ถ้าให้สรุป Key Message นี้สั้น ๆ 

เราคงบอกว่า การคิดเพื่อแก้ปัญหา ไม่จำเป็นต้องซับซ้อนหรือใช้ระยะเวลายาวนานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ บางครั้งวิธีคิดที่เริ่มต้นจากความเรียบง่ายแต่กลับทรงพลัง ก็จะช่วยให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด

เหมือนแคมเปญล่าสุดของ FWD ประกันชีวิต และเอเจนซี่ GREYnJ UNITED ที่อยากให้ผู้พิการทางสายตาเดินทางในเมืองด้วยตัวเองสะดวกขึ้น โดยการทำให้ป้ายรถเมล์ส่งเสียง บอกสายรถเมล์ที่กำลังจะมาถึงได้

ป้ายรถเมล์พูดได้ ไม่เพียงแก้ปัญหาได้ แต่ยังชวนให้เราเห็นว่างานที่แก้ปัญหาสังคมได้จริง ควรมีปัจจัยอะไรบ้าง

ป้ายรถเมล์พูดได้ ช่วยคนตาบอดขึ้นรถเมล์ง่ายขึ้นด้วยวิธี Offline ที่มีพลังจาก FWD

FWD ประกันชีวิต ทำงานเกี่ยวกับผู้พิการมาอย่างต่อเนื่อง ปีที่แล้วมีการปล่อยแคมเปญชื่อว่า ‘Braille Stories’ คัดเลือกผู้พิการทางสายตา 4 คนที่มีเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจในสังคม นำภาพใบหน้าของพวกเขามาทำเป็นอักษรเบรลล์พร้อม QR Code เพื่อให้ทั้งผู้พิการทางสายตาและคนทั่วไปรับรู้เรื่องราวของพวกเขาไปพร้อมกัน

งานนั้นถือเป็นแคมเปญสร้าง Awareness ให้คนตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมของผู้พิการในสังคม ปีนี้ FWD ประกันชีวิต อยากทำงานที่แก้ปัญหาให้สังคมที่เข้มข้นขึ้น

ป้ายรถเมล์พูดได้ ช่วยคนตาบอดขึ้นรถเมล์ง่ายขึ้นด้วยวิธี Offline ที่มีพลังจาก FWD

พวกเขาร่วมมือกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งมีหน่วยงานย่อยเป็นโรงเรียนสอนเด็กที่พิการทางสายตาแต่กำเนิดเพื่อขอข้อมูล

เล่าย้อนกลับไปเล็กน้อย คนสำคัญของงานนี้คือ ปวริศา ชุมวิกรานต์ ผู้บริหารหญิงผู้เคยมีประสบการณ์การสร้างแบรนด์มายาวนาน ก่อนจะมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่สายงานภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กรที่ FWD ประกันชีวิต นอกจากนี้เธอยังตั้งใจมุ่งมั่นอยากทำงานเพื่อสังคม ยังไม่นับงานเพื่อสังคมอีกมากมายที่ FWD ประกันชีวิต อยู่เบื้องหลังแต่ไม่เคยเล่าผ่านสื่อ

กับงานนี้ เมื่อ FWD ประกันชีวิต อยากต่อยอด จึงนำไอเดียมาหารือกับ GREYnJ UNITED นำทีมโดยผู้ร่วมก่อตั้ง คณพร ฮัทชิสัน และ Chief Creative Officer สมพัฒน์ ทฤษฎิคุณ ทั้ง 2 คนค้นหาอินไซต์จากผู้พิการทางสายตา ค้นหาว่าเขาอยากได้อะไรที่เชื่อมโยงกับแนวคิด Cerebrate Living ได้บ้าง

ประเด็นหลักที่ทั้งคู่จับได้ คือผู้พิการทางสายตาอยากมีชีวิตเหมือนคนทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องการเดินทาง

เขาและเธออยากไปไหนต่อไหนตามใจปรารถนา แต่สาธารณูปโภคบ้านเราไม่เอื้ออำนวยเสียเลย ผู้พิการทางสายตามักเดินทางโดยใช้รถเมล์ เวลาจะดูว่าสายไหนกำลังมา ส่วนมากต้องอาศัยถามกับคนที่นั่งรอที่ป้ายเหมือนกัน “เราถามว่า แล้วถ้ารถเมล์มีเสียงล่ะ เขาบอกดีมากเลย มันช่วยได้แน่ ๆ” ยอดครีเอทีฟและผู้บริหารเล่า

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ปวริศารู้ว่างานแบบนี้แบรนด์มักเลือกสร้างเทคโนโลยีที่ดูเซ็กซี่บนพื้นที่สื่อ แต่อาจไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง ซึ่งตรงกับสิ่งที่สมพัฒน์และคณพรคิด สุดท้ายพวกเขาจึงทดลองทำให้ป้ายรถเมล์ส่งเสียงบอกข้อมูลได้ แม้เป็นไอเดียที่เรียบง่าย แต่แก้ปัญหาได้ตรงจุด

โจทย์ใหญ่ต่อมา คือเราจะให้ป้ายรถเมล์รู้ได้อย่างไรว่ารถเมล์สายนี้กำลังเข้ามา

ในกรุงเทพฯ ตอนนี้มีป้ายรถเมล์และรถที่มีลักษณะเป็น Smart Bus มีระบบเครือข่ายดาวเทียมเชื่อมโยงถึงกัน  

เทคโนโลยีอัจฉริยะนี้มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ถูกนำมาพัฒนาเพื่อใช้งานให้ถูกวัตถุประสงค์มาก ทั้ง FWD ประกันชีวิต ร่วมกับ GREYnJ UNITED คิดวิธีการบอกสายรถเมล์ โดยเริ่มจากรถเมล์ที่วิ่งใกล้ถึงป้าย ระบบดาวเทียมระบุได้ว่ารถนั้นเป็นสายอะไร จากนั้นจะแสดงผลที่หน้าจอบริเวณป้าย และจะมีการส่งเสียงออกมาว่ารถนั้นเป็นสายอะไร เพื่อให้ผู้พิการทางสายตารับทราบและเตรียมตัว

ในขั้นตอนการออกแบบเสียงก็น่าสนใจ โดยทางทีมเทคนิควิจัยมาแล้วว่าการทำให้เสียงออกมาเป็นลักษณะลูปยาวประมาณ 10 วินาที แตกต่างกันทุกสายรถ ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาจำได้มากกว่า ระดับเดซิเบลก็วิจัยร่วมกับโรงเรียนสอนคนตาบอดว่าเป็นระดับที่พอดี เมื่ออยู่ในป้ายที่คนเยอะก็ยังได้ยิน ไม่รบกวนคนรอรถเมล์คนอื่น 

ป้ายรถเมล์พูดได้ ช่วยคนตาบอดขึ้นรถเมล์ง่ายขึ้นด้วยวิธี Offline ที่มีพลังจาก FWD

แคมเปญนี้ทำกับรถเมล์ 46 สาย ซึ่งกะคร่าว ๆ ก็ประมาณเกือบครึ่งของรถเมล์ที่วิ่งในกรุงเทพฯ ส่วนการเลือกสถานี ทีมงานเลือกสายและสถานีซึ่งผู้พิการทางสายตาใช้บริการบ่อยที่สุด เพื่อให้เข้าถึงและแก้ปัญหาตรงกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ 

เรื่องหนึ่งที่ต้องชม FWD ประกันชีวิต คืองานนี้เป็นแคมเปญเพื่อสังคมที่ไม่ได้เน้นเรื่องการให้ ‘แบรนด์ออก’ เลย ปวริศามองว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ถ้าอยากทำงานช่วยคน ก็ต้องช่วยจริง ๆ ให้บรรลุเป้าหมาย

ป้ายรถเมล์พูดได้ ช่วยคนตาบอดขึ้นรถเมล์ง่ายขึ้นด้วยวิธี Offline ที่มีพลังจาก FWD

“องค์กรเราให้ความสำคัญกับงานเพื่อสังคม อยากแก้ไขมันจริง ๆ และเราเชื่อว่ามันจะดีมากถ้างานของเราเป็นจุดเริ่มให้เอกชนเจ้าอื่นเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงสร้างได้ด้วยตัวเอง” ปวริศาเล่า

“มันเป็นการสร้างมาตรฐานที่ดีกับแบรนด์ที่จะทำอะไรแบบนี้จริง ๆ ผมว่าสุดท้ายแบรนด์ได้นะในปลายทาง คนจะเห็นว่าเรามีความตั้งใจจริง บางทีเราไปตะโกนมาก ๆ กลายเป็นการหาประโยชน์เกินไป ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำ” สมพัฒน์เสริม

เมื่อแบรนด์อยากแก้ปัญหาสังคม คำถามที่เราน่าถามก่อน คือวิธีแก้ปัญหานั้นให้ดีที่สุดคืออะไร บ่อยครั้งทางเลือกดังกล่าวไม่ใช่ทางที่ต้องจ่ายแพงที่สุด เป็นทางเลือกที่เรียบง่าย นำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาคิด สร้างสรรค์ ต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

วิธีคิดที่เรียบง่าย ก็แก้ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ได้

หากเราสนใจวิธีการมากกว่าเป้าหมาย ผลลัพธ์ที่ได้อาจเป็นเพียงการแสดงออกมากกว่าการแก้ปัญหาที่แท้จริง

ป้ายรถเมล์พูดได้โดย FWD ประกันชีวิต คือการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เป็นงานที่ทุกคนไม่อยากให้จบแค่แคมเปญ เพราะมีศักยภาพในการขยายใช้ทั่วประเทศ เพื่อให้ชีวิตของคนพิการดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อย่างแท้จริง

ป้ายรถเมล์พูดได้ ช่วยคนตาบอดขึ้นรถเมล์ง่ายขึ้นด้วยวิธี Offline ที่มีพลังจาก FWD

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง