ถนนท่าแพถือเป็นถนนสายสำคัญของเชียงใหม่มาทุกยุคสมัย และสิ่งที่พอจะใช้เป็นเครื่องยืนยันเรื่องนี้ได้คือบรรดาตึกแถวเรียงรายสองฟากฝั่งถนน ซึ่งบันทึกหลักฐานไว้บนรูปโฉมคลาสสิก-โมเดิร์น หรือบ้างบอกเล่าผ่านการใช้ประโยชน์ที่ปรับตัวไปตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ท่ามกลางสายธารความเปลี่ยนแปลง ย่อมมีบางตึกต้องปิดตำนาน หากมีอยู่ไม่น้อยที่ได้รับการต่อลมหายใจอีกครั้ง เช่นเดียวกับ ‘ตึกเวียงรวี’ ที่ผลัดเปลี่ยนกิจการมาจนถึงมือ 5 ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ มะเดี่ยว-อาณัติ แสนโท, โลดีน ดูโบซ์ (Laudine Dubeaux), จิ๊บ-นลินรัตน์ จูฑะเตมีย์, เอิน-สรุดิษ จตุพรพิทักษ์กุล และ ลี่-ชุติทัศน์ เกลื่อนประถม ร่วมกันลงขันความคิด เนรมิตอาคารพาณิชย์อดีตร้านขายยายุคคุณปู่ สู่ ‘Viang La Vie’ คอมมูนิตี้แนวตั้ง รวมธุรกิจที่มุ่งมั่นยกระดับวัฒนธรรมท้องถิ่น สนับสนุนผู้ผลิตในชุมชน และส่งเสริมความยั่งยืน พร้อมพลิกฟื้นตึกเก่าแก่ให้อยู่ร่วมยุคสมัยอย่างมีชีวิตชีวา

Entrance

to Viang La Vie

พูดถึงถนนท่าแพยุคนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘โครงการเวิ้งเหล็กแดง’ แลนด์มาร์กประจำย่านที่รวมกิจการของคนรุ่นใหม่น่าสนใจมากมาย ก่อนนั้นเคยเป็นที่ตั้งของ Akaliko Design Shop ร้านขายสารพัดงานดีไซน์ร่วมสมัยของนักออกแบบและผู้ประกอบการเชียงใหม่ ปลายปีที่ผ่านมาทางร้านเพิ่งย้ายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Viang La Vie ซึ่งอยู่บริเวณต้นถนนท่าแพ ถัดจากทำเลเดิมเพียงแค่ไม่กี่สิบก้าว 

“พอทำร้านตรงเวิ้งเหล็กแดงกับเพื่อนได้สักพัก เราก็รู้สึกว่าอยากขยับขยาย ประจวบกับเห็นตึกเวียงรวีติดป้ายให้เช่าพอดีเลยลองติดต่อไป” มะเดี่ยวเล่าให้ฟังถึงจังหวะและเวลาอันเหมาะเจาะสมความตั้งใจ เขาติดต่อไปทันทีในวันแรกที่ขึ้นป้ายประกาศ พร้อมผุดไอเดียสร้าง Sharing Space

“ตึกมี 3 ชั้น ถ้าให้เช่าทำร้านเดียวคงไม่คุ้มค่า เลยชวนเพื่อนที่มีแนวคิดคล้ายกันมาแชร์พื้นที่ทำธุรกิจร่วมกัน สมัยเปิดร้านที่กรุงเทพฯ ก็ใช้คอนเซปต์ Sharing Space แบ่งพื้นที่ชั้นล่างเป็นร้านกาแฟตอนกลางวัน กลางคืนเป็นบาร์ดนตรีสด และชั้นบนเป็นแกลเลอรี” ไม่เพียงเห็นดีเห็นงามตามคนรัก โลดีนยังสำทับว่าเธอชอบทำธุรกิจลักษณะนี้มาโดยตลอด เพราะมันช่วยสร้างบรรยากาศให้พื้นที่ครึกครื้น 

การจับมือทำธุรกิจแบบ Sharing Space ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในเชียงใหม่เองเราพบเห็นอาคารตามย่านสร้างสรรค์ที่มีการแชร์พื้นที่ประกอบธุรกิจใต้ชายคาเดียวกัน ทั้งคาเฟ่ แกลเลอรี ที่พัก ร้านอาหาร แม้แต่ร้านขายของชำ ทำนองเดียวกันที่ Viang La Vie ก็มีความหลากหลายของธุรกิจเป็นสีสันและความสนุก โดยเฉพาะกับผู้คนที่สนใจวิถีท้องถิ่นและวัฒนธรรมเชียงใหม่ในมิติร่วมสมัย ที่นี่มีให้สัมผัสครบ

“เราว่าไม่ใช่แค่โอกาสในการได้ใช้พื้นที่ย่านเศรษฐกิจที่เหลืออยู่ไม่มากนักให้เป็นประโยชน์ทุกตารางเมตร แต่ยังรู้สึกว่าการสร้าง Sharing Space มีข้อดีตรงที่ลูกค้ามาที่นี่ที่เดียวแล้วได้รับประสบการณ์หลากหลาย ทำให้มีเวลาดื่มด่ำได้นานขึ้นโดยไม่ต้องเดินทางไปหลายจุด” มะเดี่ยวเสริมต่อว่า ภายใน Viang La Vie มีธุรกิจสะท้อนวิถีการกินอยู่และภูมิปัญญาครอบคลุม ทั้งร้านจำหน่ายสินค้าของใช้ ของฝาก ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และบาร์ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจในทิศทางเดียวกัน

นั่นคือความมุ่งมั่นสนับสนุนท้องถิ่นและส่งเสริมแนวคิดเรื่องความยั่งยืน

1st Floor

Design Shop & Coffee Space

อาคารสีเขียวพาสเทลสวยสะดุดตาและบานกระจกที่เผยให้เห็นบรรยากาศโปร่งสบาย เรียงรายด้วยสีสันและรูปทรงนานา เพียงใครนึกสงสัยแล้วผลักบานประตูเข้ามา ก็คงทำใจยากหากกลับออกไปโดยไม่มีอะไรติดไม้ติดมือ

เพราะเกรงว่าจะถูกตกด้วยบรรดาข้าวของเครื่องใช้น่ารัก ๆ และงานศิลปะสนุก ๆ จาก Toot Yung Art Studio ของ Akaliko Design Shop นอกจากสถานะเจ้าของร้านและนักคัดสรรสินค้าตาแหลม มะเดี่ยวและโลดีนยังเป็นนักออกแบบผู้ปลุกปั้น ‘NAAdesign’ แบรนด์ที่ผสมผสานหัตถกรรมจักสาน เซรามิก และไม้สักในท้องถิ่น ให้กลายเป็นของใช้-ของตกแต่งบ้านที่ประณีต เก๋ไก๋ และร่วมสมัย แถมผลงานที่วางละลานตาให้เลือกชมเลือกช้อปยังเคยไปแสดงในงาน Maison&Objet และ Paris Design Week มาแล้ว

“สินค้าของ NAAdesign ไม่ใช้พลาสติก เราใช้วัสดุธรรมชาติและนำงานฝีมือพื้นบ้านเชียงใหม่มาประยุกต์-ออกแบบให้ชิ้นงานร่วมสมัย ไม่ตกยุค เพื่อเป็นของใช้ ของขวัญ หรือของฝากที่มีอายุการใช้งานยาวนาน เพราะเราทำงานบนเป้าหมายความยั่งยืน” โลดีนอธิบายตัวตนแบรนด์อย่างภาคภูมิใจ

ชั้น 1 ยังมี ‘ISSARA COFFEE SPACE’ ร้านกาแฟที่นำเสนอเมล็ดกาแฟคุณภาพทั่วภาคเหนือ ซึ่งพัฒนาร่วมกับเกษตรกร เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ผลิตและส่งมอบกาแฟรสชาติดีแก่ลูกค้า

“เราทำงานร่วมกับ Saenchai Estate, TOKI Organic FARM, Phupha Estate ยังมีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟชุมชนบ้านหนองเต่าและชุมชนบ้านแม่กลางหลวง เราเข้าไปเรียนรู้และร่วมพัฒนากาแฟ ประสานเครือข่ายโครงการที่จะช่วยพัฒนาคนปลูกกาแฟให้มีคุณภาพ จัดเวิร์กช็อปชวนเกษตรกรมาทำความเข้าใจกระบวนการแปรรูปหลังเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธี รวมถึงการชิมทดสอบกาแฟ

“ทุกกิจกรรมของเราไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะเรามองถึงเรื่องความยั่งยืน ต่างคนต่างพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อคนปลูกผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ มองเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมีคุณค่าและต่อยอดสร้างอาชีพได้จริง เราเองก็จะมีกาแฟดี ๆ มาหล่อเลี้ยงธุรกิจและเสิร์ฟให้ลูกค้าได้ดื่มเช่นกัน” เอินเล่าด้วยแววตามุ่งมั่น

กับงานที่ลงลึกและใส่ใจในรายละเอียด ไม่เพียงบ่งบอกถึงความจริงจังตั้งใจ ทว่ายังบอกใบ้ให้เราพอเดาได้ว่าเอินไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการกาแฟเชียงใหม่เสียทีเดียว

“เราเคยเปิดร้านกาแฟอยู่แถวอุทยานหลวงราชพฤกษ์ประมาณ 3 ปี พอพี่มะเดี่ยวชวนจึงตัดสินใจย้ายมา เพราะชอบพื้นที่และโครงสร้างอาคารที่คลาสสิก สำคัญเลยคือทำเลตรงนี้มีนักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ ทำให้เรามีโอกาสนำเสนอศักยภาพของกาแฟบ้านเราให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น” เอินยิ้ม

2nd Floor

Northern Thai Fusion Bistro

สำหรับจิ๊บก็คล้ายกัน ก่อนหน้านั้นเธอเคยทำร้านอาหารอยู่ในหมู่บ้านเดียวกับสองคู่รักนักออกแบบ เธอเกิดเชียงใหม่ ไปโตกรุงเทพฯ แต่ดูเหมือนดีเอ็นเอชาวเหนือยังส่งผ่านมาทางรสสัมผัส จนเธอกลายเป็นหนึ่งคนที่หลงใหลการหยิบจับวัตถุดิบท้องถิ่นและพืชผักเมืองเหนือมารังสรรค์เมนูอาหารแปลกใหม่ ส่วนเรื่องรสมือนั้นนับเป็นเหตุผลประการสำคัญที่ทำให้มะเดี่ยวชักชวนเธอมาเป็นสมาชิก Viang La Vie คนแรก พร้อมเสนอพื้นที่ชั้น 2 ของอาคาร เดิมเป็นส่วนอยู่อาศัย มีพื้นไม้อบอุ่น ครัวโบราณ บรรยากาศกว้างขวางและผ่อนคลาย ให้เธอทำเป็นร้านอาหารสไตล์ฟิวชัน ‘ikaa bistro’

“ikaa อ่านว่า อี๊กะ เป็นภาษาเหนือ หมายถึง แบบนี้สิ” จิ๊บเกริ่นแนะนำร้านด้วยการอธิบายชื่อที่หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นภาษาญี่ปุ่น ก่อนอธิบายอาหารสไตล์ ikaa ให้ฟังต่อว่า “ทุกเมนูของร้านตั้งต้นจากอาหารที่เราชอบกิน แล้วพัฒนารูปแบบใหม่ในสไตล์ประยุกต์ระหว่างอาหารฝรั่งกับอาหารเหนือ เน้นปรุงจากพืชผักพื้นบ้านและวัตถุดิบท้องถิ่นเป็นหลัก อย่างชีสนมแพะหรือหมูรมควันก็ใช้จากผู้ผลิตที่นี่”

ย้ำว่าที่มาถึงแล้วห้ามพลาด คือยำใบชา เมนูแสนอร่อยของชาวไทใหญ่ในรูปแบบซัลซ่า ทานคู่กับนาโชส์ สดชื่นและเรียกน้ำย่อยได้เป็นอย่างดี ส่วนจานหลักแนะนำพิซซ่าปลาเค็มที่ผ่อนรสเค็มโดดของแอนโชวีด้วยปลาเค็มที่คนไทยคุ้นเคย หากใหม่ในวิธีนำมารังสรรค์และไม่น่าเชื่อว่ากลมกล่อมลงตัว หรือข้าวหน้าเนื้อพิคานยาที่เลือกใส่มะแขว่นให้ชูรสโดดเด่น เผ็ดซ่า ใครสายเนื้อบอกเลยว่าคุ้มค่าน่าลอง

Rooftop

Cocktail & Sato Rice Wine Specialty Bar

ถ้าแวะเวียนมาในช่วงพลบ จบมื้ออาหารอิ่มเอมครบถ้วนก็อยากชวนเดินขึ้นมาที่ ‘Enki’ บาร์สาโทสเปเชียลตี้บนดาดฟ้า ถือเป็นอีกแห่งที่ทุกคนจะมีโอกาสชื่นชมเชียงใหม่ในมุมมองสวยพิเศษ เบื้องหน้าเห็นไนท์บาซาร์ ตลาดกลางคืนที่กำลังถูกปลุกให้ครึกครื้น สว่างไสว เป็นสีสันบนท้องถนนท่าแพที่มองเพลินตา หากทอดสายตาออกไปทางขวา นั่นคือทิวทัศน์ดอยสุเทพช่วงตะวันยอแสงโศก สงบและจับใจ

ลี่ เจ้าของบาร์อารมณ์ดีบอกกับเราว่า ด้วยบรรยากาศดีงามเช่นนี้ เขาจึงตั้งใจออกแบบมู้ดแอนด์โทนของร้านให้รับกับความรู้สึกโรแมนติกเล็กน้อยและสบาย ๆ เป็นกันเอง

“แสงไฟสีส้มสลัว บรรยากาศกลางคืน ความโรแมนติก เราชอบมู้ดประมาณนี้ และไม่อยากให้ลูกค้ามาแล้วรู้สึกเกร็ง เลยจัดร้านไม่ให้เป็นบาร์ค็อกเทลจ๋า และไม่อยากแทนตัวเองว่าบาร์ค็อกเทล แต่มองเป็นสตูดิโอหรือแล็บมากกว่า เพราะชอบทดลองเครื่องดื่มใหม่ ๆ และเปลี่ยนเมนูทุกไตรมาส”

เอกลักษณ์เมนูเครื่องดื่มของ Enki คือการใช้สาโทและสุรากลั่นชุมชนเป็นวัตถุดิบชูโรง ส่วนเหตุผลก็มาจากความสนใจในพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของลี่ที่กระโดดข้ามช็อตจากการกินเป็นการดื่ม

“เราสนใจเรื่องข้าวพื้นเมืองมาตลอด แต่แค่ตอนนี้มันทรานฟอร์มมาเป็นรูปแบบขวด”

ลี่หัวเราะร่วนกับเรื่องจริงที่เก็บมายิงเป็นมุกเฉียบขาด พลันเล่าต่อว่าเขาเคยทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ที่ปาย ก่อนทิ้งชีวิตสายชงมาสู่สายอาหาร กระทั่งจับโจทย์เรื่องข้าว วัตถุดิบที่รู้สึกว่าตัวเองรู้จักน้อยยิ่งกว่าขนมปังดี ๆ ทั้งที่มีมากมายและใกล้ตัวกว่า เขาเริ่มออกเดินทางศึกษา กอปรกับเห็นความพยายามในการนำข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองมาพัฒนาเป็นสาโทและสุรากลั่นที่มีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่ง Enki เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตสาโทและสุรากลั่นชุมชน พร้อมมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการถ่ายทอดให้คนรู้จัก และเห็นคุณค่าข้าวไทย ผ่านการครีเอตเมนูค็อกเทล โดยเมนูพิเศษจะปรับเปลี่ยนทุก 3 เดือน ต้องขอบคุณความขี้เบื่อและความช่างคิดของลี่ที่กลายเป็นกำไรให้ลูกค้าได้ลิ้มลองรสชาติใหม่ ๆ อยู่เสมอ 

“พอได้ลงมือทำ เราพบว่าตัวเองหยุดคิดเรื่องวัตถุดิบไม่ได้ แล้วก็ค่อนข้างสนุกกับการสืบค้นข้อมูล เรียนรู้ทั้งด้านประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาออกแบบเมนูเครื่องดื่ม รวมถึงอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจที่ไปที่มาด้วย แล้วอนาคตถ้ามีโอกาส เราก็อยากเปิดคอร์สให้กับคนที่สนใจจริง ๆ พาเขาไปสัมผัสความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวพื้นถิ่นและเรื่องราวของเครื่องดื่มเหล่านี้ตั้งแต่ต้นน้ำ”

ไม่เพียงเท่านั้น โลดีนเสริมว่า ในวันข้างหน้าเธออยากจัดแสดงผลงานศิลปะ Performance Art หรืองาน Video Projection บนชั้นดาดฟ้าแห่งนี้ เพราะสิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นพ้องและมาอยู่รวมกันที่นี่ไม่ใช่แค่การแชร์พื้นที่ หากยังต้องการแชร์พลังความสามารถเพื่อหนุนเสริมซึ่งกัน และสร้างสรรค์ความสนุกสนาน ปลุกชีวิตชีวาให้กับย่านประวัติศาสตร์ที่ยังคงร่องรอยอดีตอันเปี่ยมคุณค่าและมนต์เสน่ห์

Viang La Vie

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

ภูพิงค์ ตันเกษม

ชีวิตผม ชอบการเดินทาง ชอบทำอาหาร และรักการบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย