บ้างก็รวดเร็วชั่วพริบตา บ้างก็ปรากฏอยู่นานแต่เราไม่ทันสังเกต หากทุกครั้งก็เนียนเรียบเสียจนทำให้เราเชื่อว่าฉากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง ณ มุมใดมุมหนึ่งบนโลก แม้ว่าภาพตรงหน้าอาจเป็นยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวก็เถอะ

ผมกำลังพูดถึงผลงานของ วงดำเลิง วงษ์สวรรค์ หนุ่มวัย 40 เศษ ผู้อยู่เบื้องหลังการระเบิดภูเขา เผาตึกรามบ้านช่อง เชื้อเชิญมนุษย์ต่างดาวมาเยือนโลก และอีกหลากวินาศกรรมที่ไล่เลียงแทบไม่หมดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูด-วินาศกรรมที่เขาหามรุ่งหามค่ำใช้คอมพิวเตอร์เสกสรรออกมาแด่ผู้ชมทั่วโลก นี่ยังไม่นับรวมการรีทัช (Retouch) เสริมราศี เทคนิคที่เขาต่อยอดมาจากการทำวิชวลเอฟเฟกต์ (Visual Effect) ให้กับนักแสดงและศิลปินระดับซูเปอร์สตาร์ได้โลดแล่นอยู่ในฉากมายามานับจำนวนไม่ถ้วน

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

หลังจากที่เขาย้ายที่ทำงานไปประจำอยู่บริษัท Lola VFX Ltd. ที่ลอนดอนเมื่อต้นปี และเพิ่งปิดโปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่อง Mission Impossible: Fallout วงดำเลิงก็ใช้เวลา 2 สัปดาห์ของเดือนกรกฎาคมลาพักร้อนกลับมาอยู่กับมาเยี่ยมแม่ของเขาที่บ้านในสวนทูนอิน และไม่กี่วันก่อนที่จะเดินทางกลับ ผมมีโอกาสขับรถจากตัวเมืองเชียงใหม่ขึ้นดอยโป่งแยงมาพูดคุยกับเขา

“มันเป็นงานที่ปิดทองหลังพระตามความหมายเลย” วงดำเลิงกล่าวเช่นนั้นเมื่อนั่งคุยกัน แต่นั่นล่ะ อย่างไม่อาจปฏิเสธ ผลงานที่เขาได้ทำมาเกือบ 20 ปี ก็ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์ฮอลลีวูดชั้นนำเกือบร้อยเรื่องประสบความสำเร็จ หรือกระทั่งตราตรึงใครหลายคนอยู่จนทุกวันนี้

ลูกชายคนโตของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของประเทศ จบการศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ที่เมืองไทย ต่อปริญญาโทในด้านการตัดต่อภาพยนตร์ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะมีโอกาสได้ฝึกงานกับบริษัทสร้างสรรค์วิชวลเอฟเฟกต์ชั้นนำของฮอลลีวูด และทำงานเข้า-ออกอยู่ที่นั่นอยู่หลายปี จนไปก่อตั้งบริษัทของตัวเองกับเพื่อนที่แวนคูเวอร์ แคนาดา และล่าสุดเพิ่งย้ายรกรากมาทำงานในสายเดียวกันที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

นอกเหนือจากสถานะการเป็นลูกชายคนโตของ ‘รงค์ ซึ่งทำให้เขาค่อนข้างเป็นที่รู้จัก วงดำเลิงเล่าว่า ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานของเขาเรียบง่ายและเป็นไปตามครรลอง ต่างอย่างสิ้นเชิงจากภาพแฟนตาซีหวือหวาในภาพยนตร์ที่เขาอยู่เบื้องหลัง เขาพูดในเชิงถ่อมตัวว่า อันที่จริงเขาเป็นคนทำงานที่ค่อนข้าง Old-fashioned แล้ว และการสัมภาษณ์ครั้งนี้ เราอาจไม่ได้อะไรนัก   

แต่นั่นล่ะ ผมไม่ได้บอกเขาไปว่าก็ไม่ได้อยากฟังเรื่องเล่าถึงชีวิตอันหวือหวา ในทางกลับกัน กับสิ่งที่เขาเป็น-คนทำงานสร้างสรรค์ที่มองงานตัวเองเหมือนชิ้นงานหัตถกรรม พิถีพิถันทำมันอย่างเงียบๆ และหาได้ตีฆ้องร้องป่าวเพื่อนำพาตัวเองเป็นจุดสนใจ-แค่นั้นก็คือความหรูหราที่ทำให้ผมอยากนั่งคุยกับเขายาวๆ ตั้งเท่าไหน

และเฮ้ย… นั่นคุณทำหนังฮอลลีวูดเลยนะเว้ย!

-1-

เริ่มต้นด้วยฉากปัจจุบัน ก่อนจะตัดเข้าแฟลชแบ็ก

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

เรานั่งกันอยู่บนโต๊ะยาวบนระเบียงหน้าห้องรับแขกของสวนทูนอิน บ้านหลังที่สองของวงดำเลิง และเป็นบ้านหลังสุดท้ายของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ บนโต๊ะ ป้าติ๋ม (สุมาลี วงษ์สวรรค์) เพิ่งเอาอาหารว่างกับน้ำผลไม้มาเสิร์ฟ แพนกล้องลงไปบนม้านั่ง มีจูเนียร์-แมวสีเทา หนึ่งในเจ้าของสวนทูนอิน กำลังป้วนเปี้ยนอยู่กับการขบนิ้วมือผม ริมน้ำตกที่ตาน้ำของมันผุดขึ้นมาบนเนินเขา ในบ้านที่ได้ยินเสียงธารน้ำรินไหลตลอดเวลา วงดำเลิงเล่าย้อนไปถึงชีวิตในวัยเด็ก ณ บ้านริมคลองหลังแรกของเขาที่นนทบุรี

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

“เราเป็นคนติดครอบครัวมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ความที่พ่อเราเป็นนักเขียน วิถีของครอบครัวเลยค่อนข้างแตกต่างจากบ้านคนอื่น คือพ่อกับแม่ทำงานอยู่บ้านตลอด และเวลาพ่อจะออกจากบ้านไปไหนก็จะพาเรา แม่ และจ่อย (สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์-น้องชาย) ไปด้วย ไปรับค่าต้นฉบับที่สำนักพิมพ์ ไปกินเหล้ากับเพื่อน เรากับแม่ก็ยังไปนั่งรอ หรืออย่างตอนเราไปโรงเรียน พ่อก็เป็นคนมารับ

“ครอบครัวเราค่อนข้างอบอุ่น และพ่อก็ไม่ค่อยเข้มงวดหรือบังคับอะไรกับเรา เหมือนเขาเลี้ยงให้เราเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็สอนให้เรารู้จักกาลเทศะนะ คือบ้านคนอื่นเขาอาจจะให้ลูกไปเรียนกวดวิชา แต่พ่อเรากลับสนับสนุนให้เรากับจ่อยไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง ไปตั้งเต็นท์ในป่า ยิงนก ตกปลา ทำนองนี้ เหมือนพ่อไม่ได้ปลูกฝังอะไรเราหรอก แต่พอโตมาเราก็ยังเป็นคนชอบใช้ชีวิตกลางแจ้งโดยอัตโนมัติ”

บ้านโคนต้นไม้ริมคลองบางตลาด ซอยสามัคคี จังหวัดนนทบุรี / เรือเก่าคร่ำที่ปลดประจำการจากการบรรทุกวัว จอดอยู่หลังบ้าน ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นฐานปฏิบัติการ (หรือจุดนัดพบ) ของเพื่อนเด็กในซอย / เบ็ดตกปลาที่รอให้เด็กชายมาดึงขึ้นในยามเช้า / กุ้งก้ามกรามตัวแรกในชีวิตที่งมมาได้ / และมื้ออาหารปิ้งย่างสัตว์น้ำที่เขากับเพื่อนๆ ตกมาได้…

วงดำเลิงเผยฉากชีวิตในวัยเด็ก สลับกับภาพอันคุ้นชินที่เห็นเพื่อนฝูง รุ่นพี่และรุ่นน้องของพ่อ หมุนเวียนมาแฮงเอาต์ที่บ้านไม่หยุดหย่อน (บุคคลที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นนักเขียน นักการเมือง และศิลปินรุ่นใหญ่ ของประเทศในปัจจุบัน) และความทรงจำรางเลือนเกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก ที่ซึ่งพ่อเช่ารถบ้าน ขับตะลอนชมประเทศต่างๆ ในยุโรปถึง 13 ประเทศ โดยเขาต้องลาโรงเรียนไป 7 เดือนเพื่อทริปนี้… ชีวิตในวัยเด็กที่พ่อสนับสนุนให้อุทิศเวลาเรียนรู้นอกโรงเรียน มากกว่าในชั้นเรียนเสียอีก

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

“เคยมีความคิดอยากเป็นนักเขียนเหมือนพ่อบ้างไหม” ผมถาม

“ไม่เคย” เขาตอบแทบจะทันที “ตอนเด็กก็อ่านหนังสือเยอะอยู่เหมือนกัน โมบี้ ดิ๊ค, บ้านเล็กในป่าใหญ่, นิทานของพี่น้องตระกูลกริมม์ มีทั้งที่พ่อแนะนำให้อ่าน และเราหาอ่านเอง การ์ตูนก็อ่านบ้างแต่ไม่ติด แต่พอโตมาหนังสือที่ชอบที่สุดกลับเป็นนิตยสาร ชีวิตกลางแจ้ง

“อยากเป็นนายพราน” ผมแซว

ไม่นะ เราชอบแคมปิ้งเฉยๆ ชอบการเดินทาง ขับรถไปที่ๆ ไม่เคยไปซะมากกว่า ที่อยากเป็นจริงๆ คือนักดนตรี ไม่รู้เพราะอะไรเหมือนกัน แต่เด็กๆ ก็เข้าวงโยธวาทิต ได้เป่าทรัมเป็ต พ่อก็สนับสนุนเลย แกชอบฟังแจ๊สอยู่แล้วนี่ ป็นหลุยส์ อาร์มสตรองเลยลูก (หัวเราะ) ทุกวันนี้มีเพื่อนเล่นดนตรีแจ๊สชั้นนำของประเทศอยู่ อย่างโก้ Mr.Saxman ที่เรียนมากับเราเลย แล้วก็มีพี่ฟอร์ด (สบชัย ไกรยูรเสน) เป็นรุ่นพี่

“เคยคิดจะเอาดีทางนี้ไปเลยเหมือนกัน แต่พอเล่นๆ ไปก็พบว่าเราไม่ได้เก่งพอจะเป็นมืออาชีพจริงๆ พอจบ ม.6 ช่วงเวลาเดียวกับที่พ่อมองว่ากรุงเทพฯ มันไม่น่าอยู่แล้ว ก็เลยชวนครอบครัวมาปลูกบ้านที่เชียงใหม่ ซึ่งตอนนั้นเพื่อนของพ่อเป็นคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโยนกที่จังหวัดลำปาง พ่อก็เลยให้ไปลองสอบเข้าดู ซึ่งเราก็ตามเทรนด์เด็กวัยรุ่นสมัยนั้นเลย ใครๆ อยากเป็นครีเอทีฟโฆษณา เราเรียนปริญญาตรีที่นั่น พอจบมา พ่อก็แนะนำให้ไปเรียนต่อที่อเมริกา เราก็ไป”

“ดูเหมือนว่าพ่อไม่เคยบังคับอะไร ขณะที่คุณก็ไม่เคยขัดใจพ่อ”

“ใช่ ก็อย่างที่บอกแหละ เราใช้ชีวิตไปตามครรลองเลย”

“เป็นวัยรุ่นที่มีปัญหาอะไรบ้างไหม” ผมสงสัย

“ไม่ค่อยนะ ก็มีที่เขาห้ามไม่ให้ขี่มอเตอร์ไซค์ เพราะกลัวอันตราย แต่เราก็แอบขี่ ตอนนั้นพ่อกับแม่ไปอยู่ดอยโป่งแยงแล้ว เราเรียนที่ลำปาง ก็ยืมมอเตอร์ไซค์เพื่อน ขี่จากลำปางกลับบ้านที่เชียงใหม่บ่อยๆ ชอบขี่ไปใกล้รถบรรทุก ให้รถมันดูดเราไป จะได้ไม่ต้องบิดคันเร่งมาก เสี่ยงดี แต่ตื่นเต้นชะมัด แต่ก็นะ มีครั้งหนึ่งล้มหนักและสลบไป 2 วัน เอาหน้าไปไถลกับถนน หนังหน้านี่หายหมด โชคดีที่ตาไม่บอด ตอนนั้นไม่กล้ากลับบ้านเลย ไม่ยอมบอกพ่อแม่ ต้องโทรไปยืมตังค์น้ามาจ่ายค่ารักษา ล้มอยู่ 2 ครั้งในชีวิต”

“เข็ดไหม”

เขาส่ายศีรษะ “เราเป็นวัยรุ่นที่ห่ามพอสมควร ไว้ผมยาว เจาะหู อยากเป็นร็อกสตาร์ แต่ขณะเดียวกันเราก็ห่ามของเราคนเดียว ไม่ได้เกเรอะไร ว่างก็ไปเล่นดนตรี เรียนก็เรียนจนจบ”

วงดำเลิงเล่าให้ผมฟังถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในเส้นทางชีวิตของเขา 2 ครั้ง-การเปลี่ยนผ่านทางความคิดอ่าน และโลกของการทำงานที่ส่งผลต่อชีวิตเขาถึงปัจจุบัน  

ครั้งแรกคือระหว่างที่เขาเรียนปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัย และเข้าฝึกงานกับบริษัทเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่งในย่านเหม่งจ๋ายที่กรุงเทพฯ นั่นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขาอ่านเจอบทความในนิตยสารวิเคราะห์การตลาดฉบับหนึ่ง บทความรายงานถึงสถานะของประเทศไทยที่ติดอันดับ 1 ใน 3 ประเทศที่บริโภคแบล็ค เลเบิ้ล มากที่สุดในเอเชียทั้งๆ ที่เรายังเป็นประเทศกำลังพัฒนา…

“เราเข้าใจเรื่องเป้าหมายและการมีอิทธิพลของการทำโฆษณาอยู่แล้ว แต่พอเราพบว่าช่วงนั้นบ้านเมืองเรามันหนักข้อกับการบริโภค เพราะการโฆษณาชวนเชื่อมากขึ้น สังคมมันฟุ้งเฟ้อขึ้นเรื่อยๆ เด็กบางคนถึงกับต้องขายตัวเพื่อเอาเงินไปซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมเนี่ยนะ มันเป็นข้อเท็จจริงที่วงการนี้ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ ซึ่งแน่นอน เราเปลี่ยนเรื่องพวกนี้ไม่ได้ ทางที่ดีก็อย่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมมันดีกว่า พอเรียนจบมาเราก็เลยไม่คิดจะทำงานบริษัทโฆษณาอีกเลย”

กระนั้นความที่เขายังมีความต้องการจะทำงานเชิงนิเทศศาสตร์อยู่ เมื่อ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ แนะนำ (กึ่งผลักไส) ให้เขาไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา ชายหนุ่มจึงเบนเข็มไปเรียนสาขาการตัดต่อภาพยนตร์ที่ Baylor University เท็กซัส

“เราไปอเมริกาโดยไปเริ่มจากเรียนภาษาก่อน แต่ตอนนั้นประเทศไทยเจอวิกฤตต้มยำกุ้งพอดี ค่าเงินลดฮวบ ราคาข้าวของทุกอย่างแพงขึ้น 3 เท่า แน่นอนว่าที่บ้านก็ทรุดไปด้วย พ่อต้องเอาทรัพย์สินไปจำนองหาเงินมาส่งเราเรียน แต่เขาไม่ยอมบอก แต่เรารู้สถานการณ์แหละ เลยกลายมาเป็นคนขยันเรียน ตั้งใจเรียนภาษา หางานพาร์ตไทม์ทำ และก็หาที่สอบชิงทุน จนได้ทุนสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่ Baylor University นี่แหละ แล้วตั้งแต่นั้นเราก็เป็นคนขยันไปเลย”

แต่นั่นไม่ใช่จุดเปลี่ยนครั้งที่ 2 ของชีวิตอย่างเป็นทางการ เพราะถึงแม้ภายหลังเขาเข้าเรียน และสามารถตัดต่อภาพยนตร์ได้ดีติดอันดับต้นๆ ของคลาส (เขาบอกว่าที่ทำได้ดีอาจเพราะมีพื้นฐานจากการเล่นดนตรี ทำให้เข้าใจจังหวะ องค์ประกอบ และอารมณ์ของเสียงและภาพได้เร็ว) หากก็ไม่ได้มีผลอะไรกับเส้นทางชีวิต เท่ากับการที่เขาได้ฝึกงานครั้งที่สอง

“เราอีเมลไปหาเพื่อนที่อยู่แอลเอ ถามว่ามีบริษัทไหนรับนักศึกษาฝึกงานไหม เขาก็แนะนำว่ามีเพื่อนฝรั่งคนหนึ่งทำงานบริษัทวิชวลเอฟเฟกต์ อยู่แถวซานตาโมนิก้า ซึ่งเขาคิดว่านั่นคือบริษัทตัดต่อไง เราก็ยื่นใบสมัครไป ทั้งๆ ที่เราก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการทำวิชวลเอฟเฟกต์เลย

“…แต่ทางนั้นก็รับ”

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

-2-

บนหน้าจอคอมพิวเตอร์

หากคุณเปิดเข้าไปที่เว็บไซต์ IMDB (www.imdb.comเว็บไซต์ฐานข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์ทั่วโลกที่ครอบคลุมมากที่สุด) คลิกแถบค้นหาที่อยู่บนสุด พิมพ์ลงไปว่า ‘Loeng Wong-Savun’ ชื่อภาษาอังกฤษที่วงดำเลิงใช้ในการทำงาน คุณจะพบผลงานของเขาในตำแหน่ง Visual Effects ผ่านรายชื่อภาพยนตร์ที่ต่อกันกว่า 70 เรื่อง ไล่เรียงมาตั้งแต่ปี 2001…

เป็นอาทิ: Band of Brothers, Terminator 3: Rise of the Machines, The Day After Tomorrow, X-Men: The Last Stand, 300, Night at the Museum, The Curious Case of Benjamin Button, Avatar, Avengers, Wonder Woman รวมไปถึงซีรีส์อย่าง Stranger Things

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของผลงานตลอด 18 ปีของวงดำเลิง ผลงานอันเป็นผลพวงจากการยื่นใบสมัครฝึกงานของเขากับบริษัท Pixel Envy (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Hydraulx-ไฮดรอลิกซ์) บริษัทที่ในตอนนั้นอยู่เบื้องหลังการทำภาพยนตร์เรื่อง Titanic ของเจมส์ คาเมรอน และมิวสิกวิดีโอเท่ๆ อีกนับไม่ถ้วน ในยุคที่โลกบันเทิงถูกครอบงำด้วย MTV และค่ายเพลงต่างระดมศักยภาพผลิตมิวสิกวิดีโอออกมาให้เป็นที่จดจำ

แทบจะเริ่มจากศูนย์ หากทีมงานที่ตอนนั้นยังเป็นทีมเล็กๆ ก็เปิดโอกาสให้วงดำเลิงได้เรียนรู้ไปทีละกระบวนการ กระทั่งเมื่อฝึกงานเสร็จสิ้น กลับไปเรียนเทอมสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยและทำเรื่องจบการศึกษา วงดำเลิงก็ไม่รีรอที่จะอีเมลกลับมาถามหาตำแหน่งว่างจากเจ้าของบริษัท และเป็นเช่นที่เขามักย้ำกับผม-เรียบง่ายไปตามครรลอง-ในที่สุด บัณฑิตจบใหม่สาขาการตัดต่อภาพยนตร์จากเท็กซัสก็เริ่มต้นอาชีพครั้งแรกในชีวิตในฐานะวิชวลเอฟเฟกต์อาร์ติสท์ ให้กับบริษัทที่ในอนาคตอันใกล้ จะกลายเป็นหนึ่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนี้อันดับต้นๆ ของโลก

“ต้องอธิบายก่อนว่างานวิชวลเอฟเฟกต์มันมีหลายแผนก อย่าง CG หรือ Computer Generate คือการทำภาพขึ้นมาจากคอมพิวเตอร์ หรือคนที่ดูแลเรื่องสีโดยเฉพาะที่เรียกว่า Colorist ส่วนหน้าที่เราคือการ Insert ทุกอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งนักแสดง CG และฉากข้างหลัง ซึ่งทุกอย่างประกอบร่างกันในสตูดิโอที่มีฉากหลังเป็นกรีนสกรีน (Green Screen) แต่เราต้องทำให้ภาพที่ออกมาเหมือนอยู่ในสถานที่จริง รวมไปถึงการขยายฉาก (Set Extension) ยกตัวอย่าง ฉากกองทหารในสงคราม ภาพจริงเราอาจมีนักแสดงอยู่ในฉากไม่กี่สิบคน แต่หน้าที่ของเราคือการทำให้ผู้ชมเห็นกองทัพที่มีเป็นหมื่นๆ คน เป็นต้น”

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

เขาเล่าต่อว่า ด้วยข้อจำกัดของสถานที่ถ่ายทำ หรือองค์ประกอบที่เหนือจริงของภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง 80 – 90% ของภาพยนตร์ฮอลลีวูดในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องใช้วิชวลเอฟเฟกต์ในการผลิต ทั้งนี้การทำฉากที่ปรากฏขึ้นเพียง 1 นาที ทีมงานอาจต้องนั่งหลังแข็งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นสัปดาห์หรือเกือบเดือนเลยก็มี เช่นนั้นแล้วในภาพยนตร์หนึ่งเรื่องอาจจำเป็นต้องใช้บริษัทอื่นๆ ที่ทำงานแบบเดียวกับเขา ลงแขกร่วมกัน 4 – 5 บริษัท

“ในกองถ่ายทำภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง จะมีตำแหน่งที่เรียกว่าวิชวลเอฟเฟกต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ (Visual Effect Supervisor) ซึ่งควบคุมความต่อเนื่องและกลมกลืนของงาน พอได้ซีนที่ต้องถ่ายทำมาแล้ว เขาก็จะแบ่งงานให้บริษัทต่างๆ เอาแต่ละซีนไปทำ บริษัทเราก็ไปประมูลงานมา การจะไปประมูลได้ ผมก็ต้องทำเทสต์ช็อต (Test Shot) ให้พิจารณาก่อน ว่าเราจะทำประมาณนี้นะ ไปคัดสรรภาพสต๊อกมา อย่างฉากตัวละครเดินอยู่บนถนนกลางแมนฮัตตัน เราก็ Insert ท้องฟ้าไปหลายๆ แบบให้ดู ถ้าจะ Insert เครื่องบินให้บินผ่านมา ผมก็ต้องทำให้แสงที่กระทบบนเครื่องบินกับแสงของท้องฟ้าเป็นแสงแบบเดียวกัน หรืออย่างฉากรถยนต์ตกน้ำ ก็ต้องลงรายละเอียดถึงองศาหรือจังหวะที่น้ำกระเพื่อม

“งานพวกนี้ยังรวมไปถึงการรีทัชใบหน้าให้ดูหนุ่มขึ้นหรือดูมีอายุกว่าตัวจริง หรือที่เรียกว่าบิวตี้เวิร์ก (Beauty Work) ด้วย อย่างเรื่องแรกที่ได้ทำเทสต์ช็อต คือ X Men ภาคสาม เราทำซีเควนซ์แรกที่เป็นฉากแฟลชแบ็กกลับไปในอดีตของตัวละครหลักอย่าง Professor X (แสดงโดย แพทริก สจ๊วต) และ Magneto (แสดงโดย เซอร์ เอียน แม็คเคลเลน) ให้พวกเขาดูหนุ่มขึ้น 20 ปี

“ถ้าลูกค้าตกลง ก็เริ่มทำจริง ซึ่งถ้าไม่ใช่วิชวลเอฟเฟกต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ ก็จะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เองที่จะลงมาดูงานกับผม ตอนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ก็ได้ทำงานแค่สเกลเล็กๆ ก่อน เช่น เก็บรายละเอียดในแต่ละฉาก อย่างบางฉากมีเงาของตากล้องโผล่เข้ามา เราก็ต้องไปลบ จากงานเล็กๆ ก็เริ่มไปถึงรายละเอียดใหญ่ๆ จำได้ว่าหนังเรื่องแรกที่ทำคือ Rock Star (ออกฉายเมื่อปี 2001) แล้วก็มีหนังและซีรีส์ The X-Files มิวสิกวิดีโอตัวแรกน่าจะเป็นเพลง Side ของวง Travis จากนั้นก็ทำให้บริทนีย์ สเปียร์ อีก 5 – 6 ตัว แต่จุดเปลี่ยนทางหน้าที่การงานที่สำคัญอีกจุดคือช่วงปี 2003 – 2004 ที่ได้ทำ Terminator ภาค 3”

โจทย์ของ Terminator 3 คือการทำยังไงก็ได้ให้อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ ที่ตอนนั้นมีอายุมากแล้ว ให้กลับมาดูคล้ายนักเพาะกายหนุ่มแน่นดังที่เขาเคยแสดงในภาคที่ 1 และภาคที่ 2 เฉกเช่นการใช้โปรแกรม Photoshop รีทัชภาพนิ่ง คืนความอ่อนวัยให้กับแบบ หากงานของเขาคือการรีทัชภาพนิ่ง 24 ภาพต่อฉากเหตุการณ์ 1 วินาที ทำอย่างไรให้ความอ่อนเยาว์เรียบเนียนได้ติดตามเรือนร่างไป ทุกฉากที่อาร์โนลด์เคลื่อนไหว

“ก่อนหน้านี้จะได้ทำบิวตี้เวิร์กเฉพาะส่วน คืออย่างมากก็แค่ใบหน้า แต่ Terminator 3 นี่คือรีทัชทั้งรูปร่างเลย สร้างกล้ามเนื้อ สร้างซิกซ์แพ็ก ทำผิวหนังให้เรียบตึงเหมือนคนหนุ่ม ความยากของงานพวกนี้คือทำให้มันสมจริง สมจริงในแบบที่มนุษย์คนหนึ่งในช่วงอายุช่วงหนึ่งจะเป็น คือไม่ใช่เรียบเนียนเสียจนเป็นนางแบบโฆษณาครีมหน้าขาว จุดนี้เลยใช้วิจารณญาณตัวเองและความละเอียดพิถีพิถันเป็นหลัก งานชิ้นนี้สร้างชื่อให้กับผมพอสมควร ลูกค้าแฮปปี้ และบริษัทไฮดรอลิกซ์เลยตัดสินใจเปิดบริษัทลูกอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งรับทำงานรีทัชแบบนี้โดยเฉพาะ”

จากนั้นการใช้วิชวลเอฟเฟกต์รีทัชรูปร่างหน้าตาของนักแสดงในภาพยนตร์ ก็กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของฮอลลีวูด

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

-3-

ประหนึ่งศัลยแพทย์ดิจิทัล

นึกถึงร่างผอมแห้งติดกระดูกของ คริส อีแวนส์ ในภาคแรกของภาพยนตร์เรื่อง Captain America, ชาร์ลิซ เทอรอน ในบทบาทแม่มดที่มีไฟลุกท่วมร่างใน Snow White and the Huntsman หรือ แบรด พิทท์ ที่เกิดมาแล้วกลายเป็นทารกที่มีหน้าเหี่ยวเหมือนคนแก่ใน The Curious Case of Benjamin Button รวมไปถึง เคท แบลนเชตต์ ในภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน ที่เธอไม่มีทักษะในการเต้นบัลเลต์ สิ่งที่วงดำเลิงทำก็คือ การรีทัชใบหน้าของเคทให้ไปอยู่บนใบหน้าของนักบัลเลต์จริงๆ

Lola VFX Ltd. คือบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากความสำเร็จของวงดำเลิงจากการคืนความฟิตแอนด์เฟิร์มให้ลุงอาร์โนลด์ โดยเป็นบริษัทที่เฉพาะเจาะจงในด้านบิวตี้เวิร์ก การเกิดขึ้นของโลล่าจึงเป็นคล้ายหมุดหมายสำคัญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จากเดิมที่ช่างแต่งหน้าและคนทำอุปกรณ์ประกอบฉากรับหน้าที่หลักในการกำหนดอายุหรือรูปร่างของนักแสดงให้เป็นไปตามความต้องการของผู้กำกับ หาก Lola VFX Ltd. ซึ่งนำโดยวงดำเลิงในฐานะ Flame Artist (Flame คือชื่อซอฟต์แวร์หลักในกระบวนการผลิต) ก็ใช้เทคโนโลยีและความพิถีพิถันทางหัตถศิลป์ เนรมิตภาพมายาออกมาอย่างสมบูรณ์แบบราวกับเวทมนตร์

“เราเคยนั่งทำงานกับชากีรา ตอนนั้นเธอโด่งดังมาระยะหนึ่งแล้ว และกำลังจะออกอัลบั้มที่ร้องเป็นภาษาอังกฤษอัลบั้มแรก เรารับหน้าที่ทำบิวตี้เวิร์กให้มิวสิกวิดีโอเพลง Whenever Wherever ซึ่งเป็นเอ็มวีเปิดตัว งานนั้นถือว่าหนักเอาการอยู่ เพราะเอาเข้าจริงทั้งรูปร่างของเธอก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบอะไร ทั้งหน้าอก ทรวดทรง ผมก็ค่อยๆ รีทัชไปให้ดูเฟิร์ม ให้ดูเซ็กซี่ ซึ่งก็จบงานได้อย่างที่เอ็มวีปล่อยออกไป เจ้าตัวดีใจมาก ถึงกับเข้ามากอดผมเลย

ในขณะที่ผมภูมิใจหลังจากเห็นงานสำเร็จออกมาได้อย่างที่คาด อีกเรื่องที่ผมตระหนักได้ก็คือ ความคิดว่าวงการมายานี่มันมายาสมชื่อเลยนะ กระทั่งภาพเคลื่อนไหวเราก็ยังทำปลอมหรือทำเนียนกันได้ เช่นนั้นแล้ว อย่าไปคิดว่าแค่เห็นนักแสดงคนไหนเคลื่อนไหวในภาพยนตร์ ก็ใช่ว่าทุกคนจะเพอร์เฟกต์จริงๆ ถ้าคุณอยากรู้ความจริง ให้ไปตามดูรูปนักแสดงคนนั้นได้ที่หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ อันนั้นไม่มีรีทัชแน่นอน (หัวเราะ)”

Lola VFX Ltd. เริ่มต้นจากห้องที่มีโต๊ะยาว 1 ตัว หุ้นส่วนบริษัท 2 คน โดยนั่งคนละมุมโต๊ะ และวงดำเลิงในบทบาทของผู้สร้างสรรค์อีก 1 คน นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตรงกลาง ซึ่งหลังจากเปิดไม่นาน บริษัทก็ได้รับความนิยมจากสตูดิโอผลิตภาพยนตร์หลากหลายแห่ง ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์ผลงาน เขาก็เริ่มฝึกฝนคนรุ่นใหม่ให้มาทำงานในด้านนี้มากขึ้น จากห้องทำงานเล็กๆ บริษัทก็แยกตัวออกมาเป็นอิสระจากไฮดรอลิกซ์ ก่อนจะขยายสาขาไปยังนิวออร์ลีนส์และลอนดอนตามลำดับ

กระนั้นวงดำเลิงก็อยู่กับบริษัทโลล่าไม่นาน หลังจากวางโครงสร้างและฝึกฝนคนรุ่นใหม่มารับไม้ต่อ เขาก็กลับไปทำงานวิชวลเอฟเฟกต์ที่ไฮดรอลิกซ์เช่นเดิม ด้วยความต้องการจะทำงานที่มีเนื้องานหลากหลายกว่า ก่อนจะออกมาเป็นฟรีแลนซ์รับงานสารพัด กระทั่งอดีตเพื่อนร่วมงานของเขาคนหนึ่งจากไฮดรอลิกซ์ ชวนไปเป็นหุ้นส่วนเปิดบริษัทที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ชื่อว่า Vitality VFX รับงานบิวตี้เวิร์กโดยเฉพาะ

ที่ออฟฟิศในแวนคูเวอร์ วงดำเลิงอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่อย่าง Wonder Woman, The Dark Tower รวมถึงซีรีส์อย่าง Stranger Things เป็นอาทิ และแม้จะยอมรับว่าแคนาดาตอบโจทย์ชีวิตเขาแทบทุกอย่าง สภาพแวดล้อม อากาศ และผู้คน รวมทั้งการใกล้ชิดวิถีชีวิตกลางแจ้งมากกว่าตอนที่เขาอยู่ในแอลเอ กระนั้นเมืองเมืองนี้ก็ดึงดูดให้เขาปักหลักอยู่ได้เพียง 3 ปี ก่อนที่เขาจะตอบรับคำชวนจากเจ้าของบริษัทโลล่า เพื่อนร่วมงานเก่าของเขาให้กลับสำนัก (ที่หลังจากห่างหายกันไปเกือบ 10 ปี บริษัทที่เขาร่วมก่อตั้งแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นเบอร์หนึ่งของแวดวงที่ทำอยู่)

ต้นปี 2018 วงดำเลิงจึงตัดสินใจย้ายสำมะโนครัวอีกครั้ง โดยเลือกสำนักงานสาขาลอนดอน (เขาให้เหตุผลว่าอยากเปลี่ยนมาอยู่ลอนดอนบ้าง และอังกฤษก็อยู่ใกล้บ้านของเขาเข้ามาหน่อย) โดยเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่หลังสถานีรถไฟใต้ดิน Oxford Circus กลายมาเป็นลอนดอนเนอร์ใหม่หมาด หากก็ยังคงทำงานวิชวลเอฟเฟกต์ให้ฮอลลีวูดเช่นเคย

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

-4-

ไฟดับลง บนหน้าจอมืดดำ เสียงดนตรีบรรเลง  

ปรากฏตัวหนังสือสีขาวเรียงแถวขึ้นมาในแนวดิ่ง ต่อกันเป็นพรืด

จะมีสักกี่คนกัน ที่เมื่อหนังจบแล้วจะนั่งดู End Credit หรือชื่อของผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์นั้นๆ หลายร้อยชื่อ แทบทั้งหมดจนบรรทัดสุดท้าย

ครับ วงดำเลิงคือหนึ่งในนั้น แต่ไม่ใช่เพราะว่าใน End Credit มีชื่อของเขาในฐานะผู้ร่วมสร้างอยู่ด้วย แต่สำหรับเขา นี่คือการได้สำรวจรายชื่อของเพื่อนร่วมงาน และบริษัทอื่นๆ ที่ร่วมทำภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน และทำให้เขาตระหนักว่าการได้มาซึ่งภาพยนตร์ 1 เรื่องต้องใช้เงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรแรงงานและความคิด มหาศาลขนาดไหน

“ในหนังเรื่องเดียวกัน มีหลายฉากที่เราเห็นแล้วได้แต่บอกว่าทำดีมากจนรู้สึกเสียดายที่เราไม่ได้ทำฉากนี้ อย่างซีรีส์ Stranger Things ที่เรามีส่วนด้วยมีฉากแฟนตาซีสวยๆ เพียบเลยนะ แต่เรากลับไม่ได้ทำตรงนั้น ถึงอย่างนั้นในหนังทุกเรื่องที่ทำ เราก็ยังภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งให้ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งสมบูรณ์ได้ตามหน้าที่ของมัน”

วงดำเลิงยังเสริมอีกว่าบทบาทของเขาไม่ต่างจาก ‘มดงาน’ ตัวหนึ่ง มดงานที่ทำงานร่วมกับมดงานตัวอื่นๆ เคลื่อนกำลังเป็นมวลใหญ่…

“เหมือนวงออร์เคสตราน่ะ แต่ละหน้าที่สำคัญเหมือนกันหมด กระทั่งคนตีไทรแองเกิลยังสำคัญเลย งานเบื้องหลังมันคือการทำงานให้สัมพันธ์กันหมดเหมือนเล่นดนตรี” เขายกตัวอย่าง

“เคยคิดว่าอยากผันตัวเป็นผู้กำกับภาพยนตร์บ้างไหม”

“ไม่นะ” เขานิ่งคิด “ตอนเข้ามหาวิทยาลัยใหม่เคยคิดอยู่บ้าง ตอนนั้นที่ตัดสินใจเรียนต่อด้านการตัดต่อภาพยนตร์ เพราะมีอาจารย์แนะแนวบอกว่าคนที่ตัดต่อภาพยนตร์เก่ง ก็มีโอกาสขยับเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ได้ เพราะเข้าใจในการลำดับเรื่อง แต่พอเรียนๆ ไปก็พบว่าเราไม่ได้อยากเป็นผู้กำกับ”

“ทำไมล่ะ”

“เราคิดว่ามันไม่จำเป็น คือมันไม่จำเป็นสำหรับเรา ทำงานที่ทำอยู่ตอนนี้ก็สนุกกับมันดีแล้ว อาจเพราะเราเล่นดนตรีมาก่อนด้วย ก็วกกลับมาเรื่องเดิม ทุกตำแหน่งของวงดนตรีมันสำคัญและสัมพันธ์กันหมด ถ้าทุกคนอยากเป็น Conductor วงออร์เคสตรามันจะเล่นกันได้ยังไง ก็เหมือนกัน ไม่ใช่คนเรียนภาพยนตร์ทุกคนต้องจบออกมาเป็นผู้กำกับหนังเสียหน่อย

“พ่อเราเคยพูดให้ฟังตั้งแต่เด็กแล้วว่า ถ้าคนทั้งประเทศไทยแห่กันไปขายก๋วยเตี๋ยวหมดเนี่ย จบสิ้นเลยนะครับ ความหลากหลายมันก็ไม่มีสิ”

“ไม่คิดอยากมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเองบ้างหรอ”

“ไม่เลย ไม่ได้คิด จริงอยู่ เรารู้ว่าโลกทางธุรกิจทุกวันนี้คอนเทนต์มันสำคัญ ถ้าเราทำคอนเทนต์ของเราเข้าเป้า เราก็จะประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมาเราเห็นคนรุ่นใหม่ที่เรียนฟิล์มเพื่ออยากเป็นผู้กำกับ อยากมีหนังเป็นของตัวเอง เราก็เห็นมาเยอะแล้วมีผู้กำกับหลายคนทำหนังออกมาไม่เห็นจะดีเลย ทำหนังห่วยๆ ออกมา นี่สิ้นเปลืองทรัพยากรทั้งคนสร้างและคนเสพเยอะนะครับ

“ไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดมาเป็น Creator และการที่คุณไม่ได้เป็น Creator ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่มีความหมาย ทุกตำแหน่งมีบทบาทสำคัญเหมือนกันหมด ทั้งผู้สนับสนุน คนดูแลจัดการ หรือช่างเทคนิค”

“ผลงานของคุณถือว่าอยู่แนวหน้าของโลกแล้ว เคยคิดจะกลับมาเปิดบริษัทที่เมืองไทยบ้างไหม”

“เราอยากกลับมาอยู่กับแม่ที่เชียงใหม่ แต่สายงานเรามันต้องอยู่ออฟฟิศที่กรุงเทพฯ น่ะ ไม่ได้อยากอยู่กรุงเทพฯ เราอยากอยู่บนดอย งั้นอยู่เมืองนอกไปน่ะดีแล้ว ได้ทำงานสนุกๆ ด้วย จบหนัง 1 เรื่อง ก็กลับมาอยู่บ้านดีกว่า… แต่ถ้าให้พูดตรงๆ การเปิดบริษัทที่เมืองไทยโดยใช้เทคโนโลยีของฮอลลีวูดเนี่ยเป็นไปได้ยาก ค่าจ้างมันไม่สัมพันธ์กัน เพราะต้นทุนในการผลิตมันสูงมาก ไม่มีนักลงทุนคนไหนยอมจ่ายกับสิ่งนี้หรอก เพราะค่าตอบแทนจากภาพยนตร์ก็ไม่เท่ากันอยู่แล้ว”

“คิดว่าเพราะเรื่องเงินทุนหรือเปล่า ที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยไม่ไปไหนเสียที”

“เป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุด คือตามอ่านข่าวก็จะเห็นอยู่เนืองๆ ว่ามีคนไทยที่ทำแอนิเมชันให้กับ Avengers บ้าง หรือทำให้สตูดิโอของดิสนีย์บ้าง ที่ผ่านมาจะเห็นคนเก่งๆ ในสายภาพยนตร์ที่เป็นคนไทยอยู่เยอะมาก แต่ส่วนใหญ่ก็กลับไม่ได้ทำงานอยู่ในเมืองไทยต้องไปอยู่ต่างประเทศ ไปเป็นผู้เล่นในเวทีสากลเหมือนเรา หรือมองกลับกัน สตูดิโอหลายแห่งในบ้านเราที่ลงทุนกับเทคโนโลยีแพงๆ ในทุกวันนี้ ที่อยู่ได้ส่วนมากก็เพราะไปรับงานโฆษณาหรือภาพยนตร์ต่างประเทศ เพื่อนเราคนหนึ่งทำบริษัทวิชวลเอฟเฟกต์ชื่อ One Cool Production ซึ่งแทบจะเป็นเบอร์หนึ่งในบ้านเราแล้ว แต่ลูกค้าของเขาเป็นต่างประเทศเสียเยอะ ทั้งจีนเอย ฮ่องกงเอย ผู้กำกับอย่างหว่อง กาไว เวลาทำโพสต์โปรดักชันก็มาทำกับบริษัทนี้ ซึ่งทีมในบริษัทเป็นคนไทยหมดเลยนะ

“แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือสื่อบันเทิงไทยเราไม่หลากหลาย และให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่ใช่แก่นมากเกินไป สื่อบันเทิงนี่มีบทบาทที่แท้จริงในการกำหนดรสนิยมผู้บริโภคนะครับ แล้วก็อย่างที่เห็น บ้านเรามีซูเปอร์สตาร์หรือเซเลบริตี้มากมายที่หากไล่เรียงดูแล้ว เรากลับไม่พบว่าพวกเขาและเธอเหล่านั้นจะมีผลงานอะไรที่เป็นที่จดจำได้ เหมือนเราเอ่ยชื่อดาราดังๆ สักคนหนึ่งเนี่ย คำถามต่อมาคือเขาและเธอเหล่านั้นมีชื่อเสียงจากผลงานอะไร… ระบุได้ยากนะ แต่ถามว่าคนนี้เคยคบหากับใครมาบ้างนี่ คนดูกลับจำได้เฉยเลย ซึ่งมันไม่ใช่ไง ขณะเดียวกัน เราก็มีคนทำภาพยนตร์หรือศิลปินที่มีฝีมือระดับโลกตั้งมากมายกลับไม่ถูกพูดถึง สื่อไม่ได้ให้ความสำคัญ”

ส่วนตัวเคยน้อยใจบ้างไหม-ผมสงสัย

“ไม่เลย นี่ไม่ได้พูดถึงตัวเรา เราทำงานเบื้องหลัง ไม่มีความจำเป็นต้องให้ใครมาสนใจอยู่แล้ว ทุกวันนี้เราภูมิใจกับการทำหนังให้จบแล้วออกมาดีเป็นเรื่องๆ ไปเท่านั้นจริงๆ”   

“แล้วในฐานะผู้ชมบ้างล่ะ การที่คุณทำงานวิชวลเอฟเฟกต์ มีผลต่อความบันเทิงในการดูหนังบ้างไหม”

“มีแน่นอน ก็พูดกันขำๆ กับเพื่อนที่ทำงานด้วยกันว่าเดี๋ยวนี้ดูหนังไม่สนุกเลยว่ะ ยิ่งหนังทุกวันนี้เราใช้วิชวลเอฟเฟกต์เกือบหมด พอเราดูก็คอยจับผิดกันอย่างเป็นอัตโนมัติ บางทีดูก็คิดไปถึงเทคนิคที่เบื้องหลังที่เขาทำกัน หมดอารมณ์บันเทิงไปเยอะ (หัวเราะ) แต่เราก็ยัง Appreciate กับความเป็นเรื่องเล่าอยู่นะ”

“ความที่คุณคลุกคลีอยู่แต่กับภาพยนตร์ฮอลลีวูด ทั้งในฐานะคนสร้างและคนดู เคยรู้สึกเบื่อกับความเป็นสูตรสำเร็จของภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ๆ ในทุกวันนี้บ้างไหม”

เขานิ่งคิดก่อนตอบ “แล้วทุกวันนี้มีภาพยนตร์ที่เรียกว่าหนังอาร์ต หนังอินดี้ หรือหนังรางวัลสักกี่เรื่องกันที่คุณดูแล้ว Appreciate มัน”

“ก็ไม่เยอะ”

“ใช่ เราคิดว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน ฮอลลีวูดมักถูกวิจารณ์ว่าทำแต่หนังที่มีสูตรสำเร็จเดิมๆ ทำเอาใจตลาดใหญ่ ไม่มีจิตวิญญาณทางศิลปะอะไรอย่างนี้ แต่นั่นล่ะ เรามองว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จจริงๆ หรอก มีหนังฟอร์มใหญ่ตั้งหลายเรื่องที่ทำออกมาแล้วคนดูไม่ชอบ ไม่ประทับใจ และล้มเหลวทางด้านรายได้ เรามองว่าความท้าทายของคนทำหนังฮอลลีวูด คือทำยังไงให้ผู้ชมทั่วโลกดูหนังเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้วซาบซึ้งกับมันได้ สนุกไปกับมันได้ ร้องไห้ไปกับมันได้ นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ก็อย่างที่บอกแหละว่าคุณดูหนังอาร์ต หนังที่มันพยายามจะปฏิเสธขนบหรือสูตรสำเร็จ แล้วจะมีสักกี่เรื่องกันที่ประสบความสำเร็จและทำให้คุณประทับใจ หรือผู้กำกับฯ ทำออกมาเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง (วะ)”

“แล้วนอกจากการทำงานออกมาให้สมบูรณ์ มีเรื่องอะไรที่ทำให้คุณประทับใจอีก”

“การได้ร่วมงานกับคนเก่งๆ อย่างที่เราทำ Curious Case of Benjamin Button ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังที่เราชอบมากที่สุดในแง่ของศิลปะภาพยนตร์ ก็ได้ทำงานกับเดวิด ฟินเชอร์ ซึ่งเขาทำออกมาดีมากๆ จากนั้นก็มีโอกาสได้ทำงานในหนังของเขาอยู่

“หรือกระทั่งการได้เห็นมืออาชีพที่ทุ่มเทกับการทำงานจริงๆ อย่างล่าสุดที่ทำบิวตี้เวิร์กให้ทอม ครูซ ใน Mission Impossible: Fallout ก็เห็นว่าทอมเล่นฉากแอ็กชั่นเองทั้งหมดโดยไม่ใช่สแตนด์อินเลย ซึ่งเอาเข้าจริง คุณไม่จำเป็นต้องมากระโดดตึกหรือเสี่ยงตายกระโดดลงมาจากเครื่องบินก็ได้ สตันท์แมนกับวิชวลเอฟเฟกต์ทำแทนคุณได้หมด นักแสดงบู๊ๆ หลายคนก็ทำแบบนั้น แต่ทอมก็ยืนยันจะเล่นเอง นี่คือสปิริตของเขา การที่ใครสักคนทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อให้งานออกมาดี ไม่ว่างานนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ นี่น่านับถือมากเลยนะ” 

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

      -5-

กลับมาที่สวนทูนอิน

แมวสีเทาที่ชื่อจูเนียร์ นอนหลับลงบนกระเป๋าที่ผมกองไว้บนเก้าอี้ ของว่างหมดจาน และป้าติ๋มกำลังเข้าครัวทำมื้อกลางวันสำหรับคณะเรา

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

วงดำเลิงชวนเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการนำเดินสำรวจสวนรอบบ้านของเขา-บึงปลาคาร์ฟริมระเบียงบ้าน ธารน้ำตกที่น้ำรินไหลชุ่มเย็นตลอดปี ต้นไม้หลายร้อยต้นที่พ่อและแม่ของเขาเป็นคนปลูกไว้เมื่อเกือบสามสิบปีก่อน ทิวทัศน์ของเรือกสวนของชาวบ้านข้างเคียง โต๊ะเขียนหนังสือของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ รูปปั้นและพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่พ่อของเขาทำขึ้นเพื่ออุทิศแด่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ชั้นวางแผ่นเสียงที่เขาสะสมไว้ ฯลฯ

แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ราวกับเป็นยูโทเปียของคนทำงานสร้างสรรค์ แต่ทุกครั้งที่กลับบ้าน วงดำเลิงบอกผมว่า เขาแทบไม่แตะคอมพิวเตอร์ หรือกระทั่งคิดถึงเรื่องงานใดๆ-เขาไม่มีโต๊ะทำงานที่บ้าน

“การกลับบ้านของเรา คือการใช้เวลากับแม่ พาแม่ไปจ่ายตลาด พาเขาไปกินข้าว หรือถ้าอยู่บนนี้ก็ดูต้นไม้ ทำสวน ชีวิตมีแค่นี้จริงๆ แต่ก็เป็นชีวิตที่เราปรารถนา”

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

หลังจากที่ผมถามเขาว่าเคยได้วางเป้าหมายในชีวิตไว้บ้างไหม เขาตอบตามที่คิด-ไม่มี แค่ยังสนุกกับการทำงาน ไปเที่ยวบ้าง และหาเวลากลับบ้านมาอยู่กับแม่ แล้วจึงเสริมต่ออีกว่า ก่อนจะเริ่มงานใหม่ที่อังกฤษ เขาใช้ช่วงเวลาว่าง 3 เดือนกลับมาที่เชียงใหม่ ตลอด 3 เดือนนั้น ชีวิตส่วนใหญ่คือการวนเวียนอยู่รอบบ้านบนดอยหลังนี้ แทบไม่ได้ลงไปทำอะไรในตัวเมืองเลย

โดยเฉพาะอย่างหลัง หากใครใกล้ชิดกับครอบครัวนี้จะรู้ แม้จะสิ้น ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ไปหลายปี ทุกครั้งที่กลับเชียงใหม่ ครอบครัวที่เหลือกัน 3 คนของวงดำเลิงยังคงไปไหนมาไหนพร้อมเพรียงกันตลอด รวมไปถึงการท่องเที่ยวในต่างแดน

“เราติดแม่ คงเพราะอยู่กันมาตั้งแต่เด็ก พอเรียนจบก็ย้ายไปเรียนที่อเมริกาและทำงานยาว จำได้ว่า 4 ปีแรกที่อยู่ที่นั่น เราไม่ได้กลับบ้านเลย ตอนนั้นเศรษฐกิจไม่ดีและเราไม่มีเงินด้วย ยังจำความรู้สึกได้จนทุกวันนี้ ความคิดถึงบ้านนี่มันทรมานมากเลยนะ พอทำงานหาเงินได้แล้ว มีโอกาส แม้เป็นช่วงสั้นๆ ก็กลับมาแทบทุกครั้ง

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

“เราคิดว่าพ่อเราเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ครอบครัวเรามีความใกล้ชิดกันอย่างนี้ เขาไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยบอกหรอกว่าเราต้องอะไร เขาแค่ทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่าง การที่เราเป็นคนมีวินัยและทุ่มเทกับการทำงาน ก็น่าจะมาจากการที่เราเห็นเขาทำงานหนักและทำอย่างเป็นระบบ พอเราเริ่มงานของเราจริงๆ เลยไม่ค่อยท้อแท้กับอะไร

“จำได้ว่าตอนเราเริ่มงานวันแรกหลังเรียนจบมา ก็เจองานหนักที่ต้องทำงานแบบไม่ได้นอนเลยนะ เรียกว่าเข้างานเช้าวันจันทร์ ออกจากงานอีกทีคือบ่ายวันอังคารเลย บางอาทิตย์นี่ทำงานเป็น 100 ชั่วโมงก็มี แต่เราไม่บ่น พอสนุกกับงานแล้ว ไฟก็ไม่เคยมอด ส่วนสำคัญของชีวิตส่วนหนึ่งของเรามันประกอบขึ้นจากการทำงานนี่แหละ เราได้รับการยอมรับจากฝรั่ง จากเพื่อนร่วมงานที่มาจากทั่วโลก ก็เพราะผลงานที่เราทำไว้ เราไม่ใช่คนเก่งอะไร แต่เราเป็นคนขยันและไม่หยุดที่จะเรียนรู้ คิดว่าลึกๆ ที่เรามีตรงนี้มาจากเขา”

“ตอนเริ่มงานใหม่ๆ เคยรู้สึกเกร็ง หรือหวาดกลัวความสำเร็จที่พ่อคุณเคยทำไว้ไหม” ผมถาม

“ไม่เลย พ่อไม่เคยบอกว่าเราต้องเป็นอะไร หรือมีมาตรวัดอะไรให้เรา เขาปล่อยให้ใช้ชีวิตของเราไป เรารู้ว่าพ่อประสบความสำเร็จมาก แต่ก็เป็นพ่อเองที่สอนให้เรารู้ว่าคนเราไม่เหมือนกัน และความสำเร็จหรือความพึงพอใจมันก็ไม่ได้มีรูปแบบตายตัวเพียงแบบเดียว เรามีทางของเรา น้องชายเราก็มีทางของเขา ซึ่งทุกวันนี้เขาก็ Unique และ Make a good living ในสิ่งที่เขาทำมากๆ ก็กลับมาตอบคำถามเดิมว่าเราเลยไม่มีเป้าหมายอะไรในชีวิตที่เป็นรูปธรรมเท่าไหร่ ทำหนังเสร็จเรื่องหนึ่ง งานออกมาดีก็ภูมิใจแล้ว ที่เหลือก็ตักตวงความสุขเป็นวันๆ ไป”

“คุณบอกว่าการใช้ชีวิตกลางแจ้งเป็นความสุขของคุณตั้งแต่เด็ก แล้วการย้ายมาทำงานในเมืองใหญ่อย่างลอนดอน กระทบกับชีวิตในส่วนนี้ไหม”

“ไม่นะ เราก็ชอบความเป็นเมืองเก่า ดูอะไรที่มันเก่าๆ ด้วย ลอนดอนนี่ใช่เลย บ้านเก่าสวยๆ อาคารประวัติศาสตร์เอย พิพิธภัณฑ์ดีๆ ระดับโลก การอยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ก็เป็นความสุขของเรา อีกอย่าง ถ้าเช่ารถขับออกจากลอนดอนหน่อยเดียวก็เจอป่า เจอแหล่งธรรมชาติแล้ว ที่อังกฤษมันมีพื้นที่ที่เขาเรียกว่า Jurassic Coast ซึ่งทุกฤดูฝน ฝนมันจะชะหน้าดินที่ชายฝั่ง เผยให้เห็นซากฟอสซิล ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีคนพบกันอยู่เลย มีเวลาก็ว่าจะเช่ารถขับไปหาฟอสซิลอยู่เหมือนกัน

“เอาเข้าจริงไปอยู่ที่เมืองไหน เราก็หาความสุขจากสิ่งนี้ได้หมด อย่างอยู่ที่แอลเอ ออกมาหน่อยก็มี Hiking Trail ให้เราเดินแล้ว หรือมีเวลาก็ขับรถไปตะลอนชิมไวน์ที่สวนองุ่นในเมืองต่างๆ หรือแวนคูเวอร์นี่ไม่ต้องพูดเลย แหล่งธรรมชาติเขางดงามสุดๆ”

“แต่ก็ยังอยากกลับมาอยู่บ้านที่สุด”

“สวนทูนอินคือ Sanctuary ของเรา คือที่พักใจ คือบ้านที่มีแม่ที่มีน้อง และคนที่เรารัก เพราะทุกที่ๆ เราเคยไปอยู่มันไม่ใช่บ้าน มันคือ Office not home เคยคิดอยากเป็นฟรีแลนซ์เอางานมาทำที่นี่เหมือนกัน แต่งานเรามันค่อนข้าง Confidential คือถ้ามันหลุดออกมา มันมีผลกระทบต่อสตูดิโอ ต่อคนลงทุนสร้างหนัง มันจำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศ เลยทำที่อังกฤษนี่แหละดีแล้ว ไม่ไกลจากบ้านเกินไป”

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

“เคยคิดถึงการเกษียณหรือยัง”

“ยังไม่ได้แก่ขนาดนั้น คิดเล่นๆ ว่าคงกลับมาอยู่บ้าน แต่จะทำอะไรค่อยว่ากัน ตอนนี้เรายังสนุกกับการทำหนังอยู่ ไหนจะต้องเทรนคนรุ่นใหม่ๆ มาช่วยกันทำงานต่ออีก เราเพิ่งเริ่มชีวิตที่ลอนดอน กำลังมีความสุขดี ก็ทำไปก่อน”

วงดำเลิง, ภาพยนตร์, Mission Impossible

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographer

Avatar

ทศพล นิลสิน

ชาวเชียงใหม่ โสด ชอบฟังเพลง J-rock เลี้ยงไซบีเรียนฮัสกี้ เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ฟรีแลนซ์ แต่กลับมีงานถ่ายรูปเยอะกว่า ปัจจุบันเปิดสตูดิโอถ่ายภาพกับเพื่อน ชื่อว่า Acid Studio Thailand (www.facebook.com/acidstudiothailand) รับถ่ายภาพตั้งแต่ฟู้ดสไตลิ่ง ภาพถ่ายสารคดี Pre-wedding ไปจนถึงปาร์ตี้วันเกิดลูกคนรวย