เหตุการณ์กรุงแตกใน พ.ศ. 2310 ที่เรารู้จักกันจากตำราเรียนบ้าง ภาพยนตร์บ้าง ละครบ้างนั้น เราทราบข้อมูลจากจดหมายเหตุและพงศาวดาร ซึ่งส่วนมากเป็นเอกสารแบบทุติยภูมิ เขียนจากความทรงจำ เรื่องเล่า หรือพรรณนาเหตุการณ์แบบรวบสั้น ๆ เช่น จุลยุทธการวงศ์ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา หลายเอกสารก็เขียนเชิงโวหารจนเหมือนวรรณกรรม จนเกิดข้อสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์กรุงแตก เช่น พม่าไม่ได้เผากรุงศรีอยุธยา หรือเผาแต่เผาเฉพาะใจเมืองหรือศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์อย่างพระราชวัง สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาคาใจของนักประวัติศาสตร์เรื่อยมา

แต่มีหลักฐานเล่มหนึ่งที่เขียนขึ้นอย่างละเอียด พรรณนาพฤติการณ์ของกองทัพพม่า ขุนนางและราชสำนักไทยไว้ได้มากที่สุด เนื่องจากตัวผู้บันทึกเห็นเหตุการณ์โดยตรงด้วยตาตนเอง ทั้งยังออกรบและถูกพม่าจับเป็นเชลยด้วยตนเองอีกด้วย นั่นคือบันทึกของ ท่านสังฆราชปิแอร์ บรีโกต์ (Pierre Brigot) สังฆราชคาทอลิกท่านสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ที่นำทัพคริสตชนออกปกป้องเมืองเช่นเดียวกับทหารสยามอื่น ๆ ถึง 2 ครั้งระหว่างสงครามพระเจ้าอลองพญาและสงครามกรุงแตกครั้งที่ 2 ที่ยืดเยื้อเกือบ 2 ปี

กระนั้น บันทึกของท่านกลับถูกนำไปเรียบเรียงใหม่โดยนักเขียนชาวฝรั่งเศสที่ไม่เคยมาเมืองสยามเลย คือ ฟรังซัว ตุรแปง เราจึงเรียกจดหมายเหตุเกี่ยวกับเมืองสยามชุดนี้ว่า ‘จดหมายเหตุตุรแปง’ ชื่อของปิแอร์ บรีโกต์ จึงลืมเลือนไปไม่คุ้นหูนักประวัติศาสตร์ชาวสยามเท่าใดนัก

สุสานที่ฝังร่างท่านสังฆราชปิแอร์ บรีโกต์
ภาพ : พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี

ไปเยี่ยมหลุมศพที่ถูกลืม

เมื่อต้นปีนี้ ผมได้ไปเที่ยวเมืองปอนดิเชอร์รีในอินเดียใต้โดยบังเอิญ ตามคำโฆษณาว่าเป็นเมือง ‘ริเวราน้อย’ ที่สวยงามราวกับเมืองชายทะเลในฝรั่งเศส แม้ว่าสภาพที่แท้จริงจะค่อนข้างแตกต่างจากฝรั่งเศส

ร่องรอยของการแบ่งแยกชาวพื้นเมืองและชาวฝรั่งเศสตามระบบอาณานิคมยังคงอยู่ มีร่องคลองที่แบ่งเมืองคนผิวขาวกับชาวอินเดียออกจากกัน อาคารหลายหลังที่ถูกคลื่นสึนามิซัดเมื่อ 20 ปีก่อน แม้จะซ่อมแซมแล้ว แต่ก็ไม่ได้ถูกต้องตามหลักสถาปัตยกรรมดั้งเดิม แต่ชุมชนคริสตังที่นี่ยังคงเข้มแข็ง พวกเขาใช้วัฒนธรรมทมิฬในการนมัสการพระเจ้า โบสถ์จำนวนมากยังคงงดงามเต็มไปด้วยชาวอินเดียผู้เปี่ยมศรัทธา ที่ ‘วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล’ อาสนวิหารประจำเมืองกำลังมีพิธีแต่งงาน ถึงแม้ว่าชาวอินเดียจะยินดีให้แขกแปลกหน้าเข้าชมพิธีกรรมแบบทมิฬ แต่เราชาวสยามก็รู้สึกเหนียม จึงออกไปเดินข้างโบสถ์

วัดแม่พระปฏิสนธินิรมลแห่งปอนดิเชอร์รี

ผมนึกขึ้นได้ว่ามีหลุมศพหนึ่งที่เมืองปอนดิเชอร์รีเป็นที่วางร่างของท่านสังฆราชปิแอร์ บรีโกต์ สังฆราชคาทอลิกท่านสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา จึงออกเดินตามหาในแนวสุสานเล็ก ๆ ข้างๆ โบสถ์ ก็เจอหลุมศพของท่านจริง ๆ ดูเหมือนมีอะไรบางอย่างคล้ายกับโชคชะตาทำให้เจอท่านโดยบังเอิญ เพราะแม้แต่อาสนวิหารแห่งนี้ก็ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมของเรามาตั้งแต่แรก

หลุมศพที่พำนักสุดท้ายของท่านเงียบเหงาอยู่ท่ามกลางป่าช้าบาทหลวงกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง มีร่องรอยพวงมาลัยเหี่ยวแห้งแบบอินเดียคล้องอยู่ ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับประวัติศาสตร์ที่มีสีสันในชีวิตจริงของพระสังฆราชบรีโกต์

หลุมศพของท่านสังฆราชปิแอร์ บรีโกต์ สังฆราชองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ในวัดแม่พระปฏิสนธินิรมลแห่งเมืองปอนดิเชอร์รี อินเดีย
(ปี 1741 คือปีที่ท่านได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราช ที่มะนิลา ฟิลิปปินส์)

บิชอปองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา

หลังจาก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2231 ตามด้วยการปฏิวัติของ สมเด็จพระเพทราชา และความขัดแย้งทางการเมืองกับกลุ่มทางฝรั่งเศส ความโปรดปรานของราชสำนักที่เคยมีต่อกลุ่มคนต่างชาติต่างศาสนาก็สิ้นสุดลง ราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่สถาปนาขึ้นใหม่ด้วยแรงหนุนของขุนนางกลุ่มอนุรักษนิยมไม่ยินดีกับการที่มีชุมชนต่างชาติต่างภาษาเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยามากนัก มิพักจะกล่าวถึงความสำคัญระหว่างประเทศและการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศในทวีปยุโรปอย่างฝรั่งเศส

สมเด็จพระเพทราชา และ พระเจ้าเสือ ทรงต้อนรับชาวต่างชาติอย่างเย็นชา แม้ว่าจะไม่ทรงลงพระอาชญาชุมชนคาทอลิก แต่ก็ไม่สนับสนุนอย่างออกหน้าออกตาเหมือนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (กระนั้นพระเพทราชาก็ยังพระราชทานเงินสร้างวัดนักบุญยอแซฟ ที่อยุธยาให้เสร็จตามที่พระนารายณ์ทรงดำริไว้ ดูเหมือนว่าพระองค์จะแยกแยะระหว่างเรื่องทางการเมืองที่ขัดแย้งกับทหารฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์กับกลุ่มมิชชันนารีฝรั่งเศสคณะ MEP ที่ทำงานให้โรมได้ว่าเป็นคนละกลุ่มกัน)

วัดนักบุญยอแซฟที่อยุธยาในปัจจุบัน

แต่ต่อมาหลายครั้งก็เกิดการกระทบกระทั่งทางวัฒนธรรมขึ้น จนศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาต้องห้าม สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงตราพระราชบัญญัติประกาศมิให้ชาวไทย ลาว มอญ นับถือ แต่ก็มิได้ห้ามกลุ่มชนชาติอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีพื้นฐานรากเหง้าแบบพุทธศาสนาเถรวาทนับถือได้ เช่น ชาวโคชินไชน่า (ญวน) ชาวจีน หรือฝรั่งชาติต่าง ๆ ก็ยังคงปฏิบัติศาสนกิจของตนได้เหมือนเดิม กระนั้นก็ดี พระราชบัญญัติใหม่นี้ทำให้งานแพร่ธรรมในหมู่คนไทยเป็นไปไม่ได้ บรรดามิชชันนารีจึงต้องหันไปหากลุ่มชุมชนจีน ญวน และฝรั่งลูกครึ่งดั้งเดิมแทน สถานการณ์คริสต์ศาสนาในยุคนี้จึงค่อนข้างเงียบงันและซบเซา

ในช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวง สังฆราชฝรั่งเศสนามว่า ปิแอร์ บรีโกต์ ได้รับสถาปนาเป็นผู้นำกลุ่มคริสตชนชาวสยาม ท่านเดินทางไปรับการอภิเษกถึงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้รับยศให้ครองเขตสังฆมณฑล Tabraka เมืองคริสต์โบราณในตะวันออกกลางที่ล่มสลายไปแล้ว (เป็นปกติของสังฆราชที่เป็นมิชชันนารีแพร่ธรรมในดินแดนห่างไกล ซึ่งยังไม่มีพื้นที่สังฆมณฑลชัดเจน จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นสังฆราชในเมืองคริสต์โบราณในตะวันออกกลาง ซึ่งมักจะร้างไปแล้ว) และกลับมาเริ่มงานในสยามใน พ.ศ. 2300 โดยมีศูนย์กลางที่วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา ที่ซึ่งเป็นชุมชนชาวโคชินไชน่าขนาดใหญ่

ภาพวัดนักบุญยอแซฟสมัยกรุงศรีอยุธยาตามจินตนาการของผู้เขียน

ท่านสังฆราชบรีโกต์ดูแลกลุ่มคริสตชนในสยามเป็นอย่างดี ตามแต่กำลังของท่านจะอำนวยให้เดินทางไปได้ โดยในขณะนั้น กลุ่มคาทอลิกใหญ่ในสยามมีไม่กี่แห่ง ได้แก่ กรุงศรีอยุธยา จันทบุรี บางกอก พิษณุโลก เพชรบุรี ตะนาวศรี มะริด และถลาง ซึ่งห่างไกลเกินกว่าที่จะเดินทางไปดูแลได้ครบถ้วน

เมื่อ พระเจ้าอลองพญา นายบ้านมุกโชโบ ผู้รวมแผ่นดินพม่าเป็นปึกแผ่นและสถาปนาราชวงศ์คองบองขึ้นได้แล้ว เป็นเสมือนธรรมเนียมของกษัตริย์พม่าผู้รวมราชอาณาจักรได้ มักจะหันมามองกรุงศรีอยุธยาในลำดับสุดท้าย เพราะกรุงศรีอยุธยานั้นอยู่ไกลเกินไปประการหนึ่ง ประการที่ 2 คือกรุงศรีอยุธยาแม้จะเป็นราชอาณาจักรใหญ่ แต่ก็ไม่มีเขตแดนชนกับพม่าโดยตรง มีรัฐอื่น ๆ คั่นกลาง ได้แก่ ล้านนา มอญ ทวาย และไทใหญ่ จึงไม่ใช่ศัตรูที่จำเป็นต้องจัดการให้เด็ดขาดอย่างเร่งด่วน แต่พม่ามองอยุธยาเป็นเสี้ยนหนามที่คอยยุยงส่งเสริมให้ราชอาณาจักรมอญกำเริบขึ้น ทั้งยังคอยหนุนหลังพวกไทยใหญ่ให้ก่อกบฏในสมัยพระนเรศวร

อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายเป็นมิตรกับพม่าในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ทำให้อาณาจักรมอญเสื่อมอำนาจทางการทหารลง มอญเรือนแสนไหลหลั่งหนีสงครามพม่าเข้ามาในสยามกลายเป็นแรงงานเพื่อสร้างพระนคร

พระเจ้าอลองพญา 1 ใน 3 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งชนชาติพม่า
ภาพ : Britannica

ตามที่ราชสำนักสยามต้องการ แต่รัฐกันชนหรือ Buffer State ที่เคยกางกั้นอำนาจพม่าไว้เป็นเวลากว่า 150 ปีกลับทลายลง เมื่อผนวกกับกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ที่มีความเข้มแข็งอย่างพระเจ้าอลองพญา ก็ทำให้กรุงศรีอยุธยาค่อย ๆ อ่อนแอลงและพ่ายแพ้ได้ในที่สุด

ในสงครามพระเจ้าอลองพญาเมื่อ พ.ศ. 2301 นั้น มีข่าวว่าพม่ายกกองทัพมาบุกไทย พระยาพระคลังส่งสาส์นถึงท่านสังฆราชบรีโกต์ให้รวบรวมกลุ่มคริสตังออกรบ ท่านรวบรวมไพร่พลชายได้ 100 คน ราชสำนักให้กวาดต้อนกลุ่มคริสตังจากวัดนักบุญยอแซฟเข้าไว้ในป้อมในเขตพระนคร

แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยนิด แต่พวกเขาได้ทำการปกป้องเขตกำแพงอย่างกล้าหาญ ขณะที่ท่านบรีโกต์มอบหมายให้บาทหลวงท่านอื่น ๆ พานักเรียนในโรงเรียนของท่านหนีลงไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ว่าที่ด่านขนอนจะมีการขึงโซ่กั้นแม่น้ำมิให้พลเมืองอยุธยาเล็ดรอดออกไปได้ แต่เมื่อนายด่านขนอนเห็นว่าเป็นฝรั่งที่พูดภาษาสยามได้ก็ปล่อยให้ล่องออกไป ทรัพย์สินและนักเรียนในวิทยาลัยจึงปลอดภัย

ตำแหน่งที่ตั้งวัดนักบุญยอแซฟในอดีต ผู้เขียนดัดแปลงจากแผนที่โดยสำนักพิมพ์มติชน

เมื่อสิ้นสงครามเพราะพระเจ้าอลองพญาเสด็จสวรรคตด้วยเหตุอันไม่ทราบแน่ชัด (อาจจะปืนใหญ่แตกเหมือนในพระราชพงศาวดารไทย หรือประชวรท้องร่วงเหมือนในพงศาวดารพม่า ขณะที่ท่านบรีโกต์กล่าวว่าประชวรในระยะทางก่อนถึงกรุงศรีอยุธยา 3 วัน) ราชสำนักก็เรียกท่านสังฆราชบรีโกต์ไปชมเชยที่เหล่าคริสตังได้ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง พร้อมพระราชทานผ้าแพรดำที่เปื่อยแล้วให้ผืนหนึ่ง ซึ่งท่านบันทึกไว้ว่ามันอยู่ในสภาพไม่ดีแล้ว แต่ก็ไม่อาจโทษกษัตริย์ได้ เนื่องจากขุนนางสยามที่รับราชโองการนำรางวัลมาพระราชทานมักเล่นแร่แปรธาตุอยู่แล้ว บรรดาคริสตังที่ออกรบได้รับเงินรางวัล บางส่วนก็ได้รับพระราชทานยศให้เป็นขุนนาง

การที่ท่านบรีโกต์ยันทัพพม่าที่เข้ามาตีเมืองทางทิศใต้ แถบปากคลองท่อและคลองตะเคียน อันเป็นตำบลหรือค่ายคริสตังได้สำเร็จนั้น ทำให้ชุมนุมคริสตังเข้มแข็งและมีจำนวนผู้คนมากขึ้น แต่กระนั้น สภาวะในราชสำนักกลับอ่อนแอลง พระเจ้าอุทุมพร พระอนุชาของ พระเจ้าเอกทัศ ทรงหลีกเลี่ยงความขัดแย้งด้วยการออกผนวชอีกครั้งใน พ.ศ. 2305 มีข้าราชบริพารเสด็จออกผนวชพร้อมกันเป็นจำนวนมาก

พระบรมสาทิสสลักษณ์พระเจ้าเอกทัศ

ราชสำนักสยามเข้าสู่เวลาสงบสุขในช่วงสั้น ๆ อีกไม่กี่ปี แม้ว่าจะมีการเตรียมตัวรับทัพ แต่ก็เป็นไปอย่างหละหลวมและดูไม่จริงจังนัก มีสัญญาณของศึกสงครามส่งมาที่กรุงหลายครั้ง เช่น ในกรณีที่เจ้าเมืองทวายผู้กบฏต่อราชสำนักพม่า ส่งบรรณาการมาให้ราชสำนักสยามช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาอย่างใด จนทัพอังวะลงมาตีทวาย มะริด ตะนาวศรี และเผาบ้านเมืองจนเรียบ ราชสำนักสยามกลับคิดว่าเป็นเรื่องการปราบกบฏภายในของพม่า และคงจะยกทัพกลับไปเอง แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อได้เมืองทวายแล้ว ทัพอังวะก็รุกเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาได้ในเวลาไม่นาน

ในสงครามกรุงแตกที่ยืดเยื้อกว่า 2 ปีนั้น พ.ศ. 2309 ทัพพม่ามาประชิดพระนคร กลุ่มคริสตชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศใต้แถบคลองตะเคียนอาสาออกรบกับทัพพม่า โดยท่านสังฆราชบรีโกต์เป็นผู้นำหลัก สงครามยาวนานยืดเยื้อในปีรุ่งขึ้นคือ พ.ศ. 2310 พม่ายกทัพใหญ่มาถึงค่ายนักบุญยอแซฟอีก ครั้งนี้ท่านสังฆราชไม่อาจต้านทานจำนวนที่มากกว่าได้ พม่าเข้ายึดวัดพุทธฝั่งตรงข้ามโบสถ์นักบุญยอแซฟและระดมยิงปืนใหญ่จนผนังโบสถ์ทะลุเป็นรูพรุน ข้างชาวคริสต์ในค่ายก็ระดมยิงปืนกลับ ทำให้ค่ายพม่าได้รับความเสียหายเช่นกัน

ภาพสันนิษฐานหมู่บ้านโปรตุเกสในอดีตโดยผู้เขียน

ท่านบรีโกต์ไม่อาจต้านทานทัพพม่าได้ เพราะค่ายของท่านมีเพียงรั้วไม้ที่ไม่แข็งแรงนัก แม้ว่าแม่ทัพพม่าจะให้สัญญาว่าจะไม่ทำอันตรายค่ายนักบุญยอแซฟ แต่ที่สุดทัพอังวะก็กวาดเอาทรัพย์สินต่าง ๆ ไปจนหมด โบสถ์ทุกหลังถูกปล้น ทั้งโบสถ์คณะโดมินิกัน และโบสถ์เซนต์ปอลของคณะเยซูอิต ไม่มีอะไรเหลือแม้แต่ไม้เครื่องบน

พวกคริสตังบางกลุ่มหนีออกไปทางตะวันออกได้ แต่ตัวท่านสังฆราชเองถูกจับเป็นเชลยพร้อมกับกลุ่มคริสตชนของท่านราว 300 คน พม่าปล้นวัดพุทธและฆ่าพระสงฆ์มากมาย บางวันท่านได้เห็นพระสงฆ์ถูกฆ่าถึง 20 รูป บ้านเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ส่วนพระเจ้าอยู่หัวที่ท่านเรียกว่าเป็น ‘กษัตริย์โรคเรื้อน’ นั้น เสด็จหนีออกนอกพระนครไปได้ไม่ไกลก็เสด็จสวรรคตเพราะอดอาหาร

แผนที่ชุมชนชาวต่างชาติทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา ผู้เขียนดัดแปลงจากแผนที่โดยสำนักพิมพ์มติชน

ส่วนสถานการณ์ในค่ายโปรตุเกสที่อยู่ด้านใต้ของเมือง มีโบสถ์คาทอลิกอีก 3 โบสถ์ บาทหลวงเยซูอิตรูปหนึ่งหนีมาพึ่งท่านสังฆราชบรีโกต์ที่ค่ายนักบุญยอแซฟเพราะความกลัวและขาดอาหาร ท่านก็รับรองไว้เป็นอย่างดี โดยไม่คิดถึงความขัดแย้งที่มีมาก่อน พม่าได้ยึดวัดพนัญเชิงซึ่งเป็นชุมชนของชาวจีนเอาไว้เพื่อเป็นป้อมค่ายเนื่องจากมีกำแพงและผนังโบสถ์สูงใหญ่ และบังคับให้ชาวจีนออกไปหาเสบียง เมื่อพวกเขาได้อาหารกลับมาก็ถูกพม่าฆ่าฟันจนตายสิ้น เนื่องจากวัดพนัญเชิงอยู่ติดกับบ้านฮอลันดาซึ่งเป็นกลุ่มโปรแตสแตนต์ พวกพม่าจึงเข้าเผาบ้านฮอลันดา และมองลงไปถึงบ้านโปรตุเกสทางทิศใต้ ที่นั่นยังมีบาทหลวงอีก 2 คนที่นำกลุ่มคริสตชนโปรตุเกสออกสู้รบ แต่ก็ถูกพม่าทำลายหมู่บ้านและกวาดทั้งหญิงและชายไปเป็นเชลยจนสิ้น

ชีวิตใหม่ที่อินเดีย

พระสังฆราชบรีโกต์เมื่อกลายเป็นเชลยของกองทัพพม่าแล้ว ท่านก็ถูกปล้นทรัพย์ไปจนหมด เสื้อผ้าอาภรณ์ของนักบวชก็ถูกเปลื้องไปจนเหลือแต่ร่างกายเปลือยเปล่า มีเพียงพระคัมภีร์เล่มเดียวที่ติดตัวไปกับท่าน คอยช่วยปลอบประโลมใจให้เกิดความหวัง ระหว่างทางเดินอันแสนไกลไปยังพม่าเป็นทางป่า พวกเชลยเอาท่านลงเรือไปยังบางช้าง (อัมพวา) แล้วจากนั้นจึงออกเดินทางไปยังเพชรบุรี ข้ามเขตเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งไม่มีหมู่บ้านสักแห่งเดียว มีเพียงผืนป่ากว้างใหญ่ที่ใช้เวลาเดินทาง 1 เดือนพอดีจึงจะถึงเมืองทวาย

โบสถ์นิกายอาร์เมเนียนที่ย่างกุ้ง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2309 สันนิษฐานว่าพระสังฆราชบรีโกต์อาจเคยไปเยือน

เมื่อกองทัพเดินทางไปจนถึงย่างกุ้ง ท่านยอมขายแหวนประจำตำแหน่งเพื่อซื้ออาหารช่วยเหลือเพื่อนเชลยด้วยกัน ท่านได้รับความช่วยเหลือจากชาวคริสเตียนนิกายอาร์เมเนียนคนหนึ่งที่แนะนำเรือของชาวอังกฤษให้ท่านขึ้นไปพักผ่อนจากอาการบาดเจ็บจากการเดินทางไกลได้

ที่พม่า ท่านบวชบาทหลวงพื้นเมืองให้เป็นสังฆราชดูแลเขตการปกครองอังวะต่อไป ทั้งยังตัดสินคดีความข้อพิพาทของกลุ่มบาทหลวงที่นั่นด้วย ในที่สุด เมื่อหาเรือฝรั่งเศสได้ลำหนึ่ง ท่านก็เดินทางออกจากพม่าไปยังเมืองปอนดิเชอร์รี เมืองท่าอาณานิคมขนาดเล็กของฝรั่งเศสในแถบทมิฬนาฑู ทางใต้ของอินเดียอีกด้วย

เมืองปอนดิเชอร์รีในปัจจุบัน
ภาพ : My Simple Sojourn

ปอนดิเชอร์รีเป็นเมืองฝรั่งเศสเล็ก ๆ ที่ปัจจุบันได้ชื่อว่าริเวราน้อย เพราะบ้านเมืองและสถาปัตยกรรมถูกสร้างขึ้นแบบอาณานิคมฝรั่งเศส แม้ว่าในอินเดีย อังกฤษจะมีอำนาจปกครองทางการเมืองและการทหารมากกว่า แต่ฝรั่งเศสก็รักษาเมืองน้อยนี้ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และใช้เป็นเมืองพักสินค้าระหว่างเดินทางไปยังโคชินไชน่า ที่เมืองชายทะเลอันสวยงามแห่งนี้ ท่านสังฆราชบรีโกต์ได้เริ่มงานใหม่ของท่านในฐานะหัวหน้าบาทหลวง ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น ‘สังฆราชแห่งทาบราคา’

ที่ปอนดิเชอร์รี งานแพร่ธรรมเริ่มต้นได้เพียงเล็กน้อย มีเพียงโบสถ์เล็ก ๆ ประจำป้อมปืนของชาวฝรั่งเศสที่พวกเขาเชิญนักบวชคณะโดมินิกันเข้ามาทำงานประจำป้อม ขณะเดียวกันก็มีบาทหลวงเยซูอิตที่เดินทางออกจากสยามมาดูแลที่นี่ด้วย นอกจากชาวคาทอลิกแล้ว ปอนดิเชอร์รียังมีชุมชนพ่อค้าชาวอาร์เมเนียนที่นับถือนิกายออร์โธดอกซ์ สังฆราชของพวกเขาก่อตั้งวัดแม่พระแห่งปวงเทวาขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรม แต่นิกายนี้เป็นมิตรที่ดีต่อชาวคาทอลิก เมื่อสังฆราชอาร์เมเนียนชราภาพลง จึงมอบวัดนี้ให้ท่านบรีโกต์ดูแลต่อไป

วัดแม่พระแห่งปวงเทวา ปอนดิเชอร์รี แต่เดิมเป็นวัดของนิกายอาร์เมเนียน ก่อนที่บาทหลวงชราภาพจะมอบให้ท่านบรีโกต์ดูแล จึงกลายเป็นวัดคาทอลิก

ต่อมามีบรรดาคริสตชนอินเดียที่หลบหนีภัยสงครามจากอินเดียใต้ขึ้นมาอยู่ในปอนดิเชอร์รีอีก ทำให้ภารกิจการดูแลชาวคริสต์ของท่าน (ซึ่งเพิ่งจะหลบภัยมาจากกรุงศรีอยุธยา) เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ด้วยความที่ท่านสังฆราชบรีโกต์เคยทำงานในวิทยาลัยสงฆ์ (บ้านเณร) ที่กรุงศรีอยุธยามาก่อน ท่านจึงมีความปรารถนาจะสืบทอดพันธกิจบวชชาวพื้นเมืองเป็นบาทหลวงต่อไป แต่สภาพแวดล้อมของวิทยาลัยสงฆ์ในอินเดียแตกต่างจากกรุงศรีอยุธยา เพราะที่อินเดียประกอบด้วยเณรจากหลายชาติ ทั้งจีน และอันนัม ขณะเดียวกัน บรรดาเณรชาวอินเดีย แม้ว่าจะเป็นชาวคริสต์ แต่กลับได้รับอิทธิพลทางวรรณะจากศาสนาฮินดูอย่างเคร่งครัด วัฒนธรรมนี้เป็นเรื่องที่ยากที่จะล้มล้าง ชาวอินเดียไม่ต้องการเรียนในโรงเรียนเดียวกับชาวต่างชาติที่พวกเขาถือว่าเป็นพวกนอกวรรณะ ท่านบรีโกต์จึงริเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นอีกแห่งสำหรับให้เณรชาวอินเดียศึกษาโดยเฉพาะ

คริสตังชาวทมิฬยังคงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบพื้นเมืองเวลาเข้าร่วมพิธีกรรม

เรื่องการดูแลชาวคริสต์ก็เช่นกัน ในปอนดิเชอร์รีแม้จะเป็นเมืองคาทอลิกของฝรั่งเศส แต่ชาวคาทอลิกเหล่านั้นมีพื้นเพมาจากหลากหลายชาติ พูดภาษาแตกต่างกันบ้าง ยึดมั่นในวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนบ้าง หรือมีความรังเกียจบาทหลวงชาติใดชาติหนึ่งเป็นพิเศษบ้าง ดังนั้น ท่านบรีโกต์จึงแบ่งงานให้บรรดาบาทหลวงคณะต่าง ๆ ทำตามความเหมาะสม เช่น คณะกาปูชินและคณะโดมินิกันดูแลชาวยุโรปที่อยู่ในเมือง ส่วนคณะเยซูอิตที่เข้ามาทีหลัง มีพันธกิจดูแลชาวอินเดียคริสต์และชุมชนชาวยูเรเชียน (ลูกครึ่งยุโรปที่เกิดในเอเชีย) ท่านบรีโกต์จึงตกลงใจที่จะลงหลักปักฐานทำงานใหม่ของท่านที่เรียกว่า ‘พันธกิจคาร์เนติก’ ในอินเดีย แทนที่จะกลับไปกรุงศรีอยุธยา (ซึ่งท่านรู้เห็นเป็นพยานการฆ่าและเผาทำลายเมืองจนกลายเป็นเถ้าถ่าน และไม่คิดว่าจะฟื้นฟูขึ้นได้อีกต่อไปได้) ขณะเดียวกัน เมื่อมีเวลาว่างท่านก็เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่ฝรั่งเศสด้วย

เมื่อคณะเยซูอิตเข้ามาตั้งมั่นในปอนดิเชอร์รีแล้ว ตัวท่านบรีโกต์ในฐานะสังฆราชก็ให้การสนับสนุนการสร้างอาสนวิหารแห่งใหม่ วัดแห่งนี้ชื่อว่า ‘แม่พระปฏิสนธินิรมล’ (Immaculate Conception) เช่นเดียวกับวัดที่ท่านเคยดูแลในบางกอก แต่สร้างขึ้นอย่างใหญ่โตตามศิลปะบาโรก กลายเป็นอาสนวิหารประจำเมืองที่สร้างขึ้นร่วมสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่น่าเสียดายที่ว่าท่านเสียชีวิตลง 1 ปีก่อนอาสนวิหารจะเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม ตัวอาคารแห่งนี้คงใช้ศึกษารูปแบบงานศิลปะบาโรกในเอเชียในช่วงเวลาที่ท่านมีชีวิตอยู่ได้เป็นอย่างดี

ชีวิตของสังฆราชบรีโกต์เป็นชีวิตของบุคคลในศตวรรษที่ 17 ที่เต็มไปด้วยสีสันและความศรัทธา แสดงให้เราเห็นบทบาทของกลุ่มคริสตชนที่แม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็ทำหน้าที่ปกป้องดินแดนที่ตนเองอยู่อาศัยอย่างเต็มที่ จดหมายเหตุของท่านเกือบจะเป็นเหมือนอนุทินรายวันที่รายงานความเคลื่อนไหวของทัพพม่า ความเป็นไป รวมทั้งนิสัยใจคอและความเป็นไปทางการเมืองในราชสำนักสยามอย่างละเอียด แม้ว่าท่านจะไม่ชอบใจนักที่ตุรแปงสื่อความตั้งใจของท่านได้ไม่เต็มที่และบางส่วนก็บิดเบือนไปเพื่อให้น่าตื่นเต้น แต่เราก็ต้องนับเป็นหนี้บุญคุณของท่านที่ช่วยบันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด และอยู่ในความสนใจที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของนักประวัติศาสตร์ชาวไทยเอาไว้ได้อย่างครบครัน

Writer & Photographer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช