21 สิงหาคม 2023
5 K

คุณตงมาสายเล็กน้อย เขาขอโทษขอโพยพวกเราพร้อมบ่นว่ารถติด เพิ่งประชุมเสร็จ 

“นอกจากธุรกิจขายเนยขายชีส เรากำลังขายบริษัทฯ ด้วย” คุณตงพูดถึงการเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่กำลังเป็นงานใหญ่ของบริษัทในช่วงนี้แบบพูดไปหัวเราะไป 

บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพิ่งกลายมาเป็น บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อไม่นานมานี้ นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของบริษัทที่ปลุกปั้นด้วยผู้ก่อตั้งสองพี่น้อง จนกลายมาเป็นบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม (Dairy Products) ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย

The Cloud ตามกลิ่นเนยและคุกกี้มาถึงโรงงานผลิตอาหารของ KCG ย่านบางพลี เพื่อคุยกับ คุณตง ธีระนุสรณ์กิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กัปตันทีมผู้พาเคซีจีผ่านการเปลี่ยนแปลงมาตลอด 65 ปี 

เขาคือผู้บริหารที่ตอบคำถามอย่างซื่อตรงที่สุด ทุกถ้อยคำล้วนกล่าวออกมาจากประสบการณ์ ซึ่งไม่เหมือนคำที่เราจะได้ยินจากคลาสเรียนธุรกิจที่ไหน

ชายผู้นี้มีครอบครัวเป็นศูนย์กลาง และมีงานเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต

เขาชอบเดินซูเปอร์มาร์เก็ตและงานแฟร์เพื่ออัปเดตสินค้าและเรื่องราวใหม่ ๆ เขายังคงตามงานต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เขาบอกว่าการทำงานคือความสุขในวัย 81 ปีของเขา

และนี่คือแนวคิดและปรัชญาการทำงานที่กลั่นมาจากเจ้าของธุรกิจผู้ขี่จักรยานส่งเนยให้ลูกค้าด้วยตัวเอง จนส่งบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นด้วยมูลค่าเกือบ 5,000 ล้านบาท

คุณตง ธีระนุสรณ์กิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

“รสชาติคือสิ่งที่ต้องไปลองเอง 
ประสบด้วยตัวเอง”

นักธุรกิจอย่างคุณติดตามข่าวสารจากทางไหน

ผมดูโทรทัศน์บ้าง แต่เรื่องธุรกิจผมจะมีแหล่งข่าวที่ไม่ใช่จากสื่อ เพราะถ้ารู้จากสื่อก็เท่ากับรู้พร้อมคนอื่น อย่างเรื่อง Plant Based ผมก็รู้ล่วงหน้ามาเป็น 10 ปีแล้ว เพราะธุรกิจที่ผมไปคุยด้วยเขามีธุรกิจข้างเคียงเป็น Plant Based แล้วเขาเอามาเสนอผม บอกผมว่าบริษัทเขาตั้งเป้าไว้ใหญ่มาก อยากให้ผมเอามาขายที่เมืองไทย

ผมดูแล้วก็คิดว่ามันก็เป็นกระแส แต่บางเรื่องก็ไปเร็ว บางเรื่องก็กลับมาที่เดิม ความอร่อย ความเคยชินมันขึ้นอยู่กับตัวผลิตภัณฑ์ แล้ว Plant Based น่าจะไม่ใช่ตลาดใหญ่

ดูสิ ตอนนี้ถึงแม้จะมีคนพูดถึงบ่อย มีคนเอามาขายเยอะมาก แต่การบริโภคยังน้อยมาก ก็ยังมีคนเอามาเสนอผมอยู่ 

ต้องเป็นแหล่งข่าวแบบไหนคุณถึงจะเชื่อถือ 

เวลาไปต่างประเทศ ผมมักขอพบเชฟในร้านที่ไปรับประทานอาหาร เป็นเหมือนการไปพบทูตทางด้านอาหารของประเทศนั้น ๆ ถามว่าเขาใช้ของอะไร ทั้งคาวหวาน ทั้งที่ใช้ประจำและใช้เฉพาะเทศกาล แล้วก็ถามว่าใครเป็นผู้ชำนาญในธุรกิจที่เขาซื้อด้วย 

ผมชอบคุยกับคนที่ใช้วัตถุดิบจริง ๆ จะได้รู้ว่าเขาใช้แบบไหน คนพวกนี้คือผู้เชี่ยวชาญ ทุกอย่างมันต้องประสบกับตัวเอง เวลาจะทำงานอะไรก็จะไปศึกษาด้วยตัวเอง 

คุณเดินทางเพื่อไปเที่ยวเฉย ๆ บ้างไหม

ผมไปทำงานก็รู้สึกเหมือนไปเที่ยว (หัวเราะ) ไปไหนมาไหนก็เป็นเรื่องงาน เวลาไปต่างประเทศชอบไปซูเปอร์มาร์เก็ต ไปดูว่าสินค้าเขามีแบบไหน แบบไหนที่บ้านเรายังไม่มี แบบไหนที่เราหาอยู่ 

เวลาไปต่างประเทศ กระเป๋าที่หิ้วคือของตัวอย่างทั้งนั้น ใจร้อน ไม่อยากรอให้เขาส่งมา ก็หิ้วมาเองเลยไม่ได้หนักหนาอะไร

มันเป็นความสุขนะที่ยังทำงานได้ บังเอิญสุขภาพดีด้วย ขนาดนี้เวลาไปไหนมาไหนลูกหลานก็ยังห่วง แต่ไม่ชอบไปหลายคน เลยไปแบบไม่ให้ใครรู้ 

นี่คือสไตล์ทำงานของผม

ฟังดูเหมือนคุณทำงานหนักมาตลอด ทุกวันนี้ทำน้อยลงบ้างไหม

มันหนักขึ้นเรื่อย ๆ จริง ๆ นึกว่าแก่แล้วงานจะเบา แต่กลายเป็นงานหนักไปตามอายุ

อะไรเหรอคะที่หนัก 

หนักความคิด บางทีก็หนักใจ 

เรื่องนโยบาย อนาคตมีคนทำก็จริง แต่เราก็อยู่เบื้องหลัง คุณนึกเหรอว่าเป็นผู้กำกับสบาย จริง ๆ ควรจะเปลี่ยนบทบาทหน้าที่แล้ว แต่ผม (หยุดคิดนาน)

.

.

.

.

.

ยังอดไม่ได้ (หัวเราะ) 

ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้ง ทำมาตั้งแต่อายุ 17 จนอายุ 81 ปี อุ้มชูมันมา ครั้นจะมารับบทเป็นคนเฝ้าดู ความอยากเข้าไปมีส่วนร่วมก็ยังอยู่ อดไม่ได้ก็ต้องถาม บางทีเขายังไม่พูด ผมก็รู้แล้วว่าปัญหาคืออะไร หรือถ้าเขาเตรียมข้อมูลมาไม่พอ ยังหาข้อมูลไปไม่ลึกถึงขนาดที่ผมรู้ ก็ต้องอดใจจะไม่บอกเขาว่า “พูดแค่นี้กูก็รู้แล้ว”

รู้ว่ายากแต่ก็ต้องทำ ต้องทำใจ

“อย่าลืมคนที่ไว้ใจเรา คนที่จะอยู่ไปจนแก่เฒ่าด้วยกัน”

คุณบอกว่าสำหรับคุณ งานกับชีวิตไม่ได้แยกออกจากกัน แล้วจริง ๆ มันควรอยู่ด้วยกันหรือแยก

คงต้องทำงานและใช้ชีวิตควบคู่กันไป แต่ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมคนที่เขาไว้ใจเรา โดยเฉพาะคู่ชีวิตที่อยู่กันมาแล้วก็จะอยู่กันจนกระทั่งต้องจากกันไป 

ต้องดูแลให้เขาเข้าใจว่าเรารักที่จะทุ่มเททำงาน แล้วก็ต้องควบคุมอารมณ์ ถ้าเครียดก็ต้องระวัง ไม่อย่างนั้นจะปะทะกัน 

คุณทุ่มเททำงานไปเพราะอะไร

มันเป็นเรื่องที่ผมภูมิใจ เราต้องการความมั่นคงและความยั่งยืนให้กับครอบครัวที่ใหญ่ขึ้นของเรา

วันที่เราครบ 60 ปี (เมื่อ พ.ศ. 2562) วันนั้นเป็นวันที่ผมภูมิใจมาก เพราะผู้ร่วมก่อตั้งทุกคนยังได้อยู่พร้อมหน้ากัน 

ความสำเร็จสำหรับคุณหน้าตาเป็นแบบไหน

ลูกหลานสามัคคี เข้าใจกัน บริษัทแข็งแกร่ง ยั่งยืน

การนำบริษัทเข้าตลาดฯ ก็เป็นความตั้งใจที่อยากให้บริษัทอยู่ได้อย่างมั่นคง จากที่เราเคยเป็นผู้ถือหุ้น 100% วันนี้เราให้คนอื่นมาถือหุ้น 28% อนาคตอาจจะเปลี่ยนแปลง แต่เจตนารมณ์คือเราจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อให้ลูกหลานไม่ลืมว่าบริษัทเรามีคนอื่นถือหุ้นอยู่ ฉะนั้น ต้องมีความโปร่งใส ใช้กฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเป็นตัวช่วย

แต่แม้จะมีกฎระเบียบ มีธรรมนูญของครอบครัว ก็ยังอาจกระทบกระทั่งกันได้ เรื่องสำคัญคือความเข้าใจ พอเข้าใจกันก็จะมีความสามัคคี

เห็นว่าที่นี่มีพนักงานเก่าแก่หลายคนมาก ดูแลกันมายังไง

ก็สู้มาด้วยกันจนกระทั่งแก่ด้วยกันอย่างนี้ จะไม่เลี้ยงเขาดีได้ยังไง 

คุณอาจเคยได้ยินบางคนบอกว่า คนนี้เป็นมือขวา เขาไม่ทิ้ง แต่จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะตำแหน่งไหนก็สำคัญ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะพิจารณาเขายังไง ถ้าเราเห็นใจเขา เขาก็จะเห็นใจเรา 

สมัยนี้คนทำงานมีความคิด มีความรู้ แต่เราเอาแต่ใช้เขา เขามีความทุกข์ ความสุขอะไรก็ควรจะดูแลเขาบ้าง ต้องคอยรับฟังว่าเขาขัดสนหรือติดขัดอะไรหรือเปล่า มีใครในครอบครัวป่วยหนัก เราต้องเห็นใจโดยไม่ต้องรอให้เขาขอเลย 

ต้นทุนอะไรที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจของคุณ

สิ่งที่ทำมาทั้งหมดคือต้นทุนที่สำคัญทั้งนั้น ฉะนั้น อย่าทำแต่งาน มุ่งแต่กำไร ต้องดูด้วยว่าทำอะไรให้สังคมไหม ไปเอารัดเอาเปรียบใครหรือเปล่า

ผมมีปรัชญาการทำงานว่า ต้องซื่อสัตย์ มีธรรมาภิบาล ถ้าคุณคิดแบบนี้ตั้งแต่ธุรกิจยังเล็ก ๆ ยิ่งโตก็จะยิ่งเห็นชัดขึ้น

ก่อนที่บริษัทเราจะโตมาถึงวันนี้ เรารับความเชื่อใจจากผู้ใหญ่ เวลาไปขอยืมอะไรเขาก็ให้ เพราะเห็นว่าคราวก่อนเราทำดี เราจ่ายคืนตามนัด แบบนี้เขาก็ให้ยืมอีก เราก็ขยายธุรกิจได้เร็วขึ้น ความสามารถเราก็ยิ่งมากขึ้น

แต่ถ้าเขาไม่ให้ก็อย่าไปคิดโกรธว่าทำไมเขาไม่ให้ ต้องเข้าใจเขาด้วยว่าเขาก็ต้องประเมินว่าธุรกิจเราเป็นยังไง เขาจะเอาเงินที่คนอื่นฝากมาให้เรากู้ เขาก็ต้องมั่นใจ ต้องดูแลธุรกิจของเขาด้วยเหมือนกัน

ความเชื่อใจสำคัญยังไง

มันคือแบรนดิ้ง คือความมั่นใจที่ทั้งคู่ค้าและลูกค้าจะมีให้เรา ซึ่งสำคัญมากนะ

เมื่อก่อนคิดแค่ว่าถ้าออกสินค้ามา ใช้แค่คอนเนกชันก็เอาไปวางขายได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ เขาจะดูว่าบริษัทคุณเป็นยังไง ลูกค้าให้ความเชื่อมั่นไหม เอามาวางแล้วจะขายได้หรือเปล่า ถ้าขายไม่ได้ ถึงคุณจะจ่ายค่าแรกเข้า เขาก็เอาคุณออก

เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เกมราคาแล้ว คุณอย่าคิดว่าคุณขายดี มีเงินพอที่จะหมุนเวียนแบบนี้แล้วคุณจะรอดตลอดไป อย่างตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง วันที่เขาลดค่าเงิน พอลดไปแล้วหนี้มันก็เพิ่ม ชั่วโมงนั้นคุณยังเอาอยู่หรือเปล่า คุณต้องไปแฮร์คัต (ปรับปรุงโครงสร้างหนี้) คุณไปคุยแล้วเขาให้ไหม 

นี่แหละคือการแข่งขัน ไม่ใช่แค่ราคาอย่างเดียว

ผมขอโทษนะที่เล่ายาว ผมทำมา 65 ปี มันไม่ใช่แป๊บเดียว พูดถึงแล้วก็เร็วนะ เราเติบโตมาขนาดนี้ จะเล่าทีต้องใช้เวลา จะให้เล่ารวบรัดใน 1 ชั่วโมงได้ยังไง

ผมคุยกับคุณนี่ก็ครึ่งชั่วโมงแล้วมั้ง

(เราก้มมองดูเครื่องอัดเทปและพบว่าตัวเลขเดินมาถึงนาทีที่ 40 ถึงไม่ใช่ แต่ก็ใกล้เคียงมาก) 

“ทำอะไรอย่าไปพึ่งชามข้าวชามเดียว”

จากที่เคยสั่งเนยสั่งคุ้กกี้มาขาย ผมก็ต่อโรงงาน คุณคิดว่าเพราะอะไร – คุณตงถามเรากลับ แล้วเราก็ตอบไปว่า

เพื่อให้ต้นทุนต่ำลง

ก็ใช่ แต่ถ้าต้นทุนแพงขึ้น เราก็ขายแพงขึ้นได้

เราต้องคิดว่ารัฐบาลจะให้เราสั่งแบบนี้ไปตลอดไหม จะจำกัดการนำเข้าไหม จะขึ้นภาษีไหม 

เรื่องตัวแทนอีก ถ้าเขาเสน่หาลดน้อยลง เปลี่ยนผู้บริหาร หรือมีคู่แข่งที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจเขามากกว่า บริษัทเปลี่ยนนโยบาย ธุรกิจเราจะกระทบไหม แล้วจะทำยังไง

อย่าคิดว่าวันนี้เราอยู่ตรงนี้แล้วจะพอใจแค่นี้ ต้องรู้อนาคตว่าอาจมีอะไรมาทำให้สะดุด เราก็เลยมีสินค้าเยอะ ไม่ใช่แค่นำเข้า แต่มีการตั้งโรงงานด้วย

วันนี้เราเป็นผู้นำ ถ้าวันหน้ามีคนมานำแซงเรา หมายความว่าวันนี้เราไม่ได้ทำอะไรเลย เราเดิมตามทางของเราอยู่อย่างนั้น ไม่ได้มองคู่แข่งคนอื่นในตลาดเลย เราข้ามคนอื่นเขาได้ จึงไม่แปลกที่คนอื่นก็ข้ามเราได้ด้วยเหมือนกัน 

คุณมองความไม่แน่นอนเป็นปัญหาหรือโอกาส

ทุกความเปลี่ยนแปลงผมมองว่าเป็นโชคนะ เพราะมันบอกเราว่า อย่าพอใจในสิ่งที่มีอยู่ แต่ต้องวิเคราะห์ว่ามันแข็งแรงมั่นคงไหม ถ้าไม่ ก็ต้องหาอะไรมาเพิ่ม 

เมื่อเราโตแล้วก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้โตอย่างต่อเนื่อง เวลาเราครองแชมป์ยอดขายอันดับ 1 มาแล้ว 4 ปีหรือ 5 ปีซ้อน มีใครจะมาถอดเข็มขัดแชมป์เราไหม วิธีการครองแชมป์ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

วันนี้ที่ธุรกิจเราเป็นอย่างนี้ ก็ต้องคิดว่าวันข้างหน้าธุรกิจเราจะยังดีแบบนี้ไหม จะโดน Disrupt (ที่แปลว่าเจ๊ง) หรือเปล่า 

รายการนี้ขายดีช่วงนี้ อีกช่วงหนึ่งรายการนี้อาจจะขายไม่ดีเหมือนเดิมแล้ว แต่ค่าใช้จ่ายคุณยังเหมือนเดิมคุณจะยังอยู่ไหวไหม

คุณต้องมีสินค้าอีกสัก 2 – 3 รายการก็เป็นตัวช่วย ตัวนี้ตกไปหน่อย ที่เหลือก็ยังอยู่ ถ้าในประเทศเราขายไม่ดี ที่ขายในต่างประเทศก็อาจจะยังดีอยู่ คนจีนเขาถึงบอกว่า ทำอะไรอย่าไปพึ่งชามข้าวชามเดียว ต้องพึ่งหลาย ๆ ชาม

ที่ผ่านมา นับว่าเป็นการทำงานที่มีความสุขไหมคะ

ผมว่าผมมีความสุขนะ การที่เราทำอะไรทุกอย่าง กว่าจะมาเป็นวันนี้ ผมเป็นน้อง แต่ผมไม่เคยลืมพี่ที่บุกเบิกกันมาด้วยกันสมัยก่อนกัดก้อนเกลือกิน 

เราทำธุรกิจ ต้องคิดว่าแรก ๆ จะทำด้วยความไม่รอบคอบ เพราะรู้น้อย พอรู้ไม่ถึง ความผิดพลาดก็เกิดขึ้น พอเรารู้เยอะขึ้น ถึงจะผิดยังไงก็ไม่มหาศาล 

แต่ก็อย่าคิดว่าความสุขวันนี้จะอยู่ตลอดไป ต้องไม่หยุดที่จะมองรอบ ๆ และปรับตัว

“อย่าทำเก่งเกินตัว 
ไม่งั้นจะเสียตัว”

คุณคิดว่าคุณเป็นคนเก่งไหม

ผมไม่ได้เรียนสูง แต่ผมขยันเรียนรู้

ครอบครัวเราเป็นครอบครัวเล็ก มีพี่น้องอยู่ 3 คน มีคนโต ผมเป็นคนเล็ก คนกลางเป็นผู้หญิง มีแม่คนหนึ่ง เรียนหนังสือได้แค่ระดับหนึ่ง เป็นคนธรรมดาทั่วไป แต่ก็ทำงานอย่างสุจริต ทำงานเพื่อให้เกิดความรู้ ประสบการณ์ ผมเป็นคนเรียนน้อย เรียนแค่มัธยมต้น ไม่ต้องคิดจะเรียนไปถึงมหาวิทยาลัยหรือไปเรียนต่างประเทศหรอก 

อย่างตอนเริ่มธุรกิจก็ไม่ใช่ว่ามีทุกอย่างพร้อม แต่ต้องเสาะหา 

คุณค้าขายกับต่างชาติตั้งแต่ยังไม่รู้ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่นักธุรกิจที่มีเส้นสายมาตั้งแต่เริ่ม คุณจัดการยังไงกับความรู้สึกตัวเล็กกว่าคนอื่น

อะไรที่เราขาดก็ทำเข้ามาเติมเต็ม แต่อย่าดูถูกตัวเอง อย่าท้อ และอย่าเข้าข้างตัวเองว่ามันจะดีตลอดไป 

เมื่อก่อนที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษผมก็ไปเรียน พยายามเพราะรู้ว่าจำเป็น ความกลัวมี แต่เพราะเรามีของดีจะไปขายก็ต้องไปขาย ถ้าไม่ขายเขาก็จะไปสั่งมาเอง เราก็เสียโอกาส ต้องกล้าเข้าไปแนะนำตัวเองบ้าง จากไม่ค่อยคล่องจนหลัง ๆ ไม่กลัว

การศึกษาที่ต่างกันจะทำให้ความมั่นใจต่างกัน แต่วันนี้ผมมั่นใจไปถึงปริญญาเอกแล้ว เราไม่มีความรู้ปริญญาไปเทียบเท่า เขาอาจจะแต่งคำได้สวยกว่าผม แต่ผมมีประสบการณ์ เวลาสื่อสาร ถ้าเขาตอบกลับมาได้ก็แปลว่ารู้เรื่อง

เดี๋ยวนี้ผมให้ความสำคัญกับความรู้ของลูกหลานเป็นอันดับ 1 ครอบครัวผมไปเรียนต่างประเทศกันทุกคน อะไรที่เราเคยเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญแต่เราไม่มี เราก็ทำให้มี

ทุกวันนี้คุณยังนั่งหัวโต๊ะในการประชุมบอร์ดอยู่ไหม

บางเรื่องก็ให้คนอื่นทำ เราอย่าถือว่าเราเก่ง เราทำได้ คนอื่นเขาก็ทำได้และบางทีก็เก่งกว่าเรา

วิธีคิดคือเวลาประชุมผมนั่งหัวโต๊ะนะ แต่ต้องฟังว่าคนที่เหลือเขาว่ายังไง ผมอาจจะคิดว่าสิ่งที่ผมพูดถูก 100% แต่คนที่เหลือเขามาบอกเราว่าถูกแค่ 70% วิธีการใช่ แต่ยังขาดนั่นขาดนี่ พอเขามาเติมมันก็เกิน 100

อะไรเป็น 70% ที่คุณมักจะพูดถูก

ทุกอย่างมีวิธีแก้ไข มีวิธีต่อรอง เรื่องแบบนี้บางทีผมก็ต้องใช้วิธีสั่งการ สั่งลงไปเลยไม่ต้องให้คิดแล้ว เพราะถ้าช้า แทนที่จะได้ทำให้คนอื่นเห็น กลายเป็นคนอื่นมาทำให้เห็นแทน 

เวลาที่เราคิดแต่คนอื่นกำลังทำ ถ้าเราฟังความเห็นมากเกินไปและไม่ตรงประเด็น จะมีคนออกมาทำให้ดู

เช่น เขามาบอกว่าวัตถุดิบตัวนี้ต้องสั่ง 3 เดือน ลองต่อรองดู ทุกที 3 เดือนไม่เป็นไร คราวนี้ต้องการด่วน ต้องการใน 1 เดือน ก็ให้เขาไปหาวิธีว่าได้ไหม อาจจะได้แต่แพงขึ้น ต้องทำล่วงเวลาให้ อะไรแบบนี้ เราก็ดูว่าเรายอมรับได้ไหม 

คนทำงานต้องต่อรองให้ถึงที่สุดก่อนแล้วค่อยมาบอกผม นั่นเป็นการทำงานของทีมงานที่เข้มแข็ง 

ผมสั่งไปและต้องสอน ถ้าผมปล่อยมือแล้วจะมีใครสอนเหมือนผมไหม ไม่มีอะไรที่จะคู่บ้านคู่เมืองไปตลอด ผมก็ต้องมีวันหนึ่งที่ต้องจากไป ต้องให้คนอื่นเขาทำเป็น

ทำงานมาทั้งชีวิต ภูมิใจเรื่องอะไรที่สุด

ภูมิใจสิ่งที่เราตั้งใจ แล้วก็ได้มา 

Allowrie ไม่ใช่แค่แบรนด์ แต่มันเป็นทรัพย์สินของเรา ผมเอาเข้ามา 60 ปีแล้ว แต่มาวันหนึ่งธุรกิจนี้มีความเปลี่ยนแปลง ที่บริษัทแม่ในออสเตรเลียมีหุ้นส่วนเข้ามาใหม่ จากที่เขาบอกว่าให้เราใช้แบรนด์เขาได้แบบไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ โดยสั่งวัตถุดิบจากเขา ตอนนี้เขาจะขอคิดค่าลิขสิทธิ์ แล้วไปสั่งวัตถุดิบจากที่อื่นก็ได้

เอาล่ะวะ งานเข้า เพราะมานั่งคำนวนแล้วว่า ถ้าไม่มีแบรนด์นี้เราจะเสียรายได้เท่าไหร่ จำนวนแบบนั้นเราเสียไม่ได้ เขาบอกว่าจะเก็บค่าลิขสิทธิ์ เราก็คิดว่าไม่คุ้ม และไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่คือความผูกพันเสมือนหนึ่งเราเลี้ยงดูมันมาตั้งแต่เด็ก เป็นแบรนด์แรกที่ผมกับพี่ชายเอาเข้ามาขาย เราเสียมันไม่ได้

ก็เลยขอซื้อแบรนด์เขา เขาบอกว่าเป็นไปได้ 

มันเป็นทั้งทุกขลาภและโชคลาภมาพร้อม ๆ กัน เพราะถ้าไม่มีเรื่องนี้ เราก็คงไม่ได้คิดเรื่องการซื้อแบรนด์ ทำให้เรารู้ว่าเขาตั้งราคายังไง ให้รู้ที่ไปที่มาของการตั้งราคาเครื่องหมายการค้า เวลาคุณจะไปซื้อธุรกิจใครต้องมีวิธีคำนวณว่าจะไปซื้อเขาเท่าไหร่ ต้องรู้ว่าปัจจุบันเขาค้าขายปีหนึ่งเท่าไหร่ มีโอกาสยังไงบ้างก็จะรู้ว่าควรจ่ายเท่าไหร่ จนมาถึงการเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้นอย่างทุกวันนี้

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2566 บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เปิดการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 4,632.50 ล้านบาท

10 Things you never know

about Tong Dhiranusornkit

1. คุณใช้โซเชียลมีเดียบ้างไหม

มีกลุ่มเพื่อนในไลน์บ้าง ไม่งั้นไม่มีสังคมเลย คนเราถ้าไม่มีสังคมเลยจะโดนหาว่าเวลาร้อนก็มาหาเย็น เวลาเย็นก็หายหัวไปเลย เราอย่าเป็นคนอย่างนั้น ผมจะเสมอต้นเสมอปลาย ต้องรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ด้วย

2.  ศัพท์วัยรุ่นที่คุณรู้

New Normal นี่วัยรุ่นไหม เวลาถ่ายรูปก็เห็นเขายกนิ้วกันแบบนี้ (โชว์มินิฮาร์ต)

3.  แนวเพลงที่ชอบฟัง

ผมเป็นคนไทย ผมชอบฟังเพลงไทยสากล เช่นเพลงของ คุณชรินทร์ นันทนาคร, สุเทพ วงศ์กำแหง, ธานินทร์ อินทรเทพ, ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา

วันใดขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก วันไหนสำนึกแล้วเธอจะเสียใจ (คุณตงร้องเพลงอย่างอารมณ์ดี)

4. เพลงโปรด

เสน่หา โดย สุเทพ วงศ์กำแหง

หยาดเพชร โดย ชรินทร์ นันทนาคร

ผู้ชนะสิบทิศ โดย ชรินทร์ นันทนาคร

5.  รายการโทรทัศน์ที่ชอบดู

รายการ เพลงเอก ช่องเวิร์คพอยท์

6.  เคล็ดลับความแข็งแรง

ลืมอายุไปซะ ดื่มในปริมาณที่พอดี ออกกำลังกายแบบไม่ต้องไปแข่งกับใคร

7.  ความฝันในวัยเด็ก

ฝันถึงสิ่งที่ตอนนั้นไม่มี ตอนเป็นเด็กไปเรียนหนังสือเราก็เดินไป แต่เห็นเพื่อนมีรถมาส่ง มีจักรยานปั่นมา เห็นเพื่อน ๆ มีเงิน เราควักกระเป๋าไม่เห็นมี แต่ก็ไม่ได้อดอยาก บ้านเราส่งให้เรียนได้ แต่เป็นโรงเรียนที่ให้ความรู้อยู่ตามเกณฑ์ ไม่ใช่โรงเรียนดัง ๆ 

สิ่งที่ผมไม่มีในอดีต ผมให้ลูกหลานผมมี อันนี้ถือว่าเป็นความฝันไหม ยิ่งกว่าฝันอีก

8.  เรื่องสำคัญที่สอนหลาน ๆ

ผมมีหลาน 9 คน สอนให้อย่าดูถูกคนที่มีโอกาสไม่เท่าเรา เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเขาไม่เคยผ่านชีวิตแบบเรา

9.  คำแนะนำที่อยากบอกคนทำธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นคล้าย ๆ คุณ

ไม่ต้องกลัว เราต้องกล้า

ไม่แน่ใจได้ แต่ต้องไม่กลัว เพราะถ้ากลัวจะไม่ได้ทำ

10.  คุกกี้อิมพีเรียลที่คุณชอบที่สุด

อันที่ชอบที่สุด คือวานิลลาริง สอง เพรตเซล สาม เคอร์แรนต์ (ลูกเกดผสมมะพร้าว) สี่ ฟินนิช (สี่เหลี่ยมยาว) สุดท้าย สปีซี่

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์