อ่านอร่อยคราวนี้ อยากชวนคุยเรื่อง ‘TV Dinner’ ที่ถือเป็นปรากฏการณ์แห่งยุคของวงการอาหารในสหรัฐอเมริกาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ค่ะ 

ทีวีดินเนอร์มีจุดกำเนิดในช่วงทศวรรษ 1950 เป็นช่วงที่สังคมอเมริกันเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ส่งผลต่อกันเป็นทอด ๆ การเปลี่ยนแปลงอย่างแรกคือ Suburbanization หรือการย้ายถิ่นฐานจากตัวเมืองออกไปอยู่นอกเมืองกันมากขึ้น สาเหตุเพราะสภาพเศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัว อเมริกันชนมีรายได้มากขึ้น ต้องการบ้านใหญ่ขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า นโยบายของรัฐบาลก็ช่วยสนับสนุนทหารที่กลับมาจากสงคราม ทั้งในด้านเงินเพื่อการศึกษาและที่อยู่อาศัย อดีตทหารจำนวนไม่น้อยจึงเลือกซื้อบ้านในแถบนอกเมือง และต้องการครอบครัวที่อบอุ่นมั่นคง คนจึงแต่งงานกันมากขึ้น ขนาดครอบครัวเปลี่ยนไป กลายเป็นมีครอบครัวเดี่ยวที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูกมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ต่าง ๆ ทั้งการทำงาน การใช้เวลาว่าง และอาหารการกินค่ะ

การเปลี่ยนแปลงอีกอย่าง คือผู้หญิงอเมริกัน (ผิวขาว) ออกไปทำงานนอกบ้านเป็นจำนวนหลายล้านคนในยุคต้นทศวรรษ 1950 สมัยก่อนผู้ชายทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงอยู่ดูแลบ้านและลูก แต่หลังสงคราม เหล่าคุณแม่ (ที่มีโอกาสทำงานแทนผู้ชายในช่วงสงคราม) ยังคงต้องการทำงานไปพร้อม ๆ กับดูแลบ้าน ลูก และคุณสามี 

การเปลี่ยนแปลงอย่างสุดท้าย คือสังคมอเมริกันในยุค 1950 นี้มี ‘ทีวี’ เป็นสรณะ ทีวีเป็นเครื่องให้ความบันเทิงหลัก เป็นช่องทางที่ทำให้ผู้คนรับรู้ความเป็นไปของโลกภายนอก อัปเดตข่าวสาร ไอเดีย และเทรนด์ใหม่ ๆ จากที่ปี 1950 มีครอบครัวอเมริกันเพียง 9% ที่มีโทรทัศน์ แต่ในปี 1955 ตัวเลขพุ่งขึ้นเป็น 64% และในปี 1690 กว่า 87% ของครอบครัวชาวอเมริกันมีทีวี ดังนั้น ในเมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไป คุณแม่ทำงานนอกบ้านมากขึ้น เวลาจัดการเรื่องในบ้านน้อยลง ทีวีกลายเป็นศูนย์กลางความบันเทิงของบ้าน จึงไม่น่าแปลกใจที่เกิดนวัตกรรม ‘ทีวีดินเนอร์’ (TV Dinner) หรืออาหารพร้อมกินหน้าโทรทัศน์ขึ้นมาตอบรับความต้องการของผู้บริโภค การกินอาหารเย็นร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวจึงย้ายออกจากโต๊ะกินข้าว มาเป็นนั่งกินหน้าทีวีในห้องนั่งเล่น ดูรายการสนุก ๆ ไปด้วยกัน

ครอบครัวนั่งกินอาหารเย็นหน้าทีวี ช่วงปลายทศวรรษ 1950 
ภาพ : www.reddit.com

แบรนด์ Swanson ไม่ใช่เจ้าแรกที่ออกผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมกินหน้าทีวี แต่เป็นเจ้าแรกที่ใช้คำว่า TV Dinner และทำการตลาดอย่างหนักในช่วงปี 1953 – 1954 จนทำให้เป็นที่รู้จักของลูกค้าในฐานะมื้ออร่อยแสนสะดวก เพราะเอาออกจากช่องแช่แข็งมาอุ่นในเตาอบเพียง 25 นาที (ถือว่าน้อยมากแล้วในสมัยนั้นค่ะ) ก็ได้กินอาหารอร่อยร้อน ๆ อีกทั้งยังราคาไม่แพง (ในยุคแรกนั้นราคาเพียงกล่องละ 98 เซนต์) 

ทีวีดินเนอร์ของ Swanson ได้รับการตอบรับดีอย่างยิ่ง เพราะปีแรกที่เปิดขายในเดือนกันยายน ปี 1953 ขายได้ 10 ล้านกล่อง ปีถัดมาขายได้ 25 ล้านกล่อง (บางแหล่งกล่าวว่าตัวเลข 10 ล้านกล่องคือยอดขายทั้งปีของปี 1954) และขายดีขึ้นเรื่อย ๆ 

ภาพ : clickamericana.com
เมนูเนื้อไก่งวงกับเครื่องเคียง 
ภาพ : www.mentalfloss.com

เมนูแรกของผลิตภัณฑ์ทีวีดินเนอร์คือเนื้อไก่งวงสไลซ์ราดน้ำเกรวี มันหวาน และถั่ว แยกบรรจุในถาดอะลูมิเนียมแบ่งเป็นช่อง ๆ หลังจากที่เมนูแรก (ไก่งวงกับถั่วต้ม) ได้รับการตอบรับอย่างดี ผู้ผลิตจึงทำตัวเลือกอื่น ๆ ออกมาอีก ทั้งไก่ทอด สเต๊ก และในยุคต่อ ๆ มาก็มีอาหารเอเชียอย่างบะหมี่ผัด หรืออาหารเม็กซิกันอย่าง Enchilada (แผ่นแป้งข้าวโพดห่อไส้เนื้อและผัก ราดซอส) ด้วย เป็นสิ่งสะท้อนรสนิยมในการกินของชาวอเมริกัน 

มีตำนานสนุก ๆ ที่ว่ากันว่าเล่าโดยเซลส์แมนของ Swanson กล่าวว่า Swanson เป็นบริษัทขายเนื้อไก่และเนื้อไก่งวง ในปี 1953 มีไก่งวงเหลือจำนวนมาก (มากในที่นี้คือกว่า 260 ตัน!) หลังเทศกาลขอบคุณพระเจ้า เก็บอยู่ในตู้แช่แข็งรถไฟที่จะทำงานต่อเมื่อรถกำลังวิ่งเท่านั้น รถจึงต้องวิ่งไป-กลับข้ามประเทศ จนกว่าทีมบริหารจะคิดออกว่าจะทำยังไงดีกับไก่งวงที่เหลือบานเบอะ จึงมีการคิดทำทีวีดินเนอร์ขึ้นมา 

แต่ Bill Price ผู้เขียนหนังสือ Fifty Foods that Changed the Course of History แย้งว่าน่าจะเป็นเรื่องแต่งมากกว่า สาเหตุที่แท้จริงน่าจะเป็นเพราะพนักงาน Swanson ปิ๊งไอเดียมาจากอาหารที่เสิร์ฟบนเครื่องบินในตอนนั้น ซึ่งเป็นอาหารแช่แข็งที่จัดเสิร์ฟในถาดเป็นช่อง ๆ เช่นกัน 

เมนูอาหารนานาชาติของ Swanson 
ภาพ : metv.com

ถาดอะลูมิเนียมนี่ถือว่าเป็นนวัตกรรมอันสำคัญในยุคนั้นเลยค่ะ เพราะช่วยให้อุ่นอาหารที่แยกบรรจุในแต่ละช่องได้ร้อนพอดี ๆ อาหารในแต่ละช่องไม่ปนกัน ทำให้ไม่เสียรสชาติ อีกทั้งยังคงเนื้อสัมผัสไว้ได้ดี เป็นการ ‘ตัดตอน’ ขั้นตอนการปรุงอันซับซ้อนและใช้เวลามากไปโดยสิ้นเชิง กลายเป็นยุคที่ใคร ๆ ก็กินอาหารอร่อยแบบ ‘ทำใหม่ร้อน ๆ’ ได้ แม้จะทำกับข้าวไม่เป็นเลย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเสียดายที่เกิดไม่ทันนะคะ ถ้าเกิดทัน อยากลองกินทีวีดินเนอร์ของยุคแรกเริ่มดู เพราะจากวันนั้นถึงวันนี้ อาหารพร้อมกินของหลากหลายยี่ห้อได้รับการปรับปรุงและพัฒนามาเรื่อย ๆ จนถูกปากผู้บริโภค มีตัวเลือกหลากหลายสุด ๆ

เมนูไก่ทอดของ Swanson 
ภาพ : history.com 

นักแบคทีเรียวิทยาของ Swanson ชื่อ Betty Cronin ได้รับโจทย์จากผู้บริหารให้ออกแบบ ‘อาหารแช่แข็งที่อุ่นแล้วอร่อย’ อีกทั้งยังต้องมีเนื้อสัมผัสดี คุณ Cronin เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ Chicago Tribune ปี 1989 ไว้ว่า หนึ่งในเมนูที่ท้าทายที่สุดคือไก่ทอด เพราะยากมากที่จะทำให้แป้ง (เคลือบไก่) ยังคงสภาพและกรอบอร่อยได้หลังถูกแช่แข็ง และต้องไม่มันเกินไป

อย่างไรก็ดี นักร้องชื่อดังระดับตำนาน Barbra Streisand ระบุในนิตยสาร The New Yorker ในปี 1962 ว่า ไก่ทอดอร่อยที่สุดที่ฉันเคยกิน คือไก่ทอดทีวีดินเนอร์ ซึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นบทสัมภาษณ์ของเธอจริง ๆ หรือเป็นเพียงการโฆษณา

ประธานาธิบดี Ronald Reagan และภริยา ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1981 
ภาพ : www.loc.gov

กลยุทธ์การตลาดของ Swanson ถือว่าดีมาก ๆ ในยุคนั้น เริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อว่า TV Dinner ที่ชัดเจนและสอดรับกับกระแสความนิยมในโทรทัศน์ บรรจุภัณฑ์สวยงามและดูทันสมัยด้วยถาดอะลูมิเนียม มีภาพอาหารสีสวยน่ากินบนฝากล่อง ราคาจับต้องได้ มีเมนูให้เลือกมากมาย อีกทั้ง Swanson ยังเลือกโปรโมตผลิตภัณฑ์ผ่านโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่มีคนดูจำนวนมหาศาล และยังจ่ายเงินเพื่อปรากฏเป็นโฆษณาแฝง (Tie-in) ในรายการโทรทัศน์ยอดนิยม สร้างภาพจำที่เป็นมื้ออร่อยและสะดวกในใจผู้บริโภคยุคใหม่ที่ทั้งพ่อบ้านและแม่บ้านออกไปทำงานข้างนอกได้สำเร็จ 

จากการใช้เวลา 25 นาทีในการอุ่น ในปี 1986 อาหารพร้อมกินของแบรนด์ Campbells สร้างปรากฏการณ์สนั่นวงการ เพราะคิดค้นถาดอาหารที่อุ่นในเตาอบไมโครเวฟได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที ทำให้ระยะเวลาในการอุ่น 25 นาทีของ Swanson กลายเป็นชักช้าไม่ทันใจไปเลย

อย่างไรก็ดี ของใหม่ย่อมมาพร้อมคำวิจารณ์ ในสมัยนั้นและก่อนหน้า ผู้คนให้คุณค่าต่อ Home-cooked Meals หรือการทำอาหารกินเองที่บ้าน ที่คุณแม่บ้านต้องใช้เวลาครึ่งค่อนวันในการเตรียมวัตถุดิบและปรุงด้วยความใส่ใจ จึงมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยขมวดคิ้วใส่ทีวีดินเนอร์ที่คุณแม่บ้านแทบไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย 

ที่ตลกคือคนบ่นส่วนหนึ่งก็คือคุณผู้ชายของบ้าน เพราะ Swanson ได้รับจดหมายร้องเรียนจำนวนมากที่ทำให้พวกเขาต้องอดกินอาหารฝีมือภรรยา!

คุณแม่บ้านกำลังอุ่นทีวีดินเนอร์ในเตาอบ ภาพปี 1965 
ภาพ : www.loc.gov

อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและสุขภาพยังตั้งคำถามถึงประเด็นเรื่องสุขภาพ เพราะบางเมนูมีโซเดียมและไขมันอิ่มตัวสูงมาก บางเมนูใช้วัตถุกันเสียและวัตถุเจือปนอาหารในปริมาณมาก จนอาจก่อปัญหาสุขภาพในระยะยาว 

เรื่องบรรจุภัณฑ์ของทีวีดินเนอร์ก็เคยเป็นประเด็นอยู่ในช่วงหนึ่งค่ะ คือช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนตื่นตัวเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาหารพร้อมกินถูกโจมตีว่าใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว (Single-use) ที่ก่อปัญหา ในยุคต่อ ๆ มาผู้ผลิตจึงมีการปรับรูปแบบ เราจึงได้เห็นเมนูที่ ‘ดีต่อสุขภาพ’ มากขึ้น เช่น ใช้เนื้อสัตว์ส่วนที่ไม่มันมากนัก ใช้ธัญพืชเต็มรูป ลดปริมาณโซเดียม และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ภาพครอบครัวรับประทานอาหารด้วยกันในปี 1952 
ภาพ : Pinterest

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการโจมตีว่าเจ้าทีวีดินเนอร์นี้ได้ทำลาย ‘ความสัมพันธ์อันดี’ ระหว่างคนในครอบครัว แทนที่จะกินข้าวร่วมโต๊ะและพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ที่พบในระหว่างวัน กลับทำให้สมาชิกในครอบครัวจดจ่อความสนใจไปที่รายการทีวีแทนแม้จะนั่งกินด้วยกัน ซึ่งถูกโจมตีว่าเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ตื้นเขินและขาดความแน่นแฟ้น เน้นแต่ความบันเทิง

สรุปคือผลิตภัณฑ์ทีวีดินเนอร์เป็นมากกว่า ‘อาหารชนิดใหม่’ แต่นับได้ว่าเป็น ‘ตัวแทนของยุคสมัย’ ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่ว่า แม้ผู้หญิงจะออกไปทำงานนอกบ้าน แต่ต้องแบกรับหน้าที่ดูแลบ้านและครอบครัวไว้เช่นเดิม ผลิตภัณฑ์ประเภทเร็ว ง่าย อร่อย จึงตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบสมัยใหม่อย่างยิ่ง

อาหารพร้อมกินยี่ห้อ Libby’s ที่ออกแบบมาหวังให้ถูกใจเด็ก ๆ
ภาพ : metv.com 

อีกทั้งทีวีดินเนอร์ยังถือเป็นการพลิกโฉมคอนเซปต์เรื่อง Convenience หรือ ‘ความสะดวก’ ทางการกินไปโดยสิ้นเชิง จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 70 ปี (นับตั้งแต่ทีวีดินเนอร์ของ Swanson ออกสู่ตลาด) เราเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตและมีตัวเลือก ‘อาหารพร้อมกิน’ เยอะแยะไปหมด นอกจากอาหารพร้อมกินทั้งแบบแช่เย็นและแช่แข็ง (ที่มีให้เลือกเยอะสุด ๆ) แล้ว ยังมีผลไม้ตัดแต่งพร้อมกิน สลัดพร้อมกิน แม้กระทั่งซูชิ และข้าวโพดคั่วที่อบในเตาไมโครเวฟไม่กี่นาทีก็ได้กิน เป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันที่เกิดในยุค 1900 คงนึกไม่ถึง การทำอาหารที่เคยเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ทั้งฝีมือและเวลากลายเป็นสิ่งที่แทบจะดีดนิ้วก็ได้กิน

คุณผู้อ่านคงเห็นด้วยนะคะว่าอาหารไม่เพียงแต่ทำให้ท้องอิ่มเท่านั้น แต่ในกรณีของทีวีดินเนอร์ อาหารกลายเป็นสิ่งที่หล่อหลอมนิสัยและความเคยชินแบบใหม่ให้แก่อเมริกันชนหลายสิบล้านคน และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังคงอยู่จนทุกวันนี้ ได้รับการปรับปรุงมาเรื่อย ๆ โดยยังคงคอนเซปต์ ‘ความอร่อยแสนสะดวก’ ไว้เช่นเดิม เป็นตัวแทนเล่าเรื่องความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เกิดพร้อม ๆ กันหลายแง่มุม ทั้งในแง่สังคม เทคโนโลยี และรสนิยมการกินนั่นเองค่ะ

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม