เชื่อว่าหลายปีที่ผ่านมา กระแสการเติบโตของตลาดกาแฟพิเศษ หรือที่เรียกว่า Specialty Coffee เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในแวดวงกาแฟ และสิ่งที่เติบโตรวมถึงได้รับความสนใจไม่แพ้กัน คือตลาดกาแฟออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ด หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับกาแฟจากโรงคั่วและตัวแทนจำหน่ายต่าง ๆ ที่มาช่วยสร้างความตื่นเต้นและทำให้ตลาดเติบโต ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่สำหรับอุตสาหกรรมกาแฟ 

หากมองถึงเรื่องนี้จริง ๆ แล้ว การเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดออนไลน์เป็นมิติใหม่ของทุกธุรกิจ ส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่ทันสมัย เข้าถึงโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น รวมถึงแพลตฟอร์ม E-commerce ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Website, LINE, Marketplaces รวมถึง Payment Gateway ต่างก็มีความพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกและเอื้อให้ E-commerce เติบโตในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโอกาสใหม่ ๆ สำหรับธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ช่องทางออนไลน์เชื่อมผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าถึงได้ใกล้กันมากขึ้น

ถอดบทเรียน The Summer Coffee Company ในวันที่กาแฟออนไลน์เติบโต จนเป็นโอกาสใหม่ให้ธุรกิจกาแฟแม้ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่
ถอดบทเรียน The Summer Coffee Company ในวันที่กาแฟออนไลน์เติบโต จนเป็นโอกาสใหม่ให้ธุรกิจกาแฟแม้ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมก็เป็นผู้เล่นรายใหม่คนหนึ่งที่เข้ามาในอุตสาหกรรมกาแฟอย่างเต็มตัว ภายใต้แบรนด์ที่ชื่อว่า ‘The Summer Coffee Company’ ซึ่งเปิดมาพร้อม ๆ กับช่วงโควิด-19 

หลายคนอาจสะดุดและคุ้นตาแบรนด์ของเราจากกราฟิกหรือจากเมล็ดกาแฟที่ชื่อ ‘Milkman’ หรือ ‘Mr.Rum Raisin’ หรือบางคนอาจคุ้นกับโรงคั่วที่ทำผลิตภัณฑ์กาแฟแคปซูลหรือกาแฟสกัดเย็นพร้อมดื่ม (Cold Brew) ออกมาเป็นทางเลือกให้คนรักกาแฟที่ยังไม่พร้อมชงจากเมล็ด 

รวมถึงหลาย ๆ คนอาจคุ้นหูจากการที่ The Summer Coffee Company เป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์กาแฟ Fellow Products หรือ Loveramics ในประเทศไทย

ถอดบทเรียน The Summer Coffee Company ในวันที่กาแฟออนไลน์เติบโต จนเป็นโอกาสใหม่ให้ธุรกิจกาแฟแม้ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่
ถอดบทเรียน The Summer Coffee Company ในวันที่กาแฟออนไลน์เติบโต จนเป็นโอกาสใหม่ให้ธุรกิจกาแฟแม้ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่

ตลอดการบริหารงานที่ The Summer Coffee Company ผมยังไม่ชินและเขินทุกครั้งที่ได้รับคำพูดจากเพื่อนในวงการว่าเราเป็นหนึ่งในบริษัทกาแฟที่เติบโตไวมาก ๆ จนบางคนอาจจัดอับดับให้อยู่อันดับต้น ๆ ในโลกของกาแฟออนไลน์ หรือบ้างเรียกเราเป็นเจ้าใหญ่ ซึ่งคำกล่าวเหล่านี้ แน่นอนว่าเป็นกำลังใจที่บอกผมและทีมงานว่าเรากำลังเดินมาถูกทาง แต่ในขณะเดียวกัน พวกเราก็รู้ตัวเป็นอย่างดีว่ายัง ‘ใหม่’ กับทั้งตลาดกาแฟและตลาดออนไลน์ รวมถึงเราเองยังมีการบ้านและความท้าทายอีกมาก

เรายังไม่พร้อมแข่งขันกับ ‘เจ้าใหญ่’ ที่แท้จริงในตลาด เพื่อเป็นแบรนด์กาแฟอันดับต้น ๆ ในใจของคนรักกาแฟทุกคน

การเติบโตของ The Summer Coffee Company นั้นเกิดจากองค์ประกอบหลายส่วน ทั้งภายในและภายนอก 

ผมอยากแบ่งปันทั้งมุมมองและประสบการณ์ตลอดเส้นทางเดินทางของเราให้ทุกคนอ่านครับ

ถอดบทเรียน The Summer Coffee Company ในวันที่กาแฟออนไลน์เติบโต จนเป็นโอกาสใหม่ให้ธุรกิจกาแฟแม้ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่

เนื่องจากทั้งผมและทีมไม่ได้เริ่มและเติบโตจากการมีร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงมายาวนาน ทีมงานเราไม่ได้เป็นแชมป์หรือมีบาริสต้าระดับรางวัลมาก่อน

โรงคั่วเราก็มีขนาดไม่ใหญ่ ยังไม่ได้มีขนาดระดับอุตสาหกรรมที่จะผลิตกาแฟได้ปริมาณมาก 

ก่อนหน้านี้เรามักเห็นโรงคั่วกาแฟที่ดำเนินกิจการในลักษณะ B2B เป็นหลัก ซึ่งมองถึงการขายให้กับร้านกาแฟ หรือ Account ที่บริโภคกาแฟเป็นจำนวนมาก 

ตั้งแต่วันที่ The Summer Coffee Company เริ่มต้น เรารู้ว่าเรามาทีหลัง ครั้นจะดำเนินกิจการในลักษณะเดียวกับเจ้าใหญ่ที่ทำมา เราไม่น่าจะหาจุดแข็ง (Strength) เจอ ยกตัวอย่างเช่น เราคั่วกาแฟ 1 Batch ในเวลาเท่ากันได้ 5 กิโลกรัม แต่เมื่อเทียบกับเจ้าใหญ่ที่อาจได้ถึง 100 กิโลกรัม แน่นอน ต้นทุนเราไม่มีทางสู้เขาได้แน่ ๆ ยังไม่รวม Sourcing หรือ Economy of Scale อื่น ๆ ที่เขาสะสมมา 

ผมเริ่มทำงานจากการเป็นที่ปรึกษา (Consultant) บริษัท Deloitte จึงมีโอกาสทำงานกับผู้บริหารระดับสูงในองค์กรชั้นนำของประเทศ และได้ทำโปรเจกต์หลาย ๆ อย่างที่สอนให้เข้าใจวิธีมองหาโอกาสในตลาด

ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่เหมาะมาก ๆ ที่จะใช้เทคโนโลยีออนไลน์เพื่อขายกาแฟในรูปแบบ B2C ซึ่งอาจยังไม่ได้เป็นตลาดที่เจ้าใหญ่ต่าง ๆ สนใจมากนัก ผนวกกับความเป็นตัวตนของเราที่สนใจสร้างมูลค่าให้สินค้า รักและชอบบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ และเชื่อว่ามีลูกค้าอีกจำนวนมากที่มองหาผลิตภัณฑ์หรือเรียกว่าเสพผลงานจากทีมงานที่ตั้งใจทำสินค้าที่มีคุณภาพ 

นั่นเป็นก้าวแรกในการสร้างความแตกต่างของสินค้า ในวันที่เราเริ่มเข้าสู่ตลาดกาแฟอย่างเต็มตัว

เราเห็นว่าตลาดกาแฟพิเศษกำลังโต และเราเชื่อว่าผู้บริโภคให้ความสนใจกับกาแฟ ไม่ใช่แค่เพียงราคาถูกเท่านั้น การที่มีโรงคั่วกาแฟทำให้เราคัดสรรเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพและควบคุมการผลิตให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มองหากาแฟมีคุณภาพและหลากหลาย แต่แน่นอน สิ่งนี้คือตลาด Retail หรือการค้าปลีก 

การที่โรงคั่วเล็ก ๆ อย่างเราจะเข้าถึงกลุ่มตลาดนี้ได้ต้องอาศัยการสื่อสารที่ดี ซึ่งวันนั้นเราใช้ Online Marketing มาช่วยสื่อสารมูลค่า (Value) ที่อยากนำเสนอให้กับลูกค้า รวมถึงการขายผ่านช่องทางออนไลน์ (E-commerce) ซึ่ง ณ วันนั้นยังเป็นลักษณะการคุยโต้ตอบ หรือที่ว่า Chat Commerce มากกว่าการใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้วยซ้ำ

ถอดบทเรียน The Summer Coffee Company ในวันที่กาแฟออนไลน์เติบโต จนเป็นโอกาสใหม่ให้ธุรกิจกาแฟแม้ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่

องค์กรเราอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในช่วงแรก ๆ ค่อนข้างท้าทายในการจะหาทีมงานที่เข้าใจในธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะการค้าปลีกในโลกออนไลน์ เนื่องจากต้องคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ธุรกิจภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาส่วนใหญ่เป็นโรงงาน เนื่องจากมีหลายนิคมตั้งอยู่ ตลาดแรงงานส่วนใหญ่มักคุ้นชินกับธุรกิจ B2B จึงเป็นไปได้ยากที่จะได้ทีมงานที่มีประสบการณ์ตรงสาย 

ในช่วงแรก ๆ ทุกครั้งที่เราหาตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาด หรือ Marketing เพื่อมาสร้างการรับรู้ (Awareness) หรือคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้กับสินค้า เรามักได้เจ้าหน้าที่ขายหรือเซลส์แทน เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ที่เป็น B2B มักควบรวม Sales & Marketing เข้าด้วยกัน 

ด้วยข้อจำกัดนี้ เราจึงมองหาบุคลากรโดยไม่อิงจาก Job Specification หรือ Qualification ของผู้สมัคร แต่ดูที่สมรรถนะ (Competency) หรือความเป็นไปได้ (Potential) ว่าผู้สมัครจะเรียนรู้สิ่งที่เราทำได้หรือไม่ ซึ่งวิธีหาบุคลากรดังกล่าวทำให้เราได้แต่คนรุ่นใหม่ ซึ่งไป ๆ มา ๆ องค์กรเรามีโครงสร้างคล้าย ๆ กับสตาร์ทอัพภายในจังหวัดยังไงก็ไม่รู้ 

แต่ด้วยข้อจำกัดนี้ เราจึงสร้างทีมคนรุ่นใหม่จากคนในจังหวัดที่เติบโตและถูกหล่อหลอมมากับวัฒนธรรมความเป็นคน The Summer Coffee Company ไม่ว่าจะเป็นการคุ้นเคยกับการทำสิ่งใหม่ตลอดเวลา ความเชื่อในระบบงาน การทำงานภายในองค์กรที่ค่อนข้างเป็นแนวราบ (Flat Organization) รวมถึงการทำงานที่ต้องใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีในทุกกระบวนการ ซึ่งวัฒนธรรมและวิธีทำงานแบบนี้กลายเป็น ‘โอกาส’ ให้ผมขับเคลื่อนทั้งองค์กรและงานได้อย่างไว และพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (เอาจริง ๆ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เราเปลี่ยนวิธีทำงาน วิธีคิดอยู่ตลอดเวลา) แน่นอนว่าอาจเป็นเรื่องยากในการทำงานสำหรับหลาย ๆ คน แต่สำหรับทีมงาน The Summer Coffee Company แล้ว กลับกลายเป็นเรื่องที่ทำให้พวกเราตื่นตัวและสนุกกับทุกความสำเร็จเล็ก ๆ ในแต่ละก้าวของพวกเรา 

เหตุนี้ทำให้เราสร้างทีม E-commerce ภายในองค์กรที่มีวัฒนธรรมและองค์ความรู้ภายในทีม ซึ่งเป็นกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในโลกออนไลน์อย่างทุกวันนี้

จากประสบการณ์ตรงนี้สอนผมว่า จริง ๆ แล้วประเทศไทย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เต็มไปด้วยบุคลากรที่น่าสนใจและมีเสน่ห์มาก ๆ ถ้าเรามองหาจุดแข็ง ทักษะ และดึงศักยภาพของพวกเขาเหล่านั้นออกมาได้ 

ก่อนที่ผมจะมาทำ The Summer Coffee Company อย่างเต็มตัว ผมบริหารองค์กรในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการในบริษัท IT ที่กรุงเทพฯ มาอยู่ร่วมเกือบ 10 ปี ซึ่งไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศและวัฒนธรรมของคนที่อยู่ต่างจังหวัด แต่พอได้อยู่และได้ทำขึ้นมาจริง ๆ กลับมีความเชื่อว่าชีวิตดี ๆ ของคนรุ่นใหม่ในต่างจังหวัดสร้างได้จากการมีงานที่ดี มีความสุขที่ได้อยู่ในบ้านเกิด และทำงานที่ตัวเองรักควบคู่กันไปโดยไม่ต้องเดินทางหรือแข่งขันที่จะไปงานหาในฝันที่กรุงเทพฯ และหากสิ่งนี้เกิดขึ้นในทุก ๆ จังหวัดก็คงจะดี 

ผมเชื่อว่าแต่ละจังหวัดก็มีจุดแข็งที่ต่างกันไป 

ประเทศเราจะสร้างความน่าสนใจในแต่ละพื้นที่ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศ ไม่ต่างจากเวลาเราไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วอยากไปเห็นทั้งความเจริญและความน่าสนใจที่แตกต่างกันในแต่ละเมืองของเขา

ถอดบทเรียน The Summer Coffee Company ในวันที่กาแฟออนไลน์เติบโต จนเป็นโอกาสใหม่ให้ธุรกิจกาแฟแม้ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่

ในองค์กรเรามีวัฒนธรรมบริการที่ให้ความสำคัญมาก ๆ คือการ ‘สร้างความประทับใจ’ ให้กับลูกค้า และสิ่งนั้นทำให้พวกเราทุกคนอยากมาทำงานและช่วยกันสร้างให้ลูกค้าของเรา

ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากที่ผมเติบโตและใช้ชีวิตช่วง ม.ปลาย และปริญญาโทในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่คุ้มครองผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เราคืนของอะไรก็ตามที่ซื้อมาแล้ว ‘ไม่พอใจ’ ได้ โดยขอคืนเงินได้ทันทีหากสินค้านั้นซื้อมาไม่เกิน 1 ปี ไม่ว่าคุณจะใช้แล้วหรือสภาพไม่เหมือนเดิม เพียงแค่เดินไปคืนและบอกว่าไม่ถูกใจ ไม่ดีพอ หรืออะไรก็ตาม ผมจึงชินกับการทำธุรกิจที่ต้องทำให้ลูกค้าประทับใจและไม่อยากคืน 

พอผมกลับมาทำงานที่เมืองไทย ผมได้สัมผัสกับวัฒนธรรมการบริการของประเทศเรา ซึ่งน่าสนใจกว่างานบริการในประเทศแถบตะวันตกที่ทำเพราะระบบบอกให้ทำหรืออาจเพราะกลัวกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ผมคิดว่านี่เป็นจุดเด่นของทุกธุรกิจในบ้านเรา คนไทย ‘มีใจบริการ’ ผมในฐานะผู้บริหารจึงพยายามสร้างใจบริการแบบไทยผนวกเข้ากับระบบบริการเพื่อสร้างความประทับใจในแบบตะวันตก ออกมาเป็นวัฒนธรรมการสร้างความประทับใจเป็นเอกลักษณ์ของ The Summer Coffee Company

สำหรับผม การขายเมล็ดกาแฟออนไลน์เป็นธุรกิจที่ต้องสร้างความประทับใจมาก ๆ เนื่องจากผมเชื่อว่าเราอยู่ไม่ได้หากลูกค้าซื้อแค่ครั้งเดียว การซื้อซ้ำจากลูกค้าเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นรายได้หล่อเลี้ยงองค์กรให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน แน่นอนว่าการจะสร้างฐานรายได้ประจำจากลูกค้าคนเดิมหรือเรียกว่า Recurring Revenue แบบนั้นต้องมาจากการสะสมความประทับใจของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เรื่องของกาแฟ หากคุณภาพของเมล็ด การคั่ว และการบรรจุอยู่ในมาตรฐานใกล้เคียงกัน รสชาติเป็นอะไรที่ค่อนข้างเฉพาะตัว วัดได้ยากว่าเจ้าไหนอร่อยกว่ากัน แต่สิ่งที่วัดได้แน่นอนคือความประทับใจในประสบการณ์ที่ได้รับจากโรงคั่วนั้น ๆ ตั้งแต่วันที่เขาเริ่มสนใจกาแฟเรา จนถึงวันที่เขาซื้อกาแฟเราไปแล้ว หากคนเคยซื้อกาแฟกับ The Summer Coffee Company ก็คงเข้าใจว่าเราให้ความสำคัญกับ ‘ความประทับใจ’ เป็นอย่างมาก และเอาใจใส่กับการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีในทุกรายละเอียด 

ถอดบทเรียน The Summer Coffee Company ในวันที่กาแฟออนไลน์เติบโต จนเป็นโอกาสใหม่ให้ธุรกิจกาแฟแม้ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่

แน่นอนว่าความประทับใจนั้น ‘ต้องสร้าง’ หาใช่เสน่ห์ไม่ 

ในปี 2011 ผมเป็นนักศึกษาปริญญาโทที่ Brown University เรียนเกี่ยวกับ Innovation Management & Entrepreneurship โปรแกรมของผมทำให้ได้เจอและพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารของ Apple เราทุกคนรู้กันดีว่า Apple เป็น Tech Company แต่สิ่งที่น่าประทับใจคือเป็น Tech Company ที่มีนวัตกรรมด้านการบริการแซงโค้งทุกอุตสาหกรรม ในช่วงปี 2011 นวัตกรรมด้านการบริการหรือ Service Innovation เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจและพูดถึงกันอย่างมาก หากใครเคยมีโอกาสได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของ Apple จะทราบดีว่าเขาสร้างมาตรฐานการให้บริการลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นทั้งก่อนซื้อและหลังซื้อได้อย่างละเอียด ในทุกกระบวนการ เขาใช้ทั้งข้อมูลและเทคโนโลยีมาช่วย เขาจึงส่งมอบงานบริการที่ตรงโจทย์และตรงใจลูกค้า และที่สำคัญ เขาปรับแต่งกระบวนการทำงานให้เป็นงานบริการแบบเฉพาะของแต่ละคน ซึ่งหลายบริษัทใฝ่ฝัน แต่ยังทำไม่ได้

ปัจจุบันเราโชคดีที่อยู่ในยุคที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายและราคาย่อมเยาลงมากมาช่วยสร้างความประทับใจในทุกกระบวนการทำงานกับลูกค้า 

ที่ The Summer Coffee Company เราเริ่มตั้งแต่พัฒนาระบบ CRM (Customer Relationship Management) มาตั้งแต่วันแรก เรารู้จักลูกค้าทุกคน รู้ว่าเขาสนใจอะไร ชอบอะไร เคยซื้ออะไรกับเรา กำลังตำหนิหรืออยากให้เราแก้ไขเรื่องอะไร เนื่องจากเรามีข้อมูล แต่สิ่งที่มากกว่าข้อมูล คือมีระบบที่วิเคราะห์ข้อมูลได้ Real-time เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า รวมถึงดูแลความไม่พึงพอใจให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ

เราพัฒนาระบบซื้อ-ขาย ระบบจัดส่ง เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า วันนี้มาตรฐานงานบริการด้านการจัดส่งหรือ SLA นั้นทำให้เราจัดส่งสินค้าทุกออร์เดอร์ได้ภายในวันเดียว (สำหรับลูกค้าที่สั่งมาก่อนเที่ยงตรง) และยังมีระบบติดตามการขนส่ง รวมไปถึง Call Center ที่เรียกว่า Your Online Barista คอยตอบคำถาม แก้ปัญหา รวมถึงคุยเรื่องกาแฟกับลูกค้า เปรียบเสมือนเพื่อนของทุก ๆ คน ไม่ว่าเขาจะมีความเข้าใจด้านกาแฟเป็นอย่างดี หรือเพิ่งเริ่มสนใจและอยากลองทำกาแฟเอง

ถอดบทเรียน The Summer Coffee Company ในวันที่กาแฟออนไลน์เติบโต จนเป็นโอกาสใหม่ให้ธุรกิจกาแฟแม้ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่

คำถามที่ผมมักถูกถามอยู่เรื่อย ๆ คือทำแบบไหน ทำอย่างไร คำถามเหมือนจะถามหา ‘สูตร’ ที่ทุกคนอาจคิดว่าเรามีวิธียิงโฆษณาหรือมีวิธีเฉพาะบางอย่างที่ส่งผลให้มียอดซื้อเข้ามาจำนวนมาก

ความเป็นจริงแล้วเราก็ทำเหมือนทุก ๆ คน ผมเคยเชื่อว่าคงมีวิธีลัดหรือสูตรบางอย่างในการโฆษณาหรือการขายออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จได้โดยเร็ว แต่ผลลัพธ์ของความเชื่อเหล่านั้นทำให้ผมมักอกหักทุกครั้งที่ได้ลอง

ก่อนที่จะไปพูดถึงคำศัพท์ยาก ๆ ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Awareness, Conversion, SEO, Ads Optimization หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าเราอาจต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องสินค้าและมูลค่าสินค้าของเราในสายตาผู้บริโภคกันก่อน

ก่อนอื่น ผมมักรู้สึกว่าพวกเราโชคดีที่ทำกาแฟ เนื่องจากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่คนให้ความสนใจอยู่แล้วเป็นทุนเดิม และไม่ได้ต้องการนวัตกรรมอะไรมากมายในการผลิตเพื่อสร้างความแตกต่าง เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ดังนั้นผมคิดว่าทุนในกระเป๋าคือพูดคำว่ากาแฟ เชื่อว่าลูกค้าเองก็เริ่มอยากหันหน้ามาหาเราระดับหนึ่งแล้ว ที่เหลือคือการสร้าง ‘มูลค่า’ ให้ลูกค้ารู้สึกว่าเขาควรซื้อกาแฟจากเรา ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีแตกต่างกันไป 

มูลค่าหนึ่งที่ The Summer Coffee Company มักทำ คือการสร้างมาตรฐานของคุณภาพ ผมเชื่อว่าสำหรับลูกค้าของเรา เราอาจไม่ใช่โรงคั่วกาแฟที่ได้คะแนนว่าอร่อยที่สุดในตลาด แต่เป็นกาแฟที่ ‘ชัวร์’ มาก หมายถึงซื้อกับเรากี่ทีก็ไม่ค่อยเหวี่ยง ไม่ค่อยแตกต่างจากเดิม ซื้ออะไรก็ได้สิ่งนั้น เป็นของตรงปก ตรงไปตรงมา ซึ่งเรื่องนี้ผมก็แนะนำว่ามีหลากหลายวิธีที่ใช้สร้างมูลค่าในสินค้า แล้วแต่ว่าเลือกหยิบเลือกใช้กัน

สิ่งที่สำคัญ คือต้องยอมรับว่าธุรกิจค้าปลีกอย่างเรา ๆ โดยเฉพาะการค้าปลีกบนโลกออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอรอบตัวเรา เพราะโลกออนไลน์ไม่ได้มีเราแค่คนเดียว มีทั้งคู่แข่งและทั้งคู่ค้าที่พร้อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงสื่อออนไลน์ต่าง ๆ กระแสความสนใจก็เปลี่ยนตลอดเวลา กำลังฝึกทำ Ads บน Facebook ยังไม่ทันไร TikTok ก็มาซะแล้ว เพิ่งเริ่มลงรูปขายบน LINE ไม่ทันไร Lazada กับ Shopee ก็มาแรงซะงั้น 

แต่พอเริ่มบวกลบคูณหารตัวเลขตั้งราคาขายได้ไม่ทันไร อ้าว! ไหงค่านู่นค่านี่ในแต่ละแพลตฟอร์มก็เปลี่ยนซะงั้น สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเปลี่ยนเร็วมาก ๆ ด้วยสิ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนเกิดจากการแข่งขันทั้งนั้น อย่าลืมว่าหากเราทำได้ คู่แข่งก็ทำได้ อันนี้เป็นเรื่องปกติ ยิ่งทุกอย่างอยู่ที่ปลายนิ้ว มันช่างง่ายซะเหลือเกิน

ดังนั้น เราควรเปลี่ยนแปลงและพร้อม ‘ปรับตัว’ อยู่ตลอดเวลา ขอให้มั่นคงอยู่กับการที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับตัว เพื่อสร้างมูลค่าให้สินค้ามากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเห็นในผลงานเรามากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีที่จะสร้างความแตกต่าง (Differentiation) ระหว่างเรากับคู่แข่ง และเมื่อเรามีมูลค่าเพียงพอ ถึงแม้สิ่งรอบข้างจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร สุดท้ายลูกค้าจะรับรู้ได้ถึงสิ่งที่เราต้องการส่งมอบ และเขาจะเป็นคนช่วยเรา คอยมองหาเรา และคอยอุดหนุนเรา เพื่อให้เราอยู่รอดและเติบโตในโลกของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้

ผมเองก็คอยติดตามและคอยมองตลาดกาแฟอยู่ตลอด และตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อเห็นผลงานใหม่ ๆ หรือสินค้าใหม่ ๆ จากเพื่อนในวงการกาแฟ สำหรับผม ผมรู้สึกยินดี เพราะพวกเราทั้งวงการต้องช่วยกันสร้าง เพื่อให้ทั้งอุตสาหกรรมของเราเติบโต ตลาดกาแฟเป็นตลาดใหญ่มาก มีพื้นที่พอสำหรับผู้ประกอบการทุกคน ขอเพียงช่วยกันสร้างสินค้าที่สร้างสรรค์ โดนใจผู้บริโภค คู่แข่งของ The Summer Coffee Company ไม่ใช่โรงคั่วอื่น ๆ แต่คู่แข่งของเราคือใจของลูกค้า เราต้องชนะใจเขาให้ได้ ให้เขาอยากกินกาแฟและรักกาแฟ จนกลายเป็นวัฒนธรรมดื่มกาแฟเหมือนที่เห็นกันในประเทศแถบตะวันตก

ในปีที่ผ่านมาผมได้เห็นโรงคั่วใหม่ ๆ เกิดขึ้น และขณะเดียวกันหลายโรงคั่วที่โตมาพร้อม ๆ กับเราก็เริ่มเงียบลง ซึ่งเหตุผลหลักที่มักเจอคือการที่ Marketplace ต่าง ๆ ปรับค่าดำเนินการสูงขึ้น กำไรจึงน้อยลง ซึ่งสำหรับบางโรงคั่วที่ยังหาจุดที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มไม่ได้ก็มักใช้กลยุทธ์ด้านราคา 

อาจจะดูเป็น Quick Win ในวันแรก หรือกลยุทธ์ในการทำสินค้าตามกระแส (Adopt) อะไรฮิตก็ทำสิ่งนั้นทั้ง ๆ ที่อาจยังไม่ถนัดหรือมีความได้เปรียบ ก็อาจทำให้แข่งขันในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้ไม่ได้

ผมมองว่าตลาดกาแฟและตลาดกาแฟออนไลน์ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

แหม จะไม่เติบโตได้อย่างไร เราเอา Commodity Goods มาสร้าง Value กันขนาดนี้ แถมยังมี Online Marketing คอยยั่วลูกค้าทุกวันว่าอะไรใหม่ อะไรดี ยังไงก็เติบโต! ยังไม่รวมถึงเอา Retail ย้ายมาบนหน้าจอมือถือ มันช่างสะดวกในการจับจ่ายอะไรขนาดนั้น แต่แน่นอนว่าความหวานหอมของตลาดแบบนี้ใคร ๆ ก็อยากมาเล่น

ผมเชื่อว่าสินค้ากาแฟนั้นค่อนข้างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ลูกค้าต้องการกาแฟอร่อย บริการที่ดี ราคาสมเหตุสมผล ดังนั้น หากเราดำเนินธุรกิจที่สร้างสินค้าที่มีคุณภาพและราคาสอดคล้องกับมูลค่านั้น ผมคิดว่าไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของ Social Media หรือแพลตฟอร์มใด ๆ ยังไง ลูกค้าก็ยังคิดถึงกาแฟแก้วโปรด จาก ‘เจ้าโปรด’ ของเขาอยู่ดี เพื่อให้กาแฟในแก้วทุกเช้าของเขาเป็นแก้วโปรดอย่างเดิม

Website : thesummercoffee.com

Writer & Photographer

คณิน อนันรยา

คณิน อนันรยา

ชายหนุ่มที่เติบโตมาในครอบครัวที่ประกอบธุรกิจด้าน IT ใช้ชีวิตวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งเข้าสู่โลกของวัยทำงาน เริ่มต้นอาชีพจากการเป็นวิศวกร ที่ปรึกษา นักวิจัย รวมถึงอาจารย์ปริญญาโท จนกระทั่งปี 2015 ผันตัวเองมาสู่วงการกาแฟ เริ่มจากผู้ดื่ม กลายเป็นผู้ชง จากผู้ชงกลายเป็นผู้แข่งขัน จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในสนาม Thailand’s National Barista Championship 2023 ปัจจุบันเป็นผู้บริหารองค์กรกาแฟภายใต้แบรนด์ The Summer Coffee Company