เวลาพูดถึงจังหวัด ‘เพชรบุรี’ หลายคนจะนึกถึงหาดชะอำ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เขาวัง แหลมผักเบี้ย หรือถ้ำเขาหลวง อาจไม่มีชื่อของวัดไหนเข้ามาในหัว หรือถ้ามีก็อาจเป็นวัดมหาธาตุ หรือ วัดใหญ่สุวรรณาราม แต่อารามบอยวันนี้ขอเสนออีกสักวัดที่น่าสนใจและน่าค้นหามาก ๆ ผมขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ ‘วัดเกาะแก้วสุทธาราม’ ครับ

วัดบนสัณฐานเกาะที่สมเด็จครูเคยมาชม

พอเห็นชื่อ วัดเกาะแก้วสุทธาราม หลายคนอาจสงสัยว่าเป็นเกาะยังไง ก็อยู่บนพื้นปกตินี่ ต้องบอกว่าในอดีตวัดนี้อยู่บนเกาะจริง ๆ เหมือนกับอีกหลายวัดที่มีชื่อเดิมว่าวัดเกาะเหมือนกัน เช่น วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สภาพความเป็นเกาะก็ค่อย ๆ หายไป เหลือเพียงความทรงจำผ่านชื่อว่าวัดแห่งนี้เคยอยู่บนเกาะจริง ๆ

แต่สิ่งที่วัดนี้มีเหมือนวัดส่วนใหญ่ในบ้านเราที่ไม่มีประวัติการสร้างชัดเจน ได้แต่สันนิษฐานคาดเดากันไปจากสิ่งที่ยังเหลืออยู่ในวัด ซึ่งวัตถุที่มีอายุมากสุดเท่าที่เหลือในปัจจุบัน คือใบเสมาหินทรายแดงที่อาจเก่าถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แสดงว่าวัดนี้อาจเก่าไปถึงสมัยนี้ก็ได้ แต่ถ้าจะยึดจากอุโบสถของวัดที่แอ่นท้องสำเภา แถมข้างในยังมีข้อความบนผนังที่ระบุปีว่า พ.ศ. 2277 ซึ่งเท่ากับว่าวัดนี้น่าจะสร้างขึ้นก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แค่ 33 ปีเท่านั้นเอง

และถึงแม้จะเป็นวัดขนาดไม่ใหญ่ แต่ครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2446 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เคยเสด็จมายังวัดนี้ เมื่อพระองค์เสด็จมณฑลราชบุรีโดยเสด็จไปถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 5 มีนาคม แต่ครั้งนั้นไปถึงตอนเย็นแล้วเลยได้ชมแค่คร่าว ๆ ก่อนเสด็จกลับไปอีกครั้งในวันที่ 10 มีนาคม โดยเสด็จไปตั้งแต่เช้าและวาดลายเส้นรูปเทวดา ชาวต่างชาติ รวมถึงโครงสร้างของจิตรกรรมฝาผนังเอาไว้ด้วย รวมถึงคัดข้อความจารึกบนผนังที่ระบุ พ.ศ. เอาไว้ แสดงว่าถึงจะเป็นเล็ก ๆ แต่วัดนี้ก็สวยงามขนาดที่ สมเด็จครู เสด็จมาชมด้วยพระองค์เองเลยทีเดียว 

อุโบสถมหาอุด

แน่นอนว่าหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของวัดเกาะแก้วสุทธารามอยู่ภายในอุโบสถ ซึ่งถือเป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในยุคปลายกรุงศรีอยุธยาอย่างที่ผมเล่าไปแล้วตอนแรก สังเกตได้จากฐานอาคารที่แอ่นเป็นท้องสำเภา แต่ด้วยความที่วัดนี้อยู่ในจังหวัดเพชรบุรี และหลายคนน่าจะพอทราบว่าเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของงานช่างเมืองเพชรคือ ‘ปูนปั้นเมืองเพชร’ นั่นเอง แน่นอนว่าที่นี่ก็ไม่แตกต่างครับ ทั้งหน้าบัน ซุ้มประตู ต่างตกแต่งด้วยปูนปั้นทั้งสิ้น 

วัดเกาะแก้วสุทธาราม มาสเตอร์พีซของจังหวัดเพชรบุรีที่มีอุโบสถมหาอุดสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และจิตรกรรมบาทหลวงห่มจีวร
วัดเกาะแก้วสุทธาราม

แต่เอ๊ะ แล้วหน้าต่างล่ะ มีประตูแล้วก็ต้องมีหน้าต่างสิ ทำไมไม่เห็นพูดถึงหน้าต่างเลย นั่นเป็นเพราะอุโบสถหลังนี้เป็นอาคารแบบพิเศษ เรียกว่า ‘มหาอุด’ มีประตู 4 บาน แต่ไม่มีหน้าต่างสักบานเดียว มักถูกอธิบายว่าช่วยให้เกิดความขลังในพิธีกรรมปลุกเสกวัตถุมงคล ถือเป็นอาคารแบบพิเศษที่มีให้ชมไม่มากนักในบ้านเรา

เมื่อมารผจญและจักรวาลอย่างพุทธสลับด้านกัน

พอเราเดินผ่านประตูเข้าไปจะเจอกับพระประธานปางสมาธิสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ห้อมล้อมด้วยจิตรกรรมฝาผนังเต็มพื้นที่ทั้ง 4 ด้าน เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาเหมือนกัน ต่างกันที่เรื่องราวที่เขียนเอาไว้ในแต่ละด้าน ซึ่งทั้งหมดสันนิษฐานว่าวาดขึ้นในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา

เริ่มกันด้วยผนังสกัดหน้ากับผนังสกัดหลังก่อน ตามปกติแล้วผนังสกัดหลังจะเขียนภาพจักรวาล ส่วนผนังสกัดหน้าเขียนฉาก พุทธประวัติตอนมารผจญ แต่ที่นี่เขียนสลับกัน เพราะผนังสกัดหลังเขียนภาพมารผจญ ในขณะที่ผนังสกัดหน้าเขียนภาพจักรวาลแทน หลายคนอาจจะคิดว่าที่เป็นแบบนี้เพราะมีการย้ายตำแหน่งพระประธานแน่ ๆ เลย 

หยุดก่อนอานนท์ อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจ เพราะการเขียนสลับฝั่งแบบนี้อาจหาดูได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย เพราะมีบางวัด เช่น วัดบางขนุน จังหวัดนนทบุรี ก็มีแบบนี้เหมือนกัน และเทคนิคนี้ยังเป็นวิธีที่ทำให้พระประธานกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพเล่าเรื่อง เสมือนว่าองค์พระประธานทำหน้าที่เป็นพระพุทธเจ้าในฉากมารผจญด้านหลัง และเราจะเห็นสิ่งนี้ได้เมื่อเรายืนอยู่ข้างหน้าพระประธาน เพราะถ้ายืนตรงเหลี่ยม ท่านจะอยู่ตรงกลางพอดี มีมารบุกมาฝั่งหนึ่งและมารพ่ายอยู่อีกฝั่งหนึ่ง

วัดเกาะแก้วสุทธาราม มาสเตอร์พีซของจังหวัดเพชรบุรีที่มีอุโบสถมหาอุดสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และจิตรกรรมบาทหลวงห่มจีวร
วัดเกาะแก้วสุทธาราม มาสเตอร์พีซของจังหวัดเพชรบุรีที่มีอุโบสถมหาอุดสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และจิตรกรรมบาทหลวงห่มจีวร

แต่ผนังสกัดหลังไม่ได้มีแค่ฉากมารผจญเท่านั้น เพราะเหนือประตูทั้ง 2 ด้านมีพื้นที่อยู่ ช่างโบราณเลยถมพื้นที่ว่างเปล่านี้ด้วยจิตรกรรมเรื่องรอยพระพุทธบาท ซึ่งรอยพระพุทธบาทสำคัญที่พูดถึงในคัมภีร์ทางพุทธศาสนานั้นมีอยู่ 2 แห่ง แห่งแรกคือบนยอดเขาสุวรรณบรรพต (ไทยเราบอกว่าอยู่ที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ส่วนพม่าบอกว่าอยู่ที่ชเวเสตตอ) อีกแห่งคือรอยพระพุทธบาทริมแม่น้ำนัมมทา (ที่ไทยไม่พูดถึง แต่พม่าบอกอยู่ที่ชเวเสตตอเหมือนกัน) 

เห็นไหมครับ นี่คือความชาญฉลาดของช่าง ในเมื่อมีพื้นที่ 2 ช่อง รอยพระพุทธบาทสำคัญมี 2 แห่ง ก็เขียนเรื่องนี้ซะเลย 

วัดเกาะแก้วสุทธาราม มาสเตอร์พีซของจังหวัดเพชรบุรีที่มีอุโบสถมหาอุดสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และจิตรกรรมบาทหลวงห่มจีวร

สลับกลับมาที่ผนังสกัดหน้ากันบ้าง เพราะถ้าผนังด้านหลังจัดเต็มเรื่องราวขนาดนี้ ด้านหน้าจะยอมได้อย่างไร

ภาพจักรวาลตามแบบพุทธที่ประกอบด้วยเขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ และพระอาทิตย์กับพระจันทร์ ช่างแอบแทรกภาพพุทธประวัติเอาไว้ตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับฉากนี้แบบพอดิพอดี นั่นคือเหตุการณ์ตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ฉากนี้ต่อมาเป็นที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์มาก ๆ จนพบได้ทั่วไปเลย แต่แค่นี้ยังไม่สะใจ ในเมื่อสวรรค์ตามความเชื่อของศาสนาพุทธเรามี 6 ชั้น (สวรรค์ชั้น 7 ไม่มีนะครับ) ก็เขียนมันลงไปซะเลย แต่เพราะสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นชั้นที่ 2 ไปแล้ว เลยวาดสวรรค์ชั้นที่เหลือให้อยู่สูงขึ้นไปเป็นชั้น ๆ

ไม่เท่านั้น รอบ ๆ เขาพระสุเมรุกับเขาสัตตบริภัณฑ์มีภาพกลุ่มดาวแบบไทย เช่น ดาวม้า ดาวจระเข้ หรือดาวที่เรารู้จักกันดีอย่างดาวลูกไก่ก็มีเหมือนกัน ยัง ยังไม่จบ ไหน ๆ ก็มีที่เหลือนิดหน่อย เลยมีรูปของราหู ยักษ์ที่มีครึ่งตัวเพราะเป็นอมตะแค่ครึ่งเดียว และคอยไล่งับพระอาทิตย์กับพระจันทร์แอบเนียนอยู่ด้วย

วัดเกาะแก้วสุทธาราม มาสเตอร์พีซของจังหวัดเพชรบุรีที่มีอุโบสถมหาอุดสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และจิตรกรรมบาทหลวงห่มจีวร

และในเมื่อผนังสกัดหลังเขียนภาพเหนือประตู ผนังสกัดหน้าก็ต้องมีเหมือนกัน แต่ฝั่งนี้จะต่างออกไป เพราะเขียนภาพเป็นเหมือนแอนิเมชันที่มีเนื้อเรื่องต่อกัน โดยด้านหนึ่งเขียนเหตุการณ์ในช่วงท้าย ๆ ของพุทธประวัติ นั่นคือเหตุการณ์การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ซึ่งตามมาด้วยเหตุการณ์การแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของโทณพราหมณ์ และเมื่อด้านแรกเขียนมาถึงตอนแบ่งพระธาตุ อีกด้านเลยเขียนฉากที่บรรดากษัตริย์กำลังเดินทางมาเพื่อขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุด้วยนั่นเอง

วัดเกาะแก้วสุทธาราม มาสเตอร์พีซของจังหวัดเพชรบุรีที่มีอุโบสถมหาอุดสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และจิตรกรรมบาทหลวงห่มจีวร

ยัง ยังไม่จบ ช่างเขียนคงเห็นว่าบริเวณขอบบนยังเหลือที่อยู่นิดหน่อย เลยแอบไปเขียนภาพเจดีย์ทรงปรางค์จำนวนเท่ากับพระอดีตพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้ว โดยเว้นพื้นที่ตรงกลางเอาไว้ให้กับยักษ์ตนหนึ่งกับช้างเชือกหนึ่ง มีใครพอนึกออกไหมครับว่าในพุทธประวัติมียักษ์ตนไหนที่มีช้างเป็นพาหนะบ้าง – ใช่แล้วครับ นี่คือพญามาร หรือชื่อเต็มก็คือ พญาวสวัตตีมาร ประมุขแห่งเทวดาบนสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี สวรรค์ชั้นที่ 6 และคนที่มาผจญพระพุทธเจ้าพร้อมกับช้างคีรีเมขลานั่นเอง 

 อัษฎมหาปาฏิหาริย์กับสัตตมหาสถาน

คราวนี้ลองหันไปทางซ้ายและขวาบ้าง นี่ยิ่งแปลกเข้าไปใหญ่ เพราะเป็นภาพเจดีย์สุดอลังการที่มีพระพุทธเจ้ายืนอยู่บริเวณองค์ระฆังสลับกับฉัตร ซึ่งทั้งเจดีย์และฉัตร แม้ดูเผิน ๆ จะเหมือนกันไปหมด แต่ลองดูดี ๆ นะครับ เพราะไม่มีเจดีย์หรือฉัตรองค์ไหนที่เหมือนกันเลย เรียกได้ว่าทั้งเจดีย์และฉัตรออกแบบมาอย่างประณีตมาก ที่สำคัญบริเวณใต้รูปเจดีย์นี่แหละที่ พ.ศ. 2277 ถูกเขียนกำกับไว้ พร้อมชื่อสปอนเซอร์ผู้ออกเงินและจำนวนเงินด้วย

วัดเกาะแก้วสุทธาราม มาสเตอร์พีซเมืองเพชรที่มีอุโบสถมหาอุด และภาพวาดบาทหลวงห่มจีวร
วัดเกาะแก้วสุทธาราม มาสเตอร์พีซเมืองเพชรที่มีอุโบสถมหาอุด และภาพวาดบาทหลวงห่มจีวร

แต่ส่วนที่อยากให้สังเกตจริง ๆ คือบริเวณใต้ฉัตรครับ เพราะพื้นที่บริเวณตรงนี้ช่างแทรกภาพเล่าเรื่อง พุทธประวัติ ลงไปชุดหนึ่ง โดยผนังฝั่งขวามือพระประธานเขียนเรื่อง อัษฎมหาปาฏิหาริย์ ส่วนฝั่งซ้ายมือพระประธานเขียนเรื่อง สัตตมหาสถาน 

แล้วเจ้าคำศัพท์ยาก ๆ 2 คำนี้มันคืออะไรล่ะ มันคือชื่อชุดของเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติครับ

‘อัษฎ’ แปลว่า 8 ดังนั้น อัษฎมหาปาฏิหาริย์ คือชุดของพุทธประวัติตอนสำคัญ 8 ตอนที่ประกอบด้วยเหตุการณ์ที่เรา ๆ ท่าน ๆ คุ้นเคยกันดี อย่าง ‘สังเวชนียสถาน 4’ คือประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมเข้ากับ ‘มหาปาฏิหาริย์ 4’ คือ ปราบช้างนาฬาคิรี ป่าเลไลยก์ โปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และยมกปาฏิหาริย์

ส่วน ‘สัตต’ แปลว่า 7 สัตตมหาสถาน จึงเป็นชุดเหตุการณ์ 7 สัปดาห์หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ไปแล้ว ประกอบด้วย โพธิบัลลังก์ ประทับใต้ต้นโพธิ์ อนิมิสเจดีย์ มองต้นโพธิ์โดยไม่กะพริบตา รัตนจงกลมเจดีย์ เดินจงกรมรอบต้นโพธิ์ รัตนฆรเจดีย์ ประทับในเรือนแก้ว อชปาลนิโครธ ธิดาพญามารมาผจญ มุจลินท์ นาคปรก และ ราชายตนะ พระพุทธเจ้ารับบาตรจากพ่อค้าตปุสสะ ภัลลิกะ

ชื่ออาจฟังดูยากสักหน่อย เอาเป็นว่าทั้ง 15 เหตุการณ์ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เมื่อเทียบกับการเดินทางไปเทศนายังเมืองต่าง ๆ หรือการเทศนาตอนต่าง ๆ แล้ว เหตุการณ์ชุดนี้ถือว่าสำคัญกว่ามาก และได้รับคัดเลือกมาเขียนเอาไว้ที่ผนังทั้ง 2 ด้าน 

แล้วถ้าดูไม่ออกล่ะว่าแต่ละช่องเขียนเรื่องอะไร ให้ลองดูที่ใต้รูปครับ อาจอ่านยากสักหน่อย เพราะเขียนแบบโบราณ แต่ทุกรูปมีคำบรรยายภาพสั้น ๆ เขียนไว้แล้ว ลองไปส่อง ๆ ดูได้ครับ

แต่ถ้าจะพาชมทุกรูปเดี๋ยวมันจะยาวเกิน เอาเป็นว่าจะชวนไปชมภาพเก๋ ๆ สัก 2 ช่องละกัน

ช่องแรกอยู่ทางฝั่งขวามือพระประธานครับ เป็นเหตุการณ์ในตอน ปราบช้างนาฬาคิรี ซึ่งข้างบนก็เป็นฉากปราบช้างทั่วไป ช้างนาฬาคิรีวิ่งเข้ามา พระพุทธเจ้ายื่นมือหยุดช้างเอาไว้ แต่ที่อยากให้ดูคือภาพข้างล่างครับ ช่างวาดเป็นกลุ่มชาวต่างชาติ โดยคนหนึ่งสวมหมวก พาดผ้าคล้ายจีวร แถมมือหนึ่งยังถือตาลปัตรด้วย แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ภาพพระสงฆ์ชาวตะวันตกเมื่อ 300 กว่าปีก่อน แต่คือความพยายามของบาทหลวงชาวตะวันตกที่พยายามแต่งกายเลียนแบบพระภิกษุสงฆ์ เพื่อเผยแผ่พระวจนะของพระเจ้า เพราะคนในสมัยก่อนไม่ศรัทธาในคำสอนใหม่จากตะวันตก บาทหลวงไม่รู้จะทำยังไง แต่เห็นว่าคนกราบไหว้พระสงฆ์ เลยแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ซะเลย เผื่อจะเวิร์ก (แต่สุดท้ายก็ไม่เวิร์กอยู่ดี)

วัดเกาะแก้วสุทธาราม มาสเตอร์พีซเมืองเพชรที่มีอุโบสถมหาอุด และภาพวาดบาทหลวงห่มจีวร

อีกภาพเป็นผนังฝั่งซ้ายมือพระประธานครับ ในเหตุการณ์สัปดาห์ที่ 5 หลังตรัสรู้ที่เรียกว่า อชปาลนิโครธ ทีนี้ผมบอกไปตอนแรกใช่ไหมครับว่านี่คือสัปดาห์ที่ธิดาพญามารทั้ง 3 คือตัณหา ราคา และอรตี มาผจญพระพุทธเจ้า แต่มองไปทางไหนก็ไม่เห็นมีเลย แต่เจอภาพแปลก ๆ อยู่ภาพหนึ่ง เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไม้ ข้าง ๆ มีคนยกมือไหว้ ส่วนข้างล่างมีภาพแพะ 3 ตัว และภาพนี้แหละคือ อชปาลนิโครธ ที่ผมพูดถึง เพราะถ้าแปลชื่อเหตุการณ์ตอนนี้ จะแปลว่า ‘ต้นไทรของคนเลี้ยงแพะ’ ดังนั้น แทนที่จะวาดธิดาพญามาร ช่างเลือกจะวาดแพะแทน เป็นยังไง เก๋ไก๋ไหมล่ะ

วัดเกาะแก้วสุทธาราม มาสเตอร์พีซเมืองเพชรที่มีอุโบสถมหาอุด และภาพวาดบาทหลวงห่มจีวร

ทีนี้ ผนังทั้ง 2 ด้านก็ยังมีที่เหลืออยู่ด้านบน เลยเอาภาพบรรดานักสิทธิ์ วิทยาธรเหาะมาวาดไว้แทน และเพื่อความไม่ซ้ำซากจำเจ นักสิทธิ์วิทยาธรแต่ละตนเลยไม่เหมือนกัน บางตนก็ดูไทยปกติ แต่บางตนมีหนวด โพกหัวแบบชาวอาหรับ บางตนผมแดงแบบชาวตะวันตกเลยก็มี เรียกว่าผสมผสานกันสุดฤทธิ์สุดเดชไปเลย

ความงามวิเศษที่ไม่ซ้ำใคร

เห็นไหมครับว่าแค่อุโบสถหลังเดียวยังมีเรื่องราวขนาดนี้ วัดนี้ยังมีอีกหลายจุดที่น่าไปชม ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ทรงเครื่องที่มาในรูปของเจดีย์ทรงระฆังที่เหมือนห้อยสร้อยไว้รอบ ศาลาท่าน้ำ หรืออีกหนึ่งจุดที่ควรไปชมอย่างยิ่ง คือศาลาการเปรียญของวัดที่แม้จะอายุห่างจากอุโบสถเยอะเพราะสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2431 แต่ข้างในถือว่าน่าชมทีเดียว มีทั้งธรรมาสน์ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2465 และจิตรกรรมฝาผนังที่เขียน พุทธประวัติ พร้อมโคลงบรรยายภาพกำกับไว้กับเรื่อง พระเวสสันดรชาดก เรียกได้ว่าครบเครื่องทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ทั้งจากสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์

วัดเกาะแก้วสุทธาราม มาสเตอร์พีซเมืองเพชรที่มีอุโบสถมหาอุด และภาพวาดบาทหลวงห่มจีวร

และในเพชรบุรียังมีอีกหลายที่ที่น่าชมด้วยเงื่อนไขที่ต่างกัน บางวัดมีอุโบสถหลังงาม บางวัดมีเจดีย์ทรงสวย บางวัดมีพระประธานงามเลิศ บางวัดมีภาพเล่าเรื่องที่สวยและน่าสนใจ อย่าคิดว่าเพชรบุรีเป็นแค่เมืองรองธรรมดา ๆ ที่มีแต่ทะเลสวยอย่างเดียว ในตัวเมืองเพชรบุรียังมีอะไรที่น่าชมอีกเพียบเลย ดังนั้น ถ้าไม่รู้จะไปเที่ยวไหนหรืออยากหาจังหวัดใหม่ ๆ ในการเดินทางไปไหว้พระ เพชรบุรีพร้อมต้อนรับเลยครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดเกาะแก้วสุทธารามนี้เหมาะกับคนที่มีพาหนะส่วนตัวครับ จะจักรยาน จักรยานยนต์ หรือรถยนต์ก็ได้ ในวัดมีลานจอดรถกว้าง นำมาจอดได้เลย ที่สำคัญ แม้ประตูอุโบสถจะงับปิดเอาไว้ แต่เปิดเข้าไปชมด้านในได้ แต่อย่าลืมปิดประตูไว้ให้ด้วยนะครับ ส่วนศาลาการเปรียญปกติปิดครับ ต้องติดต่อขอกุญแจมาเปิด
  2. ถ้าใครสนใจอยากดูงานช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาอีก ที่เพชรบุรียังมีอีกหลายวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดที่ผมเกริ่นไว้ตอนแรก ทั้งวัดมหาธาตุที่มีพระปรางค์องค์ใหญ่กับพระประธานทรงเครื่อง วัดใหญ่สุวรรณารามที่มีศาลาการเปรียญหลังงาม กับอุโบสถมหาอุดอีกหลังของเมืองเพชรที่มาพร้อมภาพวาดเทพชุมนุมงามที่สุดที่หนึ่งในเมืองเพชรบุรี รวมถึงวัดสระบัว วัดครั้งกรุงเก่าที่ยังรักษาสภาพดั้งเดิมไว้ได้ดีมาก ๆ ก็น่าไปชมไม่หยอกเลยครับ
  3. หรือถ้าใครสนใจอุโบสถแบบมหาอุด (สะกดว่า มหาอุด นะครับ ไม่ใช่มหาอุตม์) อาจกระจายตัวในหลายจังหวัดสักหน่อย แต่ก็มีให้ดูหลายวัดเลย เช่น วัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี วัดนางสาว จังหวัดสมุทรสาคร วัดตึก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใครอยู่ใกล้ที่ไหนก็เลือกไปชมกันได้เลยครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ