ในภาพจำของคนไทยทั่วไป ‘พระบรมรูป’ อันมีความหมายว่า รูปปั้นของราชา มักสร้างขึ้นมาเพื่อแสดงถึงภาพลักษณ์ของความเป็นกษัตริย์ ดังเห็นได้จากพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้งหลายในจังหวัดทั่วประเทศ พระบรมรูปเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีฉลองพระองค์ทรงเครื่องอย่างพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยของพระองค์ บางองค์แม้จะทรงฉลองพระองค์เยี่ยงจอมทัพที่พร้อมนำทัพปราบศึก แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็วางอยู่บนภาพจำที่คนรุ่นหลังมีต่อบูรพกษัตริย์พระองค์นั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว น้อยครั้งนักที่จะมีการปั้นหรือหล่อพระบรมรูปของกษัตริย์ในพระราชสถานะหรือฉลองพระองค์อื่นนอกเหนือไปจากนี้

เป็นต้นว่าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศีล

พระปิ่นเกล้าฯทรงศีล โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พระบรมรูปกษัตริย์ถือศีลองค์แรกของไทย

คนรุ่นหลังอาจจดจำพระมหากษัตริย์พระองค์นี้จากชื่อสะพานคอนกรีตที่ได้รับพระราชทานชื่อตามพระนามของพระองค์ เนื่องจากทางขึ้นลงฝั่งพระนครอยู่ในเขตพระราชวังที่ พระปิ่นเกล้าฯ เคยประทับ หลายคนจึงยังไม่ทราบว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี เป็นพระอนุชาร่วมชนนี (น้องชายแม่เดียวกัน) ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระชนมพรรษาต่างกัน 4 พรรษา

ก่อนที่พระเชษฐาธิราชของพระองค์จะได้ขึ้นครองสิริราชสมบัติ พระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ ทรงได้รับการยกย่องเป็นชนชั้นนำหัวก้าวหน้าที่ทรงพระปรีชาสามารถมากพระองค์หนึ่ง พระอัจฉริยภาพของพระองค์เห็นได้จากพระราชกรณียกิจทางกองทัพบก กองทัพเรือ การต่างประเทศ วิชาช่างจักรกล และวิชาการปืนใหญ่

พระปิ่นเกล้าฯทรงศีล โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พระบรมรูปกษัตริย์ถือศีลองค์แรกของไทย

เช่นเดียวกับพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราชพระองค์นี้ก็ทรงรอบรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ไม่เพียงตรัสสื่อสารกับฝรั่งมังค่าได้เท่านั้น หากยังทรงแปลตำราปืนใหญ่จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และยังทรงนำวิชาความรู้ด้านการทหารและจักรกลที่พระองค์สนพระทัยมาสร้างเป็นเรือรบกลไฟ คือ เรืออาสาวดีรส และ เรือยงยศอโยชฌิยา

นอกเหนือจากพระปรีชาสามารถที่มากล้น อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระองค์ได้ขึ้นครองแผ่นดินสยามร่วมกับพระเชษฐา เป็นเพราะพระชะตาของพระองค์แรง คู่ควรแก่การได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ประชวรหนัก ใกล้เสด็จสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งเป็นผู้สืบทอดสันตติวงศ์เป็นลำดับแรก ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงทราบความและมีพระราชวินิจฉัยว่า ถ้าหากพระองค์รับราชสมบัติเพียงพระองค์เดียวจะเกิดอัปมงคลต่อแผ่นดิน ค่าที่ไปกีดกันพระบารมีของพระอนุชา ต้องสถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์ด้วย บ้านเมืองจึงจะพ้นจากอาเพศ

ด้วยเหตุนี้ เหล่าขุนนางจึงกราบทูลเชิญเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศฯ เถลิงถวัลยราชสมบัติพร้อมกับพระเชษฐา หลังจากที่พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์เองแล้ว พระอนุชาก็ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบวรราชาภิเษกในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอยู่ในบวรราชสมบัตินาน 15 ปี เสด็จสวรรคตด้วยพระอาการประชวรจากวัณโรคในเดือนมกราคม พ.ศ. 2408 (นับแบบปัจจุบันที่เริ่มปีใหม่เดือนมกราคมจะเป็น พ.ศ. 2409) ทรงเป็น ‘พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2’ ที่ทรงศักดิ์สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

พระปิ่นเกล้าฯทรงศีล โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พระบรมรูปกษัตริย์ถือศีลองค์แรกของไทย
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพ : กรมศิลปากร

แม้พระปิ่นเกล้าฯ จะทรงจากโลกนี้ไปนานโข และไม่ทรงเป็นที่รู้จักมากเท่าพระเชษฐาธิราช แต่พระราชกรณียกิจที่พระองค์ได้ทรงกระทำไว้เมื่อครั้งยังมีพระชนม์ชีพก็ยังเป็นที่ระลึกถึงอย่างไม่รู้คลายในหมู่ทหารเรือผู้เทิดทูนพระองค์เป็นผู้บัญชาการทหารเรือพระองค์แรก พร้อมทั้งถวายพระสมัญญานามว่า ‘ผู้บัญชาการทหารเรือวังหน้า’ ควบคู่กับ ‘พระบิดาแห่งเครื่องจักรกลสมัยใหม่’

พระบรมรูปของพระปิ่นเกล้าฯ สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานยังพระบรมราชานุสาวรีย์หลายจุด ได้แก่ โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร, ศาลที่บริเวณเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา และโรงเรียนช่างฝีมือทหาร กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

สำหรับพระบรมรูปพระปิ่นเกล้าฯ ทรงศีลนั้น จัดสร้างตามดำริของ พลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ นายแพทย์ใหญ่กรมแพทย์ทหารเรือ อดีตผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาลทหารเรือสัตหีบ (เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ในปัจจุบัน) ในนามบรรดาผู้เคารพเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระปิ่นเกล้าฯทรงศีล โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พระบรมรูปกษัตริย์ถือศีลองค์แรกของไทย

ในการสร้างพระบรมรูปที่ทรงคุณค่าทางจิตใจชาวทหารเรือเช่นนี้ ไม่มีผู้ใดเหมาะสมจะได้รับหน้าที่ประติมากรมากไปกว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปูชนียบุคคล ผู้สร้างคุณูปการทางศิลปะแก่วงการศิลปะไทยสมัยใหม่สารพัด รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมที่ภายหลังได้ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร

โดยชาติภูมิ ศาสตราจารย์ศิลป์เป็นชาวอิตาเลียนชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ก่อนได้รับเลือกโดยรัฐบาลราชอาณาจักรอิตาลีให้มาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย ท่านได้ฝากผลงานการปั้นไว้หลายชิ้น เช่น อนุสาวรีย์แด่ผู้ปลดปลง เมืองปอร์โตแฟร์ราโย (Il Monumento ai Caduti di Portoferraio) บนเกาะเอลบา (Elba) เป็นเหตุให้ท่านได้รับโอกาสให้ออกแบบและสร้างทั้งอนุสาวรีย์และพระบรมราชานุสาวรีย์หลายแห่งในไทย อาทิ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช และอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นต้น

พระปิ่นเกล้าฯทรงศีล โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พระบรมรูปกษัตริย์ถือศีลองค์แรกของไทย
อนุสาวรีย์แด่ผู้ปลดปลงเพื่อปิตุภูมิ ผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ก่อนเดินทางมาประเทศสยาม

พระบรมรูปพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ศาสตราจารย์ศิลป์เป็นผู้สร้างมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ แบบแรกคือพระบรมรูปพระองค์ท่านทรงศีล เนื้อสัมฤทธิ์ สูงราว 1 ฟุต ยืนถือสร้อยประคำบนฐานสี่เหลี่ยม จุดมุ่งหมายของการสร้างคือเพื่อสักการะบูชาดวงพระวิญญาณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

คำว่า ‘ทรงศีล’ ในที่นี้หมายถึงการถือศีลของพระมหากษัตริย์ อาจเป็นฉลองพระองค์สีขาวในพิธีสรงพระมุรธาภิเษก ส่วนพระเกศาในลักษณะนี้อาจเป็นทรง ‘มหาอุทัย (มหาดไทย)’ ของชาวสยามโบราณที่โกนผมรอบ ๆ จนเหลือวงกลมกลางกระหม่อมเหมือนพระอาทิตย์

พระปิ่นเกล้าฯทรงศีล โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พระบรมรูปกษัตริย์ถือศีลองค์แรกของไทย

อีกแบบหนึ่งคือพระบรมรูปประทับนั่งเหนือพระแท่นสำหรับออกขุนนาง เป็นเนื้อปูน ตั้งอยู่ในหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากในอดีตมหาวิทยาลัยแห่งนี้ประสบปัญหาการเมืองหนักหน่วงบ่อยครั้ง พลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ ได้แนะนำให้อัญเชิญพระบรมรูปจากบ้านของท่านไปประดิษฐานที่มหาวิทยาลัยเพื่อป้องกันเหตุร้าย เพราะที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยเป็นพระราชวังของพระองค์ นอกจากนี้ยังมีพระบรมรูปแบบเดียวกันอีกองค์อยู่ที่หอประชุมโรงเรียนนายเรือ

พระปิ่นเกล้าฯทรงศีล โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พระบรมรูปกษัตริย์ถือศีลองค์แรกของไทย

หลักฐานว่าด้วยการปั้นพระบรมรูปพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปรากฏอยู่ในหนังสืออ้างอิงหลายเล่มด้วยกัน เป็นต้นว่า หนังสือเจ้าฟ้าจุฑามณี โดย โสมทัต เทเวศร์ (สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำ พ.ศ. 2553)ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2513หนังสือประมวญพระบรมฉายาลักษณ์ และพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย อำพัน ตัณฑวรรธนะ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2528 หนังสือเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกรมการแพทย์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2547 โดยกล่าวถึงการที่หลวงสุวิชานแพทย์ติดต่อให้ศาสตราจารย์ศิลป์สร้างพระบรมรูปทั้ง 2 แบบ และล่าสุดอย่างหนังสือ ปวเรนทรธรรมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกระทรวงวัฒนธรรม เพิ่งจะพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงพระบรมรูปพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับนั่งเหนือพระแท่นออกขุนนางที่หอประชุมธรรมศาสตร์และโรงเรียนนายเรือ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ประติมากรรมกษัตริย์องค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 ในชุดทรงศีล ผลงานการสร้างโดย ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทย
ประติมากรรมกษัตริย์องค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 ในชุดทรงศีล ผลงานการสร้างโดย ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทย

ภาพพระบรมรูปในหนังสือประมวญพระบรมฉายาลักษณ์ และพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลักฐานเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบและปั้นพระบรมรูปของพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 รูปแบบ ตามการติดต่อของกลุ่มผู้เคารพเทิดทูนพระองค์ท่านซึ่งมีพลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ เป็นผู้นำดำเนินการ

เมื่อพิจารณาช่วงชีวิตของศาสตราจารย์ศิลป์ผู้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2505 ด้วยวัย 69 ปี จึงอนุมานได้ว่าพระบรมรูปเหล่านี้คงสร้างก่อนพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งแรก ณ โรงละครแห่งชาติที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2508 นับเป็นพระบรมรูปรุ่นแรกของพระองค์ที่สร้างภายหลังเสด็จสวรรคต

ประติมากรรมกษัตริย์องค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 ในชุดทรงศีล ผลงานการสร้างโดย ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทย
หนังสือเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกรมการแพทย์

ท่านหลวงสุวิชานแพทย์ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการนั่งทางในของกองทัพเรือ เป็นผู้อัญเชิญท้าวมหาพรหมบนดาดฟ้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล รวมถึงองค์ท้าวมหาพรหมที่โรงแรมเอราวัณด้วย เมื่อการก่อสร้างโรงแรมที่สี่แยกราชประสงค์ใกล้แล้วเสร็จ หลวงสุวิชานแพทย์ได้แนะให้ตั้งศาลพระพรหมขึ้นที่โรงแรมทันทีเพื่อขจัดอุปสรรคเหตุร้ายให้หมดไป มีความเชื่อว่าดวงจิตของพระพรหมองค์นี้คือ ‘ท้าวมหาพรหมเกศโร’ หรือ ‘ท่านพ่อเกศโร’ ซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทั้งนี้ พระบรมรูปพระปิ่นเกล้าฯ ทรงศีล เป็นพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่สร้างขึ้นในฉลองพระองค์ทรงศีล เป็นพระบรมรูปองค์แรกที่สร้างขึ้นหลังพระองค์เสด็จสวรรคต ได้รับการออกแบบและปั้นโดยบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย

ปัจจุบันพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศีล อยู่ในการดูแลของ คุณบุรินทร์ โคตระนพคุณ ซึ่งมีความประสงค์จะขายพระบรมรูปองค์นี้ให้ผู้ศรัทธาต่อพระองค์ท่านได้ซื้อบูชาต่อไป หากท่านใดสนใจ กรุณาติดต่อเบอร์โทรศัพท์และ LINE ID หมายเลข 08 7905 0865 หรืออีเมล [email protected]  

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย