ขายแล้ว 26,000 ชิ้น คือตัวเลขที่ขึ้นกำกับสินค้าเมล็ดกาแฟคั่วขายดีสุดของ ‘The Summer Coffee Company’
หากใครดื่มกาแฟเป็นประจำ คงคุ้นหน้าคุ้นตากับแพ็กเกจจิงสุดน่ารักและกาแฟรสชาติดีที่มียอดขายการันตีมาตรฐาน เพราะพวกเขาได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งการขายกาแฟออนไลน์ แต่ กอล์ฟ-คณิน และ โน้ต-ชุติมา อนันรยา สองผู้ก่อตั้ง ไม่ได้อยากหยุดแค่นั้น
ทั้งคู่เกิดและโตที่กรุงเทพฯ ส่วน The Summer Coffee Company เกิดและโตที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีพนักงาน 80 ชีวิตเป็นคนเมืองเก่าและจังหวัดใกล้เคียงทั้งหมด
จากเริ่มต้นกันเองแค่ 2 คน ปัจจุบันพวกเขาขยายกิจการด้วยการมีหน้าร้าน The Summer Coffee – Old Town เป็นสาขาแรก ขึ้นชื่อว่าเป็นคาเฟ่ที่โด่งดังที่สุดในจังหวัดแม้จะเปิดมาไม่นาน ส่วน The Summer Coffee – Factory เป็นสาขา 2 ที่เพิ่งเปิดใหม่หมาด ๆ ด้วยคอนเซปต์ร้านกาแฟควบโรงคั่วไปในตัว
“เราไม่ได้ตั้งใจเปิดร้านให้เป็นที่ขายกาแฟเท่านั้น แต่เราตั้งใจให้คนเข้ามาที่นี่แล้วสัมผัสประสบการณ์เกี่ยวกับกาแฟให้ได้มากที่สุด” โน้ตเล่า
“เรามีของให้ลองจับ มีกาแฟให้ลองดม จะลองเทน้ำใส่กาหรือลองเล่นก็ได้เต็มที่ เราออกแบบเคาน์เตอร์ให้มีระยะห่างที่บาริสต้าและลูกค้าจะใกล้กันที่สุด เพื่อให้ลูกค้าสอบถามได้ง่ายดาย ส่วนบาริสต้าก็ไม่ต้องหันหลังไปทำงาน เราทำทุกอย่างเพื่อให้คนรู้สึกว่ากาแฟเข้าถึงง่าย”
แต่เราว่าสิ่งที่ยากกว่าการทำให้ลูกค้าประทับใจ คือการฝึกฝนให้พนักงานมีความสุขกับงานที่ทำ ยิ่งในเมืองโบราณที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่เข้มข้น แตกต่างสุดขั้วกับจุดยืนของ The Summer Coffee Company ที่สนุกสนานและเปี่ยมด้วยพลังงานของคนรุ่นใหม่
“เอาตั้งแต่ Job Description คือไม่ต้องใช้คำนี้เลย” กอล์ฟเผยอุปสรรคแรก
“ตอนผมเปิดรับตำแหน่ง Marketing ต้องหาคนมาสร้าง Awareness สร้างงานด้านการตลาด ร้อยละ 100 ที่เข้ามาสมัครกับเราเป็น Sales ทั้งหมด เพราะองค์กรในจังหวัดส่วนใหญ่ เขารวม Sales กับ Marketing ไว้ด้วยกัน”
กอล์ฟพาเราย้อนกลับไปอยุธยาเมื่อ 7 ปีก่อน ตอนที่พวกเขาเริ่มปลุกปั้นบ้านเก่าของที่บ้านให้กลายเป็นร้านอาหาร The Summer House ธุรกิจแรกที่สอดแทรกความชอบส่วนตัวด้วยการขายกาแฟดริป ก่อนจะซื้อเครื่องคั่วแรกในชีวิตเพื่อควบคุมมาตรฐานและต้นทุนเอง จนกระทั่งวิกฤตโรคระบาดเข้ามา ทำให้ธุรกิจร้านอาหารจบลง พวกเขาจึงหันไปชิมลางการขายกาแฟออนไลน์ในเวลาต่อมา
“ตอนทำ The Summer House ทุกคนไม่เข้าใจว่าร้านแบบนี้คืออะไร คุณค่าของมันอยู่ตรงไหน เขาเรียกเราว่าร้านสเต๊กด้วยซ้ำ
“เหตุผลที่กอล์ฟกับโน้ตย้ายมาอยู่อยุธยา คือเราอยากทำองค์กรที่นำเสนอคำว่าชีวิตดี ๆ ไม่จำเป็นต้องเข้าเมืองหลวงไปหางาน แล้วทุกคนก็ทำทุกอย่างเป็นภาพเดียวกัน ออกไปใช้ชีวิตเหมือน ๆ กัน
“เราอยู่ในข้อจำกัดของการหาตลาดแรงงานในอยุธยา เขาไม่ได้คุ้นชินกับกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร คาเฟ่ รวมถึงโลกดิจิทัลต่าง ๆ แต่เราจะสรรหาทุกคนมาจากคนในพื้นที่ให้ได้”
หากถามว่าพวกเขาไปได้ไอเดียแรงกล้านี้มาจากไหน คงเป็นเพราะกอล์ฟจบวิศวกรรมศาสตร์ พ่วงการบริหารจัดการองค์กรจากสหรัฐฯ ทำธุรกิจครอบครัวที่ต้องบริหารบุคลากรกว่า 300 ชีวิตอยู่ราว ๆ 8 ปี ส่วนโน้ตเองจบการออกแบบโดยตรงจากมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมีประสบการณ์ด้านการตลาดอยู่เต็มกระเป๋า เป็นสองมันสมองที่รวมทั้งศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว พวกเขามีฝันอยากทำองค์กรเล็ก ๆ ของตัวเอง และเสน่ห์ของเมืองโบราณก็ทำให้เขาลงหลักปักฐานที่นี่
“ค่าเฉลี่ยอายุของพนักงานเราตอนนี้อยู่ที่ 26 – 27 ปี แต่เหตุผลที่อายุน้อยไม่ใช่ว่าเราเลือกนะ เราไม่มีทางเลือก คนที่สนใจองค์กรอย่างเราและมีศักยภาพที่จะทำงานนั้น ๆ ได้ ส่วนใหญ่เป็นคนที่อายุน้อย ข้อดีคือไฟแรง มีพลัง เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ แต่ข้อเสียที่เราขาดคือความชำนาญ ทุกคนตั้งคำถามหมดว่าวันนี้จะให้เขาเรียนรู้อะไร ทำยังไง เราต้องชวนที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ มาให้ความรู้ มีการจัดอบรมภายใน มีโปรแกรมให้พัฒนาทักษะอยู่เสมอ แค่ต้องยอมรับว่าการได้มาซึ่งคนที่ใช่จะช้ากว่า เพราะว่าตัวเลือกไม่ได้มีเยอะเท่ากรุงเทพฯ
“วันแรก ๆ ที่ทีมบาริสต้าของเราไปร่วมกิจกรรม Cupping ในกรุงเทพฯ เขาคิดว่าตัวเองไม่เหมาะสมกับการไปที่นั่น เพราะรู้สึกว่าเขาไม่มีความรู้ เขามาจากอยุธยา วันนี้เราพาพวกเขามาถึงจุดที่แข่งขันระดับประเทศได้แล้ว”
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะ DNA ความไม่ยอมแพ้ที่จะหยุดเรียนรู้ในตัวของพวกเขาทั้งคู่ กอล์ฟเล่าให้ฟังว่าพวกเขาเคยไปลงแข่งขันทำกาแฟทั้งที่ทำไม่เป็นด้วยซ้ำ หอบหิ้วกันไป 2 คน ท่ามกลางบาริสต้าฝีมือดีมากมายที่มีคนทั้งร้านเป็นกองหนุน
“เราอยากเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ เข้าไปขอเขาเป็นเพื่อน บอกเขาตรง ๆ ว่าไม่ได้มีความรู้หรอก แต่อยากมี”
ยังไงก็ตกรอบ ใครก็รู้ แต่ต้องรอถึงเมื่อไหร่กว่าตัวเองพร้อมลงสนาม
“เราจ้างคนเก่ง ๆ จากกรุงเทพฯ มาเป็นบุคลากร มาอยู่ที่อยุธยากับเราไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย เราต้องสร้างตัวเองให้เป็นคนนั้นให้ได้ เราต้องไปเก็บเกี่ยวข้อมูลมาให้ทีมที่บ้านเรา กอล์ฟกับโน้ตทำทุกตำแหน่งในบริษัทจนกว่าจะรู้ลึกรู้จริง แล้วเราจะตอบทุกคำถามจากลูกค้าได้อย่างโปร่งใส นี่คือสิ่งที่เราอยากเป็น”
เราถามพวกเขาต่อว่าระหว่างการสอนคนคนหนึ่งให้เป็นบาริสต้าที่เก่งขึ้น กับการสร้างเสริมให้พวกเขามีใจรักงานที่ทำ อันไหนยากกว่ากัน
แต่ด้วยความที่อยุธยาเป็นเมืองเล็ก ทำให้เอกลักษณ์หนึ่งของคนที่นี่คือรักพวกพ้องโดยธรรมชาติ พอเข้ามาทำงานในองค์กร สิ่งนี้จึงกลายเป็นข้อได้เปรียบ
“เขารักองค์กรโดยที่ไม่ได้ยากเท่าไหร่” โน้ตว่า ก่อนกอล์ฟจะพยักหน้าเห็นด้วยและเสริมต่อ “เราทำ Team Building กันเยอะมาก ความเจ๋งคือพวกเขาไม่ได้ยึดติดว่าเขาอยู่แผนกไหนเลย วันก่อนบาริสต้าเพิ่งไปไลฟ์ขายของบน Shopee เพราะเพื่อนเขาก็ทำ แล้วเขาเป็นแบบนี้กันตั้งแต่วันแรก”
กอล์ฟเล่าว่าบ่อยครั้งที่พนักงานใหม่เริ่มงานวันแรกด้วยท่าทีตกใจ เพราะที่นี่ใส่กางเกงขาสั้นมาทำงานได้ ยืดหยุ่น สนุกสนาน ไม่เหมือนภาพบริษัทที่เขาเคยรับรู้ แต่แน่นอน พนักงานย่อมรักกันเองก่อน ความรักที่มีให้องค์กรถึงจะตามมาทีหลัง
“เขาไม่ได้เข้าใจว่าองค์กรคืออะไร เขายังเข้าใจว่าองค์กรเท่ากับเพื่อน
“เราต้องทำให้เขาเห็นภาพว่าอาชีพที่เขาทำอยู่จะเติบโตยังไง มีคุณค่าแค่ไหน หลังจากนั้นเขาจะเริ่มมีบทสนทนาที่ทำให้องค์กรเติบโตขึ้น เช่น ทำไมเก็บขนมตรงนี้ เดี๋ยวจะเก่าหมด”
ถัดจากเสริมสร้างด้านความรู้สึก เรื่องเทคนิคก็ต้องไม่พร่องเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ท้าทายองค์กรเล็ก ๆ ในอยุธยาไม่ใช่เรื่องเทคนิคคาเฟ่อื่นใด กลับเป็นงานที่ต้องการระบบ เช่น กลุ่มการวางแผนหรือกลุ่มความคิดสร้างสรรค์เสียมากกว่า
“ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีความรู้นะ แต่ปัญหาคือ เขาไม่เคยเห็นเลย” กระนั้น กอล์ฟก็ยังมองเห็นข้อดี
“พอเขาไม่มีกรอบความคิดเก่ามาครอบ เราก็วางรากฐานที่ดีให้กับเขาใหม่ เช่น ฝ่ายบัญชี เราก็ใช้แอปพลิเคชันบัญชีที่เป็นมาตรฐานถูกต้องตั้งแต่วันแรก ไม่ต้องมานั่งประมวลผลกันใหม่ทุก 3 – 4 เดือน
“เพราะเครื่องจักรหรือสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดในองค์กรเราคือคน เราว่านี่เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้แต่พนักงานรู้สึก คือหนึ่ง เขาเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ สอง เขารับรู้ว่าเรามีใจที่อยากให้เขาได้ดี สิ่งนี้สร้างการมีส่วนร่วมให้ทุกคนรักองค์กรทางอ้อม โดยที่ทั้งเขาและเราไม่รู้ตัว
“ผมเคยชินกับวัฒนธรรมตะวันตก ฉันจ่ายเธอร้อย เธอต้องทำให้ฉันร้อย คุยกันด้วยเรื่องตัวเลขบนกระดาษ แต่วัฒนธรรมแบบไทย ๆ คือเมื่อไรก็ตามที่เราได้ใจเขาแล้ว จ่ายร้อยทำพันก็มีให้เห็น นั่นคือสิ่งที่ผูกใจให้เราไม่ยอมไปเปิดออฟฟิศในกรุงเทพฯ สักที”
ตลอดการพูดคุย คำหนึ่งที่พวกเขาพูดถึงบ่อยมากและแทบจะใช้เรียกแทนพนักงานคือ ‘คน Summer’ เราถามต่อให้หายสงสัยว่านิยามของมันคืออะไรแน่
สำหรับโน้ต คน Summer คือคนที่มองตรงไปที่เป้าหมายและหาวิธีทำให้สำเร็จ จึงไม่แปลกที่ทีมเวิร์กกลายเป็นจุดแข็งขององค์กร เพราะพวกเขาพร้อมที่จะเดินหน้าและปรับเปลี่ยนสู่สิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ
“เราว่าเขาไม่มีกรอบเลย” ส่วนนี่คือนิยามคน Summer สำหรับกอล์ฟ “ถ้ามีรถมาส่งของ เผลอ ๆ บาริสต้ายังอยากวิ่งออกไปเอาของเอง เพราะเขารู้สึกว่านี่คือพื้นที่ของฉัน” เขาขยายความให้เห็นชัดขึ้น
“วัฒนธรรมองค์กรเรา คือมิตรภาพ ความสุข และความสำเร็จ ซึ่งความสุขควรมาก่อนความสำเร็จ เพราะเราใฝ่ฝันอยากทำองค์กรให้เป็นพื้นที่ของงานดี ๆ งานที่มีความสุข แล้วความสำเร็จจะมาเอง เป็นความสำเร็จที่เป็นของพวกเขา ไม่ใช่ของผม”
จากเริ่มต้นกัน 2 คน ดีใจกับลูกค้าวันละ 20 ออร์เดอร์ วันนี้พวกเขาขายได้ไม่ต่ำกว่า 300 ชิ้นต่อวัน แต่เมื่อถามว่าตอนไหนที่ The Summer Coffee Company ตั้งตัวได้ ทั้งคู่กลับมองเห็นแง่อื่นมากกว่ายอดขายสินค้า
“คำว่าตั้งตัวได้คือเรามีทีมที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ เป็น 80 คนที่เราได้ทั้งใจ สมอง และความสามารถของเขา ปล่อยให้ไปค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ได้ ไม่งั้นเราคงล้มลุกคลุกคลานกับการทำสิ่งเดิม ๆ”
ก้าวต่อไปของพวกเขาคือการทำให้ The Summer Coffee Company กลายเป็นกาแฟแก้วโปรดของทุกคน การขยับขยายตัวเองเป็นร้านที่มีหลายสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศจะทำให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น แต่พวกเขามองว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการขยาย คือสร้างพื้นที่ในการเจริญเติบโตให้คนในองค์กรด้วยเช่นกัน
“การที่จะเป็นความสุขของทุก ๆ คนผ่านกาแฟแก้วโปรด มีหน้าร้านอย่างเดียวคงไม่พอ บางคนสะดวกดืื่มกาแฟในตู้เย็น เราก็อยากเป็นกาแฟในตู้เย็นเขา บางคนสะดวกพกในกระเป๋าเดินทาง เราก็อยากไปในรูปแบบนั้น เพื่อให้เราเป็นหนึ่งในแบรนด์กาแฟไทยที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย
“ในมิติขององค์กรเอง เราฝังรากความเป็นคน Summer ในตัวเขา เราอยากให้เขาเติบโต ผลิดอกออกผล ฉะนั้น เราจะเร่งขยายให้ทุกคนมีพื้นที่ที่จะเติบโตในองค์กรเราให้ได้”
แม้จะแนวคิดทำให้ร้านเป็นพื้นที่เปิดประสบการณ์กาแฟ กอล์ฟย้ำว่า เอาเข้าจริง หน้าร้านกาแฟก็คงคล้าย ๆ กันหมด สิ่งที่ทำให้ The Summer Coffee Company แตกต่างคือการอยู่จังหวัดนี้ และอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ธุรกิจนอกเมืองหลวงต่อไป
“คนแรกที่บอกผมว่าทำธุรกิจในอยุธยาเจ๊งแน่คือพ่อผม” เขาเล่า “แต่ผมก็ยังอยากให้กำลังใจว่า การสร้างบุคลากรขึ้นมาในจังหวัดเกิดขึ้นจริงได้ ข้อจำกัดเรามีพอกัน
“หลายคนรู้สึกว่าจังหวัดตัวเองเงียบ หาคนยาก มีเหตุผลในทุกจังหวัดแหละ แต่วันนี้เราทำให้เห็นแล้วว่าอยุธยาที่ตอนนั้นมีแค่วัดกับกุ้งเผาก็สร้างองค์กรที่ดีได้เหมือนกัน
“ผู้ประกอบการควรมองพื้นที่ของตัวเองให้ออก อย่าไปมองพื้นดิน แต่มองสินทรัพย์ด้านอื่น ทั้งแรงงาน ทั้งบุคลากร หรือคนใกล้ตัวว่ามีอะไรเป็นจุดแข็ง ตราบใดที่คุณมีจุดแข็ง คุณสร้างมูลค่าได้ แล้วมันจะมีกำไร”