30 พฤศจิกายน 2023
2 K

‘ธุรกิจครอบครัว’ คือธุรกิจที่มีคนในครอบครัวเดียวกันมากกว่า 1 คนเป็นเจ้าของ บริหารจัดการ หรือกำกับดูแล และมีการสืบทอดกิจการจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งการสืบทอดนี้อาจเกิดขึ้นแล้วในอดีต หรือมีแผนการที่จะสืบทอดในอนาคตก็ได้

เนื่องจากการสืบทอดกิจการเป็นสิ่งสำคัญของธุรกิจครอบครัว จึงไม่น่าแปลกใจว่าสิ่งหนึ่งที่เรามักได้ยินเสมอเวลาคนพูดถึงธุรกิจครอบครัวก็คือ ‘กฎ 3 รุ่น’ (The Three-generation Rule) ที่บอกว่า ธุรกิจครอบครัวโดยมากจะอยู่รอดได้แค่ 3 รุ่นเท่านั้น โดยรุ่นแรกเป็นผู้ก่อตั้ง รุ่นที่ 2 รับช่วงกิจการต่อมา และจบลงในรุ่นที่ 3 ที่ส่งต่อธุรกิจไปยังรุ่นที่ 4 ไม่ได้

ตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจครอบครัวที่อยู่รอดแค่ 3 รุ่น คือธุรกิจของครอบครัว Aw ผู้ก่อตั้งกิจการยาหม่องตราเสือ หรือ ‘Tiger Balm’ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมแพร่หลายในหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย

ยาหม่องตราเสือ เจ้าของเดียวกับหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า โตไวแต่หนีไม่พ้นกฎสามรุ่น

ย่างก้าวที่ย่างกุ้ง

ธุรกิจยาหม่องตราเสือก่อตั้งโดยนักสมุนไพรเชื้อสายจีนแคะหรือจีนฮากกา (Hakka) ชื่อ Aw Chu Kin ซึ่งเกิดในตระกูลแพทย์สมุนไพรที่มีถิ่นฐานอยู่ในมณฑลฝูเจี้ยน ชายฝั่งทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน

Aw Chu Kin อพยพไปสิงค์โปร์ในปี 1863 และย้ายไปยังเมืองปีนังในเวลาต่อมา ก่อนตัดสินใจตั้งรกรากที่เมืองย่างกุ้งในพม่า ซึ่งในช่วงเวลานั้นทั้งสิงคโปร์ ปีนัง และพม่า ยังคงเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่ โดย Aw Chu Kin ช่วยลุงของเขาตั้งร้านขายยาชื่อ ‘Eng Aun Tong’ ที่เมืองย่างกุ้งในปี 1870

ยาหม่องตราเสือ เจ้าของเดียวกับหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า โตไวแต่หนีไม่พ้นกฎสามรุ่น

Aw Chu Kin มีลูก 3 คน คือ Aw Boon Leng หรือ ‘มังกรผู้มีอารยะ’ ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่เล็ก Aw Boon Haw หรือ ‘เสือลายพาดกลอนผู้มีอารยะ’ และ Aw Boon Par หรือ ‘เสือดาวผู้มีอารยะ’

เมื่ออายุได้ 10 ปี Aw Boon Haw ถูกพ่อส่งกลับไปประเทศจีนเพื่อให้ไปเรียนวิชาสมุนไพรจีนจากปู่ของเขา ส่วน Aw Boon Par น้องชายคนเล็กยังอยู่ที่ย่างกุ้งกับพ่อ โดยเข้าศึกษาในโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรแบบอังกฤษ

ยาหม่องตราเสือ เจ้าของเดียวกับหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า โตไวแต่หนีไม่พ้นกฎสามรุ่น

ราชายาหม่อง

Aw Chu Kin เสียชีวิตในปี 1908 และได้ยกธุรกิจร้านขายยา Eng Aun Tong ให้ Aw Boon Par ลูกชายคนเล็กที่อยู่กับเขาที่ย่างกุ้งรับช่วงกิจการต่อ

อย่างไรก็ตาม Aw Boon Par กลับรู้สึกว่าเขารับผิดชอบธุรกิจคนเดียวไม่ได้ จึงขอให้ Aw Boon Haw พี่ชายของเขากลับจากประเทศจีนมาช่วย โดยเสนอว่าเขาจะเป็นคนขายยาแผนตะวันตก ส่วน Aw Boon Haw ก็ขายยาแผนตะวันออก ทำให้ร้านของพี่น้องตระกูล Aw ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกคน

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของธุรกิจเกิดขึ้นในปี 1918 เมื่อ Aw Boon Haw ร่วมมือกับ Aw Boon Par ผลิตยาหม่องบรรเทาอาการปวดและแก้แมลงสัตว์กัดต่อยในชื่อแบรนด์ ‘Tiger Balm’ หรือยาหม่องตราเสือซึ่งตั้งชื่อตาม Aw Boon Haw

แต่ในขณะที่ธุรกิจกำลังเจริญรุ่งเรือง สองพี่น้องก็ได้รับหมายจับจากตำรวจเมืองย่างกุ้งในข้อหาค้าฝิ่นและสินค้าปลอม โดนกักขังในบ้าน

ถึงแม้ว่าในที่สุดตำรวจจะไม่มีหลักฐานเพียงพอในการเอาผิด แต่เหตุการณ์นี้ก็สร้างความอับอายให้สองพี่น้อง Aw Boon Haw จึงตัดสินใจย้ายธุรกิจไปสิงค์โปร์ ส่วน Aw Boon Par ยังอยู่ที่ย่างกุ้งต่อในช่วงแรก แต่ในที่สุดก็ย้ายตามพี่ชายไปในปี 1926

โรงงานของ Eng Aun Tong ที่สิงคโปร์นั้นใหญ่กว่าที่ย่างกุ้งถึง 10 เท่า ในปี 1932 พี่น้องตระกูล Aw จดทะเบียนธุรกิจในสิงคโปร์ในชื่อ ‘Haw Par Brothers (Private)’ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นธุรกิจต่าง ๆ ของครอบครัว

ในช่วงเวลาเพียงแค่ 10 ปีหลังจากที่ผลิตภัณฑ์เริ่มออกจำหน่าย ความนิยมยาหม่องตราเสือของพี่น้องตระกูล Aw ก็ขยายออกไปนอกสิงคโปร์ และเป็นที่นิยมไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง และจีน

ยาหม่องตราเสือ เจ้าของเดียวกับหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า โตไวแต่หนีไม่พ้นกฎสามรุ่น

ผู้นำหนังสือพิมพ์ภาษาจีน

ธุรกิจครอบครัวของตระกูล Aw ยังขยายออกจากผลิตภัณฑ์ยาไปสู่กิจการหนังสือพิมพ์ภาษาจีน โดยเริ่มออกหนังสือพิมพ์ชื่อ Sin Chew Jit Poh ขายในสิงคโปร์และมาเลเซียในปี 1929 เมื่อเริ่มแรกมีจุดประสงค์เพื่อโฆษณายาหม่องและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของธุรกิจครอบครัว

Sally Aw ลูกสาวของ Aw Boon Haw ให้สัมภาษณ์ว่า คุณพ่อจ่ายเงินค่าโฆษณาผลิตภัณฑ์มาก ท่านเลยคิดว่ามีหนังสือพิมพ์เป็นของตัวเองน่าจะถูกกว่า

อีก 10 ปีถัดมา ครอบครัว Aw ออกหนังสือพิมพ์อีกฉบับชื่อ Sin Pin Jit Poh เพื่อขายในเมืองปีนัง และต่อมาในปี 1941 ได้ตั้งบริษัทโฮลดิ้งชื่อ Sin Poh (Star News) Amalgamated มาดูแลกิจการหนังสือพิมพ์ของครอบครัวทั้งหมด

ตระกูล Aw ตั้งหน้าตั้งตาขยายกิจการจนในที่สุดออกหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับในฮ่องกง 3 ฉบับในจีน 4 ฉบับในสิงคโปร์ และ 2 ฉบับในมาเลเซีย รวมถึง 1 ฉบับในประเทศไทยที่มีชื่อว่า ซิงเสียนเยอะเป้า (Sing Sian Yer Pao) โดยเริ่มพิมพ์ออกจำหน่ายในปี 1950

ยาหม่องตราเสือ เจ้าของเดียวกับหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า โตไวแต่หนีไม่พ้นกฎสามรุ่น

ปิดฉากพี่น้องสองเสือ

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สิงคโปร์ถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครอง Aw Boon Haw จึงอพยพไปบัญชาการธุรกิจจากฮ่องกง ส่วน Aw Boon Par ในช่วงแรกยังอยู่ดูแลกิจการในสิงคโปร์ต่อ แต่สุดท้ายก็ต้องปิดโรงงานและอพยพหนีภัยสงครามกลับไปพม่า

Aw Boon Par เสียชีวิตที่เมืองย่างกุ้งในปี 1944 ก่อนที่สงครามโลกจะสิ้นสุดลงเพียงปีเดียว เขามีอายุ 56 ปี

ส่วน Aw Boon Haw ย้ายกลับไปสิงคโปร์และเปิดโรงงานอีกครั้งหลังจากสงครามโลกจบลง เขาเสียชีวิตจากโรคหัวใจวายเฉียบพลันเมื่ออายุ 72 ปี ที่เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างเดินทางกลับจากเมืองบอสตันในปี 1954

หลังจากที่ Aw Boon Haw เสียชีวิต ธุรกิจครอบครัวแบ่งกันระหว่างลูก 6 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ของเขาและลูก 4 คนของ Aw Boon Par

Aw Cheng Chye ลูกชายคนโตของ Aw Boon Par รับสืบทอดเป็นผู้นำรุ่นที่ 3 โดยเป็น Chairman ของ Haw Par Brothers (Private) บริษัทโฮลดิ้งของครอบครัว และ Sin Poh (Star News) Amalgamated รวมถึงเป็นกรรมการของธนาคาร Chung Khiaw Bank ที่ตระกูล Aw เป็นเจ้าของอีกด้วย

ยาหม่องตราเสือ เจ้าของเดียวกับหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า โตไวแต่หนีไม่พ้นกฎสามรุ่น

อวสานธุรกิจครอบครัว

ในปี 1969 Aw Cheng Chye โอนกิจการจากบริษัท Haw Par Brothers (Private) ไปให้บริษัท Haw Par Brothers International ซึ่งตั้งมาใหม่เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยมีทรัพย์สินเป็นกิจการ Eng Aun Tong, Tiger Balm และ ธนาคาร Chung Khiaw Bank ซึ่งการตัดสินใจนี้พี่น้องหลายคนไม่เห็นด้วย

อีกเพียง 2 ปีต่อมา Aw Cheng Chye ขายหุ้นของครอบครัวให้ Slater Walker Securities และในปีเดียวกันนั้นเอง เขาก็เสียชีวิตอย่างกะทันหันในระหว่างการพักผ่อนที่เมืองซานติอาโก ประเทศชิลี หลังจากนั้นไม่นาน บริษัทแม่ของ Slater Walker Securities ได้ล้มละลายลงจากเหตุการณ์วิกฤตธนาคารขนาดเล็กในประเทศอังกฤษที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1973 – 1978 โดยรัฐบาลอังกฤษได้เข้ามาอุ้มกิจการ

ยาหม่องตราเสือ เจ้าของเดียวกับหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า โตไวแต่หนีไม่พ้นกฎสามรุ่น

ในขณะที่ธนาคาร United Overseas Bank (UOB) เข้ามาซื้อหุ้น 53% ของ Chung Khiew Bank จาก Slater Walker และทยอยซื้อหุ้นเพิ่มจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวในปี 1988

นอกจากนี้ Wee Cho Yaw ซึ่งเป็น Chairman ของ UOB เข้ามาเป็น Chairman ของ Haw Par Brothers International ตั้งแต่ปี 1978 ซึ่งต่อมาบริษัทเปลี่ยนชื่อเป็น Haw Par Corporation โดยในปี 2020 ครอบครัวของ Wee Cho Yaw มีหุ้นในบริษัทนี้ถึง 36% และปัจจุบัน Wee Ee Lim ลูกชายคนรองของเขาก็เป็น President ของบริษัทอีกด้วย

ยาหม่องตราเสือ เจ้าของเดียวกับหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า โตไวแต่หนีไม่พ้นกฎสามรุ่น

ปราการด่านสุดท้าย

ถึงแม้ว่าธุรกิจหลักของตระกูล Aw ในสิงคโปร์จะตกเป็นของเจ้าของรายใหม่ตั้งแต่ปี 1971 แต่ยังมีบางกิจการที่ยังคงเป็นของทายาทต่อมา Sally Aw ลูกสาวคนโปรดของ Aw Boon Haw ได้รับมรดกธุรกิจหนังสือพิมพ์ในฮ่องกงจากพ่อ แต่ในที่สุดเธอก็ต้องขายกิจการต่าง ๆ ออกไปจนหมดสิ้นในปี 2001 เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย

ส่วน Aw Cheng Sin ลูกสาวคนสุดท้องของ Aw Boon Par แต่งงานกับ Lee Aik Sim และได้ดูแลกิจการในประเทศพม่า เมื่อ นายพลเนวิน ยึดอำนาจการปกครองและนำระบอบสังคมนิยมมาใช้ในปี 1962 ทั้งคู่จึงอพยพมายังประเทศไทยและเปลี่ยนสัญชาติเป็นคนไทย มีชื่อไทยว่า สุรีย์ สันติพงศ์ไชย และ ลี สันติพงศ์ไชย ทำธุรกิจยาหม่องตราเสือและหนังสือพิมพ์ ซิงเสียนเยอะเป้า ในประเทศไทย

สุรีย์และลีเป็นกรรมการในบริษัท Haw Par Brothers (Thailand) จนกระทั่งลาออกในปี 1972 ซึ่ง Haw Par Brothers International ที่เป็นบริษัทแม่ได้ขายบริษัทลูกไปให้กลุ่มบริษัท แจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) จำกัด (มหาชน) รวมถึงให้สิทธิในแบรนด์ยาหม่องตราเสือแก่บริษัทนี้เป็นเวลา 20 ปี

ส่วนธุรกิจหนังสือพิมพ์ ซิงเสียนเยอะเป้า ในประเทศไทยนั้นเติบโตเป็นที่นิยมจนได้ฉายาว่าเป็น ‘ไทยรัฐภาษาจีน’ ครอบครัวสันติพงศ์ไชยได้ขายหนังสือพิมพ์นี้ไปในปี 2010 ถือเป็นการปิดฉากธุรกิจครอบครัวของตระกูล Aw ที่สืบทอดกันมา 3 รุ่น

ยาหม่องตราเสือ เจ้าของเดียวกับหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า โตไวแต่หนีไม่พ้นกฎสามรุ่น

กฎสามรุ่น

ธุรกิจของครอบครัว Aw เป็นตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจครอบครัวที่เป็นไปตามกฎสามรุ่น ซึ่งกฎนี้ไม่ได้มีคนพูดถึงเฉพาะในเอเชีย แต่มีความเป็นสากลมากในทุกทวีปทั่วโลก แสดงว่าธุรกิจครอบครัวไม่ว่าที่ไหนในโลกน่าจะมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน

กฎสามรุ่นนี้ไม่ได้เป็นแค่คำกล่าวต่อ ๆ กันมาแบบไร้หลักฐาน แต่ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาหลายชิ้นในหลายประเทศที่พบว่ามีธุรกิจครอบครัวแค่ประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้นเองที่สืบทอดและอยู่รอดไปจนถึงรุ่นถัดไป

พูดง่าย ๆ คือมีธุรกิจครอบครัวแค่ประมาณ 30% อยู่รอดจากรุ่นก่อตั้งไปถึงรุ่นที่ 2 และมีธุรกิจครอบครัวแค่ 1 ใน 3 ของกลุ่มนี้ หรือประมาณ 10% ที่อยู่รอดไปจนถึงรุ่นที่ 3 และอีกแค่ 1 ใน 3 หรือ 3% เท่านั้นที่อยู่รอดไปจนถึงรุ่นที่ 4 ซึ่งเรียกได้ว่าน้อยมาก ๆ

ยาหม่องตราเสือ เจ้าของเดียวกับหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า โตไวแต่หนีไม่พ้นกฎสามรุ่น

อย่างไรก็ตาม การจบลงของธุรกิจครอบครัวไม่ว่าจะใน 3 รุ่นหรือไม่ก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจนั้นเลิกกิจการไปแล้ว หรือไม่ได้หมายความว่าทายาทล้มเหลวในการบริหารกิจการเสมอไป

ในหลายกรณี ธุรกิจยังดำเนินอยู่แต่มีการเปลี่ยนเจ้าของ และในหลายกรณี ทายาทมีความสามารถในการบริหารธุรกิจ แต่ตัดสินใจเลิกหรือส่งมอบกิจการให้เจ้าของรายใหม่ด้วยเหตุผลส่วนตัว เช่น อยากประกอบอาชีพอื่น อยากเกษียณอายุ หรืออยากเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นเงินสดหรือสินทรัพย์อื่น

การถอดบทเรียนจากธุรกิจครอบครัวทั้งที่ยังดำเนินกิจการอยู่และที่สิ้นสุดลงแล้ว จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเข้าใจเบื้องหลังของการก่อตั้ง การเติบโต และการจบลงของธุรกิจครอบครัว

ยาหม่องตราเสือ ธุรกิจชาวจีนที่เดินทางมากว่า 5 ประเทศ เริ่มจากยาหม่อง โตไวจากหนังสือพิมพ์ แต่หนีไม่พ้นกฎสามรุ่นของธุรกิจครอบครัว
ข้อมูลอ้างอิง
  • asddragonero.it/blog/balsamo-di-tigre-1-la-storia
  • transferlsjewelrygroup.makewebeasy.com/image
  • mothership.sg/2016/11
  • www.sg101.gov.sg/resources/connexionsg/engauntongbuilding
  • www.lsjewelrygroup.com/content
  • www.ricemedia.co/forgotten-history-haw-par-villa
  • www.koreaherald.com
  • www.nas.gov.sg/archivesonline/photographs/record-details
  • www.telegraph.co.uk/news/obituaries/12006338
  • twitter.com/stbusinessdesk/status
  • www.asiamediacentre.org.nz/features
  • mgronline.com/daily/detail/9560000139620

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต