13 พฤศจิกายน 2023
3 K

ยาหม่องคือสิ่งที่อยู่คู่บ้านคนไทยมาเนิ่นนาน ปวดเมื่อยก็เอามานวด แมลงกัดต่อยก็เอามาทา หรือกระทั่งวิงเวียนศีรษะก็เอามาดม เรียกได้ว่าแทบจะเป็นยาครอบจักรวาลสำหรับใช้ภายนอกก็ว่าได้

แน่นอนว่าพอสรรพคุณมากมายก็ต้องมีผู้เล่นหลายรายในตลาด แต่หากถามถึงแบรนด์ยาหม่องระดับท็อปที่จะนึกถึงเป็นชื่อแรก ๆ เราเชื่อว่า ‘วังพรม’ ต้องเป็นหนึ่งในนั้น

ยาหม่องวังพรม เริ่มต้นจากความตั้งใจของ แม่ติ๋ว-ประนอม วังพรม ที่อยากทำยาหม่องใส่สมุนไพรให้คนไทยได้ใช้กัน โดยวางขายครั้งแรกที่หน้าวัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม ก่อนจะได้รับความนิยมจากผู้ใช้ทั่วประเทศ ถึงขนาดเคยขายได้เกือบ 1 ล้านบาทต่อวัน และมีคนนั่งรถมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาซื้อแค่ยาหม่อง

เวลาผ่านไป จากพื้นที่เล็ก ๆ หน้าวัด ปัจจุบันนี้วังพรมมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่มีกำลังผลิตกว่า 200,000 กระปุกต่อสัปดาห์ และเป็นหนึ่งในยาหม่องไทยที่ส่งออกไปทั่วโลก ระดับที่มีหน้าร้าน Official Store บน Amazon ซึ่งบริหารงานโดยเอเจนซี่พาร์ตเนอร์ มีคลังกระจายสินค้าอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

แต่แน่นอนว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ เส้นทางธุรกิจของวังพรมไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกไม้ หากแต่ใช้คำว่าโรยด้วยหนามกุหลาบอาจเหมาะกว่า

ให้เราเล่าเองคงไม่สนุก ขอเบิกตัวแม่ติ๋ว แต้ว-วัชรีภรณ์ วังพรม ลูกสาวควบตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของบริษัท และ เฟอร์-กณพ สุทธะพินทุ ลูกเขยควบตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด มาเปิดสูตรลับยาหม่องวังพรมว่าพวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง และทำอย่างไรให้ลูกค้าติดใจจนซื้อซ้ำตลอด 30 ปีโดยไม่เคยเปลี่ยนสูตรแม้แต่ครั้งเดียว

โย่ และนี่คือเสียงจากเด็กวัด (ไร่ขิง)

แม่ติ๋วไม่ได้เป็นแม่ค้าโดยกำเนิด ว่ากันตามตรง เธอไม่มีความเกี่ยวข้องกับอาชีพค้าขายมาก่อน สามีเป็นพนักงานโรงงาน ส่วนตัวเองเป็นแคดดี้เก็บลูกในสนามกอล์ฟ

ด้วยความพยายามหารายได้เสริม วันหนึ่งใน พ.ศ. 2536 แม่ติ๋วตัดสินใจไปรับยาหม่องจากวัดโพธิ์มาขายที่หน้าวัดไร่ขิง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ว่าคนจะเข้าหรือออกวัดก็ต้องผ่าน เรียกได้ว่าทำเลทองของจริง

พอขายไปสักพัก แม่ติ๋วก็เริ่มมีความคิดอยากผลิตยาหม่องของตัวเองขึ้นมา แต่จะทำอย่างไรให้ต่างจากของวัดโพธิ์ เธอเลยนึกไปถึงการผสมสมุนไพรไทยลงไป เพราะในวงการนวดก็มีการนำไพลมาทำลูกประคบช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย จากนั้นแม่ติ๋วก็เดินสายหาความรู้ อาศัยครูพักลักจำบ้าง อ่านหนังสือออกบ้างไม่ออกบ้าง สุดท้ายก็ตัดสินใจไปกู้เงินมา 5,000 บาทเพื่อลงทุน

ผลลัพธ์ของความใจเร็วนั้นก็คื้อ…

“เจ๊ง” คำง่าย ๆ แต่ความหมายสุดลึกล้ำ แต่แม่ติ๋วไม่ยอมแพ้ บากหน้าไปกู้เงินต่ออีก 20,000 บาท เพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้ต้องขายได้สิ 

คราวนี้ทำยาหม่องออกมาได้สำเร็จ แต่ก็ประสบอีกปัญหา คือลูกค้าไม่สนใจ จะเอายาหม่องของวัดโพธิ์เท่านั้น

5,000 แรกก็เจ๊ง 20,000 ต่อมาก็ขายไม่ออก… 

“พอขายไม่ได้แม่ก็แจก ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าเป็นการตลาด แค่เสียดายเพราะทำมาแล้ว จะทิ้งก็เสียของ แจกไปเลยดีกว่า” คุณแต้วเล่าย้อนถึงวันแรก ๆ ที่ทำยาหม่องออกมา 

ทว่าของดีก็ยังเป็นของดีอยู่วันยังค่ำ ลูกค้าที่ได้ของแถมไปเริ่มกลับมาซื้อซ้ำเรื่อย ๆ จนแม่ติ๋วเริ่มใจชื้นขึ้นมาว่าตัวเองเดินมาถูกทาง 

เมื่อมีลูกค้ามากขึ้น สินค้าก็ควรจะมีชื่อแบรนด์และฉลากเพื่อให้จำได้ ด้วยความไม่ใช่คนคิดเยอะ เธอเลยเลือกเอาชื่อสามีอย่าง เฉลิม และนามสกุล วังพรม มารวมกัน พร้อมใส่หน้าสามีเป็นโลโก้ เพราะในยุคนั้นยังมีค่านิยมว่าผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวอยู่ 

ส่วนเหตุผลที่ไม่ใช้ชื่อตัวเอง เพราะแม่ติ๋วชื่อ ‘ประนอม’ ซึ่งไปซ้ำกับยี่ห้อน้ำจิ้มในตอนนั้น

และเหตุผลที่มีคำนำหน้าว่า ‘หมอ’ เพราะในตอนนั้นที่ต่างจังหวัดจะมีการตั้งแพทย์ประจำตำบลขึ้นมา ซึ่งจะมีหน้าที่ชันสูตรศพ โดยพี่ชายคุณแต้วเป็นคนรับตำแหน่งนี้และมักจะพาคุณพ่อไปด้วย เมื่อนำทุกอย่างมารวมกันก็เกิดเป็น ‘หมอเฉลิม วังพรม’ นั่นเอง

จากขายหน้าร้านอย่างเดียว แม่ติ๋วก็ไปซื้อโทรศัพท์มารับออร์เดอร์ส่งต่างจังหวัด และจุดนี้เองที่ลูกอย่างคุณแต้วได้เริ่มมามีบทบาทในธุรกิจด้วยวัยเพียง 12 – 13 ปี

“คุณแม่เป็นคนปรุงยาเอง ส่วนพ่อกับลูก ๆ ก็คอยช่วยเอายาหม่องใส่กระปุก แพ็กไปส่งไปรษณีย์ หรือไม่ก็ไปขายที่หน้าวัดไร่ขิง คือวัดนี้เป็นวัดดัง มีคนมานมัสการหลวงพ่อเยอะเลยขายดี”

แม้จะเหนื่อยและอึดอัดใจที่ไม่ได้ไปเที่ยวตามประสาวัยรุ่น แต่ด้วยความที่เติบโตมาจากบ้านที่ไม่มีอะไรเลย รู้ว่าความจนมันลำบากแค่ไหน ทำให้คุณแต้วยอมเสียสละวัยเด็กไปกับการช่วยธุรกิจของแม่ 

“เพราะย่านที่เราอยู่เต็มไปด้วยหนุ่มสาวโรงงาน มีอยู่ครั้งหนึ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนจะกลับบ้านก็มาซื้อยาหม่องไปฝากที่บ้านกัน ซื้อที 3 โหล 5 โหล คนขายคือไม่ได้นั่ง ไม่ได้กินข้าว แต่แต้วจำได้เลยว่าวันนั้นขายได้เกือบล้าน”

ราคาในตอนนั้นคือยาหม่องกระปุกละ 35 บาท ซื้อ 3 กระปุกจ่าย 100 บาท หากจะทำยอดขายให้ได้เกือบ 1 ล้านบาท เท่ากับว่าต้องขายให้ได้เกือบ 3 หมื่นกระปุก… แค่ฟังท่อนนี้เราก็จินตนาการถึงความวุ่นวายที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มของครอบครัววังพรมออกในทันที

ยาหม่องที่ดีต้องมาจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพ

นับจากวันแรกที่แม่ติ๋วเริ่มทำยาหม่องผสมสมุนไพรจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 30 ปีแล้ว

ผู้คนเปลี่ยนไป วิธีการขายเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมอยู่เสมอคือสูตรยาหม่อง 

ปัจจุบันมีเพียงแม่ติ๋ว คุณแต้ว และคุณเฟอร์เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องแห่งความลับ (แน่นอนว่าเราก็ไม่ได้เข้าไป)

คุณแต้วเล่าว่าสิ่งที่ทำให้วังพรมเป็นที่ยอมรับมาอย่างเนิ่นนานเพราะคุณภาพที่เสมอต้นเสมอปลาย ใช้วัตถุดิบนำเข้าเกรดเอเท่านั้น ยกเว้นในส่วนของสมุนไพรอย่างเสลดพังพอน ไพล เถาเอ็นอ่อน ฯลฯ ที่อุดหนุนเกษตรกรในท้องถิ่น

ดังนั้น ไม่ว่าต้นทุนวัตถุดิบจะแพงขึ้นเท่าไหร่ คุณแต้วก็ยืนยันว่าวังพรมจะไม่มีวันเปลี่ยนสูตร พร้อมกระซิบว่าเธอเคยลองใจแม่ติ๋วครั้งหนึ่ง ให้ลองลดเกรดวัตถุดิบลงมา “ปรากฏว่าโดนแม่ด่าหูชา แม่บอกลูกค้าเขาใช้มาเป็นสิบปี เปลี่ยนนิดเดียวเขาก็รู้แล้ว เอาความเชื่อใจไปแลกกับกำไรไม่กี่บาท ไม่คุ้มหรอก”

ลดต้นทุนไม่ได้ ขายแพงก็ไม่ได้ เพราะกลุ่มลูกค้าใหญ่คือตลาดต่างจังหวัด อาทิ หมอนวด เกษตรกร พระสงฆ์ ผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ได้มีกำลังซื้อเทียบเท่าคนกรุงเทพฯ สิ่งที่วังพรมทำคือจัดการระบบหลังบ้านให้มีประสิทธิภาพ

“แต่ก่อนแม่ทำคนเดียว ซื้อมาขายไปในยุคกระดาษก็อาจจดผิด ๆ ถูก ๆ พอแต้วกับเฟอร์เข้ามาบริหาร เราตั้งใจจะมาเปลี่ยนแปลงระบบตรงนี้ แรก ๆ แม่ก็ไม่เข้าใจ เอาคนนอกมาทำหน้าคอมทำไม ไม่เห็นจะได้งาน ต้องค่อย ๆ อธิบาย เปิดใจกับเขา”

คุณแต้วเริ่มสร้างทีมขึ้นมาใหม่โดยแบ่งเป็นระบบเช็กสต็อก ระบบคีย์เอกสาร ระบบบัญชี ระบบกราฟิก พอเริ่มเข้าที่เข้าทางก็จะเห็นต้นทุนที่ไม่จำเป็น เมื่อตัดออกไปได้ก็จะเพิ่มกำไรให้มากขึ้นโดยไม่ต้องไปเพิ่มราคาให้ลูกค้าปวดใจ

ยกระดับจากโลคอลสู่นานาชาติ

ในช่วงแรกนอกจากการขายหน้าร้านและส่งไปรษณีย์แล้ว แม่ติ๋วยังเอายาหม่องไปฝากขายตามวัดดัง ๆ อย่างวัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือวัดพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ด้วยความเชื่อว่าวังพรมเติบโตจากวัดไร่ขิง ก็น่าจะได้กลุ่มเป้าหมายคล้าย ๆ กันในวัดอื่น

อีกทั้งยังมีการฝากขายกับยี่ปั๊วของจังหวัดใหญ่ ๆ ด้วย ซึ่งในตอนเริ่มต้นก็เป็นแม่ติ๋วที่รับบทเซลส์ไปขายด้วยตัวเอง 

“ถ้าเราใช้เซลส์เวลาคุยกับลูกค้าแรก ๆ เขาจะยังตัดสินใจไม่ได้ ต้องกลับไปถามเจ๊ก่อน ก็เสียโอกาส ถ้าแม่ไปปุ๊บ 10 ลังกับ 30 ลัง ราคาต่างกันเท่านี้ แม่ตัดสินใจเองเลย เขาบอก โอเค งั้นคุณวางไว้ก่อนเลย 30 ลัง รับออร์เดอร์เสร็จ แม่ก็ตีรถกลับมาผลิตยาที่บ้าน ผลิตเสร็จแม่ก็ส่งขนส่งไปให้เขา”

แน่นอนว่าช่วงแรก ๆ ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่เราเขียนไป แม่ติ๋วต้องรับมือกับการโดนด่าเป็นประจำ ยกมือไหว้ทุกร้าน หรือทนรอเป็นวันกว่าเจ้าของร้านจะยอมมาคุยด้วย 

เมื่อผ่านด่านแรกอย่างการทำความรู้จักได้แล้ว ด่านต่อไปคือการประคองและพัฒนาความสัมพันธ์ โดยเคล็ดลับที่แม่ติ๋วใช้มัดใจลูกค้ายี่ปั๊วก็คื้อ…ของอร่อย!

“พอแม่เริ่มมีเงิน เขาก็ซื้อที่ไว้เยอะ แล้วก็ปลูกผลไม้ มะม่วง มะพร้าว ส้มโอ ฝรั่ง มาครบ ทีนี้ใครสั่งของก็จะได้ผลไม้ไปกินด้วย แม่บอกว่าลูกค้าหาเงินให้เรา เราก็ส่งของอร่อย ๆ ให้เขา อันนี้ไม่ได้ทำเอาหน้านะ แค่อยากให้คนอื่นกินของอร่อยเหมือนกับเรา”

คุณแต้วเสริมพลางหัวเราะว่าช่วงหนึ่งแม่เคยซื้อสูตรข้าวมันไก่มาให้ ลูกค้าแถบปริมณฑลก็จะได้ข้าวมันไก่ฝีมือคุณแต้วติดไป 2 – 3 ห่อต่อออร์เดอร์ด้วย

วันเวลาผ่านไปเริ่มมีคู่แข่งในตลาดมากขึ้น เป็นช่วงเดียวกับที่คุณแต้วกับคุณเฟอร์เข้ามารับช่วงต่อที่บริษัท นอกจากการปฏิวัติระบบหลังบ้าน อีกสิ่งที่ทั้งคู่ทำคือการทำแบรนดิงและการตลาดใหม่โดยการยกระดับจากโลคอลไปสู่ Modern Trade ผ่าน บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BERLI JUCKER PUBLIC COMPANY LIMITED : BJC) ซึ่งกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวังพรม

“จากเดิมเราขายเองก็จะได้ไม่กี่ร้าน แต่พอเป็นพาร์ตเนอร์กับทาง BJC เรากระจายสินค้าได้ทั่วประเทศ กระจายไปร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเก็บบิลเลย เรามีหน้าที่แค่ผลิตส่งตามออร์เดอร์ที่ประมาณการไว้ ทำให้เราคุมงบการเงินได้ดีขึ้น” คุณเฟอร์อธิบายถึงข้อดีของการร่วมมือกับทาง BJC 

จากการซื้อมาขายไปโดยอาศัยการตลาดแบบปากต่อปาก เปลี่ยนเป็นการกระจายสินค้าเข้าสู่ช็อปสโตร์ ตอนนี้เป้าหมายใหม่ของวังพรมคือการโกอินเตอร์ไปเป็นแบรนด์ระดับนานาชาติ

ต้องเล่าก่อนว่าจริง ๆ แล้ววังพรมเป็นที่รู้จักในต่างประเทศมาสักพักแล้วจากการที่พี่น้องหมอนวดไทยเอาไปใช้ที่ต่างแดน ด้วยความที่เนื้อยาหม่องนุ่ม นวดง่าย และใช้สมุนไพรแท้ ทำให้คลายปวดได้จริง อีกทั้งยังมีกลิ่นหอม วังพรมจึงเป็นที่ถูกใจของลูกค้าต่างชาติที่ชอบนวด 

แต่เป้าหมายที่คุณเฟอร์และคุณแต้วอยากไปให้ถึงคืออยากให้สินค้าไทยไปโตระดับโลก ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการนวดเท่านั้น

“ผมไปสังเกตว่าแบรนด์ที่ขายในสนามบินหรือจุด Tourist Spot คือหน้าตาแพ็กเกจดูดีมาก เราจำเป็นต้องเปลี่ยน ซึ่งก่อนจะเปลี่ยนแพ็กเกจจิง มันมี Pain Point อยู่ที่ว่าคนรู้ว่ามียาหม่องเสลดพังพอนเยอะ แต่คนไม่จำแบรนด์เรา คนที่จำคือลูกค้าเก่า ๆ แต่ลูกค้าใหม่ ๆ เห็นยาหม่องก็ไม่รู้ มันมีหน้าเหมือนกัน เขียวเหมือนกัน”

เดิมทีวังพรมเคยเปลี่ยนแพ็กเกจมาแล้ว จากรุ่นหนึ่งเป็นรุ่นสอง แต่ไม่ได้ทำการตลาดมากเท่าที่ควร ทำให้ลูกค้างง ไม่เชื่อว่านี่คือวังพรมอันเดิม เข้าใจไปว่านี่ของก๊อบ จนสินค้าโดนตีกลับ ยอดขายหายไปจนน่าตกใจ ส่งผลให้การเปลี่ยนหน้าตาหีบห่อสินค้าจากรุ่นสองไปรุ่นสามต้องใช้ความรอบคอบมากกว่าเดิม 

“ผมคุยกับทางดีไซเนอร์ คุณแชมป์ (สมชนะ กังวารจิตต์) เขาบอกว่าเวลาวางบนเชลฟ์ สินค้าไม่อิมแพกต์ ชื่อแบรนด์ก็เล็ก คุณแชมป์เลยแนะนำให้ทำชื่อแบรนด์ใหญ่ ๆ ทำหน้าให้ใหญ่ ใช้สีในการดีไซน์ จะเห็นว่ารอบนี้เราเปลี่ยนมาเพื่อทำ Shelf Impact พร้อมทั้งสื่อสารถึงร้านยาและลูกค้าตั้งแต่ต้นปีว่าเราจะเปลี่ยนนะ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราปล่อยโฆษณาออกไปก็ได้รับผลตอบรับดี

“จากนั้นเราก็พัฒนาหลังบ้านมารองรับด้วยการทำ Certificate ทุกอย่างให้ครบ เตรียมเอกสารให้พร้อม ซึ่งแต่ละประเทศก็ใช้เกณฑ์ไม่เหมือนกัน ต้องทำข้างกล่องแบบนี้ เป็นภาษานี้ ๆ การไปโตต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ”

คุณเฟอร์เล่าว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วังพรมสร้างโรงงานใหม่ที่ได้มาตรฐาน พร้อมทำ MOU กับหลาย ๆ ประเทศเพื่อดำเนินการส่งออก ซึ่งมีทั้งตลาดในอาเซียน เอเชีย อเมริกา และตะวันออกกลาง 

การสานต่อต้องทำให้ดียิ่งกว่าเดิม

แม้ปัจจุบันคุณแต้วจะเข้ามาบริหารธุรกิจวังพรมเต็มตัว แต่เธอบอกว่าก่อนหน้านี้ไม่คิดจะกลับมาทำเลย

“เพราะตอนเด็ก ๆ เราเหนื่อยมามาก ไม่อยากทำแล้ว แต่คิดอีกทีเราสงสารแม่ ซึ่งในบรรดาพี่น้องคือพี่ชายเราไม่ถนัดทำธุรกิจเลย เขาเป็นคนชอบช่วยเหลือก็ปล่อยให้เขาทำสิ่งที่อยากทำ ส่วนน้องคนอื่น ๆ ก็ยังเรียนอยู่ เลยมานอนคิดว่าจะเอายังไงดี”

คุณแต้วเห็นความลำบากของแม่มาตั้งแต่เด็ก ๆ อยู่กับบริษัทมาตั้งแต่วันแรก ๆ จำรสชาติของการไม่มีเงินได้ดียิ่งกว่าใคร เธอจึงตัดสินใจกลับมาช่วยแม่ โดยตั้งใจจะพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นไป

“แต้วมองว่าคุณแม่ทำมาดี เวลาเราสานต่อไม่ต้องเปลี่ยนอะไร ชื่อวังพรมก็มาจากนามสกุล โลโก้ก็เป็นหน้าคุณพ่อ มันคือสิ่งที่เราทำจากครอบครัวจริง ๆ เราชื่นชมแม่ตรงนี้ที่คิดอะไรเร็ว ๆ แต่ออกมาดีมาก พอเรามาสานต่อ ไม่ยากเลย แค่จะทำยังไงให้มันแกร่งกว่านี้”

การสานต่อยากกว่าการเริ่มใหม่ตรงที่ว่า ถ้าทำพลาดไปนิดเดียว ก็จะเกิดการเปรียบเทียบ คุณแต้วไม่อยากให้สิ่งที่แม่ติ๋วสร้างมาต้องมาพังในยุคของตัวเอง เธอและคุณเฟอร์จึงเริ่มเข้ามาเปลี่ยนแปลงจากการทำระบบหลังบ้าน จดทะเบียน VAT ให้เรียบร้อย ทำเอกสารให้ถูกต้องตามกฎหมาย สร้างแบรนดิง เป็นพาร์ตเนอร์กับ BJC จัดตั้งทีมรองรับลูกค้าต่างชาติ ไปจนถึงจ้างคนเก่ง ๆ มาช่วยชี้แนะแนวทางธุรกิจ 

ทั้งคู่ใช้เวลาเกือบ 10 ปี เรียนรู้จากข้อผิดพลาดและประสบการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า บริหารแบบลองผิดลองถูกจนระบบเริ่มลงตัว และเป็นเวลาเดียวกับที่แม่ติ๋วถอยไปอยู่ข้างหลัง ปล่อยให้งานด่านหน้าเป็นหน้าที่ของลูกสาวและลูกเขย

“สมัยก่อนแม่ไม่มีเพื่อนเลย เพราะทำแต่งาน จนแต้วกับเฟอร์เข้ามาทำ แม่ก็เริ่มคลายลง จากเดิมแม่จบแค่ ป.3 ก็ไปเรียนต่อ กศน. เรียนปริญญาตรี จนตอนนี้จบดอกเตอร์แล้ว เราเห็นเขามีเพื่อน มีสังคม ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ ก็มีความสุข”

อย่างไรก็ตาม แม้แม่ติ๋วจะถอยไปข้างหลัง เธอก็ยังตื่นตี 3 มาเฝ้าห้องแห่งความลับอยู่ทุกวัน เข้าโรงงานมาก่อนพนักงานเป็นประจำ ซึ่งแม่ติ๋วให้เหตุผลว่า

“ฉันมาให้กำลังใจพวกเธอ”แม่ก็คือแม่จริง ๆ

Lessons Learned

  • คิดให้ละเอียดขึ้น คิดเยอะ ๆ คิดเผื่อ ๆ ดังแล้วดับได้ทุกเมื่อ ถ้าคุณไม่ถี่ถ้วน ไม่รอบคอบ
  • ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน แล้ววิธีการจะตามมาเอง
  • เรียนรู้จากตำราและประสบการณ์อยู่เสมอ

Writer

สุชานาถ กิตติสุรินทร์

สุชานาถ กิตติสุรินทร์

นักเขียนผู้ชื่นชอบการนอน พิซซ่า และสีเหลือง (บางครั้งก็สีเขียว)

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ