เมื่อนึกถึงวัฒนธรรมการดื่มชา หลายคนมักจะนึกถึงชาอังกฤษเป็นลำดับแรก ๆ ในห้วงความคิด และคงคุ้นเคยกับสำนวนของชาวอังกฤษที่ว่า ‘Let’s put the kettle on’ แปลว่า เรามาตั้งกาต้มน้ำกันเถอะ เพื่อเตรียมชงชาสำหรับต้อนรับแขกในบ้าน วัฒนธรรมการต้อนรับขับสู้ (Hospitality) หรือสร้างความคุ้นเคย (Breaking the ice) ด้วยน้ำชาในลักษณะคล้าย ๆ กันนี้ ยังพบได้ในอีกฟากหนึ่งของดินแดนสองทวีปอย่าง ‘ตุรกี’ ด้วยเช่นกัน
เมื่อได้ยินชาวตุรกีเอ่ยคำว่า Hoşgeldiniz (อ่านว่า ฮอช-เกล-ดิ-นิซ) แปลว่า ยินดีต้อนรับ เรามักจะเห็นรอยยิ้มที่ตามมาด้วยประโยค Çay ister misiniz? (อ่านว่า ชัย-อิสเตร์-มึซึนึส) แปลว่า รับชาสักแก้วไหมคะ?

Çay ในภาษาตุรกี แปลว่า ชา (ออกเสียงว่า ‘ชัย’ ละม้ายคล้ายกับคำว่า ชา ในภาษาไทย) มีรากศัพท์มาจากภาษาจีนว่า ‘chá’ หากเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ของชาในอารยธรรมเก่าแก่ เช่น จักรพรรดิเซินหนงหยานในตำนานจีนโบราณและวัฒนธรรมการดื่มชาของราชวงศ์อังกฤษ (สมเด็จพระราชินี Catherine of Braganza แห่งโปรตุเกส ได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชา Charles ที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ และได้ริเริ่มวัฒนธรรมการดื่มชาในหมู่ชนชั้นสูงของอังกฤษใน ค.ศ. 1662) วัฒนธรรมการดื่มชาของชาวตุรกียังถือว่าอ่อนเยาว์นัก บางคนเชื่อว่าชาวตุรกีค้าขายและดื่มชามาตั้งแต่ 400 ปีก่อนคริสตกาล ในศตวรรษที่ 15 อาณาจักรออตโตมัน (Ottoman Empire) ก็เป็นทางผ่านของเส้นทางสายไหม (Silk Route) จากจีนไปยังยุโรป ชาเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการลำเลียงผ่านเส้นทางการค้านี้ด้วย อย่างไรก็ดี กาแฟยังคงได้รับความนิยมมากกว่าในสมัยนั้น ในขณะที่ชาเป็นที่นิยมสำหรับใช้เป็นเครื่องหอมเสียมากกว่าที่จะเป็นเครื่องดื่ม

วัฒนธรรมการดื่มชาเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตุรกีในศตวรรษที่ 19 โดยสุลต่าน Abdülhamid II เป็นผู้ที่ชื่นชอบดื่มชาเป็นชีวิตจิตใจ และได้นำเข้าเมล็ดชามาจากญี่ปุ่นและทดลองปลูกในจังหวัด Bursa แต่ไม่งอกงามเท่าที่ควร เพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ไม่เอื้ออำนวย จึงต้องนำเข้าชามาจากเมือง Batumi ประเทศจอร์เจีย โดยคนงานในแถบชายแดนตุรกีกับจอร์เจียเป็นคนนำเข้าชาที่ส่งผ่านมาทางรัสเซีย แผนการปลูกชาของสุลต่านในตอนปลายสมัยออตโตมันต้องชะงักไป เพราะอาณาจักรออตโตมันต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 1


ต่อมาภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี อตาเติร์ก (รัฐบุรุษและผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี) ตระหนักถึงอิทธิพลของชาที่มีต่อสังคมตุรกี กอปรกับราคาชาที่นำเข้ามายังตุรกีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรสำรวจสถานที่เหมาะสมแก่การปลูกชาในตุรกี รัฐสภาตุรกีได้ผ่านร่างกฎหมายใน ค.ศ. 1924 อนุญาตให้ปลูกชาทางฝั่งตะวันออกของทะเลดำ โดยเฉพาะในจังหวัด Rize ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Tea Capital of Turkey’ (บ้านเกิดของนาย Recep Tayyip Erdoğan ประธานาธิบดีตุรกีคนปัจจุบัน) เพราะมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง อากาศชื้น ฝนตกชุก เหมาะแก่การปลูกชา โดยมีพื้นที่ปลูกชาประมาณ 767 ล้านตารางเมตร โรงงานผลิตชาแห่งแรกก็ถือกำเนิดขึ้นในเมืองหลวงแห่งชานี้เช่นกันใน ค.ศ. 1947 ส่งผลให้ชากลายเป็นสินค้าหลักของสาธารณรัฐตุรกีในเวลาต่อมา


ว่ากันว่าชาวตุรกีดื่มชามากเป็นอันดับที่ 2 รองจากน้ำเปล่า ผลสำรวจของ International Tea Committee พบว่า ชาวตุรกีดื่มชาคนละ 3 – 5 แก้วต่อวัน หรือคนละ 1,300 แก้วต่อปี กล่าวได้ว่าวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวตุรกีเป็นวัฒนธรรมร่วมของทุกชนชั้น เป็นสินค้าที่เข้าถึงง่ายและมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน (Homogeneous) ตั้งแต่ชาวนาจนถึงชนชั้นนักธุรกิจ นักการเมืองและข้าราชการล้วนแล้วแต่ดื่มชา โดยแทบทุกบ้าน สำนักงาน ร้านค้า ร้านอาหารน้อยใหญ่ในตุรกี ต่างมีกาต้มชาและชาเอาไว้เสิร์ฟต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง สำหรับชาวตุรกีแล้วจะไม่มีคำว่า ‘ชาไม่พอเสิร์ฟ’ เพราะเป็นธรรมเนียมที่เจ้าบ้านจะคะยั้นคะยอให้แขกดื่มชา และจะต้องเตรียมชาไว้ให้เพียงพอที่จะเสิร์ฟให้แขกได้ไม่อั้น จนกว่าแขกจะนำช้อนชาวางไว้บนปากแก้ว ซึ่งเป็นอันรู้กันว่าเป็นการปฏิเสธโดยสุภาพ
วัฒนธรรมการดื่มชาในตุรกีถือกำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กับการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี
Çay เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนสังคมที่เสมอภาค (Egalitarian) และมีความเป็นประชาธิปไตย ชาเป็นรหัสทางวัฒนธรรมที่คนทุกชนชั้นและหมู่เหล่าปลดล็อกเพื่อสังสรรค์และดื่มด่ำได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นเรื่องน่าสนใจที่จุดกำเนิด
ของวัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลักของชาที่มีความเชื่อมโยงกับประเพณีนิยมในราชสำนัก เช่น จีนหรืออังกฤษ อาจมีความเป็นไปได้ว่า สังคมตุรกีได้รับอิทธิพลจากอิสลามที่ส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคีและมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่พี่น้องชาวมุสลิมด้วยก็เป็นได้ ชาจึงเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์อันกลมเกลียวนั้นไว้ อย่างไรก็ดี ชาวตุรกีก็ใจกว้างพอที่จะแบ่งปันน้ำชาของเขาให้กับคนต่างถิ่นต่างศาสนาได้ร่วมลิ้มลองอย่างไม่หวงแหน
ชาที่ชาวตุรกีดื่มส่วนใหญ่เป็นชาดำ มีกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างไปตามพื้นที่ มีการสืบทอดวิธีการผลิตใบชามาจากจีน และวิธีการชงชามาจากรัสเซีย โดยใช้กาต้มชาสองชั้น ชื่อว่า Çaydanlık (ชัย-ดาน-ลึก) คล้ายกับ กาซาโมวาร์ (Samovar) ของรัสเซีย กาด้านล่างมีไว้ใส่น้ำร้อน ส่วนกาด้านบนมีไว้ใส่น้ำชา กาต้มชามีทั้งแบบดั้งเดิมที่เป็นสังกะสี/อะลูมิเนียมตั้งบนเตาถ่านและกาไฟฟ้า สำหรับขั้นตอนการเสิร์ฟชา ต้องเทน้ำร้อนและน้ำชาจากกาทั้งสองใบผสมกันในแก้วชาในสัดส่วนที่พอเหมาะ เพื่อไม่ให้ชามีรสชาติฝาดขมหรือเจือจางเกินไป โดยปรับสัดส่วนได้ตามความชอบ
ชาวตุรกีส่วนใหญ่ชอบดื่มชาใส่น้ำตาล 1 – 2 ก้อน เพื่อลดความฝาดและช่วยดึงรสชาติ ‘อูมามิ’ ที่กลมกล่อมและสกัดกลิ่นหอมของใบชาออกมาอย่างลงตัว ก่อนดื่มชาหรือมื้ออาหาร ชาวตุรกี มักจะเอ่ยคำพูดให้แก่กันว่า Afiyet olsun! (อ่านว่า อะ-เฟียต-โอล-ซุน) แปลว่า ขอให้เจริญอาหาร เหมือนกับคำว่า Bon Appetit! ในภาษาฝรั่งเศส นั่นเอง


นอกจากรูปร่างหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ของกาต้มชา แก้วชาของตุรกีก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นกัน แก้วใสรูปทรงดอกทิวลิปขนาดกะทัดรัด ไม่ทราบต้นกำเนิดที่แน่ชัด แต่เป็นที่เข้าใจกันว่า อิทธิพลของดอกทิวลิปมีมาตั้งแต่สมัยออตโตมัน ซึ่งเริ่มมีการเพาะปลูกไร่ดอกทิวลิปในตุรกี แก้วใสรูปทรงนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ที่ดื่มชาสัมผัสกับสีสันมะฮอกกานีของน้ำชาผ่านถ้วยแก้ว นอกจากสีสันที่สวยงามแล้ว สีของน้ำชาที่มองเห็นผ่านถ้วยแก้วยังมีไว้สำหรับกะเกณฑ์ความอ่อนเข้มของชา ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ชาที่มีความเข้มมากจะมีสีเหมือน ‘เลือดกระต่าย’ นอกจากนี้ รูปทรงของแก้วชายังเป็นที่รับรู้กันในหมู่ชาวตุรกีว่า เหมือนกับเอวที่คอดบางของสาว ๆ หรือ inci belli (อ่านว่า อิน-จี้-เบลลี่) ในภาษาตุรกี


Çay ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ (Social Facilitator)ในสังคมตุรกีอย่างดีเยี่ยม การดื่มชาเป็นองค์ประกอบที่ไม่อาจแบ่งแยกได้จากวิถีชีวิตของชาวตุรกี เริ่มตั้งแต่มื้ออาหารเช้า การพบปะสังสรรค์ในครอบครัว เพื่อนฝูง การทำความรู้จักคุ้นเคยกับเพื่อนใหม่ การประชุม และการพูดคุยธุรกิจ ซึ่งมักจะเริ่มขึ้นภายหลังจากการดื่มชา เรื่องราวของชาพบได้ในเนื้อเพลงพื้นบ้าน เรื่องสั้น นิทาน และนิยายภาษาตุรกี มีสำนวนภาษาตุรกีว่า ‘Çaysız sohbet aysız gökyüzü gibidir.’ แปลว่า บทสนทนาที่ปราศจากชา เปรียบเสมือนค่ำคืนที่ไร้ดวงจันทร์


เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในช่วงต้น ค.ศ. 2020 กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของตุรกี ได้ยื่นขอจดทะเบียนต่อ
องค์กรยูเนสโก (UNESCO) ให้วัฒนธรรมการดื่มชาเป็นอัตลักษณ์ วัฒนธรรมการต้อนรับขับสู้ และสัญลักษณ์
ของการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมตุรกี ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) เพิ่มเติมจาก Turkish Coffee ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปแล้วเมื่อ ค.ศ. 2013

นักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางไปนครอิสตันบูลคงจะคุ้นเคยกับบรรยากาศที่เหล่าบรรดาพ่อค้าพรมเปล่งเสียงทักทาย และเชื้อเชิญให้เข้าไปดื่มชาในร้าน ก่อนจะนำพรมมานำเสนอเรียงรายบนพื้น หนึ่งในเมนูที่เสิร์ฟบนเรือเฟอร์รี่ที่ให้บริการล่องเรือเยี่ยมชมทัศนียภาพของนครอิสตันบูลในช่องแคบบอสฟอรัส ก็หนีไม่พ้นชาแก้วร้อนที่พนักงานเสิร์ฟจัดวางใส่ถาดเดินขายให้กับนักท่องเที่ยวบนเรือ เพื่อดื่มด่ำไปกับบรรยากาศของกรุงเก่าสองอารยธรรมไบแซนไทน์ (Byzantine) และออตโตมันแห่งนี้

เปิดให้บริการเรือเฟอร์รีล่องชมวิวทิวทัศน์บนช่องแคบบอสฟอรัส นครอิสตันบูล
ใครจะรู้ว่า Çay เครื่องดื่มง่าย ๆ อัธยาศัยดี ที่ไม่มีความสลับซับซ้อนนี้ จะแฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมอันเข้มข้นของชาวตุรกีได้อย่างลึกซึ้งเกินกว่าจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
แหล่งข้อมูล
Alhas, Ali Murat (2020) Turkey applies to add 4 cultural values to UNESCO list [accessed 28 February 2022] https://www.aa.com.tr/en/culture/turkey-applies-to-add-4-cultural-values-to-unesco-list/1790937
Afyoncu, Erhan (2018) Tea: Turkey’s favorite beverage came to Anatolia just 140 years ago [accessed 28 February 2022] https://www.dailysabah.com/feature/2018/05/03/tea-turkeys-favorite-beverage-came-to-anatolia-just-140-years-ago
Duman, Mustafa (2006) A Short History of Tea [accessed 28 February 2022] http://www.
Turkish-cuisine.org/drinks-6/non-alcoholic-drinks-93/tea-107.html
Hann, C.M. (1990) Tea and the domestication of the Turkish state, Eothen Press: UK.
Krishna, Priya (2017) Everything You Really Should Know About Cay, or Turkish Tea [accessed 28 February 2022] https://www.foodandwine.com/tea/everything-you-really-should-know-about-cay-or-turkish-tea
Ministry of Economy of the Republic of Turkey (2018) Black Tea [accessed 28 February 2022]https://trade.gov.tr/data/5b8fd55613b8761f041fee87/566f5c6418d38d51f198f8cbd1fe1ea1.
pdf
Turkish Tea [accessed 28 February 2022] https://turkishfoodie.com/turkish-tea/
Turkish Tea, and Offer You Can’t Refuse [accessed 28 February 2022] https://theistanbulinsider.
com/turkish-tea-an-offer-you-cant-refuse/ Turkey breaks own record in tea consumption amid pandemic [accessed 28 February 2022]https://www.
hurriyetdailynews.com/turkey-breaks-own-record-in-tea-consumption-amid-pandemic-169751