สมุดบันทึกการเดินทางชีวิตของผมเริ่มต้นในวัย 11 ย่างเข้า 12 ขวบ วันหนึ่งผมได้รับจดหมายจากมูลนิธิแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสนับสนุนด้านการศึกษาให้แก่เด็กชาติพันธุ์เขตภาคเหนือ เนื้อความในจดหมายแจ้งว่าผมผ่านการคัดเลือกและได้รับทุนการศึกษา ต้องเข้ามารายงานตัวการเป็นนักเรียนประจำในวันและเวลาตามที่กำหนด

ณ ตอนนั้น ผมมีความรู้สึกว่าความสุขกำลังจะหมดไป ถามตัวเองว่านี่เราต้องห่างจากครอบครัวแล้วเหรอ อยู่บ้านต่อไม่ได้เหรอ ผมยังไม่พร้อมที่จะออกไปเผชิญโลกกว้างใหญ่ ผมเป็นแค่เด็กบ้านนอกตัวน้อย ๆ คนหนึ่งที่มีความสุขกับการเลี้ยงวัว วิ่งเล่นในทุ่งนา ตกเย็นก็ออกไปเตะบอลกับเพื่อน ๆ ไม่ก็ออกไปเก็บฟืนกับยายในสวนมะม่วง 

ผมเคยถามพ่อกับแม่ว่าทำไมถึงต้องออกไปเรียนต่างจังหวัด อยู่ที่บ้านและเรียนที่บ้านไม่ได้เหรอ แต่สำหรับพ่อแม่ เพื่ออนาคตที่ดีของลูกคนหนึ่ง พวกเขาพร้อมทำทุกอย่าง สุดท้ายแล้วผมจึงต้องออกเดินทางจากบ้านตั้งแต่เด็ก ลองจินตนาการดู เด็ก 11 ขวบซึ่งไม่เคยออกไปไหน ต้องเรียนรู้ตั้งแต่การซื้อตั๋วรถบัส ไปโน่นไปนี่ด้วยตัวเอง ต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่นที่ไม่เคยรู้จัก หลาย ๆ ครั้งมันทำให้เด็กชายคนนั้นโดดเดี่ยว เหงา และร้องไห้ แต่ในเรื่องร้าย ๆ ย่อมมีเรื่องดีแฝงอยู่เสมอ การออกมาจากบ้านทำให้ผมได้รู้จักเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ผมเติบโตขึ้นมาก

แล้วทำไมผมถึงเรียกตัวเองว่าเป็น ‘คนร่อนเร่’ ล่ะ ก็เพราะผมไปอยู่มาแล้ว 11 จังหวัด ตั้งแต่โซนภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ ผมไม่เคยอยู่ที่ไหนเป็นหลักเป็นแหล่ง เป็นชีวิตที่ต้องออกเดินทางตลอดเวลา แต่แทบไม่เคยได้เดินทางกลับมายัง ‘บ้านเกิด’ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

จากเด็ก 11 ขวบในวันนั้น ปัจจุบันกลายเป็นชายวัย 20 กว่า ผมเติบโตขึ้น และในเวลาเดียวกันก็ผ่านความเจ็บปวดมามากมาย

คำว่า ‘ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ’ ใช้ได้กับทุกช่วงเวลาชีวิตของผม ตอนอายุ 20 ผมกำลังเรียนอยู่ ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย และตั้งใจว่าจะกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่แม่ฮ่องสอนในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน แต่พอถึงเวลากลับไม่เป็นไปตามแผน เพราะมีอาจารย์คนหนึ่งซึ่งเป็นบาทหลวง ท่านทำงานกับพี่น้องชายขอบในประเทศเมียนมามานานกว่า 20 กว่าปี ชวนเราไปเป็นครูอาสาสอนภาษาไทยในประเทศเมียนมา 

ระหว่างที่กำลังลังเลกับความรู้สึกว่าจะกลับไปหาครอบครัวหรือจะไปเป็นครูอาสาช่วงวันหยุดเรียนดีนะ สุดท้ายผมก็ตอบตกลงรับคำชักชวนจากอาจารย์ โดยยังไม่รู้หรอกว่าการเป็นครูอาสาต้องทำอะไรหรือต้องเตรียมการสอนอย่างไรบ้าง 

ปลายฤดูหนาวย่างเข้าใกล้ฤดูร้อนของเช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 05.30 น ท้องฟ้าวันนั้นสดใสมาก มีหมอกปกคลุมท้องถนนเป็นระยะ ๆ ผมเริ่มต้นออกเดินทางจากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มุ่งหน้าสู่ถนนหมาย 108 จังหวัดแม่ฮ่องสอน จุดหมายคือท่าเรือเขตการค้าชายแดนไทย-เมียนมา บ้านแม่สามแลบ เพื่อมุ่งหน้าสู่ค่ายผู้พลัดถิ่นอิตุท่า ในรัฐกะเหรี่ยง 

ตอนนั่งอยู่บนรถ อาจารย์แบ่งปันประสบการณ์การทำงานกับพี่น้องชายขอบให้ฟังเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ผมเข้าใจบริบท สภาพสังคม รวมถึงวิถีชีวิตของพี่น้องชายขอบที่กำลังจะต้องพบเจอ

พวกเราใช้เวลาเดินทางราว ๆ 9 ชั่วโมงก็เดินทางมาถึงอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผมเหนื่อยมากกับการเดินทางตลอดทั้งวัน จึงนอนค้าง 1 คืนใกล้ ๆ กับอำเภอแม่สะเรียง ก่อนจะเตรียมตัวออกเดินทางไปยังท่าเรือแม่สามแลบในวันรุ่งขึ้น

เช้าวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 พวกเราตื่นนอนตั้งแต่ตี 5 จัดการธุระส่วนตัว แวะกินข้าวข้างทาง และมุ่งหน้าสู่ท่าเรือแม่สาบแลบ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงจากอำเภอแม่สะเรียงสู่ท่าเรือ เรานั่งรถกระบะคันเก่า ๆ มีกลิ่นอายความขลังของยานพาหนะที่ผ่านการใช้งานมานาน เพื่อเดินทางไปยังท่าเรือ ก่อนจะถึงท่าเรือ 10 นาที สังเกตเห็นแม่น้ำสายหนึ่งยาวสุดลูกหูลูกตา อาจารย์บอกว่านั่นคือแม่น้ำสาละวิน

การเดินทางครั้งนี้ทำให้ผมได้รู้ว่าแม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นบ้านเกิดมีท่าเรือติดชายแดนไทย-เมียนมา และเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ไหลผ่านรัฐฉาน รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง เป็นแม่น้ำที่กั้นพรมแดนระหว่างเมียนมากับไทย และไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำเมย หลังจากนั้นก็จะไหลวกกลับเข้าสู่ประเทศเมียนมา 

สำหรับผม สาละวินเป็นแม่น้ำสายหนึ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน 2 ฟากฝั่ง ช่วงที่กำลังรอเจ้าหน้าที่จากรัฐกะเหรี่ยงมารับ ผมสังเกตเห็นชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ลุ่มน้ำมีความชำนาญในการขับเรือมาก เพราะบางส่วนมีอาชีพจับปลาและรับจ้างขับเรือขนสินค้าข้ามฝากไปยังรัฐกะเหรี่ยง 

เวลาประมาณ 12.00 น. เจ้าหน้าที่จากรัฐกะเหรี่ยงก็ข้ามมาถึงฝั่งไทยและเข้ามาทักทายเรา 

“โอหมื่อโชเปอ” (ภาษากะเหรี่ยง) แปลว่า สวัสดีครับ 

พาตี ตี๋เบอะ เจ้าหน้าที่ที่เคยทำงานกับอาจารย์มานานกล่าวทักทาย เขาจะเป็นคนดูแลผมไปตลอด 2 เดือนต่อจากนี้ 

ผมใช้เวลาราว 2 – 3 ชั่วโมงนั่งเรือจากฝั่งไทยข้ามไปยังรัฐกะเหรี่ยง ตลอดการเดินทางด้วยเรือสัญจร กลิ่นอายการผจญภัยก็เริ่มต้นขึ้น ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ทำให้ผมรู้สึกตัวเล็กลงไป 2 ฝากฝั่งชายแดนไทย-เมียนมา มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก ผมตกหลุมรักการเดินทางนี้เลยล่ะ และแน่นอนว่าความตื่นเต้น ความกังวล เริ่มคลืบคลานเข้ามาราวกับเป็นเงาตามติดตัว

ตั้งแต่ออกจากบ้านตอน 11 ขวบ การเดินทางครั้งนี้คือครั้งที่ผมออกมาห่างไกลจากบ้านมากที่สุดแล้ว 

11.00 น. ของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 พวกเราเดินทางมาถึง ‘ค่ายผู้พลัดถิ่นอิตุท่า’ ก่อตั้งโดยชาวบ้านในรัฐกะเหรี่ยงซึ่งหนีภัยสงครามการสู้รบในเมียนมา ชาวบ้านที่นี่สร้างบ้านด้วยหลังคาจากใบตองตึง บ้านทุกหลังยกพื้นขึ้นสูง ส่วนผนังบ้านกั้นด้วยไม้ไผ่ 

ความรู้สึกแรกของผมที่เกิดขึ้น คือสังคมที่เราอาศัยช่างแตกต่างจากสังคมของพวกเขาเหลือเกิน โลกใบนี้ช่างกว้างใหญ่ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราเองก็ยังไม่รู้และไม่เข้าใจ เราเป็นคนตัวเล็ก ๆ ท่ามกลางคนเป็นพันล้านคน 

ไม่ว่าเหตุการณ์ใดก็ตามที่พัดพาผมให้มาเจอผู้คนเหล่านี้ ผมจะตั้งใจเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเป็นครูอาสาให้ได้มากที่สุด จะได้นำเรื่องราวของเราไปบอกแก่เพื่อน ๆ 

พาตี ตี๋เบอะ ให้ผมนอนพักในบ้านหอเด็กผู้ชาย บ้านพักมีลักษณะคล้ายกับบ้านของชาวบ้าน หลังคาใบตองตึง พื้นและผนังบ้านทำจากไม้ไผ่ที่ถูกสับฟาก

ตกเย็นวันนั้นผมได้พบกับผู้อำนวยการโรงเรียนอิตุท่า ผอ. โรงเรียนสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ แต่โชดดีที่ท่านพูดภาษาอังกฤษได้ ค่อยโล่งออกไปหน่อย ท่านบอกว่าพรุ่งนี้เช้าอยากให้เราไปแนะนำตัวกับเด็ก ๆ ที่โรงเรียน ผมทั้งตกใจและตื่นเต้น แต่ ผอ. บอกว่าเด็ก ๆ น่าจะดีใจ เพราะนาน ๆ ทีจะมีครูจากประเทศไทยมาสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้พวกเขา

เช้าวันใหม่กับบทบาทใหม่ เราตื่นเต้นที่จะได้แนะนำตัวต่อหน้าเด็กนักเรียน 

เด็ก ๆ ที่นี่ใช้ภาษาอังกฤษและภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสาร นักเรียนบางคนพูดภาษาเมียนมาได้ ผมเป็นคนกะเหรี่ยงเหมือนกันจึงสื่อสารกันได้ แต่ส่วนมากมักใช้ภาษาอังกฤษมากกว่า

ทำไมถึงต้องใช้ภาษาอังกฤษพูดกับนักเรียน เพราะสำเนียงคนกะเหรี่ยงในไทยกับคนกะเหรี่ยงในเมียนมาต่างกัน คำศัพท์ที่ใช้ก็ต่างกันด้วย

วันที่ต้องไปสอนวันแรก ผมสังเกตเห็นการแต่งตัวของนักเรียนซึ่งแตกต่างจากชุดนักเรียนในประเทศไทยมาก 

เด็กนักเรียนที่นี่สวมชุดประจำชาติพันธุ์ไปเรียนหนังสือ เด็กผู้หญิงนุ่งกระโปรง ส่วนเด็กผู้ชายนุ่งสะโหร่ง ยกเว้นช่วงที่สอบ ทางโรงเรียนจะให้แต่งชุดพิเศษ ซึ่งชุดพิเศษที่ว่าก็คือเสื้อคอปกสีขาวแขนสั้นไม่ก็แขนยาว และมีตรากระทรวงศึกษารัฐกะเหรี่ยงแปะไว้ตรงแขนเสื้อ 

และแล้วเวลาการแนะนำตัวต่อหน้านักเรียนหลายชีวิตก็มาถึง ผมตื่นเต้นมาก โดยเฉพาะเวลาที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเรียกชื่อ พูดติด ๆ ขัด ๆ ไม่เป็นประโยคเลยล่ะ 

เช้าวันแรกของการสอน ผมเข้าไปสอนห้อง Grade 12 เทียบเท่าชั้น ม.6 แน่นอนว่าเด็ก ๆ พูดภาษาไทยไม่ได้ ผมจึงต้องแปลจากไทยเป็นอังกฤษ สับสนพอสมควรกับการแปลภาษา มันท้าทายมากสำหรับเรา ทุกครั้งที่สอน เด็ก ๆ ตั้งใจเรียนกันมาก พวกเขาให้เหตุผลว่านาน ๆ จะมีครูจากต่างถิ่นมาสอน จึงอยากเรียนรู้ให้มากที่สุด

สาเหตุที่โรงเรียนในค่ายผู้พลัดถิ่นแห่งนี้เรียกช่วงชั้นว่า Grade ก็เพราะเมียนมาเคยตกเป็นเมืองขึ้นแก่อังกฤษ จึงได้รับอิทธิพลทางการศึกษาและแนวคิดแบบชาวตะวันตกอยู่บ้าง 

การศึกษาของเด็ก ๆ ในค่ายผู้พลัดถิ่นอิตุท่าจัดสรรโดยกระทรวงศึกษารัฐกะเหรี่ยง หรือ KECD ย่อมาจาก Karen Education and Culture Department ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กทุกคนในรัฐกะเหรี่ยง รวมถึงออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็ก ๆ ทุกคนด้วย

ห้องเรียนของที่นี่แตกต่างจากห้องเรียนในประเทศไทยมาก ผนังห้องสานด้วยไม้ไผ่ หลังคาทำมาจากใบตองตึง หรือบางแห่งก็เป็นหลังคาสังกะสี ในห้องเรียนก็ไม่ได้มีโต๊ะนะครับ ไม่มีประตูห้องเรียนด้วย เด็กทุกคนนั่งเรียนกันบนม้านั่งที่ทำมาจากกระบอกไม้ไผ่หรือแผ่นไม้ 2 แผ่นซึ่งนำมาซ้อนกันให้กลายเป็นที่นั่ง

ส่วนคุณครู ที่นี่มีหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น หนังสือบางเล่มฉีกขาด หรือไม่ก็ชำรุดจากเชื้อรากัดกิน 

เด็ก ๆ เรียนจะเรียน 7 วิชาสามัญคล้ายกับบ้านเรา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคม ภาษากะเหรี่ยง ภาษาเมียนมา และสุขศึกษา แต่ละวันผมจะสอนวันละ 5 คาบ ช่วงเช้าสอน Grade 8 – 9 (เทียบเท่าชั้น ม.2 – 4 ของบ้านเรา) ส่วนบ่าย ๆ เข้าไปสอนชั้นอนุบาล แต่ละวันการสอนของเราจะแตกต่างกันไป บางคาบให้เด็กร้องเพลงภาษาไทย บางคาบเล่าสังคมไทยให้เด็ก ๆ ฟัง และบางคาบก็ให้เด็กฝึกพูดภาษาไทยกับกลุ่มเพื่อน ๆ

ทุก ๆ ครั้งที่ไม่มีคาบสอนหรือไม่มีการเรียนการสอน ผมจะออกไปเยี่ยมเด็ก ๆ ตามบ้าน เด็กและผู้ปกครองนักเรียนในค่ายผู้พลัดถิ่นอิตุท่าส่วนใหญ่หลบหนีจากสงครามความขัดแย้งในประเทศเมียนมา ผมในฐานะคนต่างถิ่นรู้สึกหดหู่มากเวลาฟังเรื่องราวที่พวกเขาต้องพบเจอ และรู้สึกโชคดีที่ไม่ต้องหนีสงคราม ไม่ต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นในรัฐของตัวเอง 

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากชีวิตเด็ก ๆ และพ่อแม่ของพวกเขา ทำให้ผมเข้าใจมากขึ้นว่าสังคมเรามีชนชั้น มีความเหลื่อมล้ำ และความไม่ยุติธรรมเต็มไปหมด ชีวิตของชาวอิตุท่าคือภาพสะท้อนชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกสังคมอันยิ่งใหญ่ลืมเลือน 

ช่วงแรก ๆ ที่ได้ใช้ชีวิตกับเด็ก ๆ ในค่ายอิตุท่า ผมพบว่าเด็ก ๆ ในค่ายไม่มีสัญชาติ กลายเป็นบุคคลไร้รัฐ พวกเขาทั้งหมดจึงขาดโอกาสหลายด้าน เช่น โอกาสด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ในมุมมองของผม คิดว่าไม่ว่าจะเด็กหรือพ่อแม่ก็ล้วนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเฉกเช่นคนคนหนึ่งที่มีโอกาสได้เกิดมาในสังคม 

เช้าวันใหม่ในต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 เราทำหน้าที่ครูอาสาเป็นเดือนสุดท้ายก่อนจะกลับประเทศไทย รู้สึกใจหายเหมือนกันนะ วันเวลาเดินทางเร็วเหลือเกิน เริ่มมีเด็ก ๆ มาถามว่ารู้สึกยังไงที่ใกล้จะได้กลับบ้านแล้ว ผมได้แต่มองหน้าพวกเขาและอมยิ้ม 

ข้างในใจมีแต่ความคิดถึง ภาพความทรงจำที่ได้ร่วมทำกิจกรรมกับนักเรียนและคุณครูในค่ายอิตุท่าค่อย ๆ ลอยมาเป็นฉาก ๆ แม้จะไม่อยากให้ช่วงเวลาอันมีค่านี้หมดไป แต่นั้นล่ะ เมื่อมีพบย่อมมีวันจากลา เป็นเรื่องปกติ 

ในเดือนสุดท้ายของการสอน ผมไล่เดินเก็บภาพร่วมกับเด็ก ๆ และคุณครูในโรงเรียน จะได้เก็บไว้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในชีวิต คำถามหนึ่งที่ผมได้รับตลอดทางนั้นก็คือ ถ้าไปแล้ว จะกลับมาหาพวกเขาอีกไหม

“แน่นอน หากวันหนึ่งกลับมา ผมจะพาเพื่อน ๆ กลับมาด้วย” ผมตอบกลับไปแบบนั้น 

ช่วงเวลา 2 เดือนที่ได้สอนหนังสือในค่ายผู้พลัดถิ่น ผมมีความสุขมาก และค่อย ๆ ได้ทำความเข้าใจชีวิตภูมิหลังเด็ก ๆ ไปด้วย

เสียงหัวเราะและรอยยิ้มของพวกเขาทำให้ผมรู้สึกไม่อยากจากไป แต่เวลาที่ไม่อยากให้มาถึงเริ่มใกล้เข้ามาทุกที ทุก ๆ วันที่ตื่นขึ้นมา ผมเอาแต่ย้ำกับตัวเองว่าจะใช้เวลากับเด็ก ๆ เหล่านี้ให้เต็มที่ และแล้ววันสุดท้ายของเดือนมีนาคมก็มาถึง คุณครูและนักเรียนจัดงานเลี้ยงอำลาให้แก่ผม งานในวันนั้นอบอุ่นมาก เรากินเลี้ยงอาหารเย็นด้วยกัน หลังจบมื้ออาหารก็ถึงเวลากล่าวความในใจ

ข้อความที่เราทิ้งไว้ให้คุณครูและเด็ก ๆ ที่น่ารักก็คือ

“นับจากวันนี้และต่อไป พวกคุณคือส่วนหนึ่งในชีวิตของผม และจะเป็นตลอดไป”

เช้าวันรุ่งคืนในเดือนเมษายน เราเก็บข้าวของพร้อมที่จะกลับ ก่อนจะกลับเราได้ถ่ายรูปร่วมกับทุกคนเป็นครั้งสุดท้าย มีเด็ก ๆ และคุณครูกลุ่มหนึ่งอาสาส่งเราที่ท่าเรือ แล้วเรือของ พาตี ตี๋เบอะ ก็มารับพอดี 

ก่อนขึ้นเรือผมสัญญากับเด็ก ๆ ว่าจะกลับมาอีก จะกลับมาพร้อมกับครูอาสาคนใหม่ รอนะ รอคอยที่สาละวิน