ที่ดินแห่งนี้เป็นพื้นที่พืชพรรณและระบบนิเวศที่ไม่ได้รับการฟื้นฟูขนาดราว 600 ไร่อยู่ตรงกลางเกาะภูเก็ต แม้จะไม่ได้ติดทะเลอันดามัน แต่สถาปนิก ภูมิสถาปนิก และเจ้าของที่ดินอย่าง Montara Hospitality Group ซึ่งถนัดในเรื่องรีสอร์ตอยู่แล้ว เล็งเห็นว่าพื้นที่นี้มีศักยภาพมากมายซุกซ่อนอยู่ ถ้ามีโอกาสได้ฟื้นฟูจนกลับมาสมบูรณ์แบบที่ป่าภูเก็ตควรจะเป็น

อาศรมศิลป์ และ Habita Architects เล่าการเปลี่ยนเหมืองเก่าเป็นตรีวนันดา ตอบนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมืองภูเก็ต

หลังจากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายได้ร่วมมือกันพลิกพื้นที่จนกลับมาชอุ่มงาม ก็เกิดเป็น ‘ตรีวนันดา’ (TRI VANANDA) Integrative Wellness Community ในคอนเซปต์ ‘Healing by Nature, Nature Healing by People’ โดยมีทั้งส่วนหมู่บ้านให้เช่าระยะยาว ส่วนรีสอร์ตที่พักชั่วคราว และ Community House ซึ่งเป็นหัวใจของโครงการ คอยสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสุขภาพกาย-ใจ ให้กับลูกบ้านและคนมาพัก

ซึ่งสถาปัตยกรรมในโครงการก็จะแทรกตัวอยู่กับภูมิทัศน์อย่างกลมกลืน ไม่หนาแน่น ให้คนและธรรมชาติเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

กลุ่มเป้าหมายของที่นี่ คือผู้คนทุกช่วงวัยที่ให้ความสำคัญกับสุขภาวะของตัวเอง รักการทอดอารมณ์ริมน้ำ อยากอาบป่า หรือสนใจการแพทย์ทางเลือกหลาย ๆ แบบ 

คอลัมน์หมู่บ้านครั้งนี้ เหล่าดีไซเนอร์จะพานั่งรถบักกี้เยี่ยมชมตรีวนันดากันให้รอบโครงการ และเล่าให้ฟังตั้งแต่ขั้นตอนการชุบชีวิตที่ดินกันเลย

อาศรมศิลป์ และ Habita Architects เล่าการเปลี่ยนเหมืองเก่าเป็นตรีวนันดา ตอบนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมืองภูเก็ต

ปฏิบัติการเริ่มเมื่อเจ้าของโครงการเลือกบริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ และ Habita Architects มาช่วยกันฟื้นฟูพร้อมทั้งพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นดินแดนแห่ง Wellness

ทะเลสาบใหญ่ 7 แห่ง ทะเลสาบเล็ก ๆ หลายแห่ง พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ซึ่งรายล้อมไปด้วยภูเขา ทั้งหมดนี้คือสภาพพื้นที่ที่ดีไซเนอร์ได้เห็นในครั้งแรก

“ถ้าไม่บอกคนก็ไม่รู้ว่าที่นี่คือที่เดียวกัน” ทิป-ชัชนิล ซัง ผู้เป็นภูมิสถาปนิกกล่าวถึงคาแรกเตอร์สำคัญของพื้นที่ “มันมีความแตกต่างทางกายภาพมาก และเราคิดว่าที่นี่มีศักยภาพ มีพลังในการเป็นพื้นที่เยียวยาให้กับคน”

แต่เพราะไม่เคยได้รับการฟื้นฟูมาก่อน แม้จะดูเหมือนรายล้อมไปด้วยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เมื่อสำรวจดูก็พบว่าพืชพรรณทั้งหมดมีความหลากหลายต่ำหรือเรียกได้ว่ามีสปีชีส์น้อย ส่วนใหญ่เป็นกระถินณรงค์ 

นี่แหละคือตอนที่แนวคิด ‘คนและธรรมชาติ เยียวยาซึ่งกันและกัน’ เกิดขึ้น

อาศรมศิลป์ และ Habita Architects เล่าการเปลี่ยนเหมืองเก่าเป็นตรีวนันดา ตอบนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมืองภูเก็ต

“เราอยู่ให้พื้นที่นี้กลับมาเป็นป่าของภูเก็ตที่ยั่งยืนอีกครั้ง” ทิปประกาศ ก่อนจะไปเยียวยาคน เจ้าของและทีมดีไซเนอร์ต้องระดมสมองช่วยกันเยียวยาพื้นที่ก่อน

ทิปบอกว่าการฟื้นฟูที่ยั่งยืนที่สุด คือการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเดิมของเกาะภูเก็ตให้กลับคืนมา และคุณค่าของตรีวนันดาก็คือการเป็น Wellness ที่ต่างจากที่อื่น

พวกเขาเริ่มตั้งแต่การปลูก ‘ไม้เบิกนำ’ ซึ่งเป็นไม้ที่โตเร็ว ช่วยให้ร่มเงาแก่พื้นที่ จากนั้นจึงใช้ไม้พื้นถิ่นซึ่งโตช้าแต่เสถียร ค่อย ๆ เติมเข้าไป สุดท้ายก็จัดกลุ่มต้นไม้ที่มีประโยชน์ เป็นอาหารให้กับคนและนกได้ 

“พอเป็นพืชพื้นถิ่นซึ่งหาได้ในพื้นที่อยู่แล้ว เขาก็ไปขอเมล็ดมาปลูก มาเพาะบ้าง” ทิปเล่าว่ากว่าจะสรุปกันได้ว่าจะมีต้นอะไรบ้าง ก็ผ่านการค้นคว้าเรื่องพันธุ์ไม้ภาคใต้และคุยกันในทีมหลายตลบ

แม้จะเปิดทำการแล้ว แต่ตรีวนันดาถือว่ากำลังฟื้นฟูอยู่ตลอด และนับวันต้นไม้ก็ยิ่งเจริญงอกงาม สมบูรณ์ขึ้นเรื่อย ๆ หวังว่าในที่สุดที่นี่จะเป็นพื้นที่แห่งความหลากหลายและชอุ่มงามของพันธุ์ไม้ภูเก็ตอย่างที่ทุกคนตั้งใจ

อาศรมศิลป์ และ Habita Architects เล่าการเปลี่ยนเหมืองเก่าเป็นตรีวนันดา ตอบนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมืองภูเก็ต

อย่างที่เราเกริ่นไปตอนแรก โครงการตรีวนันดามีทั้งส่วนหมู่บ้าน (Residential) และส่วนรีสอร์ต โดยทั้ง 2 ส่วนจะใช้ Community House ซึ่งถือเป็น ‘ใจบ้าน’ ร่วมกัน (ถึงระยะทางดูเหมือนไกล แต่ที่นี่มีรถบักกี้รับ-ส่ง)

Community House มีทั้งพื้นที่ส่งเสริมกิจกรรม Wellness ทั้ง Indoor และ Outdoor ไล่ตั้งแต่พื้นที่ออกกำลังกาย สนามเด็กเล่นที่ออกแบบโดยใช้ธรรมชาติ หรือเส้นทางเดินชมพระอาทิตย์ขึ้นและตก พื้นที่โยคะ พื้นที่สปา ทางด้านจิตใจก็มีให้เลือกหลายอย่าง ตั้งแต่พื้นที่นั่งสมาธิ หรือพื้นที่จัดกิจกรรมเพื่อเยียวยาในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารที่มาในคอนเซปต์ Zero Waste ใช้วัตถุดิบที่ปลูกในโครงการมาปรุงอาหารด้วย

อาศรมศิลป์ และ Habita Architects เล่าการเปลี่ยนเหมืองเก่าเป็นตรีวนันดา ตอบนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมืองภูเก็ต
อาศรมศิลป์ และ Habita Architects เล่าการเปลี่ยนเหมืองเก่าเป็นตรีวนันดา ตอบนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมืองภูเก็ต

ที่สำคัญคือส่วนของการแพทย์ ซึ่งมีทั้งแพทย์แผนปัจจุบันทางตะวันตกและแพทย์แผนไทย หลากหลายศาสตร์ให้ผู้รักสุขภาพเลือกสรร

“สถาปัตยกรรม Community House ไม่เน้นให้กะทัดรัด แต่จะทำให้กลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด” จรัส พงศ์เพียรรัก จาก Habita Architects เล่า พวกเขาได้คำนึงถึงต้นไม้ที่มีอยู่ก่อนเดิม ไม่ทำให้อาคารเทอะทะจนต้องตัดต้นไม้เยอะ ทั้งยังพยายามทำให้แสงธรรมชาติเข้ามาในอาคาร และสร้างความเป็นส่วนตัวให้ผู้ใช้อาคาร โดยใช้ธรรมชาติเป็นตัวช่วย ซึ่งในส่วนการออกแบบภายในจะอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทผู้ออกแบบระดับสากลอย่าง AvroKO

ส่วนหมู่บ้านนั้นใช้พื้นที่ประมาณ 15% ในการสร้างบ้าน ซึ่งถือว่ามีความหนาแน่นน้อย โดยหมู่บ้านจะแบ่งออกเป็น 2 โซนหลัก ๆ ได้แก่ Blue Mind และ Forest Bathing คนที่สนใจโครงการก็เลือกโซนจากวิถีการใช้ชีวิตที่สนใจได้

Blue Mind เป็นโซนที่ขุมเหมืองเก่ากลายเป็นบ่อน้ำน้อยใหญ่ ใครเลือกโซนนี้ก็จะได้บ้านริมน้ำ ซึ่งนอกเหนือจากบรรยากาศสบายตาราวกับหนังสือ Walden แล้ว ดีไซเนอร์ยังออกแบบให้เป็นพื้นที่เยียวยาด้วยน้ำ

ทั้งนี้ Blue Mind เองก็แบ่งเป็นหลายส่วน ด้านล่าง ๆ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พร้อมรับน้ำท่วมในหน้าฝน เรียกว่า Wetland Healing ซึ่งพืชในส่วนนั้นต่างออกไป เป็นต้นว่า จิกน้ำ อินทนิลน้ำ

อาศรมศิลป์ และ Habita Architects เล่าการเปลี่ยนเหมืองเก่าเป็นตรีวนันดา ตอบนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมืองภูเก็ต

ส่วน Forest Bathing คือส่วนไม่มีทะเลสาบ และอิงทฤษฎีการอาบป่า โดยทางผู้ออกแบบได้ทำการฟื้นฟูป่าและเติมไม้พื้นถิ่นเข้าไป ใครที่สนใจการอาบป่าเป็นพิเศษ เลือกส่วนนี้ก็เหมาะเหม็ง

บ้านมีทั้งหมดหลายไซซ์ หลายดีไซน์ บ้านชั้นเดียวอาจเหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ส่วนบ้าน 2 ชั้นอาจเหมาะสำหรับครอบครัวที่อยู่กันหลายรุ่น มีทั้งผู้สูงอายุและเด็ก ๆ โดยการออกแบบก็เป็นไปในทางเดียวกันกับ Clubhouse คือการเข้าถึงธรรมชาติ ซึ่งโซน Forest Bathing จะมีพื้นที่ระหว่างบ้านที่ออกแบบไว้สำหรับการอาบป่าด้วย

เพื่อความยั่งยืน โครงการยังใช้โซลาร์เซลล์ใน Community House หากลูกบ้านอยากติดตั้งสำหรับบ้านตัวเองก็ทำได้ ไม่มีปัญหา

ส่วนการออกแบบภายในสวย ๆ ก็ได้ บริษัท P49 Design มาแสดงฝีมือ

ตอนนี้มีลูกบ้านเริ่มเข้าอยู่แล้วทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยทางโครงการจะค่อย ๆ ปลูกบ้านไปตามการจับจองของลูกค้า ไม่ได้ขึ้นมาทีเดียวจนเต็มไซต์ 

อาศรมศิลป์ และ Habita Architects เล่าการเปลี่ยนเหมืองเก่าเป็น ‘ตรีวนันดา’ (TRI VANANDA) ตอบนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมืองภูเก็ต

“ส่วนใหญ่จะมองว่าที่นี่เป็นบ้านหลังที่ 2” ทิปบอกอย่างนั้น

หากอ่านแล้วอยากเป็นเพื่อนบ้านกับเขาบ้าง ก็ลองไปดูลาดเลาที่ตรีวนันดาก่อนได้ว่าโซนไหนจะเหมาะกับคุณที่สุด แต่หากอยากมาเยียวยาตัวเองในช่วงเวลาสั้น ๆ รีสอร์ตอาจตอบโจทย์มากกว่า ตรีวนันดามีพื้นที่รองรับบุคคลภายนอกให้เข้าร่วมกิจกรรมดี ๆ ได้เหมือนกัน

อาศรมศิลป์ และ Habita Architects เล่าการเปลี่ยนเหมืองเก่าเป็น ‘ตรีวนันดา’ (TRI VANANDA) ตอบนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมืองภูเก็ต
อาศรมศิลป์ และ Habita Architects เล่าการเปลี่ยนเหมืองเก่าเป็น ‘ตรีวนันดา’ (TRI VANANDA) ตอบนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมืองภูเก็ต

เมื่อช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 มาถึง รัฐบาลเริ่มสนับสนุนให้ภูเก็ตเป็น Medical Wellness Destination แม้ว่าตรีวนันดาจะเป็นโครงการที่เริ่มมาก่อนหน้านั้น แต่เรียกได้ว่ามาตอบโจทย์นโยบายได้พอดิบพอดี

เพราะโรคระบาดเกิดขึ้น เมื่อปลดล็อกดาวน์ เทรนด์ Wellness Tourism ก็เริ่มมาแรง และดูท่าทางว่าจะเป็นอย่างนั้นไปยาว ๆ สุขภาพจะดีได้ต้องใช้เวลา การได้ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาวะ และเข้ารับบริการทางสุขภาพในแขนงต่าง ๆ จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เวลา หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ในชีวิต

อาศรมศิลป์ และ Habita Architects เล่าการเปลี่ยนเหมืองเก่าเป็น ‘ตรีวนันดา’ (TRI VANANDA) ตอบนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมืองภูเก็ต

ทั้งนี้ เราคิดว่าธุรกิจที่ตอบรับความต้องการในการดูแลสุขภาพนั้นช่วยพัฒนาเมืองได้หลายด้าน ทั้งการฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นปอดให้กับผู้อยู่อาศัยโดยรอบได้ด้วย และที่สำคัญคืออาจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัดในส่วนหนึ่งได้เป็นอย่างดี

นอกจากตรีวนันดาที่ภูเก็ตแล้ว หลังจากนี้คงมีโครงการแบบนี้ผุดขึ้นมามากมายให้เราเห็นอีกแน่นอน

อาศรมศิลป์ และ Habita Architects เล่าการเปลี่ยนเหมืองเก่าเป็น ‘ตรีวนันดา’ (TRI VANANDA) ตอบนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมืองภูเก็ต

ภาพ : ตรีวนันดา

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน