Unexpected Thailand คือละครเวทีไทยที่แบกคนไทยไปเล่นละครไกลถึง Melbourne Fringe Festival เทศกาลศิลปะประจำปีของเมลเบิร์น มีทั้งงานศิลป์ ดนตรี ละคร ไปจนถึงคาบาเรต์มาจัดแสดง และถือเป็นหนึ่งในเทศกาลศิลปะใหญ่ที่สุดของประเทศออสเตรเลีย

กระบวนการทำงานในครั้งนี้นี่ไม่ต้องพูดถึง มัน ‘อิหยังวะ’ ตั้งแต่ตอนเขียนบทจนถึงโปรดักชัน

“คนบ้าอะไรไปทำละครพูดให้ต่างชาติดู” คนบ้าแบบคณะละคร Fluid Collaboration นั่นแหละจ้า

Fluid Collaboration Theatre เป็นคณะละครอิสระ ก่อตั้งโดยกลุ่มคนตัวเล็กที่รักละครเวทีจากเมืองไทย โดยปัจจุบันมีผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมด 5 คน

นี่คือการรวมตัวของกลุ่มคนไม่ธรรมดา (เพราะประหลาดสุด ๆ) ที่เป็นศิษย์เก่า ถาปัดการละคอน จุฬาฯ ไปแล้ว 4 คน ขออนุญาตเอ่ยนาม ได้แก่ พี่เนี้ยบ STU 76 มีมี่ STU 78 มอส STU 83 และฉัน – แน็ทตี้ STU 78 ส่วนสมาชิกน้องใหม่ (แต่แก่ที่สุด) เป็นอดีตลูกศิษย์กลุ่มละครมะขามป้อม เชียงดาว คือ พี่วู้ดดี้

หากจะย้อนหาจุดเริ่มต้นการทำละครภาษาอังกฤษซึ่งไม่ใช่ภาษาแม่ของตัวเอง คงต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2019 นั่นคือการส่งวิทยานิพนธ์ของฉัน ผู้เดินทางไปเรียนต่อด้านการแสดงละครเวทีในระดับปริญญาโทที่ Victorian College of the Arts (VCA) ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย 

กำแพงของการทำละครในต่างแดนคงหนีไม่พ้น ‘กำแพงภาษา’

ศิลปินส่วนใหญ่มักเลือกใช้ภาษาภาพหรือการใช้ร่างกายในการสื่อความหมายให้คนต่างชาติดู แต่มนุษย์ที่รู้ตัวว่าเต้นให้ตรงจังหวะก็ยากพอ ๆ กับร้องเพลงให้ตรงคีย์อย่างฉัน ตัดสินใจได้อย่างไม่ลังเลว่าทำได้แค่ ‘ละครพูด’ เท่านั้นแหละ

ช่วงเวลาที่ฉันต้องส่งธีสิสละครเวทีในฐานะผู้กำกับ โดยมีอาจารย์ชาวออสเตรเลียตรวจให้คะแนน ขณะนั้นความคิดร้ายกาจปะทุเข้ามาในหัวอย่างเป็นธรรมชาติ 

“หรือจะทำละครพูดภาษาไทยให้มันงงไปเลย อาจารย์ตรวจไม่ได้ เป็นปัญหาของอาจารย์ ไม่ใช่ปัญหาของฉันเสียหน่อย”

แต่แล้วความคิดกึ่งเล่นกึ่งจริงนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามในวิทยานิพนธ์ How to translate not only the language but also culture in theatrical performances? 

แล้วการรวมตัวกันของศิษย์เก่าถาปัดการละคอน จุฬาฯ เพื่อให้นักเรียนต่างด้าวต่างแดนคนหนึ่งทำละครจบปริญญาโทที่ออสเตรเลีย ก็กลายมาเป็นการลองทำละครเวทีจริงจังนอกรั้วมหาวิทยาลัยด้วยกันครั้งแรก

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ฉันและทีมงาน Fluid Collaboration Theatre มีโอกาสนำละครใหม่เอี่ยมเรื่อง Unexpected Thailand เขียนโดย พัทธวรรณ สุกทน, พิติ คติมุนีธร และ ญาณกร อุ่ยสมพงศ์ หรือแปลเป็นไทย (โดยที่ไม่ได้ขอนักเขียน) ว่า เมืองไทยอิหยังวะ เข้าร่วมแสดงในงาน Melbourne Fringe Festival 2023 ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยมี Thai Theatre Foundation (TTF) เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการจัดการการทำละครในชีวิตจริง

จากภูมิหลังการเป็นผู้กำกับต้องผันตัวมาเป็นนักจัดการละครเวทีจำเป็นเพราะคนไม่พอ บอกได้คำเดียวเลยว่า ‘เกือบเอาชีวิตไม่รอด’ ที่น่าหนักใจคือไม่ใช่แค่ชีวิตตัวเอง แต่เป็นชีวิตทีมงานทั้งหมด

ขอแบ่งเรื่องราวของการจัดละครอลหม่านนี้เป็น 4 ส่วน ได้แก่ การหาเพื่อนร่วมทีม การหาเงินสนับสนุน การแบกกลุ่มศิลปินไทยไปทำงานในต่างแดนครั้งแรก และการแสดง-การขายตั๋ว 

หากเปรียบเทียบการทำละครสักเรื่องเหมือนการสร้างชีวิต 4 ขั้นตอนนี้คงเหมือนกับการหาคู่ครอง การหาเงินแต่งงาน การดูแลภรรยาท้องแก่ และการคลอดลูก

การหาเพื่อนร่วมทีม (การหาคู่ครอง)

เพื่อนร่วมอุดมการณ์หาไม่ยาก แต่การจะจับมือทีมงานทุกคนให้แน่นเท่ากันให้ตลอดรอดฝั่งจนแต่งงานมีลูก คือต้องหาทีมที่มองเห็นปลายทางเดียวกัน 

เงื่อนไขสำคัญคือกำแพงภาษาภายในทีม ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ‘ภาษาที่ใช้สื่อสาร’ เพราะทุกคนพูดภาษาไทยเหมือนกัน แต่เป็น ‘ภาษาในการทำงาน’ เพราะต่างคนต่างมาจากคนละทิศคนละทาง ไม่เคยร่วมงานกันจริงจังมาก่อน

เริ่มจากบทละครที่ยังไงก็ต้องเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเรามีเป้าหมายชัดเจน ต้องเล่นให้ต่างชาติดู

โชคดีที่โปรเจกต์เรามีคนคล่องภาษาอังกฤษอย่างพี่เนี้ยบ แต่โชคไม่ดีคือพี่เนี้ยบไม่เคยเขียนบท เลยต้องมีผู้ร่วมกระบวนการอย่างมีมี่ โชคดีที่มีมี่เคยเขียนบท แต่โชคไม่ดีที่มีมี่ภาษาอังกฤษคล่องไม่เท่าพี่เนี้ยบ ทั้ง 2 คนจึงต้องทำงานกันเหมือนฝาแฝดอิน-จัน ต่างกันที่ร่างกายไม่ต้องติดกัน แต่สมองต้องเชื่อมโยงกัน 

ตลอดการทำงาน ทั้งคู่ต้องทำงานด้วยกันบ่อยจนคนรู้ใจของทั้ง 2 ฝ่ายเกือบน้อยใจ โชคดีอีกครั้งที่มีมี่เป็นผู้หญิง แต่พี่เนี้ยบไม่ได้สนใจมีแฟนเป็นผู้หญิง 

แต่ใด ๆ คือต่อให้พี่เนี้ยบและมีมี่เก่งและอึดแค่ไหนก็หมดแรงข้าวต้ม น้องน้ำ ตัวละครใหม่จึงต้องเข้ามาเสริมกำลัง และกลายร่างเป็นแฝดสยาม 3 คน เนี้ยบ-มี่-น้ำ

นอกจากนี้ยังต้องทำงานทางไกล Thailand-Australia-USA เพราะทีมงานเราประจำอยู่ 3 เมือง 

ตอนคิดตารางไม่ได้ยาก แต่พอทำจริง ๆ Time Zone กับการใช้ชีวิตมีผลต่อความเหนื่อยล้าทางร่างกาย ทีมงานเล่าว่าจุดพีกที่สุดเห็นจะเป็นการซ้อมที่ออสเตรเลีย ทีมไทยต้องตัดสินใจว่าจะแก้ไขงานร่วมกับทีมเมลเบิร์นอย่างไร ก่อนจะส่งข้อสรุปให้ทีมสหรัฐฯ (ที่มีคนเดียวคือ น้องวิน Sound Composer) 

งานที่ความจริงจะทำให้เสร็จได้ในไม่กี่ชั่วโมงถ้าทุกคนนั่งอยู่ด้วยกัน จึงต้องใช้เวลาร่วม 2 วัน เพราะต้องรอให้อีกทีม ‘ตื่นและทำงาน’

หลังจากทำละครเสร็จไม่ถึงเดือน มีโอกาสได้ร่วมเวิร์กช็อปหนึ่งที่สนับสนุน EMERGING PRODUCERS

เราได้รู้จักกับคำว่า Professional Friends ได้รู้ว่าการจะทำโปรเจกต์บางอย่าง ไม่ต้องเริ่มจากเพื่อนรักของเราก็ได้ แต่เริ่มจากเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่มองเห็นดาวเหนือดวงเดียวกัน ตอนที่เหนื่อยและท้อจนอยากจะหยุด ดาวเหนือที่เราจิ้มว่าจะไปด้วยกันตั้งแต่วันแรกจะนำทางให้เราไปต่อ 

แต่โปรเจกต์นี้ดันเริ่มจากเพื่อนที่รักที่สุด ไปสู่บทบาทที่ไม่เคยทำด้วยกันมาก่อน 

เมื่อเพื่อนรักต่างมีหน้าที่ของตัวเอง สิ่งที่สำคัญที่สุด คือตอบตัวเองให้ได้ว่า “เรากำลังทำสิ่งนี้เพื่ออะไร”

ภายหลังจบละคร เรามีโอกาสได้มานั่งคุยกัน ทุกฝ่ายบอกว่าเหนื่อยมาก เหนื่อยที่สุด แต่ก็รอดมาได้ ด้วยคำว่า “เริ่มแล้ว ต้องทำได้ ต้องทำได้เท่านั้น” ตอนนี้ละครจบแล้ว บางคนต้องการเวลาพักจากการทำละคร อาจหลักสัปดาห์ หลักเดือน หรือหลักปี แต่ฉันก็หวังว่าวันหนึ่งในอนาคตจะมีโอกาสได้ทำงานกับทีมที่รักที่สุดนี้อีกครั้ง

การหาเงินสนับสนุน (การกั้นประตูเงินประตูทอง)

การขอสปอนเซอร์เหมือนกับการไปขอญาติผู้ใหญ่ให้อนุญาตให้เราแต่งงาน เหมือนการกั้นประตูเงินประตูทองจากกรุงเทพฯ ไปยังยอดเขาโอลิมปัส

เริ่มแรก ความหวังยิ่งใหญ่คือเงินสนับสนุนจากรัฐบาลไทย เพราะพวกเรา เอา ‘Soft Power’ คือศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทย ไปต่างแดนแบบรัฐบาลไม่ได้ร้องขอ 

แหม! มันต้องได้สักทุนสิ 

แต่แล้วความหวังก็พังพินาศ เพราะระยะเวลางานที่จัดงาน Fringe คือเดือนตุลาคม เดือนแห่งการตัดนโยบาย ถ้างานก่อนเดือนกันยายนจะขอทุนของปีปัจจุบัน หรือหลังจากเดือนพฤศจิกายนจะเป็นการของบสนับสนุนของปีถัดไปได้ แต่เดือนตุลาคมคือจุดบอด

ฉันรู้สึกตัวเล็กมาก ไม่มีกำลังใจจะทำอะไรเลย จะให้เลื่อนงาน Fringe ของออสเตรเลียคงทำไม่ได้ หรือให้มาเลื่อนการเดือนการจัดสรรงบประมาณของประเทศไทยยิ่งแล้วใหญ่ 

เราจึงหันไปมองหา Business Sector โดยขอทุนสนับสนุนจากธุรกิจทั้งในไทยและออสเตรเลีย ติดต่อไปประมาณ 70 กว่าเจ้า โดนปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วน ด้วยเหตุผลต่างกันไป

ทีมงานท้อ หนทางมืดมัว

ขณะที่ฉันในฐานะผู้จัดต้องตัดสินใจว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ แสงจากปลายอุโมงค์ก็สว่างจ้า เราได้เงินสนับสนุนก้อนใหญ่จากรุ่นพี่ที่คณะ อย่าง พี่ต๊อก-เสริมสิน สมะลาภา เงินนั้นไม่เพียงช่วยต่อลมหายใจ แต่เป็นเงินก้อนหลักที่เราจะทำฝันให้เป็นจริงได้

หลังจากเล็งเห็นว่าคนที่จะเชื่อมั่นในตัวเราและเห็นคุณค่ากับสิ่งที่เราทำ คือคนที่ ‘รู้จักเรา’ ฉันและทีมจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ นั่นคือการเริ่มเล่าโปรเจกต์ที่จะทำให้คนรู้จักฟังอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา คือจะขอเงินพี่แบบไม่มีผลประโยชน์อะไรมาแลก เงินที่พี่ให้แค่สนับสนุนความฝันของคณะละครเล็ก ๆ คณะหนึ่งไม่น่าเชื่อ มันง่ายกว่าไปนั่งอธิบายผลประโยชน์ให้บริษัทใหญ่ ๆ ฟังเป็นเดือน ๆ พวกเราได้เงินสนับสนุนจากรุ่นพี่เจ้าของธุรกิจ SME ที่รักเคารพเพิ่ม ได้แก่ พี่เคน-ประนนท์ เลาหะพันธุ์ และ พี่หมิง-อินทนนท์ จิราวณิชานันท์ คำพูดของพี่ฉันจำได้ไม่ลืม เงินอาจไม่ได้เยอะมาก แต่หวังว่าจะช่วยเป็นแรงส่งแรกในการปั่นจักรยานให้น้อง ๆ ทรงตัวได้

กำลังใจเริ่มมา

หลังจากนั้นไม่นาน พวกเราก็เริ่มได้ In-kind Sponsors ซึ่งเป็นสเปซสำหรับซ้อมละครที่ Buffalo Bridge Gallery แถว พหล-อารีย์ และงานพรินต์บัตร-โปสเตอร์ทั้งหมด จาก Dot Print studio รวมถึงเงินสนับสนุนจากเพื่อน ๆ และครอบครัว

หากต้องเปรียบความรู้สึกมากมายที่เกิดขึ้นให้พอเห็นภาพ ฉันคงเปรียบกับการที่พวกเราวิ่งมาราธอนไปที่ยอดเขาโอลิมปัสแบบมีพายุฝนลงอย่างบ้าคลั่ง เรามองไม่เห็นว่าไกลแค่ไหน และจะทำได้ไหม ถ้าวิ่งกลับบ้านน่าจะทำได้ แต่เราขอลูกสาวเขามาแล้ว (ทีมงานทุกคนลงแรงกันมามากแล้ว)

 ในขณะที่สับสนและกดดันต่อการตัดสินใจก้าวต่อไป การได้รับการสนับสนุนเหล่านี้ไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดเป็นพระเจ้ามาช่วยหยุดพายุฝนหรือพาเราบินไปยังยอดเขา แต่คงเปรียบเหมือนมีเทพในป่ามาช่วยกางร่มคันใหญ่ระหว่างทาง ทำให้เรามองเห็นได้ดีขึ้น และเดินทางเป็นเพื่อนไประยะหนึ่ง หัวใจจึงไม่รู้สึกท้อแท้จนเกินไป

ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ฉันตั้งปณิธานกับตัวเองว่า “โตขึ้น ฉันจะยิ่งใหญ่และสนับสนุนคนตัวเล็กให้ได้แบบนี้” เหมือนตะโกนจากยอดเขาโอลิมปัส และบอกว่ามาเจอกันครึ่งทาง เดี๋ยวลงไปหา จะทำให้ได้เลย

การพาทีมจากไทย ไปออสฯ ครั้งแรก (การดูแลภรรยาท้องแก่)

ที่ต้องใช้คำว่าเหมือนพาภรรยาท้องแก่เดินทาง แม้จะรู้สึกอุ่นใจ แต่มันไม่คล่องตัวเท่าไปคนเดียวไงล่ะ 

ฉันที่มีวีซ่าการทำงานที่ออสเตรเลียอยู่แล้ว ถ้าทำงานคนเดียวก็แค่บินไปออสเตรเลีย หาที่พัก และไปทำงาน อยู่เที่ยวต่อ หรือบินกลับไทยก็ตามสะดวก (หลังเรียนจบปริญญาโท ทุกคนจะยื่นขอวีซ่าทำงานได้ประมาณ 2 – 3 ปี แล้วแต่เงื่อนไขของรัฐบาลออสเตรเลีย ณ เวลานั้น – ใครสนใจเข้าไปดูได้ที่นี่)

แต่คราวนี้พาพวกไปด้วย ไม่ใช่พวกธรรมดา พวกที่ไม่เคยขอวีซ่าออสเตรเลียมาก่อน

เริ่มต้นเลย วีซ่าออสเตรเลียจะว่าง่ายก็ง่าย แต่คนโดนปฏิเสธก็เยอะมากหลังจากโควิด-19 กระบวนการพิจารณาวีซ่าของประเทศออสเตรเลียแบ่งความเสี่ยงเป็น 3 ลำดับ โดยลำดับที่ 3 คือเสี่ยงมากที่สุด (พิจารณาเข้มงวดที่สุด เพราะเสี่ยงต่อการหลบหนี) ล่าสุดหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยหล่นจากประเทศลำดับ 2 เป็นลำดับ 3 ในการขอวีซ่า อาจเป็นเพราะมีผู้หลบหนีและลักลอบทำงานผิดกฎหมายมากขึ้น หมายความง่าย ๆ คือคนไทยจะได้วีซ่าเข้าประเทศออสเตรเลียยากขึ้น

ทีมงานเริ่มหายใจไม่ทั่วท้อง เราตั้งใจจะไปกัน 4 คน แต่อาจต้องทำวีซ่าให้คนที่เหลือเผื่อไว้ด้วย เพราะไม่รู้ใครจะโดนปฏิเสธ รวมแล้วก็ 6 – 7 คน ที่สำคัญ คราวนี้พวกเราไปทำงาน ไม่ได้ไปเที่ยว จึงอยากทำให้ทุกอย่างถูกต้อง น่าจะต้องขอวีซ่าทำงาน ฉันเองก็ไม่เคยต้องขอวีซ่าทำงานระยะสั้นประเภทนี้ ทีมจึงปรึกษากันว่าอยากใช้ผู้เชี่ยวชาญช่วยรวบรวมเอกสาร เมื่อตามหาและเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย แค่เฉพาะค่าบริการก็ปาเข้าไปคนละ 8,000 – 10,000 บาท 

เงินสปอนเซอร์ที่หามาเลือดตาแทบกระเด็นจะเอามาใช้กับอะไรแบบนี้ไม่ได้ ฉันจึงตัดสินใจขอวีซ่าให้ทีมงานด้วยตัวเอง เริ่มจากเข้าเว็บไซต์ไปดูว่าต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง เนื่องจากงาน Fringe เป็นงานระดับรัฐ งานค่อนข้างใหญ่และรัฐบาลให้การสนับสนุนหลายภาคส่วน ฉันจึงทำเรื่องขอให้ทีมงาน Fringe ออกจดหมายเชิญให้พวกเราทุกคน โดยเลือกให้ออกให้ทีละคน เผื่อบางคนโดนปฏิเสธ คนที่เหลือจะได้ไม่โดนพ่วงไปด้วย 

หลังจากให้ทีมงานรวบรวมเอกสารส่วนตัวให้ครบ พวกเรามานั่งกองกัน กรอกเอกสารพร้อมกัน เผื่อใครมีคำถามจะได้ช่วยกันหาคำตอบ เหมือนห้องเรียนย่อม ๆ ใน Food Court แห่งหนึ่ง นั่งอยู่ด้วยกันประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงได้ ชำระค่าวีซ่าประมาณ 9,000 กว่าบาทก็เป็นอันเสร็จ หลังจากส่งเอกสารต้องมีการนัดไปสแกนลายนิ้วมือโดย VFS ประเทศไทย ค่าใช้จ่ายประมาณ 700 กว่าบาท 

สิ่งที่ลืมไม่ได้คืออธิษฐาน โอม ขอให้ผ่าน พวกเราคาดหวังว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการพิจารณา แต่หลังจากสแกนลายนิ้วมือ 1 สัปดาห์ พอดีผลออกเลย ทุกคนผ่านหมด ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเราขอวีซ่า Working for Artists มีจดหมายสนับสนุนจาก Melbourne Fringe ชัดเจน แต่อีกส่วนหนึ่งทีมงานค่อนข้างมั่นใจว่าเพราะแรงอธิษฐานต่อเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ

การกินอยู่ที่เมลเบิร์นไม่ซับซ้อน พวกเราหาบ้านจาก Airbnb ที่มีห้องนอนเพียงพอ มีห้องครัว และมีส่วนกลางใหญ่พอเพื่อให้ทุกคนมีพื้นที่ส่วนตัวในขณะทำงาน จะได้ไม่เครียดเกินไป เราได้บ้านเก่าแต่สะอาดนอกเมือง ตกแล้วคืนละประมาณ 5,000 บาท 

การเดินทางจากที่พักถึงสถานที่จัดแสดงในเมืองเดินทางโดยใช้รถราง (Tram) หรือรถบัสประมาณ 30 – 40 นาที ที่เมลเบิร์นทุกคนซื้อบัตร Myki Card เป็นบัตรเดินทางรถสาธารณะ บัตรเดียวขึ้นได้ทั้งรถบัส รถราง และรถไฟ ราคาอยู่ที่รอบละ 5 AUD หรือประมาณ 120 – 130 บาท ถ้านั่ง 2 รอบขึ้นไปใน 1 วัน จะคิดราคาแค่ 10 AUD

ส่วนเรื่องอาหารการกิน แม้เมลเบิร์นจะขึ้นชื่อเรื่อง Food Culture คราวนี้พวกเราเลือกที่จะประหยัด ตกลงกันว่าจะไม่ทานข้าวนอกบ้านเพราะค่าครองชีพแพงเหมือนมาปล้น พวกเราแบ่งงบไว้สำหรับซื้อของสดเข้าบ้านเพื่อทำอาหาร และเงินทุกบาทของกองมีค่ามาก เราจะทำอาหารทานเอง ทีมงานที่คัดมาแล้วว่าบางส่วนทำอาหารได้ จึงไม่น่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะพี่วู้ดดี้ Stage Manager มือวางการทำอาหารไทย เจ้าของหม้อหุงข้าว และยังมี มอส Art Director ร่างใหญ่ ปากจัด งานเนี้ยบ แต่ทำอาหารรสละมุนลิ้น แถมยังมีหนึ่งในทีมงานที่เมลเบิร์น คือ จุ๊ PR สาว ยังมีดีกรีเป็น Head Chef ของร้านอาหารไทย นอกจากช่วย PR ละครแล้ว ยังมาโชว์ฝีมือการทำแกงเขียวหวานหม้อใหญ่ไว้ให้ทีมที่บ้าน พร้อมสเต๊กเนื้อออสเตรเลียที่อร่อยจนคนที่ไม่กินเนื้ออย่าง มะตูม น้องนักแสดง ต้องขอคุณแม่และเจ้าแม่กวนอิมว่า ขอลองชิมหน่อยได้ไหม 

ทุกคนอิ่มอร่อยมีความสุขกันถ้วนหน้า มีคนแอบบ่นว่ามาเมืองนอกคราวนี้ได้กินแต่อาหารไทย คิดถึงพาสตามาก ๆ

การขายตั๋ว (การคลอดลูกแล้วจูงลูกไปโรงเรียนอนุบาลทันที)

มาถึงเรื่องการขายตั๋วละคร ต่อให้เรารักลูกมากแค่ไหน แต่ในสายตาของคนดู เราไม่มีทางรู้เลยว่าลูก (ละคร) ของเราน่ารักน่าสนใจหรือเปล่า 

การจัดแสดงงานในงาน Melbourne Fringe Festival ภาพรวมคือคณะละครต้องจ่ายค่าแรกเข้าประมาณ 425 AUD (ประมาณ 9,000 กว่าบาท) Fringe จะเป็นผู้ดูแลเรื่องการขายตั๋ว จองตั๋ว การจ่ายเงินทั้งหมด ส่วนเรื่องของการหาสถานที่จัดแสดง ทางคณะละครต้องตกลงกับทาง Venue เอง

เริ่มแรกพวกเราเดินทางไปที่เมลเบิร์นก่อนสัปดาห์การแสดง 3 วัน เพื่อไปร่วมงานที่ Artist Hub นำทีมโดยพี่วู้ดดี้สวมชฎาไทยเดินในงานเพื่อโปรโมต ก่อนไปพวกเรามั่นใจจนอาจต้องขอใช้คำว่า ‘มั่นหน้ามาก’ ว่าละครเรามันเจ๋ง มันยูนีก มัน Exotic มันต้องน่าดู ที่ไหนได้ ลืมคำนวณว่าคู่แข่งในงานนี้คือคณะละครอื่นอีก 400 กว่าคณะ มีทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ และขาประจำ Fringe จากทั่วออสเตรเลีย คนดูต้องเลือกว่าจะดูใคร (เพราะคนดูก็มีงบจำกัดไงล่ะ)

การ PR จึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตของละคร เป็นอีกครั้งที่จุ๊ PR สาวทำหน้าที่ของเธอได้เป็นอย่างดี จุดแข็งของเราคือ Thainess หนีไม่พ้นการเชิญ Thai Business Owners, Thai Celebrities in Melbourne และคนไทยในเมลเบิร์นต่าง ๆ

คืนวันพุธ วันที่ตื่นเต้นที่สุดคืองานเปิดตัว Opening Night (World’s Premier) ของ Unexpected Thailand เต็มไปด้วยบรรยากาศคึกคักและอบอุ่น มีผู้ร่วมงานเต็มโรง ทั้งจากสำนักข่าว SBS Thai in Melbourne ที่มาร่วมสัมภาษณ์หลังจบการแสดง คุณริชาร์ด และ คุณจ๋อน แห่งคณะละครมะขามป้อม และ Free Theatre (Based in Melbourne) คุณรักษ์ศักดิ์ ก้งเส็ง แห่ง Thai Theatre Foundation (Based in New York City) เจ้าของร้านและทีมงานจากอาหารไทยในเมลเบิร์น ได้แก่ Thai Town, Sa-Bieng Thong, Humble Rays, Udom, Niyom Thai, และอีกมากมาย Thai Refugee in Melbourne คนดูชาวไทยและชาวต่างชาติที่ไม่ได้รู้จักก็มาร่วมชมการแสดงและแสดงความยินดี 

ท้ายโชว์เรามีการเสวนากับศิลปิน ซึ่งใช้เวลานานยิ่งกว่าการแสดงละคร ผู้ชมชาวไทยและชาวต่างชาติต่างให้ความสนใจ เพราะคณะละครไทยในเมลเบิร์นไม่ได้มีให้เห็นกันบ่อย ๆ คนดูมีคำถามตั้งแต่เรื่องเบา ๆ อย่างจุดเริ่มต้นของงาน ไปถึงเรื่องหนัก ๆ เรื่องการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยเฉพาะล่าสุดมีการประชาสัมพันธ์เรื่องของ Soft Power เมื่อทราบว่าเสียงของพวกเราอาจดังไปไม่ถึงหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ ทางพี่ ๆ เจ้าของร้านอาหาร Thai Town ขอประกาศสนับสนุนอาหารทุกมื้อของทีมงานตลอดการแสดง ส่วนร้านอื่น ๆ ขอเชิญพวกเราไปทานอาหารที่ร้านเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน ฉันตระหนักได้ว่า Power ที่แท้จริงของมนุษย์นั้นไม่ Soft เลย มันหนักแน่นและจริงจัง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฉันรู้สึกได้ว่ามีค่ายิ่งกว่าการขายตั๋วให้เต็มโรง แต่เป็นการเริ่มต้นบทสนทนาการพัฒนาด้านมนุษย์-สังคม และเป็นอีกครั้งที่รู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่

ก่อนงานเปิดตัว ฉันเริ่มเช็กตั๋วที่ขายออกไป การแสดงมี 6 รอบ ที่นั่งจุได้ 30 ที่ แต่ละรอบมีคนดูจองมา 1 – 2 ที่นั่ง ใจของฉันเริ่มแป้ว โดยเฉพาะรอบการแสดงวันเสาร์ค่ำที่ยังไม่มีคนจองเลย ปรึกษากับทีมงานว่าเราไม่อยากเล่นโรงเปล่า จึงตัดสินใจส่งอีเมลไปแจ้ง Fringe เพื่อขอยกเลิกการแสดงรอบนั้น แต่กลับมาเช็กอีกรอบ ยอดตั๋วเริ่มเพิ่มขึ้นเป็น 7 ที่ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากงานเปิดตัว จึงต้องขอ Cancel ที่ Cancel ไป หัวใจหยุดเต้นกันไประยะหนึ่ง ท้ายสุด ถ้าไม่นับวันเปิดตัว รอบเสาร์ค่ำที่เกือบจะไม่ได้ไปต่อนี้เป็นรอบที่มีคนดูมากที่สุดของทั้ง Season (เกือบเต็มโรง)

ระหว่างสัปดาห์การแสดง Unexpected Thailand ได้ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ใน Crowd Pleaser ของ Fringe Festival อยู่ประมาณ 3 – 4 วัน ตอนแรกเราไม่ได้ตื่นเต้นมากมาย เพราะคิดว่าคงไม่มีใครสนใจ แต่ที่ไหนได้ คืนหนึ่งที่พวกเราไปดูการแสดงของคนอื่น ทีมงานของละครเรื่องนั้นถึงกับต้องพูดว่า Are you the ‘Unexpected Thailand’ team? We know you! You are the Number One at the moment และแถมกึ่งเล่นกึ่งจริงว่า We have to win this! You must vote for us! แต่สัปดาห์สุดท้าย พวกเราแพ้หลุดลุ่ย ได้แต่เก็บความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ 1 ก็มีความสุขดี แน่นอนว่าบรรยากาศของงาน Fringe เป็นงานที่ Friendly แม้ระหว่างทางจะเครียด แต่ปลายทางคือแหล่งรวมตัวของคนรักศิลปะการแสดงมาเจอกัน 

สุดท้ายนี้ หวังว่าผู้อ่านจะรู้สึกว่าขนาดยัยคนเด๋อเบอร์ตองยังทำละครในต่างแดนรอดมาแล้ว ผู้อ่านมีความฝันก้นหีบอะไรที่อยากทำก่อนตาย ลองทำดู มันยาก แต่ก็จะผ่านไปได้ เป็นกำลังใจให้นะ

And…Curtain!

ทีมงาน Unexpected Thailand 

Playwrights / Directors :

  • พิติ คติมุนีธร (เนี้ยบ)
  • พัทธวรรณ สุกทน (มีมี่)
  • ญาณกร อุ่ยสมพงศ์ (น้ำ)

Art Director / Set Designer / Lighting Designer / Multimedia Designer :

  • ศรัณย์ภัชร์ รัชตะนาวิน (มอส)

Sound Composer :

  • ชวิน เต็มสิทธิโชค (วิน)

Stage Managers :

  • วุฒินันท์ พึ่งประยูร (วู้ดดี้)
  • (Assistant) ปรางค์บุญ มีวาสนา (มะตูม)

Cast :

  • (Stage) ปราญชลี ขาใจ (แน็ทตี้)
  • (Stage) ปรางค์บุญ มีวาสนา (มะตูม)
  • (VDO) วุฒินันท์ พึ่งประยูร (วู้ดดี้)
  • (VDO) พิติ คติมุนีธร (เนี้ยบ)
  • (VDO) ญาณกร อุ่ยสมพงศ์ (น้ำ)

Producers :

  • ปราญชลี ขาใจ (แน็ทตี้)
  • (Assistant) ปรางค์บุญ มีวาสนา (มะตูม)
  • (Assistant) วุฒินันท์ พึ่งประยูร (วู้ดดี้)

PR : 

  • คลัง มงคลสวัสดิ์ (จุ๊)

Graphic Designers (For PR) :

  • ปรางค์บุญ มีวาสนา (มะตูม)
  • พัทธวรรณ สุกทน (มีมี่)

Melbourne Crew :

  • ศุภลักษณ์ ปัญญาประทีป (โรส)
  • ภิญญ์ วิศิษฏ์วิญญู (ภิญญ์)
  • ธัญชนิตา อภิธนาดล (ฮาร์ทบีต)
  • บุณณดา สุขทอง (มิลค์)

ภาพ : boom_porapat

Writer & Photographer

ปราญชลี ขาใจ

ปราญชลี ขาใจ

จบดีไซน์ จบกำกับละคร ทำงาน Marketing & Business Development ชอบทั้ง Arts และ Business ถ้าบังคับให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งจะขาดใจ รักหมา กลัวแมว ให้คะแนนคาเฟ่จากอเมริกาโน่ ให้คะแนนไอศกรีมจากรส Salted Caramel