The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
โอ๊ะมื่อโชเปอ
เราวางแผนทักทาย โทกิ เป็นภาษาปกาเกอะญอ สุดท้ายก็ลืมสนิท เพียงปลายสายรับโทรศัพท์ เราก็เริ่มต้นคุยกันถึงธุรกิจครอบครัวของเขาที่บ้านขุนแม่รวม อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นความตั้งใจของโทกิ ผู้ทำไร่กาแฟและโฮมสเตย์เพื่อพิทักษ์ป่าและรักษาวิถีดั้งเดิม

โทกิ คือลูกหลานชาวปกาเกอะญอที่ปลูกกาแฟมาตั้งแต่รุ่นทวด (ปี 1968) เพราะพวกเขายังรู้จักพืชชนิดนี้ไม่มากพอ ชาวบ้านจึงทำได้เพียงปลูกทิ้งไว้และกลับมาเก็บเกี่ยวเฉพาะเวลาที่มีพ่อค้ามารับซื้อ เรียกว่ายุคนั้นไม่มีใครเคยดื่มกาแฟดี ๆ มีเพียงกาแฟซองเป็นของติดบ้าน จนเวลาล่วงผ่าน ต้นกาแฟที่ถูกปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของป่าและหลอมรวมกับระบบนิเวศในที่สุด

คนรุ่นใหม่ไฟแรงอย่างโทกิเริ่มทำธุรกิจฟาร์มออร์แกนิกมาตั้งแต่ 7 ปีก่อน เขามองเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจกาแฟจึงลองโปรเซสกาแฟเอง และพัฒนากาแฟบ้านขุนแม่รวมจนเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน
นอกจากธุรกิจผักออร์แกนิก TOKI Organic FARM เขายังมีธุรกิจโฮมสเตย์ Yeedora Khunmaeruam โทกิรับรองว่าแขกทุกคนจะได้มาพักในบ้านปกาเกอะญอขนานแท้ ไม่ใช่เพราะเขาออกแบบให้ ‘เหมือน’ แต่เพราะเขาและครอบครัวย้ายไปนอนบ้านไม้ไผ่ พื้นที่เล็ก ๆ เพียง 40 – 50 ตารางเมตร แต่ธรรมชาติรอบตัวและทิวทัศน์หลังบ้านกลับมีคุณค่ามหาศาล และยกบ้านที่เคยอาศัยให้ผู้มาเยือนพักผ่อนท่ามกลางบรรยากาศสงบและอากาศดี ตามวิถีปกาเกอะญอแบบ 100 เปอร์เซ็นต์!

ต่อยอดวิถีพิทักษ์ป่า
นอกจากพื้นที่เล็ก ๆ และไร่กาแฟออร์แกนิก อีกมรดกสำคัญที่ตกทอดมา คือจิตวิญญาณของผู้พิทักษ์ป่าและองค์ความรู้ ซึ่งพิสูจน์ให้คนภายนอกเห็นมานับร้อยปีว่า ‘คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้’
“บรรพบุรุษของผมปลูกกาแฟเพื่อดูแลรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ เหมือนกุศโลบายไม่ให้คนหันไปทำเกษตรเคมี บางครั้งคนต่างถิ่นก็เข้ามาทำเกษตรบนยอดเขา พอมีกาแฟเข้ามา เราเลยเห็นว่ากาแฟอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ดี คนในชุมชนอยู่กับป่า ใช้ประโยชน์จากป่า เก็บกาแฟ และรักษาป่าไปพร้อมกัน”

บ้านขุนแม่รวมมีประชากรเกือบ 200 ครัวเรือน ถือว่ามีขนาดใหญ่ แต่ไม่ใช่ทุกบ้านที่ปลูกกาแฟ ในจำนวนต้นกาแฟทั้งหมด โทกิเล่าว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของทุ่งกาแฟหรือป่ากาแฟ ณ บ้านขุนแม่รวม ล้วนปลูกในพื้นที่ป่า และย้อนกลับไปสมัยคุณทวด ชายชาวปกาเกอะญอผู้สร้างป่าต้นน้ำ สมัยคุณตาคุณยายมีการนำกาแฟมาปลูกให้รุ่นลูกหลานเก็บเกี่ยว จนถึงรุ่นคุณพ่อของโทกิ การเก็บกาแฟขายก็ยังไม่ดำเนินไปในทางธุรกิจ เพราะผลเชอร์รีสีแดงเหล่านี้ห่างไกลจากวิถีชีวิตของคนในชุมชนมาก


“คนปลูกไม่ได้กิน ผมเห็นโอกาสเลยอยากสร้างให้เป็นรายได้หลักของชุมชนและครอบครัว จากทำฟาร์มออร์แกนิกซึ่งมีกาแฟอยู่แล้ว ผมก็เริ่มทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง เรียกว่านำกาแฟมาเชื่อมคนกับการท่องเที่ยวชุมชน ให้คนได้อาบป่า ฟังเสียงธรรมชาติ พาไปดูการใช้ชีวิตในไร่กาแฟจนถึงป่าต้นน้ำ
“ผมอยากให้คนนอกเห็นสิ่งที่เราเป็นและสิ่งที่เราทำ ผมคิดว่ากาแฟบ้านขุนแม่รวมมีศักยภาพไปถึงระดับโลกได้ ผมเลยมองตลาดนอกด้วย โดยโฮมสเตย์จะเป็นส่วนที่มาสนับสนุนจุดประสงค์นี้”
ยีโดะระ
จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงครึ่งก็มาถึง ยีโดะระ (Yeedora) อันเป็นจุดหมาย
หากนั่งรถเหลืองจากตลาดวโรรส (กาดหลวง) มาลงที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อเข้ามายังหมู่บ้าน หนทางในหมู่บ้านยังลำบากบ้าง จึงต้องใช้รถของชาวบ้านมารับอีกที
‘ยีโดะระ’ เป็นภาษาปกาเกอะญอ แปลว่า ไกลแสนไกล
โทกิตั้งชื่อนี้ เพราะอยากให้ทุกคนลองเดินทางไกลเพื่อมาหาความสุขที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน
จุดเริ่มต้นของการเปิดโฮมสเตย์ ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนที่เขาทำฟาร์มออร์แกนิก ปลูกผัก ผลไม้ ข้าว และถั่ว แต่ด้วยความที่อยากให้เพื่อน ๆ แวะเวียนมาหา จึงเปิดบ้านเป็นที่พักเสียเลย


ทิวทัศน์ตึกรามบ้านช่องในเมืองถูกแทนที่ด้วยภูเขา ยีโดะระตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน เป็นบ้านไม้กึ่งปูน 2 ชั้น ข้าวของทุกอย่างเป็นของที่มีอยู่เดิม 99 เปอร์เซ็นต์ แม้แต่ตอนเริ่มทำโฮมสเตย์ โทกิก็ยืนยันไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งใด ยกเว้นต่อระเบียงเพิ่ม เพื่อให้แขกชมวิวนาขั้นบันไดและนั่งผิงไฟยามค่ำคืน
ใคร ๆ ก็บอกว่าไปเถอะ ไปให้ไกลแสนไกลจากความทุกข์ทั้งปวง แล้วมาสงบใจที่ยีโดะระ
เราลองถามตัวเองว่าอะไรคือเหตุผลให้อยากไปพักผ่อนที่บ้านขุนแม่รวม
หนึ่ง ย่อมเป็นเรื่องธรรมชาติและบรรยากาศ ยิ่งใกล้ป่ายิ่งสดชื่น
“บรรยากาศดีมาก ผมชอบฤดูฝนเป็นพิเศษ ฟังเสียงฝน ปลีกวิเวก ร่มรื่น เย็นสบาย”

สอง วิถีชุมชนน่าศึกษา เราคงได้เรียนรู้จากครอบครัวชาวปกาเกอะญอ และรักป่ามากกว่านี้
“เรามีกิจกรรมสอดแทรกเรื่องวิถีชุมชน ป่า และกาแฟด้วย”
สาม อาหารท้องถิ่นที่หากอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ไม่รู้จะต้องไปหาทานที่ไหน
“มีหลายเมนูแนะนำ ข้าวเบ๊อะ ข้าวใหม่จากไร่หมุนเวียนก็อยากให้ลองทาน น้ำพริกย่อวบอก็อยากให้ลองเหมือนกัน วัตถุดิบออร์แกนิก ปลูกเอง เก็บเอง ทำเอง เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล”


สี่ คอกาแฟได้ใกล้ชิดกับคนกาแฟ คงแลกเปลี่ยนความรู้และเรื่องราวสนุก ๆ กันทั้งวันแน่
“ผมมีครบทุกอย่างตามที่แขกจินตนาการไว้ ตื่นเช้ามาดื่มกาแฟ ชมพระอาทิตย์ขึ้น หากต้องการ ผมมีสอนเรื่องการคั่วเบื้องต้น การเลือกซื้อ ชิม ดื่ม ดริปโดยใช้น้ำจากต้นน้ำมาชง หรือกิจกรรมอื่นที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้เข้าพักก็มีให้เลือก ไม่จำเป็นต้องมาเพื่อกาแฟอย่างเดียวก็ได้”

ตอนนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าพักคือคนต่างจังหวัด มีคนเชียงใหม่บ้าง แต่น้อย แขกกลุ่มแรกคือคนที่ไม่ได้ทำงานด้านกาแฟ แต่อยากรู้เรื่องเหล่านี้ อยากกินข้าวในป่า อยากอยู่ในไร่ กลุ่มที่ 2 คือลูกค้าโรงคั่ว บ้างทำร้านอยู่แล้ว และกลุ่มที่ 3 คือช่างภาพ นักเดินทาง นักเดินป่า ไม่ก็วัยรุ่นที่มากับเพื่อน
ปลายสายเล่ากิจวัตรให้เราฟังว่าคนรอบตัวล้วนตื่นตั้งแต่ตี 4 แต่โทกิตื่นสาย บางวัน 7 โมงเพิ่งลุกจากที่นอน ถึงอย่างนั้นเขาก็มักชวนแขกตื่นเช้าพร้อมกัน เพราะการได้เห็นแสงแรกของวันสาดลงบนนาขั้นบันได หมอกขาวจางไปเมื่อดวงอาทิตย์โผล่พ้นซอกเขา คงไม่ใช่ภาพที่จะตื่นมาเจอได้ทุกเช้า เช่นเดียวกับการนอนฟังเสียงชะนีจากป่า และพักกายท่ามกลางพื้นที่ที่มีแต่สีเขียวแห่งความอุดมสมบูรณ์
สำหรับโทกิ กาแฟไม่ใช่แค่ผลผลิตสร้างรายได้ แต่คือโอกาสที่เข้ามาในชุมชน เด็กรุ่นใหม่รู้จักผู้คนหลากหลายอาชีพ ซึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาไปสู่โลกที่กว้างกว่าเดิม สำคัญกว่านั้นคือเมล็ดสีน้ำตาลอันล้ำค่า เปลี่ยนทัศนคติคนในชุมชนให้เห็นว่า สังคมกาแฟไม่ได้วุ่นวาย ไม่ได้ยุ่งยาก ไม่ได้ราคาสูงเสมอไป หากพร้อมรับสิ่งใหม่และเดินหน้าพัฒนาชุมชนไปด้วยกัน โทกิก็ยินดีอยู่ตรงนี้เพื่อสนับสนุน

ดีจังที่มีแกฟา เอ้ย! กาแฟ
ถ้าไปเยือนยีโดะระครั้งแรก หลายคนอาจงงที่ไม่เห็นต้นกาแฟบริเวณโฮมสเตย์ นั่นเพราะมันซ่อนอยู่ในป่าที่ต้องนั่งรถเข้าไปอีก โทกิบอกว่าต้นกาแฟที่ถูกปล่อยให้โตตามธรรมชาติหลายสิบปี ปราศจากสิ่งรบกวนและผู้คน สูงใหญ่กว่าที่เราจินตนาการได้ ต้นกาแฟป่าที่นี่สูงถึง 3 เมตร
“ผมมีไร่เก่าและไร่ใหม่ ไร่เก่าแทบมองไม่ออกว่าต้นไหนคือกาแฟ เพราะสูงพอ ๆ กับต้นไม้ใหญ่ 2 – 3 เมตร ไร่พวกนี้ถูกปลูกทิ้งไว้ ลูกหลานไม่ดูแล เขาอาจหันไปปลูกพืชเมืองหนาวอย่างอื่นแทน แต่ส่วนใหญ่ผมไม่เคยพาใครเข้าไปถึง เพราะอันตราย ส่วนพวกเชอร์รียังใช้ได้ แต่ตอนนี้ยากจะจัดการแล้ว เขาเลยปล่อยเป็นป่ากาแฟไป ผมก็อยู่กันแค่ที่ไร่ใหม่ซึ่งมีการดูแล ตัดแต่งกิ่ง และมีการรักษาอย่างดี”

ชีวิตใน 1 วันของโทกิ ขลุกอยู่กับการเผยแพร่ความรู้ด้านกาแฟและดูแลธุรกิจ เจ้าของกิจการเริ่มวันด้วยการดื่มผลผลิตของตนเองเพื่อชิมรสชาติ วางแผนทำงาน เข้าสวน เก็บเกี่ยว เข้าโรงตาก พบปะชาวบ้านโดยไม่ลืมพกกาแฟไปแบ่งปันและพูดคุยถึงอนาคตที่ต่อยอดจากเมล็ดสีเข้มในไร่ของพวกเขา
“ผมใช้เวลา 3 – 4 ปี เพื่อสอนคนในครอบครัวให้รู้จักสิ่งที่พวกเราทำและสิ่งที่พวกเราปลูกอย่างถ่องแท้ การพัฒนาคนเป็นเรื่องยาก แต่หากพัฒนาได้แล้ว เขาจะไปต่อยอดได้อีกเยอะมาก”
ตอนนี้โทกิเริ่มกระจายความรู้ไปสู่หมู่บ้านข้างเคียงแล้ว พร้อมรวบรวมเมล็ดจาก 2 – 3 หมู่บ้านมาโปรเซสและส่งขาย หากอยากรู้จักกาแฟบ้านขุนแม่รวม ซึมซับวิถีชุมชนปกาเกอะญอ หรืออยากอยู่อย่างสุขกายสุขใจท่ามกลางวิถีดั้งเดิมและอากาศดี ๆ โฮมสเตย์และครอบครัวของโทกิยินดีต้อนรับเสมอ
“เอาจริง ๆ ถ้าคุณเป็นสายกาแฟ ไม่มาโทกิฟาร์ม ผมถือว่ายังมาไม่ถึงไร่กาแฟนะ
“เพราะเราครบเครื่องทั้งเรื่องคน กาแฟ และป่า” เขาหัวเราะปิดท้าย


TOKI Organic FARM และ Yeedora
‘Amazing Northern Lifestyle’ เป็นโปรเจกต์สนุก ๆ ที่ Thailand Coffee Fest ร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้ทุกคนออกเดินทางในภาคเหนือ โดยใช้กาแฟและเพื่อน ๆ กาแฟ ทั้งเบเกอรี่ ชา ช็อกโกแลต เป็นสื่อกลางในการเล่าเรื่อง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและสนับสนุนผู้ประกอบการ
พวกเราอยากชวนไป Coff & Hopp ผจญภัยสำรวจคาเฟ่และร้านกาแฟพิเศษ 69 ร้าน ในภาคเหนือ เพื่อรับสติกเกอร์ที่ออกแบบโดยศิลปินชาวเหนืออย่าง mig.mig, Nutkai และ Nuea Jackkrit
พิเศษ! นักเดินทางที่สะสมสติกเกอร์ครบ 3 ลาย แลกรับเสื้อ Limited Edition ลายพิเศษที่ออกแบบโดย mig.mig, Nutkai และ Nuea Jackkrit ได้ที่บูท Coffee Camp Zone ภายในงาน Thailand Coffee Fest Year End 2023 ตั้งแต่วันที่ 14-17 ธันวาคม พ.ศ. 2566 นี้ (จำกัด 100 ตัวต่อวัน)
*รับสติกเกอร์สุดน่ารักจาก 3 ศิลปินรุ่นใหม่ ได้ตั้งแต่วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
