แม้ว่าธรรมชาติของคุณจะไม่ใช่สายช้อป แต่ถ้าหากได้หลงเข้าไปในแฮชแท็ก #ช้อปได้ทุกถิ่น บน TikTok มีความเป็นไปได้สูงว่าคุณจะกดสินค้าท้องถิ่นไทยลงตะกร้าสินค้าสักชิ้นสองชิ้นเป็นแน่
คนไทยเคยคุ้นกับสินค้า OTOP มาเป็นสิบ ๆ ปี และแฮชแท็กนี้คือส่วนหนึ่งของแคมเปญที่ต่อยอดให้สินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วไทยเหล่านั้นได้เฉิดฉายบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง TikTok
อันที่จริง นี่คือ ‘ช้อปได้ทุกถิ่น x OTOP’ แคมเปญที่เกิดจากการจับมือกันของ TikTok และ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งอยากผลักดันสินค้า OTOP ของผู้ประกอบการเล็ก ๆ ในชุมชนที่อาจขายออฟไลน์หรือออนไลน์อยู่แล้ว แต่สู้กับ Red Ocean ของสินค้าอุปโภคบริโภคในปัจจุบันไม่ไหว
TikTok และ กรมการพัฒนาชุมชน อยากชุบชีวิตใหม่ให้กับข้าวของที่เกิดจากภูมิปัญญาคนไทย เพิ่มพื้นที่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยด้วยการสอนสกิลล์ความรู้ด้านการขายบน TikTok รวมถึงเคล็ดลับการทำวิดีโอสั้นให้โดนใจผู้บริโภค จนผู้ประกอบการรายเล็กนำองค์ความรู้ไปอัปยอดขายได้ไปตาม ๆ กัน
ในวาระแคมเปญ ‘ช้อปได้ทุกถิ่น x OTOP’ เป็นปีที่ 2 เราชวน คุณชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ ชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy – Thailand, TikTok สองผู้ริเริ่มมาสะท้อนความสำเร็จและเล่าอิมแพกต์ที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ ลูกค้า ไปจนถึงเศรษฐกิจของไทย
TikTok x กรมการพัฒนาชุมชน
“เดือนเดือนหนึ่งมีผู้ใช้ TikTok ทั้งโลกมากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก”
สถิติที่คุณชนิดาบอกทำให้เราเผลอร้องว้าว แต่ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ ด้วยจำนวนผู้ใช้มหาศาล TikTok จึงอยากสร้างอิมแพกต์ด้านบวกให้แก่สังคม และเป้าหมายหนึ่งคือพัฒนาเศรษฐกิจไทย
ในยุคที่ทุกคนเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์กันหมด หนึ่งในฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้มหาศาลคือ Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิทัล การขายผ่านแพลตฟอร์มช่วยยกระดับธุรกิจให้เติบโตได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ไม่ค่อยมีใครมองเห็น แต่ TikTok เห็น และพวกเขามองไปถึงหนึ่งในโครงการที่ช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์ของคนตัวเล็กในชุมชนอย่าง OTOP
และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ TikTok ติดต่อไปยังกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานที่ทำงานกับกลุ่ม OTOP ทั่วไทย และวางรากฐานให้ประชาชนทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมาตลอด
กรมการพัฒนาชุมชน x ผู้ประกอบการ
เทคโนโลยีช่วยย่นระยะทางที่ไกลให้ใกล้ขึ้นฉันใด TikTok ก็พาสินค้าจากชุมชนไกล ๆ ให้ใกล้ลูกค้ามากขึ้นฉันนั้น ส่วนกรมการพัฒนาชุมชนเป็นโซ่คล้องกลางระหว่าง TikTok เจ้าของธุรกิจ และลูกค้าอีกที คุณชัยวัฒน์เล่าว่ากรมการพัฒนาชุมชนจะมี ‘พัฒนากร’ หรือ ผู้รับผิดชอบสินค้า OTOP คอยประจำชุมชน โครงการนี้ก็เช่นกัน พวกเขาพาคนในชุมชนกับ TikTok มาพบกันผ่านการทำงานของพัฒนากร
ที่น่าสนใจคือกรมการพัฒนาชุมชนทำงานกับเจ้าของธุรกิจเป็นแสน ๆ ราย แล้วพวกเขาใช้เกณฑ์อะไรในการคัดสรรผู้ประกอบการที่จะมาเข้าร่วมโครงการช้อปได้ทุกถิ่น x OTOP กัน
“ในโครงการนี้ มีคนลงทะเบียนมากกว่า 100,000 กลุ่ม มีสินค้ามากกว่า 200,000 ชิ้น แล้วคนที่จะมีศักยภาพในโครงการนี้คือใคร เราไม่ได้คัดเลือกเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพ 5 ดาวเท่านั้น แต่เจ้าของธุรกิจนั้นต้องเป็นคนที่พร้อมเปิดรับการเรียนรู้ด้วย” คุณชัยวัฒน์ตอบ ก่อนที่คุณชนิดาจะเสริมว่า “ผู้ประกอบการที่คัดสรรเข้ามาร่วมโครงการคือ Underprivileged Group หรือกลุ่มคนที่ไม่ค่อยเข้าถึงโอกาสในการขายสักเท่าไหร่ สินค้าที่เป็นไฮไลต์จึงมีตั้งแต่สินค้าอุปโภค-บริโภค อาหารแห้ง ไปจนถึงสมุนไพรฉบับไทย”
“ไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการที่ขายดีอยู่แล้ว แต่เราจะจับมือทำด้วยกันตั้งแต่จุดเริ่มต้น”
แม้ในปีแรกจะมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนหลักร้อย ถึงอย่างนั้นพวกเขาทั้งคู่ก็มองว่าสิ่งที่ทำนั้นสำเร็จ ในฐานะก้าวแรกที่ผลักดันให้สินค้า OTOP กระจายออกไปสู่สายตาคนทั่วไปมากขึ้น
ผู้ประกอบการ x ลูกค้า
“เราค้นพบหลายอย่างจากโครงการนี้ เช่น คนทำสินค้าเก่ง ไม่ได้หมายความว่าจะขายเก่ง คนขายเก่งบางทีไม่ได้ทำสินค้าเก่ง บางคนก็เก่งทั้ง 2 อย่าง เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน”
การเรียนรู้ที่ว่าเกิดขึ้นในโรดโชว์ซึ่ง TikTok จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการใน 5 ภูมิภาคทั่วไทย จนผู้ประกอบการทุกคนตั้งช็อป ติดตะกร้าของตัวเองเป็น แถมสร้างคอนเทนต์วิดีโอสั้นได้ด้วย
สนุกมากขึ้นไปอีกระดับ เมื่อ TikTok จัดกิจกรรมให้ร้านค้าทุกร้านเปิดไลฟ์สตรีมแข่งกันขาย เพื่อคัดสรร 50 ร้านค้าที่ชนะ แล้วนำสินค้าของผู้ชนะไปโปรโมตในไลฟ์สตรีมพิเศษที่ นลิน-ฉัตร์ณลิณ โชติจิรวราฉัตร รองอันดับ 1 Miss Universe Thailand ปี 2023, Miss Intercontinental ปี 2023 และครีเอเตอร์ TikTok ทั่วไทยมาช่วยโปรโมตสินค้า
“ร้านบางร้านมีรายได้เพิ่มขึ้น 40% บางร้านเพิ่มขึ้นมากถึง 80% เราได้ยินแบบนี้แล้วใจฟู และมากกว่าการสร้างรายได้ให้กับร้านค้า ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับครีเอเตอร์ที่ทำวิดีโอแล้วติดตะกร้าด้วย เหมือนเราได้ช่วยสร้าง Digital Economy ให้ผู้คนหลายระดับ” คุณชนิดายิ้ม
ลูกค้า x ประเทศไทย
นอกจากการแข่งขันสุดครีเอทีฟ ซึ่งไม่เกินจริงหากจะบอกว่าสิ่งที่ทำให้แคมเปญ ‘ช้อปได้ทุกถิ่น x TikTok’ สำเร็จได้คือคอนเทนต์ และนี่เป็นจุดแข็งที่ทำให้ TikTok แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น
“วิดีโอขนาดสั้นเพียงไม่กี่วินาทีเหมาะสมมากกับสินค้า OTOP เพราะผู้ประกอบการเล่าที่มาที่ไปของสินค้า การผลิต และจุดขายได้ตรงจุด ทำไมข้าวหอมมะลิต้องที่นี่ ทำไมน้ำผึ้งต้องมาจากชุมชนนี้เท่านั้น ซึ่งพอเราเล่าเรื่องราวของสินค้าได้ มูลค่าของสินค้าเหล่านั้นก็จะเพิ่มมากขึ้น” คุณชนิดาเฉลย
TikTok เรียกประสบการณ์ช้อปปิ้งบน TikTok Shop อย่างน่ารักน่าชังว่า ‘Shoppertainment’ มาจากคำว่า Shopping + Entertainment ทำให้ผู้ใช้ TikTok ได้บันเทิงเริงใจ ขณะที่นิ้วกด F สินค้ารัว ๆ
“คนไทยเป็นคนตลก สนุก และมีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก แม้เป็นการขายของออนไลน์ คอนเทนต์ก็ยังมีความหลากหลาย นอกเหนือจากเพิ่มมูลค่าสินค้า วิดีโอบน TikTok ยังโปรโมตวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ซึ่งตรงกับนโยบาย Soft Power ของชาติ ทำให้เราเห็นรากเหง้าของชุมชนด้วย”
นอกจากขายสินค้าได้ ทำวิดีโอเป็น ติดตะกร้ากันเก่งขึ้น แคมเปญนี้ยังส่งเสริมผู้ประกอบการให้เรียนรู้วิธีการปรับตัวและพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า คุณชัยวัฒน์ยกตัวอย่างชุมชนที่ผลิตเสื้อผ้าชุมชนหนึ่ง ก่อนหน้านี้ผลิตเสื้อผ้าด้วยสีและลวดลายที่เป็นภูมิปัญญามาตลอด แต่เมื่อเริ่มเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมลูกค้ายุคใหม่ พวกเขาก็เปิดให้ลูกค้าพรีออร์เดอร์ลายผ้าที่ชอบผ่าน TikTok ได้แบบง่าย ๆ
“ในวันนี้ ต่อให้เจ้าของกิจการ OTOP เขาเปลี่ยนอาชีพ สมมติเขาไม่อยากขายมังคุดอบแห้งแล้ว แต่ไปขายทุเรียนทอดแทน สกิลล์การขายใน TikTok ก็จะติดตัวเขาไป และทำให้เขายังผลิตสินค้าของตัวเองออกมาสู่ตลาดมากขึ้นได้ นี่เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่วัดได้จากแคมเปญ” คุณชนิดาบอก
ใน พ.ศ. 2567 ช้อปได้ทุกถิ่น x OTOP กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 อย่างแข็งขัน สองหัวเรือสำคัญของโครงการอย่างคุณชัยวัฒน์และคุณชนิดาคาดหวังว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ขยายโอกาสให้กับสินค้าชุมชนได้ถูกมองเห็น และผลักดันเศรษฐกิจไทยในภาพรวมให้ยกระดับ
“ทุกคนได้รับประโยชน์จากแคมเปญนี้ ทั้งคนรุ่นก่อนที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาและผลิตสินค้า คนรุ่นใหม่ที่มาช่วยด้านการตลาด จนถึงครีเอเตอร์ที่ได้กำไรจากการโปรโมตสินค้า เมื่อทุกคนได้รับประโยชน์ ก็จะมีรายได้ไปจับจ่ายใช้สอยสินค้าในชุมชน ประเทศชาติจะพัฒนาต่อไป” คุณชัยวัฒน์ปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม
ถ้าอยากสนับสนุนชุมชน ช้อปได้ทุกถิ่น x OTOP ไปส่องแฮชแท็ก #ช้อปได้ทุกถิ่น กันได้