เมื่อ 6 ปีก่อน เราชวนคนอ่านทำความรู้จักกระจูดวรรณีผ่าน กระจูดวรรณีโฮมสเตย์ 

ณ วันนี้ นัท-มนัทพงศ์ เซ่งฮวด บอกเราว่าสถานที่แห่งนี้คือ ‘VARNI Craftstay’ คราฟต์สเตย์ครบวงจร เป็นโฮมสเตย์ที่เล่าความเป็นของพัทลุงและภูมิปัญญาสานกระจูดที่สืบทอดกันมาอย่างเห็นภาพ จับต้องได้

‘กระจูด’ วัชพืชที่พบมากในจังหวัดพัทลุง เพราะภูมิศาสตร์ของภาคใต้ที่มีป่าพรุเยอะ ชาวบ้านทำอาชีพประมงและเกษตรกรรมเป็นหลัก เช้าหาปลา สายกรีดยาง บ่ายสานกระจูด ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ทำกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สืบทอดมาเป็นร้อย ๆ ปี

กระจูดยังเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและความเชื่อมาตั้งแต่โบราณ มีการใช้ในงานแต่งงาน พิธีไหว้ครู การแสดงมโนราห์ ทั้งยังเป็นภาชนะเพื่อใส่ข้าวสารและใส่สิ่งของไปประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ

นัทเติบโตและเห็นภาพวัฒนธรรม-ภูมิปัญญานี้มาตั้งแต่เด็ก เขาอยากพัฒนาของที่มีในบ้านเกิดซึ่งดีอยู่แล้วให้ดีขึ้น ดีขึ้น และดีขึ้นไปอีก เหมือนที่กระจูดวรรณีเริ่มต้น และเติบโตมาเป็น VARNI Craftstay จวบจนปัจจุบัน

‘คราฟต์สเตย์ครบวงจร’ ที่นัทว่า คือการพาไปเรียนรู้กระบวนการทั้งหมดของกระจูด ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การสาน การปักลาย การเพนต์ รวมไปถึงศาสตร์อื่น ๆ อย่างการทอผ้าขาวม้าด้วย

“เราอยากให้คนที่มาเที่ยวได้เห็นวิถีชุมชน ได้เห็นว่าเราทำงานกับชาวบ้านอย่างไร” 

นั่นคือเหตุผลที่นัทจุดประกายให้คุณแม่ทำโฮมสเตย์ แทนที่จะเปิดเพียงโชว์รูมสินค้า

“ออกเรือล่องทะเลน้อย ดูแสงแรก ดูบัว ดูนก ดูควายน้ำ เก็บกระจูด กินมื้อเช้า ท่องโลกคราฟต์กระจูด จบวันด้วยแสงสุดท้าย” ถ้ามาที่นี่ต้องแวะมาทำความรู้จักกับกระจูด กระจูด และกระจูด

หลังจากนัทเข้ามาดูแลแบรนด์กระจูดวรรณีของครอบครัว ก็มีวิสาหกิจชุมชนที่ทำงานร่วมกันเพิ่มขึ้นกว่า 250 ครัวเรือน เริ่มจากวิสาหกิจวรรณี ขยายไปยังวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกเมา (พัทลุง) วิสาหกิจครัวนางหลวง และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มชะอวดบ้านยวนนก (นครศรีธรรมราช) ซึ่งสมาชิกมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ นั่นเป็นเพราะบ้านแรกเริ่มทำให้เห็นเป็นโมเดล จากนั้นก็มีบ้านที่ 2 บ้านที่ 3 ตามมา 

สิ่งที่น่าดีใจคือมีสมาชิกที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้น ทำให้พวกเขาได้อยู่ใกล้ชิดครอบครัว มีเงินเดือนเลี้ยงชีพโดยไม่ต้องทำงานไกลบ้าน นัทตั้งใจให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น เพราะอยากขยายโอกาสอาชีพให้กับชาวบ้าน และ VARNI ยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กลับมาช่วยชุมชน ต่อยอดภูมิปัญญาบ้านเกิด

นอกจากส่งเสริมอาชีพ นัทยังส่งเสริมการปลูกกระจูดในที่ดินว่างเปล่าของชาวบ้าน เพราะแต่ละบ้านมีพื้นที่บางส่วนที่ทำสวนทำไร่ไม่ได้จากปัญหาน้ำท่วมขังตลอดปี ถ้านำพื้นที่มาปลูกกระจูด ก็จะเพิ่มประโยชน์ให้ที่ดิน เพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน เนื่องจากกระจูดขายได้ทั้งปี และอีกเหตุผลที่สำคัญคือเพื่อป้องกันไฟป่า การบุกรุกพื้นที่ป่า และลดการทำลายระบบนิเวศจากการเข้าไปในป่าพรุ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจ เพราะ 2 ปีนับจากวันที่เริ่ม ข่าวไฟไหม้และการบุกรุกพื้นที่ป่าเริ่มลดลงและค่อย ๆ หายไป 

ภาพฝันที่นัทอยากเห็น คือมีโฮมสเตย์เกิดขึ้นหลายบ้าน ๆ ในชุมชน เพราะถ้าทำชุมชนให้แข็งแรง ก็จะสร้างภาพจำใหม่ให้คนนอกพื้นที่ได้ ให้เขาเห็นว่าภูมิปัญญาของเราแข็งแรง มีคุณค่า และมูลค่า

“ถ้าเราทำจุดเดียว มันไม่เกิดการกระจายรายได้เป็นวงกว้าง เราอยากให้เขามีรายได้มากขึ้นนอกจากสานกระจูด ซึ่งการจะกระจายรายได้ให้มากขึ้นต้องทำชุมชนให้เป็นหมุดหมายด้วย”

ความตั้งใจของนัท คือเขาอยากให้เจ้าของบ้านเป็นเจ้าบ้านเอง ให้แต่ละบ้านเปิดรับนักท่องเที่ยวเองได้ รองรับการท่องเที่ยวชุมชนได้ รายได้จะได้กระจายไปสู่ชุมชนและเกิดการหมุนเวียน

“ถ้าชาวบ้านเปิดบ้านเองและต้อนรับนักท่องเที่ยวผ่านกระจูดวรรณี ทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน เห็นคุณค่าของหัตถกรรมว่าแต่ละบ้านทำอะไรบ้าง บ้านนี้ปลูกกระจูด สานกระจูด ย้อมกระจูด แต่ละบ้านไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่ว่านักท่องเที่ยวอยากเรียนรู้ขั้นตอนไหน”

‘มานอน 3 วัน 3 บ้าน เช้าไปปลูกกระจูดบ้านนี้ วันรุ่งขึ้นไปเรียนสานกับบ้านนั้น อีกวันไปเรียนย้อมที่บ้านนู้น’ แค่นัทเล่าให้เราฟังคร่าว ๆ ก็อยากเก็บกระเป๋าตอนนี้ ไปพัทลุงขึ้นมาทันที

VARNI Craftstay ไม่เพียงมอบประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยว แต่ยังมอบบทเรียนให้นัท

“เราเรียนรู้ว่าความร่วมมือสำคัญ ถ้าทำคนเดียวแต่ขาดความร่วมมือจากลูกบ้าน สิ่งนี้จะไม่เกิด ชาวบ้านต้องเปิดใจรับข้อมูลด้วย เช่น การเปิดสถานที่ท่องเที่ยว ถ้าชาวบ้านไม่เปิดรับก็พานักท่องเที่ยวไปไม่ได้ มันต้องดำเนินไปทั้ง 2 ฝ่าย” นัทรู้สึกเช่นเดียวกับชาวบ้าน เรื่องความผูกพันระหว่างวิถีชีวิตกับภูมิปัญญา เขาจึงไม่เปลี่ยนอาชีพของชาวบ้าน แต่ช่วยปรับทักษะฝีมือให้ประณีตและร่วมสมัย

“เราเข้าไปช่วยเรื่องดีไซน์ เพิ่มลวดลาย ลดความฉูดฉาด ปรับรูปทรง สิ่งนี้ไม่ยากจากเดิม แต่ถ้าเราไปเปลี่ยนเขา จากทอเสื่อกระจูดไปทอผ้า เขาทำไม่ได้ และเราจึงอยากรักษาภูมิปัญญานี้ไว้ด้วย”

นัทจะดูก่อนว่าแต่ละบ้านทำอะไรอยู่บ้าง เพราะแต่ละบ้านความถนัดไม่เหมือนกัน แล้วจึงแยกย่อยว่า บ้านหนึ่งทำอะไร บ้านสองทำอะไร จากนั้นกระจายความถนัดสู่แต่ละบ้าน ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คืองานมีคุณภาพมากขึ้น มากกว่าให้บ้านเดียวรับผิดชอบตั้งแต่กระบวนการแรกถึงกระบวนการสุดท้าย

“ถ้าแบรนด์มีเอกลักษณ์ ก็สร้างจุดขายและสร้างอัตลักษณ์ให้ตัวเองได้” นี่คือสิ่งที่นัทให้ความสำคัญ เพราะเขาเห็นปัญหาเรื่องงานคราฟต์ถูกกดราคา บางชิ้นขายถูกกว่ามูลค่าที่ควรได้รับ

“เราว่าการก๊อบปี้ การตัดราคาสินค้า ทำให้ยกระดับราคาสินค้าขึ้นมาไม่ได้ ถ้าเจ้าหนึ่งขายตัดราคาอีกเจ้า ลูกค้าอาจมองว่า อ้าว ก็ทำให้ถูกได้นี่นา ลูกค้าจะเข้าใจคุณค่างานคราฟต์ผิดไป” ฉะนั้น นัทมองว่า ถ้าผู้ประกอบการและดีไซเนอร์ยกระดับงานตัวเอง จะลดปัญหานี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย

นัทบอกว่างานคราฟต์เป็นงานทำมือจากหัวใจ AI หรือเทคโนโลยียากจะทดแทนได้ 

“ต่อให้เครื่องจักรสร้างชิ้นงานได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปคือคุณค่าทางจิตใจ มนุษย์ย่อมมีจิตใจใฝ่ฝันถึงสุนทรียศาสตร์ ความงาม ศิลปะ และความรู้สึกเหล่านั้นส่งผ่านตัวงาน ซึ่งผู้รับสัมผัสได้”

ทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด ล้วนมีสิ่งที่บ่งบอกรากเหง้าและตัวตน การกลับมาอยู่บ้าน กลับมาสร้างอาชีพ จะทำได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามีหนทางรองรับ นัทจึงอยากแบ่งปันแนวทางในฐานะ ‘คนกลับบ้าน’

“ลองกลับไปมองสิ่งรอบตัว บ้านเรามีจุดเด่นอะไร ถ้าไม่มีงานคราฟต์ มีอย่างอื่นมั้ย เช่น การท่องเที่ยว อาหาร แล้วชุมชนพร้อมจะทำอะไร ลองคุยกันก่อน อะไรที่เขาทำได้ดีอยู่แล้ว เราก็ต่อยอดตรงนั้น เราเริ่มจากไม่กี่สิบบ้าน ทำตัวอย่างให้เขาเห็น คนอื่นจะเข้ามาเอง อย่าคิดว่าเราต้องทำงานใหญ่ทีเดียว แสดงฝีมือเราก่อน คุยกับคนที่เขาเข้าใจก่อน ลองชวนมาทำด้วยกัน และสิ่งสำคัญคือ ‘ต้องลองลงมือทำ’ ”

นัทแบ่งปันประสบการณ์จากสิ่งที่เขาทำเมื่อ 6 ปีก่อน เขาเชื่ออย่างไร วันนี้ก็ยังเชื่อเช่นนั้น

แต่สิ่งที่แตกต่างออกไป คือผลของความคาดหวังที่ใหญ่เกินหวัง

“ภาพวันนี้ไปไกลกว่าที่เราคิดมาก ไกลกว่าภาพวันแรก เราจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่านี่คือบ้านของเรา เพราะลูกค้าให้ผลตอบรับดี และยังคงสนับสนุนหัตถกรรมของกระจูดวรรณีอย่างต่อเนื่อง” 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เองที่เปลี่ยนแปลง VARNI และชีวิตของชาวพัทลุงให้ดีขึ้น

Facebook : VARNI Craftstay

Writer

Avatar

ปิยฉัตร เมนาคม

หัดเขียนจากบันทึกหน้าที่ 21/365 เพิ่งค้นพบว่า สลัดผักก็อร่อย หลงใหลงานคราฟต์เป็นชีวิต ของมือสองหล่อเลี้ยงจิตใจ ขอจบวันง่าย ๆ แค่ได้มองพระอาทิตย์ตกจนท้องฟ้าเปลี่ยนสี วันนั้นก็คอมพลีทแล้ว