ยินดีต้อนรับกลับสู่พิพิธภัณฑ์คู่บ้านคู่เมืองแห่งเดิมที่เฉิดฉายภายใต้รูปโฉมใหม่

The Cloud ขอพาผู้อ่านเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พร้อมภัณฑารักษ์ชำนาญการ ศุภวรรณ นงนุช

พระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ที่ประทับของพระมหาอุปราชตั้งแต่สมัยอยุธยา เปิดเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมายาวนานถึง 92 ปี จนกระทั่งปี 2555 กรมศิลปากรก็เห็นสมควรที่จะบูรณะนิทรรศการประวัติศาสตร์แห่งนี้ให้กลับมาเสนอภาพของความเป็น ‘วังหน้า’ อีกครั้ง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ผลลัพธ์ของการปรับปรุงใหญ่ครั้งล่าสุด ทุกองค์ประกอบ ทั้งภูมิสถาปัตย์ในบริเวณรอบอาคาร การออกแบบภายในเน้นความโล่งกว้างโอ่โถง การจัดไฟที่ขับชิ้นงานให้ดูโดดเด่นและขลัง รวมถึงการปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับงานแต่ละชิ้น ล้วนแล้วแต่รังสรรค์ภายใต้แนวคิดเน้นโชว์ ‘วัตถุ’ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่อาจเคยเห็นภายของสิ่งเหล่านี้เพียงบนหน้าหนังสือเรียน ได้เข้าถึงประวัติศาสตร์ในระยะประชิด รวมถึงสร้างบรรยากาศที่มีชีวิต ราวกับวัตถุต่างๆ เจ้าของเพียงแค่เก็บใส่ตู้ไว้ รอวันหยิบออกมาใช้ตามวาระที่เหมาะสม ของทุกชิ้นล้วนแล้วแต่เป็นงานประณีตศิลป์ นำเสนอให้คล้องจองกับประวัติศาสตร์ของวังหน้า ทั่วนิทรรศการจึงอบอวลไปด้วยกลิ่นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับพื้นที่จัดแสดง

พื้นที่พิพิธภัณฑ์ประกอบไปด้วยหลายส่วน ส่วนที่เป็นนิทรรศการประกอบด้วย พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย (จัดนิทรรศการหมุนเวียน) เชื่อมต่อกับหมู่พระวิมาน (จัดนิทรรศการถาวร ปัจจุบันเปิด 4 ห้อง) อาคารทางเหนือ (แสดงงานยุคก่อนพุทธศตวรรษที่ 18) อาคารทางใต้ (แสดงงานยุคหลังพุทธศตวรรษที่ 18) พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ (จัดนิทรรศการพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระตำหนักแดง และโรงราชรถ

เมื่อนิทรรศการใหม่ใช้แนวคิดเน้นโชว์วัตถุเป็นตัวเอก และเปิดให้เข้าชมในปี 2561 เราจึงอยากชวนไปดู 10 สถานที่ปรับปรุงใหม่ที่น่าไปเยือน และชมสุดยอดคอลเลกชันลับระดับชาติที่น่าตื่นตาตื่นใจจนต้องกลับมาเล่าแบ่งปัน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ศุภวรรณ นงนุช พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

1

ชมมาสเตอร์พีซ 130 ชิ้นจากญี่ปุ่นในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

พระพุทธรูปญี่ปุ่น ดาบ ตุ๊กตาโดกู พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ปัจจุบัน พระที่นั่งศิวโมกขพิมานที่อยู่ด้านหน้าสุดของพิพิธภัณฑ์มีนิทรรศการพิเศษ หากเดินเข้าไปแล้วสงสัยว่าทำไมถึงเหมือนอยู่ญี่ปุ่นมากกว่าอยู่ไทย ก็อย่าสับสนไป เพราะในวาระความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ญี่ปุ่นครบรอบ 130 ปี เมืองไทยให้ยืมโบราณวัตถุ 130 ชิ้น (แทนระยะเวลา 130 ปี) ไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่ญี่ปุ่น แลกกับโบราณวัตถุญี่ปุ่น 130 ชิ้นมาจัดแสดงไว้ที่นี่แทน ในนิทรรศการมีวัตถุเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นหลายชนิด ตั้งแต่ประติมากรรมเก่าแก่ เช่น ตุ๊กตาโดกูจากยุคโจมอน ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ตัวละครในการ์ตูนยุคใหม่หลายเรื่องก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเจ้าตัวนี้, ดาบซามูไรพร้อมฝัก ด้ามจับหุ้มด้วยหนังกระเบนนำเข้าจากอยุธยา ไปจนถึงชุดกิโมโน และเครื่องประดับที่คนชอบแฟชั่นทุกรายต้องระทวยเมื่อเห็น

ตามไปดูได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561

2

ไหว้พระพุทธรูป 11 องค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จิตรกรรม

ถึงจะเรียกว่าพระที่นั่ง แต่ความโอ่โถงของพื้นที่ภายในชวนให้ความรู้สึกคล้ายพระอุโบสถวัดมากกว่า สาเหตุเพราะพระที่นั่งแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นหอพระประจำวังหน้าเสมอมา ในปัจจุบันประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์เป็นพระประธาน หากมองไปรอบๆ จะเห็นจิตรกรรมฝาผนังที่วาดโดยช่างอยุธยาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ นี่เป็นหนึ่งในจิตรกรรมแบบอยุธยาไม่กี่ชิ้นที่ยังสมบูรณ์อยู่ เมื่อสังเกตจะพบว่าผ้าของเทวดาแต่ละองค์เป็นลายเก่าแก และไม่มีลายใดซ้ำกันเลย

ช่วงนี้ทางพิพิธภัณฑ์เชิญพระพุทธรูปจากที่ต่างๆ มาทั้งหมด 10 องค์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองธรรมราชาพระองค์ใหม่ โดยทุกองค์ล้วนแล้วแต่เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง หรือพระพุทธรูปที่ฉลองพระองค์แบบกษัตริย์ แสดงความเป็นสมมติเทพของมหากษัตริย์ไทย แม้แต่พระพุทธสิหิงค์องค์ใหญ่ ก็ได้อัญเชิญสายสังวาลย์ (สายสะพาย) ที่ปกติจะเก็บรักษาไว้ ออกมาสวมใส่ไว้ด้วย

ตามไปดูได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ.2561

3

แกะรอยศาสนาพุธจากอินเดียถึงสุวรรณภูมิที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย แผ่นหิน ทับหลัง

ห้องนิทรรศการหมุนเวียนประจำพิพิธภัณฑ์ ในเวลานี้จัดงาน ‘พุทธปฏิมาวิจักษณ์จากภารตะสู่สุวรรณภูมิ’ กระชับสัมพันธ์ยาวนาน 70 ปีระหว่างไทยกับอินเดีย เนื้อหาของนิทรรศการนำเสนออิทธิพลที่ศิลปะอินเดียมีต่อศิลปะไทย ที่นี่จึงเต็มไปด้วยโบราณวัตถุ เช่น ทับหลัง เสมา หรือพระพุทธรูปเก่าแก่ต่างๆ มาจากอินเดียและไทย เช่น พระศากยมุนีขัดสมาธิจากหุบเขาสวาต ใบเสมาพิมพาพิลาปที่แสดงสถาปัตยกรรมในยุคทวารวดี
ตามไปดูได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2561

4

เยี่ยมพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ประทับเก่าของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

ที่ประทับเก่าของผู้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดิน เคียงคู่รัชกาลที่ 4 คืออาคาร 2 ชั้น ด้านล่างซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของข้าราชบริพารถูกปรับปรุงให้เป็นนิทรรศการเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระองค์ ส่วนด้านบนรักษาสภาพไว้ให้เหมือนครั้งใช้งาน นั่นคือมีทั้งห้องพระบรรทม ห้องสมุด ห้องทรงพระอักษร คล้ายกับว่าเจ้าของเพียงแค่ออกไปข้างนอก อีกไม่นานก็จะกลับเท่านั้น

5

หลงรักบ้านตุ๊กตาจิ๋วของเจ้าจอมเลียมในห้องมหรรฆภัณฑ์

ห้องมหรรฆภัณฑ์ บ้านตุ๊กตาจิ๋ว บ้านตุ๊กตาจิ๋ว

ชื่อห้องอธิบายสิ่งของในห้องอย่างตรงตัว มหรรฆ แปลว่า สูงค่า และ ภัณฑ์ คือเหล่าข้าวของเครื่องใช้ ห้องนี้รวมเครื่องทองที่ได้จากการบูรณะวังหน้าเมื่อหลายปีมาแล้ว บางส่วนได้รับพระราชทานมา บางส่วนมาจากกรุเก่าในอยุธยา ด้วยความพิเศษของวัตถุจัดแสดงในห้อง นี่จึงเป็นห้องเดียวที่เก็บกุญแจลูกกรงไว้ที่กรมศิลปากร

คอลเลกชันแสนน่ารักที่นี่คือบ้านตุ๊กตาเจ้าจอมเลียม ด้วยความที่ท่านมีชีวิตอยู่ยาวนาน 3 แผ่นดิน ตั้งแต่ในรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ในบ้านตุ๊กตาของท่านจึงสะท้อนวิถีชีวิตของคนไทยสมัยนั้น เพราะแม้ตัวบ้านจะเป็นของนำเข้า ออกแบบอย่างฝรั่ง แต่การตกแต่งภายในเป็นรูปแบบไทย รายละเอียดมากมายที่ซ่อนอยู่ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราว หากสังเกตในห้องพระของบ้านน้อยหลังนี้ จะเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์รวมพระเจ้าอยู่หัว 7 รัชกาล ดูแล้วแปลกตาเมื่อเทียบกับโปสเตอร์รวม 9 – 10 รัชกาลที่เราคุ้นชินกันในปัจจุบัน

6

ชมหัวโขน หุ่นเชิด และเครื่องดนตรีโบราณ ในห้องนาฏดุริยางค์

ห้องนาฏดุริยางค์ ห้องนาฏดุริยางค์ หัวโขน หัวโขน

พระที่นั่งทักษิณาภิมุขเป็นหนึ่งในห้องที่ปรับปรุงใหม่เสร็จแล้ว ภายในอัดแน่นไปด้วยเครื่องร้องรำทำเพลงจำนวนมากที่เล่าเรื่อง ‘มหรสพของหลวง’ บนตั่งมีปี่พาทย์เครื่องใหญ่ขนาบซ้ายขวาตู้กระจกที่จัดแสดงเศียรครูจำนวน 32 เศียร จัดเรียงโดยคำนึงถึงลำดับศักดิ์ของแต่ละชิ้นงานเป็นหลัก เช่น หุ่นละครพระนางต้องอยู่คู่กันด้านใน และหุ่นละครยักษ์กับลิงวางขนาบด้านนอก แสดงถึงจุดยืนของภัณฑารักษ์ ว่าจะต้องให้ความสำคัญของตัววัตถุมาก่อนเสมอ คอลเลกชันเด่นของห้องนี้คือ หนุมานหน้ามุก งานศิลปะเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ที่ทั้งเศียรทำจากเปลือกหอยมุก, หัวโขนชมพูพานที่มีใบหน้าเป็นหมี และหุ่นวังหน้าที่มีตัวละครน่ารักทั้งไทยและจีน

7

มองดาบ แพ และสารพัดโลหะวาววับ ในนิทรรศการโลหศิลป์

นิทรรศการโลหศิลป์ นิทรรศการโลหศิลป์ นิทรรศการโลหศิลป์

เมื่อเดินเข้าไปในพระที่นั่งปัจฉิมาภิมุขจะสัมผัสได้ถึงความแพรวพราวของงานแต่ละชิ้นที่เหนือชั้นกว่าห้องอื่นๆ เข้าไปอีก เพราะสิ่งที่จัดแสดงอยู่ในห้องคืองานศิลปะโลหะประเภทต่างๆ เช่น การบุทอง ถม คร่ำ ฯลฯ แต่ละแบบมีเทคนิคพิเศษและเอกลักษณ์ละเอียดอ่อนของตัวเอง สังเกตว่าแต่ละตู้ในห้องนี้จะมีระบบปรับอากาศในตัว เพราะโลหะเป็นวัสดุที่อ่อนไหวต่ออากาศ อาจขึ้นสนิมได้ง่าย จึงต้องปกป้องเป็นพิเศษ

คอลเลกชันดีเด่นในห้องนี้คือดาบอาญาสิทธิ์ ดาบหุ้มทองคำของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ มีอำนาจใช้ลงโทษคนโดยไม่ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนลงมือ และแพลงสรงจำลองของจริงที่ใช้ในพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระโอรสในรัชกาลที่ 5 และมกุฏราชกุมารพระองค์แรกของสยาม

8

ชื่นชมสารพัดผ้าแสนสวยในห้องอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์

ห้องอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ ห้องอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ ชุดโบราณ

พระที่นั่งอุตราภิมุขนี้ดูเผินๆ แล้วคล้ายห้องแต่งตัวหลังโรงละคร เพราะเต็มไปด้วยเครื่องแต่งกายและผ้าลายเก่าแก่ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุที่เคยใช้งานในราชสำนัก พื้นที่ในห้องแบ่งเป็น 3 ส่วน คือผ้าฝ่ายหน้า (ผู้ที่ใช้คือคนในวังหน้า) ฉลองพระองค์ (ชุดของพระมหากษัตริย์และคนสนิท) และผ้าฝ่ายใน (ผู้ที่ใช้คือคนในวังหลวง) รวมถึงมีส่วนให้ลองเรียนรู้การผลิตและรีดผ้ายุคเก่าอีกด้วย

ไฮไลต์ของที่นี่คือฉลองพระองค์ทรงยุโรปสีครีมของรัชกาลที่ 4 ประดับลายใบและลูกโอ๊ก และฉลองพระองค์ครุยกรองทองของเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ หรือ ‘ฝ่ายหน้า’ ปักด้วยดิ้นทองทั้งตัว

9

ดูเสื้อยันต์ กลอง และสารพัดดาบและปืน ในนิทรรศการศัสตราวุธ

นนิทรรศการศัสตราวุธ เสื้อยันต์ กลอง

ตามธรรมเนียมเก่าแก่ ห้องทางตะวันออกเฉียงเหนือของห้องบรรทมจะนิยมใช้เก็บอาวุธ การบูรณะจึงเป็นโอกาสย้ายห้องศัสตราวุธกลับมาไว้ที่พระที่นั่งบูรพาภิมุข รวมถึงได้ฤกษ์เปลี่ยนวิธีการจัดแสดงให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยแบ่งประเภทชิ้นงานตามยศศักดิ์และการใช้งาน นั่นคือแบ่งราชศัสตราวุธ (ของเจ้าขุนมูลนาย) กับศัสตราวุธ (ของคนทั่วไป) และแบ่งอาวุธที่ใช้ประดับเพื่อแสดงยศ กับอาวุธสำหรับใช้งานจริง

คอลเลกชันน่าดูที่นี่คือเสื้อยันต์ลายหนุมานนั่งแท่น สำหรับแม่ทัพใส่ใต้เสื้อผ้าและเกราะในยามออกรบ ตัวที่จัดแสดงอยู่เป็นวัตถุเก่าแก่ตั้งแต่ พ.ศ. 2358 และกลองจากหอกลอง ของเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2325 สร้างพร้อมการตั้งเสาหลักเมือง ประกอบไปด้วยกลอง 3 ใบ เรียงจากใหญ่ไปเล็ก แต่ละใบใช้ในสถานการณ์ต่างกันไป ใบล่างสุดชื่อกลองย่ำพระสุริย์ศรี หนังทำจากหนังควาย ด้านในเขียนยันต์กันขโมย ใช้ตีบอกเวลาเช้ากับมืด ใบกลางชื่อกลองอัคคีพินาศ หนังทำจากหนังวัว ด้านในเขียนยันต์กันไฟไหม้ ใช้ตีเรียกคนมาดับไฟ ส่วนใบบนสุดชื่อกลองพิฆาตไพรี หนังทำจากหนังหมีกับหนังเสือ ด้านในเขียนคาถาพุทธคุณแบบเล่นกลบท เขียนด้วยภาษาบาลีเป็นตัวอักษรขอม ใช้ตีเมื่อศัตรูประชิดประตูเมือง

10

ชมราชรถและพระโกศต่างๆ ในโรงราชรถ

ราชรถ ราชรถ

ปิดท้ายด้วยห้องนิทรรศการที่หลังคาสูงที่สุดและมีประตูใหญ่ที่สุด เพราะชิ้นงานประณีตศิลป์ในห้องนี้เป็นวัตถุโบราณซึ่งยังมีชีวิต จะนำออกใช้เมื่อมีงานพระราชพิธี ราชรถขนาดใหญ่เล็กจอดเรียงรายอยู่ทั่วห้อง ด้านหลังราชรถเหล่านี้มีพระโกศและฉากบังเพลิงของพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพครั้งก่อนๆ เก็บรักษาไว้ ของพิเศษล่าสุดในห้องนี้คือเกรินบันไดนาค ทำหน้าที่อัญเชิญพระโกศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขึ้นสู่พระเมรุ วิธีการทำงานคือให้เจ้าพนักงาน 2 คนคอยหมุนรอกซึ่งอยู่ข้างๆ เพื่อให้ทางเลื่อนขยับขึ้น คล้ายๆ บันไดเลื่อนที่ทำงานด้วยมือนั่นเอง

Walk with The Cloud 100PLUS Walk with The Cloud

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล