พยากรณ์อากาศบอกว่าจะมีฝนตกทั่วเกาะคิวชูกว่า 70%

หน้าผากย่นทันทีที่เห็นแอปฯ พยากรณ์อากาศในโทรศัพท์บอกว่าหลังจากนี้ไปจะมีแดดในอีก 2 วันข้างหน้า แต่นั่นก็ยังไม่ลดละที่จะเข้าเว็บไซต์พยากรณ์อากาศที่ว่าแม่นนักแม่นหนาดูให้ชัด ๆ เผื่อว่าแอปฯ ในโทรศัพท์จะไม่เที่ยงตรงนัก แต่ผลลัพธ์ก็แสดงออกมาว่าจะมีฝนตกอย่างต่อเนื่องไปอีก 2 วันในพื้นที่ที่ผมอยู่ ณ ตอนนี้ และทำให้ผมต้องรับสภาพโดยดุษณีว่า ทริปในวันนี้และพรุ่งนี้ที่เมืองคาโกชิม่า (Kagoshima) จะต้องผูกมิตรกับสายฝนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

ผมย้ายจากคุมาโมโตะ (Kumamoto) มาที่คาโกชิม่า เพราะวางแผนจะนั่งรถไฟท่องเที่ยวเพียงหนึ่งเดียวของตอนใต้คิวชู และมุ่งหน้าต่อไปยังสถานีรถไฟที่แสนสุดพิเศษพร้อมวิวภูเขาลูกใหญ่ภายใต้ฟ้าสีครามและลมเย็นของฤดูใบไม้ผลิ ด้วยการวางแผนต่าง ๆ นั้นเป็นไปอย่างรัดกุม เพราะเที่ยวรถไฟที่ไม่ได้วิ่งสม่ำเสมอ ผมกะว่าจะมาที่ใต้สุดของเกาะ ก่อนกลับไปปิดท้ายทริปด้วยรถไฟขบวนพิเศษที่เตรียมจะลาวงการในปี 2024 แต่ภาพฝันที่เมมโมรี่มาจากเมืองไทยก็พังทลายซะสิ้น

“เอาน่า ฝนตกไม่เป็นไร น่าจะมีอะไรดี ๆ” ผมบอกตัวเองพลางเดินฝ่าฝนเม็ดเล็ก ๆ ที่ผมมักนิยามมันว่า ‘ฝนเร้าหรือ’ ไปที่สถานีรถไฟคาโกชิม่า-ชูโอ (Kagoshima-Chuo) ซึ่งน่าจะแปลเป็นภาษาไทยได้ง่าย ๆ ว่า ‘สถานีกลางคาโกชิม่า’

ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ
ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

สถานีนี้สร้างบางส่วนขึ้นมาใหม่ในโซนรถไฟความเร็วสูงที่ต่อทอดยาวมาจากโตเกียว ผ่านโอซาก้า ลอดใต้ช่องแคบเล็ก ๆ ที่โมจิโกะ ผ่านเมืองใหญ่ที่ฮากาตะ คุมาโมโตะ และมาสุดสายปลายทางที่นี่ ซึ่งเป็นสถานีชินคันเซ็นใต้สุดของญี่ปุ่น

ภารกิจวันนี้คือรถไฟท่องเที่ยวชื่อว่า ‘อิบุสุกิ โนะ ทามะเทบาโกะ’ (Ibusuki no Tamatebako) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘อิบุทามะ’ (Ibutama)

รถดีเซลรางความยาว 2 คันค่อย ๆ วิ่งฝ่าฝนเข้ามาที่ชานชาลา พร้อมนักท่องเที่ยวที่ยกทั้งกล้องมาถ่ายรูปและยกร่มมาบังละอองฝนที่สาดเฉียง ๆ เข้ามาถึงในชานชาลา มันมีสีสันที่แปลกตา แบ่งสีครึ่งหนึ่งเป็นสีดำ อีกครึ่งหนึ่งเป็นสีขาว มองไกล ๆ แล้วเหมือนสีผมของ ครูเอลล่า เดอ วิล ตัวร้ายจากเรื่อง 101 Dalmatians พิลึก 

ในขณะที่คนอื่นอาจมีชื่อเรียกรถไฟอย่างน่าเอ็นดู แต่สำหรับผมเรียกขบวนนี้ว่า ‘น้องขวานฟ้าหน้าดำ’

ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

Ibutama เป็นรถไฟท่องเที่ยวระยะทางสั้น ๆ ใช้เวลาเดินทางเพียง 50 นาทีจากสถานีคาโกชิม่า-ชูโอ ไปปลายทางที่สถานีอิบุสุกิ ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศทางตอนใต้ของเกาะคิวชู มีความโดดเด่นเรื่องของการนอนอบทรายร้อน

ชื่อของรถไฟแปลว่า ‘กล่องของขวัญของอิบุสุกิ’ 

เคยได้ยินนิทานชื่อ อุราชิมะ ทาโร่ ไหมครับ นี่แหละคือเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจของรถไฟขบวนนี้

ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ชายหนุ่มชื่อว่า อุราชิมะ ทาโร่ อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านริมทะเล เขาเป็นคนหนุ่มจิตใจดี หาปลาเลี้ยงชีพ แถมเป็นคนกตัญญูเลี้ยงดูมารดา ทำให้เขาเป็นที่รู้จักและที่รักของคนทั้งหมู่บ้าน 

จนมาวันหนึ่ง เขาได้พบกลุ่มเด็กรังแกเต่าอยู่ที่ชายหาด อุราชิมะจึงเข้าไปห้ามและให้ข้อเสนอกับเด็ก ๆ ว่าเขาจะซื้อเต่าตัวนี้เอง จากนั้นเขาก็ปล่อยเจ้าเต่าน้อยกลับคืนสู่ทะเล 

หลังจากปล่อยเจ้าเต่าไปไม่นานนัก อุราชิมะก็ใช้ชีวิตตามปกติ อยู่ ๆ ตอนที่หาปลาเขาก็เจอกับเต่าตัวใหญ่ว่ายน้ำเข้ามาใกล้ แถมเต่าพูดได้ด้วย (ถ้าเป็นยุคนี้ก็คงเป็นการ์ตูนดิสนีย์กระมัง) เต่าตัวนั้นขอบคุณที่อุราชิมะช่วยชีวิตเต่าน้อยเอาไว้ จึงเชื้อเชิญเขาดำดิ่งลงไปเที่ยววังมังกรเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ

อุราชิมะขี่หลังเต่าตัวนั้นลงไปสู่ทะเลลึก และพบกับวังมังกรเรียวงุโจที่อยู่ใต้ทะเลนั้น เขาได้พบกับเจ้าหญิงโอโตฮิเมะ ธิดาของเทพเจ้ามังกรริวจิน เจ้าหญิงเชื้อเชิญให้อุราชิมะพำนักอยู่ในวังมังกรจนรู้สึกพอใจ เขามีความสุขมาก จนเวลาผ่านไปชั่วระยะหนึ่ง อุราชิมะเริ่มคิดถึงบ้าน คิดถึงแม่ จึงขอลาเจ้าหญิงกลับไปสู่บนพื้นแผ่นดิน ก่อนเดินทาง เจ้าหญิงได้มอบกล่องของขวัญประดับด้วยอัญมณีติดตัวไปด้วย 

เมื่อมาถึงฝั่ง เขาพบว่าเมืองเปลี่ยนไป ไม่เจอแม่ ไม่เจอคนรู้จัก ไม่เจอใคร และล่วงรู้ว่าเวลาได้ผ่านไปนับ 100 ปี เขาเสียใจมาก จึงกลับไปที่ชายหาด และนึกถึงกล่องของขวัญที่ได้มาจากวังมังกร ทันใดนั้น อุราชิมะเปิดกล่องออก จู่ ๆ ก็มีควันพวยพุ่งออกมา ร่างกายชายหนุ่มกลายเป็นชายชราอย่างรวดเร็ว และในที่สุด อุราชิมะก็จากโลกไปในแทบจะทันที 

กล่องของขวัญใบนั้นก็คือกล่องกักเก็บอายุของเขาเอาไว้ เวลาชั่วอึดใจในโลกใต้บาดาลเดินไปอย่างเชื่องช้ากว่าบนโลกมนุษย์

ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ
ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

ภายในรถไฟ Ibutama ตกแต่งด้วยไม้ไม่ต่างจากรถไฟท่องเที่ยวของคิวชูขบวนอื่น ๆ เบาะนั่งมีสีสันสดใส ลักษณะการจัดเก้าอี้ในรถสิที่แปลก ฝั่งที่เป็นสีขาวของรถไฟเป็นเก้าอี้หันออกไปนอกหน้าต่าง มีบาร์ยาวไปตลอดแนว ส่วนที่นั่งฝั่งสีดำมีทั้งแบบหันหน้าไปทางหัวขบวนและหันออกไปทางหน้าต่าง 

ผมจองที่นั่งทางฝั่งสีขาวที่เป็นเหมือนบาร์ชมวิวเอาไว้ ระหว่างทาง พนักงานประจำรถก็เล่าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ฟัง จับใจความได้ว่า รถไฟขบวนนี้ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้โดยสารเลือกได้ว่าจะมองวิวทะเลหรือมองวิวภูเขา ถ้าอยากมองวิวทะเลก็นั่งฝั่งบาร์ที่ภายนอกเป็นสีขาว แต่ถ้าอยากดูวิวภูเขาต้องนั่งฝั่งที่เป็นสีดำ 

ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

ภายในตู้โดยสารตกแต่งด้วยตัวรูปวาดของบรรดาสัตว์ทะเล ไม่ว่าจะเป็นเต่า หอย ปลา ปู หมึก หรือแม้แต่ซ่อนรูปกล่องของขวัญเอาไว้เต็มรถทั้งผนัง กระจก เหมือนกับเรากำลังอยู่ใต้ผืนน้ำ

นอกจากนั้นยังไม่พอ เครื่องดื่มที่ขายบนรถยังมีน้ำไซเดอร์ซ่า ๆ สีฟ้าเหมือนทะเลไว้ให้จิบไปพลาง ๆ ระหว่างมองดูวิวไปด้วย ความฉลาดของการออกแบบบาร์ คือการจัดบล็อกวางขวดรูปทรงกระบอกเตี้ย ๆ ตรงจุดเดียวกับที่นั่ง แน่นอนว่าเวลาเรานั่งหันข้างให้รถไฟตอนที่ออกตัวและเบรก ตัวเรารวมถึงของก็จะเซไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เจ้าช่องรูปทรงกระบอกนี้จึงติดตั้งเอาไว้ให้เราวางขวดหรือแก้วที่บรรจุไซเดอร์และเครื่องดื่ม โดยที่มันจะไม่โงนเงนเวลารถไฟวิ่งเลยแม้แต่นิด

ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ
ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

รถไฟวิ่งปุเลงฝ่าสายฝนไป มองออกไปนอกหน้าต่างพอเห็นความเลือนรางของมหาสมุทรแปซิฟิกเบื้องหน้า พนักงานคนเดิมพูดออกไมค์ว่า ถ้าฝนไม่ตก เราจะเห็นภูเขาไฟซากุระจิมะจากตรงนี้ได้อย่างชัดเจน 

สายตาผมมองออกไป เห็นแต่สีขาวของม่านฝนและความเลือนรางของขอบฟ้า พนักงานสาวส่งเสียงออกมาอีกว่า “แต่ไม่เป็นไร เรามีรูปให้คุณดู” แล้วเธอก็เสกรูปภูเขาไฟรูปกรวยขนาดใหญ่ที่เป็นฉากประดับไปกับขอบฟ้าของทะเลสีครามออกมาให้พวกเราได้เห็นราวกับมีกระเป๋าโดราเอม่อน 

เออ เตรียมพร้อมดี

ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ
ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

ไม่นานนัก เสียงประกาศก็บอกว่าเราจะถึงสถานีอิบุสุกิในไม่ช้า ผมเตรียมตัวลงจากรถและคว้าบรรดาของที่ระลึกที่เสียเงินไปไม่น้อยจากซอยละลายทรัพย์ที่อยู่บนรถไฟ ความมหัศจรรย์ของรถไฟท่องเที่ยว คือการที่เราอยากหยิบของที่ระลึกทุกชิ้นที่วางโชว์อยู่บนเคาน์เตอร์เหมือนถูกล่อซื้อกลาย ๆ แต่สติก็ต้องยั้งเอาไว้ว่า ผมไม่ได้มีแค่รถไฟขบวนนี้ที่จะต้องเดินทาง ขอเก็บเงินไว้ซื้อของฝากจากรถไฟขบวนอื่นดีกว่า

ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ
ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

ที่สถานีอิบุสุกิฝนไม่ได้เบาลงเลย แถมหนาเม็ดกว่าเดิมด้วยซ้ำ ดูทรงแล้วแผนการไปอบทรายร้อนนอนชมวิวภูเขาริมทะเลคงต้องพับอย่างไม่ต้องคิดเยอะ 

ผมก้าวเท้าออกจากประตูพร้อมไอน้ำเหนือบานประตูที่พ่นฟิ้ว ๆ มาจนเต็มตัว นี่คงเป็นควันจากกล่องของขวัญสินะ ถึงแม้ว่าตอนแรกจะหวั่น ๆ ว่าฉันจะแก่ลงไหมถ้าโดนละอองน้ำนั้น แต่ก็ยังเหมือนเดิม (เพราะแก่อยู่แล้ว) จริง ๆ การเดินทาง 50 นาทีของรถไฟมันรู้สึกไวมาก เหมือนกับอุราชิมะ ทาโร่ ที่อยู่ในวังมังกร พอตอนจบควันก็พวยพุ่งจากกล่องของขวัญ แต่กับเราคือไอน้ำ (ที่น่าจะผสมละอองฝน) พ่นส่งท้ายการเดินทาง มิหนำซ้ำสีของรถไฟที่ผสมกันระหว่างขาวกับดำ คงหมายถึงสีเส้นผมของวัยหนุ่มและวัยชราด้วยล่ะมั้ง ช่างเป็นการร้อยเรียงเรื่องราวที่จับใจจริง ๆ 

ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ
ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

จากตรงนี้ผมต้องเดินทางต่อด้วยรถไฟท้องถิ่น เพื่อไปสถานีเล็ก ๆ ชื่อว่า ‘นิชิโอยามะ’ (Nishi-Oyama) 

รถไฟดีเซลราง KIHA 47 สีขาวมอซอคาดน้ำเงินเข้ามาจอดพร้อมสายฝนกระหน่ำ ความรู้สึกเหมือนนั่งรถไฟไทยไม่มีผิด เก้าอี้นั่งแบบหันหน้าชนกันหลังตรงราวกับฝึกมารยาทวางตัวอยู่เต็มตู้ ราวจับเป็นห่วงวงกลมเอาไว้โหนได้ ต่างกันแค่มีเครื่องปรับอากาศ ทำให้อุณหภูมิในรถไฟเหมาะกับการใช้ชีวิต และไม่ต้องมีลมโกรกจนผมตั้งทรงเป็นซูเปอร์ไซย่า

ทริปฝ่าฝนบนคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวที่อยากดูทะเลนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

เสียงกึงกังของรถไฟที่วิ่งห้อตะบึงไปบนรางซึ่งน่าจะไม่ได้เชื่อมกันเป็นเนื้อเดียว แต่ใช้การต่อเป็นท่อน ๆ ทำให้เกิดเสียงกึกกัก ๆๆๆ ไปตลอดทาง ต้นไม้สองข้างทางที่ระไปกับตัวตู้รถดังแพร่ด ๆๆๆ บางทีผมก็รู้สึกว่ารถไฟที่บ้านเกิดตัวเองดูน่าคบหาไปเลยในบางช่วงที่เจ้า KIHA ขบวนนี้วิ่งอยู่ 

20 นาทีหลังจากฝ่าฝนจนมองไม่เห็นวิวข้างนอก รถไฟก็จอดเอี๊ยดที่สถานีเล็ก ๆ ที่เล็กซะจนอยากถามคนสร้างว่านึกยังไงมาสร้างตรงนี้ ชานชาลาแคบ ๆ รับผู้คนที่นับหัวได้ราว ๆ 10 คนมายืนอยู่บนชานชาลา ดูเหมือนว่าคนที่นั่งมาด้วยกันบนรถจะลงที่นี่เกือบทั้งหมด รถไฟเคลื่อนตัวออกไปจากชานชาลา เผยให้เห็นภูเขาสูงใหญ่… ที่ยอดหายอยู่ข้างหน้า

ขึ้นรถไฟฝ่าฝนบนเกาะคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวทูโทน ถ้าอยากชมทะเลต้องนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ
ขึ้นรถไฟฝ่าฝนบนเกาะคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวทูโทน ถ้าอยากชมทะเลต้องนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

จู่ ๆ ฝนก็ซาเม็ดลงจนหยุด เหมือนให้เราเห็นทัศนียภาพข้างหน้าชัด ๆ ที่นี่คือสถานีรถไฟที่อยู่ใต้สุดของเกาะญี่ปุ่น จริง ๆ เรียกว่า ‘ป้ายหยุดรถ’ น่าจะเหมาะกว่า มันเป็นชานชาลาแคบ ๆ พร้อมศาลาพักรอที่บังฝนไม่มิด มีแท่นสูง ๆ สีขาวพร้อมข้อความ สถานีใต้สุดของญี่ปุ่น พร้อมบอกว่าเหนือสุด ตะวันออกสุด และตะวันตกสุดคืออะไร

ใช่ ผมตั้งใจมาที่นี่ สำหรับคนอื่นแล้วมันอาจจะไม่ได้พิเศษอะไร แต่สำหรับผม (และบางคนที่ลงมาจากรถไฟ แล้วไม่ยอมลงไปจากชานชาลาซะที) น่าจะเป็นสถานที่ที่เขาตั้งใจจะมาจริง ๆ คงไม่ต่างอะไรกับการไปเช็กอินบอกเพื่อน ๆ ในเฟซบุ๊กว่า “แก ๆ ฉันมาสถานีสุไหงโก-ลก ใต้สุดของไทยแล้วนะเว้ย” 

ขึ้นรถไฟฝ่าฝนบนเกาะคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวทูโทน ถ้าอยากชมทะเลต้องนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

นิชิโอยามะ แปลว่า ภูเขาใหญ่ตอนใต้ ถ้าฟ้าเปิด ผมคงเห็นภูเขารูปสามเหลี่ยมสูงทะมึนตัดกับทุ่งและไร่ดอกไม้สีสดใส แต่เผอิญว่าภาพที่เห็นดันเป็นภูเขาครึ่งท่อนที่คลุมด้วยเมฆและฟ้าสีเทาตุ่น ๆ นี่น่ะสิ 

แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็น อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากทำ คือการส่งโปสต์การ์ดหย่อนลงในตู้ไปรษณีย์สีเหลืองที่อยู่หลังสถานี

ผมจำได้จากหนังสือ ทางรถไฟสายดาวตก ว่าตู้ไปรษณีย์ส่วนใหญ่เป็นสีแดง แต่ที่นี่เป็นสีเหลือง ไม่รู้ทำไม แต่ผมก็ไม่อยากรู้คำตอบหรอก สิ่งที่ผมนึกทำโดยทันที คือเข้าไปในร้านขายของที่อยู่ข้างหน้า (ซึ่งเป็นร้านเดียวในที่นี่ด้วยซ้ำ) บรรจงเลือกโปสต์การ์ดที่ชอบที่สุด มันคือรูปภูเขาและสถานีรถไฟแบบฟ้าใส ๆ ที่ผมไม่ได้เห็นในวันนี้ พร้อมบรรจงจรดปากกาเขียนข้อความลงไป จ่าหน้าถึงตัวเอง ติดแสตมป์ จ่ายเงิน แล้วไปหย่อนที่ตู้ไปรษณีย์นั้น 

ก่อนหย่อน ผมขอพรในใจว่า ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากมาเห็นที่นี่ในวันฟ้าใสอีกครั้ง ผมอยากกลับมาญี่ปุ่นอีกสักครั้ง

ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโปสต์การ์ดที่หย่อนลงไปนั้นจะมาถึงหรือเปล่า แต่ผมก็หย่อนมันลงไปแล้วล่ะ

ผมนั่งอยู่กับตัวเองที่สถานี (พร้อมเสียงฟ้าร้องไกล ๆ) จนหนำใจ แล้วจึงตัดสินใจกลับ แต่การกลับนั้นไม่ได้รอรถไฟ เพราะสายนี้เป็นแค่เส้นท้องถิ่นที่นาน ๆ ทีจะมีผ่านมา ผมเลยเลือกเดินตาม GPS ไปที่ป้ายรถเมล์ในหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลนัก เพื่อจะหารถเมล์กลับไปที่สถานีอิบุสุกิตามที่ถามร้านค้ามาว่า มีรถเมล์วิ่งเพียงวันละ 3 เที่ยวเท่านั้น ถ้าเดินออกไปใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง น่าจะทันรอบรถพอดี ผมเดินตามทางไปเรื่อย ๆ ผ่านไร่ข้าวโพด บ้านเรือน จนมาหยุดที่ป้ายรถเมล์หน้าโรงเรียน (อนุมานได้จากชิงช้าในสนาม) ก่อนที่ฝนจะกระหน่ำลงมาอย่างบ้าคลั่ง

ให้ตายเถอะ ผมไม่เคยอยู่กับตัวเองในสภาวะเปียกชื้น หนาวเหน็บ และผจญภัยในต่างแดนแบบนี้มาก่อน ครั้งล่าสุดก็น่าจะเป็นตอนที่รถไฟมาเลเซียทิ้งไว้กลางทางจนเกือบไปสิงคโปร์ไม่ได้ ดูนาฬิกาเหลือเวลาอีก 10 นาทีจะมีรถเมล์มาตามคำบอกของร้านค้า ซึ่งจากประสบการณ์การเที่ยวในไทยนั้น ผมแทบไม่เคยคาดหวังกับระบบขนส่งมวลชนเลย รถเมล์ท้องถิ่นที่ดูเหมือนจะวิ่งตามใจฉันหรือตามความต้องการของคน วันไหนคนน้อยก็ไม่วิ่ง วันไหนคนเยอะก็วิ่งหน่อย แล้วที่นี่จะเป็นเหมือนกันไหม

แล้วผมก็ได้คำตอบว่า ที่นี่ไม่ใช่แบบนั้น มีรถเมล์มาจริง ๆ แล้วก็ตรงเวลาตามนาฬิกาเป๊ะจนมหัศจรรย์ใจ บนรถเมล์มีผู้โดยสารแค่ 2 คน คือผมกับคุณป้าแม่บ้านคนหนึ่ง ขนาดคนน้อยแบบนี้เขาก็ยังวิ่งอยู่ และวิ่งตามเวลาด้วย เพราะถือว่ามันมีคนต้องใช้

ขึ้นรถไฟฝ่าฝนบนเกาะคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวทูโทน ถ้าอยากชมทะเลต้องนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

จะว่าไปแล้ว ทริปที่ไม่สมบูรณ์หรือมีอะไรซักอย่างซึ่งทำให้แผนที่วางไว้ไม่ได้ราบเรียบก็สร้างประสบการณ์ให้เราในอีกแบบหนึ่ง ถ้าเรามาในวันที่อากาศเป็นใจ เราก็จะเจอประสบการณ์อีกแบบ แต่วันที่ฝนกระหน่ำ ก็จะเจออีกแบบที่วันฟ้าใสให้ไม่ได้ หรือว่านี่จะเป็นของขวัญอะไรบางอย่างจากอิบุสุกิที่ให้เรากันนะ

ขึ้นรถไฟฝ่าฝนบนเกาะคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวทูโทน ถ้าอยากชมทะเลต้องนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

ขอเล่าต่ออีกนิดหน่อยว่า ผมได้รับโปสต์การ์ดที่หย่อนลงตู้ไปรษณีย์สีเหลืองใน 1 เดือนหลังจากที่เท้าเหยียบประเทศไทย พร้อม ๆ กับข่าวดีในช่วงก่อนวันเกิดตัวเองว่า ผมต้องมาญี่ปุ่นอีกครั้ง…ไม่ใช่ระยะสั้น ๆ แต่ต้องอยู่ที่นั่นเกือบ 3 เดือน

คำขอจากตู้ไปรษณีย์เป็นจริงแล้ว

ขึ้นรถไฟฝ่าฝนบนเกาะคิวชู นั่ง Ibutama รถไฟท่องเที่ยวทูโทน ถ้าอยากชมทะเลต้องนั่งฝั่งสีขาว ดูภูเขานั่งฝั่งสีดำ

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ