“ตอนนั้นเป็นเวลา 8 โมง 15 นาที ป้าที่อยู่ชั้น ป.1 กำลังเดินไปโรงเรียนกับเพื่อน ๆ อยู่ดี ๆ ก็ได้ยินเสียงเครื่องบิน” คุณป้าโทชิโกะเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้น แม้จะเล่าเป็นร้อย ๆ ครั้งแล้ว แต่ก็ยังลงรายละเอียดจนเห็นภาพแจ่มชัด

“มีคนชี้แล้วตะโกนว่า เครื่องบินศัตรูกำลังมา! พอเงยหน้ามองก็เห็นแสงสว่างจ้า แล้วเครื่องบินลำนั้นก็ปล่อยระเบิดปรมาณูลงมา

“เพื่อนที่เดินไปด้วยกัน ถึงจะรอดชีวิตจากวันนั้นก็ค่อย ๆ ตายไปทีละคนสองคนเพราะกัมมันตภาพรังสี ไม่รู้เหมือนกันนะว่าทำไมป้าถึงมีชีวิตยืนยาวมาถึงตอนนี้ได้”

พูดจบเธอก็ยกแขนตัวเองขึ้นดูแผล

“ตอนนั้นป้ายกแขนขวาขึ้นบังแสงสว่างจ้านั่น แขนขวาก็เลยไหม้ หัวก็ไหม้ หลังก็ไหม้”

ตรงไหนนะคะ – เราเอ่ยถาม พยายามชะโงกหน้าไปมองแขนขวาของคุณป้า

“ผ่านมาเกือบ 80 ปี ตอนนี้แผลเริ่มไม่มองค่อยเห็นแล้วล่ะ” คุณป้าตอบพร้อมรอยยิ้ม และยังคงยิ้มต่อไปตลอดบทสนทนา

โทชิโกะ ทานากะ (Toshiko Tanaka) เป็นศิลปินชาวญี่ปุ่นวัย 85 ปี ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นนักกิจกรรมที่เดินทางทั่วโลก เพื่อสื่อสารถึงความร้ายแรงของสงครามที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป

เราเป็นคนหนึ่งที่สนใจเหตุการณ์นี้มาโดยตลอด สำหรับเรา มันช่างเกินจะจินตนาการได้ว่าคนที่เผชิญกับโศกนาฏกรรมโดยตรงจะรู้สึกอย่างไร ณ วินาทีนั้น และเขามีชีวิตอยู่ต่อมาด้วยความรู้สึกต่อโลกนี้อย่างไรบ้าง

แต่แล้วผู้รอดชีวิตตัวจริงอย่างคุณป้าก็เดินทางมาแสดงงานศิลปะถึงเมืองไทย ทำให้เราได้พูดคุยด้วยเป็นการส่วนตัว ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะโอกาสนี้จะมาถึง

นิทรรศการในครั้งนี้มีชื่อว่า Echoed Tranquility ว่าด้วยแก่นแท้ของความสงบและการฟื้นฟูสภาพจิตใจที่เกิดขึ้นหลังสงคราม จัดที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือของมูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ และมูลนิธิสันติภาพซาซากาว่า

นอกจากคุณป้าโทชิโกะ ทานากะ ยังมีศิลปินคนอื่น ๆ อย่าง Dinh Q. Lê ชาวเวียดนาม และ ปรัชญา พิณทอง ชาวไทย มาร่วมจัดแสดงผลงานในหัวข้อเดียวกันด้วย

ทุกวันนี้คุณป้าไม่ได้ไปต่างประเทศบ่อยเท่าเดิมแล้ว ด้วยวัยที่มากขึ้นและขาที่ไม่แข็งแรง แต่ครั้งนี้เธอก็ตั้งใจบินมา แม้จะต้องใช้รถเข็นช่วยเคลื่อนไหวอยู่บ้างก็ตาม คุณป้าบอกกับเราว่านี่คงเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตที่ได้มาเยือนเมืองไทยแล้ว

“บางคนอาจมองว่าป้าเป็นศิลปินโลกสวย แต่ในฐานะผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู ป้าว่าป้ามีสิทธิ์จะพูดเรื่องนี้ได้นะ”

จริงของป้า

Toshiko Tanaka
Tree of Hiroshima, 1998
Cloisonné Enamel Painting
180 x 90 cm

เพราะฮิโรชิมาเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ ไม่ได้เป็นเป้าหมายของการทิ้งระเบิด ก่อนที่สงครามจะทวีความรุนแรง เด็กหญิงโทชิโกะ ทานากะ จึงเคยใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไปมาก่อน เธอได้ไปโรงเรียน เล่นกับเพื่อนบ้านอย่างสนุกสนาน ว่ายน้ำด้วยกันในฤดูร้อน

จนเมื่อปี 1944 คุณป้าจึงเริ่มรู้สึกถึงการมีอยู่ของสงครามผ่านบรรยากาศและคำบอกเล่าของผู้ใหญ่

ไม่รู้เรียกว่าโชคดีหรืออย่างไร ก่อนระเบิดลงเพียง 1 สัปดาห์ คุณป้าเพิ่งย้ายจากเมืองที่ระเบิดลงพอดีมาอยู่บ้านใหม่ในจังหวัดเดิม 

ผลก็คือคุณป้ารอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด 

แต่เพื่อนร่วมชั้นทุกคนเสียชีวิต

ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงแผลไฟไหม้ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้คนมากมายในตอนนั้น จนรถม้าขนกระดูกไม่ไหว ต้องกองกระดูกรวมกันเป็นภูเขา

“เขาบอกว่า ถ้าระเบิดปรมาณูไปลงตรงไหน ที่นั่นจะปลูกพืชผักไม่ได้อีก 75 ปี” ป้าสบตากับเรา “แต่พอป้ายืนใกล้ ๆ กองกระดูกที่สุมกันอยู่ ป้าก็เห็นต้นไม้ต้นเล็ก ๆ งอกขึ้นมา”

ถ้าสังเกตดี ๆ จะมีลูกแก้วใสกิ๊งลูกหนึ่งติดอยู่ในภาพ นั่นคือสัญลักษณ์แทนต้นไม้ต้นนั้นที่คุณป้าใส่ไว้เพื่อบอกทุกคนว่า ในความสิ้นหวัง ยังมีความหวังอยู่เสมอ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ยากจนข้นแค้น

คุณป้าโทชิโกะที่ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เล็ก ๆ ก็ขัดสนจนไม่มีเงินเรียน และต้องออกมาทำงานหาเงิน แต่ถึงอย่างนั้นความรู้สึกอยากวาดรูปก็ยังอยู่ในใจตลอดเวลา

แต่แล้วโอกาสก็มาถึง เมื่อคุณป้าแต่งงาน ทางครอบครัวของสามีก็แนะนำให้รู้จักกับ ‘ฉิปโป’ หรือการทำ Enamel เธอจึงได้ไปเรียนมหาวิทยาลัยศิลปะในโตเกียว แล้วไปเรียนต่อในโรงเรียนศิลปะที่นิวยอร์กด้วย คุณป้าบอกว่าเธอถือว่าโชคดีมากสำหรับคนในยุคนั้น

Enamel คือเทคนิคการเคลือบลงยาที่มีมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้กับภาชนะหรือเครื่องปั้นดินเผา แต่โทชิโกะปรับเปลี่ยนมาใช้กับจิตรกรรมฝาผนังแทน เพื่อเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ลงในงาน ทั้งยังพัฒนาเทคนิคให้เป็นของตัวเองโดยนำอะคริลิกมาใช้ในงานด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงคิดว่าคุณป้าสื่อสารเรื่องสงครามมาตั้งแต่เริ่มต้นทำงานศิลปะ

แต่ไม่ใช่ ไม่เลย

มีเพียงสัญลักษณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณป้าแอบใส่ไว้ในผลงานต่าง ๆ เพื่อเยียวยาตัวเองเท่านั้น แต่ไม่เคยมีงานไหนที่สื่อถึงเหตุการณ์นั้นโดยตรง ราวกับกลัวว่าหากแตะต้องจุดเปราะบางในหัวใจนั้นแรงไปเพียงนิดเดียว หัวใจจะแตกโพละออกมาเป็นเสี่ยง ๆ

“มันเป็นบาดแผลของป้า” ศิลปินเอ่ย

จุดเปลี่ยนสำคัญคือเหตุการณ์ปี 2008 เมื่อทางอเมริกาใต้เชิญ โทชิโกะ ทานากะ ไปจัดแสดงผลงานที่ประเทศเวเนซุเอลา 

ในตอนนั้น นายกเทศมนตรีของเมืองเดินเข้ามาบอกว่า “คุณเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดปรมาณู เพราะฉะนั้น คุณก็มีภาระหน้าที่ที่จะต้องถ่ายทอดประสบการณ์ของคุณให้ผู้อื่นได้รับรู้ เพื่อที่ระเบิดเหล่านั้นจะไม่ถูกใช้งานอีกต่อไป”

เมื่อได้ยินอย่างนั้น โทชิโกะในวัย 70 ก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ แล้วเริ่มทำงานศิลปะเพื่อแสดงจุดยืน รวมถึงผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง

“ถ้าป้าออกมาพูด เพื่อนร่วมชั้นตอนประถมทุกคนที่ตายไปคงจะยกโทษให้ที่ป้าเป็นผู้รอดชีวิต แต่ไม่เคยพูดถึงเหตุการณ์นี้เลย” เธอบอกถึงเหตุผล

จริง ๆ แล้วเราคิดว่าเป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่คุณป้าจะต้องรู้สึกผิดกับการที่ตัวเองรอดจากวันนั้น แล้วพยายามใช้ชีวิตต่อไปแบบปกติธรรมดา ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช้ความผิดของคุณป้าเลย แต่อีกใจหนึ่งก็ยินดีที่คุณป้าก้าวผ่านทรอม่ามาได้ แล้วตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความหมายและมีอุดมการณ์

Toshiko Tanaka
Inochinoiki, 1990
Cloisonné Enamel Painting
180 x 90 cm

ภาพนี้ศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจากกลางคืนวันที่ระเบิดปรมาณูลง เมืองทั้งเมืองไหม้จนวอดไปหมดแล้ว แต่ก็ยังมีบางส่วนที่เผาไหม้อยู่

เด็กหญิงโทชิโกะที่ขณะนั้นนอนเจ็บสาหัสอยู่ในบ้าน ลืมตามาเห็นฟ้าสีฟ้าสดจากช่องที่หลังคาบ้านถล่ม พลางคิดว่า ต่อให้วันนี้จะเป็นวันที่แย่แค่ไหน แต่ฟ้าก็ยังเป็นสีฟ้าเหมือนเดิม

และพรุ่งนี้ก็ยังคงเป็นสีฟ้าอยู่อย่างนั้น

“ถ้าเรามีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้ พรุ่งนี้เราก็ยังคงมีความหวัง ยังไงมนุษยชาติก็ยังดำรงอยู่และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ต่อไป” คุณป้ากล่าวอย่างเข้มแข็ง

หากมองที่กลางภาพ จะเห็นวงกลมและเส้นสายที่ดูเหมือนทางเดิน ทั้งยังมีลูกแก้วเล็ก ๆ ส่องประกายวิบวับ โทชิโกะบอกว่านั่นคือโลกที่กำลังหมุนและเต็มไปด้วยชีวิตต่าง ๆ มากมาย ซึ่งโลกนั้นไม่ใช่แค่ฮิโรชิมาของเธอ

หลังจากที่ตั้งใจว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหว คุณป้าก็กลายมาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสันติภาพ เข้าร่วม International Campaign to Abolish Nuclear Weapons (ICAN) คุณป้าได้รับเชิญไปพูดทั่วโลก บางทีก็ไปผ่านองค์กร Peace Boat (เรือแห่งสันติภาพ)

จนระยะหลังที่คุณป้าอายุมากขึ้น เริ่มเดินไม่ค่อยถนัด ไปต่างประเทศไม่ค่อยสะดวก จึงตัดสินใจเปิดบ้านของตัวเองเป็น ‘Peace Exchange Space’ หรือพื้นที่แลกเปลี่ยนสันติภาพ ต้อนรับผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก หากนับดูตอนนี้ก็มีแขกกว่า 7,000 คนแล้วที่เคยมาเยี่ยมเยียนคุณป้าที่บ้าน 

โดยปกติแล้วเธอจะเล่าตั้งแต่เหตุการณ์ระเบิดปรมาณูที่ตัวเองประสบในวัยเด็ก ไปจนถึงเรื่องราวของปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้ยังมีระเบิดปรมาณูพร้อมใช้งานถึง 12,000 ลูกอยู่ตามที่ต่าง ๆ ของโลก

ภาพครอบครัวก่อนที่คุณพ่อของโทชิโกะจะออกไปรบ โทชิโกะคือทารกตรงกลางภาพ
ภาพโทชิโกะกับเพื่อนร่วมชั้นอนุบาล ในเดือนมีนาคม ปี 1945 หรือ 5 เดือนก่อนระเบิดลง ปัจจุบันนี้ตำแหน่งที่ Mutoku Kindergarten เคยตั้งอยู่ กลายเป็น Hiroshima Peace Memorial Museum
โทชิโกะในวัย 8 ขวบ ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากระเบิดปรมาณู ก่อนจะได้รับวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเม็ดเลือดขาวผิดปกติเมื่ออายุ 12 ปี

เหตุการณ์ที่ฝังใจมาก คือตอนที่เพื่อนชาวมาเลเซียเดินทางมาพูดคุยเรื่องสันติภาพที่บ้าน

โทชิโกะตระหนักมาตลอดว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นทำไม่ดีกับคนทั่วเอเชีย ญาติของเพื่อนชาวมาเลเซียคนนี้เองก็ถูกทหารญี่ปุ่นสังหาร เธอจึงขอโทษแทนทหารญี่ปุ่นคนนั้นด้วยความจริงใจ

“เขาบอกว่า ฉันไม่ต้องการให้เธอขอโทษ” คุณป้าเล่า

“แต่ฉันต้องการให้เธอจำว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็เอาความทรงจำนั้นไปเป็นแรงผลักดันให้เธอทำกิจกรรมส่งเสริมสันติภาพไปทั่วโลก พยายามไปด้วยกันนะ

“คำพูดนี้แหละที่ช่วยเยียวยาใจป้า เราก็ต้องพยายามสร้างสันติภาพกันต่อไป”

Toshiko Tanaka
Millennium, 2000
Cloisonné Enamel Painting
176 x 112 cm

ภาพนี้สร้างสรรค์ขึ้นตอนมิลเลนเนียม ซึ่งถือว่าใหม่กว่าภาพอื่น ๆ 

โทชิโกะบอกว่าในยุคนี้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้นมาก มีบ้าน มีที่อยู่ มีอาหารอร่อยให้กิน แต่สิ่งที่คงอยู่ไม่ไปไหนก็คือปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กากกัมมันตรังสีหรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เธอจึงสร้างงานขึ้นมาเพื่อตั้งคำถามว่า อีกพันปีข้างหน้าเราจะอยู่กันอย่างไรต่อไป

นอกจากนี้ ในภาพยังมีสมการของ ไอน์สไตน์ E = mc2 ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานการผลิตระเบิดปรมาณูในภายหลังแอบซ่อนอยู่ด้วย

“ตอนเด็ก ๆ ช่วงที่สงครามเริ่มรุนแรง ป้าโดนผู้ใหญ่ล้างสมองเยอะเลย” คุณป้าพูดถึงสถานการณ์สมัยสงคราม

เด็กญี่ปุ่นสมัยนั้นได้รับข้อมูลเหมือน ๆ กันว่าคนอังกฤษและคนอเมริกันที่จะบุกเข้ามาในญี่ปุ่นนั้นเป็นเหมือนปีศาจ เหมือนสัตว์ประหลาดที่ไม่มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกับคน และจะลุกขึ้นมาฆ่าคนญี่ปุ่นเมื่อไหร่ก็ได้

ส่วนคนเอเชียชาติอื่น ๆ ก็เป็นแค่เครื่องมือที่คนญี่ปุ่นใช้งานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการทำสงคราม คุณป้าบอกว่าตอนนั้นไม่เคยมองเห็นคุณค่าชีวิตของคนเอเชียเลย

แต่ทุกวันนี้ เมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้ว เธอมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับคนทั่วโลก และรู้แจ้งว่า ไม่ว่าจะเป็นคนชาติอะไร ก็มีคนที่เก่ง มีความสามารถ และจิตใจดีอยู่มากมาย

“รู้สึกเลยว่ากลยุทธ์การสร้างความเป็นอื่นให้กับคนอื่นที่ไม่ใช่คนในชาติตัวเอง มันเป็นอะไรที่เลวร้ายมาก จนถึงตอนนี้เขาก็ยังใช้วิธีนี้กันอยู่

“โกรธมาก” ศิลปินเอ่ย “นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ป้าต้องลุกขึ้นมาเป็นนักเคลื่อนไหว ป้าต้องลบล้างความเชื่อแบบนั้น”

โทชิโกะไม่เพียงสนใจแต่เรื่องสงครามในอดีต เธอยังติดตามข่าวสงครามระหว่างหลาย ๆ ประเทศในปัจจุบัน มองว่าสงครามเป็นความเจ็บปวดที่เป็นสากล และเศร้าใจตลอดที่วันเวลาผ่านไป เรื่องแบบนี้ก็ยังเกิดขึ้น เธอบอกว่าเป็นคนรุ่นเธอเองที่สร้างผู้นำประเทศแบบนั้นขึ้นมา

“ป้าเป็นศิลปิน อาจจะมีความคิดที่คนเห็นว่าโลกสวยไปหน่อย แต่ป้าว่าโลกใบนี้ก็เหมือนเรือใหญ่ลำหนึ่ง ถ้าทุกคนมัวแต่ทะเลาะเบาะแว้งแย่งทรัพยากร สักวันเรือก็จะจม แต่ถ้าคนรวยมาก ๆ เห็นใจคนอื่นแล้วแบ่งทรัพยากรมาจุนเจือให้โลกสมดุลขึ้นบ้าง เรือก็จะแล่นต่อไปได้ แม้จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม”

เราถามคุณป้าว่ามีวิธีการดูแลใจตัวเองยังไง เมื่อต้องทำงานกับประเด็นอ่อนไหวในชีวิตตลอดเวลา คุณป้าก็ตอบมาอย่างเรียบง่ายว่า ป้าเยียวยาใจตัวเองด้วยความหวัง

ป้าหวังว่าการรื้อฟื้นความทรงจำอันเลวร้ายมาพูดให้คนทั่วโลกได้รับรู้ อาจช่วยทำให้โลกเราปราศจากสงครามนิวเคลียร์ต่อไปได้ในอนาคต 

และป้าจะรู้สึกสดชื่นขึ้นทุกครั้งเมื่อบอกกับตัวเองว่า กำลังทำอะไรให้เพื่อนร่วมชั้นที่จากไป

“ตอนนี้ป้าไม่มีแรงสร้างสรรค์งานศิลปะเท่าไหร่แล้ว สิ่งเดียวที่ยังขยับได้ก็คือปาก” คุณป้าพูดไปยิ้มไปเหมือนเคย “อยากจะใช้ปากของตัวเองสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจอันตรายของสงคราม และรู้ว่าสงครามก่อให้เกิดเพียงความสูญเสีย ไม่เคยมีใครได้อะไรจากสงครามอย่างแท้จริง”

อีกสิ่งสำคัญที่ โทชิโกะ ทานากะ ได้เรียนรู้ในวัย 85 และตั้งใจถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่อย่างเราฟัง คือหากเรามีความปรารถนาจะประสบความสำเร็จในเรื่องใด แล้วเราพยายามอย่างแท้จริง สักวันหนึ่งก็จะประสบความสำเร็จ

เหมือนอย่างที่คุณป้าเริ่มเรียนศิลปะช้า เริ่มเป็นนักเคลื่อนไหวก็ช้า แต่ก็ยังเชื่อว่าไม่มีอะไรที่ช้าจนเกินไป

เมื่อถามถึงนิทรรศการนี้ คุณป้าก็บอกว่ารู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้เข้าร่วม 

เธอบอกว่าการที่ผลงานของเธอซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อเยียวยาตัวเอง ได้กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารสันติภาพให้คนทั่วโลกรับรู้นั้นถือเป็นสิ่งที่วิเศษมาก และมีความหมายยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อได้มาจัดแสดงที่เมืองไทย

“สันติภาพเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นมันจะหายไป แต่สงครามเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องทำอะไร มันก็เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง” เธอว่า

ไม่ใช่ทุกครั้งที่มาสัมภาษณ์แล้วจะรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้ให้สัมภาษณ์ได้ แต่คุณป้าโทชิโกะทำให้เรารู้สึกแบบนั้น 

แม้จะเป็นคนต่างสัญชาติ แต่กลับไม่รู้สึกถึงกำแพงที่กั้นระหว่างเราเลยแม้แต่น้อย

แม้จะต้องพูดกันผ่านล่าม ไม่เข้าใจกันได้ในทันทีที่เปล่งถ้อยคำ แต่คุณป้าก็ทำให้เรารู้สึกว่าทุกประโยคที่กล่าวมา เธอหมายความตามที่พูดจริง ๆ เธอหวังให้เราได้อยู่ในโลกที่สุขสงบ และได้ทำในสิ่งที่อยากทำ

ก่อนกลับ เราบอกคุณป้าว่า ถ้ามีโอกาสจะไปเยี่ยมบ้านคุณป้าที่ฮิโรชิมาให้ได้

คุณป้าก็ยิ้มอย่างดีใจแล้วตอบกลับเราเป็นประโยคภาษาอังกฤษสั้น ๆ ว่า

“รีบมาตอนป้ายังมีชีวิตอยู่นะ”

ภาพ : faces-hiroshima.com

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง