ในตอนนี้ผมขอนำเสนอวัดที่สร้างโดย ‘แม่’ แต่ว่า ‘แม่’ ในที่นี้ไม่ใช่แม่ธรรมดา เพราะเป็น ‘แม่’ ของลูกสาวจำนวนมากที่ทำหน้าที่บริการชายหนุ่มในย่านโคมเขียว (ไม่ใช่โคมแดงนะครับ เพราะในสมัยรัชกาลที่ 4 – 5 ทางการระบุว่า จะต้องติดโคมเขียวเป็นสัญลักษณ์) ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงวัดที่สร้างโดย ‘แม่เล้า’ หรือเรียกอย่างเพราะๆ ว่า ‘เจ้าสำนักโสเภณี’ นามว่า ‘วัดคณิกาผล’

วัดคณิกาผล, วัดจากโสเภณี, วัดโสเภณี

วัดคณิกาผลสร้างโดยคุณยายแฟง เจ้าของสำนักโสเภณีชื่อ ‘โรงยายแฟง’ โรงโสเภณีชั้นสูงที่ตั้งอยู่ ณ ตรอกเต๊า ถนนเยาวราช (ปัจจุบันคือซอยเจริญกรุง 14) เมื่อ พ.ศ. 2376 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยร่วมกับหญิงงามเมือง (คำเรียกเพราะๆ อีกคำหนึ่งของโสเภณี) ในสำนักของนาง ตามความนิยมในสมัยนั้น บรรดาขุนนางนิยมสร้างวัดเพราะมีคำกล่าวว่า “ใครใจบุญสร้างวัดก็จะเป็นคนโปรด”

แต่เหตุการณ์ที่พีกสุดๆ เกิดขึ้นตอนงานสมโภชวัด คุณยายแฟงได้นิมนต์ขรัวโต ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) มาเทศน์ในงานฉลองวัด หวังจะให้สรรเสริญความดีของนางที่มีต่อชุมชน แต่ขรัวโตเป็นพระที่เทศน์แบบขวานผ่าซากอยู่แล้ว จึงเทศน์สั่งสอนไปว่า เจ้าภาพทำบุญจากเงินที่ได้จากดอกผลซึ่งมีพื้นฐานจากสิ่งที่ผิด (โรงโสเภณี) ย่อมจะได้บุญเพียงสลึงเฟื้องของเศษบุญเท่านั้น ทำให้ยายแฟงโกรธมากถึงขนาดยกเครื่องกัณฑ์เทศน์กระแทกถวาย

หลังนั้นจากนั้นยายแฟงได้ไปนิมนต์ทูลกระหม่อมพระ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) จากวัดบวรนิเวศวิหาร หมายจะได้รับคำชมเพื่อแก้หน้าจากคราวก่อน ปรากฏว่าทูลกระหม่อมพระกลับแสดงธรรมเทศนายืนยันสิ่งที่ขรัวโตได้เทศนาไว้ก่อนหน้านี้ แถมยังลดระดับของบุญที่ได้รับจากสลึงเฟื้องลงมาเหลือแค่ 2 ไพอีกต่างหาก ทำให้ยายแฟงยิ่งน้อยใจหนักกว่าเก่า

ตอนแรกวัดแห่งนี้ไม่มีชื่อ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘วัดใหม่ยายแฟง’ เพราะวัดนี้เพิ่งจะถูกสร้างขึ้นโดยยายแฟง ในรัชกาลต่อมาลูกหลานของยายแฟงได้บูรณะวัดขึ้นใหม่และกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามใหม่จากรัชกาลที่ 4 ซึ่งได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า ‘วัดคณิกาผล’ แปลว่า วัดที่สร้างจากผลประโยชน์ของนางคณิกา

เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูวัดเข้าไปแล้ว สิ่งแรกที่เราเห็นก็คือป้ายสีแดงพร้อมลูกศรชี้ แถวบนเขียนว่าอุโบสถหลวงพ่อทองคำพร้อมลูกศรชี้ขึ้น แถบล่างเขียนว่าวิหารหลวงพ่อองค์ดำพร้อมลูกศรชี้ไปทางขวา ดังนั้น เราจะเดินตรงขึ้นไปยังอุโบสถกันก่อนครับ

วัดคณิกาผล, วัดจากโสเภณี, วัดโสเภณี

อุโบสถของวัดซึ่งแม้จะเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ แต่พระพุทธรูปประธานนามว่าหลวงพ่อทองคำ พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ที่ใครๆ ก็ถือว่าเป็นงานที่คลาสสิกและเป็นแบบที่งดงามที่สุดของพระพุทธรูปในศิลปะไทยยังคงประดิษฐานเป็นองค์ประธานดังเช่นในสมัยก่อน (แม้ส่วนตัวผมจะมีพระพุทธรูปอีกยุคหนึ่งที่เป็นอันดับหนึ่งในใจก็ตาม)

องค์หลวงพ่อทองคำเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับอุโบสถ แต่เมื่อนำไปประดิษฐานในบุษบกก็ทำให้ความโดดเด่นของพระพุทธรูปเพิ่มขึ้นมาก ถือเป็นกลวิธีอันแยบคายของช่างโบราณที่ช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับพระพุทธรูปได้เป็นอย่างดี

วัดคณิกาผล, วัดจากโสเภณี, วัดโสเภณี วัดคณิกาผล, วัดจากโสเภณี, วัดโสเภณี วัดคณิกาผล, วัดจากโสเภณี, วัดโสเภณี

ข้างๆ กันคือวิหารหลวงพ่อองค์ดำ (อ่านดีๆ นะครับ องค์ดำนะครับไม่ใช่องค์คำ) วิหารเก่าที่ยังแสดงลักษณะของอาคารสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งนิยมประดับชามกระเบื้องและลายปูนปั้นบนหน้าบัน แม้จะผ่านการบูรณะไปแล้วก็ตาม

ข้างในวิหารมีหลวงพ่อองค์ดำ พระพุทธรูปขนาดใหญ่ ที่แม้ตอนนี้จะสีทอง แต่เดิมน่าจะต้องเคยเป็นสีดำมาก่อน เพราะไม่อย่างนั้นท่านคงไม่ได้ชื่อ ‘หลวงพ่อองค์ดำ’ มา ซึ่งสีดำนี้มาจาก ‘รัก’ ยางไม้ชนิดหนึ่งที่มีสีดำ จะนำมาลงบนพระพุทธรูปก่อนที่จะปิดทอง ชื่อนี้ยังพบกับพระพุทธรูปอีกหลายองค์ซึ่งเชื่อกันว่าขณะที่ได้ชื่อนี้มา ชาวบ้านน่าจะพบพระพุทธรูปองค์นี้ตอนที่เป็นสีดำอยู่ ก่อนที่จะมีการปิดทองในเวลาต่อมา

วัดคณิกาผล, วัดจากโสเภณี, วัดโสเภณี วัดคณิกาผล, วัดจากโสเภณี, วัดโสเภณี

องค์หลวงพ่อดำถูกรายล้อมด้วยพระพุทธรูปหลายองค์ หลายขนาด หลากอิริยาบถ ทั้งนั่ง ทั้งยืน ทั้งเก่า ทั้งใหม่ แต่มีองค์ที่น่าสนใจอยู่องค์หนึ่งคือ ‘พระผอม’ พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา หรือปางทรมานกาย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแนวใหม่ที่ได้ต้นแบบมาจากพระพุทธรูปปางเดียวกันในศิลปะคันธาระของอินเดีย ใครอยากจะดูพระพุทธรูปศิลปะคันธาระแต่ไม่อยากไปอินเดียก็สามารถไปดูได้ที่ระเบียงคดวัดเบญจมบพิตรฯ นะครับ มีอยู่องค์หนึ่ง และที่ฐานพระองค์นี้ยังมีจารึกบอกปีที่สร้างคือ พ.ศ. 2437 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 พอดีอีกด้วย

วัดคณิกาผล, วัดจากโสเภณี, วัดโสเภณี

ส่วนบริเวณผนังตรงข้ามหลวงพ่อองค์ดำมีแผ่นจารึกที่แม้จะถูกกระจกพลาสติกปิดจนดูมัว แต่เรายังพอเห็นข้อความที่พูดถึงชื่อผู้บริจาคสร้างพระวิหารหลังนี้ โดยคนที่จะมีชื่อบนนี้จะต้องบริจาคตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป ซึ่ง 1 บาทในสมัยก่อนถือว่าเป็นเงินเยอะมาก ดังนั้น ถ้าใครบริจาคเงินแค่หลักสลึง เฟื้อง ไพ คุณก็จะไม่มีชื่ออยู่บนนี้ เหมือนกับในปัจจุบันที่แผ่นจารึกเช่นนี้ในหลายวัดจะระบุชื่อเฉพาะผู้บริจาคที่บริจาคเงินมากเท่านั้น

วัดคณิกาผล, วัดจากโสเภณี, วัดโสเภณี

และที่ไม่ควรพลาดก็คือด้านหลังอุโบสถและวิหารที่มีซุ้มเล็กๆ เขียนว่า ‘อาคารย่าแฟง’ ซึ่งเป็นที่ตั้งรูปหล่อครึ่งตัวของคุณยายแฟง ผู้สร้างวัดคณิกาผลแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันมีการถวายผ้าห่มและศิราภรณ์จนมองไม่เห็นจารึกที่ฐานที่เขียนว่า “วัดคณิกาผลนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ โดยคุณแม่แฟง บรรพบุรุษของตระกูลเปาโรหิตย์” แต่ถ้าใครอยากจะเห็นข้อความนี้ ในวิหารยังมีภาพถ่ายเก่าที่แสดงข้อความนี้อยู่ครับ

วัดคณิกาผล, วัดจากโสเภณี, วัดโสเภณี วัดคณิกาผล, วัดจากโสเภณี, วัดโสเภณี วัดคณิกาผล, วัดจากโสเภณี, วัดโสเภณี

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดคณิกาผลตั้งอยู่ตรงข้ามสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยและมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง และอยู่ข้างกับศาลเจ้าไต่ฮงกง โดยไม่มีรถเมล์สายไหนผ่าน แต่สามารถขับรถส่วนตัวมาได้ หรือจะเดินจากวัดมังกรกมลาวาสก็ได้เช่นกัน (ส่วนตัวผมใช้วิธีนี้ในการเดินทางมายังวัดนี้ครับ)
  2. อุโบสถและวิหารของวัดคณิกาผลเปิดทุกวัน สามารถเดินเข้าไปได้เลย
  3. หน่วยเงินไทยในสมัยโบราณหากเรียงจากมากไปน้อยจะเริ่มด้วยชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ไพ กล่ำ กล่อม เบี้ย ซึ่งหน่วยเงินตรานี้ได้ถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 4 เหลือแค่บาท สตางค์ สลึง เพื่อให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ก่อนที่หน่วยเงินสลึงจะหมดไปในสมัยรัชกาลที่ 6 เหลือเพียงภาษาพูดเท่านั้น

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ