17 มิถุนายน 2023
7 K

เมื่อพูดถึงจังหวัดเจ้าของ AKA ไข่มุกแห่งอันดามัน คงไม่แปลกหากหลายคนจะนึกถึงหาดทรายและปลายคลื่น ทว่าในมุมมองของชาวภูเก็ตเตี้ยนแท้ ๆ ใจกลางเกาะแห่งนี้ยังมีสิ่งน่าสนใจอื่น ๆ เฝ้ารอผู้คนมาสัมผัส หากมีเวลาเยี่ยมชมมากพอ เราก็คงมองเห็นว่าการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ยังมีลมหายใจ ทั้งไทย จีน ยุโรป และมุสลิม ต่างพร้อมต้อนรับคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวด้วยรอยยิ้ม ผ่านวิถีชีวิตพื้นบ้าน อาหารหลากมื้อ ของน่าซื้อจากมหาสมุทร ก่อนสิ้นสุดที่สถาปัตยกรรมแห่งกาลเวลา

ลองStay คราวนี้ เราอาสาพาทุกคนลัดเลาะรอบเกาะภูเก็ต ไปแล้วระวังจะติด (ใจ) เกาะสวาท หาดสวรรค์แบบไม่รู้ตัว เพราะทั้ง 12 สถานที่ที่คนท้องถิ่นอย่างเราพาทัวร์นั้น ทั้งน่ารัก น่ารู้จัก และน่าอยู่ด้วยแบบยาว ๆ เรียกว่าถ้าลองStay ดูสักที เราว่าคุณจะอยาก Stay อยู่ที่นี่แบบ So Long เชียวล่ะ!

#01
ลองวิ่งรับแสงแรกบนสะพานหิน

ถ้าชอบออกกำลังกายที่สวนสาธารณะยามเช้า เราอยากชวนมาลองตบเท้าเดินเล่นที่ ‘สะพานหิน’ สวนสาธารณะท้องถิ่นที่คุณจะได้เชยชมท้องทะเลสีครามยามอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า สวยหนัด

เกาะภูเก็ตมีชายหาดอยู่หลายแห่งก็จริง แต่ส่วนมากอยู่ค่อนข้างไกล ต้องขับรถจากตัวเมืองไปหลายกิโล แต่ถ้ามาที่นี่ นอกจากจะใกล้ตัวเมืองและช่วยให้คุณมีสุขภาพดีได้ง่าย ๆ แล้ว คุณจะได้เห็นแสงแรกของวันใหม่ เป็นการเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตอันเร่งรีบด้วย

บางครั้งหลังเลิกเรียน เรากับเพื่อนก็ชวนกันมาเหวน (ตระเวนเที่ยวเล่น) ที่สะพานหิน ทันทีที่ประตูโรงเรียนเปิด ทุกคนก็พร้อมใจบิดมอเตอร์ไซค์จากโรงเรียนมาสวนสาธารณะ ก่อนถึงริมหาดก็แวะซื้อข้าวเหนียวไก่ทอดตามรถเข็นข้างทาง ต่างคนต่างหิ้วมาแบ่งกันกิน ไม่นั่งล้อมวงตรงพื้นหญ้าก็ไปนั่งห้อยขาตรงโขดหิน แถมที่นี่ยังเป็นสถานที่เดตยอดนิยมของคนท้องถิ่นมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ คิดอะไรไม่ออกก็แค่ลองบอก “ไปเสะ ๆ (ขับรถเล่น) สะพานหินกันหม้าย” ก่อนที่สุดท้ายจะได้ครองรักกันจวบจนปัจจุบัน

#02
ลองกินเสี่ยวโบ๋ยร้านจ่วนเฮี้ยง

เรายกให้ ‘เสี่ยวโบ๋ย’ (ติ่มซำ) ของร้านนี้เป็นเมนูอาหารเช้าอันดับ 1 ในดวงใจ ทุกครั้งที่ไปจะเห็นลังถึงหรือหม้อนึ่งขนาดใหญ่คอยอุ่นเสี่ยวโบ๋ยสไตล์จีนกวางตุ้งเตรียมไว้ให้ลูกค้าเดินมาหยิบ

ท่ามกลางติ่มซำสารพัดชนิดลังถึง สองถ้วยที่ดึงดูดใจมากที่สุดเห็นทีจะเป็นขนมจีบหมูและฮะเก๋า เพียงแค่ลองกัดก็สัมผัสได้ถึงไส้และไอร้อนแบบเต็มปากเต็มคำ ยิ่งกินพร้อมน้ำจิ้มรสเผ็ดสูตรลับเฉพาะของร้านจ่วนเฮี้ยงที่เปิดมามากกว่า 100 ปี อร่อยแสงออกปากจนต้องอุทานว่า “หรอยอย่างแรง”

#03
ลองชิมโรตีน้ำแกงถนนถลาง

“วันนี้ขอ 2 : 1 น้ำแกงเนื้อ”

ประโยคคุ้นหูที่ได้ยินแทบทุกครั้งเมื่อไปกินโรตีน้ำแกงร้าน ‘อรุณโภชนา’ อาหารเช้าฉบับคนภูเก็ตที่เด็ดไม่แพ้เสี่ยวโบ๋ย ที่นี่ถือเป็นร้านโรตีดั้งเดิมของชาวมุสลิม ตั้งอยู่ต้นถนนถลาง ซึ่ง 2 : 1 ที่ว่าไม่ใช่โค้ดลับแต่อย่างใด แต่หมายถึงสัดส่วนโรตีต่อไข่ดาว โรตี 2 ไข่ดาว 1 นั่นเอง จริง ๆ ยังมีวิธีสั่งแบบอื่น ขึ้นกับรสนิยมและปริมาตรกระเพาะของแต่ละคน จะ 1 : 1 ก็ดี 1 : 2 ก็ได้ หิวหน่อยก็ 2 : 2 บวกน้ำแกงไปเลย

เอ๊ย! เกือบลืม วันไหนเบื่อโรตี ร้านนี้มีขนมปังชุบไข่และข้าวหมกไก่ด้วย เรียกว่าหมดตั้งแต่คาวยันหวาน แถมเจ้าของร้านก็อัธยาศัยดี ไปทุกที บังก็ชวนคุยทุกครั้ง ไม่เคยปล่อยให้ลูกค้าเหงาเลย

#04
ลองเดินชมตึกเก่าสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน

สถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน พบมากในย่านเมืองเก่าภูเก็ต โดยเฉพาะบริเวณสองฝั่งถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนพังงา และถนนกระบี่ โดยคำว่า ‘ชิโน-ยูโรเปียน’ เกิดจากการรวมคำว่า ‘ชิโน’ หรือ ‘ไชนีส (Chinese)’ เข้ากับ ‘ยูโรเปียน’ สื่อความถึงสถาปัตยกรรมที่ออกแบบโดยใช้ความตระหง่านแข็งแรงของชาวยุโรปมาโอบล้อมด้วยความโค้งมนฉบับชาวจีน แม้ปัจจุบันย่านเมืองเก่าจะคับคั่งไปด้วยนักท่องเที่ยว ตึกหลายหลังได้รับการแปลงโฉมเป็นคาเฟ่และร้านขายของที่ระลึก กระนั้นเจ้าของอาคารน้อยใหญ่ก็ยังมีความตั้งใจอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและดัดแปลงความเป็นชิโน-ยูโรเปียน ให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างลงตัว คนภูเก็ตเองก็ยังแวะไปเยี่ยมเยือนอยู่บ้าง เพราะบางหลังก็ยังเป็นที่พักอาศัยของคนในชุมชน

ถ้าอยากเที่ยวชมวัฒนธรรมสองทวีปแบบไม่โดนแดดประเทศไทยทารุณจนเกินไป แนะนำให้ไปก่อนเที่ยง ไม่ก็หลัง 16.00 น. ที่สำคัญ หมวกปีกกว้างและแว่นตาดำคือไอเทมที่ต้องมี

#05
ลองจิบกาแฟและอ่านหนังสือที่ร้านหนัง(สือ)2521

โอเค แดดช่วงสายแถวย่านเมืองเก่าเริ่มจะร้อนเกินทน

เราจึงขอเดินวนถนนถลางเข้าไปหลบร้อนในร้าน ‘หนัง(สือ)2521’

นี่คือคาเฟ่เคยลับของผู้ที่อยากหลีกหนีความวุ่นวาย มาเลือกผ่อนคลายด้วยกาแฟเย็น ๆ สักแก้วและหนังสือดี ๆ สักเล่ม ไอเดียของ หมอนิล-นายแพทย์มารุต เหล็กเพชร เจ้าของร้าน คือการเปลี่ยนร้านหนังสือที่เปิดขายมาหลายขวบปีให้เป็นพื้นที่ของคนรักหนังและตัวอักษร หนังสือทุกเล่มผ่านการคัดเลือกอย่างละเมียดละไม ลูกค้าหยิบอ่านได้ตามใจ มีเครื่องดื่มและอาหารมากมายคอยบริการ

หากวันไหนบังเอิญขึ้นไปชั้น 2 ช่วงค่ำ ๆ จะพบบรรดาภาพยนตร์นอกกระแสที่สับเปลี่ยนเวียนมาฉายตามโอกาส ในเมื่อโรงภาพยนตร์เจ้าใหญ่อาจจะไม่นำหนังดีที่ไม่ดังเข้ามาฉายในต่างจังหวัด เพราะมองว่าไม่คุ้มต้นทุน แต่ร้านหนัง(สือ)2521 ขอเป็นพื้นที่หนึ่งที่นำหนังมาเผยแพร่เท่าที่จะทำได้

#06
ลองช้อปปิ้งข้าวของท้องถิ่นในร้านชำ CLOUD MARKT

นี่คือร้านชำสุดเก๋ที่ดึงเสน่ห์ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นทั่วไทยมารวมไว้ในที่เดียว

ภายในมีสินค้ามากมายจากหลายพื้นที่ให้หยิบจับ ตั้งแต่ซีอิ๊วขาวและหมี่ซั่วของภูเก็ต ช็อกโกแลตจากเชียงใหม่ น้ำผึ้งจากเชียงราย เกลือจากสกลนคร จนถึงปลาทูต้มหวานจากชุมพร เป็นศูนย์รวมอาหารคราฟต์ที่บริหารจัดการโดยคนรุ่นใหม่ในภูเก็ตที่อยากเห็นบ้านเกิดของตัวเองเติบโตอย่างยั่งยืน

#07
ลองกินบี้หุ้นหมี่ร้านหมี่อ่าวเก

บี้หุ้นหมี่ใส่ไข่ เมนูประจำใจที่เรากินมาตั้งแต่เด็ก หลายคนคงพอรู้จักหมี่ฮกเกี้ยนอยู่บ้าง แต่น้อยคนจะเคยได้ยินคำว่า ‘บี้หุ้นหมี่’ เมนูนี้ถือกำเนิดจากการรวมร่างของเส้นหมี่ฮกเกี้ยน (สีเหลือง กลมใหญ่) ที่มีรสสัมผัสเหนียวนุ่ม และเส้นหมี่หุ้น (ที่คนกรุงเทพฯ เรียกหมี่ขาว) รสสัมผัสลื่นลิ้น เมื่อรวมกันก็ออกมาเป็นเมนูอาหารชวนลิ้มลองที่ตอบโจทย์คนสองใจผู้เลือกไม่ได้ว่าวันนี้จะกินเส้นอะไรดี (ฮา) ท่ามกลางร้านหมี่ฮกเกี้ยนมากมายบนเกาะทางภาคใต้ ร้านที่เราแวะไปหลายครั้งที่สุดคือ ‘หมี่อ่าวเก’ ตั้งอยู่หน้าปากซอยพูนผล 3 แม้เจ้าของร้านอย่าง โกก๊าง ไม่ค่อยได้ยืนหน้าเตาด้วยตัวเองเนื่องจากปัญหาสุขภาพ แกก็ส่งไม้ต่อให้ลูกชายช่วยสานต่อสูตรเด็ดที่คนภูเก็ตโปรดปราน ไปทีไรก็ยังติดใจเส้นหมี่ที่ผัดขลุกขลิก แซมผักกวางตุ้ง เนื้อหมู และลูกชิ้น ได้กลิ่นกระทะอ่อน ๆ ในทุกคำที่ตักเข้าปาก

#08
ลองชิมอาโป้งร้านแม่สุณี

กินคาวต้องต่อด้วยหวาน

เราขอเสนอ ‘อาโป้ง (อ่านว่า อา-โป๊ง)’ หนึ่งในขนมพื้นถิ่นภูเก็ตที่เด็ดและมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

เดินตรงไปยังซอยสุ่นอุทิศ ถนนเยาวราช เพื่อต่อคิวหน้าร้านอาโป้งแม่สุณี การันตีความอร่อยด้วยรางวัลมิชลิน ไกด์ ถึงตรงนี้คนอ่านอาจสงสัยว่าเจ้าขนมชื่อประหลาดนี้มีหน้าตาและรสชาติอย่างไร เล่าคร่าว ๆ คือลักษณะคล้ายขนมโตเกียว ต่างตรงไม่มีไส้ มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ตัวแป้งอาโป้งคือนิยามของคำว่ากรอบนอกนุ่มในที่แท้จริง หวานนิด ๆ เค็มหน่อย ๆ มาพร้อมกลิ่นกะทิลอยฟุ้งตามลม

อาโป้งแม่สุณีครองใจชาวภูเก็ตมาหลายทศวรรษ ขนาดคนที่บ้านยังบอกว่ากินมาตั้งแต่สมัยเด็ก ส่วนตัวเราเองจำได้ว่าหลังจากพ่อซื้อมาให้ชิมครั้งแรกก็ติดใจและไม่เคยหนีไปกินร้านไหนอีก

#09
ลองดับร้อนด้วยโอ้เอ๋วตลาดฉำฉา

‘โอ้เอ๋ว’ ไม่ได้เป็นแค่ชื่อตัวละครในซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ แต่ยังเป็นของหวานดับร้อนขึ้นชื่อของคนภูเก็ตด้วย อันที่จริงต้องบอกว่า โอ้เอ๋ว คือเมล็ดพืชชนิดหนึ่งที่คนโบราณเชื่อว่ามีสรรพคุณในการรักษาร้อนใน และด้วยความที่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน คนภูเก็ตจึงนำโอ้เอ๋วกับกล้วยน้ำว้าสุกมาคลุกเคล้าแล้วแปรรูปเป็นวุ้น แล้วรับประทานในรูปแบบน้ำแข็งไส แม้ตัววุ้นไม่มีรสชาติ แต่สัมผัสนั้นเด้งดึ๋งเหลือเชื่อ กินแล้วได้ใจหนัดนิ (ถูกใจมาก) ส่วนใหญ่คนภูเก็ตกินคู่กับวุ้นดำ (เฉาก๊วย) ถั่วแดง แล้วปิดท้ายด้วยการราดน้ำแดงกับน้ำเชื่อม บางร้านอาจใส่ท็อปปิ้งอื่น ๆ เพิ่มเติม เคยกินเจ้าหนึ่งเสิร์ฟพร้อมแตงโมด้วย

ร้านที่เราแวะไปบ่อยที่สุดอยู่ตรงตลาดฉำฉา จอดรถง่าย แถมยังมีให้เลือก 2 ร้าน ถ้าคนเยอะก็ไม่เคยต้องรอนาน ที่สำคัญ นอกจากโอ้เอ๋วก็ยังมีอาหารพื้นเมืองอื่น ๆ ให้เลือกทานด้วย

#10
ลองเสี่ยงเซียมซีที่อ๊ามจุ้ยตุ่ย

ถ้าอยากมีลูก หลายคนอาจแนะนำให้ไปปรึกษาหมอ ไม่ก็ลองไปขอพรกับพระที่วัด

แต่ถ้ามาถามคนภูเก็ต คำตอบที่ได้ไม่ใช่ทั้งพระ ทั้งหมอ แต่จะบอกให้ไปขอกับอ๊าม

‘อ๊าม’ คือคำที่คนภูเก็ตใช้เรียกศาลเจ้า สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเชื้อสายจีนยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลถือศีลกินผัก และหนึ่งอ๊ามดังในตัวเมืองที่ทุกคนรู้จักก็คือ ‘อ๊ามจุ้ยตุ่ย’

ภายในอ๊าม นอกจากอุดมไปด้วยศิลปวัฒนธรรมแบบจีนและองค์เทพเจ้าสำหรับกราบไหว้บูชา 12 จุดแล้ว ยังมีบริเวณเสี่ยงเซียมซีให้ผู้ที่ต้องการตรวจสอบดวงชะตาด้วย เรียกว่าถ้าอยากลองอยู่ภูเก็ตแบบยาว ๆ แวะไปเสี่ยงดูสักทีก็น่าจะดีเหมือนกัน ดวงเราป่วยหรือปัง จะได้เตรียมรับมือถูกทาง

#11
ลองเลือกซื้ออาหารทะเลสด ๆ จากชาวเลหาดราไวย์

เราอยู่ภูเก็ตมาเกือบ 20 ปี คลุกคลีกับอาหารทะเลมาตั้งแต่จำความได้ กุ้งหอยปูปลาที่ดูน่ากินในจาน บางร้านก็สดจริง บางร้านก็ไม่ใช่ แต่หนึ่งแหล่งที่เรามั่นใจได้ คือ ‘ตลาดอาหารทะเลราไวย์’ 

บริเวณหาดราไวย์ ติดหมู่บ้านไทยใหม่คือบริเวณที่กลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่ในภูเก็ตอย่างชาวเลจับสัตว์ทะเลสด ๆ ตั้งแต่หอยหวาน หมึกไข่ กุ้งลายเสือ และอีกหลายชนิด มาตั้งขายกันแบบถึงมือผู้บริโภค ความพิเศษของที่นี่คือลูกค้าเลือกซื้อซีฟู้ดที่ถูกใจ แล้วหิ้วไปให้ร้านอาหารฝั่งตรงข้ามปรุงสุกให้ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเลือกผิด เพราะพ่อค้าแม่ค้าใจดีมาก ให้คำแนะนำประหนึ่งคนในครอบครัว

#12
ลองกินโอวต้าวร้านเยาว์เย็นตาโฟ

มื้อสุดท้ายของวันขอจบด้วยเมนูสุดพิถีพิถันอย่าง ‘โอวต้าว’ (อ่านว่า โอว-ต๊าว) อาหารภูเก็ตแท้ ๆ ที่ดูเผิน ๆ อาจคิดว่าเป็นเมนูหอยทอด ทว่ารสชาตินั้นแตกต่าง เพราะจานนี้ทำมาจากแป้งมันเหนียวนุ่ม ไข่ไก่ เผือกนึ่ง บ๊ะอิ่วโผะ (แคบหมู) และหอยนางรม ก่อนปรุงให้เข้ากันด้วยซีอิ๊วดำและซอสเผ็ดสูตรเฉพาะ จนออกมาเป็นรสชาติสุดแสนกลมกล่อมลงตัว ให้ความรู้สึกคล้ายกับเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว

จังหวัดภูเก็ตมีร้านโอวต้าวอยู่หลายเจ้า เช่น โอวต้าวจี้เปี่ยน ได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุด หรือ โอวต้าวบางเหนียว ได้รับมิชลิน ไกด์ 3 ปีซ้อน แต่ที่เราผูกพันและขอยืนยันความอร่อย คือโอวต้าวร้าน ‘เยาว์เย็นตาโฟ’ ทุกครั้งที่แวะไปจะเห็นเจ้าของร้านอย่าง โกแดง ผัดโอวต้าวอย่างเมามันอยู่หน้าเตาถ่าน กลิ่นหอมเย้ายวนตั้งแต่ขายังไม่ทันก้าวเข้าร้านเลยด้วยซ้ำ แถมโอวต้าวที่ได้ก็เนื้อละเอียด ไม่จับเป็นก้อน กินง่ายพอดีคำ

อนึ่ง สั่งเสร็จแล้วแนะนำให้ไปนั่งรอที่โต๊ะ เพราะเมนูนี้กลิ่นแรงทะลุแมสก์

หากยืนรอหน้าเตาอาจสำลักควันจนน้ำตาไหลได้ง่าย ๆ

Writer & Photographer

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

มนุษย์ภูเก็ต เด็กนิเทศที่ทำงานพิเศษเป็นนักเล่าเรื่อง โกโก้ หนัง และฟุตบอล ช่วยให้เข้านอนอย่างมีคุณภาพ