13 กุมภาพันธ์ 2018
11 K

ดึกดำบรรพ์ Boy Band เป็นวงดนตรีที่มีสมาชิก 3 คน

แต๋ม-ชรัส เฟื่องอารมย์

ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว

ตุ่น-พนเทพ สุวรรณะบุณย์

สองคนแรกเป็นศิลปินที่ออกผลงานมาแล้วคนละสิบกว่าอัลบั้ม

คนสุดท้ายเคยเป็นโปรดิวเซอร์มือทองของค่ายแกรมมี่ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักร้องและเพลงฮิตมากมาย

ถ้าเอาเพลงฮิตของพวกเขาสามคนมาเล่นต่อกันน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำว่า 4 ชั่วโมง

การรวมตัวกันตั้งวงดนตรีของศิลปินรุ่นใหญ่ 3 คน ซึ่งเป็นเพื่อนกันมากว่า 40 ปี เป็นเรื่องน่าสนใจ

และยิ่งน่าสนใจขึ้น เมื่อพวกเขารวมตัวกันตั้งวงในวัย 65 ปี

ถ้าคุณกำลังนึกถึงหนังที่ตัวละครในวัยเยาว์กำลังตามฝันด้วยการตั้งวงดนตรี เรื่องราวของชาย 3 คนนี้ น่าจะเป็นภาคสองของหนังพวกนั้น

ดึกดำบรรพ์ Boy Band

เพลงที่ 1 หน้า A

เสียงกีตาร์โปร่งฟังสบายโชยออกมาจากบ้านขนาดกะทัดรัด กลางซอยเล็กๆ ย่านสะพานควาย

ภายในบ้าน มีผู้ชายสามคนซึ่งเกิดปีเดียวกันกำลังเล่นดนตรีอยู่ด้วยกัน

ย้อนกลับไปหลายวันก่อน ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว นั่งรถเมล์กลับบ้านพร้อม ตุ่น-พนเทพ สุวรรณะบุณย์ พอเห็นว่าบ้านอยู่ทางเดียวกัน ปั่นจึงเอ่ยปากขอไปเที่ยวบ้านตุ่น หลังจากนั้นพวกเขาก็ชวน แต๋ม-ชรัส เฟื่องอารมย์ เพื่อนอีกคน มาเล่นดนตรีด้วยกันที่บ้านของตุ่น

พวกเขารักเสียงเพลงเหมือนกัน ต่างคนต่างมีวงดนตรีและวงโคจรของตัวเอง แต่ดนตรีก็ดึงดูดพวกเขาให้มารวมตัวกันเล่นดนตรีที่บ้านหลังนี้

พวกเขาคือเด็กหนุ่ม นักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ปฏิทินข้างฝาบอกว่า นี่คือปี 2514

เพลงที่ 2 หน้า A

ต้นปี 2561 เย็นวันศุกร์ที่ลมหนาวหวนมาหากรุงเทพฯ อีกครั้ง

เสียงดนตรีสบายหูยังคงลอยคลอเคลียลมหนาวเหนือบ้านหลังนี้

เสียงนั้นลอดออกมาจากบานประตูที่ปิดไม่สนิทของห้องซ้อมบนชั้นสาม มันเป็นเสียงของเพลง In the darkness of my life เพลงสากลที่แต๋มแต่งสมัยเรียนมหาวิทยาลัย แต๋มเป็นคนเก่งภาษาไทย ถนัดเขียนกาพย์กลอน จึงเขียนเนื้อเพลงได้รวดเร็วและลื่นไหล แล้วเขาก็ยังมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี ในระดับที่ร้องและแต่งเพลงภาษาอังกฤษได้สบาย

ในห้องซ้อม ผู้ชายสามคนซึ่งเกิดปีเดียวกัน กำลังเล่นและร้องเพลงนี้

พวกเขากำลังซ้อมเพลงนี้สำหรับคอนเสิร์ต ‘ดึกดำบรรพ์ #201 ปั่น แต๋ม ตุ่น Concert’

เลข 201 คืออายุรวมของพวกเขา

แต๋มและปั่น ผ่านการขึ้นเวทีคอนเสิร์ตรวมกันมาหลายพันครั้ง เพราะพวกเขาอยู่บนเส้นทางดนตรีมาเนิ่นนาน แต่คอนเสิร์ตครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งอื่นๆ ตรงที่ ปั่น แต๋ม ตุ่น กำลังจะเล่นคอนเสิร์ตร่วมกันในนาม ‘ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์’ วงดนตรีที่พวกเขาร่วมกันตั้งเมื่อปี 2559

ในวัย 65 ปี

พวกเขาไม่ได้เอาเพลงเก่ามาร้องใหม่เป็นรอบที่ล้าน แต่หยิบเพลงฮิตที่ทั้งสามมีส่วนร่วม ทั้งเพลงที่แต๋มกับปั่นร้อง และเพลงที่ตุ่นแต่ง มาเรียบเรียงดนตรีใหม่ ออกแบบการร้องใหม่ จนกลายเป็นเพลงใหม่ที่มีกลิ่นอายของเพลงยุค 70 และเสียงประสานแบบวง Bee Gees

พวกเรายืนฟังเพลงรออยู่หน้าห้องซ้อม ผมโตมากับเพลงเก่าเหล่านี้ น้องช่างภาพพอจะคุ้นบ้างกับบางเพลง ส่วนน้องฝึกงานเพิ่งเคยได้ยินเพลงและรู้จักศิลปินทั้งสามเป็นครั้งแรก แต่พวกเราทุกคนต่างเคลิ้มไปกับท่วงทำนองที่ได้ยิน

ไม่ต้องสนใจว่ามันคือเพลงใหม่หรือเพลงเก่า เพราะเพลงเพราะก็คือเพลงเพราะ

การซ้อมช่วงอะคูสติกจบลงแล้ว ประตูห้องซ้อมเปิดออก สมาชิกอีก 4 คน เดินเข้าไปสมทบเพื่อซ้อมแบบเต็มวง เพลงแล้วเพลงเล่าผ่านไป จนมาถึงเพลง รักนิรันดร์ เพลงที่มีความหมายมากมายเหลือเกิน

เพลงนี้อยู่ในอัลบั้มแรกของปั่น ปี 2528 เป็นเพลงที่ตุ่นทำให้ปั่น และเป็นเพลงเปลี่ยนชีวิตที่ทำให้ปั่นแจ้งเกิดในฐานะนักร้องหน้าใหม่ได้อย่างสวยงาม

2 ปีก่อน ตุ่นมีคอนเสิร์ตของตัวเองชื่อ ‘รักนิรันดร์’ เขาชวนเพื่อนพ้องที่เคยทำงานร่วมกันมาเป็นแขกรับเชิญ แน่นอนว่าต้องมีสองเพื่อนซี้อย่างแต๋มและปั่น แต่จะให้ทั้งคู่มาร้องเพลงของตัวเองแบบเดิมๆ ก็ธรรมดาไป พวกเขาเลยรวมเป็นวงแล้วลองเล่นด้วยกันแบบอะคูสติก

ตุ่นปล่อยคลิปการซ้อมของพวกเขาลงในโลกออนไลน์ ผลตอบรับที่ได้กลับมาดีมาก มีทั้งคนชอบ และคนชวนให้ไปเล่นตามงานต่างๆ จนพวกเขาคิดว่า จะมาทำเล่นๆ ให้เสียชื่อรุ่นใหญ่ไม่ได้ เลยเร่งมือพัฒนาวงของพวกเขาขึ้นเรื่อยๆ

ในคอนเสิร์ตรักนิรันดร์ พอถึงช่วงที่เพื่อนทั้งสามต้องเล่นด้วยกัน ตุ่นประกาศให้คิว แต่แต่๋มกับปั่นก็ยังไม่ยอมขึ้นเวทีสักที จนตุ่นต้องออกตัวผ่านไมโครโฟนว่า “พวกเราเป็นพวกดึกดำบรรพ์ จะทำอะไรก็ช้า” ดึกดำบรรพ์จึงกลายมาเป็นชื่อวงโดยบังเอิญ

กรุณาเบาเสียงลงสักนิด ท่องฮุคเพลง รักนิรันดร์ กำลังจะมา

“ขอให้ความรักที่เกิดขึ้นมานั้นอยู่ตลอดกาล ขอให้ความรักที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นรักนิรันดร์”

ดึกดำบรรพ์ Boy Band

เพลงที่ 3 หน้า A

ปี 2514 เป็นปีแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นปีแรกที่พวกเขาทั้งสามคนรู้จักกัน

ทั้งสามคนต่างมีวงดนตรีของตัวเอง การเล่นดนตรีในวัยหนุ่มเต็มไปด้วยความสนุกสนาน แกะเพลงฝรั่งมาเล่นแข่งกัน เล่นข่มกัน เห็นวงอื่นเล่นได้ ก็พยายามพัฒนาตัวเองให้เล่นได้แบบนั้นบ้าง

เวทีของนักดนตรีสมัครเล่นยุคนั้นอยู่ตามงานปาร์ตี้ในบ้านของคนมีฐานะ อย่างเพื่อนเก่าที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลมีงานปาร์ตี้ที่บ้าน ก็ชวนวงพวกเขาไปเล่น เพื่อนคนนั้นอาจจะมีน้องสาวเรียนเซนต์โยฯ ในงานปาร์ตี้จึงเต็มไปด้วยเด็กหนุ่มเซนต์คาเบรียลและเด็กสาวเซนต์โยฯ

ความสุขอย่างหนึ่งของนักดนตรีวัยหนุ่มก็คือ การได้เล่นโชว์สาว ซึ่งพวกเขาก็ถือว่าเนื้อหอมใช้ได้

ตุ่นเล่นกีตาร์ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมที่เซนต์คาเบรียล เพื่อนๆ ของเขามักจะเอาแผ่นเสียงที่ซื้อจากฮ่องกงมาแบ่งกันฟัง มีการตั้งวงดนตรีในโรงเรียน ตุ่นชอบแกะเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ เขาแกะทุกอย่าง ทั้งกีตาร์ คีย์บอร์ด เบส แล้วส่งโน้ตที่แกะได้ให้เพื่อนๆ เล่น

ตุ่นเรียนจบบริหารธุรกิจจากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ แต่ยังไม่อยากทำงาน พอมหาวิทยาลัยรามคำแหงเปิด เลยลองไปเรียนดู แต่เรียนได้แค่ปีเดียว ตุ่นก็ตัดสินใจลาออกเพื่อไปเล่นดนตรีอาชีพ ในความหมายของการเล่นดนตรีกลางคืน

แต๋มเป็นคนหนุ่มที่มีเพื่อนเยอะ เขาเลยฝากตุ่นให้ไปเล่นกับวงเพื่อนของเขาที่ร้านแถวคลองเตย เป็นร้านที่เล่นเพลงฝรั่งให้ทหารเรืออเมริกันฟัง

ตุ่นเล่นดนตรีกลางคืนจนมีชื่อเสียงโด่งดัง เขาใช้ชีวิตแบบนั้นจนอายุเกือบ 30 ปี พอมีครอบครัว เขาก็เลือกทำในสิ่งที่เป็นค่านิยมของคนยุคนั้น ก็คือการทำงานที่มั่นคง ตุ่นเลิกเล่นดนตรีกลางคืน แล้วไปสอบเข้าทำงานเป็นพนักงานบริการภาคพื้นดินของการบินไทย

ดึกดำบรรพ์ Boy Band ปั่น ไพบูลย์เกียรติ

เพลงที่ 4 หน้า A

แต๋มคือคนแรกในกลุ่มเพื่อนที่ได้เป็นศิลปินอาชีพ

แต่เขาไม่ได้มีอาชีพเป็นศิลปิน

ด้วยความที่เรียนเศรษฐศาสตร์ และเห็นว่าการทำงานธนาคารเป็นสิ่งที่มั่นคง พอเรียนจบแต๋มจึงสมัครเข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ และทำงานในวงการธนาคารมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเกษียณ

แต๋มรู้จักเอ๋ ไพโรจน์ สังวริบุตร ผู้กำกับและนักแสดงนำเรื่อง ไฟในทรวง เอ๋เลยชวนแต๋มมาเขียนเพลงให้หนังเรื่องนี้ แต๋มก็เลยชวนตุ่นเพื่อนรักมาช่วยทำดนตรีให้ นั่นคือก้าวแรกในวงการดนตรีของทั้งแต๋มและตุ่น ในปี 2522

เพลงของแต๋มเข้าหู ระย้า-ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร เจ้าของค่ายเพลงรถไฟดนตรี เขาเลยชวนแต๋มมาออกอัลบั้มแรกในปี 2524 โดยมีวงแฟลชของตุ่นช่วยทำเพลงให้ เหตุผลหนึ่งที่ต้องให้เพื่อนรักมาช่วยทำเพลงก็เพราะ การเขียนเพลงของแต๋มเป็นไปตามอารมณ์ ไม่ได้เป็นไปตามหลักการ มีแต่ตุ่นเท่านั้นที่ยอมเรียบเรียงให้โดยไม่แก้ แต่ถึงจะเป็นเพลงที่มีจังหวะแปลกๆ หลายเพลงก็กลายเป็นเพลงดังในเวลาต่อมา

เพลงของแต๋มมักจะเกี่ยวข้องกับความรักที่ไม่สมหวัง เพราะเมื่อก่อนแต๋มเป็นคนที่จัดว่า ‘ไม่หล่อ’ แล้วก็ถูกแซวว่า ร้องเพลงเหมือนร้องไห้ ขนาดหัวเราะยังเหมือนร้องไห้

อัลบั้มแรกของแต๋มได้รับการตอบรับอย่างเงียบเหงา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรถไฟดนตรีเป็นค่ายใหม่ที่ยังไม่เก่งด้านการปั้นศิลปินหน้าใหม่ให้เป็นที่รู้จัก แต่แต๋มก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเขาทำงานธนาคารเป็นอาชีพหลัก แค่ได้ทำเพลงก็มีความสุขแล้ว

เพลงของแต๋มเริ่มเป็นที่รู้จักตอนอัลบั้มที่ 6 ชุด มาลีวัลย์และชรัส เมื่อปี 2528 กับค่ายไนท์สปอต กว่าแต๋มจะกลายเป็นนักร้องดัง ก็ต้องรอถึงชุดที่ 7 ตอนมาอยู่ในค่ายแกรมมี่เมื่อปี 2529 ซึ่งมีการระดมยอดฝีมือมาช่วยทำเพลง และมีการดูแลภาพลักษณ์ศิลปินที่ดี

เพลงฮิตเปลี่ยนชีวิตของแต๋มในวันนั้นคือเพลง ทั้งรู้ก็รัก

ตุ่นทำเพลงนี้ให้แต๋มในช่วงที่ทำงานการบินไทย

ช่วงเวลาที่อยู่การบินไทย ตุ่นใช้เวลาหลังเลิกงาน ทำเพลงให้ศิลปินมากมาย เพลงของตุ่นทำโดยไร้กรอบ จังหวะของเขาค่อนข้างแปลก ทางคอร์ดก็ประหลาด ไม่เหมือนเพลงอื่นๆ ในยุคนั้น แม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายสิบปี หยิบมาฟังใหม่ในวันนี้มันก็ยังดีอยู่

ลองพิสูจน์กันได้

เพียงแค่ใจเรารักกัน ของ วิยะดา โกมารกุล ณ นคร

ฝัน…ฝันหวาน ของ ผุสชา โทณะวณิก

พี่ชายที่แสนดี ของ ระวิวรรณ จินดา

ปาฏิหาริย์ ของ ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณ

คนขี้เหงา ของ เมทนี บุรณศิริ

รักนิรันดร์ ของ ปั่น

ทั้งรู้ก็รัก ของ แต๋ม

ระหว่างทำงานที่การบินไทย 9 ปี ตุ่นยังคงใช้เวลาว่างทำเพลงตลอด จนวันหนึ่งเขาก็พบว่า การตื่นเช้าไปตอกบัตรทำงาน ตกเย็นตอกบัตรออก เป็นการทำงานประจำที่เขาเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ตัวหนึ่งของระบบใหญ่ ซึ่งเขาไม่ได้รู้สึกมีส่วนร่วมกับงาน ไม่ได้ภูมิใจกับงาน และไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นผลงานของเขา ตุ่นใช้เวลาคิดอยู่หนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นเขาตัดสินใจยื่นใบลาออก

แล้วมุ่งหน้าเข้าสู่งานโปรดิวเซอร์เต็มตัว

ปั่นเป็นคนสุดท้ายที่ได้เข้าสู่วงการเพลง

สมัยวัยรุ่นเขาไม่เคยคิดจะยึดการร้องเพลงเป็นอาชีพ เขาแค่สนุกกับสีสันของวงการดนตรี ทั้งการร้อง การเต้น และการแต่งตัว

ชนินทร์ โปสาภิวัฒน์ เจ้าของบริษัทอีเวนต์ออแกไนเซอร์ชื่อดังในยุคนั้น อยากทำค่ายเพลง เลยมาปรึกษาแต๋มกับตุ่นว่าจะหาศิลปินจากที่ไหน ทั้งสองก็เลยเสนอชื่อปั่น ซึ่งตอนนั้นทำงานเป็นมัคคุเทศก์ แล้วปั่นก็กลายเป็นศิลปินคนแรกของค่ายครีเอเทีย ออกอัลบั้มแรก ความฝันที่หลุดลอย ในปี 2528

เพลงของปั่นเป็นเพลงน่ารักตามคาแรกเตอร์ของเขา ทั้งบุคคลิกและน้ำเสียง ถ้าเป็นเพลงรักที่ไม่สมหวัง เขาก็จะอกหักแบบไม่เสียใจฟูมฟาย เป็นแนวน้อยใจ โทษตัวเอง

สิ่งที่ปั่นต่างจากแต๋มคือ เขาดังทันทีตั้งแต่ชุดแรก โดยเฉพาะเพลง รักนิรันดร์ ที่ตุ่นทำให้

“ขอให้ความรักที่เกิดขึ้นมานั้นอยู่ตลอดกาล ขอให้ความรักที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นรักนิรันดร์”

เสียงเพลง รักนิรันดร์ ในห้องซ้อมค่อยๆ แผ่วลง

ถึงเวลาพักของนักดนตรีแล้ว

ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว แต๋ม ชรัส เฟื่องอารมย์ ดึกดำบรรพ์ Boy Band

กลับหน้าเทป

พวกเราทยอยเดินเข้าไปในห้องซ้อม

เพลงที่ 1 หน้า B

แต๋ม ปั่น ตุ่น ยังนั่งเล่นดนตรีด้วยกันในบ้านหลังนี้เหมือนเมื่อ 40 กว่าปีก่อน

ต่างกันตรงวันนี้พวกเขากลายเป็นนักดนตรีอาชีพระดับตำนานของประเทศ

พวกเขายังอยู่ในวงการดนตรี และวงการดนตรียังให้พวกเขาอยู่

พวกเขาเห็นตรงกันว่า เหตุผลหลักที่ทำให้ศิลปินสักคนอยู่ในวงการได้นานถึงสามสิบกว่าปีคือ คุณภาพของงาน งานต้องดี มีเอกลักษณ์ ส่วนเหตุผลรองคือ การวางตัวของศิลปินคนนั้น

“ไฟเรายังไม่มอด ยังมีคนอยากฟังเพลงของเรา ทำให้เรามีไฟ โชคดีที่เรายังแข็งแรงกันอยู่ ถ้าต้องนั่งรถเข็นแล้วใครจะฟัง สังขารก็เป็นเรื่องสำคัญ วงการบันเทิงมันเป็นภาพลวงตาว่าเราต้องอยู่แบบนี้ แก่ไม่ได้ ทำได้ก็อยู่ได้ ทำไม่ได้ก็ต้องไป โหดร้ายจะตาย” แต๋มหัวเราะ

ในวัยใกล้ 70 ปี พวกเขายังคงแข็งแรง เหมือนที่เราเคยเห็นพวกเขาเมื่อหลายสิบปีก่อน พวกเขาบอกเคล็ดลับไว้ 2 ข้อ หนึ่ง พวกเขาไม่ได้เล่นดนตรีในผับในบาร์กลางคืน เลยไม่ต้องอดหลับอดนอนดมควันบุหรี่ สอง การเล่นดนตรีทำให้ไม่เครียด พอจิตใจแจ่มใส ร่างกายก็ดีตามมาด้วย

เมื่อสุขภาพกายดี เสียงก็ดี

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ชีวิตการเป็นนักดนตรีของพวกเขาจะไม่มีเรื่องให้เครียด

“เวลาเราทำเพลงมาแล้ว มันน่าจะดังแต่ไม่ดัง ก็อาจจะน้อยใจบ้าง หรือเวลามีใครจ้างไปร้องเพลง แล้วไม่มีคนดู ก็ต้องถามตัวเองว่า เอ็งจะอยู่ได้ต่อไปหรือเนี่ย เอ็งไม่ได้รับความนิยมแล้ว จะทำยังไง” ปั่นเล่าความทุกข์ของคนดนตรี

“เพลงเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เราอยากให้คนเห็นงานเรา ได้ชื่นชมกับมัน ถ้าเขาไม่ชอบเราก็เหี่ยว” ตุ่นเสริม

คล้ายๆ จะแปลความหมายได้ว่า พวกเขากลัวคนไม่ฟังเพลงของพวกเขา

“ไม่กลัวหรอก มันเป็นเรื่องปกติ ถึงเวลาก็ต้องไป ถึงเวลาก็ต้องลงจากเวที เหมือนนักมวย ถ้าต่อยไม่ได้แล้วจะขึ้นไปให้โดนน็อกทำไม” แต๋มตอบ

“เขาไม่กลัวแต่ผมกลัว” ปั่นแย้ง “ถ้าไม่มีโซเชียลมีเดีย พวกเราก็คงไม่ได้ทำอะไรกันแล้ว ค่ายก็คงไม่เซ็นสัญญาต่อ ผู้ชายอายุหกสิบเจ็ดสิบใครจะมาจ้าง จะให้ไปร้องเพลงอะไร เพลงรักเหรอ”

ตุ่นดูจะปรับตัวในทิศทางที่ต่างจากเพื่อนๆ

“ตอนผมเป็นโปรดิวเซอร์ ผมไม่ค่อยได้เล่น เรื่องเพลงถ้าเราไม่ได้เล่นมันก็ไม่ครบ ผมเลยเอากีตาร์มาหัดใหม่ หัดจับตั้งแต่คอร์ดซีเลย สมัยก่อนผมเริ่มจากเล่นกีตาร์แล้วมาเล่นคีย์บอร์ด ใช้คีย์บอร์ดทำเพลงมาเป็นสิบๆ ปี ไม่ได้แตะกีตาร์เลย การทำเพลงเบื้องหลังมันไม่สะใจ เพลงมันต้องออกมาจากมือเรา ตอนนั้นแกรมมี่อยากให้เซ็นสัญญาต่อ แต่ผมไม่เอาแล้ว ก็เลยชวนน้องๆ มาตั้งวงชื่อนั่งเล่น”

ชายผู้กลับมาหัดเล่นกีตาร์อีกครั้งในวัยหกสิบกว่าปี พูดถึงที่มาของวงนั่งเล่น วงที่รวมคนทำเพลงฝีมือดีมารวมตัวกัน แล้วบอกเล่าเนื้อหาที่ลุ่มลึกสมวัย

“เวลาวงนั่งเล่นไปเล่นที่ไหน เราจะพูดเสมอว่า พวกเราไม่ใช่นักดนตรีอาชีพ เราแต่งเพลงมาตลอด เราไม่ได้เล่นเก่ง แค่เราอยากเล่น” ตุ่นอธิบายต่อว่า ไม่ต้องไปคิดมากว่าเราเป็นโปรดิวเซอร์รุ่นใหญ่ ถ้าเล่นไม่ดีน้องๆ จะคิดยังไง แค่สนุกกับการเล่นดนตรีก็พอ

แล้วเขาเอาพลังที่ไหนมาขับเคลื่อนตัวเองให้ออกจากพื้นที่ที่คุ้นเคยในวัยเกษียณ

“ตอนเด็กๆ ผมนั่งแกะเพลงทุกเพลงจากแผ่นเสียง เพราะผมชอบ ผมมันชอบมันก็อยากรู้ไปหมดว่าเบสเล่นยังไง กีตาร์เล่นยังไง ก็เลยแกะทุกอย่าง แกะจนเป็นนิสัย ช่วงที่กลับมาฝึกใหม่ ผมก็เล่นด้วยความอยากรู้ ก็สนุกไปกับมัน รู้สึกเหมือนตอนเด็กๆ อีกครั้ง”

น่าอิจฉาที่เขารักษาพลังของคนหนุ่มไว้ในตัวได้ยาวนานมาก

ดึกดำบรรพ์ Boy Band ดึกดำบรรพ์ Boy Band

เพลงที่ 2 หน้า B

ถึงพวกเขาจะเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ ที่มีความสามารถล้นเหลือ แต่การทำเพลงให้วงบอยแบนด์จากยุคดึกดำบรรพ์นั้นไม่ใช่งานที่ง่ายเลย

ตุ่นมองด้วยสายตาของโปรดิวเซอร์ว่าคาแรกเตอร์ของแต๋มกับปั่นคือ นักร้องเพลงรัก ถ้าจะให้เปลี่ยนมาร้องแนวอื่นคงดูแปลก

“อายุปูนนี้แล้ว ถ้าเราร้องเพลงรัก เด็กสิบเจ็ดสิบแปดยังอยากฟังคนที่แก่กว่ารุ่นพ่อร้องเพลงรักไหม ถ้าจะบอกว่าฉันหลงรักเธอ ฉันยังไม่แก่เกินไปที่จะรักใครสักคน คนก็จะบอกว่า นี่มันไอ้แก่ไม่เจียมตัว ไอ้เฒ่าลามก จะร้องเพลงที่เป็นปรัชญา เราก็ไม่เคยร้องมาก่อน สรุปว่า ร้องเพลงรักคนก็ไม่เชื่อ ร้องปรัชญาคนก็ไม่เชื่อ” แต๋มเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

“ดึกดำบรรพ์เลยเป็นวงที่เอาเพลงเก่ามาทำใหม่” ตุ่นสรุปจุดยืนของวงไว้แบบนั้น

“เราร้องเพลงมาเป็นหมื่นๆ หนแล้ว เราก็อยากมีเพลงใหม่ๆ บ้าง ถึงสิ่งใหม่จะสู้ของเก่าไม่ได้ก็เถอะ” แต๋มคิดต่าง “คนรุ่นเราเขาหยุดความคิดที่จะฟังเพลงใหม่ไว้แค่อายุสามสิบห้าสี่สิบ เพลงใหม่กว่านั้นเขาไม่รับแล้ว เขาชอบแต่เพลงเก่า”

“เชื่อไหม ผมไม่เคยคิดอย่างพวกเขาเลย ผมอะไรก็ได้ เป็นเพลงเพราะก็พอ จะใหม่จะเก่าผมชอบหมด” ปั่นเสริมบนทางสายกลาง

เพลงใหม่ของดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์ เลยเป็นเพลงรักแบบกลางๆ อย่างเพลง อะไรก็ไม่ไกล มีเนื้อร้องว่า

“ระยะทาง ไม่เห็นก็เกรงว่าไกล ขอให้มั่นใจ ถึงแม้เวลาเปลี่ยนไป แม้วันคืนเปลี่ยน นานมาแล้วเท่าไหร่ อย่ากลัว ถ้าใจเราใกล้ อะไรก็ไม่ไกล”

นอกจากตุ่นรับหน้าที่ทำเพลงใหม่ให้เพื่อนๆ แล้ว เขายังทำหน้าที่เป็นคนดูแลโซเชียลเน็ตเวิร์คของวงด้วย ในวัยหกสิบกว่า เขายังสนใจความเป็นไปของโลกออนไลน์ เขาสนุกกับการวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้าน ลองบูสต์เฟซบุ๊กส่งเพลงของเขาไปให้คนญี่ปุ่นที่โตเกียว และพี่น้องสปป.ลาวฟัง แล้วดูว่ามีฟีดแบ็กต่างกันอย่างไร

พวกเขามองว่า ตอนนี้พวกเขาคลายสถานะจากศิลปินของค่ายใหญ่กลายมาเป็นศิลปินอิสระที่ปล่อยเพลงของตัวเองลงในโลกออนไลน์ ซึ่งมีข้อดีคือ ถ้าใครปรุงดนตรีได้ถูกหูคนฟังก็มีสิทธิ์ดังได้ในวันเดียว เหมือนวงของพวกเขา

แต๋มพูดถึงเสน่ห์อีกอย่างของการเป็นศิลปินอิสระว่า “ตอนเราไปขึ้นเวที The Lost Love Songs ของกรีนเวฟ ร่วมกับศิลปินอีก 50 คน งานนั้นมีศิลปินทุกสไตล์ มันมีข้อเปรียบเทียบเยอะมาก เราต้องเอาตัวรอดบนเวทีให้ได้ แต่พอเป็นเพลงของวงดึกดำบรรพ์ เราช่วยกันเล่น ไม่ต้องไปแข่งกับใคร เพราะในตลาดไม่มีเพลงแบบนี้ให้แข่ง เราก็เลยโดดเด่น”

ไม่ว่าจะขึ้นเวทีในฐานะของปั่นหรือดึกดำบรรพ์ สิ่งที่ปั่นบอกว่าเหมือนกันทุกครั้งก็คือ

“ต่ื่นเต้นเหมือนเดิมทุกครั้ง ไม่ได้ลุ้นว่าจะร้องผิดหรือเล่นผิดนะ แต่ตื่นเต้นตรงลุ้นว่า คนจะชอบหรือเปล่า เราอยากให้คนดูอินไปกับเรา”

ดึกดำบรรพ์ Boy Band ดึกดำบรรพ์ Boy Band ดึกดำบรรพ์ Boy Band

เพลงที่ 3 หน้า B

เวลาพักกำลังจะหมด

เราอยากรู้ว่า เพลงประกอบชีวิตของนักดนตรีทั้งสามคนคือเพลงอะไร

แต๋มเลือกเพลง เพราะฉะนั้น

“เนื้อเพลงมันบอกว่า ถ้าฉันทุกข์ใครจะทุกข์ด้วย เราต้องดูแลตัวเอง ถ้าเราจะสำเร็จ ก็ต้องทำด้วยตัวเอง ตอนนี้ผมเร่ิมเข้าสายธรรมะ เพราะมาลีวัลย์ (เจมีน่า) ชวนไปปฏิบัติธรรม ก็ช่วยให้รู้จักชีวิตมากขึ้น มีสติมากขึ้น จะเศร้าจะทุกข์ก็มีสติมากขึ้น อ้อ มันเป็นแบบนี้เอง เดี๋ยวก็หาย”

ปั่นเลือกเพลง มายาชีวิต

“เพลงน้ีเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ชีวิตของมิตร ชัยบัญชา ที่ผมร้อง คนภายนอกอาจมองว่าคนในวงการบันเทิงดูสูงส่ง คิดว่าเรามีความสุข แต่ชีวิตจริงเราก็อาจจะทุกข์ได้”

ตุ่นเลือกเพลง บทเพลงของฉัน

“เป็นเพลงที่ผมทำให้แต๋ม คอนเซปต์ของเพลงนี้คือ I write the song. เป็นเรื่องของคนเขียนเพลง ที่การเขียนเพลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นเพลงที่แต่งจากตัวเองเลย”

“เอ้า พูดงี้แล้วเราเอามาเล่นเลยไหม เป็นตัวแทนบทเพลงของพวกเรา” ปั่นชวนด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ตุ่น พนเทพ สุวรรณะบุณย์ แต๋ม ชรัส เฟื่องอารมย์ ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว

เพลงที่ 4 หน้า B

เด็กหนุ่ม 3 คนกำลังเล่นดนตรีด้วยกันในบ้านเพื่อนที่ย่านสะพานควาย

ภาพนี้ยังคงแจ่มชัดในความทรงจำของทั้งนักดนตรีอาชีพทั้งสาม

“เหมือนดูหนังเลยนะ ย้อนกลับมาดูตัวเราเอง” เจ้าของบ้านบอก

เห็นตัวเองในอดีตแล้วอยากบอกอะไรพวกเขา

“บอกไปเขาก็คงไม่เชื่อหรอก เขาต้องรู้ด้วยตัวเอง เราโชคดีที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร แล้วเร่ิมต้นเร็ว มาถึงวันนี้ผมก็โอเคแล้ว ผมคงบอกเขาว่า น้องอย่าคิดมาก เล่นไป ทำอย่างที่อยากทำ แล้วเส้นทางชีวิตจะพาน้องไปเอง พี่รู้แล้วว่าจุดสุดท้ายของชีวิตน้องเป็นยังไง” ตุ่นตอบด้วยเสียงเนิบนุ่ม

ปั่นขยับตัวเข้ามาแล้วบอกว่า “ทำในส่ิงที่ตัวเองรัก อย่าไปสนใจว่าคนจะมองยังไง ถ้าเราทำในสิ่งที่ตัวเองรักเราจะอยากทำให้มันดี แล้วจะทำได้นาน มีปัญหาก็จะทำเพราะเรารัก ผมอยู่กับดนตรีมาได้ยาวนาน เพราะผมรักมัน เลยข้ามผ่านทุกปัญหามาได้”

ไม่แน่ใจว่าแต๋มกำลังบอกสิ่งนี้กับเด็กหนุ่มในวันนั้น หรือเพื่อนหนุ่มในวันนี้

“ผมอยากจะบอกว่า โชคดีนะ ที่เรามีวันนี้อีกครั้ง เวลาผ่านไป แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเท่าไหร่หรอก เราก็เหมือนเดิมนั่นแหละ เรากลับมาอยู่ตรงนี้อีกครั้ง รู้จักชีวิตมากขึ้น ทำให้เรามีความสุขในการทำงานด้วยกันมากขึ้น”

เพลงที่ 5 หน้า B

พวกเราร่ำลาสมาชิกวงดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์

พวกเขาเริ่มซ้อมดนตรีต่อ ส่วนพวกเรากำลังจะแยกย้ายสลายตัว

ตอนนี้ประตูห้องซ้อมปิดสนิทแล้ว แต่ผมยังได้ยินเสียงเพลงของพวกเขาดังขึ้นมาในหัว เป็นเสียงเพลงในเวอร์ชั่นท่ี่ร้องประสานกันสามคน

ตั้งใจฟังดีๆ ท่อนนี้ร้องว่า

“ขอให้ความรักที่เกิดขึ้นมานั้นอยู่ตลอดกาล ขอให้ความรักที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นรักนิรันดร์”

ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว พนเทพ สุวรรณะบุณย์ ชรัส เฟื่องอารมย์

Youtube | ดึกดำบรรพ์ Boy Band

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล