหนล่ะ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ที่รู้คืออีก 2 ช่องที่ควรเป็นชาดกอีก 2 เรื่อง ช่างแกะสลักเลือกภาพที่ออกจะแปลกหูแปลกตามา ภาพบนเป็นภาพคนใส่หมวกแหลม ๆ มือถือแส้ปัดแมลง มีคนกำลังถือดอกบัว 2 คน ทำท่าเหมือนกำลังไหว้ ส่วนภาพล่างเป็นภาพคน 4 คน คนแรกคือคนใส่หมวกแหลม ๆ จากช่องข้างบนนั่นแหละ ส่วนอีก 3 คนนั้น คนหนึ่งเป็นลิงถือกระบอง ถัดมาเป็นหมูถือสาแหรก อีกคนเป็นคนไม่ใส่เสื้อถือจอบ

วัดกุฏิบางเค็มสุด Unseen ที่ช่างเมืองเพชรสร้างโบสถ์จากไม้ ตกแต่งลายด้วยไม้ผสมปูนปั้น โดยมีเจ้าอาวาสร่วมแกะสลัก

รู้สึกเอ๊ะกันบ้างไหมครับว่าภาพกลุ่มคน 4 คนข้างล่างเนี่ยอาจดูแปลก ๆ ไปบ้าง แต่ดูคลับคล้ายคลับคลาเหมือนเคยเห็นอะไรแบบนี้ที่ไหนสักแห่ง ใช่แล้วครับ ช่องตรงกลางทั้ง 2 ช่องของวัดกุฏินี้แกะเป็นเรื่อง ไซอิ๋ว และแน่นอนว่า 4 คนข้างล่าง คือพระถังซัมจั๋ง ซุนหงอคง ตือโป๊ยก่าย และซัวเจ๋ง นั่นเอง น่าสนใจและน่าตามต่อว่าทำไมช่างถึงได้เลือกเรื่องนี้มาวาด เพราะเรื่องนี้ดูแปลกกว่าเรื่องอื่น ๆ เอาเรื่องเลย

ส่วนผนังตอนล่างคราวนี้ไม่แกะเรื่องต้นไม้กับสัตว์ป่าแบบด้านข้างแล้ว เพราะไหน ๆ ก็อยู่ขนาบประตูทั้งที ต้องเขียนภาพที่เกี่ยวข้องกับประตูซะหน่อย นั่นคือภาพทวารบาล เป็นรูปทหารยืนถืออาวุธเฝ้าประตู ซึ่งจริง ๆ แล้วควรอยู่บนบานประตู แต่บานประตูของที่นี่แกะลวดลายเป็นลายกระหนกและภาพจับ รามเกียรติ์ แล้ว ภาพทวารบาลเลยขยับไปอยู่ข้าง ๆ ประตูแทน

วัดกุฏิบางเค็มสุด Unseen ที่ช่างเมืองเพชรสร้างโบสถ์จากไม้ ตกแต่งลายด้วยไม้ผสมปูนปั้น โดยมีเจ้าอาวาสร่วมแกะสลัก

ปูนปั้นเล่าเรื่องและไม่เล่าเรื่องเหนือบานประตู

แต่ใช่ว่าโบสถ์ไม้วัดกุฏิจะมีแต่งานแกะสลักไม้นะครับ เพราะไหน ๆ นี่ก็เมืองเพชรฯ ที่ขึ้นชื่อเรื่องงานปั้นปูน จะไม่ให้มีงานปั้นปูนสักนิดสักหน่อยได้ไง ปัญหาคือช่างเล่นแกะสลักไม้ไปแทบทุกจุดแล้ว เลยเหลือที่ตกแต่งไม่เยอะ แต่ไม่เยอะไม่เท่ากับไม่มีนะครับ เพราะยังเหลือที่อยู่ตรงซุ้มเหนือประตูและหน้าต่างที่ช่างยังพอมีที่สำหรับรังสรรค์งานปูนปั้นลงไปหน่อย และด้วยความเป็นช่างปั้นเมืองเพชรฯ จะให้ปั้นปูนง่าย ๆ มันคงธรรมดาไป ของแบบนี้ต้องมีลูกเล่นกันหน่อย แต่น่าเสียดายว่าปูนปั้นตรงหน้าต่างหลุดไปหมดแล้ว เราเลยจะมาดูกันในส่วนของประตูแทน

ซุ้มประตูด้านหน้าฝั่งซ้ายเป็นรูปหน้าสิงห์ที่ล้อมรอบด้วยลายกระหนก ส่วนฝั่งขวาถึงจะเหลือแค่ครึ่งเดียว แต่รูปตรงกลางยังอยู่ และภาพตรงกลางเป็นภาพของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครับ เพราะถึงจะไม่มีชื่อเขียน แต่ผมเชื่อว่าถ้าได้เห็นภาพนี้ ทุกคนน่าจะคิดตรงกันว่าเป็นของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ที่แล้วแน่ ๆ ส่วนรอบ ๆ เป็นลายกระหนกกับคนกำลังแบกภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 เอาไว้

วัดกุฏิบางเค็มสุด Unseen ที่ช่างเมืองเพชรสร้างโบสถ์จากไม้ ตกแต่งลายด้วยไม้ผสมปูนปั้น โดยมีเจ้าอาวาสร่วมแกะสลัก

ส่วนด้านหลังฝั่งซ้ายคล้าย ๆ กับด้านหน้าครับ เป็นรูปสัตว์ที่ล้อมรอบด้วยลายกระหนก แค่เปลี่ยนจากสิงห์เป็นช้างเท่านั้นเอง อีกฝั่งคราวนี้ไม่ใช่รูปในหลวงแล้วครับ แต่เป็นภาพฤๅษีดัดตนแทน แถมไม่ได้มาแค่ 1 เพราะเขามาถึง 7 ท่าด้วยกัน แต่ละท่ามาพร้อมกับคำบรรยายใต้ภาพว่าท่านี้ช่วยเรื่องอะไร (ถ้าข้อความไม่หายไปซะก่อน) รอบ ๆ ภาพฤๅษีดัดตนยังมีภาพสิงสาราสัตว์และต้นไม้ เว้นตรงกลางที่เป็นภาพเหมือนนักมวย 2 คนกำลังชกกัน โดยฝั่งหนึ่งต่อยอีกฝั่งล้มหงายท้องจนกรรมการต้องเข้ามาห้าม งงดีเหมือนกันครับ เพราะตัวภาพไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับฤๅษีดัดตนเลยสักนิดเดียว 

วัดกุฏิบางเค็มสุด Unseen ที่ช่างเมืองเพชรสร้างโบสถ์จากไม้ ตกแต่งลายด้วยไม้ผสมปูนปั้น โดยมีเจ้าอาวาสร่วมแกะสลัก

พระประธานครั้งกรุงเก่ากับภาพถ่ายเก่าโบสถ์ไม้

พอเราก้าวเท้าข้ามธรณีประตูเข้ามาจะพบกับพระประธานที่ตั้งบนฐานสูง ขนาบข้างด้วยพระสาวก ซึ่งองค์พระประธานยังเหลือเค้าโครงของพระพุทธรูปสมัยอยุธยาอยู่บ้าง รวมถึงยังมีพระพุทธรูปกับพระสาวกที่มีทั้งพระสาวกนั่งและพระสาวกยืนอยู่ร่วมกัน

วัดกุฏิบางเค็มสุด Unseen ที่ช่างเมืองเพชรสร้างโบสถ์จากไม้ ตกแต่งลายด้วยไม้ผสมปูนปั้น โดยมีเจ้าอาวาสร่วมแกะสลัก

ภายในโบสถ์ยังมีของสำคัญอยู่อีก นั่นคือภาพถ่ายเก่าครับ โดยภาพถ่ายเก่าในโบสถ์หลังนี้มีอยู่ 2 รูป รูปแรกเป็นภาพตอนโบสถ์หลังปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว แต่อีกภาพหนึ่งเนี่ยสิ เป็นภาพของโบสถ์ไม้หลังปัจจุบันที่กำลังก่อสร้างอยู่ มีทั้งชาวบ้านและพระร่วมอยู่ในเฟรมมากมาย แสดงให้เห็นความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

วัดกุฏิบางเค็มสุด Unseen ที่ช่างเมืองเพชรสร้างโบสถ์จากไม้ ตกแต่งลายด้วยไม้ผสมปูนปั้น โดยมีเจ้าอาวาสร่วมแกะสลัก

Unseen น่าชมแห่งเมืองเพชรบุรี

วัดกุฏิสำหรับผมถือเป็นวัดราษฎร์ที่น่าสนใจ ทั้งความเป็นโบสถ์ไม้ การตกแต่งอาคารที่มีทั้งแกะสลักไม้ผสมกับงานปูนปั้น รวมถึงเป็นหลักฐานแสดงฝีมือช่างชาวบ้านที่แม้ไม่สูงส่งในระดับช่างหลวง แต่ไม่ใช่ช่างฝีมือไก่กา วัดกุฏิแห่งนี้จึงเป็นวัดที่ควรค่าแก่การไปรับชมสักครั้ง ขอเอาหัวเป็นประกันว่าไม่ผิดหวังแน่นอน ใครไม่เคยไป ขอแนะนำให้ลองไปสักครั้ง หรือถ้าเคยไปแล้ว ไปซ้ำอีกได้นะครับ เผื่อไปคราวก่อนลืมดูตรงไหนไป กลับไปดูใหม่อาจเห็นก็ได้

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดกุฏิบางเค็มตั้งอยู่ในอำเภอเขาย้อย ถ้าขับรถไปตามถนนเพชรเกษมจากกรุงเทพฯ จะผ่านประตูทางเข้าวัดนี้ก่อนเข้าตัวเมืองเพชรบุรี เข้าไปชมได้เลยครับ แต่ปกติโบสถ์ไม้ไม่เปิด เว้นแต่ในโอกาสพิเศษหรือไปขอพระในวัดเท่านั้น
  2. ส่วนใครสนใจเรื่อง ทศชาติชาดก ผมเคยเขียนเรื่องของทศชาติแต่ละเรื่องอย่างละเอียดเอาไว้แบบแยกทีละเรื่องไว้แล้ว ใครสนใจไปหาอ่านย้อนหลังได้เลยครับ
  3. ส่วนเรื่อง ไซอิ๋ว นอกจากวัดกุฏิแล้วยังมีบางวัดที่มีภาพเล่าเรื่องนี้เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นงานช่างหลวง เช่น หอระฆัง วัดราชโอรสาราม หรือเก๋งจีนรอบพระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ