ครั้งหนึ่งผมอยู่ในสภาวะที่ใกล้ชิดกับเสือโคร่งตัวหนึ่ง ใกล้ขนาดเขี้ยวของมันห่างจากหน้าไม่ถึงฝ่ามือ

เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ของผมที่เข้าไปใกล้เสือเกินกว่าระยะที่มันอนุญาต

เสือกระโจนเข้าหา คร่อมตัว ตบเข้าที่หน้า ผมบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เย็บบริเวณแก้มแค่ 4 เข็ม นั่นเป็นเพราะเสือมีเจตนาเพียงแค่สั่งสอน เป็นบทเรียนที่สอนให้ผมเคารพ และควรอยู่ในระยะที่ให้เกียรติกัน

แน่นอน ด้วยท่าทีอย่างนั้น เสือย่อมถูกเห็นว่าเป็นสัตว์ดุร้าย อันตราย

ผมได้รับบทเรียน ได้สบสายตาเสือใกล้ ๆ ผมไม่เห็นแววของสัตว์ร้าย แต่ดูเหมือนว่า ‘สัตว์ร้าย’ จะเป็นภาพภายนอกที่คนเห็น ไม่ว่าจะเป็นเสือซึ่งอาศัยอยู่ในมุมใดของโลก

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และ The Tadoba Andhari Tiger Reserve ประเทศอินเดีย

อีกราวครึ่งชั่วโมงจะ 18.00 น. บริเวณทุ่งหญ้าริมอ่างน้ำขนาดใหญ่ เสือโคร่งเบงกอลตัวหนึ่งเดินเลาะริมอ่าง เดิน ๆ หยุด ๆ เงยหน้าสูดกลิ่น เสียงกวางร้อง กวางรับรู้ถึงการมาของเสือ มันส่งเสียงเตือน เสือก้มหน้า การจะย่องเงียบเข้าหาเหยื่อทำไม่ได้แล้ว 

นี่เป็นเรื่องปกติที่เสือต้องเผชิญ แม้ว่าพวกมันจะเป็นนักล่าหมายเลขหนึ่ง ผู้ทำหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์กินพืช มีร่างกายซึ่งได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีทักษะในการล่าเป็นเลิศ แต่การลงมือของเสือนั้นใช่ว่าจะสำเร็จทุกครั้ง มันมักจะพบกับความล้มเหลวและต้องเริ่มต้นใหม่เสมอ ๆ

หญ้าในทุ่งสูงท่วมตัวเสือ มันหายไปสักพักก่อนโผล่มาใกล้ ๆ มันเดินตรงเข้ามาหารถที่ผมอยู่ ได้สบสายตาใกล้ ๆ เหมือนกับทุกครั้งที่ได้สบสายตาเสือ และผมก็ไม่เห็นแววตาแห่งความดุร้าย

การพบกับเสือครั้งนี้สอนบทเรียนให้ผมอีกบทหนึ่ง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Tadoba-Andhari อยู่ที่เมืองนาคปุระ รัฐมหาราษฏระ

ป้ายที่สนามบินบอกไว้ว่าที่นี่เป็น ‘เมืองหลวงของเสือ’

อินเดียได้ชื่อว่ามีเสือโคร่งเบลกอลอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก แม้ว่าจะผ่านยุคแห่งการทำลายล้าง โดยเฉพาะในยุคอาณานิคมที่คนใช้เสือเป็นถ้วยรางวัล การฆ่าเสือถือเป็นเกม เสือนับแสนตัวถูกฆ่า 

กระนั้นก็ตาม ถึงวันนี้ประชากรเสือก็ยังมีมากกว่า 2,000 ตัว

พวกมันทั้งหมดอาศัยอยู่ในที่มั่นสุดท้าย อันเป็นโลกของพวกมัน

Tadoba-Andhari ตั้งชื่อตามเทพ Tadoba หรือเทพ Taru ที่คนท้องถิ่นนับถือ Andhari คือแม่น้ำที่ไหลผ่านป่า

คนที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นไกด์และคนขับรถพานักท่องเที่ยวเข้าไปดูเสือ คนจะนั่งรถ Gypsy เป็นรถจี๊ปคันเล็ก ๆ ไม่มีหลังคา

บ้านของเสือที่นี่เปิดเฉพาะช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน ส่วนฤดูฝนจะปิดเพื่อให้ป่าฟื้นฟู และเสือจะได้พักจากการต้องพบปะกับคน

บนทางป่าขรุขระ คนขับเบรกกะทันหัน ไกด์หันมาบอกผมด้วยเสียงตื่นเต้นว่า ‘เสือ’ เขาพูดพลางชี้ไปข้างหน้า

ผมมองตามมือไกด์ เสือ 5 ตัวปรากฏในสายตา พวกมันเดินตรงเข้ามาหา

3 ตัวเป็นลูก อายุราว 7 เดือน มีเสือตัวโตที่เข้าใจว่าเป็นลูกรุ่นก่อน และแม่เสือ เสือตัวผู้ตัวโตเดินตามมาห่าง ๆ

พวกมันเดินผ่านหน้ารถ เลี้ยวเข้าทางด้านซ้ายมือไปหยุดบริเวณบ่อน้ำ และใช้เวลาอยู่ที่นั่น แม่กินน้ำอย่างกระหาย ลูก ๆ เดินไปมาสลับกับนอนแช่น้ำ ผมไม่แปลกใจนักที่พบลูก ๆ ตัวเล็ก 3 ตัวนั้นอยู่กับแม่ แต่สำหรับตัวโต ผมค่อนข้างแปลกใจ

โดยปกติลูกเสือจะอยู่กับแม่เป็นเวลา 2 ปี นี่คือช่วงเวลาที่แม่จะถ่ายทอดประสบการณ์ รวมทั้งบทเรียนต่าง ๆ ในการล่า การดำเนินชีวิต ก่อนต้องแยกย้ายออกไปใช้ชีวิตลำพังตามวิถีที่กำหนดมาแล้ว

แน่นอนว่าสำหรับลูกเสือ นี่ไม่เพียงเป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ แต่เป็นเวลาแห่งความอบอุ่นที่พวกมันเอาไว้นึกถึงยามใช้ชีวิตลำพัง

ผมมองครอบครัวเสืออย่างปลื้มปีติ เป็นโอกาสดีที่ได้รับและได้อยู่ในที่มั่นสุดท้ายของเสือในโลกของพวกมัน

เจ้าตัวเล็กตัวหนึ่งผละจากบ่อน้ำ เดินเข้ามานั่งใกล้ ๆ เอียงหัวไปมาด้วยอาการสงสัย ไร้ความหวาดระแวง การพบปะกับคนเช่นนี้ ครั้งหนึ่งจะจบลงด้วยชีวิต ถึงวันนี้พวกมันก็ยังคงต้องพบกับคนจำนวนไม่น้อยทุกวันที่อยู่บนรถจี๊ป ในมือถือกล้องแทนปืน

โลกเปลี่ยนไปแล้ว การปรับเพื่ออยู่กับความเปลี่ยนแปลงจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเสือหรือคน

ผมมองเสือ นี่เป็นโลกของมัน ดูเหมือนว่าเราจะมีโลกอยู่ 2 ใบ 

โลกหนึ่ง เป็นโลกที่เราอยากให้เป็น ส่วนอีกโลกหนึ่งเป็นโลกแห่งความเป็นจริง

โลกที่เราอยากให้เป็นย่อมมีสันติภาพ มีชีวิตที่อยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตซึ่งอยู่ในรูปแบบใด

18.00 น. เราต้องออกจากป่า ออกจากโลกที่อยากให้เป็น กลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง

ผมเริ่มต้นด้วยการเล่าเหตุการณ์ตอนได้รับบทเรียนอันทำให้ผมเข้าใจ และทุกครั้งที่พบกับเสือในโลกของพวกมัน 

เมื่อกลับออกมาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ปัญหาที่เหล่าสัตว์ป่ากำลังเผชิญ บางพื้นที่ พวกมัน ปะทะกับคน และจบลงด้วยโศกนาฏกรรม

ในโลกแห่งความเป็นจริง ดูคล้ายกับว่า ‘โลกที่อยากให้เป็น’ นั้น มีอยู่เพียงในความฝัน

Writer & Photographer

Avatar

ปริญญากร วรวรรณ

ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าและดงลึกทั่วประเทศไทยผ่านเลนส์และปลายปากกามากว่า 30 ปี มล. ปริญญากร ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติให้คนกิจกรรมกลางแจ้งและช่างภาพธรรมชาติรุ่นปัจจุบัน