คุณเชื่อเรื่องคำขอที่เป็นจริงไหม ผมว่าผมเริ่มเชื่อแล้ว 

เมื่อเดือนเมษายน ผมไปที่สถานี Nishi Oyama สถานีรถไฟใต้สุดตามพิกัดของประเทศญี่ปุ่น ที่ที่มีตู้ไปรษณีย์สีเหลืองซึ่งเขาเชื่อว่า ถ้าคุณอธิษฐานอะไรสักอย่างก่อนหย่อนจดหมายลงไป คำขอนั้นจะเป็นจริง

ตอนนั้นผมขอไปว่า อยากกลับมาญี่ปุ่นอีกรอบ แต่ขอนาน ๆ เลยนะ

กลับมาไทยไม่ถึงเดือน ผมได้รับข่าวดีว่าผมผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรมระยะสั้นที่บริษัท JR East สิริเวลารวม 2 เดือนนิด ๆ

นี่มันแผนการหลอกล่อของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ผมหลงประเทศนี้ชัด ๆ 

พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา

ผมลัดฟ้ากลับมาที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง แต่รอบนี้โผล่มาที่โตเกียว แม้จะอธิษฐานแบบกวาด ๆ ไม่คาดหวัง แต่เหมือนคิวคำขอถูกลัดมาแบบเน้น ๆ ให้ผมโผล่มาใจกลางเมืองหลวงของประเทศ สถานะของผมเปลี่ยนจากนักท่องเที่ยวที่แบกเป้ไปทั่วตามเวลาฟรีวีซ่า 15 วัน กลายเป็นผู้อยู่อาศัยชั่วคราว 90 วัน ผมต้องวางแผนทุกอย่างในชีวิตใหม่แทบทั้งหมด เพราะไม่ใช่การมาเที่ยวอีกต่อไป

มารอบนี้ผมไม่มี JR Pass ที่นั่งรถไฟบุฟเฟต์แบบเพลิดเพลินเจริญใจอีกต่อไป การจ่ายค่ารถไฟต้องจ่ายในราคาเต็มเหมือนชาวญี่ปุ่นทุกคน เว้นเสียแต่ว่ามีวันหยุดยาวติดกัน 3 วัน พลังของพาสปอร์ตชาวต่างชาติยังอนุญาตให้ผมซื้อ JR East Pass ใช้งานได้อยู่ แต่นั่นแหละ วันไหนหยุดยาวบ้างล่ะ

สอง คือผมต้องปรับตัวเองเป็น Salaryman ต้องไปร่วมด้วยช่วยยัดตัวเองเข้าตู้รถไฟและทรงตัวให้ได้ในทุก ๆ เช้า 

เวลาออกไปเที่ยวเราเลือกได้ว่าจะไปกี่โมง ด้วยรถด่วนหรือชินคันเซ็นได้อย่างสบายใจด้วยบัตรเบ่ง แต่ถ้ามาใช้ชีวิต หนทางเดียวที่เดินทางได้อย่างประหยัดที่สุดคือรถ Commuter ที่ต้องจ่ายเงินผ่านบัตร Suica

สาม คือผมต้องบริหารการเงินเป็นอย่างดี เพราะเราอยู่นาน คงเลือกกินหรูอยู่สบายไม่ได้อีกต่อไป เราต้องซักผ้าเอง หาของกินราคาถูก เป็นมิตรกับอาหารลดราคาตอนซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้ปิด ใช้เงินอย่างประหยัด อย่าซื้อของเยอะ เพราะขากลับจะรับไม่ไหวกับปริมาณของที่ต้องขนกลับประเทศเมื่อสิ้นสุดการอบรม

และสี่ ผมต้องบริหารวันเวลาเพื่อการเที่ยว แน่นอนว่ามาอยู่แล้วไม่เที่ยวไม่นั่งรถไฟไม่ได้ มันผิดคอนเซปต์ชีวิต ผิดคอนเซปต์คนรักรถไฟ ผมต้องลงตารางเวลาทั้งหมดตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้ายใน Google Sheets พร้อมที่จะเปลี่ยนมันได้ตลอดเวลา เอาให้วันหยุดถือเป็นความคุ้มค่าที่จะออกไปเปิดหูเปิดตา

และนี่คือสิ่งที่ผมต้องเรียนรู้เพื่อใช้ชีวิต ใช่แล้ว ตอนนี้ผมกำลังจะไปผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียวที่กำลังจะเป็นเพื่อนใหม่ของผม

แล้วเราต้องรู้อะไรบ้างล่ะ

พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา

บนพื้น มุดดิน ข้ามหัว

‘เส้นทางรถไฟในโตเกียว’ มีทั้งระดับพื้นดิน ยกระดับ หรือใต้ดิน คุณจะเห็นทางรถไฟเต็มไปหมด ซึ่งก็กลมกลืนกับเมืองอย่างเหลือเชื่อ โดยเฉพาะทางรถไฟยกระดับที่ใต้ทางวิ่ง คือร้านอาหาร ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ และที่จอดจักรยาน ความที่โตเกียวมีภูมิประเทศแบบลูกคลื่นทำให้ทางรถไฟบางส่วนจำเป็นต้องยกสูงจากพื้นดิน ซึ่งการใช้สอยประโยชน์ใต้ทางวิ่งของรถไฟนั้นถูกพัฒนาให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด บางที่เช่นสถานีอุเอโนะ (Ueno) เป็นที่ทำการสถานี ร้านค้า ทางเข้า รวมถึงทางวิ่งรถไฟแถบอากิฮาบาระ (Akihabara) ที่ถูกทำให้เป็นร้านค้า ทางยกระดับของรถไฟในโตเกียวจึงไม่โดดขึ้นมาแบบในหลาย ๆ ประเทศที่เห็นแล้วบอกได้ชัดว่านั่นคือทางรถไฟยกระดับ แต่กลับกลมกลืนกับเมือง จนบางครั้งเราเพิ่งสังเกตว่าร้านค้าตรงนั้นมีรถไฟวิ่งอยู่บนหลังคาก็น่าจะไม่ผิดนัก นอกจากเป็นการจัดสรรพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับบริษัทรถไฟที่เป็นเจ้าของที่ดินนั้นด้วย

พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา
พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา

แต่ถ้าหากว่าทางรถไฟตรงไหนอยู่ระดับดิน เราจะเดินข้ามทางรถไฟแบบชิลล์ ๆ เหมือนบ้านเราไม่ได้แน่นอน เพราะกฎหมายของญี่ปุ่นนั้นห้ามไม่ให้ใครลงไปบนทางรถไฟโดยเด็ดขาด แม้จะเป็นทางรถไฟในเมืองหรือรถไฟทางเดี่ยวในชนบท เพราะมันคือเรื่องของความปลอดภัยที่สิ่งมีชีวิตใด ๆ ไม่ควรเข้าไปอยู่บนทาง ถ้าเอาเข้าใจง่าย ๆ เหมือนกับถนนที่ก็ไม่ควรมีใครไปเดินเล่นหรือยืนถ่ายรูปแอ็กท่ากลางถนนนั่นแหละ

เมื่อทางรถไฟอยู่ระดับเดียวกับชุมชนและต้องปิดสองข้างทางไม่ให้คนเข้าออกได้ การจะข้ามจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งต้องข้ามด้วยสะพานลอยคนข้าม หรือข้ามที่บริเวณจุดตัดทางรถไฟเท่านั้น ซึ่งจุดตัดทางรถไฟทุกที่ก็มีกฎหมายอีกว่ายวดยานใด ๆ ที่จะข้ามทางรถไฟต้องหยุดก่อนถึงไม้กั้นให้สนิท แล้วค่อยเคลื่อนตัวข้ามไป แม้ว่าไม่มีรถไฟผ่านมาหรือไม้กั้นไม่ได้ส่งเสียงติ๊ง ๆๆ

พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา

แต่ทีนี้ ยิ่งเราอยู่ในเมืองมากแค่ไหน รถไฟยิ่งถี่ยุ่บยั่บมากขึ้นเท่านั้น บางครั้งการกั้นถนนในช่วงเวลาเร่งด่วนอาจยาวนานได้ถึงครึ่งชั่วโมงเลยทีเดียว เราจะพบได้ว่าในเมืองทางรถไฟจะเน้นทำให้อยู่คนละระดับกับพื้นที่ของถนนและชุมชน ต้องกั้นรั้วเพื่อป้องกันเหตุอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากคนที่เดินเข้าไปในราง เพราะนี่คือเรื่องใหญ่มาก หากพบเห็นคนไปอยู่บนรางเมื่อไหร่ คนขับรถ (Driver) หรือเจ้าหน้าที่สถานี (Station Staff) จะกดปุ่มฉุกเฉินโดยทันที ซึ่งผลคือรถไฟที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจากจุดที่ปุ่มฉุกเฉิน (Emergency Button) จะหยุดนิ่งสนิททั้งหมดจนกว่าทุกอย่างจะเคลียร์ นั่นจึงทำให้รถไฟดีเลย์ และเจ้าคนที่ทำให้รถไฟดีเลย์ก็โดนปรับและดำเนินคดีทางกฎหมายกันไปเลยแบบจุก ๆ 

พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา

สถานีรถไฟในแบบที่ไม่เหมือนเรา

สถานีรถไฟในโตเกียวบางทีก็ดูไม่เหมือนสถานีรถไฟ โดยเฉพาะสถานีเก่าแก่ที่ทางเข้าออกดูกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมข้าง ๆ แต่สิ่งที่เรารู้ได้ว่านั่นคือสถานีรถไฟ คือโลโก้ของผู้ให้บริการและชื่อที่เด่นหราอยู่ข้างหน้า (ซึ่งบางทีก็ไม่ได้ใหญ่เลย) 

ผมจำแค่ว่า คำว่า ‘สถานีรถไฟ’ ในภาษาญี่ปุ่นคือ Eki (駅) ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการเจ้าไหนก็ตามถ้าเห็นคันจิแบบนี้ นั่นคือสถานีรถไฟอย่างแน่นอน

พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา

การออกแบบสถานีรถไฟของญี่ปุ่นนั้นแตกต่างจากบ้านเราอย่างสิ้นเชิง เขาจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน 

พื้นที่ด้านนอก (Unpaid Area) ตรงนี้เวลาเราเข้าไปสถานีเราจะเคยชินเพราะเป็นจุดเริ่มแรก ประตูบานแรกสู่สถานี บางสถานีถ้ามีขนาดใหญ่หน่อยก็จะมีห้างอยู่ในพื้นที่ด้วย และห้างนั้นก็เป็นบริษัทในเครือของผู้เดินรถไฟ อย่างเช่น JR East ก็มีห้างชื่อ LUMINE หรือถ้าเป็น JR Kyushu ก็ชื่อว่า Amu Plaza 

หรือถ้าหากสถานีนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งธุรกิจ สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือโรงแรมในเครือของ JR หรือโรงแรมต่าง ๆ ที่มาเช่าที่รอบ ๆ สถานีรถไฟ จึงทำให้พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟเต็มไปด้วยร้านค้า ห้าง อาคารพาณิชย์ รวมถึงลานจอดจักรยาน ลานจอดรถยนต์ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ TOD (Transit Oriented Development) หรือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีนั่นเอง

พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา

ส่วนพื้นที่บริการสำหรับการเดินรถไฟ ด้านนอกจะเป็นพื้นที่สำหรับซื้อตั๋วเท่านั้น เราเลือกซื้อได้หลายแบบ ถ้าเป็นรายเที่ยวระยะสั้น ๆ หรือจองตั๋วล่วงหน้าด้วยตัวเอง ก็ซื้อผ่านเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติที่วางกันเรียงรายเต็มไปหมดใต้แผนที่ระบบโครงข่ายรถไฟที่โชว์ว่าจากสถานีนี้ไปสถานีอื่น ๆ ในราคากี่เยน หรือถ้าหากจะจองล่วงหน้า ก็ให้มองหาห้องเขียว ๆ ที่ชื่อว่า Midori-no-Madoguchi (みどりの窓口) แปลกันตรง ๆ ว่า หน้าต่างสีเขียว 

ตอนแรกผมก็สงสัยว่าทำไมต้องเป็นหน้าต่าง แต่พอเดาได้คร่าว ๆ ว่าสมัยที่มีการจองตั๋วรถไฟก็น่าจะเป็นเคาน์เตอร์ช่อง ๆ เหมือนหน้าต่างนั่นแหละ แต่พอมาคิดอีกที เวลาที่เราจะนั่งรถไฟแล้ว หน้าต่างบานแรกหรือประตูบานแรกก็คือการซื้อตั๋วยังไงเล่า 

ตรงนี้เป็นที่ขายตั๋วล่วงหน้ากับพนักงาน ถ้าในบางสถานีที่มีคนพลุกพล่านมาก ๆ จะแยกพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อแลก Pass และให้คำแนะนำด้านการเดินทางโดยเฉพาะเลย จุดนั้นจะเรียกว่า Travel Service Center หรือ Ekitabi (駅たび)

พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา

ส่วนที่ 2 อยู่ด้านในสถานี (Paid Area) ส่วนพื้นที่นี้อยู่ด้านหลังประตูเก็บตั๋ว แน่นอนว่าใครจะเข้ามาพื้นที่นี้ได้ต้องซื้อตั๋วเพื่อผ่านเข้าไปเท่านั้น เมื่อสอดบัตรโดยสารเข้ามาแล้ว ด้านในจะเป็นพื้นที่ไปสู่ชานชาลา แต่ถ้าสถานีขนาดใหญ่ เช่น โตเกียว อุเอโนะ ชินจูกุ อิเคะบุคุโระ ชินางาว่า โอมิยะ ฯลฯ ส่วนด้านในก็มีร้านอาหาร ร้านค้า บางทีก็มีพื้นที่สำหรับแผงลอยที่นำของจากท้องถิ่นมาขายด้วย อันนี้เราเรียกกันแบบเก๋ ๆ ว่า Ekinaka ซึ่งแปลตรง ๆ ว่า ‘ด้านในสถานี’ 

ถ้าสมมติว่าเราเดินทาง ต้องสอดตั๋วเข้ามาใช้บริการตามปกติ แต่ถ้าเราเกิดอยากแค่กินข้าวโดยไม่เดินทางล่ะ 

แน่นอนว่าเราก็ต้องซื้อตั๋วเข้ามา แต่จะมีตั๋วประเภทหนึ่งที่เรียกว่าตั๋วชานชาลา (Platform Ticket) ราคาน่ารักที่ 150 เยน เข้ามาใช้บริการร้านค้าด้านใน หรือลงไปดูรถไฟที่ชานชาลาก็ได้โดยมีจำกัดเวลา 2 ชั่วโมง 

ส่วนสุดท้าย คือส่วนที่เราคุ้นชินกัน นั่นคือชานชาลา ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษว่า Platform นะ แต่ใช้คำว่า Track ถ้าสถานีใหญ่ก็หลาย Track มากกกกกกกกก เราต้องมีสติก่อนลงไปบนชานชาลาเสมอเพราะไม่งั้นผิดสายแน่นอน

พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา
พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา

สำหรับชานชาลาที่ญี่ปุ่นใช้ระดับเดียวกับตู้รถ หรือที่เรียกว่าชานชาลาระดับสูง การข้ามไปมานั้นหากเป็นสถานีเล็ก ๆ จะมีทางข้ามอยู่ปลายชานชาลา หรือใช้เป็นสะพานลอยข้ามฟากไปอีกชานชาลาหนึ่ง แต่ถ้าเป็นสถานีรถไฟขนาดกลางเป็นต้นไปจนถึงขนาดใหญ่ หรือสถานีที่มีพื้นที่จำกัด เขาจะสร้างให้สถานีรถไฟคร่อมทับทางรถไฟไปเลย แล้วแบ่งทางลงไปตามชานชาลาต่าง ๆ ตัวอาคารสถานีจึงทำหน้าที่เป็นเหมือนสะพานลอยและหลังคากันแดดกันฝนให้ชานชาลาไปโดยอัตโนมัติ 

นอกจากนั้น สถานีรถไฟยังทำหน้าที่เป็นทางเชื่อมให้ชุมชนสองฝั่งทางรถไฟด้วย หากเราจะข้ามจากฝั่งนี้ไปอีกฝั่ง ก็แค่เดินขึ้นไปบนสถานีรถไฟโดยไม่ต้องผ่านประตูสอดตั๋ว มิหนำซ้ำบนทางเดินข้ามยังมีร้านค้าให้เราซื้อของไปด้วย ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมรถไฟญี่ปุ่นถึงได้มีอิทธิพลกับคนมากขนาดนั้น

พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา

สารพัดชื่อ สารพัดสาย สารพัดป้าย

อย่างที่บอกไป เพราะมันหลายสายเหลือเกิน มันขวักไขว่ยั้วเยี้ยเต็มไปหมด สิ่งหนึ่งที่บริษัทรถไฟญี่ปุ่นทั้ง JR และสารพัดบริษัทได้เตรียมไว้ให้ผู้ใช้งานและนักเดินทางอย่างเรา นั่นคือระบบการจดจำและป้ายบอกทางที่ทำให้เราขึ้นรถไฟได้อย่างสะดวกโยธิน 

อันแรกเลย ชื่อสาย 

บ้านเรานี่จดจำแค่สีประจำสาย รถไฟสายสีแดง รถไฟสายสีเขียว รถไฟสายสีน้ำเงิน และอีกสารพัดสาย 

แต่ที่นี่เขาใช้ชื่อสายโดยตั้งชื่อตามลักษณะของเส้นทางที่ผ่าน หรือการตั้งชื่อเพื่อให้เกิดการจดจำและใช้สีพร้อมชื่อย่อสายเพื่อเป็นเพียงแค่ ‘ตัวช่วย’ ในการตามหารถไฟสายนั้นในสถานีรถไฟ ซึ่งสิ่งนี้สร้างการจดจำได้ง่ายมาก รวมไปถึงสีสันของสายนั้นจะประทับลงบนตัวตู้รถไฟ เพื่อให้ยิ่งสร้างการจดจำให้ได้มากที่สุด

ยกตัวอย่างสายที่เราคุ้นเคยกันดี ‘Yamanote Line’ รถไฟ Commuter ที่วิ่งเป็นวงกลมรอบโตเกียว มีสีประจำสายเขียวอ่อน ตัวย่อประจำสาย JY และมีตู้รถไฟเป็นสีเขียวอ่อน

สาย ‘Keihin-Tohoku Line’ สีประจำสายฟ้าอ่อน ตัวย่อ JK ตู้รถไฟคาดสีฟ้า

สาย ‘Shonan-Shinjuku Line’ สีประจำสายสีแดง ตัวย่อ JS ตู้รถไฟคาดสีส้ม-เขียว

พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา
พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา

นั่นอาจเป็นเพียงแค่รถไฟแบบชานเมืองระยะสั้น ๆ แต่ก็ยังมีรถไฟสายยาวประเภท Limited Express หรือชินคันเซ็นที่มีชื่อของขบวนเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ จดจำง่าย นอกจากนั้นแล้วด้วยความที่ญี่ปุ่นมีรถไฟเยอะมาก ทำให้การตั้งรหัสเลขขบวนรถดูแล้วไม่น่าจะพอ การใช้ระบบชื่อ (Naming) แล้วตามด้วยเลขขบวนถือว่าเป็นวิธีที่ดีทีเดียว 

ยกตัวอย่างที่เราคุ้น ๆ กันก็ ‘Azusa’ คือรถด่วนที่วิ่งจาก Shinjuku ไป Matsumoto 

‘Hayabusa’ เป็นชินคันเซ็นที่วิ่งจาก Tokyo ไป Shin-Hakodate-Hokuto

‘Hakutaka’ เป็นชินคันเซ็นสาย Hokuriku จาก Tokyo ไป Kanazawa

‘Hitachi’ เป็นรถด่วนจาก Shinagawa ไป Hitachi และ Sendai แบบนี้เป็นต้น

พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา

เมื่อรถไฟมีเยอะมากแล้ว ป้ายเองก็ต้องมีส่วนช่วยให้คนขึ้นได้อย่างง่ายดาย แม้เราจะไม่ได้เป็นคนท้องถิ่นก็ตาม ระบบป้ายของสถานีรถไฟญี่ปุ่นจะมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน ถ้าเอาระบบของ JR จะมีการแบ่งเป็นสีให้เราตามป้ายได้ง่าย ๆ เช่น ทางออกใช้พื้นหลังสีเหลือง ชินคันเซ็นสาย Tohoku ใช้พื้นหลังสีเขียว (แต่ถ้าเป็นสาย Tokaido ใช้สีน้ำเงิน) ข้อมูลทั่วไปพื้นหลังสีขาว เลขชานชาลามีขนาดใหญ่ พร้อมสีประจำสายที่ทำให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนในสถานีที่มีปริมาณคนใช้งานมาก 

นอกจากป้ายที่ห้อยอยู่บนหัวแล้ว บนพื้นก็มีตัวช่วยให้เราเหมือนกัน 

พาผูกมิตรกับรถไฟสารพัดสายในโตเกียว และตามหาสติกเกอร์ที่จะนำทางคุณไปถึงชานชาลา

ถ้ามองที่พื้นจะเจอเส้นสีต่าง ๆ หรือสติกเกอร์นำทางไปจนถึงชานชาลา มิหนำซ้ำเองตรงจุดขึ้นรถไฟก็มีการกำหนดจุดจอดเอาไว้อย่างชัดเจน เพียงแค่เราจำว่าขบวนที่เราจะขึ้นชื่ออะไร อยู่คันที่เท่าไหร่ เราก็แค่ไปยืนรอตรงจุดที่มีสติกเกอร์กำหนดเอาไว้ ง่ายดายทีเดียว 

และดูเหมือนว่าระบบป้ายอาจจะไม่พอ ระบบจอก็มีส่วนช่วยเราไปอีกขั้น

เราพบจอข้อมูลเต็มสถานีไปหมด ซึ่งจอนั้นจะบอกว่ารถไฟขบวนของสายนั้น ๆ เข้าสู่สถานีที่ชานชาลาหมายเลขอะไร มากี่โมง มีตู้รถไฟในขบวนนั้นจำนวนกี่ตู้ และตู้ที่ไม่ต้องจองที่ (Non-reserved) อยู่ที่ตู้หมายเลขอะไร 

ซึ่งรถไฟที่ญี่ปุ่นบางขบวนจะแบ่งสันปันส่วนสำหรับตู้ที่ต้องจองที่ (Reserved Seat) สำหรับคนที่ต้องการระบุที่นั่งที่ต้องการไปเลย ตรงนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม กับอีกส่วนคือตู้แบบไม่ต้องจองที่นั่ง (Non-reserved) อันนี้จะเสียแค่ค่าโดยสารอย่างเดียว ไม่ต้องเสียค่าจองที่ แต่ต้องแย่งชิงที่นั่งกับอีกหลาย ๆ คน ซึ่งรถด่วนและชินคันเซ็นบางขบวนจะมีตู้แบบนี้สำหรับคนจองที่นั่งไม่ทัน หรือเดินทางแบบกะทันหันให้โดยสารได้ แต่ถ้ายืนไป นั่นคือสิ่งที่เราต้องรับความเสี่ยงเอง

บรรจุแผนที่ไว้ในหัว

‘เส้นทางรถไฟในโตเกียว’ ยุ่บยั่บมาก มากเกินกว่าที่เราจะบอกว่าประเทศไทยมีระบบรถไฟที่มีโครงข่ายไม่แพ้โตเกียว ซึ่งจริง ๆ เทียบกันไม่ได้เลย เพราะเราแพ้แน่นอน

เส้นสายหลัก ๆ จะแบ่งรถไฟออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ

หนึ่ง รถไฟชานเมือง (Commuter) และรถไฟทางไกลระหว่างเมือง (Intercity) คือรถที่วิ่งออกนอกโตเกียวไปเมืองข้าง ๆ หรือออกไปไกลจนถึงหลักร้อย ๆ กิโลเมตร โดยรถไฟชานเมืองนั้นผู้ให้บริการหลักคือ JR และมีบริษัทรถไฟเอกชนอื่น ๆ อีก เช่น Tobu, Odakyu, Tokyu รูปแบบของรถประเภทนี้จะวิ่งไกล บางขบวนเริ่มต้นในโตเกียวออกไปรอบนอก บางขบวนเริ่มมาจากเมืองอื่นแล้ววิ่งผ่านโตเกียวไปอีกเมืองโดยใช้โตเกียวเป็นทางผ่าน

รถไฟชานเมือง Saikyo Line
รถไฟ Limited Express ‘Hitachi’

สอง รถไฟในเมือง (Metro) ผู้ให้บริการหลักคือ Tokyo Metro ซึ่งเป็นระบบรถไฟในเมืองที่เส้นทางจะเริ่มต้นและสิ้นสุดในมหานครโตเกียว มีออกไปเมืองข้าง ๆ บ้างนิดหน่อย และส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างใต้ดิน เราเลยค่อนข้างชินที่จะเรียกเมโทรว่ารถไฟใต้ดิน หรือถ้าบางสายก็จะเป็นรถไฟรางเดี่ยว (Monorail) เช่น Tokyo Monorail วิ่งเข้าสนามบินฮาเนดะ หรือรถไฟล้อยางแบบเดียวกับสายสีทอง (แต่นิ่มกว่าล้านเท่า) อย่างเช่นสาย Yurikamome 

รถไฟ Metro แบบล้อยาง สาย Yurikamome

สาม รถไฟชินคันเซ็น (High-speed Train) ผู้ให้บริการมีเพียงเจ้าเดียวเท่านั้น คือ JR แต่ในโตเกียวมีผู้เดินรถชินคันเซ็น 2 เจ้า คือ JR East มีสถานีต้นทางที่โตเกียว และพุ่งเส้นทางออกไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเกาะฮอกไกโด ทั้งนีงาตะ เซนได อะกิตะ อาโอโมริ เส้นนี้เราเรียกว่า ‘โทโฮคุชินคันเซ็น’ (Tohoku Shinkansen) มีรถไฟหลากหลายรุ่นมาก มีให้เห็นจนลายตา

ส่วนอีกสายเป็นอีกบริษัท ชื่อว่า ‘โทไคโดชินคันเซ็น’ (Tokaido Shinkansen) ให้บริการโดย JR Central วิ่งจากสถานีโตเกียวไปเกียวโต ชินโอซาก้า มีรถสีเดียวลายเดียว

กลับมาที่แผนที่ ผมต้องคอยจดจำเส้นทางเอาไว้สำหรับการเดินทางเข้าเมือง พื้นเพที่พักของผมอยู่ที่โอมิยะ (Omiya) เป็นเมืองใหญ่อยู่ในจังหวัดไซตามะ ถ้าจะเข้าเมืองต้องจำว่าเราต้องนั่งสาย Ueno-Tokyo Line หรือ Shonan-Shinjuku Line เข้ามาในเมือง โดยรูปแบบของ ‘เส้นทางรถไฟในโตเกียว’ ถือว่าแปลกใหม่สำหรับผมพอสมควร สายที่ผมต้องจำหลัก ๆ จะมีอยู่ประมาณ 3 – 4 เส้นที่ใช้บ่อย ๆ 

สายแรก เรียกว่าเป็นพระเอกเลย คนไทยหลายคนรู้จักกันดี ชื่อว่า Yamanote Line เป็นเส้นวงกลมรอบโตเกียวชั้นใน ซึ่งเอาเข้าจริงผมว่าเส้นนี้ค่อนข้างหลักมาก ๆ เพราะผ่านย่านสำคัญเต็มไปหมด ทั้ง Tokyo (Marunouchi), Ueno, Akihabara, Nippori, Ikebukuro, Shinjuku, Shibuya, Ebisu, Shinagawa, Shimbashi แล้ววนกลับมาโตเกียวอีกครั้ง 

ถ้าเราเปรียบสาย Yamanote เป็นหน้าปัดนาฬิกา สถานีสำคัญที่ต้องจำจะวางแทนตัวเลขบนหน้าปัดได้ประมาณนี้

โซนตะวันออก โซนนี้คือย่าน Ueno และ Tokyo

เลข 1 คือสถานี Nippori

เลข 2 คือสถานี Ueno

เลข 4 คือสถานี Tokyo

เลข 6 คือสถานี Shinagawa

วนกลับมาทางตะวันตกกันบ้าง ย่านนี้คือ Shibuya และ Shinjuku

เลข 8 คือ Shibuya

เลข 9 คือ Shinjuku

เลข 11 คือ Ikebukuro

แผนที่เส้นทางเฉพาะสายของ JR East ในเขตโตเกียว

ถ้าจะตัดทางลัดจาก Shinjuku เข้ามา Tokyo ง่ายที่สุด จะมีทางรถไฟสาย Chuo Line ตัดจากเลข 9 เข้ามาเลข 4 โดยไม่ต้องไปเวียนเทียนรอบกรุงโตเกียว และเจ้าสาย Chuo Line เป็นเส้นหลักที่พุ่งออกไปทางตะวันตกของกรุงโตเกียว มุ่งหน้าไป Matsumoto, Nagano ได้อีกด้วย

ส่วนถ้าจะกลับหอพักที่โอมิยะนั้น ผมเดินทางได้ 3 สาย คือเส้นทางที่มุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่าน Akabane ซึ่งต้องเลือกอีกว่าจะนั่งแบบจอดน้อยหรือจอดเยอะ ถ้าจอดน้อยหน่อยก็ต้องเป็น Ueno-Tokyo Line หรือ Shonan-Shinjuku Line ใช้เวลาเดินทาง 40 นาทีโดยประมาณ มีสถานีระหว่างทางที่จอดแค่ 4 – 5 สถานีเท่านั้น แต่ถ้าเลือกนั่งสาย Keihin-Tohoku Line หรือ Saikyo Line จะจอดเลียบทุกสถานี แต่ใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า เพราะระยะทางสั้นกว่า แต่ถ้าให้เลือก ผมขอเลือกนั่งสายที่จอดน้อย เพราะคนแน่นน้อยกว่า แถมตู้รถไฟก็ยังยาวกว่าด้วย

ทำไมผมต้องจำสายขนาดนี้ 

นั่นเป็นเพราะยิ่งคนใช้เยอะมากเท่าไหร่ สายยิ่งเยอะมากเท่าไหร่ เมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือเหตุการณ์สุดวิสัย จะทำให้รถไฟบางสายเกิดการล่าช้าจนอาจไปทำงานสายกันเลยทีเดียว การมีแผนที่ในหัวนั้นเป็นเหมือนแผนสำรองที่ให้เราหลีกหนีจากสายที่มีปัญหาไปใช้งานสายที่ไม่มีปัญหาหรือเกิดปัญหาน้อยที่สุดได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง

นี่ข้อมูลแค่ครึ่งเดียวเกี่ยวกับเส้นสายและสถานีเท่านั้นนะ ยังเหลือข้อมูลเรื่องรถไฟที่ยังต้องเรียนรู้อีก แน่นอนว่าผมใช้เวลา 2 สัปดาห์แรกของการไปอาศัยอยู่ในโตเกียวไปกับการเรียนรู้เรื่องรถไฟด้วยตัวเองตั้งแต่จองตั๋วยันไปนั่งรถไฟเที่ยวหลายสายจนเพื่อน ๆ ที่ไปด้วยกันถามเลยว่า “กะว่าจะนั่งครบทุกสายภายใน 2 เดือนเลยไหม” 

ตอนต่อไปเรามาคุยกันเรื่องรถไฟในโตเกียวและรถไฟแบบต่าง ๆ กันดีกว่าครับ

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ