“เคยมีคนอีสานเล่าให้ครูฟังว่า ปีไหนฝนจะดีหรือแล้ง ให้ดูจากดอกของหญ้างวงช้างในนาว่ามันม้วนสวยหรือยืดเหยียด แถมนาแปลงไหนที่มีหญ้างวงช้างเกิดเยอะ ก็จะให้ผลผลิตดีกว่านาที่มีหญ้าชนิดนี้เกิดน้อย เราได้ยินแบบนั้นก็บอกเขาว่า อย่างนั้นปีนี้มาทดลองกัน โดยให้เขาปลูกข้าวบนแปลงนาที่มีต้นหญ้างวงช้างเกิดพร้อมกับแปลงที่ไม่มี แบบไม่ต้องใส่ปุ๋ยอะไรเลย ปรากฏว่าพอถึงฤดูเก็บเกี่ยว นาแปลงที่มีหญ้างวงช้างให้ผลผลิตข้าวมากกว่าเป็นเท่าตัวจริง ๆ สะท้อนให้เห็นว่าภูมิปัญญาของชาวอีสานนั้นใช้ได้จริง ถ้าหากมีการทดลองเก็บผลเชิงสถิติ และนำมาวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เพื่ออธิบายได้ ก็จะช่วยให้เกิดการยอมรับมากขึ้น และภูมิปัญญาเหล่านั้นก็จะไม่สูญหายไป” 

นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ อาจารย์ ดร.อุษา กลิ่นหอม หยิบยกมาเล่า เพื่อยืนยันกับเราว่าภูมิปัญญาด้านการเกษตรของอีสานที่บรรพบุรุษแห่งดินแดนที่ราบสูงสั่งสมไว้ก่อนส่งต่อให้ลูกหลานนั้นใช้ได้จริง ไม่ใช่ได้มาแบบมั่ว ๆ 

กว่า 40 ปีที่อาจารย์ใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นดินอีสาน เพื่อเก็บรวบรวมภูมิปัญญาพื้นบ้าน แล้วนำมาค้นคว้าหาคำตอบผ่านกระบวนการทดลองเพื่อให้เห็นผลเชิงประจักษ์ หรือใช้หลักวิทยาศาสตร์มาอธิบายภูมิปัญญาเหล่านั้น เพื่อหวังใจจะต่อชีวิตของภูมิปัญญาที่ถูกทอดทิ้งไป 

ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วง การสื่อสารของธรรมชาติต่อมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะข้อมูลจากธรรมชาติพยากรณ์ ความเป็นไปของดินฟ้าอากาศในถิ่นที่เกิด หากมนุษย์รู้จักสังเกตและทำความเข้าใจ จะช่วยให้เรียนรู้และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติที่เปลี่ยนไปได้อย่างสอดคล้อง

 จังหวะเหมาะเจาะพอดีที่เดือนนี้อาจารย์อุษามีแพลนเดินทางจากกรุงเทพฯ มาเยือนที่นาของลูกชายซึ่งซื้อไว้ ณ หมู่บ้านหนองนางขวัญ ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น The Cloud จึงมีโอกาสร่วมเดินย่ำลงบนผืนนาอีสานในฤดูแล้งและป่าชุมชนกับนักวิชาการผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาอีสาน ซึ่งทุกเรื่องราวต่อจากนี้ที่จะเรียบเรียงมาฝากคุณผู้อ่าน เล่าขานผ่านกระบวนการคิดเชิงบูรณาการของท่านอย่างเข้าใจง่ายและน่าทึ่ง ว่าแล้วก็ขอชวนคุณไปย่ำนาเดินป่าเก็บหาข้อมูลจากธรรมชาติและเรียนรู้ภูมิปัญญาอีสานไปพร้อมกันเลย

ระบบการศึกษาไม่ได้เอื้อให้ภูมิปัญญาพื้นถิ่นไปต่อได้

ท่ามกลางอุณหภูมิร้อนระอุของเดือนเมษายน ในปีที่ประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจารย์อุษาพาเราเดินลงแปลงนา เพื่อสังเกตพืชพรรณเล็ก ๆ หลายชนิดว่าพวกเขากำลังจะสื่อสารอะไรบ้าง 

ปัจจุบัน อาจารย์ ดร.อุษา กลิ่นหอม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสุขภาพวิถีไท แต่ก่อนหน้านั้นท่านเริ่มต้นงานสอนในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่นำท่านไปสู่การเก็บรวบรวมภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของคนอีสานเอาไว้ เพื่อนำไปพิสูจน์และศึกษาหาความกระจ่างว่าภูมิปัญญาเหล่านั้นนำมาใช้ได้จริง ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญและวิกฤตเสี่ยงสูญหายของภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพราะระบบการศึกษาของไทยไม่ได้ให้ความสำคัญ

“เราเป็นคนภาคกลาง ไปบรรจุทำงานอยู่ภาคอีสาน เลยต้องเรียนรู้เกี่ยวกับอีสานให้หนักหน่วง ตลอด 40 ปีที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงเรียนรู้กับภูมิปัญญาอีสานอย่างมากและพยายามเข้าใจคนอีสานให้เยอะขึ้น เพราะตัวเองอยู่ในพื้นที่และทำงานเกี่ยวกับเรื่องชีววิทยา แต่ไม่รู้จักต้นไม้อีสานสักต้น ทุกอย่างที่สอนเด็กมาจาก Textbook ทั้งหมด 

“พอเข้าไปสัมผัสถึงได้รู้ว่า โอ้โห คนอีสานนี่ละเอียดลออมากนะคะ เขาเก็บรายละเอียดของสิ่งแวดล้อมทุกเม็ดเพื่อนำมาใช้ดำรงชีวิตได้ทั้งหมด น่าเสียดายที่ระบบการศึกษาบ้านเราไม่เอื้ออำนวย เพราะคนที่กำหนดนโยบายกำหนดหลักสูตรไม่ได้รู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น เลยไม่นำเอาตรงนี้เข้าไปผนวกกับการศึกษา  

“ช่วง พ.ศ. 2552 มีการปฏิรูประบบการศึกษาใหม่ว่าจะให้เกิดการเรียนเกี่ยวกับท้องถิ่น 70 เปอร์เซ็นต์ และจากส่วนกลาง 30 เปอร์เซ็นต์ ปรากฏว่าล้มเหลว เพราะอะไร เพราะว่าครูในพื้นที่ก็ไม่รู้อะไรแล้ว ไม่รู้ว่าท้องถิ่นของตนมีอะไรอยู่ในมือ ครูเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้ขวนขวายศึกษาองค์ความรู้พวกนี้ รอแต่ส่วนกลางให้ส่งแผนการเรียนการสอนมาแล้วก็สอนเฉพาะสิ่งนั้น อีกอย่างคือเราดันมีระบบวัดการประเมินประสิทธิภาพของเด็กแบบส่วนกลาง เพราะฉะนั้น 70 เปอร์เซ็นต์ที่เรียนรู้จากท้องถิ่นก็ไม่ถูกนำไปใช้ประเมิน ภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงสูญหายและสึกกร่อนไป”

อาจารย์อุษาสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อระบบการศึกษาไทยซึ่งไม่เอื้อให้ภูมิปัญญาพื้นถิ่นอันทรงคุณค่าจะดำรงอยู่ได้ จึงเป็นเหตุผลให้ท่านเลือกพาตัวท่านเองและนักศึกษาลงพื้นที่จริง ไปพูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้านและผู้คน ศึกษาธรรมชาติตามระบบนิเวศของอีสาน เพื่อเรียนรู้ เก็บรวบรวมข้อมูล ความรู้ และภูมิปัญญาอีสานเอาไว้ไม่ให้สูญหายไป

สังคมอีสานเข้มแข็งจากผู้คนและปราชญ์ทั้ง 13  

มีแนวคิดหนึ่งของคนอีสานเกี่ยวกับการวัดความเข้มแข็งของชุมชนที่อาจารย์อุษาฟังแล้วรู้สึกสะกิดใจ ว่าคนอีสานให้ความสำคัญของผู้คนเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากนโยบายของรัฐ

“สิ่งที่จุดประกายเรา คือเมื่อได้ลงไปศึกษาภูมิปัญญาเหล่านั้น ยิ่งทำให้เราสงสัยว่า ทำไมชาวบ้านถึงรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาเหล่านั้น เพราะเขาไม่ได้เรียนมา ไม่ได้เรียนปริญญาเอก ปริญญาโท ไม่ได้เรียนคณิตศาสตร์เชิงอะไรต่อมิอะไรเลย แต่ทำไมเขารู้ ในช่วงนั้นเราพยายามพานิสิตนักศึกษาลงพื้นที่เพื่อศึกษาให้มากที่สุด ไปดูระบบนิเวศของภาคอีสาน และศึกษาเรื่องภูมิปัญญาว่ามันจะมาเชื่อมโยงกันได้อย่างไรบ้าง หวังใจว่าลูกศิษย์ของตัวเองจะได้ขยายความรู้นี้ต่อไป 

“ตอนไปเก็บข้อมูลที่จังหวัดอุบลฯ ครูไปคลิกสิ่งที่พ่อใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า จริง ๆ แล้วคนอีสานไม่ได้วัดความเข้มแข็งของชุมชนด้วยตัวเงิน อย่างที่ จปฐ. (ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน) ระบุว่า ประชาชนจะต้องมีเงิน 20,000 บาทขึ้นไปต่อคนต่อปี จึงจะถือว่าพ้นขีดคนจน แต่ในอดีตเขาวัดความเข้มแข็งของชุมชนว่าในหมู่บ้านมีปราชญ์ครบ 13 คนไหม ถ้ามีปราชญ์ 13 คนนี้อยู่ รับรองว่าหมู่บ้านนั้นจะเข้มแข็ง ไปรอด ต่อสู้กับโลกภายนอกได้แน่นอน 

“คำบอกเล่านี้ทำให้เรากลับมานั่งคิดว่า คนอีสานมีความคิดที่ไม่เหมือนกับภาครัฐ ภาครัฐนี่คิดเป็นเรื่องตัวเงิน แต่พวกเขาคิดถึงคนที่จะอยู่ในชุมชน เราเลยหาทางถ่ายทอดภูมิปัญญาเหล่านี้ออกมา เห็นอะไรก็ปะติดปะต่อ นู่นนิดนี่หน่อย พยายามจะนำมาผสมผสานกัน”

อาจารย์อุษาขยายความถึงปราชญ์ทั้ง 13 คน ให้เราเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ได้แก่ ‘เจ้าโคตร’ หมายถึง ผู้ใหญ่ที่เคารพของคนในชุมชน มีหน้าที่ตัดสินคดีความต่าง ๆ เพื่อหาข้อยุติ ‘เฒ่าจ้ำ’ หมายถึง ผู้ดูแลศาลปู่ตาที่ชาวบ้านเคารพกราบไหว้ ทำหน้าที่สื่อสารทางจิตวิญญาณ หากมีการกระทำใดที่ผิดต่อกรอบกำหนดของสังคมนั้น อาจเป็นที่ไม่พอใจของผีปู่ตาที่ปกปักรักษาชุมชน ต้องปรับแก้ทั้งในเชิงพฤติกรรมและพิธีกรรม ‘ญาคู’ หมายถึง พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่รวมใจและศรัทธาของชุมชน ถัดจากนั้นก็มี ‘หมอยา’ ‘หมอสูด’ (หมอทำขวัญเพื่อเรียกขวัญกลับสู่ร่างกาย เป็นจิตวิทยาเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ) ‘หมอมอ’ (หมอดูผู้ใช้โหราศาสตร์ทำนาย ดูฤกษ์ยามพิธีกรรมต่าง ๆ) ‘หมอลำ’ ‘หมอป่า’ ‘หมอนา’ ‘หมอทอ’ (ผู้เชี่ยวชาญด้านหัตถกรรมการทอผ้า) ‘หมอจักสาน’ ‘หมออาหาร’ และสุดท้าย คือ ‘หมอตำแย’ หากชุมชนไหนมีปราชญ์ครบทั้ง 13 คน จะเป็นเครื่องสะท้อนว่าชุมชนนั้นมีความเข้มแข็ง

ปฏิทินตกกล้าดำนา จากลมพัดธงกฐิน 

ด้วยทัศนะของอาจารย์ ท่านมองว่าอีสานเป็นสังคมเกษตรกรรมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงนำไปสู่ข้อสงสัยในมุมของคนนอกว่า อย่างนั้นทำไมคนอีสานถึงไม่มีปฏิทินเพาะปลูกที่ชัดเจน และอาจารย์ก็ได้รับคำตอบที่น่าทึ่งจากคนอีสานที่ยังคงเก็บภูมิปัญญานี้เอาไว้

“สังคมคนอีสานยังเป็นสังคมเกษตร ขณะที่ภาคกลางเป็นสังคมค้าขาย เพราะเมื่อก่อนภาคกลางมีระบอบกษัตริย์ ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการค้าขายกับต่างประเทศ อะไรเป็นสินค้าที่จะเอามาได้ เขาก็จะไปให้ประชาชนรวบรวมมา โดยเฉพาะจากภาคอีสาน เมื่อก่อนมีสินค้าอยู่เยอะมาก ทั้งเร่ว ไม้หอม ไม้อะไรต่าง ๆ ทีนี้เราก็เลยมาตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นสังคมเกษตร ทำไม่ไม่มีใครออกมากำหนดปฏิทินการเกษตรว่าปีหนึ่ง ๆ จะเพาะปลูกอะไรเมื่อไรให้ชัดเจน ชาวบ้านเขาตอบกลับเราว่าเขารู้ แต่คนข้างนอกต่างหากที่ไม่รู้! 

“เราก็เลยถามว่า แล้วรู้ได้อย่างไร เขาก็บอกว่า ช่วงเดือน 10 ตอนออกพรรษา จะต้องเอากฐินไปทอดตามวัด แล้วเขาก็ถามกลับมากว่า อาจารย์รู้ไหมว่าไอ้ธง 4 ผืนที่จะต้องจัดอยู่ในขบวนกฐินมีความหมายว่ายังไง อย่างเช่น ธงจระเข้ ธงเต่า ธงตะขาบ ธงนางมัจฉา เราก็ตอบไปว่ารู้ อ่านเอาจากอินเทอร์เน็ต มันแปลว่ากิเลสต่าง ๆ ทั้งความโลภ ความไม่มีสติ ชาวบ้านเขาตอบกลับมาว่า แท้จริงแล้วมีสัญลักษณ์และภูมิปัญญาบางอย่างซ่อนอยู่

“ชาวบ้านเล่าให้เราฟังว่า สมัยก่อนการดูฤกษ์ว่าจะเคลื่อนขบวนกฐินตอนไหนต้องดูว่ากลุ่มดาวจระเข้ขึ้นหรือยัง ในตอนเช้ามืด ถ้าขึ้นแล้วก็ตอนนั้นแหละที่จะเคลื่อนขบวนกฐิน แต่สมัยนี้มันฟ้าวหลาย (รีบมาก) เลยเอาธงจระเข้นำขบวนกฐินแทนเป็นสัญลักษณ์ 

“เนี่ย มันเป็นสัญลักษณ์เห็นไหมคะ กระบวนการคิดของชาวบ้านดูเหมือนไม่มีอะไร แต่จริง ๆ แล้วซับซ้อนและอธิบายอะไรได้หมด เพียงแต่เราไม่ได้ฟังคำอธิบายตรงนั้นเลยไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ธงจระเข้นี้มีความหมายมาก เพราะพอไปถึงวัด หากวัดไหนมีธงจระเข้ปักแล้วก็แสดงว่ามีการจองทอดกฐินแล้ว พอทอดกฐินเสร็จ ชาวบ้านก็จะนำเอาธงเต่ามาปักที่วัด เพื่อแสดงว่าวัดนั้นได้รับกองกฐินเรียบร้อยแล้ว 

“ทีนี้เรื่องธงที่ว่า มันมาเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาการทำนายฟ้าฝนได้อีก เมื่อถวายผ้าพระกฐินเสร็จเรียบร้อย จะมีผู้รู้เอาธงไปแขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่ แล้วก็ไปผูกไว้ที่หอฉัน มี 1 ใน 13 ปราชญ์ประจำหมู่บ้านที่เป็นนักเล่านิทานให้เด็ก ๆ ในชุมชนฟัง (อาจเป็นเฒ่าจ้ำ หมอลำ หมอนา หมอป่า ท่านใดท่านหนึ่ง) จะรับหน้าที่คอยดูธงกฐินว่า ในเดือน 11 และ 12 ตามปฏิทินจันทรคติ วันไหนที่ลมพัดชายธงแรงจนปลิวทำมุมเกิน 45 องศา เขาก็จะจดบันทึกไว้ เพราะว่าวันที่นั้นแหละคือวันตกกล้าและวันดำนาในปีถัดไป 

“กล่าวคือ ให้ดูว่าถ้าลมพัดแรงในวันไหนในเดือน 11 ฝนจะตกในวันนั้นของเดือน 5 ในปีถัดไป ซึ่งก็คือวันที่ต้องไปตกกล้า แล้วถ้าลมพัดแรงในวันไหนของเดือน 12 แสดงว่าในเลขวันเดียวกันนั้นของเดือน 6 ในปีถัดไป ฝนจะตกมาก เป็นกำหนดวันที่เราจะต้องดำนา ถ้าเป็นไปตามปกติ นี่แหละคือภูมิปัญญาการสร้างปฏิทินในวันทำนาโดยใช้ธงกฐิน 

“เราเคยทดลองนะคะ เอาข้อมูลจากกรมอุตุฯ มาดูว่าวันที่ลมพัดแรงในเดือน 11 และ 12 ดูจาก Wind Speed (ความเร็วของลม) ที่ทำให้ชายธงพัดทำมุมเกิน 45 องศาในวันไหน แล้วติดตามดูในปีถัดไป พบว่าฝนตกในวันนั้นของเดือน 5 และ 6 จริง ๆ คลาดเคลื่อนไม่เกิน 2 วัน เราทำสถิติแบบ 10 ปี ก็แสดงว่าวิธีการสร้างปฏิทินนี้ใช้ได้จริง”

พออาจารย์เล่าถึงตรงนี้ คนฟังอย่างเรารู้สึกทึ่งไม่น้อยกับภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของคนอีสานและรู้สึกดีมากที่มีนักวิชาการนำศาสตร์ดังกล่าวมาทดลอง เพื่อหาคำตอบและอธิบายบอกเล่าคุณค่าของภูมิปัญญาเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังได้รับฟังอย่างเข้าใจง่ายและเป็นเหตุเป็นผล 

Microhabitat (ระบบนิเวศย่อย) แบบคนอีสาน
พยากรณ์ฝนฟ้าอากาศ ด้วยการสังเกตธรรมชาติ 

ฟังอาจารย์เล่าถึงตรงนี้ เราก็ชักอยากจะรู้เพิ่มแล้วว่าภูมิปัญญาเกี่ยวกับการเกษตรพื้นบ้านเพื่อทำนายฟ้าฝนเตรียมเพาะปลูกมีอะไรอีกบ้าง อาจารย์จึงค่อย ๆ เล่าให้ฟังและเราขอสรุปไว้เป็นข้อ ๆ เพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายดังนี้

ขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 วันไขประตูฟ้า ทำนายฟ้าฝนและผลผลิต คนอีสานมีวิธีพยากรณ์ฟ้าฝนในต้นปีของฤดูกาลเพาะปลูกโดยอาศัยเอาวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 นับตามปฏิทินจันทรคติมาเป็นวันสำคัญ โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้น คือเกษตรกรจะนำปุ๋ยคอกไปใส่ลงในนาข้าวตั้งแต่เช้าตรู่ แล้วนั่งเฝ้านาทั้งวันเพื่อดูว่าฟ้าจะร้องในทิศใดใน 8 ทิศ ซึ่งจะทำนายได้ว่าปีนั้นปริมาณน้ำฝน พืชพรรณธัญญาหารที่เพาะปลูก ตลอดจนการดำรงชีวิตของผู้คนจะเป็นอย่างไร โดยให้ชื่อวันดังกล่าวว่า ‘วันไขประตูฟ้า’ มีผญาของคนอีสานกล่าวถึงวันนี้ว่า

ออกใหม่ขึ้น

สามค่ำเดือนสาม

มื้อที่กบบ่มีปาก

นากบ่มีฮูขี้

หมากขามป้อม

แสนซ่มกะเหล่าหวาน

อาจารย์อุษาอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า ในวันดังกล่าวเป็นช่วงฤดูกาลที่กบกำลังออกจากการจำศีล เมือกที่ปิดปากอยู่ยังสลายตัวไม่หมด กบจึงร้องไม่ได้เหมือนไม่มีปาก เปรียบเสมือนการอิ่มทิพย์ ส่วนตัวนากในวันนั้นจะไม่กินอะไร จึงไม่มีการขับถ่ายออกมา ขณะที่มะขามป้อมที่มีรสเปรี้ยว หากกินในวันดังกล่าวจะมีรสหวาน จึงถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เสมือนวันฟ้าเปิดประตู และใช้ทำนายฝนฟ้าโดยอาศัยการสังเกตฟ้าร้องว่าเกิดขึ้นในทิศใด 

หากฟ้าร้องในทิศบูรพา ประตูน้ำ มีครุฑเป็นสัตว์ประจำทิศ ปีนั้นฝนดี ข้าวกล้าอุดมสมบูรณ์ ผู้คนจะได้ทำบุญทำทาน

ทิศอาคเนย์ ประตูลม มีแมวเป็นสัตว์ประจำทิศ ฝนจะน้อย นาแล้ง ผู้คนอดอยาก เกิดโรคระบาด

ทิศทักษิณ ประตูทอง มีราชสีห์เป็นสัตว์ประจำทิศ ฝนจะมาก น้ำจะท่วม ข้าวกล้าเสียหายถึง 2 ใน 5 ส่วน นาลุ่มเสีย นาดอนดี มีปูปลาอุดมสมบูรณ์

ทิศหรดี ประตูตะกั่ว มีเสือเป็นสัตว์ประจำทิศ ฝนดี น้ำงามพอเหมาะ ผลหมากรากไม้อุดมสมบูรณ์ ปูปลามีมาก ข้าวกล้าบริบูรณ์ ผู้คนมีความสุข

ทิศประจิม ประตูเหล็ก มีนาคเป็นสัตว์ประจำทิศ ฝนแล้ง น้ำน้อย ข้าวกล้าในนาแห้งตาย เสียหายหนัก

ทิศพายัพ ประตูหิน มีหนูเป็นสัตว์ประจำทิศ ฝนตกปานกลาง ข้าวกล้าได้ผลครึ่งเดียว นอกนั้นเสียหาย ปูปลามีน้อย คนมักป่วยไข้

ทิศอุดร ประตูเงิน มีช้างเป็นสัตว์ประจำทิศ ฝนดี ข้าวกล้าในนางอกงามดี คนมีความสุขทั่วหน้า

ทิศอีสาน ประตูดิน มีวัวเป็นสัตว์ประจำทิศ ฝนดีตลอดปี ข้าวกล้าในนางอกงามสมบูรณ์ คนจะมีความสุขตลอดปี

รอยลั่นบนใบหญ้าหวาย บอกได้ว่าฝนตกในเดือนไหน ภูมิปัญญานี้อาจารย์อุษาได้มาจากแม่ใหญ่ (สตรีสูงอายุ) ในอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม  

“เคยได้ยินชื่อ หญ้าหวาย ไหมคะ หรือชื่อสามัญเรียก หญ้าชันกาด ขึ้นตามท้องนาใบแข็ง ๆ มีแม่ใหญ่ที่อำเภอโกสุมพิสัยบอกว่าใบหญ้าหวายจะมีรอยคอดหรือที่เรียกว่ารอยลั่น ถ้าเรารู้วิธีแบ่งระยะนับเดือนบนใบหญ้า รอยคอดนี้ไปตกอยู่ที่เดือนไหน ฝนจะตกมากในพื้นที่นั้น ๆ ในเดือนนั้น ในพื้นที่ที่ต้นหญ้านั้นเกิด 

“เราให้นักศึกษามาทดลองขีดหารแบ่งเป็นช่องเท่า ๆ กัน 12 ช่อง แทน 12 เดือน ใบหญ้าคอดตรงเดือนไหนฝนจะตกเดือนนั้นจริงไหม ปรากฏว่าเป็นแบบนั้นจริง ๆ ภูมิปัญญานี้คล้ายกับที่ภาษาวิชาการเรียกว่า การทำนาย Microhabitat ซึ่งใช้ทำนายระบบนิเวศย่อยของชุมชนได้ แต่ละชุมชนจึงต้องเก็บข้อมูลนั้น ๆ เอง”

ลวดลายหางแลนหรือตัวตะกวด บอกปริมาณน้ำฝนได้ เป็นภูมิปัญญาที่สังเกตจากตัวแลนที่ฟักจากไข่อายุประมาณ 1 ปี ว่าลวดลายที่หางแลนนั้นเป็นเช่นไร หากหางแลนมีสีขาวสลับดำในจังหวะที่สม่ำเสมอ โดยช่วงปลายหาง แสดงว่าปีนั้นฝนจะตกกระจายตัวทั่วถึงดี ยิ่งลวดลายสลับกันถี่ ๆ ยิ่งหมายถึง ฝนจะตกชุกนั่นเอง แต่หากการแบ่งลายไม่สม่ำเสมอและห่าง ช่วงสีขาวไปตกที่ปลายหางแลน หรือเป็นช่วงสีดำแต่เป็นช่วงสั้นที่ปลายหาง แสดงว่าฝนปีนั้นไม่ดี

อึ่งเผ้าทำนายฝน กลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทมีภูมิปัญญาใช้อึ่งเผ้าหรืออึ่งปากขวด ทำนายว่าปีนั้นฝนจะดีหรือแห้งแล้ง เพราะปกติอึ่งอ่างชนิดนี้ใช้ขาหลังขุดดินแทรกตัวฝังอยู่ในดินเพื่อจำศีล พอย่างเข้าฤดูฝน ความชื้นในอากาศเริ่มสูง อึ่งเผ้าก็จะออกจากการจำศีลมาจับแมลงกิน หากฝนแรกในปีนั้นตกแล้วอึ่งเผ้าร้องทันที แสดงว่าปีนั้นฝนจะแล้ง เพราะอึ่งอ่างรีบเรียกหาคู่เพื่อผสมพันธุ์ แต่ถ้าปีไหนฝนตกไป 2 – 3 รอบแล้วอึ่งเผ้าจึงส่งเสียงร้อง แสดงว่าปีนั้นฝนจะดีทั้งปี 

อาจารย์อุษาสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะอึ่งเผ้ามีอวัยวะที่รับรู้ความชื้นในอากาศได้ จึงทำนายฝนได้นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีภูมิปัญญาการสังเกตกระดูกขาของอึ่งว่ามีสีอย่างไร หากกระดูกต้นขามีสีดำ แสดงว่าปีนั้นฝนจะดี

ความสั้นยาวของช่อมะม่วงป่าบอกความรุนแรงของลมและฟ้าผ่า ภูมิปัญญาพยากรณ์ฟ้าฝนจากพืชเพื่อทำนายภูมิอากาศในฤดูกาลถัดไปในท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะใช้ช่วงเวลาของเดือน 11 – 12 (นับตามจันทรคติ เดือน 11 คือตุลาคม เดือน 12 คือพฤศจิกายน) ในการสังเกตระบบนิเวศย่อย อย่างเช่นความสั้นยาวของช่อมะม่วงป่า หากช่อมะม่วงยาวแสดงว่าลมจะแรง ฟ้าแรง มีฟ้าผ่ามาก ในช่วงเดือน 5 หรือ 6 (นับตามจันทรคติ) หากมะม่วงป่าออกดอกเพียงช่อเดียวในแต่ละยอด ทำนายว่าฝนจะแล้ง

ไผ่ลำใหม่บอกปริมาณน้ำ หากไผ่ลำใหม่ในหมู่บ้านชูยอดยาวกว่าลำเก่า แสดงว่าปีนั้นน้ำจะมาก

ฤดูแล้งมาถึง เมื่อดอกจานและดอกคูนบาน ต้นจานหรือต้นทองกวาวและต้นคูนไวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เมื่อฤดูร้อนมาถึงจะทิ้งใบทั้งหมดและออกดอกทั้งต้น เหตุผลเพราะว่าปกติพืชทั้ง 2 ชนิดมีตาดอกและใบทำงานแยกกันโดยมีฮอร์โมนควบคุม แต่วิกฤตโลกร้อนส่งผลกระทบต่อต้นไม้ชนิดนี้ ซึ่งอาจารย์อุษาอธิบายว่า

“คุณเคยสังเกตไหมคะว่าราว ๆ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งดอกคูนและดอกจาน เมื่อถึงฤดูแล้งที่ต้องออกดอกทิ้งใบ แต่กลับแตกใบร่วมด้วย นี่คือสิ่งที่ธรรมชาติกำลังสื่อสารถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะเดิมทีพืช 2 ชนิดนี้จะมีฮอร์โมนควบคุมตาดอกและตาใบที่ทำงานแยกกันชัดเจน เวลาออกดอกก็จะทิ้งใบแล้วออกดอกอย่างเดียว พอถึงเวลาผลิใบ ดอกก็จะร่วงหมดแล้วผลิใบทั้งต้น แต่หลัง ๆ ฮอร์โมนที่ควบคุมกลับทำงานสับสน เป็นเพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากสภาวะโลกร้อน”

นอกจากนี้ ปริมาณดอกจานยังบอกได้ว่าฝนจะดีหรือไม่ ถ้าปีไหนดอกจานออกดอกมาก ปีนั้นฝนจะดี ขณะที่ความยาวของช่อดอกคูนก็บอกปริมาณฝนได้ อย่างตอน พ.ศ. 2554 ที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ปีนั้นช่อดอกคูนออกดอกยาวมาก สะท้อนว่าในปีนั้นน้ำจะมาก แต่ถ้าปีไหนช่อดอกคูนสั้น ปีนั้นจะแล้งนั่นเอง

ฝนดีแค่ไหน หญ้างวงช้างบอกได้ ในช่วงเดือน 3 – 6 นับตามปฏิทินจันทรคติ ให้ลองลงไปสังเกตดูในทุ่งนาว่ามีหญ้างวงช้างเกิดไหม และดอกของต้นหญ้ามีลักษณะอย่างไร ถ้าดอกหญ้างวงช้างม้วนสวยแสดงว่าปีนั้นฝนจะดี หากดอกหญ้างวงช้างยืดเหยียดแสดงว่าปีนั้นจะแล้ง ฝนน้อย นอกจากนี้แปลงนาไหนที่มีหญ้างวงช้างเกิดอยู่จะให้ผลผลิตดี

ดอกคายโซ่ ร่วงแล้วคว่ำหรือหงายทำนายปริมาณฝน ดอกคายโซ่หน้าตาเหมือนดอกบุนนาค แต่ไม่ใช่ชนิดเดียวกันเพราะมีใบต่างกัน ภาคกลางเรียกต้นมังตาน ภาคเหนือเรียกว่าทะโล้หรือคายโซ่ ภูมิปัญญานี้มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ของชาวอีสานเหนือ ให้สังเกตการร่วงหล่นของดอกไม้ชนิดนี้ หากปีไหนดอกคายโซ่ร่วงแล้วมีดอกหงายมากกว่าคว่ำแสดงว่าฝนจะดี แต่ถ้าคว่ำมากกว่าหงายก็แสดงว่าฝนน้อย 

ต้นเมื่อย หรือ ม่วย ออกผลดก ปีนั้นน้ำฝนจะดี ไม้เถาชนิดนี้เกิดอยู่ในป่าดิบแล้ง จะออกผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม กลุ่มชาติพันธุ์แสกและผู้ไทใช้พยากรณ์ฟ้าฝนจากการออกผลของมัน ถ้าผลดกแสดงว่ามีฝนมาก ถ้าออกผลกระจายทั่วต้นตั้งแต่โคนต้นถึงปลายยอดแสดงว่าฝนจะสม่ำเสมอดีทั้งฤดูกาล ถ้ามีผลเฉพาะโคนต้นแสดงว่าปีนั้นฝนจะมากเฉพาะช่วงต้นฤดู แต่ถ้าออกผลมากเฉพาะปลายยอดแสดงว่าจะมีฝนมากในช่วงปลายฤดูกาล

ผักกาดหญ้า 1 ฝักมีกี่เมล็ดทำนายแล้ง ผักชนิดนี้เป็นพืชวงศ์ถั่ว มีหนามและมีกลิ่นเฉพาะตัวคล้ายกลิ่นแมงแคงหรือมวนลำไย ปกติเมื่อติดผลใน 1 ฝักจะมี 2 เมล็ด แต่ถ้าปีไหนแล้งจัดจะมีแค่เมล็ดเดียว

ดอกโบตั๋นบาน ทำนายฝนระยะสั้น ภูมิปัญญาของไทกะเลิง ใช้การออกดอกของต้นโบตั๋น (Epiphyllum oxypetalum (DC.) Haw.) ทำนายฝนระยะสั้นในพื้นที่ หากต้นโบตั๋นออกดอกและดอกแย้มบานวันใด ภายใน 7 วัน ณ สถานที่นั้นจะมีฝนตก (โดยปกติพืชชนิดนี้จะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายน-กลางตุลาคม) ซึ่งอาจารย์อุษาอธิบายว่า เป็นเพราะพืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มกระบองเพชร จึงน่าจะมีความไวต่อความชื้นในอากาศนั่นเอง

ดอกมะขามบอกความแห้งแล้ง ปีไหนที่ดอกมะขามออกดก ฤดูเพาะปลูกที่กำลังจะมาถึงจะแล้งมาก

ถ้ากระบกออกผลดก ปีนั้นจะแล้ง กระบกเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ คนอีสานถือเป็นไม้อัปมงคล จึงไม่ปลูกไว้ในบ้าน เพราะคำว่า บก ในภาษาอีสานแปลว่า ขาดแคลน อาจารย์อุษาอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ว่า นอกจากเรื่องความเชื่อที่ชาวบ้านไม่นิยมปลูกเพราะต้นกระบกกินน้ำมาก มีดอกจำนวนมาก จึงดึงดูดแมลงมามากเช่นกัน อาจเป็นอันตรายถ้าอยู่ใกล้บ้าน และยังมีภูมิปัญญาว่า หากปีใดกระบกออกผลดก ปีนั้นจะแล้งมาก

ขนหุ้มกะทกรกป่าทำนายฝน กะทกรกป่า หรือ ผักใส่ช้าง เป็นไม้เถาเกิดอยู่ตามท้องไร่ท้องนา เมื่อติดผลจะมีขนหุ้มผลโดยรอบ หากปีใดผลกะทกรกป่ามีขนหุ้มมาก จะเป็นเครื่องเตือนเกษตรกรว่าปีนั้นจะแล้ง ฝนไม่ดี 

ผลของต้นแดง บอกความรุนแรงของฟ้าผ่า ต้นแดงเป็นไม้ขนาดใหญ่ มีมากในป่าเต็งรัง ผลของต้นแดงจะแก่ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ตามภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวกล่าวว่า ถ้าปีไหนผลของต้นแดงดกและผลแตกมากจนได้ยินเสียงแตกของผลเวลาเดินเข้าป่า แสดงว่าปีนั้นฝนฟ้าจะคะนอง มีฟ้าร้องฟ้าผ่า อาจารย์อุษาอธิบายถึงภูมิปัญญานี้ว่า 

“เมล็ดของต้นแดงเป็นเหมือนรูปทรงสามเหลี่ยม ถ้าปีไหนหมากแดงดก พอผลแก่แล้วแตกเสียงดัง เราเดินเข้าป่าแล้วได้ยินเสียงหมากแดงแตกโป๊ะ ๆ ปีนั้นฝนฟ้าจะแรง ฟ้าจะผ่ามากเลย เพราะแสดงว่าอากาศแห้งมาก ความชื้นในอากาศน้อย ประจุไฟฟ้าในอากาศมีความแตกต่างกัน เลยทำให้เยื่อบาง ๆ ที่ยึดหมากแดงเอาไว้เนี่ยมันแห้งและแตกง่าย ฉะนั้น เวลาจะเอาวัวเอาควายไปเลี้ยงในท้องนา ก็ต้องเหน็บว่านฟ้าไว้ที่เอว ข้างหลัง หรือที่กระดึงควาย ป้องกันไม่ให้ฟ้าผ่าได้ 

“ว่านฟ้าเป็นต้นพับพลึงชนิดหนึ่ง อยู่ในสกุลพลับพลึงแต่ต้นเล็ก ๆ ดอกสีขาว เหมือนดอกพลับพลึงเลยค่ะ เสียดายที่เรายังไม่ได้วิจัยเรื่องนี้ว่าทำไมว่านฟ้าถึงช่วยป้องกันฟ้าผ่าได้ จึงยังไม่ได้มีงานวิจัยมายืนยัน แต่เพิ่งทราบว่าแล็บของญี่ปุ่นมีหม้อทดลองฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า คงจะดีถ้าเราได้ไปร่วมกับเขา ลองเอาว่านฟ้านี่ใส่ลงไป แล้วดูว่าประจุไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะมีผลอย่างไร แต่เป็นความเชื่อเลยนะว่าคนอีสานนี่ต้องปลูกว่านฟ้าไว้ที่บ้าน เวลาหมากแดงแตกนี่ต้องเหน็บไว้ที่เอวเลย จะได้ไม่ผ่า”

นกแจนแวนร้อง เตือนว่าฝนกำลังจะหมดและย่างเข้าฤดูหนาว นกแจนแวน หรือที่ภาคกลางเรียก นกอีเสือสีน้ำตาล เป็นนกที่อพยพย้ายถิ่นมาในช่วงปลายเดือน 10 หากได้ยินเสียงดัง “แจ้ก… แซ้ก… แจ้ก… แซ้ก…” ก็ให้เกษตรกรรู้ตัวว่า อีกไม่เกิน 3 อาทิตย์ฝนจะหมดและสิ้นสุดฤดูฝน

ว่าวสนูตกเวลาไหนบอกได้ว่าฝนในปีถัดไปจะดีหรือไม่ดี คนอีสานชาติพันธุ์ไทลาวและผู้ไทมีภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำนายฟ้าฝนด้วยการสังเกตเวลาตกของว่าว ภูมิปัญญานี้อาจารย์อุษาได้มาจากพ่อใหญ่ (ชายสูงวัย) ที่จังหวัดอำนาจเจริญ 

โดยเขาจะชักว่าวสนูขึ้นฟ้าในตอนกลางคืน ว่าวสนูมีลักษณะคล้ายว่าวจุฬา แต่ตรงบ่ามีแถบคล้ายคันธนูขึงด้วยหวายหรือพลาสติก เพื่อให้เกิดเสียงเวลาสัมผัสกับลมเมื่อว่าวอยู่บนฟ้า จะได้คอยฟังเสียงว่าว่าวตกลงจากฟ้าเมื่อไหร่ หากว่าวตกก่อน 3 ทุ่ม แสดงว่าฤดูกาลเพาะปลูกในปีถัดไปนั้นฝนจะแล้ง ถ้าตกประมาณเที่ยงคืนแสดงว่าจะมีฝนปานกลาง และถ้าว่าวไม่ตกอยู่ได้จนถึงรุ่งเช้า แสดงว่าฝนในฤดูเพาะปลูกถัดไปนั้นจะดี  

นอกจากนี้ การชักว่าวขึ้นฟ้าในช่วงกลางคืนยังเชื่อมโยงกับการดูแสงดาว หากดาวมีแสงริบหรี่ ไม่สุกสกาว แสดงว่าปีนั้นฤดูหนาวจะยาวนานและหนาวมาก

พิธีปังออกเปรี๊ยะแค การทำนายฟ้าฝนด้วยแรงลมและน้ำตาเทียน กลุ่มชาติพันธุ์เขมรและกูยในเขตจังหวัดสุรินทร์ มีพิธีกรรมหนึ่งชื่อ ปังออกเปรี๊ยะแค แปลว่า ป้อนข้าวพระจันทร์ ซึ่งทำประจำทุกปีในช่วงวันเพ็ญขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 เพื่อทำนายปริมาณฝนในปีถัดไป โดยชาวบ้านจะนำขี้ผึ้งบริสุทธิ์มาทำเป็นเทียนที่มีความยาว 10 เซนติเมตร จำนวน 51 เล่ม โดย 31 เล่มแทนจำนวนวันใน 1 เดือน อีก 7 เล่มแทนจำนวนวันใน 1 สัปดาห์ และอีก 12 เล่มแทนจำนวนเดือนใน 1 ปี จากนั้นเตรียมลานกว้าง ปูรองด้วยใบตอง ใช้ครกกระเดื่องวางไว้ 2 ข้างห่างกันในทิศเหนือและใต้ และใช้สากตำข้าวของครกกระเดื่องซึ่งมีความยาววางพาดบนครก (สมัยนี้ใช้ลำไผ่แทน) ต้องมีความยาวของสากหรือไม้ไผ่ 510 เซนติเมตร แล้วตั้งเทียนแต่ละเล่มให้ห่างกัน 10 เซนติเมตร จนครบ 51 เล่ม

พิธีกรรมจะเริ่มตอน 3 ทุ่ม โดยมีคนทำพิธีเรียกว่า ‘จาร’ 2 ท่าน จุดเทียนทั้ง 51 เล่ม เวลานั้นชาวบ้านจะใส่บาตรข้าวเม่า และมีพระมาสวดมนต์ไปด้วย เมื่อพระสวดมนต์เสร็จ ชาวบ้านจะมานั่งล้อมรอบพิธีกรรม จารทั้ง 2 ท่านจะสวดมนต์เป็นภาษาขอม เมื่อสวดเสร็จแล้ว จารทั้ง 2 ท่านจะไปประจำคนละด้านของสากหรือไม้ที่พาดอยู่บนครก พลิกให้เทียนคว่ำลงเพื่อให้น้ำตาเทียนหยดลงบนใบตอง โดยนับจากเทียนที่อยู่ฝั่งทิศใต้ไปหาทิศเหนือ โดยจุดเริ่มต้นแรกจะกำหนดเป็นช่วงเดือน 4 แล้วนับเรียงไปเรื่อย ๆ หากช่วงใดเทียนไหม้เยอะ มีน้ำตาเทียนมาก แสดงว่าช่วงเดือนนั้นฝนจะมาก และถ้าเล่มเทียนช่วงเดือนใดหล่น แสดงว่าช่วงเดือนนั้นฟ้าจะแรง มีพายุ และฟ้าผ่ามากนั่นเอง 

อาจารย์อุษาเล่าว่าภูมิปัญญานี้มีความน่าสนใจ เพราะไปมีลักษณะคล้ายคลึงกับพิธีกรรมทำนายฝนของชนเผ่าในอเมริกาใต้

การทำนาผีตาแฮก “เคยได้ยินคำว่า ‘นาผีตาแฮก’ ไหมคะ” อาจารย์อุษาตั้งคำถามกับเรา ก่อนอธิบายต่อว่า  

“นาผีตาแฮก คือนาเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านจะทำตามมุมนาทุก ‘ปิ้ง’ หมายถึงคันนาที่คนอีสานเรียก ‘คันแทนา’ ทุกอันต้องทำนาเล็ก ๆ พอให้ปักข้าวได้ 7 ต้น แล้วถามว่าเราควรทำนาผีตาแฮกก่อนทำนาจริงเมื่อไร ถ้าถามชาวบ้านสมัยนี้ เขาก็จะตอบว่า เดี๋ยวนี้ไม่รอแล้วอาจารย์ เช้าทำนาผีตาแฮก บ่ายก็ลงนาจริง เราก็ถามว่าทำไมไม่ทำตามภูมิปัญญา ชาวบ้านบอกว่า ‘ไม่รู้ ชีวิตมันฟ้าวหลาย’ เลยถามว่า แล้วจริง ๆ เมื่อก่อนต้องทำนาผีตาแฮกกับนาข้าวจริงห่างกันระยะเวลาเท่าไร ชาวบ้านก็บอกว่า เมื่อก่อนต้องทำนาผีตาแฮกก่อนล่วงหน้า 1 เดือน แล้วค่อยมาทำนาจริงของตัวเอง 

“เราเลยทดลองให้ลูกศิษย์ที่มีที่นาอยู่แถวหลังพระธาตุนาดูร ให้ลองทำนาผีตาแฮกทุกแปลงเลยนะ เพราะตรงนั้นมีสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวชของมหาวิทยาลัยมหาสารคามอยู่ ผลลัพธ์ที่พบก็คือ พอทำนาผีตาแฮกก่อน 1 เดือนแล้วค่อยมาดำนาจริง ช่วง 1 เดือนนั้นข้าวในนาผีตาแฮกจะโตเต็มที่ ใบข้าวส่งกลิ่นหอม แมลงมากินหมดเลย จบช่วงชีวิตแมลงที่มันเป็นศัตรูของข้าวแล้ว พอปลูกข้าวจริง ๆ ขึ้นมา ก็ไม่มีศัตรูมาทำลาย 

“เห็นไหมคะ คนอีสานนี่ฉลาดจริง ๆ เป็น Biocontrolled เป็นชีววิถีจริง ๆ น่าเสียดายที่ทุกวันนี้เขาไม่ทำกันแล้วเพราะเลือกใช้ยาฆ่าแมลงเอา” 

ข้าวก่ำ คือพระแม่โพสพคอยคุ้มครองข้าวให้ปลอดภัย มีภูมิปัญญาหนึ่งในการปลูกข้าวของคนอีสาน ซึ่งอาจารย์อุษาบอกว่าได้รับภูมิปัญญานี้มาจากผู้เฒ่าผู้แก่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์

“สมัยก่อนถ้าชาวบ้านทำนาแปลงใหญ่แบบนโยบายท่านประยุทธ์ จะปลูกข้าวชนิดเดียวไม่ได้ ต้องมีแปลงหนึ่งตรงกลาง สลับเป็นระยะ ๆ ที่จะต้องปลูกข้าวก่ำ เพราะนั่นคือแม่โพสพ ภูมิปัญญานี้พ่อใหญ่ที่กาฬสินธุ์สอนมา บอกว่าการปลูกข้าวก่ำสลับคือการทำนาแม่โพสพ เพราะว่าข้าวก่ำจะเป็นตัวช่วยไล่แมลง ไล่นกให้เรา เพราะสีเขาไม่เหมือนเพื่อน พอลมพัดไปพัดมานกเห็นก็กลัว แมลงโดยเฉพาะเพลี้ยจักจั่นตัวเขียว ๆ นี่กลัวมาก เพราะต้นข้าวก่ำมีกลิ่นแรง แมลงและนกไม่ชอบ เพราะฉะนั้น นี่คือแม่โพสพตัวจริงที่จะดูแลรักษานาของเรา นี่ไงคะคำตอบที่ซ่อนอยู่ในภูมิปัญญา”

เหล่านี้คือภูมิปัญญาการเกษตรของคนอีสานที่เราเก็บรวบรวมและสรุปจากคำบอกเล่าของอาจารย์อุษา ซึ่งอาจารย์บอกว่าภูมิปัญญาลักษณะนี้ไม่ได้มีแค่ในอีสาน แต่ยังมีอยู่ในทุกภูมิภาคของไทย คงจะดีมาก ๆ หากเราหันมาให้ความสนใจ และใส่ใจสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านเช่นนี้เอาไว้ไม่ให้สูญหาย

ประเพณีเลี้ยงผีปู่ตา กุศโลบายการชุมนุมกันของคนอีสานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล

ผีปู่ตา เป็นความเชื่อของคนอีสานว่าในชุมชนมีเจ้าที่เจ้าทางคอยปกปักรักษา โดยในชุมชนจะแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็น 3 ส่วน คือป่าทำเล ใช้ทำมาหากิน ป่าช้า ใช้ทำพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย และป่าดอนปู่ตา ซึ่งถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่อาศัยอยู่ของเจ้าที่ที่คอยคุ้มครองชาวบ้าน เป็นป่าที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้ โดยป่าดอนปู่ตาจะมีเฒ่าจ้ำเป็นผู้คอยดูแลและประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งทุก ๆ ปี ก่อนฤดูกาลเพาะปลูกต้องมีการจัดเลี้ยงผีปู่ตาเพื่อเป็นสิริมงคลต่อชุมชน ทว่าในความจริงแล้ววาระนี้ยังเป็นกุศโลบายที่แฝงบางอย่างไว้ด้วย อาจารย์อุษาอธิบายว่า

“ข้อมูลต่าง ๆ จากธรรมชาติที่ชาวบ้านเก็บรวบรวมเพื่อใช้พยากรณ์ฝนฟ้าเพื่อทำการเกษตรนั้น คล้ายกับที่ภาษาวิชาการเรียกว่า การประมวลผลข้อมูล Microhabitat ซึ่งใช้ทำนายระบบนิเวศย่อยของชุมชนได้ เพราะฉะนั้น แต่ละชุมชนต้องเก็บข้อมูลนั้น ๆ ของตัวเอง ซึ่งมีหลายอย่างนะคะ สิ่งเหล่านี้เป็นการประมวลทั้งหมด จนกระทั่งถึงต้นเดือน 6 (นับตามปฏิทินจันทรคติ) จะมีพิธีเลี้ยงผีปู่ตาขึ้นทุกหมู่บ้าน 

“ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ป่าดอนปู่ตาถูกทำลายหมดแล้ว แต่ก็ต้องมีพิธีเลี้ยงผีปู่ตา ไปขอยืมป่าใครก็ได้ ถามว่าทำไมต้องมี คำตอบก็คือเป็นการนำข้อมูลจากผู้รู้ทั้งหมดที่เก็บสะสมมาตั้งแต่เดือน 11 มาจนถึงเดือน 5 ของอีกปี นำมาโสกัน (ประชุมแลกเปลี่ยนกัน) เพื่อสรุปว่าปีนี้บ้านเราจะแล้ง จะฝนดีหรือไม่ ควรต้องทำนามากน้อยแค่ไหน ต้องเก็บน้ำอย่างไร สิ่งเหล่านี้คือแนวปฏิบัติที่อีสานปฏิบัติกันมาแต่ดั้งแต่เดิม จนกระทั่งมาถึงยุคปฏิวัติเขียวนี่แหละ สิ่งเหล่านี้หมดไป เลยทำให้คนอยากทำอะไรก็ได้ตามใจตัวเองโดยไม่ได้ดูดินฟ้าอากาศเลย”

โลกเปลี่ยน แต่ภูมิปัญญาจากธรรมชาติไม่เปลี่ยน

ปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญวิกฤตทางธรรมชาติอย่างรุนแรง คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นขณะคุยกับอาจารย์อุษาก็คือ ในเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างนี้ ตัวชี้วัดของธรรมชาติจากภูมิปัญญาที่อาจารย์เล่ามาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และยังนำมาใช้ได้อยู่ไหม อาจารย์ตอบกลับเรามาว่า

“ไม่เปลี่ยนหรอก มีแต่บอกได้ว่า เฮ้ย! โลกมันเปลี่ยนนะ แต่ว่าภูมิปัญญาจากธรรมชาติที่คนอีสานหรือคนพื้นถิ่นเก็บรวบรวมเอาไว้ไม่ได้เปลี่ยน หากไม่เชื่อก็ลองไปดูนะว่า ลมพัดธงกฐินวันไหนในเดือน 11 เดือน 12 ฝนก็ยังตกในเลขวันนั้นของเดือน 5 เดือน 6 มันล้อกันไปตามนั้น หรืออาจจะไม่พัดเลย ก็คือไม่มีฝนตกเลย แสดงว่าปีนั้นจะแล้งจัด หรือถ้าพัดเยอะ ปีนั้นน้ำก็จะท่วม ตรงนี้บอกได้ แต่เราเองต่างหากที่ไม่ได้เอามาสังเกต”

เป็นการย้ำว่าธรรมชาติยังคงส่งเสียงเพื่อส่งสารมายังเหล่ามนุษย์อย่างเราอยู่เสมอ เพียงแต่เราละเอียดลออหรือมีความรู้เพียงพอที่จะสังเกตและนำมาปรับใช้หรือไม่เท่านั้นเอง  

สูญเสียภูมิปัญญาพื้นถิ่น คือการสูญเสียตัวตนของเรา

หลังเสร็จสิ้นการเดินเก็บข้อมูลจากธรรมชาติกับอาจารย์อุษา คำถามสุดท้ายที่คอลัมน์อีสาน Lifehacker มี คือเมื่อปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีที่เจริญขึ้นมากแล้ว เช่นนี้ภูมิปัญญาท้องถิ่นยังจำเป็นอยู่หรือไม่ อาจารย์ตอบกับเราด้วยหัวใจอย่างกินใจว่า

“โอ้ ภูมิปัญญาเป็นสิ่งสำคัญมากนะคะ สมมติถ้าเราฟื้นฟูได้ แสดงว่าเราจะอยู่กับธรรมชาติได้เลย เราจะรู้ว่าธรรมชาติกำลังบอกอะไร เราจะประพฤติกับธรรมชาติได้อย่างถูกและควร เพราะฉะนั้น ปัญหาโลกร้อนก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ว่าไม่ทันหรอก สงสัยมันไม่ทัน เพราะเด็กสมัยนี้มันฟ้าว (รีบ) เอามากนะ 

“ภูมิปัญญาเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ในอีสาน แต่มีทุก ๆ ภาค และใช้ได้จริง นั่นสะท้อนว่ามันผ่านการสังเกตมาเป็น 100 เจเนอเรชันเลยนะ จะดีมากถ้าเราฟื้นฟูภูมิปัญญาตรงนี้ขึ้นมาได้ คือสอนให้เยาวชนของเราเป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต แล้วก็เป็นนักพัฒนาปฏิบัติ ไม่ต้องไปเอาศาสตร์ตะวันตกต่างประเทศเข้ามาเลย แค่เราฝึกฝนคนของเราให้รู้จักใช้ภูมิปัญญาของเราทำให้มันเข้าใจว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ ๆ ภูมิปัญญาก็จะไม่สูญหาย 

“อย่างเช่นเมื่อก่อนเราไม่เคยมีมะขามหวานกินนะคะมีแต่มะขามเปรี้ยว แต่ว่าแม่ใหญ่เราก็เอาขี้เถ้าต้นเชือกมาคลุกกับมะขามแล้วก็เอาไปนึ่ง มันก็เปลี่ยนจากมะขามเปรี้ยวเป็นมะขามหวาน ทำไมครูเคมีไม่เอาไปสอน ว่า อ้อ ในมะขามเปรี้ยวมันมีกรดทาร์ทาริกซึ่งให้รสเปรี้ยว แต่เนื้อมะขามมันมีรสหวานนะ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเอาขี้เถ้าจากต้นเชือกที่มีฤทธิ์เป็นด่างไปคลุก พอกรดเจอด่างมันเกิดการสะเทินใช่ไหม เพราะฉะนั้นรสเปรี้ยวก็หายไป เนื้อมะขามที่หวานมันก็เปล่งประกายรสชาติออกมา เราก็มีเนื้อมะขามหวานกิน เนี่ย สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราเอามันเข้ามาอยู่ในชีวิต พยายามเอาความหมายของทางวิทยาศาสตร์เข้ามาอธิบายและนำมาสอนในโรงเรียน ครูคิดว่ามันน่าจะประสบความสำเร็จอย่างดี เพราะภูมิปัญญาทุกอย่างมันมีประโยชน์หมด เพียงแต่เราต้องหาคำอธิบายให้ได้ว่าทำไมคนสมัยก่อนเขาต้องทำแบบนั้นแบบนี้ เพื่อที่คนสมัยใหม่เขาจะได้ยอมรับ 

“คนที่ทำอาชีพครูจึงสำคัญมากต่อการอนุรักษ์สานต่อภูมิปัญญา ครูต้องเรียนรู้ ต้องมีใจรัก เพราะว่าภูมิปัญญาเหล่านี้ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์หรือแต่ละท้องที่มันมีหลากหลาย อยู่กับผู้เฒ่าผู้แก่สมัยก่อน แต่ว่าจะมาเขียนตอนนี้จะทันไหม คนรุ่นนั้นอาจจะหมดไปแล้วก็ได้ จึงอยากจะฝากว่าให้เห็นความสำคัญของภูมิปัญญาให้มาก เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็น อบต. ก็ดี ไม่ว่าจะเป็นครูในโรงเรียนก็ดี 2 ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการที่จะฟื้นฟูพวกนี้ ในการที่จะรักษาเรื่องพวกนี้ต่อไป

“สิ่งสุดท้ายที่ครูอยากจะฝาก คืออยากให้เรารู้จักตัวตนของเราเองว่าเราคือใคร เรายืนอยู่ตรงไหน เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมอะไร ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ เราก็ไปรับเอาสิ่งแวดล้อมข้างนอกเข้ามา แล้วก็ทำอะไรให้มันเหมือนกับชีวิตของคนข้างนอก ซึ่งมันไม่เหมาะกับสิ่งแวดล้อมของเรา เราอาจจะไม่ได้หวังว่าวัยรุ่นทั้งหมดของเราจะต้องมาทำแบบนั้น เอาสักแค่ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ก็พอ ถ้ามีคนรักษาภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ สิ่งแวดล้อมของเราก็จะไม่เสียหายและก็จะมีคนคอยดูแล พวกไหนจะทำเสียหายอย่างไรก็ตาม แต่คนพวกนี้จะช่วยกันฟื้นฟู และช่วยกันบอกเล่าแล้วช่วยกันสืบต่อ มันก็จะทำให้สิ่งแวดล้อมของเราไม่เสียหายมากไปกว่านี้ ไม่งั้นทุกอย่างตาย  

“ดังนั้นจงตระหนักว่าถ้าเราไปรับเอาแต่ข้างนอกเข้ามา รับความรู้รับวัฒนธรรมอะไรต่อมิอะไรที่ไม่ใช่ตัวเราเข้ามา แล้วเราจะยืนอยู่ได้อย่างไรเมื่อไม่เป็นตัวของตัวเอง ท้ายที่สุดสิ่งแวดล้อมของเราก็จะถูกทำลายไปจนหมดสิ้นพร้อมกับตัวตนของเรา” 

ผลสรุปการเก็บข้อมูลสำรวจธรรมชาติจากพื้นที่ป่าชุมชนโคกหนองม่วง และพื้นที่นาใน ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ กับอาจารย์อุษาในวันนี้ เราพบว่าใบหญ้าหวายไม่มีรอยลั่นเลย แสดงว่าปีนี้บริเวณดังกล่าวจะแล้งจัด มีฝนน้อยหรือไม่มีเลยก็ได้ ขณะที่ดอกของต้นหญ้างวงช้างยืดเหยียด ก็ยิ่งย้ำถึงความแล้งที่อาจเกิดขึ้นในฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ ช่อดอกคูนในละแวกนั้นไม่ยาวนัก บางต้นออกช่อสั้นมากทำนายว่าปีนี้ฝนในพื้นที่น่าจะน้อย ส่วนผลของต้นแดงในป่า ณ วันที่เราไปเก็บข้อมูลนั้นร่วงแตกหมดแล้ว แต่ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ป่าโคกหนองม่วงที่นำพวกเราเดินป่าบอกกับเราว่า ช่วงที่ผลต้นแดงเริ่มร่วงเขาได้ยินเสียงผลของต้นแดงแตกอยู่เหมือนกัน นั่นแสดงว่าอากาศมีความแห้ง จึงสรุปผลประมวลเป็นข้อมูลจากธรรมชาติที่เราได้พบเจอว่า ปีนี้ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้ว่าจะมีฝนน้อยมาก ๆ และหากมีฝนต้องระวังการเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าด้วยนั่นเอง 

ครานี้ก็มาลองดูกันว่าฤดูเพาะปลูกที่กำลังจะมาถึงในปีนี้จะเป็นอย่างที่ธรรมชาติบอกกล่าวเราหรือไม่ แล้วพื้นที่ของคุณล่ะเป็นเช่นไร ลองสังเกตธรรมชาติใกล้ ๆ ตัวดูสิ ได้คำตอบอย่างไรอย่าลืมนำมาแลกเปลี่ยนกัน

ขอบคุณ

คุณสมกุล ลาผม กรรมการเครือข่ายป่าโคกหนองม่วง และบ้านสวนโชกุน อนุเคราะห์เป็นไกด์นำทางศึกษาธรรมชาติ

ยั่งยืนฟาร์ม เอื้อเฟื้อพื้นที่แปลงนาสำหรับสำรวจธรรมชาติและพื้นที่ถ่ายภาพ

ร้านกาแฟบ้านหลังวัด เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายภาพ

Writer

สิทธิโชค ศรีโช

สิทธิโชค ศรีโช

มนุษย์ผู้ตกหลุมรักอาหารการกินมาตั้งแต่จำความได้ เคยโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารด้านอาหารกว่าสิบปี ก่อนกลับบ้านนอกมาใช้ชีวิตติดกลิ่นปลาร้าที่อีสาน และยังคงมุ่งมั่นส่งต่อเรื่องราววัฒนธรรมอาหาร สุขภาพ และการดำรงชีวิตของผู้คนบนที่ราบสูง ให้โลกได้รับรู้

Photographer

กานต์ ตำสำสู

กานต์ ตำสำสู

หนุ่มใต้เมืองสตูลที่มาเรียนและอาศัยอยู่อีสาน 10 กว่าปี เปิดแล็บล้างฟิล์ม ห้องมืด และช็อปงานไม้ อยู่แถบชานเมืองขอนแก่น คลั่งไคล้ฟุตบอลไทยและร็อกแอนด์โรล