วันหนึ่ง

กลางฤดูร้อน หลังจบการบันทึกเสียงรายการ Coming of Age กับ แพท-พัทริกา ลิปตพัลลภ บทสนทนาของเรายังต่อเนื่องไปอีกหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของ พระมหาจักรธร อตฺถธโร หรือ พระโตน หรือ นายจักรธร ขจรไชยกูล ซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ โตน โซฟา นักร้องนำและมือกีตาร์วง Sofa เจ้าของเพลงฮิตอย่าง เรื่องมหัศจรรย์ รวมไปถึงโปรดิวเซอร์ผู้แจ้งเกิด ลุลา และยังเคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินอย่าง Better Weather, ลูกหว้า พิจิกา, ว่าน ธนกฤต และได้ร่วมงานกับหลายศิลปินอย่าง Singular และลิปตา

พระโตนออกจากวงการเพลงมาบวช 9 ปีแล้ว และมีเรื่องราวทางธรรมที่น่าสนใจมากมาย

ไม่กี่วันหลังจากนั้น ฤดูร้อนยังไม่จาก ความร้อนยังไม่จาง ผมเดินทางมาพบพระโตนที่วัดบวรนิเวศวิหารในช่วงบ่ายแก่ ๆ

หลวงพี่เดินนำผมไปยังห้องอเนกประสงค์ในอาคารหลังหนึ่ง ชั้นบนเป็นห้องพักของพระบวชใหม่ที่บวชระยะเวลา 15 วันถึง 1 เดือน แต่หากจะอยู่ยาวจำพรรษาที่นี่ ต้องเข้าสู่กติกาทำตามระเบียบของทางวัด คือต้องท่องบทสวดมนต์ฉบับหลวง 100 กว่าพระสูตรให้ได้ภายใน 3 ปี ท่องพระปาติโมกข์หรือศีลของพระภาษาบาลีทั้งหมดให้ได้ และเรียนแผนธรรมให้จบนักธรรมเอก ส่วนแผนกบาลีให้ได้อย่างน้อยเปรียญธรรม 5 ประโยค ถ้ายังไม่ผ่านเงื่อนไขเหล่านี้ ทางวัดจะถือว่ายังอยู่ในสถานะนักเรียน ต้องเข้าเรียนจนกว่าจะสอบผ่านตามเกณฑ์ ซึ่งพระโตนสอบผ่านทั้งหมดที่ว่ามาเรียบร้อย

เมื่อถึงห้องที่เราจะนั่งคุยกัน ท่านก้มกราบพระประธานในห้องเป็นอย่างแรก แล้วบทสนทนาของเราก็เริ่มต้นขึ้น

ในฐานะของแฟนเพลง ผมขออนุญาตนำชื่อเพลงจากงานเขียนของ โตน โซฟา มาตั้งเป็นชื่อตอนต่าง ๆ ในบทสัมภาษณ์นี้

โชคชะตา

“โตน โซฟา คือคนที่พยายามหาอะไรสักอย่างที่ไม่รู้ว่าคืออะไร” พระโตนให้นิยามชีวิตของตัวเองก่อนบวชว่า “เมื่อก่อนคิดว่าเราพยายามค้นหานิยามชีวิตด้วยตัวเอง แต่ความจริงไม่ใช่ เราค้นหามันผ่านผลงานของศิลปินที่เราชื่นชอบ” หลวงพี่ขยายความว่า ศิลปินคนโปรดของเขาคือ ปาเดย์-ภาณุ กันตะบุตร มือเบสวงซีเปีย ผู้ที่ทำให้รู้สึกว่าเสียงเบสเพราะกว่าเสียงร้อง เป็นคนที่ทำให้เขาเริ่มสนใจในเสียงดนตรี

ข้อมูลนี้ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาย่อหน้าที่แล้ว ขณะนี้ ปาเดย์ หรือ พระภาวัช ศิวนันท์ กำลังบวชอยู่ที่วัดในจังหวัดชลบุรี

พระโตนย้ำหลายรอบว่าชีวิตก่อนบวชของท่านดีมาก ท่านชอบ 2 เรื่องในชีวิตตัวเองมาก ๆ เรื่องแรก คือชอบเพื่อน ๆ ท่านว่า “หลวงพี่โชคดีที่สุดในชีวิตที่รายล้อมไปด้วยเพื่อนที่ดี หลวงพี่มีเพื่อนไม่เยอะ แต่กล้าบอกว่าคนที่หลวงพี่สนิทด้วยทุกคนดีมาก ๆ จนรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมาก” พระโตนวิเคราะห์ว่าที่เป็นแบบนั้นน่าจะเป็นเพราะตัวเองมีเกณฑ์ในการคบเพื่อนข้อหนึ่งว่า เป็นเพื่อนกันต้องเกรงใจกัน สำหรับคนที่รู้สึกว่าความเกรงใจไม่ใช่เรื่องสำคัญก็จะไม่ค่อยสนิท จึงทำให้เพื่อนสนิทมีแต่คนที่เกรงใจกัน ซึ่งการอยู่กับคนเกรงใจทำให้บรรยากาศในชีวิตดี

“หลวงพี่ไม่ค่อยหวงของ ใครอยากยืมอะไรได้หมด บ้านแทบไม่เคยล็อก ถ้าล็อกก็วางกุญแจไว้ในจุดที่เพื่อน ๆ รู้ เราจะไม่แปลกใจเลยถ้าวันไหนกลับมาบ้านแล้วเจอเพื่อนอยู่ในบ้าน เพราะคนที่เราให้เข้ามาถึงจุดนี้ต้องเป็นคนเกรงใจ เขารู้เองว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ”

อย่างที่ 2 ชีวิตของ โตน โซฟา ได้ทำงานที่อยากทำ ได้ในสิ่งที่อยากได้ ไปเที่ยวที่ที่อยากไป เคยอยากมีที่ดิน มีบ้านต่างจังหวัดท่ามกลางธรรมชาติก็ได้หมด รายได้ของเขามาจากการทำงานในวงการดนตรี งานโปรดิวซ์อัลบัมได้เงินไม่เยอะ แต่เปิดประตูไปสู่งานอื่น ๆ เช่น งานลงเสียงอ่านสปอตโฆษณาและทำเพลงโฆษณา ซึ่งค่าตอบแทนค่อนข้างสูงในเวลานั้น

ได้โปรด

โตน โซฟา สนใจเรื่องดนตรีมาตั้งแต่ยังเด็ก ควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตแบบเด็กผู้ชาย โดดเรียน เตะฟุตบอล แทงสนุกเกอร์ ซ้อมดนตรี จนถึงมัธยมปลายก็หยุดทุกอย่างเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย สุดท้ายเขาสอบเข้าคณะมนุษยศาสตร์ เอกปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ เหตุผลของการเลือกเรียนไม่มีอะไรมากไปกว่าคะแนนถึงและรู้สึกว่าการเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของทางบ้านได้

วันปฐมนิเทศนิสิตใหม่ในห้องเรียนรวมขนาดใหญ่ เขากรอกข้อมูลความสนใจของนิสิตใหม่ว่า เล่นกีตาร์ พอมองลงไปดูใบของเพื่อนที่อยู่ข้างหน้า (ต่อพงศ์ ตันตราภรณ์ ปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจกาแฟ บริษัท เอสเพรสโซ่แมนซัพพลาย จำกัด) ก็เห็นเขียนว่า เล่นเบส แถวถัดไปก็มีอีกคน (ดุษฎี วรธรรมดุษฎี ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาภาครัฐและเอกชน) เขียนว่า ตีกลอง ช่วงนั้นวง Nirvana กำลังดัง วงดนตรีมีเครื่องดนตรีแค่ 3 ชิ้นก็พอ เพื่อนใหม่ 3 คนที่เพิ่งเจอกันจึงชวนกันเข้าห้องซ้อมดนตรีทันทีในเย็นวันนั้น

จากนั้นเขาก็เริ่มทำเดโมส่งค่ายเพลง ถือว่าเริ่มต้นได้สวยงาม เพราะทุกครั้งที่ส่งไปจะมีค่ายเพลงติดต่อกลับมาทุกครั้ง หนึ่งในนั้นคือค่าย Warner Music แผนกเพลงไทย ทำให้ได้เจอ แพท-พัทริกา ลิปตพัลลภ เพียงแต่ตอนนั้นโชคไม่ดีตรงที่เข้าค่ายไหนค่ายนั้นก็มักจะปิดตัวก่อนที่จะได้ออกผลงาน สุดท้ายโตนก็ได้ออกผลงานกับค่าย Bakery Music ใช้ชื่อวง Pixyl และมาออกกับค่าย Undertone Records ของชาว 2 Days Ago Kids แบบศิลปินอินดี้ โดยทำงานร่วมกับ ไบรอัน วัยโทวิช ในชื่อวงโซฟา “ก็เวิร์กนะ แต่พออายุมากขึ้น เพลงอินดี้ตอนนั้นมันไม่ใช่งานในสายตาของผู้ใหญ่ในครอบครัว ก็เลยคิดจะเลิก” พระโตนพูดถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ตอนนั้นมีการทำเดโมทิ้งไว้อัลบัมหนึ่ง ซึ่งคิดว่าจะไม่ทำต่อแล้ว จากการร้องขอไม่ก็ขอร้องของ ก้อ P.O.P โปรดิวเซอร์ โดยอัลบัมนั้นมีเพลง เรื่องมหัศจรรย์ ซึ่งโตนตั้งใจแต่งเพื่อมอบให้เป็นของขวัญวันแต่งงานของพี่ชายรวมอยู่ด้วย และได้ บอส-บดินทร์ บุญวิสุทธิ์ พี่ชายของ บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ อาสาเป็นผู้ประสานงานนำเพลงไปให้ นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล แห่งค่าย genie records สังกัด GMM Grammy ที่กำลังสนใจงานแนวอินดี้ป๊อปพอดี โซฟาเลยได้สลัดภาพศิลปินอินดี้ไปออกอัลบัมอีกครั้งกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แห่งอโศก

จะเก็บเรื่องราวของเราเอาไว้

“มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง พอมีคนรู้จัก ได้เงินเยอะขึ้น และมีงานเล่นเยอะขึ้น จำได้ว่าเล่นคอนเสิร์ตจนป่วย เราไม่ใช่นักร้องจริง ๆ ร้องเพลงไม่เป็น ใช้เสียงไม่ถูกต้อง เคยร้องจนเสียงเสีย จำได้ว่าคอนเสิร์ตชื่อ เล็ก-ชิ้น-สด ตอนนั้นเจ็บคอมาก หมอส่องไฟฉายในคอมีเม็ด ๆ อักเสบขึ้นเต็มไปหมด เจ็บคอมากแต่ก็ต้องเล่นคอนเสิร์ต ต้องไปขอให้หมอฉีดยาเพื่อให้ขึ้นร้องเพลงได้ในวันนั้น” พระโตนพูดถึงชีวิตของนักดนตรีที่เปลี่ยนไป เมื่อเข้าสู่ค่ายใหญ่ก็ดูจะกลายเป็นอาชีพได้ รวมถึงโอกาสที่ทำให้ได้ทำงานอื่น ๆ ต่ออีกมากมาย

ทำเพลงไปอีก 2 อัลบัมก็มีความวุ่นวายทางการเมือง มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ค่าย genie records เปลี่ยนไปทำเพลงร็อกเต็มตัว ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม มาบริหารค่ายสนามหลวง จึงชวนโตน โซฟา ลองทำงานโปรดิวเซอร์เป็นครั้งแรกให้กับศิลปินเดี่ยวหน้าใหม่ที่ชื่อ ลุลา

“ช่วงนั้นเริ่มเบื่อแนวเพลงที่ฟังอยู่ทั้งหมด เทรนด์ร้านกาแฟ เป็นคาเฟ่ชิลล์ ๆ เริ่มเข้ามา เพลงที่เปิดในคาเฟ่ทั้งหมดเป็นเพลงฝรั่ง เพราะเพลงไทยไม่มีแนวนี้เลย เมื่อก่อนเวลาพูดถึงดนตรีเราจะนึกถึงปลายทางว่าอยู่ในผับหรือคอนเสิร์ต ไม่นึกว่าทำเพื่อเปิดในคาเฟ่ เลยตั้งโจทย์ว่าอยากทำเพลงไทยที่จะเปิดในคาเฟ่ให้ได้” นั่นคือแนวคิดในการทำศิลปินที่ชื่อลุลา

ตุ๊กตา (ชื่อเล่นจริง ๆ ของลุลา) ใช้เสียงร้องแบบนั้นอยู่แล้ว เป็นตัวเขาเอง เราแค่บอกว่าตรงนี้มากไปเอาลงหน่อย ตรงนี้เพิ่มขึ้นได้นิดหนึ่ง ปรับจูนไปในทางที่เรารู้สึกว่าพอดีแค่นั้นเอง”

ลุลากลายเป็นศิลปินที่โด่งดังในสไตล์เพลงที่เป็นเอกลักษณ์ จนกระทั่งโตน โซฟา ลาออกไปบวช ลุลาถึงกับเสียศูนย์ว่าจะทำเพลงยังไงต่อไป

“เพลงสุดท้ายที่ทำให้คือ เรื่องที่ขอ เราคิดเผื่อไว้แล้วว่าถ้าไม่อยู่จะให้ใครช่วยดูต่อ ออกแบบทีมไว้ครบหมด โทรฝากงานทีมเหล่านี้ไว้ด้วยตัวเอง เพราะรู้สึกว่าคนเหล่านี้จะทำต่อได้ เป็นทิศทางที่ไปต่อได้ แต่เมื่อบวช การเลือกทีมงานขึ้นอยู่กับคนหน้างานแล้ว เรื่องหลังจากนั้นคงไม่เหมาะที่จะพูดแล้ว เพราะเราไม่ได้อยู่หน้างานแล้ว”

ฉันไม่รู้จะรักเธอนานเท่าไร

พระโตนสนใจการนั่งสมาธิตั้งแต่เด็ก ๆ ตอนเรียนประถม ครูสั่งให้นั่งสมาธิครั้งแรกในวิชาพลศึกษา จำได้ว่าวันนั้นนั่งบนพื้นสนามบาสฯ อากาศมันร้อนแต่กลับรู้สึกว่าเราไม่ร้อน น่าจะเข้าสมาธิได้ ยังจำความรู้สึกได้ถึงวันนี้ หลังจากนั้นก็สนใจเรื่องการนั่งสมาธิเรื่อยมา ช่วงมัธยมถึงขั้นแบกเป้ไปนั่งสมาธิตามวัดหรือสำนักที่มีสอน ซึ่งเป็นไปเพราะสนใจพลังพิเศษมากกว่าสนใจเนื้อหาของธรรมะ

เมื่อไม่นานมานี้ เขามีโอกาสสนทนากับเพื่อนในงานศพ เย็นวันนั้นเขานั่งคุยกับ ริค วชิรปิลันธิ์ ที่งานศพ จากที่นั่งอยู่ตั้งแต่เริ่มงานจนจบงาน พอคนที่มาร่วมงานกลับหมดก็มีเจ้าหน้าที่ศาลามาเก็บขยะหลังงานเลิก “เรานั่งคุยกันว่าภาพนี้เหมือนภาพคอนเสิร์ตเลย ตอนแรกเก้าอี้ว่าง วางเป็นระเบียบเรียบร้อย ถึงเวลางานก็มีคนมานั่งจนเต็ม พอบนเมรุจบ ทุกคนก็แยกย้าย เหลือแต่เก้าอี้ว่าง ภาพเดิมเป๊ะ เราเห็นแบบนี้มากี่ครั้งแล้ว จากฮอลล์ไม่มีคน มีคนเข้ามามากมาย งานเลิกก็แยกย้าย วนซ้ำ ๆ เป็นลูป มันชวนให้คิดอะไรหลายอย่าง “การบวชทำให้เห็นชีวิตทางโลกเหมือนหนังจีนกำลังภายใน บรรทัดสุดท้ายไม่เคยมีอยู่จริง ถ้าคนเขียนยังไม่ตาย ยังอยากเขียนอยู่ ก็เขียนภาคต่อได้เรื่อย ๆ แต่ชีวิตการบวชเหมือนการ์ตูน 3 ช่อง จบในแผ่นเดียว ช่องสุดท้ายของแผ่นที่แล้วจะพีกแค่ไหน เริ่มวันใหม่ก็ตื่นมาบิณฑบาตเหมือนเดิม”

มันไม่เศร้าสักหน่อย (not so sad)

หนึ่งในเป้าหมายส่วนตัวของ โตน โซฟา คืออยากบวชให้ได้ 1 พรรษา เป็นความเชื่อส่วนตัว น่าจะมาจากข้อความที่เคยอ่านจากหนังสือสักเล่มว่า เกิดเป็นผู้ชาย ต้องบวชให้ได้อย่างน้อย 1 พรรษา

ก่อนบวช เขาเริ่มวางแผนการเงินเกี่ยวกับรายจ่ายที่รับผิดชอบอยู่ให้เรียบร้อย ราวกับรู้ว่าการห่มผ้าเหลืองครั้งนี้อาจยาวนานว่าที่ตั้งใจ

“เรามีรายจ่ายเยอะ แต่ด้วยความที่ทำงานหนักต่อเนื่องมาพอสมควร รายได้ส่วนหนึ่งได้เอาไปซื้อที่ดินเก็บไว้ด้วย พอมีที่ดินอยู่บ้าง จึงขายที่ดินแปลงหนึ่ง ได้เงินมาทำเป็นเหมือนบ่อทดน้ำไว้ แล้วต่อท่อไปหาทุกรายจ่ายที่เรามี ถึงตัวเราไม่อยู่ แต่ต้นไม้ก็ไม่ตาย ต่อท่อน้ำเลี้ยงไว้หมดแล้ว เป็นบ่อใหญ่ที่อยู่ได้เป็นปี” พระโตนเล่าถึงวิธีจัดการแบบเป็นระบบ

ย้อนไปตอนเรียนจบปริญญาตรี พระโตนเคยบวชที่วัดบวรนิเวศวิหารแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนั้นบวชแล้วขอไปอยู่วัดป่าทางอีสานหลายเดือน หลังลาสิกขาครั้งนั้นได้ตั้งใจว่า ถ้ามีโอกาสบวชอีกครั้งก็อยากบวชที่เดิมกับพระอาจารย์รูปเดิม คือ พระอาจารย์กันตะสีโล ผู้ที่เคยดูแลในการบวชครั้งแรก แต่ถ้าบวชแล้วอยากไปอยู่วัดป่าต่างจังหวัด โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องอยู่ในระยะที่พ่อแม่พอจะเดินทางไปตักบาตรได้ 

ดังนั้น ในการบวชครั้งที่ 2 จึงบวชที่วัดบวรนิเวศวิหารตามที่ตั้งใจ โดยมี สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศรีวิสุทธิกวี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระธรรมวชิรญาณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ แล้วไปขออยู่จำพรรษาที่วัดมกุฏคีรีวัน เขาใหญ่ ปากช่อง โดยถือนิสัยพระญาณดิลกอยู่จำพรรษาตามที่ตั้งใจ

“เวลาผ่านไปเร็วมาก มีกิจกรรมให้ทำทุกวัน วัดที่ไปอยู่เป็นวัดใหญ่ กิจกรรมที่ใช้เวลานานที่สุดคือเดินตามหาพระอาจารย์ เวลามีโยมมาพบเจ้าอาวาส จะบอกโยมว่า รอสักครู่นะ แล้วเดินหา วัดกว้างเป็นพันไร่ ท่านก็เดินตรวจวัด ไม่รู้ท่านอยู่ตรงไหน เดินหาแต่ละทีหมดวัน ก่อนบวชใช้ชีวิตแย่มาก น้ำหนักมาก ร่างกายทรุดโทรม บวชไป 2 – 3 ปี น้ำหนักลดลงเกือบ 30 กิโล ได้ร่างใหม่ที่กระฉับกระเฉงคล่องตัวมาก เพราะเดินเยอะ กินน้อย”

พระโตนเล่าต่อว่าจากที่เป็นพระใหม่ ทำอะไรไม่เป็นเลย ห่มผ้าก็ไม่เป็น บิณฑบาตก็ทำบาตรหล่น บวชไป 3 เดือน เริ่มทำทุกอย่างคล่องขึ้น พระอาจารย์เริ่มฝากให้ช่วยดูโน่นนี่ เริ่มมีความรับผิดชอบ เช่น พอให้คำแนะนำให้พระใหม่ที่เพิ่งบวชได้บ้าง “อยู่ตรงนั้นหลวงพี่เป็นพระบ้านนอก นั่งท้ายรถกระบะเก่า ๆ เอาผ้าคลุมหัว ตัวดำปี๋เลย ชีวิตเจอแต่ชาวบ้าน ชาวสวน เป็นโลกใบใหม่ของเรา มีปัญหาต่าง ๆ เราก็พยายามช่วยคิดช่วยแก้ แป๊บ ๆ ผ่านไป 1 ปี และพอรู้ตัวอีกทีก็ผ่านไป 3 ปีแล้ว”

ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้

คงเพราะคนรอบตัวของพระโตนมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่ง คือมีความเกรงใจ จึงไม่มีใครเอ่ยปากถามตรง ๆ ว่า จะสึกเมื่อไหร่

แต่พอถึงพรรษาที่ 3 ก็มี 2 เรื่องใหญ่ ๆ ให้ต้องขบคิด

หนึ่ง เกิดคำถามการเงินกับบ่อน้ำใหญ่ที่ต่อท่อไว้ว่า จะจ่ายน้ำแบบนี้ต่อไปหรือ จึงตัดสินใจจะขายบ้าน แต่เนื่องจากบวชอยู่ จัดการเรื่องนี้ไม่สะดวก ก็ได้ เอก-อำพล พิกุลทอง รุ่นพี่ที่เป็นกัลยาณมิตรสนิทกันมาก เขาเก่งเรื่องการเงินการวางแผนมาก จัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย พระโตนวางใจขนาดฝากเอกสารสำคัญให้จัดการทุกเรื่องแทน พอเคลียร์เรื่องบ้านได้ ก็หมดเรื่องกังวลไปอีกเรื่อง

สอง พระโตนเป็นคนชอบเรียนรู้ ตอนทำเพลงต้องเรียนรู้มากมาย ดังนั้น พอบวชเริ่มนานขึ้นก็บอกตัวเองว่าเราต้องเรียน

“มันตรงกับกิเลสของเราที่ชอบเอาชนะ ไปได้ยินมาว่าการเรียนบาลีมันยาก เราก็อยากลอง พยายามหาวิธีเรียนด้วยตัวเอง” จากที่อยากเรียนเพราะอยากลองว่าจะสอบได้หรือไม่ กลับกลายเป็นได้ประโยชน์มาก พระบาลีคือภาษาบันทึกคำสอนของพุทธศาสนา มีความเป็นมายาวนาน หลักสูตรบาลีสนามหลวงที่เรียน เริ่มจากการเรียนไวยากรณ์ของภาษาบาลีและเริ่มฝึกแปล ฝึกแต่งตามหลักสูตร ตามตำราที่โบราณจารย์ได้วางไว้ ทำให้ผู้เรียนแปลเอกสารตำราทางพุทธศาสนาได้ จากที่เริ่มเรียนเพราะอยากเอาชนะ กลายเป็นได้พบว่าการเรียนทำให้มีความเข้าใจบทพยัญชนะของธรรมะได้ลึกซึ้งกว่าที่เคยได้รู้มามากมาย

เปรียญธรรมคือการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปรียญตรี (ป.ธ. 1 – 2 และ 3) เน้นให้นักเรียนรู้จักไวยากรณ์บาลีและพออ่านเรื่องราวแบบนิทานได้ เช่น พอรู้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อถึง ป.ธ. 3 ถ้าเป็นพระจะได้คำนำหน้าว่า ‘พระมหา’ ส่วนเปรียญโท (ป.ธ.​ 4 – 6) เน้นความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นและเริ่มมีวิชาแต่งภาษาไทยกลับเป็นบาลี ต้องเริ่มเรียนส่วนของธรรมะมากขึ้นและยังมีเรื่องพระวินัยด้วย เปรียญเอก (ป.ธ. 7 – 9) ละเอียดขึ้นทุกอย่าง แทบผิดพลาดไม่ได้เลย และยังต้องเรียนเรื่องอภิธรรม รวมถึงการนำถ้อยคำมาร้อยเรียงสื่อสารอย่างสละสลวยได้อีกด้วย

“จากเดิมที่อ่านหนังสือธรรมะภาษาไทยที่มีสำนวนค่อนข้างหลากหลาย กลายมาเป็นอยากเรียนภาษาบาลีเพื่อจะได้อ่านธรรมะจาก พระไตรปิฎก ฉบับบาลีได้ด้วยตัวเอง”

แถววัดที่อยู่ไม่มีที่เรียน พระโตนจึงต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านยูทูบและจากพระรูปอื่น ๆ เวลามีใครมาที่วัด จะถามว่าเป็นมหาเปรียญหรือเปล่า ถ้าใช่ก็จะนั่งประกบเพื่อขอให้พระรูปนั้นสอน การไปสอบบาลีครั้งแรก พระโตนสอบผ่านวิชาไวยากรณ์แต่สอบตกวิชาแปล แต่ยังสอบซ่อมได้ พอดีได้พบ ท่านเจ้าคุณพระศรีวินยาภรณ์ ท่านเมตตาให้มาอบรมก่อนสอบซ่อมที่วัดอาวุธวิกสิตาราม ไปเรียนนั่นประมาณ 1 สัปดาห์ ได้เข้าห้องเรียนภาษาบาลีจริง ๆ เป็นครั้งแรก และสอบผ่านชั้น ป.ธ. 1 – 2 เป็นอันว่าเริ่มเข้าสู่ระบบการเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีจริง ๆ 

“มีครั้งหนึ่ง หลวงพี่ต้องไปเข้ากรรมฐาน 15 วัน ได้เจอ พระอาจารย์มหาวุฒิชัย ธมฺมวิชฺโช ท่านเป็น ป.ธ. 9 นาคหลวง มาเข้ากรรมฐานด้วยกันพอดี ธรรมะจัดสรรมาก พอเวลาว่างจากการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ก็ปูเสื่อ นั่งใต้ต้นไม้ แล้วขอให้อาจารย์ช่วยสอนหน่อย ปูเสื่อเรียนใต้ต้นไม้ คลาสสิกมาก สิ่งสำคัญสำหรับการเรียนสำหรับหลวงพี่ คือผมอยากรู้ และมีอาจารย์สอน แค่นี้พอแล้ว ห้องเรียน โต๊ะเรียน ไม่ต้องมีก็ได้”

พระโตนเล่าถึงการเรียน ป.ธ. 3 เนื้อหามีรายละเอียดมาก ต้องการคนสอนอย่างจริงจัง จึงขอกลับมาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพราะที่นี่เป็นสำนักเรียน แต่การจะขอกลับมาอยู่ที่นี่ได้ต้องผ่านด่านท่องบทสวดมนต์ฉบับหลวงให้ได้ 100 กว่าพระสูตร ต้องสวดพระปาติโมกข์ให้จบในช่วงเข้าพรรษา คือระยะเวลา 3 เดือน เป็นระเบียบของทางวัด (ถ้าบวชและอยู่ที่นี่ตั้งแต่แรก จะได้เวลาท่องมนต์ 3 ปี) จากการเตรียมตัวอยู่หลายเดือน และพระโตนก็ทำสำเร็จ

เมื่อได้เรียนอย่างเป็นระบบ พระโตนก็สอบผ่านมาได้ทีละขั้น (ปัจจุบันผ่าน ป.ธ. 6 แล้ว) ต่อไปคือ ป.ธ. 7 8 และ 9 ซึ่งมีความยากขึ้นเรื่อย ๆ

ทะเลสีดำ

ถึงตอนนี้ พระโตนบวชมาแล้ว 9 ปี และยังมีความสุขกับชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์

“หนึ่ง มันเป็นกิเลสของหลวงพี่ที่ยังอยากเรียนรู้ แต่น่าจะเป็นกิเลสที่ดี เพราะครูบาอาจารย์ก็อนุญาต” พระโตนพูดถึงเหตุผลที่ทำให้ครองผ้าเหลืองเกือบทศวรรษ

“สอง ความไม่สงสัยในความสนุกทางโลก เมื่อก่อนเราสุดโต่งมาก เรารู้แล้วว่าความสุขที่สุดเป็นยังไง ทุกข์ที่สุดเป็นยังไง จำความรู้สึก 2 ด้านได้ชัดเจน พออยู่กับสิ่งที่ทำในแต่ละวัน ก็ไม่ได้โหยหาหรือคิดถึงเรื่องข้างนอกเท่าไหร่นัก หรือถ้านึกถึงด้านสุข ภาพด้านทุกข์มันก็ลอยมาประกบตลอด”

มาถึงเหตุผลที่สำคัญที่สุด “ข้อสาม คือรู้สึกมีคุณค่า คุณพ่อหลวงพี่เสียปีที่แล้ว เรารู้สึกว่าการบวชของเราช่วยคลี่คลายหลายปัญหาได้ โดยเฉพาะทางใจและความรู้สึก สำหรับคนที่เชื่อในพุทธศาสนา ความตายถือเป็นสถานีสำคัญของชีวิต หลวงพี่รู้สึกดีใจที่ได้ครองจีวรในช่วงเวลารอยต่อตรงนั้น 9 ปีที่บวช หลวงพี่มีเพื่อนเป็นพระเต็มไปหมด คุณพ่อหลวงพี่จากไปแบบมีพระอาจารย์มากมายห้อมล้อม หลวงพี่เป็นคนประคองขณะที่ท่านจากไปอย่างสงบในอ้อมกอดของหลวงพี่ที่กำลังครองจีวร น่าจะดีต่อใจของคุณพ่อรวมถึงญาติ ๆ ทุกคน”

อีกคุณค่าที่เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ คือคนที่หลวงพี่สนิทด้วยในชีวิตเริ่มกลับมารายล้อมรอบตัวอีกครั้ง พี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่ไม่สบายใจก็มาหา มาพูดคุย เราก็รับฟัง คอยให้กำลังใจ ยกธรรมะที่ได้เรียนมาเล่าให้ฟัง ปัญหาของทุกคนไม่ได้หายไปนะ แต่รู้สึกได้ว่าการได้เจอได้พูดคุยกันทำให้ทุกคนรู้สึกดีขึ้น

“สิ่งเหล่านี้มีค่ามาก ไม่ว่าอนาคตจะเป็นยังไง ถ้ายังทำสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ยังอยากทำต่อ”

ฉันคิด

“การสอนพุทธในไทยนิยมใช้วิธีที่หยิบข้อความภาษาบาลีมาพูดให้โยมฟัง โดยเฉพาะคาถาต่าง ๆ อะไรที่โยมฟังไม่รู้เรื่องมันมีพลัง ลูบหัวโยมแล้วพูดบาลีเนี่ยว้าว พอแปลเป็นไทยแล้ว โยมมักจะบอกว่า หลวงพี่ ขอเวอร์ชันแรกดีกว่า” พระโตนหัวเราะแล้วเล่าต่อว่า คำสอนของพระพุทธศาสนามีมากมาย ในแต่ละปีหลวงพี่จะสนใจพุทธพจน์เพียงไม่กี่เรื่อง แล้วจะคิดพิจารณาวนไปมาอยู่ทั้งปี อย่างในช่วงปีสองปีนี้ หลวงพี่สนใจ 3 เรื่อง คือ

“หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน ความไม่มีตัวตน เวลาเรามีปัญหาหรือคนที่มีปัญหามาปรึกษา ก็ยกเรื่องนี้มานำทาง เมื่อวานดี วันนี้แย่ เหมือนที่ท่านสอนไว้เลยว่ามันไม่แน่นอน ไปดูสิว่าเหตุคืออะไร รับได้ไม่ได้อีกเรื่อง อาจทำใจไม่ได้หรอก แต่การศึกษาคำสอนก็จะได้มีแนวทางนำใจไปได้บ้าง

“สอง หลักเหตุและผล เราเป็นแบบนี้ได้เพราะเราทำอะไรมา มีวันนี้ก็เพราะเป็นร่องรอยของวันที่แล้ว มีปัญหาอะไรก็เหมือนที่ท่านสอนไว้เลย เช่น ธรรมทั้งหลายล้วนมีเหตุเป็นแดนเกิด มีเหตุผลสักอย่างที่ทำให้เป็นแบบนี้

“สาม เวลา เราไม่รู้ว่าเรามีเวลาถึงเมื่อไหร่ นี่เป็นเรื่องที่หลวงพี่กำลังสนใจมาก ๆ ท่านใช้คำว่า ไม่ประมาท คนที่ตระหนักเรื่องเวลาชีวิตที่เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ จะทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าและนำไปสู่การค้นหาว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร”

พระโตนคิดว่าการเรียนบาลีช่วยให้เข้าใจแก่นของธรรมะมากขึ้น แต่เมื่อเข้าใจแล้วจะถ่ายทอดออกมาอย่างไรก็ขึ้นกับประสบการณ์ของแต่ละคน นี่คือการถ่ายทอดแบบพระโตนที่เป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลงมาก่อน แต่ถ้าคนที่มาบวชเป็นหมอ สถาปนิก ครีเอทีฟ หรือบาริสต้า ก็คงจะสื่อสารอีกแบบ ตามความถนัดของแต่ละคน แต่พระบาลีจะพาทุกคนไปสู่แก่นที่เป็นธรรมชาติเรื่องเดียวกัน

ความสุข

พระโตนยอมรับว่าชีวิตในทางธรรมไม่ได้ทำให้ความทุกข์ลดลงหรือหายไป เพียงแต่เปลี่ยนเรื่องทุกข์

“ความสุข ความทุกข์ มี 3 เรื่อง คือใจ กาย และความสัมพันธ์รอบตัว ถ้าเราเข้าใจ 3 เรื่องนี้ก็จะเข้าใจชีวิตได้ดีขึ้น เวลาสุขหรือทุกข์ก็ต้องถามต่อว่ามุมไหน กาย ใจ หรือคนรอบข้าง

“ส่วนตัวหลวงพี่ ทางใจทุกข์น้อยลงเพราะมีเรื่องอื่นให้ทำ จิตไม่เกาะกับทุกข์ ไปเกาะกับเรื่องที่ได้เรียนรู้ แต่ทุกข์ทางกายนี้เพิ่มขึ้นตลอดนะ เพราะเราแก่ลงไปเรื่อย ๆ แต่ละช่วงปีจะสนใจเรื่องต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน เช่นช่วงปีสองปีนี้ หลวงพี่ไปร่วมกิจกรรมที่มีการพูดคุยร่วมกันกับจิตแพทย์ คุณหมอหลายโครงการ ได้เห็นชีวิตในหลายมิติ ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ได้พบว่าคนเราไม่ได้อยากแค่อายุยืน แต่ต้องมีสุขภาพกายใจที่ดีด้วย อายุยืนแต่ติดเตียงก็คงไม่มีใครเอา ความเจ็บป่วยมันน่ากลัว ถ้าทำได้ก็ควรพยายามให้ทรมานน้อยที่สุด ให้ร่างกายเสียหายช้าที่สุด เลยสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้นตามวัย 

 “เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่มาคุยด้วย ส่วนใหญ่เราไม่ได้คุยธรรมะแบบยกบาลี แต่ชอบคุยเรื่องสุขภาพ เช่น แก๊งน้อง ๆ ที่สนิทมาหา มักจะพูดว่าพวกเราทำลายร่างกายมาเยอะแล้วนะ กู้หน่อย หรือหาวิธีกู้กัน ตอนตายจะได้ไม่ทรมานเกิน ก็เป็นธรรมะเหมือนกัน ธรรมชาติของชีวิตที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย”

แล้วแต่เธอ

พระโตนเป็นภิกษุในยุคที่สถานะของพระสงฆ์ในสังคมไทยต่างไปจากเดิม คนจำนวนไม่น้อยเริ่มคลายความเคารพ ไปจนถึงตั้งคำถามว่าสังคมเราจำเป็นต้องมีพระหรือไม่

“เราจะมองพระในมุมไหน ในอุดมคติหรือตามวัตถุประสงค์การบวชพระในสังคมไทย” พระโตนตั้งคำถามกลับ “เหตุผลของการบวชจากประสบการณ์ที่หลวงพี่ได้ยินบ่อย ๆ ก็มีคุณพ่อคุณแม่ป่วยหนัก มาบวชเพื่อส่งผลบุญท่านหายป่วย หรือพ่อแม่บางคนไปต่างประเทศก็ส่งลูกมาบวชช่วงฤดูร้อน เพราะคิดว่าฝากลูกไว้กับวัดน่าจะปลอดภัย บางคนก็บวชเพื่อแก้บน อกหัก พักใจ หรือบวชเพราะไม่มีอะไรทำก็เยอะแยะ หลวงพี่บวชแล้วเริ่มอยู่ยาวขึ้นเพราะอยากรู้ว่าตัวเองจะอยู่ได้ไหม แล้วก็เปลี่ยนเป็นอยากเรียน ส่วนการบวชในอุดมคติคือบวชเพื่อนิพพาน หลวงพี่ก็มั่นใจว่าก็ยังมีอยู่แน่นอน แต่เราอ่านใจใครไม่ได้ คงมีแต่เจ้าตัวเท่านั้นที่รู้ 

“สรุปว่าคนมาบวชมีหลากหลายมาก เหตุผลที่มาบวชก็หลากหลายมาก แต่ไม่ว่าจะแบบไหนก็ตาม ผู้เข้ามาบวชจะต้องมาท่อง มาเรียนธรรมะ มาอยู่ในพระวินัย ต้องอ่าน ต้องท่องคำสอนเรื่องสัจธรรม ความดี เรื่องคุณค่า เรื่องแนวทางที่ดีทุกวัน ๆ คำไหนจะแทงเข้าไปในใจของใครตอนไหนไม่มีใครรู้ ศาสนาพุทธในไทยใจกว้างมาก ให้โอกาสทุกคนได้เข้ามาบวช มาเรียนพระธรรม มาอยู่ในพระวินัย ก็คงมีคนที่บวชแล้วเป็นเหมือนเดิม แต่ก็อาจจะมีคนที่บวชแล้วมีความเปลี่ยนแปลง เหมือนคนมาบวชเพื่อต่ออายุให้พ่อแม่ที่ป่วยหนัก แต่ก็ต้องมาท่องคำว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา จักล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ อยู่ทุกเช้าทุกเย็น ทุกวัน ๆ ก็อาจมีสักขณะจิตที่ธรรมะแทงเข้าไปในใจของเขาก็เป็นได้”

พระโตนเปรียบให้เห็นว่า การรับพนักงานเข้ามาทำงานในองค์กร เรารู้นิสัยใจคอที่แท้จริงของคนที่จะเข้ามาไม่ได้ จะรู้ก็ต่อเมื่อได้อยู่ร่วมกัน ได้ทำงานร่วมกัน การจะให้คนอยู่ร่วมกันได้ สำหรับองค์กรต้องมีกฎระเบียบ ในสังคมพระก็มีกฎกติกาที่เรียกว่า ศีล เข้ามาแล้วต้องทำตามกฎนี้ ถึงจะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ ถ้าอยู่ในกฎกติกาไม่ได้ก็ต้องจัดการไปตามขั้นตอนจนหนักที่สุดก็ต้องขับออกไป การบริหารคนที่เข้ามามีระเบียบขั้นตอนคอยจัดการอยู่แล้ว

“คนที่มองว่าพระไม่จำเป็น อาจเพราะเขาได้เจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกแย่ อาจจะมาจากบางภาพ บางคำ หรือบางคนที่ทำตัวแย่ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เห็นคุณค่าของการบวช ของพระ ของศาสนา คงเพราะเขาได้พบเจอประสบการณ์บางอย่างที่ดีกับตัว จนเห็นประโยชน์ เห็นคุณค่า ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความเห็น และทุกความเห็นก็อยู่ภายใต้กฎอนิจจัง วันนี้มองแบบนี้ วันหน้าอาจจะมองอีกอย่างก็ได้

“สำหรับหลวงพี่ การบวชมีประโยชน์มากต่อตัวหลวงพี่เองและคนรอบข้าง หลวงพี่พยายามศึกษาและทำตามข้อตกลงของการบวช ฝึกทำสิ่งที่ท่านให้ทำ พยายามเว้นสิ่งที่ท่านไม่ให้ทำ แล้วเราก็รู้สึกว่ามันเกิดประโยชน์ จิตใจของหลวงพี่สบายขึ้นกว่าที่เคยเป็น ร่างกายก็ดีขึ้นจากที่เคยแย่มาก ได้ตื่นเช้า ได้เดิน กินอาหารเป็นเวลา ความสัมพันธ์โดยรวมก็มีทิศทางที่ดี แถมสบาย ไม่ต้องคิดด้วยว่าควรทำยังไง เพราะท่านบอกไว้หมดว่าอันนี้ควร อันนี้ไม่ควรทำ ท่านแนะนำไว้หมดแล้ว ก็แค่เรียนและทำตาม

“พุทธศาสนาก็เป็นองค์กรที่เริ่มต้นจากพระพุทธเจ้า ดำเนินการมาได้ 2,000 กว่าปีด้วยกฎระเบียบหลัก ๆ 227 ข้อที่ไม่เคยเปลี่ยน และยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก บอกไว้หมดนะว่าตีกันให้ทำยังไง ด่ากันให้ทำยังไง พระวินัยคือเรื่องราวของชีวิตจิตใจของเราและวิธีปฏิบัติต่อคนรอบข้าง เป็นเรื่องราวในชีวิตทุกอย่าง เช่น อยู่คนเดียวทำยังไง อยู่ด้วยกันทำยังไง ถ้าอยากอยู่กันอย่างมีความสุขไปนาน ๆ ต้องมาพร้อมกัน คุยกัน นั่งพร้อม ๆ กัน ลุกพร้อมกัน ยังไม่เลิก อย่าเพิ่งลุกหนีไปก่อนนะ แนะนำไว้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น การเรียนธรรมะก็คือการเรียนเรื่องราวของชีวิตเราและวิธีปฏิบัติต่อคนรอบข้างให้อยู่กันได้อย่างมีความสุข สบายใจ”

เธอคือคนที่ฉันขอ

จากเป็นผู้เรียน พอสอบเปรียญผ่านพระโตนก็กลายเป็นผู้สอน เริ่มจากการซื้อกระดานมาติวให้พระน้อง ๆ ที่สนิทกันตามกุฏิ เรียนมาได้ 5 ประโยคก็สอนเท่าที่มีความรู้ สอนอยู่ 2 ปี ทางวัดก็เริ่มมอบหมายให้สอนส่วนกลางอย่างเป็นทางการ ซึ่งผู้เรียนมีทั้งพระและฆราวาส

“ทิ้งนิสัยเก่าไม่ได้ ตอนสอนหนังสือคิดเหมือนจัดคอนเสิร์ตเลย คิดเยอะ จะมีคนมาเรียนไหม มาแล้วเขาจะได้อะไรไหม เนื้อหาที่จะสอนคืออะไร เยอะไปไหม น้อยไปไหม นักเรียนจะฟังรู้เรื่องไหม อีกอย่าง บาลีมีความยากสำหรับนักเรียนใหม่ ต้องปรับให้เข้าใจง่าย ต้องมาวิเคราะห์คนเรียนทีละคนเพื่อดูว่าจริตคนนี้ชอบแบบไหน เพราะนักเรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องพยายามหาวิธีให้แต่ละคนเข้าใจ 

“ปีนี้ได้สอนวิชาไวยากรณ์ ป.ธ. 1 – 2 แบบเต็มตัวครั้งแรก ผลคือนักเรียนที่เราสอนสอบผ่านเกือบทุกคน ดีใจมาก เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ สิ่งที่ทำมีคุณค่า รู้สึกเหมือนสมัยจบคอนเสิร์ตแล้วประสบความสำเร็จ แต่มันมีค่ามากกว่านั้น การสอนให้เขาอ่านหนังสือออก โดยเฉพาะภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า การสอนให้เขาอ่านได้ดีกว่าเรา ไปบอกสิ่งที่เรารู้ให้เขาฟัง ถ้าเขาอ่านได้ เขาจะไปเลือกอ่านเรื่องไหนต่อก็ได้ตามที่เขาสนใจ เขาอ่านออกเอง อาจจะอ่านเข้าใจมากกว่าเราก็ได้ เหมือนสอนให้ขี่จักรยานได้ ขี่เป็นแล้ว เขาจะขี่ไปที่ไหนก็ได้ตามที่เขาอยากไป และอาจไปได้ไกลกว่าเราก็ได้”

พระโตนยังใช้ประสบการณ์ในวงการดนตรีกับงานอีกหลายอย่างของทางวัด

ครั้งหนึ่ง พระอาจารย์เจ้าคุณอนิลมาน (พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)) ปรารภว่ามีหน่วยงานสำคัญขอให้ทางวัดบวรนิเวศช่วยบันทึกเสียงบทสวดมนต์แบบของทางวัด แบบเดิมจะใช้วิธีตั้งไมค์แล้วสวดยาวแบบเทคเดียว วิธีนี้มีความยากหลายอย่าง โดยเฉพาะบทสวดที่มีความยาวมาก ๆ พระอาจารย์สอบถามพระโตนว่าพอทำได้ไหม 

พระมหาอดีตโปรดิวเซอร์จึงติดต่อน้อง ๆ ศิลปินที่เคยทำงานด้วยกันเพื่อขอยืมอุปกรณ์ มี ว่าน ธนกฤต, ฟุ้ง Better Weather, ฮั้ว NAP A LEAN, ว่านไฉ และน้อง ๆ อีกหลายคน จนเกิดห้องบันทึกเสียงง่าย ๆ ที่กุฏิ เอาสแตนด์โน้ตมาตั้งบทสวด หากเกิดสวดเสียงไม่เท่ากันหรือไม่พร้อมก็ตัดต่อได้ บทสวดยาว ๆ ถ้าสวดเหนื่อยก็พักได้ ได้ โน้ต (วีรพัฒน์ บุบผาคำ) ซาวนด์เอนจิเนียร์ที่ทำงานด้วยกันมาตลอดชีวิต ช่วยบันทึกเสียง อีดิต มิกซ์ มาสเตอร์ ทำให้งานสมบูรณ์ขึ้น จนเกิดเป็นไฟล์เสียงบทสวดมนต์ที่มีคุณภาพเสียงที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นอีกครั้งที่พระโตนรู้สึกว่าความรู้ที่เรียนมาในทางโลกมีคุณค่ากับพระศาสนา

เมื่อครั้งวัดบวรนิเวศจัดงานฉลองสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก พ.ศ. 2564 ในวาระครบรอบ 100 ปีของการสิ้นพระชนม์ พระอาจารย์เจ้าคุณอนิลมานก็สอบถามอีกครั้งว่า แปลบทสวดมนต์เป็นเพลงได้ไหม

“สบายมากเลย ทำงานนี้มาทั้งชีวิต แถมตอนนี้เราเรียนบาลีด้วย พอจะแปลบทสวดมนต์เป็นภาษาไทยได้ หลังปรับคำร้องเป็นกลอนแล้วก็ให้ อาจารย์เพิ่มพูน หงษ์เหิร (ป.ธ. 9) อาจารย์บาลีส่วนตัวช่วยตรวจความถูกต้องอีกที แล้วให้ พี่โต (พิสิษฐ์ จินตวรรณ) และ พีท ตันสกุล (Blissonic) 2 โปรดิวเซอร์และซาวนด์เอนจิเนียร์ มือมิกซ์เสียงที่ทำงานมาด้วยกันมาทั้งชีวิตช่วยทำเมโลดี้ ทำโครงเพลงจนถึงมิกซ์ มาสเตอร์ โดยให้น้อง ๆ นักดนตรีหลายคนมาช่วยอัดดนตรี ส่งไฟล์เสียงแยกแทร็กมา แล้วชวน ลูกหว้า พิจิกา มาร้อง กลายเป็น เพลงน้อมนมัสการ แต่พอเริ่มเข้าขั้นตอนบันทึกเสียงก็รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะที่จะคุมงานเท่าไหร่ ในพระวินัยบอกว่าอย่าไปทำอะไรแบบนี้เลย เลยให้น้อง ๆ มาช่วยทำทั้งหมดดีกว่า ตอนนั้นก็มีโปรดิวเซอร์ติดต่อมาเยอะ บอกมีงานอะไรให้ช่วย ส่งมาเลย เราก็เลยเป็นคนแจกงาน ประสานงาน พี่อยากได้งานชิ้นนี้ น้อง ๆ ช่วยดูให้หน่อย ทุกคนก็เต็มที่”

พระโตนเล่าต่อว่าการบวชของท่านยังทำให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ ศิลปินได้มีโอกาสมาทำบุญที่วัดอีกด้วย โดยจะบอกว่า “ทุกคนไม่ต้องแบกถังสังฆทานมาก็ได้นะ” อย่างตอนที่ โต้ง P.O.P เสียชีวิต ก้อ P.O.P มาทำบุญด้วยการปรับปรุงเครื่องเสียงหลายอาคารของวัดให้ ชาวซาวนด์เอนจิเนียก็มาช่วยเช็กระบบสายทั้งหลาย ตรวจเช็กไมโครโฟนและเครื่องมิกเซอร์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เสียก็ส่งซ่อม ทุกคนทำแล้วมีความสุข สบายใจ หลายสิ่งที่เกิดขึ้น มันมีประโยชน์ มีคุณค่ากับหลาย ๆ คนในชีวิตของเรา

ตามหา

“พอแก่ขึ้น เราเริ่มไม่มองปลายทาง แต่พยายามรักษาทิศทาง มันไม่อ้างว้างนะ ตื่นมาแล้วรู้ว่าจะทำอะไร โดยเฉพาะสิ่งที่ทำมีประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย” พระโตนย้ำอีกรอบว่าช่วงปีสองปีนี้มีความสุขที่ทั้งเรียนและสอนบาลี เพราะเชื่อว่ามันจะนำพาชีวิตและจิตใจของผู้ศึกษาให้ไปในทิศทางที่ดี

“การอ่านพระบาลีเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่ในใจหลวงพี่มาก ถ้าหากศึกษาได้มากกว่านี้ก็คงมีความเข้าใจมากกว่านี้อีก พุทธพจน์มีความลึกซึ้ง อบอุ่น อ่อนโยน มันมีมิติที่มากกว่าตรรกะ มันมีพลัง โดยเฉพาะวันที่เราอ่อนแอ มันจะโอบอุ้มเรามาก ๆ เราเรียนแล้วพยายามคิด ทำความเข้าใจ มันทำให้เราปรับใจของเราได้มาก”

นายโตน โซฟา คือคนหนุ่มที่พยายามตามหาอะไรบางอย่างที่ไม่รู้ว่าคืออะไร

แล้ว พระมหาจักรธร อตฺถธโร คือใคร

“เป็นคนเดิม ก่อนบวชเราพยายามตามหาอะไรบางอย่างจากไอดอลของเรา อยากเข้าใกล้ อยากเรียนรู้ วันนี้ก็ยังเป็นคนเดิม แต่เปลี่ยนมาวิ่งเข้าหาคำสอน พุทธพจน์ พระบาลี จากครูบาอาจารย์ที่มีจริตดึงดูดเรา เรายังทำแบบเดิม ยังมีกิเลส ชอบเรียนรู้ ชอบความรู้ ชอบคนเก่ง เวลาคุยกับคนเก่ง ๆ มันได้พลังชีวิต ได้เห็นมุมมองของชีวิตที่หลากหลาย โดยเฉพาะเวลาที่ได้พบพระอาจารย์บางรูป จะรู้สึกได้ถึงพลังบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ รู้แค่ว่าเป็นพลังงานที่ดีมาก ๆ สงบเย็นมาก ๆ”

ระยะเวลา 9 ปี ในโลกทางธรรม นานพอจะค้นพบสิ่งที่ตามหาแล้วหรือยัง

“วันนี้ลืมคิดเรื่องนี้ไปเลย ลืมไปเลยว่าเคยตามหาอะไร แค่อยู่กับสิ่งที่ทำในตอนนี้ แค่นั้นเลย” ภิกษุผู้มีฉายาทางธรรมที่มีความหมายว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งประโยชน์ สรุปความคิดปิดท้าย

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์