สมาคมสถาปนิกสยามฯ ประกาศให้วิหารน้อยได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประเภทงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชนระดับดีมาก ประจำ พ.ศ. 2565 ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดในประเภทนี้และครั้งนี้

“เมื่อทราบข่าว ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจมาก ๆ ดิฉันมาทำบุญถวายพระอัฐิเสด็จปู่เป็นประจำทุกปีตั้งแต่เล็ก ๆ พอโตขึ้นมาก็เห็นความทรุดโทรมของที่นี่ วิหารน้อยเป็นอาคารโบราณที่สร้างขึ้นมานาน ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อได้มาเป็นประธานมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ก็คิดว่าจะต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง
“ความที่ดิฉันยึดมั่นกับคำสอนของเสด็จปู่ที่ว่า ทำอะไรต้องทำจริง ก็เลยเกิดความคิดว่าจะบูรณะวิหารน้อยให้ดีที่สุด จึงได้ปรึกษากับกองทัพเรือ และขอให้กรมศิลปากรมาช่วย รวมทั้งเชิญผู้มีความรู้อย่างคุณวทัญญูให้มาร่วมเป็นที่ปรึกษาในการบูรณะครั้งนี้” หม่อมราชวงศ์จิยากร อาภากร เสสะเวช พระนัดดาใน พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ผู้ทรงเป็นต้นราชสกุลอาภากร) กล่าวอย่างภูมิใจ

“หัวใจของการบูรณะวิหารน้อย คือการนำองค์ความรู้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการมาใช้ในการบูรณะ เพื่อมุ่งอนุรักษ์และพัฒนาอาคารโบราณให้เหมาะสมต่อการใช้งานในอนาคต รวมทั้งบันทึกไว้เป็นองค์ความรู้และกรณีศึกษาสำหรับการบูรณะอาคารโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์อาคารสำคัญร่วมสมัยอื่น ๆ อีกมากมาย” คุณวทัญญู เทพหัตถี กรรมการผู้จัดการ บริษัท กุฎาคาร จำกัด สถาปนิกอนุรักษ์ผู้ร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการบูรณะวิหารน้อยครั้งล่าสุด กล่าวถึงความสำคัญของการบูรณะครั้งนี้

ภาพ : ปฏิพล รัชตอาภา
คอลัมน์ Heritage House จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านไปร่วมทำความรู้จักกับวิหารน้อย เพื่อทราบถึงประวัติความเป็นมา ลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรม ตลอดจนกระบวนการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง
“แต่การทำความรู้จักแต่เฉพาะวิหารน้อยอาจไม่เพียงพอ ผมคิดว่าเราควรเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดของสุสานหลวงวัดราชบพิธเสียก่อน ที่นี่มีทั้งเจดีย์ทรงลังกา ปราสาทขอมประยุกต์ สถาปัตยกรรมอิทธิพลโกธิก (Gothic) คลาสสิก ฯลฯ ซึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันเช่นนี้ล้วนมีที่มาที่ไปทั้งสิ้น ทั้งหมดกำหนดขึ้นจากสถานะของบุคคลผู้นั้น อันเกี่ยวเนื่องกับรัชกาลที่ 5 ซึ่งเมื่อได้ทราบแล้ว เราจะรู้สึกได้เลยว่ารัชกาลที่ 5 ทรงคิดทุกอย่างอย่างรอบคอบ มีระเบียบแบบแผน” คุณวทัญญูได้ชวนเราให้เปิดมุมมองที่กว้างขึ้น
ถ้าพร้อมแล้ว ตามผมมาเลยครับ
สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
“จริง ๆ แล้ว โดยธรรมเนียมไทยไม่เคยปรากฏการสร้างสุสานเพื่อบรรจุพระศพหรือพระอัฐิของเจ้านายในพระราชวงศ์มาก่อน การสร้างสุสานหลวงเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิเฉพาะพระมเหสีเทวี พระราชโอรส-ธิดา อัฐิของเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 เท่านั้น กล่าวโดยภาษาสามัญก็คือ เป็นสถานที่สงวนไว้เฉพาะสมาชิกครอบครัวของพระองค์ท่าน” คุณวทัญญูเล่า
แต่เดิมนั้น หลังจากบำเพ็ญกุศลถวายพระศพจนครบวาระแล้ว ก็จะตามด้วยพิธีถวายพระเพลิงพระศพ แล้วจึงเชิญพระอังคารไปลอยน้ำบริเวณหน้าวัดสำเพ็งหรือวัดปทุมคงคาฯ เชิญพระอัฐิอีกส่วนหนึ่งไปบรรจุไว้ในพระบรมมหาราชวัง หรือวังของเจ้านายพระองค์นั้น ๆ หรือเชิญไปประดิษฐานยังวัดอันเกี่ยวข้องกับพระองค์ท่าน แต่ไม่มีการบรรจุรวมกันในลักษณะสุสานเช่นนี้

“ไม่มีบันทึกที่ปรากฏแน่ชัดว่าทำไมรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสุสานหลวงขึ้น แต่พอจะสันนิษฐานได้ว่ามาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ประการแรก สภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป การประกอบพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระศพไม่สะดวกเหมือนเมื่อก่อน เช่นการลอยพระอังคารในแม่น้ำ ในอดีตบริเวณหน้าวัดสำเพ็งหรือวัดปทุมคงคาฯ เป็นเขตนอกเมือง คนอาศัยอยู่ไม่มาก แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จำนวนประชากรมีเพิ่มขึ้นมาก พื้นที่บริเวณนั้นกลายเป็นแหล่งชุมชน จึงไม่เหมาะที่จะลอยพระอังคารอีกต่อไป
“รัชกาลที่ 5 ทรงมีครอบครัวใหญ่ มีมเหสีเทวี เจ้าจอมมารดา รวมทั้งพระราชโอรส-ธิดาหลายพระองค์ ทั้งนี้คงจะโปรดให้รวบรวมสมาชิกครอบครัวของพระองค์ท่านไว้ด้วยกัน ไม่ต้องกระจัดกระจายไปบรรจุพระอัฐิไว้หลาย ๆ ที่ และสาเหตุสำคัญอีกประการคือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือ ‘สมเด็จพระนางเรือล่ม’ สวรรคต”
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 เกิดเหตุเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ล่มลง ณ ตำบลบางพูด แขวงเมืองนนทบุรี เป็นเหตุให้สวรรคตพร้อม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ พระราชธิดา สมเด็จพระนางเรือล่มทรงเป็นพระอัครมเหสีที่รัชกาลที่ 5 ทรงสนิทเสน่หาเป็นอย่างยิ่ง นำความเศร้าโศกพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก จึงมีพระราชประสงค์จะสร้างที่บรรจุพระอัฐิไว้ให้สมพระราชสถานะ

งานพระเมรุของสมเด็จพระนางเรือล่มมีขึ้นที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2424 แต่กว่าจะเริ่มก่อสร้างเจดีย์บรรจุพระอัฐิที่สุสานหลวงนั้น ตกประมาณ พ.ศ. 2426 ล่วงมาหลังจากงานพระเมรุราว ๆ 2 ปี ในการนี้ ได้ทรงเลือกวัดราชบพิธฯ ด้วยเป็นวัดประจำรัชกาล ปรากฏพื้นที่ว่างข้างวัดซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกพอดี นอกจากนั้นยังตั้งอยู่ริมถนนอัษฎางค์ เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีได้สะดวก จึงนับว่าเป็นพื้นที่เหมาะสม
“เมื่อมีพระราชดำริที่จะสร้างอนุสรณ์สถานพระราชทานสมเด็จพระนางเรือล่มแล้ว ก็ทรงเล็งเห็นว่าสมควรจะสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อพระราชทานพระเมสีเทวีพระองค์อื่น ๆ รวมทั้งเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอม ตลอดจนพระราชโอรส-ธิดาพร้อม ๆ กันไปเลย เชื่อว่าท่านทรงคิดรวบยอดแล้วว่าไหน ๆ จะทำแล้ว ก็ทำให้ครบเสียเลย
“ตอนที่ท่านเริ่มสร้างสุสานหลวงนั้น มีเพียงสมเด็จพระนางเรือล่มสวรรคตพร้อมพระราชธิดาเท่านั้น ตามมาด้วยพระราชธิดาบางพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ส่วนพระมเหสีเทวี พระราชโอรส-ธิดาพระองค์อื่น ๆ ยังมีพระชนม์อยู่หมด สุสานหลวงจึงเป็นสุสานที่สร้างขึ้นก่อนคนตาย คิดว่านี่คือข้อพิสูจน์ที่ว่าทรงมองเผื่ออนาคตไปเลย เป็นการเตรียมการณ์ล่วงหน้า”
เจดีย์สี่ ศาลาหนึ่ง
“สถาปัตยกรรมสำคัญเมื่อแรกสร้างสุสานหลวงคือศาลา 1 หลังและพระเจดีย์อีก 4 องค์ ซึ่งทั้งหมดตั้งเรียงในระนาบเดียวกัน” คุณวทัญญูชี้ให้ชม
พระเจดีย์องค์แรกได้พระราชทานไว้เพื่อบรรจุพระอัฐิสมเด็จพระนางเรือล่มและพระราชธิดา ส่วนอีก 3 องค์ที่เรียงต่อมานั้น พระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ) และ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระบรมราชเทวี ส่วนศาลาที่ตั้งอยู่ริมสุดนั้น สร้างพระราชทานเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ) การก่อสร้างพระเจดีย์และศาลาครั้งนี้ สันนิษฐานว่าใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 7 เดือน จนแล้วเสร็จเมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2427
“สมเด็จพระนางเจ้าทั้ง 4 พระองค์ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง หมายถึงว่าทรงมีพระราชสมภพมาเป็นพระราชธิดาพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 4 ส่วนศาลาอีกหลังนั้น พระราชทานให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ซึ่งเป็นพระสนมเอกคนสำคัญ ภายในมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติขนาดสูงเท่าตัวท่าน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อไว้ ได้พระราชทานนามพระเจดีย์ 4 องค์ไว้คล้องจองกัน คือ สุนันทานุสาวรีย์ รังษีวัฒนา เสาวภาประดิษฐาน และสุขุมาลนฤมิตร์ ส่วนศาลาที่บรรจุพระพุทธรูปนั้นปรากฏนามต่อมาว่า พิหารน้อย ก่อนจะกร่อนกลายเป็น วิหารน้อย อย่างที่เราเรียกในปัจจุบัน”

จดหมายเหตุราชกิจรายวันรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวถึงพิธีก่อฤกษ์พระเจดีย์และศาลาที่สุสานหลวง เมื่อวันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2426 ความว่า
“อนึ่งเวลาเย็น วันนี้สวดมนต์ก่อพระฤกษ์พระเจดีย์สี่องค์กับศาลาที่วัดราชบพิธ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวชิรุณหิศเสด็จไปทรงจุดเทียนแทนพระองค์ และในวันรุ่งขึ้นได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระนางเจ้าทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงก่อฤกษ์พระเจดีย์และศาลาที่วัดราชบพิธ ในการนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมมารดาแพไปร่วมทำพิธีด้วย”
ข้อควรสังเกตประการหนึ่ง คือการเรียงลำดับอนุสรณ์สถาน ที่เริ่มด้วยวิหารน้อยก่อน แล้วจึงตามมาด้วยเจดีย์ทั้ง 4 องค์ ซึ่งสะท้อนตามลำดับการเข้ารับราชการเป็นพระภรรยา เจ้าจอมมารดาแพนั้นเป็นรักแรกของรัชกาลที่ 5 ได้ทรงสู่ขอต่อ พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) และเริ่มรับราชการตั้งแต่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ยังมิได้ครองราชย์ ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าทั้ง 4 พระองค์นั้น ทรงรับราชการเป็นพระภรรยาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว

“หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ทรงเป็นทั้งสถาปนิกและช่างผู้รับผิดชอบการก่อสร้างพระเจดีย์ทั้ง 4 องค์ จะสังเกตว่าพระเจดีย์ทรงกลมนี้ไม่ได้เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีล้วน ๆ แต่ท่านทรงนำรายละเอียดบางประการจากสถาปัตยกรรมโกธิก มาใช้ผสมผสานด้วย สังเกตได้จากหน้าต่างที่มีลวดลายวิจิตร แบ่งพื้นที่ออกเป็นช่อง ๆ ประดับกระจกหลากสีตามแบบโกธิก” คุณวทัญญูชวนผมให้สังเกต

สถาปัตยกรรมโกธิกเป็นสถาปัตยกรรมที่เผยแพร่โดยทั่วไปในยุโรป และเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มักจะนำมาใช้กับศาสนสถานอย่างโบสถ์
“การนำสถาปัตยกรรมโกธิกมาใช้กับสุสานเป็นสิ่งที่พบเห็นได้เสมอ สุสานมีความเกี่ยวเนื่องกับศาสนา มีคติความเชื่อลักษณะเดียวกัน จึงเลือกใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมเดียวกัน ขณะที่รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์อยู่นั้น ตรงกับรัชสมัยของ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย จึงเป็นรูปแบบที่เรียกว่า ‘วิกตอเรียนโกธิก’ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือวัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรียนโกธิกทั้งหลัง”

สำหรับแนวคิดที่สร้างอนุสรณ์สถานเป็นลักษณะเจดีย์ทรงลังกานั้นมีความเป็นมาอย่างไร
“เหตุผลสำคัญที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างเป็น ‘เจดีย์’ ก็เพราะว่ามีพระราชประสงค์ให้เป็นมากกว่าสถูปบรรจุพระอังคาร แต่ให้เป็นพระธาตุเจดีย์ เพราะมีหลักฐานว่าได้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอดตั้งแต่แรกสร้าง คิดว่าพระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานความเป็นสิริมงคลให้พระมเหสีเทวีและพระราชโอรส-ธิดาที่ทรงสนิทเสน่หาได้ประทับอยู่ภายใต้ร่มพระบารมีแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนเหตุผลของการสร้างเป็นลักษณะ ‘เจดีย์ทรงลังกา’ นั้น น่าจะมาจากพระราชนิยมที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 4”

วิหารน้อย
วิหารน้อยมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกผสมโกธิก ซึ่งแตกต่างจากพระเจดีย์ทั้ง 4 องค์ที่ตั้งอยู่ในระนาบเดียวกันโดยสิ้นเชิง
“แม้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์หรือเจ้าจอมมารดาแพ จะเป็นผู้ที่ทรงยกย่องว่าเป็นพระสนมเอก แต่อนุสรณ์สถานของเจ้าจอมมารดาแพนั้นไม่สามารถนำเจดีย์ทรงลังกามาใช้ได้ เพราะท่านเป็นเพียงพระสนม ไม่ใช่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี หรือพระบรมราชินี ดังนั้นจึงต้องลดศักดิ์ของอาคารลงมา และแปลงไปเป็นอาคารประเภทอื่นเสีย คือแทนที่จะสร้างเป็นเจดีย์ ก็เปลี่ยนมาเป็นศาลาแทน รวมทั้งเลี่ยงการใช้สถาปัตยกรรมแบบไทยไปเป็นตะวันตก โดยมีหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย เป็นผู้ทรงออกแบบและควบคุมการก่อสร้างวิหารน้อยเช่นกัน” คุณวทัญญูอธิบาย

วิหารน้อยจึงเป็นศาลาเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในสุสาน สามารถใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสงฆ์ได้ เมื่อรัชกาลที่ 5 ยังมีพระชนม์ชีพ ก็ทรงใช้พื้นที่วิหารน้อยสำหรับบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานสมเด็จพระนางเรือล่มและพระราชธิดา ต่อมาวิหารน้อยจึงกลายมาเป็นพื้นที่สำหรับสมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขาที่สืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 5 ใช้ประกอบพิธีสงฆ์เพื่อบำเพ็ญกุศลถวายพระอัฐิบรรพบุรุษของแต่ละราชสกุลอย่างต่อเนื่อง
‘วิหาร’ เป็นคำที่เราใช้เรียกอาคารโถงที่มีพระพุทธรูปประดิษฐาน เพื่อให้ฆราวาสใช้ประกอบพิธีสงฆ์ร่วมกัน นี่คือสาเหตุที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปปางห้ามญาติขนาดเท่าตัวเจ้าจอมมารดาแพเป็นพระพุทธรูปสำคัญประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อยแห่งนี้

ภายในวิหารน้อยเป็นที่บรรจุอัฐิเจ้าคุณพระประยูรวงศ์และสายสัมพันธ์ หนึ่งในนั้นคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาของท่าน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาผู้นี้ กล่าวง่าย ๆ คือทรงเป็น หลานป้า ของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ดังนั้นวิหารน้อยจึงเป็นสถานที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระองค์ท่านด้วย



การบูรณะวิหารน้อยครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2561 เริ่มต้นขึ้นจากมูลนิธิราชสกุลอาภากร โดยหม่อมราชวงศ์จิยากร อาภากร เสสะเวช ประธานมูลนิธิ ได้หารือกับกองทัพเรือเพื่อวางแนวทางบูรณะร่วมกับกรมศิลปากร
“หนึ่งในกรรมการมูลนิธิราชสกุลอาภากร คือ คุณสิน พงศ์หาญยุทธ ได้กรุณาชวนผมให้เข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษาในโครงการบูรณะครั้งนี้ โดยร่วมในกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่ต้น ซึ่งทำให้เกิดการค้นคว้าและค้นพบข้อมูลสำคัญมากมาย เพื่อกำหนดแนวทางการอนุรักษ์ที่เหมาะสม” คุณวทัญญูกล่าวถึงภารกิจสำคัญครั้งนี้
“ก่อนที่ผมจะเข้ามาร่วมดำเนินการบูรณะ วิหารน้อยได้รับการบูรณะมาก่อนหน้านี้หลายครั้ง ในช่วงเวลาที่ต่างกัน ซึ่งส่งผลให้วิหารน้อยมีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน”
เราลองมาย้อนเวลากลับไปสู่อดีตกว่าร้อยปีก่อน เพื่อศึกษาดูว่าวิหารน้อยมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
วิหารน้อยในอดีต
“อาคารวิหารน้อยในปัจจุบันไม่ใช่อาคารต้นฉบับดั้งเดิมที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2427 เราสืบค้นจากภาพถ่ายโบราณจนพบภาพวิหารน้อยต้นฉบับ จะเห็นว่าแตกต่างจากปัจจุบันมาก เดิมเป็นอาคารปรากฏซุ้มยอดแหลมประดับอยู่ด้วย ประเด็นนี้น่าสนใจมาก โดยฐานันดรศักดิ์แล้ว รัชกาลที่ 5 ไม่สามารถพระราชทานยอดเจดีย์แบบลังกาได้ เพราะเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นเพียงเจ้าจอมเท่านั้น แต่ด้วยความที่เป็นผู้ที่ทรงสนิทเสน่หามาก จึงทรงเลี่ยงมาใช้ซุ้มยอดแหลมแบบตะวันตกแทน เรียกได้ว่ายังพระราชทานเกียรติยศให้กับอนุสรณ์สถานของท่านในรูปแบบที่แตกต่างเป็นพิเศษ”


“รูปแบบสถาปัตยกรรมตอนแรกสร้างนั้นยึดแนวสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกเป็นหลัก มีการสอดแทรกองค์ประกอบแบบโกธิกผสมผสานเข้าไปในรายละเอียดบางประการ”
“ขอเริ่มที่สถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกก่อน ถ้าให้อธิบายถึงสถาปัตยกรรมลักษณะนี้อย่างกระชับที่สุดคือสถาปัตยกรรมที่มีองค์ประกอบตามแบบกรีกและโรมัน สิ่งที่สังเกตได้ง่ายสุดในอาคารหลังนี้ก็คือเสาและหัวเสาแบบกรีก ที่เสาปูนประดับอาคารมีการเซาะร่องตามแนวตั้ง เรียกว่า ฟลูต (Flute) มีซุ้มปูนปั้นประดับประตูและหน้าต่าง อย่างเช่นซุ้มโค้งครอบด้วยหน้าจั่วรูปสามเหลี่ยม เรียกว่า เพดิเมนต์ (Pediment) ประดับเหนือช่องหน้าต่างภายนอกอาคาร หากเข้าไปภายในก็จะพบซุ้มโค้งโรมันประดับเหนือบานประตูหน้าต่างเช่นกัน”
แล้ววิหารน้อยมีอะไรบ้างที่เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโกธิก
“ลองสังเกตจากสิ่งใหญ่ ๆ ก่อนนะครับ การใช้ซุ้มยอดแหลมบนหลังคานั้นเป็นโกธิกที่ชัดมาก หรือการประดับเหล็กหล่อบนสันหลังคา รวมทั้งการประดับขอบซุ้มด้วยปูนปั้นซึ่งลวดลายลักษณะนี้ถือว่าการตกแต่งอาคารแบบโกธิก สำหรับช่องแสงบนบานประตูและหน้าต่างนั้น มีลวดลายเป็นลายเรขาคณิต ซึ่งไม่ถือว่าเป็นลายแบบโกธิก แต่วิธีการกรุกระจกหลากสีลงไปในช่องแสงเหล่านั้น ถือว่าเป็นวิธีการแบบโกธิก” คุณวทัญญูบรรยาย


ภาพ 3 มิติที่นำมาแสดงประกอบบทความนี้ เกิดจากการวิเคราะห์และศึกษาภาพถ่ายโบราณที่ค้นพบ แล้วนำมาสร้างภาพจำลองในมิติต่าง ๆ เพื่อสะท้อนรายละเอียดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
“อย่างเหล็กหล่อที่เป็นสันหลังคาก็ไม่มีให้เห็นแล้ว แต่เราสามารถจำลองออกมาเป็นภาพ 3 มิติให้เห็นได้ ก็เพราะเราสำรวจแล้วพบชิ้นส่วนเหล็กหล่อประดับหลังคา จากนั้นเราได้ลองนำมาเทียบเคียงกับอนุสาวรีย์แบบโกธิกอื่น ๆ ที่ปรากฏอยู่ในสุสานหลวง แล้วก็พบว่ามีลักษณะเหมือนกัน เราจึงร่างเป็นภาพขึ้นมาใหม่
“หรืออย่างเสาปูนปั้นเซาะร่องประดับอาคารหรือฟลูต ก็ไม่ปรากฏอยู่แล้วบนอาคารปัจจุบัน แต่เราสามารถสำรวจพบหลักฐานการเซาะร่องเดิม แล้วนำมาประมวลกับภาพถ่ายโบราณให้แน่ใจก่อนที่นำมาร่างเป็นภาพสามมิติอย่างที่เห็น”
สิ่งสำคัญอีกประการคือเรื่องของสี จากการสำรวจชั้นสีของผนัง ประตู หน้าต่าง ในการบูรณะครั้งล่าสุด พบร่องรอยว่าสีทาอาคารคือสีเหลืองอมน้ำตาล ส่วนสีที่ทาบัวปูนปั้นนั้นเป็นสีขาว และสีที่ทาวงกบและบานกรอบประตูหน้าต่างบนอาคารล้วนเป็นสีเขียว จึงเป็นสีที่นำมาใช้ทาอาคารในการบูรณะครั้งล่าสุด เพราะตรวจสอบอย่างละเอียดจนมั่นใจว่าเป็นเป็นสีดั้งเดิม
ก่อนการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2561 นั้น วิหารน้อยผ่านการบูรณะมา 4 ครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอาคารหลังนี้พอสมควร และกลายสภาพมาเป็นอาคารอย่างที่เห็นในปัจจุบัน คุณวทัญญูค่อย ๆ ไล่เรียงเราฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
“สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดคือซุ้มยอดแหลมหายไป สันนิษฐานว่าน้ำฝนรั่ว ชำรุดหนักจนต้องรื้อหลังคาเดิมออกทั้งหมด คือหลังคาทรงนี้มักจะทำให้น้ำฝนเทลงมาสะสมและรั่วซึมอยู่แล้ว เมื่อรื้อซุ้มหลังคาออกจึงต้องสร้างหลังคาทรงจั่วขนาดใหญ่คลุมอาคารทั้งหลังขึ้นมาแทน พร้อมกับยื่นชายคาโดยรอบสำหรับป้องกันแดดและฝนให้ดีขึ้นกว่าเดิม ลักษณะหลังคาทรงจั่วคือหลังคาที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน”

“นอกจากเปลี่ยนหลังคาทั้งหมดแล้ว ยังมีการสร้างผนังขึ้นมาใหม่เพื่อปิดอาคารด้านหน้า พร้อมกับสร้างซุ้มประตูใหม่เพื่อเปิดเป็นทางเข้า จั่วเหนือซุ้มประตูโค้งปรากฏเป็นไม้ฉลุลายพรรณพฤกษาแบบวิกตอเรียน ที่ยอดจั่วประดับด้วยไม้สาระไน หรือไม้แกะสลักแนวตั้งที่ประดับตรงกลางจั่ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าสร้างขึ้นในภายหลัง เพราะลักษณะทางสถาปัตยกรรมเช่นนี้เป็นคนละยุคกับอาคารเดิม
“เมื่อมีจั่ว ก็มีการเพิ่มลายปูนปั้นประดับหน้าจั่ว เป็นลายพระอาทิตย์ครึ่งดวงเปล่งรัศมีเหนือน้ำ ซึ่งตอนที่ผมมีโอกาสเห็นครั้งแรกก็ไม่แน่ใจว่าเป็นลายอะไร เมื่อลองสืบค้นไปเรื่อย ๆ ก็พบว่าเป็นตราประจำพระองค์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาสุริโยภาส”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาสุริโยภาส (พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์-ต้นราชสกุลสุริยง) ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด และเป็นพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาสุริโยภาสสิ้นพระชนม์ลงเมื่อ พ.ศ. 2462 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่วิหารน้อยกำลังได้รับการบูรณะอยู่พอดี จึงมีการเชิญลายปูนปั้นตราประจำพระองค์มาประดับไว้เมื่อเชิญพระอัฐิมาบรรจุที่วิหารน้อยก็เป็นได้”


หลังจากการบูรณะครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 6 อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ได้มีการบูรณะวิหารน้อยอีก 2 ครั้ง แต่มิได้เป็นการบูรณะที่เปลี่ยนสภาพอาคารไปโดยสิ้นเชิง และแล้วก็มาถึงการบูรณะครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2561
การบูรณะวิหารน้อยครั้งล่าสุด
หลังจากที่ทำการศึกษาข้อมูลเชิงลึกอย่างละเอียด ก็ถึงเวลาลงมืออย่างจริงจัง หลักการสำคัญข้อแรกที่ทีมงานร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือการจัดการปัญหาความชื้น ที่ทำลายอาคารโบราณหลังนี้ให้ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว
“ความชื้นเกิดจากน้ำใต้ดิน เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องรีบแก้ไข เราขุดลงไปเพียงศอกเดียวก็เจอน้ำแล้ว สิ่งแรกที่ทำคือการตัดลดความชื้นด้วยการเจาะรูผนังอิฐลึกเข้าไปประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วเอาไม้แบบกั้นไว้ จากนั้นก็เทคอนกรีตอีพ็อกซี่เรซิ่นเข้าไปแทนที่เนื้ออิฐเดิม ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นแนวป้องกันความชื้นไปรอบอาคาร จากนั้นก็ซ่อมเปลี่ยนอิฐที่ชำรุดด้วยอิฐขนาดเท่าเดิม ลอกปูนซีเมนต์เดิมออกทิ้งทั้งหลัง ใช้ปูนหมักฉาบกลับเข้าไปใหม่ เพราะปูนหมักมีคุณสมบัติที่สามารถช่วยระบายความชื้นได้”


เมื่อซ่อมอาคารให้มีสภาพแข็งแรงขึ้นแล้ว สิ่งที่ทำต่อมาก็คือการซ่อมประตูหน้าต่างทั้งหมด รวมทั้งช่องแสงบรรจุกระจกสี
“ประตูหน้าต่างผุเกือบทั้งหมดจากปัญหาความชื้น จึงต้องเปลี่ยนใหม่ ส่วนวงกบด้านบนและช่องแสงยังอยู่ในสภาพดี จึงรักษาไว้แล้วนำกลับมาใช้ พร้อมกับเสริมความแข็งแกร่งในจุดที่ยึดกับผนังอิฐด้วยการเสริมคอนกรีต และยึดด้วยสลักเกลียว
“การซ่อมกระจกสีในช่องแสงนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ๆ เพราะต้องรื้อกระจกสีที่แตกหักเสียหาย รวมทั้งต้องรื้อแผ่นอะคริลิกสีที่นำมาใช้เปลี่ยนแทนกระจกสีในการซ่อมยุคหลัง ๆ ออกมาให้หมด ซึ่งกระบวนการนี้ต้องผ่าคิ้วไม้เดิมออกทีละช่อง ๆ จากนั้นจึงค่อย ๆ ใส่กระจกสีใหม่ลงไป โดยต้องทำคิ้วไม้ใหม่ทีละช่อง ๆ จนกว่าจะครบทั้งแผ่น ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ช่างไม้ที่มีฝีมือละเอียดประณีตเป็นอย่างมาก”


การเรียงกระจกสีก็เป็นสิ่งที่ท้าทายทีมช่างเป็นอย่างมาก การจะใส่สีอะไรลงไปในแต่ละช่องแสงนั้น ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทีมงานต้องศึกษาแบบแผน (Pattern) การใช้กระจกสีว่าเป็นอย่างไร เพื่อบูรณะให้ได้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด

“หรืออย่างช่องแสงรูปครึ่งวงกลมเหนือประตูใหญ่นั้น ตอนที่มาบูรณะก็พบว่าเป็นเพียงกระจกใสเท่านั้น ซึ่งเราเชื่อว่าช่องแสงรูปครึ่งวงกลมนี้ ในอดีตไม่น่าจะเป็นกระจกใสธรรมดา ๆ แต่ควรเป็นกระจกสีด้วย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องสันนิษฐานรูปแบบกระจกสีขึ้นมาใหม่ เพื่อนำมาใช้กับช่องแสงรูปครึ่งวงกลมนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้กลมกลืนกับช่องแสงชุดอื่น ๆ ที่ประดับอาคารอยู่

“การบูรณะหลังคาก็สำคัญ เพราะอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก ๆ เดิมเป็นหลังคาที่มุงด้วยกระเบื้องซีแพคโมเนียและเป็นโครงหลังคาไม้ ซึ่งสภาพผุชำรุดมาก ความชื้นทำให้มีปลวกเข้ามาทำลายทั้งหมด
“เมื่อประเมินแล้วพบว่าโครงหลังคาหลักมีสภาพไม่แข็งแรง อาจเป็นอันตรายได้ จึงต้องเสริมโครงสร้างหลังคาเสียใหม่ด้วยเหล็ก เพื่อให้แข็งแรงและรับน้ำหนักได้มากขึ้น ระแนงไม้ที่ยังใช้ได้ก็นำกลับมาใช้ ส่วนที่ไม่สามารถใช้ได้ก็เปลี่ยนเป็นระแนงโลหะแทน
“ส่วนกระเบื้องมุงหลังคานั้น กลับมาเลือกใช้กระเบื้องว่าวสีเดิมตามแบบเดิมที่ปรากฏในหลักฐานที่ค้นพบ ส่วนไม้ฉลุนั้นก็ชำรุดมาก จึงนำมาขัด ปรับแต่งให้เรียบร้อย แต่ความที่ไม้ฉลุนั้นบางมาก ๆ จึงจำเป็นต้องเสริมความหนาลงไปบนชิ้นไม้ โดยการลอกลายและฉลุลายบนไม้ใหม่ให้เหมือนต้นแบบ ก่อนนำมาประกบติดกับไม้ฉลุเดิม ไม้ฉลุต้นฉบับจะพลิกกลับไว้ด้านใน เพื่อรักษาของเดิมไว้ให้ดีที่สุด ส่วนไม้ที่ฉลุใหม่แล้วนำมาประกบนั้น จะหันออกด้านนอก ส่วนไม้สาระไนที่ประดับบนยอดหลังคามาแต่เดิมนั้นเสียหายจนไม่สามารถซ่อมได้ จึงผลิตขึ้นใหม่ตามรูปแบบเดิมทุกประการ”
นอกจากอาคารแล้ว สิ่งสำคัญคือการบูรณะภูมิสถาปัตย์โดยรอบ
“การบูรณะครั้งก่อน ๆ มีการถมพื้นที่บริเวณรอบ ๆ วิหารน้อยให้สูงขึ้นจนบันไดหายไปหนึ่งขั้น เราจึงตัดสินใจรื้อแผ่นปูทางเดินออก แล้วขุดปรับดินลงไปให้เท่ากับระดับเดิมสมัยแรกสร้าง เพื่อให้อาคารกลับมามีสัดส่วนใกล้เคียงต้นฉบับ


“ขณะที่สำรวจบริเวณ เรายังพบเสาโคมไฟทำจากเหล็กหล่อ นำเข้าจากอังกฤษมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ผิดตำแหน่ง เราก็ขุดย้ายเสาไฟไปทำความสะอาด ลอกสี ขัดสนิม และทำสีใหม่ พร้อมทั้งสั่งผลิตโคมไฟหัวเสาพร้อมกับแกนเหล็กคอเสา โดยเลียนแบบของเดิมที่ค้นพบได้จากภาพถ่ายเก่า ก่อนนำกลับมาติดตั้งในตำแหน่งที่สร้างความสว่างและสวยงามให้กับพื้นที่

“นอกจากนั้นยังบูรณะอนุสาวรีย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรองค์อรรคยุพา ซึ่งเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมดเช่นกัน และทรงเป็นพระขนิษฐาในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุเพียง 4 เดือนเท่านั้น และเป็นพระราชธิดาพระองค์แรกที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระศพลงหีบและนำมาบรรจุตรงแท่น ก่อนสร้างอนุสาวรีย์ทำด้วยหินอ่อนพระราชทานในภายหลัง

“ส่วนอนุสาวรีย์ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันกับวิหารน้อยคืออนุสาวรีย์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเขจรจิรประดิษฐ์ ซึ่งเป็นพระราชธิดาที่ประสูติแต่ เจ้าจอมมารดาแส (แส โรจนดิศ) อนุสาวรีย์นี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมโกธิกอย่างชัดเจน จากการตรวจสอบแล้วพบว่าชำรุดเพียงเล็กน้อย จึงลอกสีเดิมออก ล้างทำความสะอาด และซ่อมแซมผิวปูนฉาบให้กลับมางดงามดังเดิม”

เมื่อภายนอกมีสภาพสวยงามแล้ว ภายในก็ต้องบูรณะให้กลับมางดงามด้วยเช่นกัน
“สิ่งสำคัญภายในคือพระพุทธรูปยืนทั้ง 5 องค์ รวมทั้งพระพุทธรูปขนาดความสูงเท่าเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ด้วย ทุกองค์ชำรุดมาก ทองหลุดล่อน มีคราบดำ พระเนตรสูญหาย จึงต้องซ่อมแต่งผิวโลหะเดิมให้เรียบร้อย ลงรัก ปิดทองใหม่โดยใช้ทองตีมือสีออกแดงที่เรียกว่า ‘ทองกิมซัว’ บูรณะพระเนตรใหม่โดยใช้เปลือกหอยโข่งทะเลและนิล
“ฐานของพระพุทธรูปก็ชำรุด ต้องนำกระจกเกรียบมาติดใหม่ โดยเลือกใช้กระจกเกรียบที่ทำอย่างโบราณ มีความบาง โดยเป็นฝีมือช่างกระจกเกรียบจากตำบลหนองแก๋ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนกระจังประดับฐานพระก็นำมาถอดพิมพ์จากต้นแบบ แล้วหล่อด้วยตะกั่วขึ้นใหม่ ก่อนนำมาซ่อมแซมจนสมบูรณ์



“อีกสิ่งสำคัญที่บูรณะคือป้ายจารึกพระนามและแท่นที่ประดิษฐานพระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งป้ายเดิมเป็นหินอ่อนมีลายเส้นจำนวนมาก ทำให้ตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนนั้นอ่านได้ไม่ชัด แท่นก็เป็นแท่นปูน จึงต้องออกแบบและทำขึ้นใหม่ โดยนำหินแกรนิตสีดำเรียบมาทำป้ายพระนาม ส่วนป้ายจารึกซ้าย-ขวาและแท่นทำขึ้นใหม่โดยใช้หินอ่อนสีขาว ชนิดไวท์คาราร่า ส่วนที่บรรจุพระอัฐิพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาสุริโยภาสนั้น เดิมเป็นช่องบรรจุพระอัฐิบนผนัง ซึ่งได้รักษาไว้ดังเดิม”

คุณวทัญญูบรรยายถึงขั้นตอนการบูรณะอย่างละเอียด และผมก็ได้พยายามถ่ายทอดออกมาให้ครบถ้วนมากที่สุด ด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจศึกษาในอนาคต
กยิราเจ กยิราเถนํ – จะทำสิ่งไร ควรทำให้จริง
“การบูรณะวิหารน้อย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของเสด็จปู่และบรรพบุรุษทุกพระองค์และทุกท่าน เป็นสิ่งที่ดิฉันปลื้มใจมาก และตั้งใจทำถวายพระองค์ท่านด้วยความกตัญญู” หม่อมราชวงศ์จิยากรกล่าว

ในฐานะที่เป็นพระนัดดา ผมอยากให้คุณหญิงเล่าถึงพระจริยวัตรของเสด็จปู่ให้พวกเราฟังสักหน่อย
“ดิฉันไม่มีโอกาสได้เฝ้าท่าน เพราะตอนที่ดิฉันเกิด ท่านสิ้นพระชนม์ไปนานกว่า 30 ปีแล้ว จึงได้แต่ฟังจากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ ภาพเสด็จปู่ในจินตนาการคือผู้ที่วางพระองค์ง่าย ๆ ใส่กางเกงแพร เสื้อผ้าป่านธรรมดา ๆ อยู่บ้าน เป็นผู้ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา และการสร้างคุณความดี มีเมตตากับคนทุกระดับชั้น ท่านทรงวางพระองค์มัธยัสถ์
“ท่านป้าเริง (หม่อมเจ้าเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดา) ทรงเล่าว่าถ้าลูก ๆ จะทูลขอเสื้อกางเกงใหม่ ท่านก็ให้เอามาใส่ให้ท่านดูก่อนว่าเก่าพอหรือยัง ถ้ายัง ก็ให้ใช้ต่อไป ท่านไม่ได้ประทานสิ่งของให้ลูกง่าย ๆ ลูก ๆ ของท่านต้องตั้งใจเรียนหนังสือ ต้องรู้จักทำงาน รู้จักหาเงิน รู้จักเก็บสะสมไว้เผื่อวันข้างหน้า ความที่ท่านเป็นทหารเรือ ท่านก็จะเสวยง่าย ๆ ข้าว ไข่เจียว ผักลวกจิ้ม ปลาทอด ไม่โปรดอะไรที่หรูหราฟุ่มเฟือย แล้วก็คิดถึงผู้อื่น พยายามช่วยเหลือผู้อื่น
“เมื่อท่านเป็นทหารเรือ ท่านก็ทรงงานอย่างเต็มความสามารถ พัฒนากองทัพเรือให้เจริญก้าวหน้า จนทหารเรือเคารพพระองค์ท่านว่าเป็นพระบิดาของพวกเขา เมื่อมีเหตุให้ต้องทรงออกจากราชการอยู่ช่วงหนึ่ง พระองค์ท่านก็ไม่ได้ปล่อยพระองค์ให้ว่างโดยไม่ทำอะไร แต่ทรงศึกษาเรื่องแพทย์แผนไทยและเรื่องอื่น ๆ อย่างจริงจัง ทรงเป็น ‘หมอพร’ ออกรักษาประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เสด็จออกตรวจประชาชนบริเวณย่านนางเลิ้ง ไปจนเยาวราชและย่านอื่น ๆ ด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ แต่ทรงใช้ยาตำราหลวงตามแบบฉบับแพทย์แผนไทย ทุกวันนี้เวลาครบวันสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับพระองค์ท่าน ชาวบ้านแถวนั้นยังจัดงิ้วถวายอยู่เลย” หม่อมราชวงศ์จิยากรกล่าวด้วยความภูมิใจ
แล้วเวลาคนเรียกขานถึงพระองค์ท่านว่า ‘เสด็จเตี่ย’ คุณหญิงรู้สึกอย่างไร
“ก็รู้สึกภูมิใจนะคะ คำว่าเสด็จเตี่ยสะท้อนความผูกพันใกล้ชิด เหมือนเราเป็นญาติกัน (หัวเราะ) แล้วพระองค์ท่านเองก็วางพระองค์เรียบง่าย ติดดิน ทรงเป็นที่รักและเคารพของชนหมู่มาก
“วิหารน้อยนั้นนอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีสงฆ์ของทายาทเนื่องในวันสำคัญของเสด็จปู่แล้ว เรายังเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาสักการะพระอัฐิในวันอื่น ๆ ด้วย ตามวาระสะดวก เนื่องจากมีผู้เรียกร้องเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยจะประกาศให้ทราบล่วงหน้าผ่าน Facebook ของมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่เราตั้งใจสานต่อพระปณิธานของพระองค์ท่านในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าการทหาร การกีฬา การแพทย์แผนโบราณ ดนตรีไทย ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านสนพระทัยและได้ทรงริเริ่มไว้”
และแล้วก็มาถึงคำถามสุดท้ายที่ผมได้ถามหม่อมราชวงศ์จิยากรว่าพระคุณลักษณะอะไรที่พวกเราควรดำเนินตามพระองค์ท่าน

“ขอให้รักในสิ่งที่ทำ ลงมือทำอย่างเต็มที่ อย่าย่อท้อเมื่อเจออุปสรรค มีมานะอดทน ไม่ว่าผลสำเร็จจะมาเร็วหรือช้า ก็ขอให้มั่นใจแล้วก้าวต่อไปจนสุดทาง เหมือนอย่างที่พระองค์ท่านทรงมีคติพจน์ประจำพระองค์ว่า กยิราเจ กยิราเถนํ หมายความว่า จะทำสิ่งไร ควรทำให้จริง”
เช่นเดียวกับการบูรณะวิหารน้อย สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ครั้งนี้ที่ทุก ๆ ฝ่ายได้ร่วมกัน ‘ทำจริง’ โดยใช้พลังกันอย่างเต็มความรู้ความสามารถ เพื่อบูรณะให้อาคารโบราณหลังนี้กลับมางดงามสมบูรณ์ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง เพื่อจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับอาคารโบราณที่มีคุณค่าอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
ขอขอบพระคุณ
· หม่อมราชวงศ์จิยากร อาภากร เสสะเวช ประธานมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
· คุณวทัญญู เทพหัตถี กรรมการผู้จัดการ บริษัท กุฎาคาร จำกัด สถาปนิกอนุรักษ์ผู้ร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการบูรณะวิหารน้อยครั้งล่าสุด
· ภาพถ่ายบางภาพที่ใช้ประกอบคอลัมน์นี้ ถ่ายโดย คุณสัญชัย ลุงรุ่ง ซึ่งมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้อนุญาตให้นำมาใช้ ผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง
เอกสารอ้างอิง
การบูรณะวิหารน้อย สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เรียบเรียงโดย วทัญญู เทพหัตถี ดำเนินการจัดพิมพ์โดย มูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์