คำว่า ‘หลงรัก’ อาจอธิบายความรู้สึกได้น้อยไป แต่ถ้า ‘หลงใหล’ คงพออธิบายได้ว่าทำไมคอนโดของ เอก-ทวีป ฤทธินภากร จึงได้ให้ความรู้สึกเหมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่มีคลังสมบัติอายุเฉลี่ยนับร้อยปีวางดาษดื่นขนาดนี้
เอก ทวีป ไม่ใช่แค่ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าลุนตยา แต่เขาคือนักสะสมผู้ใช้ความหลงใหลและเวลากว่า 20 ปี ทุ่มเทเก็บเกี่ยวทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับพม่า ตั้งใจร่ำเรียนตำราด้วยตัวเอง และถึงขั้นเรียนภาษาพม่านาน 3 ปี เพื่อให้อ่านหลักฐานที่พบได้เข้าใจ
วันนี้ ความชอบไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้เขาได้ต้อนรับแขกผู้สนใจมากถึง 5 คนในคราวเดียว แต่เพราะเอกเป็นทั้งภัณฑารักษ์ผู้รอบรู้ (สำหรับเรา) นักเรียนดีเด่นผู้ไม่เคยหยุดศึกษา และนักเล่าเรื่องที่เชื่อมโยงสิ่งของทุกชิ้นเข้าหากันด้วยประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และชีวิตของเขา


เอกเติบโตมาในปี 1980 มีบ้านอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ขับรถไปไม่เกินชั่วโมงก็จะข้ามพรมแดนสู่ดินแดนแห่งทองคำ เขาเล่าว่าตอนเด็กเคยได้ยินเสียงคนยิงกันดังไกลถึงอำเภอฝาง เมื่อถามผู้ใหญ่ก็ได้คำตอบว่าเป็นชาวไทใหญ่ ไม่ก็ชาวเขา
นั่นคือภาพจำในยุคที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักประเทศพม่า นอกจากคำอธิบายว่าเป็น ‘เพื่อนบ้านที่ยากจนและมีปัญหาการเมือง’ เมื่อโตขึ้นเข้าระบบการศึกษา พม่าก็เปลี่ยนเป็นคู่แค้นที่เผากรุงศรีอยุธยาและขนทองกลับไป
ไม่ผิดที่มีการถ่ายทอดให้คนจดจำเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องของการเล่าประวัติศาสตร์ในยุคหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วบ้านใกล้เรือนเคียงมีอะไรให้ศึกษาและทำความเข้าใจมากกว่านั้น ใครจะรู้ว่าครั้งหนึ่งพม่าเคยรุ่งเรืองเป็นเมืองท่าที่ไฮโซไม่ต่างจากสิงคโปร์ และผู้ดีเมืองไทยต้องเดินทางไปช้อปปิ้งถึงที่นั่น

“ผมจึงอยากแสดงให้คนเห็นมุมที่หลากหลายขึ้นจากสิ่งของที่สะสม โดยเริ่มศึกษาจากสิ่งที่เก็บ เพราะอยากรู้ว่าสิ่งที่มีคืออะไร มีที่มาอย่างไร ใครเป็นคนใช้ ทำไมต้องสีนี้ มีความเชื่ออะไรอยู่ในนั้น” เจ้าของห้องบอกต่อว่า ความเข้าใจน้อยและเข้าใจผิดที่เคยมีคือปมที่ทำให้เขาขวนขวายศึกษา
โดยทั้งหมดเริ่มจากเพียงความชอบใน ‘ผ้าลุนตยาอเชะ’ แต่เมื่ออ่านเอกสารมากเข้า กลับพบว่าข้อมูลยังไม่พอแก่ใจที่ต้องการ เขาจึงตีตั๋วลงพื้นที่ถึงโรงทอที่พม่าเพื่อทำการวิจัยขั้นปฐมภูมิ ขยันไปหาเหล่าช่างทอ 4 – 5 ครั้ง แม้จะพูดภาษาเขาไม่ได้ จนในที่สุดกำแพงแห่งความไม่ไว้ใจก็ถูกทลาย กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ให้ทั้งมิตรภาพและความรู้


ลุน แปลว่า กระสวย ตยา (ตะ-ยา) แปลว่า หนึ่งร้อย รวมกัน ลุนตยา แปลว่า ร้อยกระสวย อเชะ (อะ-เชะ) แปลว่า เกาะเกี่ยว มาจากวิธีการทอผ้าที่ใช้กระสวยพุ่ง สีละกระสวย เมื่อพุ่งไปถึงจุดที่ต้องการจึงผูกปมเอาไว้ แล้วพุ่งกระสวยอันถัดไปต่อ หากผ้ามีสีมากก็ยิ่งใช้กระสวยเยอะ สมมติ เรากางผ้าออกมาดู มีลายที่ใช้สีแดงสลับกับสีเหลือง 40 ครั้ง แปลว่า มีกระสวยสีแดง 20 อัน และกระสวยสีเหลือง 20 อัน รวมเป็น 40 อัน แต่ผ้าจริงที่เราเห็นมีรายละเอียดเยอะกว่านั้น
เรามองผ้าลุนตยาอเชะทั้งเก่าและใหม่ที่เอกเปิดให้ดู นี่คืองานหัตถกรรมชั้นครูที่น่าภูมิใจของพม่า
“เส้นที่โค้งสวยแปลว่าคนทอเก่งมาก บางทีสีเดียวกันจะใช้กระสวยอันเดียวก็ได้ แต่คนทอต้องไขว้เส้นให้เป็น ไม่อย่างนั้นพันกันยุ่งเหยิง ระดับครูเก่ง ๆ ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน เป็นผ้าชั้นสูงจึงมีราคาแพงมาแต่โบราณ ปัจจุบันราคาหลายหมื่นต่อผืน”
เมื่อต้นทางถูกสงวนให้ใช้แค่ในราชสำนัก เหล่าช่างทอจึงได้รับการปูนบำเหน็จเสร็จสรรพ แต่เมื่อราชสำนักล่มสลาย มียุคหนึ่งที่ช่างทอต้องเผชิญปัญหา เพราะทำอาชีพอื่นไม่เป็น ขายเองก็ไม่เคยคิดเรื่องต้นทุนมาก่อน แต่หลังจากนั้นผ้าลุนตยากลายเป็นสินค้าไฮโซสำหรับคนที่อยากมีไว้ประดับบารมี ช่างทอจึงกลับมามีอาชีพอีกครั้ง


แม้จะได้ข้อมูลมากกว่าในตำรา แต่ชายคนนี้ยังไม่คลายความสงสัย เขาอยากรู้ว่าคนสมัยก่อนนุ่งห่มผ้ากันอย่างไรจึงไปหาภาพถ่ายโบราณมาชม เมื่อเจอแล้วก็อยากเห็นอีก กลายเป็นเก็บมาเรื่อย ๆ กว่า 1,000 ใบ ส่วนใหญ่ได้มาจากโลกออนไลน์ส่งตรงจากยุโรป ซึ่งบางทีมีปีและสถานที่เขียนด้วย
“ที่พม่ามีภาพน้อย เพราะสภาพอากาศไม่ดี รูปพังไปเยอะ ดังนั้น ที่เราเจอในประเทศจะถอยกลับไปแค่ยุค 30 – 50 แต่เก่ากว่านั้นจะไม่เจอ”
เอกเล่าว่าสมัยโบราณการถ่ายภาพเป็นเรื่องยาก ผู้ที่ถือกล้องจึงต้องเป็นช่างภาพผู้เชี่ยวชาญหาใช่มือสมัครเล่น โดยคอลเลกชันแรกที่เขาหยิบออกจากกล่องไม้มาให้ชมเป็นของช่างภาพชาวเยอรมันชื่อ Philip Adolphe Klier ถ่ายไว้ประมาณปี 1870 – 1890

“ในยุคแรกเขาถ่ายเพราะเป็นของแปลก เพื่อนำรูปไปทำการค้า Klier จะนำฟิล์มกระจกที่ถ่ายภาพรวบรวมไว้เป็นคอลเลกชันของสตูดิโอตัวเอง เขามีที่มะละแหม่งก่อนย้ายไปย่างกุ้ง เวลามีนักท่องเที่ยวมาก็จะได้อัดภาพขายตามออเดอร์เป็นของที่ระลึก”
ชาวพม่ามีความหวาดกลัวกล้องถ่ายรูปไม่ต่างจากชาวไทยโบราณที่กลัวถ่ายแล้ววิญญาณหลุดออกจากร่าง ในยุคแรกที่กล้องเข้ามาจึงมีแต่ชาวต่างชาติเข้าไปใช้บริการ แต่เมื่อผ่านไปเป็นปี ชาวบ้านเรียนรู้ว่าคนที่เคยถูกถ่ายยังไม่มีใครเสียชีวิต ประกอบกับเริ่มมีรายได้ที่ดีขึ้น พวกเขาจึงเริ่มนิยมถ่ายภาพกันมากขึ้น
กระทั่งเข้าสู่ช่วงปี 1900 – 1920 ฟิล์ม Kodak เริ่มเป็นที่แพร่หลาย กล้องขนาดเล็กมาพร้อมช่างภาพมือสมัครเล่นที่เผยแพร่ภาพแนว Candid กดชัตเตอร์ตามความสนใจ ไม่มีการเซ็ตอัป
“อันนี้ผมได้ฟิล์มมาจากอังกฤษ เป็นการซื้อออนไลน์โดยไม่รู้ว่าเป็นรูปอะไร คนขายบอกแค่เป็นภาพพม่า ผมก็เลยเอาฟิล์มไปอัดที่ร้านฉายาจิตรกร”

“นี่คือ หม่องชอว์ลู อยู่ที่มะละแหม่ง แล้วไปเข้ารีตได้ทุนไปกัลกัตตาและไปเรียนต่อถึงอเมริกา เรียนจบเป็นแพทย์คนแรกของพม่า ภาพนี้เขียนไว้ว่าถ่ายที่คลีฟแลนด์ โอไฮโอ สหรัฐอเมริกา
“ส่วนอันนี้เป็นเสนาบดีพม่าที่ถูกส่งไปเป็นเอกอัครราชทูตที่ยุโรปแล้วถ่ายภาพที่อิตาลี ผมไปเจอภาพนี้ที่ร้านขายหนังสือเก่าที่อิตาลี เขาเขียนอธิบายไว้ว่า Exotic asian gentleman in costume แต่เราเห็นแล้วรู้เลยว่านี่คนพม่าระดับสูง หาข้อมูลเพิ่มก็พบว่าพระเจ้ามินดงส่งเขาไปเรียนเมืองนอกเป็นคนแรก ๆ จบวิศวกรที่ฝรั่งเศส ตำแหน่งเขาชื่อ บัน แชะก์ หวุ่น ฝรั่งเขียนเอาไว้ว่า เขาเป็นคนที่เก่งมาก พูดฝรั่งเศสเก่ง อังกฤษดี เวลามีฝรั่งมา คนนี้เป็นคนรับแขกหมดเลย เห็นแต่งตัวแบบพม่า แต่กริยาเป็นตะวันตก”


“พม่าน่าสนใจเพราะทุกวันนี้เรายังรู้จักเขาแบบผิว ๆ สิ่งที่ผมสะสมส่วนใหญ่เป็นศิลปะที่ใช้ประดับตกแต่งได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพหรือผ้า มันน่าสนใจเพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน เราเหมือนเรียนรู้ชีวิตและสังคมของเขาไปด้วย”
ต่อมาเอกหยิบภาพที่หลายคนอาจคุ้นตา เพราะถูกนำไปเปรียบเทียบกับภาพจากละครโทรทัศน์เรื่อง เพลิงพระนาง นั่นคือภาพของพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัต ถ่ายในพระราชวังที่มัณฑะเลย์ ด้านหลังเขียนอธิบายไว้โดยลูกหลานเจ้าของภาพที่นำมาขาย ความว่า ต้นตระกูลเป็นชาวอังกฤษ ประกอบอาชีพทนายอยู่ที่รัตนคีรีและกัลกัตตา เป็นผู้เจรจาเรื่องเงินบำเหน็จให้กับพระเจ้าสีป่อและรัฐบาลอังกฤษ พระเจ้าสีป่อจึงพระราชภาพนี้ให้
“การที่ท่านพระราชทานให้ เราก็เดาว่าภาพนี้ถ่ายในประเทศและนำติดตัวไปตอนเนรเทศ” เอกเสริม โดยพระเจ้าสีป่อคือพระมหากษัตริย์พม่าองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์คองบองหรืออลองพญา ถูกเนรเทศไปอินเดียหลังจบสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 3


“ความเศร้าคือเวลาที่เจ้าของเดิมเสียไป ลูกหลานขายภาพออกมา พ่อค้าส่วนมากมักจะตัดภาพจากอัลบั้มมาขายแยกทีละแผ่น อย่างอันนี้คาดว่าเป็นอัลบัมหรือ Scrapbook (สมุดติดรูปหรือข่าวที่ตัดมาจากสื่อสิ่งพิมพ์) แต่เราได้มาแค่ 2 แผ่น แล้วมีเอกสารติดมาด้วย
“สมัยนั้นมีสมาคมยานยนต์ของพม่า นี่คือเอกสารบอกเส้นทางสำหรับคนขับรถไปเอง เมืองไหนห่างไปกี่กิโลเมตร จะเจออะไรบ้าง ต้องเลี้ยวซ้ายหรือขวา”
เรียกว่านี่คือ Google Maps เมื่อ 100 ปีก่อนที่พม่ามีออกไปจนถึงชายแดนก็คงได้


นอกจากภาพทิวทัศน์ภายนอก เอกหยิบภาพเด็กชาวต่างชาติคนหนึ่งในชุดพม่าขึ้นมาให้ชม ดูแล้วก็พอทราบได้ว่าพ่อแม่คงพาไปถ่ายรูปในสตูดิโอ
เขาเสริมว่า ภาพถ่ายในสตูดิโอหลายต่อหลายใบในยุคแรก ๆ คนในภาพอาจไม่เคยเห็นก็ได้ เพราะพวกเขาอาจถูกจ้างมาเป็นแบบ และนำภาพไปทำโปสการ์ดส่งขาย เนื่องจากสมัยก่อนเป็นช่องทางที่คนสื่อสารถึงกันอย่างแพร่หลาย
อีกคอลเลกชันที่นำมาให้ชมคือซีรีส์ขายดีของโปสการ์ดปี 1900 – 1910 จัดทำโดย D.A.Ahuja (ห้างแขกที่ทั้งถ่ายรูป ทำสตูดิโอ และผลิตโปสการ์ด) ซึ่งร่วมมือกับเยอรมนี โดยส่งไปพิมพ์และลงสีที่เยอรมนี แต่ด้วยความที่คนทางนั้นไม่เคยเห็นว่าผ้านุ่งที่แท้จริงสีอะไร บางภาพจึงมีสีสดใสให้พวกเราแปลกใจเล่น เพราะไม่เหมือนจริงเลย


“พวกนี้เป็นบัตรเชิญสมัยโบราณ นามบัตร หนังสือแนะนำทัวร์ด้วยรถไฟ ลามไปจนถึงเอกสาร หนังสือของที่ระลึกสมัยโบราณ โบรชัวร์เที่ยวพม่าของ โทมัส คุก บริษัทท่องเที่ยวสัญชาติอังกฤษ อันนี้ปี 1933 – 1934 ซึ่งยุคทองของโลกคือหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเทคโนโลยีดี เดินทางง่าย ไม่ลำบาก โลกเชื่อมโยงกัน โปรแกรมทัวร์จึงเกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าร้อยปีที่แล้วเขาเที่ยวกันอย่างไร”
เจ้าของห้องเล่าต่อว่า แต่เดิมพม่าใช้เกวียนในการคมนาคม แม่น้ำอิรวดีมีเรือพื้นบ้านลอยล่อง เมื่ออังกฤษเข้ามาจึงเกิดกาารพัฒนาระบบคมนาคม สร้างรางรถไฟ และระบบขนส่งทางน้ำ มีเรือกลไฟเข้ามา ช่วงแรกบริษัทอิรวดี โฟลทิลล่า (Irrawaddy Flotilla) ตั้งขึ้นเพื่อขนยุทธภัณฑ์ จากนั้นจึงพัฒนาเป็นการค้าจริงจัง ขนตั้งแต่ย่างกุ้งขึ้นไปถึงต้นแม่น้ำมราติดกับชายแดนเมืองจีน เกิดเป็นระบบไปรษณีย์ขึ้นมา เรือบางลำเป็นเหมือนตลาดนัดที่มีคนขายของด้านบน เมื่อมาเทียบท่า ชาวบ้านก็แห่ลงไปซื้อของ


“ทุกครั้งที่ศึกษาวัฒนธรรมของคนอื่นลึกซึ้งขึ้น มันทำให้เราไม่ตัดสินและเข้าใจเขาในแบบที่เป็นเขามากกว่าเดิม ยกตัวอย่าง พี่น้องชาวพม่าที่มาทำงานบ้านเรา เขาไม่ใช่เชื้อชาติพม่า แค่ถือสัญชาติเมียนมา ในแง่ชาติพันธุ์อาจเป็นไทใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง ซึ่งเราไม่ได้สนใจ แถมยังมองเป็นก้อนเดียว
“วันนี้กลับบ้านไป ลองถามพวกเขาดูสิว่าเป็นคนที่ไหน ถ้าเราเริ่มสนใจเรื่องเหล่านี้ของเขา เขาก็จะดีใจว่าเราไม่ได้เหมารวม”
พม่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย กลุ่มหลักชื่อว่า บะม๊า (Bamar) อาศัยอยู่เยอะทางตอนกลางของประเทศ แถมลุ่มแม่น้ำอิรวดี ตั้งแต่มัณฑะเลย์ลงมาถึงพุกาม หากลงไปย่างกุ้งหรือต่ำกว่านั้นเป็นพื้นที่ของชาวมอญ ส่วนพื้นที่ทางกาญจนบุรีเป็นชาวกะเหรี่ยง และทางเชียงใหม่ เชียงราย เป็นของชาวรัฐฉานหรือชาวไทใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ กระจายอยู่ทั่วไป
“ของที่ผมเก็บจะชอบของมอญ บะม๊า ไทใหญ่ และสนใจเป็นพิเศษกับสิ่งของช่วงสมัยอาณานิคม เพราะเห็นภาพของโลกาภิวัตน์ว่ามีมานานแล้ว ไหนจะเรื่องการเชื่อมโลก การค้าขาย แลกเปลี่ยน อย่างภาพถ่ายที่ผมเก็บ ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากจักรวรรดินิยมที่นำเทคโนโลยีการถ่ายภาพเข้ามา”
ที่เคยกล่าวว่าคอนโดของเอกไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์นั้นไม่เกินจริง เพราะเฟอร์นิเจอร์ภายในห้องล้วนเป็นของสะสมจากต่างชาติทั้งสิ้น เช่น เก้าอี้ที่ฝรั่งสั่งทำโดยผสมผสานสไตล์ยุโรปเข้ากับศิลปะพม่า เอกเปรียบว่าเป็น La-Z-Boy เมื่อ 100 ปีก่อน

“ฝรั่งมักอินกับเรื่องท้องถิ่นเหล่านี้ พอเข้าไปประเทศไหนก็สั่งทำหมด” เขาเปิดตู้ (ที่มาจากพม่า) โชว์เครื่องเงินลายนูนสูงให้ชม


เราค้นพบว่าเครื่องเงินเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ชาวพม่าทำขายคนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเหยือกนม กาน้ำชา แก้วเบียร์ ถาดใส่อาหาร จิ๊กเกอร์ค็อกเทล ที่เสียบเมนู หรือกล่องใส่บุหรี่ ส่วนสิ่งที่คนพม่าทำมาใช้งานจริงคือขัน โดยลายที่นิยมก็หนีไม่พ้นเรื่อง รามเกียรติ์ พระเวสสันดร รวมไปถึงชาดกต่าง ๆ
ลายบนขันที่เอกหยิบขึ้นมาคือเรื่องราวของภิกษุณี พระปฏาจาราเถรี เดิมนางเป็นธิดาของเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถี วันหนึ่งหลงรักคนรับใช้จึงหนีออกจากบ้านไปใช้ชีวิตด้วยกัน แต่หลังจากนั้นชีวิตของนางกลับทุกข์ทรมานแสนสาหัส สามีถูกงูกัดตาย ลูก 2 คนและบิดามารดาเสียชีวิต สุดท้ายนางเสียสติวิ่งแก้ผ้าอย่างไม่รู้ตัวจนพบพระพุทธเจ้า ภายหลังจึงได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ศึกษาพระธรรมจนสำเร็จเป็นภิกษุณี


สมบัติใจทั้งหมดในห้องเริ่มต้นจากความต้องการรู้ สานต่อด้วยความใฝ่รู้ที่ไม่มีทางสิ้นสุดของเจ้าตัว
เอกบอกว่าประเทศไทยไม่มีวัฒนธรรมของการสะสมมาตั้งแต่ต้น ขณะที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตลอดจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มเก็บสิ่งของตามแนวคิดของต่างชาติที่ปลูกฝังเรื่องนี้มานานแล้ว เช่น เริ่มสอนให้เด็กรู้จักสะสมอะไรก็ได้ เพราะการสะสมสร้างนิสัยของความอยากรู้ อยากศึกษาอะไรบางอย่างให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
หลังใช้เวลา 4 ชั่วโมงลงลึกไปกับพม่าอย่างสนุกสนาน เราบอกลาเจ้าของห้องด้วยความอิ่มเอมใจ และตั้งใจกลับบ้านให้เร็ว เพื่อไปเปิดบทสนทนากับพี่สาวข้างบ้านว่า เล่าเรื่องที่บ้านของพี่ให้ฟังหน่อยสิ

“
การสะสมคือการต่อยอดการเรียนรู้ ความสงสัยพาเราไปหาผู้คนและค้นพบโลกกว้าง บางครั้งก็พาคนที่สนใจมาหาเพื่อให้เราส่งต่อความรู้
”
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับพม่าและชมภาพโบราณเพิ่มเติมได้ในหนังสือ Unseen Burma โดย เอก-ทวีป ฤทธินภากร จัดจำหน่ายโดย สำนักพิมพ์ ริเวอร์บุ๊คส์