“ในหนังสือสังคมสมัย ป.4 เขียนว่าชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย ทำลายป่า เราเถียงครู ครูก็มาตีเรา”

จั๊มพ์-ณัฐดนัย ตระการศุภกร เล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตที่แม้ทุกวันนี้ก็ยังมีคนไม่น้อยเข้าใจผิดเช่นนั้น 

จั๊มพ์คือชาวปกาเกอะญอแท้ ๆ ที่มีโอกาสเข้ามาเรียนในเมืองตั้งแต่เด็ก เขาเรียนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยทำงานด้านการตลาดในกรุงเทพฯ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพื่อทำงานกับชุมชน ชวนชุมชนสร้างแบรนด์น้ำผึ้งป่า HOSTBEEHIVE จนในวันนี้เขาก้าวมาอีกขั้นด้วยการร่วมกับเพื่อน ๆ ในชุมชนและนอกชุมชนสร้างพื้นที่สื่อสารของชนเผ่าพื้นเมืองที่ชื่อว่า ‘The Rotate เพื่อให้คนเมืองได้เข้าใจความเป็นชนเผ่ามากขึ้น

“พอเราได้ทำงานกับชุมชนหลาย ๆ แห่ง ทำให้เราได้เจอเรื่องราวน่าสนใจจากแต่ละชุมชนเยอะมาก หนึ่งหมู่บ้านเราได้เจอผู้รู้ในแต่ละด้าน นักปฏิบัติการในแต่ละด้าน ทุกครั้งเราจะคุยกันออกรสออกชาติมาก เราก็เลยคุยกันว่าอยากให้เรื่องราวเหล่านี้สื่อสารสู่สังคมเหมือนที่เราได้สัมผัส”

นับตั้งแต่ ‘ฮ่อวอ’ หรือมินต์ปกาเกอะญอที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ไปจนถึงเรื่องราวการฟื้นฟู ‘ป่าผู้หญิง’ ที่ทำให้ชุมชนแห่งนั้นได้รับรางวัลระดับโลก คือเรื่องราวบางส่วนที่ซ่อนอยู่ในผืนป่าที่ The Rotate ชวนให้เราได้รับรู้

ภูมิปัญญากลางป่าใหญ่

“ไร่หมุนเวียนไม่ใช่แค่พื้นที่เกษตร แต่เป็นพื้นที่ที่ซ่อนองค์ความรู้และภูมิปัญญาไว้เยอะมาก มันมีจิตวิญญาณอยู่ในนั้น เราไม่ได้ปลูกแค่ข้าว แต่ในไร่หมุนเวียนยังเต็มไปด้วยความหลากหลาย ผู้หญิงปกาเกอะญอมีบทบาทสำคัญมากในการดูแลเรื่องอาหาร วัตถุดิบ เมล็ดพันธุ์ คนเหล่านี้คือสารานุกรมด้านอาหาร ไม่ใช่แค่พืชในไร่หมุนเวียน 200 กว่าชนิดเท่านั้น แต่ยังมีในป่าอีกเป็นพัน สมุนไพรหลังบ้านอีกหลายร้อยที่พวกเขาต้องรู้จัก” 

หนึ่งในของดีที่ซ่อนอยู่ในไร่หมุนเวียนที่จั๊มพ์เล่าให้เราฟังก็คือ ‘ฮ่อวอ’ หรือ ‘มินต์ปกาเกอะญอ’ ที่ 1 ปีจะมีผลผลิตแค่เดือนเดียว หากไปถามชาวปกาเกอะญอถึงความพิเศษของสมุนไพรชนิดนี้ พวกเขาก็อาจตอบว่าช่วยล้างพิษในตับ หากนำคำถามเดียวกันไปถามเชฟสมัยใหม่ อาจได้คำตอบว่ามีการผสมผสานของรสชาติที่หลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ หากไปถามลูกค้าที่ซื้อมินต์นี้ไปก็อาจได้รับคำแนะนำว่าไปต้มเป็นชาแล้วรสชาติดีมาก

 “เราอยากให้คนรู้ว่าไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย แต่ถ้าเราจะสื่อสารว่าไร่หมุนเวียนคืออะไร…1 2 3 4 ก็คงไม่มีใครอยากฟัง เราเลยใช้ความคิดสร้างสรรค์สื่อสารออกมาในรูปของ ‘ครัวกะเหรี่ยง’ เพราะทุกคนเชื่อมโยงกับอาหารได้ ใครกินอาหารกะเหรี่ยงก็ต้องติดใจ เรื่องครัวกะเหรี่ยงจึงเป็นพื้นที่ให้แม่ ๆ ได้สื่อสารภูมิปัญญาด้านอาหารและความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตพวกเขา เมื่อเราพูดถึงมินต์ปกาเกอะญอ นั่นคือเราพูดถึงความเป็นฤดูกาล ความพิเศษของรสชาติที่ปลูกได้แค่ในไร่หมุนเวียนเท่านั้น เมื่อคนสนใจมินต์ เขาก็จะตั้งคำถามเองว่าชนิดนี้มาจากไหน ไร่หมุนเวียนคืออะไร เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการชวนคนให้มารู้จักเรา” 

กิจกรรม ‘ครัวกะเหรี่ยง’ ที่จั๊มพ์พูดถึงคือหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในงาน The Rotate Festival เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรวมชุมชนปกาเกอะญอทั่วประเทศมาไว้ในงานเดียวกัน มีทั้งการแสดงดนตรีของชนเผ่า การออกร้านชุมชน เวทีเสวนา เวิร์กช็อปหมักปลาร้าสไตล์กะเหรี่ยง โอมากาเสะกาแฟป่า เวิร์กช็อปชิมน้ำผึ้งป่า การทำสีย้อมธรรมชาติ ฯลฯ 

นอกจากภูมิปัญญาด้านอาหารที่รุ่มรวยแล้ว จุดเด่นของชาวปกาเกอะญออีกอย่างคือความเชื่อและวัฒนธรรมที่ผูกโยงกับการอนุรักษ์ทรัพยากร เช่น ป่าเดปอหรือป่าสะดือ พ่อแม่จะนำรกของเด็กแรกเกิดใส่กระบอกไม้ไผ่ไปแขวนตามต้นไม้ในป่า ซึ่งต้นไม้ต้นนั้นจะกลายเป็น ‘ขวัญ’ หรือต้นไม้ประจำตัวของเด็กคนนั้น ห้ามใครมาตัด 

“ในความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ คนหนึ่งมีขวัญประจำตัวถึง 37 ชนิด ซึ่งมีอยู่ในตัวแค่ 5 ชนิด ที่เหลืออยู่ในธรรมชาติ ทั้งในนก ในผีเสื้อ ในหอยทาก ในจิ้งหรีด ในชะนี นี่คือกุศโลบายที่ทำให้พวกเขามีจิตวิญญาณเดียวกับธรรมชาติ เรามีเรื่องอะไรแบบนี้เยอะมากที่อยากให้คนภายนอกได้รับรู้”

เจ๊ะเปอะแก กึ๊ บือเตอะเปอะแก กึ๊… ถ้ามีเงินเต็มกระบุง แต่ข้าวไม่เต็มกระบุง เราจะอยู่ไม่ได้ … 

นี่คือ บทธา หรือคำสอนของชาวปกาเกอะญอ ซึ่งแสดงถึงการให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารเหนือเงินทอง

“ในช่วงโควิดทำให้เห็นความหมายของ บทธา นี้ชัดเจนมาก ในเมืองเราลำบากกัน แต่ในหมู่บ้านปกาเกอะญอเขาอยู่ได้สบาย ทำให้ช่วงนั้นมีคนรุ่นใหม่กลับบ้านมากขึ้น” 

นักปฏิบัติการชุมชน

การปรับตัวให้ทันโลกสมัยใหม่ ในขณะที่รักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้ให้ได้ คือโจทย์สำคัญของคนปกาเกอะญอในยุคนี้ในมุมมองของจั๊มพ์ และนี่ก็คือภารกิจของ ‘นักปฏิบัติการชุมชน’ ซึ่งส่วนใหญ่คือเยาวชนในพื้นที่ที่ตัดสินใจกลับมาบ้านเกิด 

“อย่างที่บ้านสะเนพ่อง ทุ่งใหญ่นเรศวร คนรุ่นใหม่รวมตัวกันเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าชุมชนอยู่กับป่าได้ มีการสร้างแบรนด์ของตัวเองชื่อ ‘เหม่ยละ’ แปลว่าป่า โดยใช้ต้นทุนจากในพื้นที่ทั้งหมด มีการรวมทีมแม่บ้านทำปลารมควัน กาแฟโรบัสต้า ภายใต้โจทย์ที่ว่าพวกเขาจะกลับมาอยู่บ้านและอยู่รอดได้ในโลกปัจจุบันโดยไม่ต้องกลับออกไป” 

ส่วนที่หมู่บ้านห้วยอีค่าง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลจากเมือง ทำให้วิถีสมัยใหม่และเกษตรเชิงเดี่ยวแทรกซึมเข้าไปมาก เงินทองมีบทบาทมากขึ้น จนคนในหมู่บ้านหลายคนเป็นโรคซึมเศร้า 

“วันหนึ่งก็เกิดปฏิบัติการในชุมชนโดยชวนกันลุกขึ้นมาฟื้นฟู ‘ป่าผู้หญิง’ ปลูกพืชเสริมเข้าไปในป่า แล้วป่าผืนนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แม่ ๆ ได้รวมกลุ่มทำงานด้วยกัน ทำแป้ง ทำขนม ทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ แปรรูปอาหาร แล้วก็ชวนกันมาดูแลตัวเอง ทำสมุนไพรแช่มือแช่เท้า อบตัว” 

เมื่อสายสัมพันธ์ในชุมชนกลับมาเข้มแข็ง ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนกลับมาอุดมสมบูรณ์ ชุมชนก็เริ่มยืนได้ด้วยตัวเองมากขึ้น เกิดแบรนด์ผ้าสีธรรมชาติของชุมชนที่ชื่อ CHE SU MO แปลว่า ‘ผ้าของแม่’ เกิดการท่องเที่ยวชุมชน โฮมสเตย์ พาคนเดินป่า ไปจนถึงการร่วมกันฟื้นฟูประเพณีดั้งเดิมที่เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากร เช่น รื้อฟื้นพิธีสืบชะตาน้ำ รื้อฟื้นแนวคิดป่าสะดือ รวมถึงกำหนดกติกาการใช้ทรัพยากรร่วมกัน จนทำให้หมู่บ้านนี้ได้รับรางวัล FIMI Leadership Award จากองค์กรระดับโลกที่ชื่อ International Indigenous Women’s Forum จนถึงขั้นมีนักศึกษาจากต่างประเทศบินมาดูงาน

“เวลาไปออกบูท คนอาจเห็นแค่ว่าชุมชนนี้ผ้าสวย แต่ที่จริงมีเบื้องลึกเบื้องหลังเยอะมาก บทบาทของผู้หญิงที่นี่แข็งแรงมาก และเมื่อเขาทำในหมู่บ้านตัวเองจนเข้มแข็งแล้ว ก็กระจายแนวคิดสู่หมู่บ้านอื่น ๆ เราได้เห็นแม่ ๆ เป็นกระบวนกรเอง นำสันทนาการเองเลยนะ เราเห็นแล้วยังทึ่ง นี่คือสิ่งที่คนนอกไม่รู้ พลังเหล่านี้แหละที่เราอยากสื่อสารออกมา” 

หมุนเวียนความคิด หมุนเวียนชีวิต

งานของกลุ่ม The Rotate ไม่ใช่เพียงการบอกเล่าเรื่องราวของชนพื้นเมืองสู่คนภายนอกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเป็นพื้นที่ให้ชุมชนปกากะญอจากต่างพื้นที่ได้มารู้จักกัน เชื่อมโยงกัน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน 

“อย่างเช่นในงาน The Rotate Festival ชาวปกาเกอะญอฝั่งภาคเหนือก็ได้มาพบกับฝั่งป่าตะวันตก เราเห็นแม่ ๆ แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันสนุกสนานเลย หรือน้องบางคนที่ทำเรื่องผ้าก็ได้ไปเจอกับอีกชุมชนที่ทำเรื่องผ้าเหมือนกัน ก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน สิ่งที่น้อง ๆ สะท้อนมาคืองานนี้นอกจากจะได้เพื่อนเพิ่มขึ้นแล้ว เขายังได้ไอเดียกลับไปต่อยอดที่บ้านด้วย” 

หมุนเวียนเพื่อเปลี่ยนโลก 

คือข้อความที่ปรากฏอยู่บนโลโก้ของกลุ่ม The Rotate ซึ่งสื่อความหมายของการหมุนเวียน ทั้งในเชิงการหมุนเวียนทรัพยากร การแลกเปลี่ยนหมุนเวียนทางความคิด รวมถึงวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับวงจรของธรรมชาติ 

“แนวคิดของความหมุนเวียนไม่ได้มีแค่ในชาวปกาเกอะญอเท่านั้น แต่เป็นแนวคิดที่ชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกมีร่วมกัน ตอนที่เราไปอินเดียก็พบว่าชนพื้นเมืองของเขาทำไร่หมุนเวียนเหมือนเราเลย ต่างกันแค่ชนิดพืช ชนพื้นเมืองที่ฟิลิปปินส์ เมียนมา มาเลเซียก็เหมือนกัน หรือตอนที่ไปตะวันออกกลางหรือเคนยา เราเห็นเขาตั้งกระโจมกลางทุ่งหญ้าหลายหมื่นไร่และหมุนเวียนพื้นที่เลี้ยงสัตว์ แม้แต่ทางภาคใต้ของเรา ชาวอูรักลาโวยจก็มีการจับปลาแบบเวียนพื้นที่ คำว่า Rotate จึงเหมาะสมมาก ๆ สำหรับเป็นตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง”

หัวใจของการทำเกษตรแบบหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่ การเลี้ยงสัตว์ หรือการทำประมง คือการเว้นระยะให้พื้นที่นั้นได้ฟื้นฟูตัวเอง โดยการหมุนเวียนพื้นที่ที่มีอยู่ จากพื้นที่ A ไปพื้นที่ B ไปพื้นที่ C เมื่อครบแล้วก็วนกลับมาที่เดิม ซึ่งต่างจากไร่เลื่อนลอยที่เป็นการใช้พื้นที่เดิมซ้ำ ๆ จนดินหมดแร่ธาตุ แล้วย้ายพื้นที่ใหม่ไปเรื่อย ๆ 

ในยุคที่ผืนป่าเหลือน้อยลงทุกที ความเข้าใจตรงนี้คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเชื่อว่าคนอยู่กับป่าได้ถ้ามีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง และทำให้แนวคิดการอนุรักษ์ผืนป่ากับหลักสิทธิมนุษยชนดำเนินไปควบคู่กันได้ โดยไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

รู้จักเพื่อเข้าใจ เข้าใจเพื่ออยู่ร่วมกัน

“สมัยเด็ก ๆ เพื่อนที่เป็นชนเผ่าหลายคนไม่กล้าบอกว่าตัวเองเป็นชนเผ่าเพราะกลัวถูกล้อ” 

จั๊มพ์เล่าถึงหนึ่งในปัญหาที่ชนเผ่าต้องเจอนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าทุกวันนี้ความเข้าใจของสังคมจะพัฒนาขึ้น แต่ความไม่เท่าเทียมหลายอย่างก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะในเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน สถานะทางกฎหมาย การไม่ได้รับสัญชาติ ซึ่งส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสวัสดิการ ไปจนถึงอคติที่นำไปสู่การเหยียดเชื้อชาติหรือละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรม

“เรื่องพวกนี้มีมาตลอดไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่การต่อสู้ในประเด็นเหล่านี้ในยุคปัจจุบันอาจไม่ใช่การไปถือป้ายประท้วงเหมือนเมื่อก่อน แต่เราใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสื่อสารออกมาได้ ซึ่ง The Rotate เราไม่ได้พูดว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง แต่เราพูดผ่านอาหารที่ทุกคนเข้าถึงได้ ผ่านเสียงดนตรีที่ทุกคนเข้าถึงได้ ผ่านกิจกรรมผ้ามัดย้อมที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ เราสร้างเพื่อนจากสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้คนได้มารู้จักวัฒนธรรมและองค์ความรู้ของเรา” 

การทำความรู้จักคือหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความเข้าใจ มองเห็นคุณค่า และมองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชนพื้นเมือง ซึ่งนั่นก็จะนำไปสู่สังคมที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ในขณะที่รักษาความสวยงามแห่งความหลากหลายของวัฒนธรรมเอาไว้ 

“ในอนาคตเราก็อยากให้พื้นที่ The Rotate ไม่ได้มีแค่เรื่องของชนเผ่าปกาเกอะญอ แต่รวมไปถึงชนพื้นเมืองอื่น ๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกด้วย” จั๊มพ์สรุป 

“เราอยากเห็นคนชนเผ่ารู้สึกภูมิใจในตัวตนของตนเอง ภูมิใจในองค์ความรู้ของตนเอง เพราะการที่เราจะอยู่ได้ในโลกสมัยใหม่ต้องไม่ใช่ไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่เราต้องมองย้อนกลับมาหาตัวเองด้วย เราถึงจะไปได้ไกล”

ติดตาม The Rotate ได้ที่ Facebook : Rotate

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย