เนปาลคือบ้านเกิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องนี้คนไทยและอีกหลายชาติที่เป็นพุทธศาสนิกชนย่อมทราบดี ความรู้ที่ได้รับจากวิชาพระพุทธศาสนาสอนเราว่า ‘สวนลุมพินีวัน’ ที่พระนางสิริมหามายามีพระประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะตั้งอยู่ในเขตประเทศเนปาลทุกวันนี้

ทว่าสิ่งที่น้อยคนจะพูดถึงคืออุทยานแห่งนี้เป็นเพียงป่าชนบทที่ห่างไกลความเจริญ แม้เวลาจะผ่านเลยมานานกว่า 2,500 ปีแล้ว แต่สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนที่ลุมพินีวันโดยมากยังประสบกับความแร้นแค้น ผิดสุขลักษณะ ไม่อาจเข้าถึงระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานซึ่งมนุษย์ทุกคนพึงได้รับ

การช่วยเหลือสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าจึงเป็นภารกิจที่พี่น้องชาวพุทธจากนานาอารยประเทศมองเห็นความสำคัญ ซึ่งในบรรดาชาติเหล่านั้น ไทยคือชาติที่มีบทบาทสูงเป็นอันดับต้น ๆ 

ก้าวแรกของพระบรมศาสดา โครงการรักษาเข่าคนยากไร้ที่บ้านเกิดพระพุทธเจ้าโดยทีมแพทย์ไทย

เมื่อวันที่ 1 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำทีมแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด รวมถึงพระภิกษุจำนวนหนึ่ง ออกเดินทางไปยังโรงพยาบาลสิทธัตถะ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแก่ผู้ป่วยด้อยโอกาสภายใต้โครงการ ‘ก้าวแรกของพระบรมศาสดา’ โดยโรงพยาบาลศิริราช

นี่ไม่ใช่โครงการแรกที่คณะแพทย์ไทยได้มอบความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยชาวเนปาล ทั้งยังไม่ใช่ความร่วมมือแรกระหว่าง 2 ชาติ เพราะคณะสงฆ์ไทยได้ติดต่อสัมพันธ์กับประเทศเนปาลมาโดยตลอด จากสิ่งที่ พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) พระภิกษุเชื้อชาติเนปาลแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ใช้คำว่า หนี้บุญคุณที่ไม่รู้จะจ่ายคืนอย่างไร ตามพระอาจารย์ของท่าน

อะไรคือหนี้บุญคุณดังกล่าว แล้วไทยเราจ่ายคืนแก่เนปาลด้วยวิธีใดบ้าง เราขอนิมนต์ท่านเจ้าคุณอนิลมานมาย้อนเส้นทางความร่วมมือไทย-เนปาล ในฐานะที่ปรึกษาสำคัญที่ช่วยเหลือโครงการนี้ตั้งแต่ก้าวแรกจนกระทั่งลุล่วงสมบูรณ์

ก้าวแรกของพระบรมศาสดา โครงการรักษาเข่าคนยากไร้ที่บ้านเกิดพระพุทธเจ้าโดยทีมแพทย์ไทย

ก้าวแรกในพุทธประวัติ

สวนลุมพินีวัน หรือที่ทางการเนปาลเรียกว่า ‘รุมมินเด’ ตั้งอยู่ในรัฐลุมพินี ภาคตะวันตกของประเทศเนปาล นับเป็นสังเวชนียสถานเพียงแห่งเดียวที่อยู่ในเนปาล

ตามพุทธประวัติที่เรารู้จักผ่านหนังสือเรียนวิชาพุทธศาสนา มักเพิ่มเสริมตำนานเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์แด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการกล่าวว่าพระองค์ทรงพระดำเนินได้ 7 ก้าวตั้งแต่ประสูติ ทุกย่างก้าวมีดอกบัวผุดรองรับ ซึ่งหากตีความตามหลักเหตุผล เรื่องราวข้างต้นอาจมีความหมายแฝงอยู่

“การก้าวเดินคือการทำให้ชีวิตเรามีอิสระ ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าเกิดเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว หลังจากนั้นท่านเดินไปสอนตามแคว้นต่าง ๆ รวม 7 แคว้นตลอด 45 พรรษาของท่าน ท่านเดินไปมอบอิสรภาพแก่ผู้คนที่ยังหลงเชื่อในสิ่งที่ผิด 7 ก้าวนั้นก็เปรียบเหมือนกับแคว้นทั้ง 7 ที่พระพุทธเจ้าเดินไป” ท่านเจ้าคุณอนิลมานถอดความพระพุทธประวัติแนวใหม่ที่ไม่อิงเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

ก้าวแรกของพระบรมศาสดา โครงการรักษาเข่าคนยากไร้ที่บ้านเกิดพระพุทธเจ้าโดยทีมแพทย์ไทย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระโอรสในพระเจ้าสุทโธนะ เจ้าผู้ครองแคว้นสักกะ กับพระนางสิริมหามายา ซึ่งมีชาติกำเนิดเป็นเจ้าหญิงจากแคว้นโกลิยะ ลุมพินีวันตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างแคว้นทั้งสอง ซึ่งผู้ปกครองเป็นเครือญาติกันมาแต่อดีต หลังออกประกาศศาสนาแล้ว พระโคตมพุทธเจ้าก็ยังเทศนาสั่งสอนผู้คนในแคว้นแดนเหล่านี้เรื่อยมา ทำให้ศาสนาพุทธตั้งมั่นในเนปาลมาช้านาน เห็นได้จากสถูปและวัดที่แน่นขนัดทั่วกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของประเทศ ชนิดมองไปทางไหนก็เจอแต่วัดพุทธ

จนกระทั่งราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่เนปาลเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กษัตริย์ดินแดนใต้เทือกเขาหิมาลัยทรงเลือกนับถือศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประจำอาณาจักร พระองค์ทรงเชิญพราหมณ์จากอินเดียมาร่างกฎหมายการปกครอง และทรงรับระบอบวรรณะของฮินดูมาใช้ ส่งผลให้พุทธศาสนาแทบจะถูกลบลืมไปจากสังคมเนปาล แต่เนื่องจากวัฒนธรรมความเชื่อทางพุทธฝังลึกอยู่ในวิถีชีวิตของชาวเนปาลบางตระกูลอย่างแยกจากกันไม่ได้ ชาวพุทธเนปาลจึงหาหนทางรักษาศาสนาของพวกตนไว้ได้สำเร็จ

“บางตระกูลมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า จะให้ไปนับถือศาสนาอื่นก็คงไม่ได้ อย่างเช่นตระกูลศากยะ เป็นตระกูลเดียวกับพระพุทธเจ้า ซึ่งก็ยังหลงเหลืออยู่หลายสาย” ท่านเจ้าคุณซึ่งเป็นเชื้อสายศากยะกล่าวถึงสายตระกูลของท่านพอสังเขป

“ชาวพุทธอย่างพวกศากยะยุคก่อนหน้านั้นก็เป็นราชครู เป็นปุโรหิตของกษัตริย์ พอจะมีการทำลายล้างพุทธศาสนาขึ้นมา ชาวพุทธก็อ้างว่านี่ไม่ใช่ศาสนา แต่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นประเพณีประจำตระกูล เนปาลจึงรักษาพุทธศาสนาเอาไว้ได้ ไม่เหมือนในอินเดียที่เคยสูญหายไปเลย”

ก้าวแรกของพระบรมศาสดา โครงการรักษาเข่าคนยากไร้ที่บ้านเกิดพระพุทธเจ้าโดยทีมแพทย์ไทย

อย่างไรก็ดี ความเสียหายที่ศาสนาพุทธในเนปาลได้รับจากผลกระทบทางการเมืองนับว่ารุนแรงมหาศาล ด้วยนโยบายการเบียดเบียนศาสนาทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลให้พระสงฆ์หมดไปจากดินแดนใต้เทือกเขาหิมาลัยระยะหนึ่ง วัดที่มีมากมายกลายเป็นวัดร้าง ปราศจากพระจำพรรษา พุทธศาสนาที่รักษามาในรูปแบบวัฒนธรรมท้องถิ่นก็ผิดเพี้ยนไปจากแบบแผนในอดีต เป็นเวลาหลายร้อยปีที่ชาวพุทธเนปาลไม่ทราบว่าโลกนี้ยังมีกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘ภิกษุ’ เหลืออยู่

“พระอาจารย์เคยได้ยินโยมพ่อบอกว่าสัก 100 ปีที่แล้ว คนคิดว่าในโลกนี้ไม่มีพระห่มจีวรแล้ว ถ้าอยากดูก็ต้องไปดูในจิตรกรรมฝาผนังเท่านั้นแหละ ด้วยความที่เนปาลเป็นหุบเขา ไม่มีทางออกสู่ทะเล การคมนาคมลำบาก คนเนปาลก็เลยคิดว่าโลกของเขามีแค่เทือกเขาแค่นี้ 

“จนช่วงที่อังกฤษเริ่มมาปกครอง พ่อค้าในกาฐมาณฑุที่เป็นชาวพุทธดั้งเดิมโดยสายตระกูลไปค้าขายที่อินเดียแล้วเห็นว่ามีพระเดินอยู่ เขาก็สงสัยว่าทำไมพระในจิตรกรรมฝาผนังถึงมาเดินตรงนี้ล่ะ ก็วิ่งไปกราบและพูดภาษาเนปาลีกับท่าน พระท่านก็งง ที่แท้เป็นพระพม่า พระศรีลังกาที่มาสังเวชนียสถาน”

ก้าวแรกของความสัมพันธ์สงฆ์ไทย-เนปาล

โลกที่รุดไปข้างหน้าช่วยเชื่อมต่อคนจากต่างดินแดนมาพบกันง่ายขึ้น การเดินทางค้าขายของกลุ่มพ่อค้าทำให้ชาวเนปาลรู้ว่าพุทธศาสนายังไม่สูญหายไป แต่ยังคงเก็บรักษาไว้อยู่ในดินแดนอื่นนอกแผ่นดินประสูติของพระพุทธองค์ พุทธศาสนิกชนเนปาลจึงมีความหวังจะรักษาความเชื่อของพวกตนไว้ หลายครอบครัวจึงส่งบุตรหลานของตนไปบวชเรียนที่พม่าหรือศรีลังกา

ใน พ.ศ. 2513 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร พระสังฆราชองค์ก่อนเมื่อครั้งยังเป็น พระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารและกรรมการมหาเถรสมาคม ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยชาวพุทธที่ประสบความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมเมืองจิตตะกอง ประเทศบังกลาเทศ ในโอกาสเดียวกัน พระองค์ทรงทำเรื่องขอแวะไปดูสถานการณ์พุทธศาสนาในประเทศเดียวกันต่อ การเสด็จเนปาลครั้งนั้นสร้างความเศร้าพระทัยให้กับพระองค์เป็นอย่างมาก เพราะพุทธศาสนาในเนปาลคงเหลือไว้แค่วัฒนธรรมประเพณีไม่กี่อย่าง แต่ไม่เหลือรูปแบบความเป็นศาสนา แม้ขณะนั้นจะมีพระภิกษุเนปาลไปบวชเรียนจากต่างประเทศกลับมาจำพรรษาที่บ้านเกิดบ้างแล้ว แต่ทั้งประเทศก็มีพระในนิกายเถรวาทรวมกันไม่ถึง 10 รูป ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ไม่น่าเกิดในดินแดนที่เป็นถึง ‘บ้านเกิด’ ขององค์พระศาสดาเลย

ก้าวแรกของพระบรมศาสดา โครงการรักษาเข่าคนยากไร้ที่บ้านเกิดพระพุทธเจ้าโดยทีมแพทย์ไทย

“สมเด็จพระสังฆราชเจ้าท่านประทับที่สถานกงสุลไทย ยังไม่ได้เป็นสถานทูต พระสงฆ์เนปาลทั้ง 10 รูปก็มาต้อนรับเท่าที่พวกท่านมีกำลังอยู่ในตอนนั้น พระสังฆราชท่านตรัสกับคณะสงฆ์เนปาลว่า

ประเทศไทยเป็นหนี้บุญคุณประเทศเนปาลอยู่ เพราะพระพุทธเจ้าประสูติที่นี่ คำสอนของพระพุทธเจ้าทำให้ประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง ทำให้คนไทยมากมายมีความสุข พัฒนาบ้านเมืองมาได้ขนาดนี้ ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ประสูติที่นี่ หนี้บุญคุณนี้จึงเป็นหนี้บุญคุณที่ไม่รู้จะจ่ายคืนอย่างไร

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ หรือพระสาสนโสภณในเวลานั้น ทรงออกอาสาในนามคณะสงฆ์ไทยว่าจะช่วยคณะสงฆ์เนปาลฟื้นฟูพุทธศาสนาเท่าที่จะทำได้ พระอมฤตานันทะ ประธานคณะสงฆ์เนปาลตอนนั้นจึงร้องขอให้ประเทศไทยส่งพระธรรมทูตจากไทยไปเผยแผ่พุทธศาสนา กับขอให้คณะสงฆ์ไทยช่วยสั่งสอนพระภิกษุสามเณรชาวเนปาล ข้อแรกดำเนินการได้ยาก ค่าที่เนปาลไม่มีญาติโยมชาวไทยอยู่ และพระธรรมทูตไทยต้องประสบปัญหาด้านภาษาและความแตกต่างทางวัฒนธรรมมากมาย ส่วนข้อหลังนั้นทำได้ง่ายกว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้าอาวาสอยู่แล้ว และทรงยินดีรับสามเณรเนปาลมาจำพรรษาที่วัดของพระองค์

ปีถัดมา สามเณรเชื้อชาติและสัญชาติเนปาลรูปแรกจึงก็รับการส่งตัวมาเล่าเรียนสิกขาบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร เณรรูปนั้นขยันขันแข็ง เรียนหนังสือเก่ง ท่องจำปาฏิโมกข์ได้แม่นยำ เป็นที่พอพระทัยของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร จึงประสานให้ส่งสามเณรเนปาลรุ่นที่ 2 มาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ อีก 3 รูป ท่านเจ้าคุณอนิลมานเป็นรุ่นนี้ และเป็นรูปเดียวในรุ่นที่ยังครองผ้าเหลืองอยู่เมืองไทยมาจนถึงทุกวันนี้ที่อุปสมบทมาครบพรรษาที่ 43

ก้าวแรกของพระบรมศาสดา โครงการรักษาเข่าคนยากไร้ที่บ้านเกิดพระพุทธเจ้าโดยทีมแพทย์ไทย

“ตอนนั้นที่มา พระอาจารย์อายุ 14 อยู่กับสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ท่านไม่ปล่อย ให้อยู่ติดกับพระองค์ท่านตลอดเวลา จะเดินไปไหนมาไหนก็ให้ถือย่ามสะพายติดตามตลอด” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรฯ รูปปัจจุบันกล่าวติดตลกเมื่อเล่าถึงความใกล้ชิดระหว่างตัวท่านกับพระอาจารย์ผู้ล่วงลับ

ท่านเจ้าคุณเลือกอยู่ไทยเป็นการถาวร จนได้รับพระราชทานสัญชาติไทย ไม่ได้กลับไปเผยแผ่พุทธศาสนาที่มาตุภูมิ เพราะหลังจากรุ่นของท่านแล้ว ยังมีเณรชาวเนปาลเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในไทยอีกหลายรูป ความรู้ทางศาสนาที่ได้รับจากแดนสยามถูกนำกลับไปเผยแพร่สานต่อ กลายเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูพุทธเถรวาทให้กับเนปาล บางรูปกลายเป็นผู้บริหารคณะสงฆ์ที่ได้ปกครองพระภิกษุเนปาลที่มีมากกว่า 100 รูป กล่าวได้ว่าหนี้บุญคุณอันใหญ่หลวงนี้ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่แล้วได้ตอบแทนโดยการเลี้ยงดูอุปถัมภ์บุคลากรทางศาสนาจนประเทศเนปาลมีกำลังที่จะสานต่อเองได้

“การฟื้นฟูวัดวาอารามต่าง ๆ ก็มีคนไทยไปช่วยเยอะ สถานทูตไทยก็ไปช่วย การบินไทยก็ช่วย ทำให้นิกายเถรวาทในเนปาลเป็นกิจจะลักษณะมากยิ่งขึ้น เพราะประเทศไทยเราใจบุญ มีกำลัง ช่วยการฟื้นฟูในแง่บุคลากร ศาสนสถาน พระพุทธรูป รวมไปถึงด้านสังเวชนียสถานได้มาก”

ก้าวแรกของพระบรมศาสดา โครงการรักษาเข่าคนยากไร้ที่บ้านเกิดพระพุทธเจ้าโดยทีมแพทย์ไทย

ก้าวแรกสู่การฟื้นฟูสังเวชนียสถาน

วัฒนธรรมการจาริกไปยังสังเวชนียสถานทั้ง 4 เพิ่งได้รับความนิยมเมื่อสัก 100 ปีมานี้ เพราะก่อนที่อนุทวีปอินเดียจะตกอยู่ใต้อาณัติของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ การเดินทางเยือนสถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้ยังเต็มไปด้วยความยากเย็น บางแห่งถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา ปกคลุมด้วยป่ารกทึบ 

สถานที่ประสูติอย่างลุมพินีวันก็เป็นเช่นนั้น

“ลุมพินีวันเป็นพื้นที่ทุรกันดาร อยู่ห่างจากตัวเมืองเป็นสิบ ๆ กิโลเมตร เป็นเหมือนติ่งที่อยู่ห่างจากประเทศอินเดียประมาณสัก 10 กิโล แล้วเป็นที่ทุ่ง สมัยก่อนไข้มาลาเรียชุกชุม ไม่ค่อยมีใครกล้าเข้าไป โบราณสถานเลยได้รับการรักษามาตลอด”

ก้าวแรกของพระบรมศาสดา โครงการรักษาเข่าคนยากไร้ที่บ้านเกิดพระพุทธเจ้าโดยทีมแพทย์ไทย

โบราณสถานที่ท่านเจ้าคุณพูดถึงคือเสาหินอโศกที่ พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ชาวพุทธผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดียมีรับสั่งให้สร้างและนำไปยกไว้ตามสังเวชนียสถานจุดต่าง ๆ โดยที่ร่องรอยตัวอักษรยังหลงเหลือชัดเจนกว่าสถานที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นพุทธคยา สารนาถ หรือกุสินารา

ในยุคที่อังกฤษปกครองอินเดีย ลุมพินีวันเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนเล็ก ๆ ที่มีทั้งชาวฮินดูวรรณะต่ำกับชาวมุสลิมอยู่ปนกัน บรรดานักสำรวจชาวตะวันตกผู้อยากรู้อยากเห็นก็เที่ยวตามหาอาณาจักรของพระพุทธเจ้าเพื่อพิสูจน์ว่าศาสดาพุทธเคยมีพระชนม์ชีพอยู่จริงหรือไม่ จากที่จะตามหากรุงกบิลพัสดุ์ พวกเขากลับพบลุมพินีวันและเสาหินจารึกพระเจ้าอโศกแทน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าจึงเริ่มกลับมาอยู่ในความรับรู้ของพุทธศาสนิกชนอีกครั้งหนึ่ง

แต่สภาพของสังเวชนีสถานแห่งแรกในยุคนั้นก็ทำให้ชวนสังเวชใจเหลือทน

“ประมาณ พ.ศ. 2500 อู ถั่น อดีตเลขาธิการสหประชาชาติชาวพม่าไปเยือนเนปาล แล้วไปลุมพินีวัน แกเห็นสภาพที่นั่นแล้วร้องไห้เลย เพราะมันแห้งแล้ง ไม่มีอะไรเลย มีแต่เสาศิลาตั้งโด่เด่อยู่ แล้วก็โบราณสถานอื่นอีกนิดหน่อย ไม่มีใครดูแลเลย” ท่านเจ้าคุณชาวเนปาลเล่า

ก้าวแรกของพระบรมศาสดา โครงการรักษาเข่าคนยากไร้ที่บ้านเกิดพระพุทธเจ้าโดยทีมแพทย์ไทย

เพราะเหตุนี้ สหประชาชาติหรือ UN จึงจัดทำโครงการฟื้นฟูลุมพินีวันโดยนานาชาติ ซึ่งก็น่าสนใจที่นอกจากประเทศพุทธอย่างไทย ศรีลังกา พม่า ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นแล้ว ยังมีประเทศที่นับถืออิสลามอย่างปากีสถานเข้ามาขอร่วมด้วย นำมาซึ่งการเวนคืนที่ดิน ปรับภูมิทัศน์ นำโครงสร้างพื้นฐานและความเจริญมาสู่อุทยานที่พระสมณโคดมประสูติในชาติสุดท้าย

แต่ละประเทศได้รับอนุญาตให้สร้างวัดประจำชาติตนเองขึ้นรอบลุมพินีวัน วัดไทยสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2542 นับเป็นวัดแห่งที่ 3 ที่สร้างจากภาษีของประชาชนไทย ต่อจากวัดไทยที่กรุงลอนดอนและพุทธคยา ความโดดเด่นของวัดไทยที่ลุมพินีวันคือบทบาทการช่วยเหลือคนท้องถิ่น ซึ่งอาจผิดกับวัดชาติอื่น ๆ ที่มีเพื่อสวดมนต์ ทำวัตร หรือตอบสนองความต้องการของคนในชาติตนที่ไปแสวงบุญเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะได้รับรูปแบบปฏิบัติของวัดไทยที่ใกล้ชิดกับประชาชน พระต้องคอยบรรเทาทุกข์ให้ญาติโยมที่ประสบปัญหา

ในพื้นที่ลุมพินีวัน ไม่มีปัญหาใดที่ต้องเร่งรัดแก้มากไปกว่าปัญหาด้านสาธารณสุข 

“เรื่องสุขภาพหรือสาธารณสุขที่เนปาลค่อนข้างมีปัญหา เพราะเป็นประเทศที่เพิ่งจะเริ่มต้นพัฒนา ถ้าเราไปดูสถิติของโลก สาธารณสุขของเนปาลตกประมาณอันดับที่ 140 กว่า ของไทยประมาณ 60 กว่าอันดับ ห่างกันมาก ฉะนั้นคนเนปาลยังเข้าไม่ถึงสาธารณสุข”

เพราะเหตุนี้ วัดไทยและคนไทยที่ลุมพินีวันเลยหมั่นสร้างโครงการต่าง ๆ เพื่อดูแลพื้นฐานสุขภาพให้กับชาวบ้านละแวกนั้น บางครั้งจัดกิจกรรมตามวันสำคัญ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันวิสาขบูชา โดยจัดให้มีการเจาะเลือด บริจาคเลือด ตรวจฟันฟรี แต่สิ่งที่เป็นผลงานเด่นประจำวัดไทยคือการรักษาต้อกระจกซึ่งทำต่อเนื่องมาตลอดทุกวันที่ 5 ธันวาคม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

“ตอนนี้คนละแวกนั้นทุกคนตาใสกันหมดแล้ว ตอนหลังก็มาทำฟัน ตอนนี้ก็ทำฟันให้อีก ทุกอย่างเราทำให้ฟรี พุทธศาสนาของเราไม่ใช่แค่ดูแลใจแล้ว ตอนนี้เรามาดูแลสุขภาพของเนปาลด้วย”

ก้าวแรกของพระบรมศาสดา

หลังจากที่วัดไทยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการกระจายความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข บรรเทาทุกข์ทางตาและฟันของชาวบ้านแถบลุมพินีวันมานาน คณะแพทย์ศิริราชก็เกิดความคิดใหม่ที่ต้องการจะรักษากระดูกข้อเข่าให้กับคนที่นั่น จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘ก้าวแรกของพระบรมศาสดา’ ที่ท่านเจ้าคุณอนิลมานเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง

“ทางศิริราชทำโครงการแนวนี้ในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่คุณหมอท่านอยากขยายโครงการนี้ออกไป ไม่ใช่เฉพาะเพื่อคนไทย เพราะเรื่องสาธารณสุขนั้นไม่ควรมีชาติหรือศาสนา แต่เป็นเรื่องของมนุษยชาติ คุณหมอกีรติกับคณะเลยตั้งโครงการนี้ขึ้นมา จัดทำเป็นครั้งแรกในต่างประเทศ”

จากความเชื่อว่าพระบรมศาสดาทรงดำเนิน 7 ก้าวเมื่อแรกประสูติที่นี่ คณะแพทย์ชาวไทยได้เชื่อมโยงเรื่องราวนี้กับขาของผู้คน โดยหวังว่าข้อเข่าเทียมที่ได้รับการผ่าตัดด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีชั้นดีจากแดนไกลจะช่วยให้ผู้ป่วยชาวเนปาลที่ด้อยโอกาสกลับมาเดินได้อีกครั้งหนึ่ง

“ก้าวแรกของพระบรมศาสดาคือการให้อิสรภาพแก่มนุษยชาติทั้งโลก แต่คนในละแวกนั้นยังมีมากที่ข้อเข่าเสีย เดินไม่ได้ ต้องเสียอิสรภาพ ต้องมาพึ่งพาคนนั้นคนนี้ให้ช่วยเหลือเขา เลยมีนัยสำคัญที่ต้องไปทำที่ลุมพินีวัน ไม่ใช่ทำที่กรุงกาฐมาณฑุ เพราะเมืองหลวงเข้าถึงสาธารณสุขได้ มีทุกอย่าง แต่ที่ลุมพินีวันไม่มีอะไรเลย”

แม้มีเจตนาแน่วแน่และปรารถนาดีจริง หากโครงการนี้ก็ต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายเรื่อง ผู้มีส่วนร่วมในโครงการต้องประสานงานหลายทาง ติดต่อกระทรวงการต่างประเทศ ผ่านศุลกากร ขออนุญาตกระทรวงสาธารณสุขของประเทศเนปาล และอื่น ๆ อีกหลายขั้นตอนที่สาธยายไม่หมด ท่านเจ้าคุณอนิลมานในฐานะลูกหลานชาวเนปาลก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ล่ามคอยส่งภาษาระหว่างคนทั้ง 2 ชาติ

“พระอาจารย์ต้องช่วยอยู่ในทุกระดับ ตั้งแต่ช่วงหาเงิน ผ้าป่า ช่วยประชาสัมพันธ์ ช่วยเป็นล่ามให้เวลาที่อยู่ตรงนั้น ก็ช่วยประสานงานทางฝ่ายรัฐ ก็ทุกด้านทุกระดับแหละครับ”

ซึ่งผลตอบรับก็ดีเกินความคาดหมาย ขนาดว่าทีมแพทย์จากกรุงเทพฯ ยังไม่ได้ประกาศโครงการนี้อย่างเป็นทางการ แต่ในวันคัดเลือกคนเข้ารับการรักษา มีผู้ป่วยด้วยโรคทางกระดูกข้อเข่ามาเข้าคิวรอรับการผ่าตัดมากถึง 706 คน ทำเอาคณะแพทย์และพยาบาลทึ่งปนท้อไปตาม ๆ กันเลยทีเดียว

“ภาษาก็คุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะว่าภาษาที่นั่นไม่ใช่ภาษาราชการของเนปาล มันเป็นภาษาถิ่นของภาคนู้น อย่างเช่นภาษาไมถิลี คนแก่คนเฒ่าพูดภาษาราชการกันไม่เป็น เขาก็พูดได้เฉพาะภาษาท้องถิ่น พระอาจารย์พูดภาษาท้องถิ่นเขาก็ไม่เป็น ต้องหาลูกหลานที่พูดภาษาราชการเป็นมาช่วยพูดให้”

ใช่เพียงภาษาที่สื่อสารกันไม่เข้าใจเท่านั้น คนไข้ที่มารอรับการรักษาก็มีหลายศาสนา ส่วนมากก็ไม่ใช่ชาวพุทธ แต่นั่นก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัดของคณะแพทย์ที่ไปพร้อมกับความตั้งใจที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ไม่ได้จำกัดด้วยเชื้อชาติ ภาษา หรือศาสนาใด ๆ

“บางทีพระอาจารย์ก็ต้องไปนั่งคุยกับคนไข้ นั่งปลอบใจคนไข้ ให้กำลังใจคนที่ไม่กล้าผ่า จนเขายินดีที่จะผ่า บางคนเป็นมุสลิม พระอาจารย์ก็บอกเขาว่า เดี๋ยวอัลลอฮ์จะช่วยเอง จนคนที่กลัวมีกำลังใจผ่า ก็เป็นหมอเหมือนกัน หมอคนละแบบ พวกนั้นหมอกาย นี่หมอใจ”

จากคนไข้กว่า 700 รายในชั้นแรก เมื่อผ่านการคัดกรองแล้วเหลือเพียง 35 รายที่ได้รับการผ่าตัดในโรงพยาบาลสิทธัตถะ วีรบุรุษเสื้อกาวน์ที่ประกอบด้วยศัลยแพทย์กระดูกและข้อ วิสัญญีแพทย์ พยาบาลปฏิบัติการ และนักกายภาพรวมกว่า 30 ชีวิตต่างลงมือทำหน้าที่ของตนอย่างสุดความสามารถ และทุกคนไม่ลืมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้แก่แพทย์ท้องถิ่นเรื่องวิธีการดูแลอาการบาดเจ็บทางกระดูกสันหลัง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม การดูแลผู้ป่วยมะเร็งเนื้องอกกระดูก และอื่น ๆ อีกหลายโรค เพื่อที่พวกเขาจะได้สืบสานความรู้ไว้ดูแลชาวลุมพินีวันต่อไปในวันข้างหน้า

“พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสว่า ผู้ใดที่ต้องการดูแลท่าน ให้ไปดูแลคนไข้ มีบุญเท่ากับดูแลพระพุทธเจ้า การที่เราได้ไปดูแลคนไข้ในสถานที่ประสูติของท่านก็สมควรอย่างยิ่งที่จะพูดว่าเราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา นี่คือความเป็นคนพุทธ เป็นคนไทยของเราที่จะประกาศให้โลกได้รู้” 

พระราชาคณะชาวเนปาลที่โอนสัญชาติมาเป็นไทย ใช้คำว่า ‘เรา’ แทนคนไทยได้เต็มปาก

“เป้าหมายของโครงการจะมองในมิติศาสนาก็ได้ มิติการเมืองระหว่างประเทศก็ได้ มิติภาคประชาชนก็ได้ หรือมิติของการทำบุญก็ได้ เราได้ชำระหนี้ให้กับเนปาล ทำตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าที่จะให้อิสรภาพในชีวิตจริง ให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับผู้คนละแวกนั้น ซึ่งเท่ากับว่าเขาเกิดมาในละแวกลุมพินีวัน อย่างน้อยเขาก็ได้รับประโยชน์จากการประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ไม่มีใครตอบได้ว่าต้องใช้เวลาอีกสักกี่ปีกว่าหนี้บุญคุณที่ชาวไทยติดค้างไว้กับเนปาลซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่จะได้รับการผ่อนผันจนหมด

แต่อย่างน้อยที่สุด โครงการที่ชื่อ ก้าวแรกของพระบรมศาสดา โครงการนี้จะเป็นวิธีการหนึ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ไทยใช้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อดินแดนของพระพุทธเจ้า รวมถึงเป็นย่างก้าวที่กระชับความสัมพันธ์ทางการแพทย์ระหว่างเนปาลและไทย ผ่านการรักษาผู้ป่วยตามครรลองที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนให้สาวกของพระองค์กระทำตาม

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์