16 พฤษภาคม 2018
6 K

เมื่อพูดถึงตึกรามบ้านช่องในไต้หวัน หลายคนอาจนึกถึงอาคารเก่าอายุหลายสิบปีหน้าตาเชยๆ ถ้าให้พูดถึงอาคารทันสมัยอาจจะนึกออกแค่อาคารไทเป 101 แต่จริงๆ แล้วไต้หวันมีอาคารของสถาปนิกชื่อดังทั้งชาวไต้หวันและชาวต่างชาติหลายแห่ง เราเลยอยากชวนไปสำรวจสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในเกาะฟอร์โมซากัน   

สถานที่แรกที่เราอยากจะแนะนำคือพิพิธภัณฑ์หลานหยาง (Lanyang Museum) ในอี๋หลาน เปิดเมื่อปี 2010 ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ใกล้กับท่าเรืออูสือ ออกแบบโดย เหยาเหรินสี่ หรือ Kris Yao สถาปนิกชาวไต้หวัน ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิประเทศที่ราบหลานหยาง จุดบรรจบของมหาสมุทรแปซิฟิกกับแม่น้ำหลานหยาง อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายเขาเควสตาที่มีด้านหนึ่งลาดเอียงและอีกด้านหนึ่งชันซึ่งพบเห็นมากแถบชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน

Lanyang Museum

Lanyang Museum

ในพิพิธภัณฑ์แบ่งห้องจัดแสดงหลักเป็น ‘ภูเขา’ ‘ที่ราบ’ และ ‘มหาสมุทร’ สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และพันธุ์สัตว์ สมัยราชวงศ์ชิง สินค้าส่งออกสำคัญของไต้หวันคือการบูร ชา และอ้อย  ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ไต้หวันส่งออกการบูรประมาณครึ่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงวิถีชีวิตของคนพื้นเมืองและเรือขนส่งสินค้า ในอดีตการขนส่งสินค้าจะล่องเรือผ่านแม่น้ำอี๋หลานมายังท่าเรืออูสือ หรือเรือสินค้าต่างประเทศมาขึ้นที่ท่าเรือแล้วขนส่งต่อไปทางแม่น้ำ การบูชาเซ่นไหว้ของชาวคาวาลาน ชนพื้นเมืองอาศัยแถบที่ราบหลานหยาง เมื่อเดินเข้าไปใกล้ส่วนจัดแสดงก็จะมีเสียงพิธีกรรมบูชาทะเลของชาวประมงเผ่าคาวาลานดังขึ้น  ภายในอาคารยังมีกล้องส่องทางไกลชมเกาะกุยซันหรือเกาะเขาเต่า ถ้าเป็นวันฟ้าใสจะมองเห็นเกาะได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า ถ้ามีเวลาแนะนำให้เดินทางต่อไปอีกนิดที่ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวไว่เอ้า ที่นี่มีร้านกาแฟชมวิวเกาะกุยซัน เดินเล่นชายหาดไว่เอ้า หรือเล่นพาราไกลดิง

Lanyang Museum Lanyang Museum Lanyang Museum

อีกหนึ่งผลงานของ Kris Yao คือพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติสาขาภาคใต้ (National Palace Museum Southern Branch) เมืองเจียอี้ หรือที่เรียกกันติดปากว่ากู้กงภาคใต้ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมเมื่อปลายปี 2015 โดยวางรูปแบบเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรมเอเชีย การออกแบบได้รับแรงบันดาลใจจากเทคนิคการเขียนพู่กันจีนในรูปแบบอาคารทันสมัย ลวดลายบน Façade อาคารคือสัญลักษณ์มังกร ม้า และช้างซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจีน เปอร์เซีย และอินเดีย ที่เป็นอู่อารยธรรมสำคัญของเอเชีย  

National Palace Museum Southern Branch

ไม่ใช่เพียงอาคารภายนอกที่สวยงาม ภายในพิพิธภัณฑ์ก็นำเสนอได้น่าสนใจเช่นกัน เพราะแบ่งวัตถุล้ำค่าบางส่วนจากคลังพิพิธภัณฑ์กู้กงที่ไทเปมาจัดแสดง  โดยชูธีมความหลากหลายของเอเชีย ทั้งวัฒนธรรมชา สิ่งทอ เครื่องถ้วยกระเบื้องเคลือบ และพุทธศาสนาในเอเชีย รวมทั้งประวัติศาสตร์ของเมืองเจียอี้ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ นอกจากการจัดแสดงโบราณวัตถุแล้วยังนำเสนอในรูปแบบสื่อมัลติมีเดียด้วย สิ่งหนึ่งที่เราชอบในพิพิธภัณฑ์คือการทำป้ายบรรยายอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา ชั้นล่างมีห้องสำหรับเด็กที่ใช้หนุมานเป็นมาสคอต แอนิเมชันเกี่ยวกับหนุมาน ในห้องนี้จะเน้นความรู้ในอาเซียน สังเกตว่าในไต้หวันจะให้ความสำคัญกับผู้มาตั้งถิ่นฐานใหม่หรือแรงงานอพยพซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมาจากแถบอาเซียน เช่น ในห้องสมุดหลายแห่งก็มีหนังสือภาษาไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม หรือการรับอาสาสมัครภาษาต่างๆ รวมทั้งภาษาไทยบรรยายในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไต้หวันในกรุงไทเป

พระพุทธรูป พิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์

หลังจากชมผลงานของสถาปนิกไต้หวันไปแล้ว ลองมาดูผลงานของสถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่นบ้าง Toyo Ito มีผลงานมากมาย เช่น ห้างวีโว่ซิตี้สิงคโปร์ ที่หลายคนน่าจะเคยไปมาแล้วเพราะเป็นจุดเชื่อมต่อกับเซ็นโตซ่า อิโตะได้รับรางวัล UIA Gold Medal สำหรับความสำเร็จตลอดชีวิตจากสมาพันธ์สถาปนิกนานาชาติเมื่อปี 2017 ส่วนผลงานของอิโตะในไต้หวันมี 2 แห่งคือ สนามกีฬาแห่งชาติเกาสง (Kaohsiung National Stadium) เปิดเมื่อปี 2009 และโรงละครแห่งชาติไถจง (National Taichung Theater) เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2016

National Taichung Theater

สนามกีฬาแห่งชาติเกาสงมีหางลากยาวออกมาเมื่อมองมุมสูงคล้ายมังกร และเป็นสนามกีฬาแห่งแรกในโลกที่มีแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา 8,844 แผง ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1.14 kWh ต่อปี สร้างขึ้นเพื่อใช้แข่งกีฬาเวิลด์เกมปี 2009 ความจุสนาม 55,000 คน ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่จัดกีฬาและคอนเสิร์ต

โรงละครแห่งชาติไถจงเป็นจุดเช็กอินท็อปฮิตของคนไต้หวัน  แนวคิดการออกแบบคือรูปแบบความอิสระและเลื่อนไหล ให้ความรู้สึกสัมผัสกับธรรมชาติ การออกแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการปรับอุณหภูมิอาคารให้รู้สึกสบาย และใช้ระบบระบายอากาศตามธรรมชาติในตอนกลางคืนเพื่อให้อุณหภูมิภายในอาคารพอเหมาะ  นอกจากจะเป็นโรงละครแล้ว ยังมีนิทรรศการศิลปะ ร้านอาหารและเบียร์เครือ VVG และสวนบนหลังคา

พื้นที่สาธารณะ โถง

ถ้ายังมีเวลาเหลือในเมืองไถจง แนะนำให้แวะถ่ายรูปโบสถ์รำลึกลูซ ผลงานของ  I.M. Pei สถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายจีนซึ่งเคยได้รับรางวัล UIA Gold Medal เมื่อปี 2014 เช่นเดียวกับอิโตะ ผลงานของ Pei มีมากมาย ส่วนใหญ่อยู่ในอเมริกา แต่เชื่อว่าอาคารที่พูดถึงแล้วหลายคนร้องอ๋อ คงจะเป็น Le Grande Louvre หรือพีระมิดกระจกใสหน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในกรุงปารีสที่แฟนภาพยนตร์ THE DA VINCI CODE น่าจะคุ้นเคยกันดี ผลงานในไต้หวันของ I.M. Pei มีแห่งเดียวคือโบสถ์ลูซในมหาวิทยาลัยตงไห่ (1963) ออกแบบเป็นอาคารสมัยใหม่ ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อทนทานต่อแรงแผ่นดินไหวและความชื้น ภายในอาคารไม่มีเสา รูปทรงภายนอกเหมือนการพนมมือ หลังจากชมโบสถ์ลูซแล้ว แนะนำร้านขายผลิตภัณฑ์นม เช่น ไอศครีม ในมหาวิทยาลัยตงไห่

โบสถ์ลูซ โบสถ์ลูซ

เมื่อพูดถึงสถาปัตยกรรมสวยๆ หรือพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจในเอเชีย หลายคนอาจนึกถึงญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ แต่ในไต้หวันก็ยังมีสถาปัตยกรรมและพิพิธภัณฑ์หลายแห่งรอให้เราได้ออกไปสำรวจกัน แล้วพบกันใหม่ ไจ้เจี้ยน!

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ฤดี ภวสิริพร

จบเอกภาษาจีน ทำงานเกี่ยวพันกับภาษาจีนและอังกฤษมาตั้งแต่เรียนจบ สนใจใคร่รู้เรื่องราวในต่างประเทศเพราะงานแรกในชีวิตคือแปลข่าวต่างประเทศ ยามว่างแชร์เรื่องกินและหนีเที่ยวที่ Instragram: Food.Travel.Addict และแบ่งปันเรื่องราวภาษาจีนที่ FB: ChineseHansa