ทั้งใจหายและรู้สึกคาดหวังในเวลาเดียวกัน เมื่อได้ยินว่า Mike Flanagan ไม่ต่อสัญญากับ Netflix เพื่อไปเซ็นสัญญาระยะยาวกับ Prime Video พร้อมรับตำแหน่งผู้สร้างซีรีส์ The Dark Tower ที่ดัดแปลงจากนิยายของ Stephen King หลายซีซัน เพราะนั่นหมายความว่าเราจะไม่ให้เห็นผลงานมินิซีรีส์ในสไตล์ที่คุ้นเคยไปอีกพักใหญ่ ๆ หลังจากที่เขาสร้างชื่อ ‘อัจฉริยะแห่งวงการสยองขวัญ’ ไว้กับค่ายสตรีมมิงสีแดง ด้วยผลงานซีรีส์ตั้งแต่ The Haunting of Hill House, The Haunting of Bly Manor กับ Midnight Mass รวมไปถึง The Midnight Club ที่ทำร่วมกับผู้สร้างอีกคนที่ทำให้หลายคนบอกว่าเขา ‘ฟอร์มตก’ แต่ยังมีองค์ประกอบที่ยอดเยี่ยม หรือ ‘ความ Mike Flanagan’ แทรกอยู่ในนั้นอย่างเด่นชัด

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียใจซะทีเดียวครับ เพราะนอกจากผู้กำกับและผู้สร้างคนเก่งคนนี้ดูจะเหมาะที่สุดสำหรับ Live Action ของปู่คิงแล้ว (เมื่อดูจากฝีมือการกำกับและเขียนบท Doctor Sleep) ผลงานส่งท้ายของเขากับ Netflix อย่าง The Fall of the House of Usher ที่ดัดแปลงจากนิยายชื่อดังของ Edgar Allan Poe คือมาสเตอร์พีซชิ้นใหม่ของทั้งในบรรดาผลงานที่เขาเคยสรรสร้างมา ทั้ง Netflix ทั้ง Genre หนัง / ซีรีส์สยองขวัญ และยังเป็นผลงานส่งท้ายอย่างสง่าผ่าเผยที่พิสูจน์ว่านี่คือ Mike Flanagan โดยเฉพาะเมื่อได้เป็นตัวเอง 100% ซึ่งเชื่อว่าถ้าคนที่ดูซีรีส์จบได้อ่านบทความนี้แล้วรู้ว่าตัวซีรีส์ดัดแปลงไปไกลแค่ไหนจากต้นฉบับจะเข้าใจเป็นอย่างดีถึงที่มาฉายาจีเนียสของผู้สร้างคนนี้

**บทความต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ The Fall of the House of Usher**

The Fall of the House of Usher มาสเตอร์พีซจาก Mike Flanagan เล่าเรื่องตระกูลที่ล่มสลาย เพราะบรรพบุรุษขายวิญญาณให้ปีศาจ

The Fall of the House of Usher มีทั้งหมด 8 อีพี มินิซีรีส์เรื่องดัดแปลงจากเรื่องสั้นแนวสยองขวัญ-โกธิกของ Edgar Allan Poe ที่เป็นทั้งบิดา อิทธิพล และต้นแบบงานเขียนแนวสยองขวัญหลายเรื่องแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานลักษณะนี้หลายต่อหลายคน และเพื่อไม่ให้ที่พาดหัวคลิกเบตเกินไป เลยจะขอเฉลยตั้งแต่ตรงนี้ว่าซีรีส์ไม่ใช่แค่คำว่า ‘มาไกล’ หรือ ‘ดัดแปลงอย่างหลวม ๆ’ หรือ ‘มีเค้าโครงเดิมแต่เติมแต่งระหว่างทาง’ แต่แทบไม่มีอะไรเหมือนต้นฉบับเลย ราว ๆ 99% ที่เราเห็นเป็นคนละเรื่องกันก็ว่าได้

ในต้นฉบับของ The Fall of the House of Usher เป็นเรื่องราวของตัวเอกไม่ทราบชื่อที่ถูกเชื้อเชิญโดยเพื่อนสมัยเด็กชื่อ Roderick Usher ให้มาที่บ้านของเขาในช่วงเวลาที่น้องสาวอย่าง Madeline Usher ป่วยหนักใกล้ลงโลง จากนั้นเนื้อหาจะบรรยายถึงลักษณะและอาการทางจิตที่ทำให้ Roderick ไม่ออกจากบ้าน รวมถึงสภาพบ้าน บรรยากาศขมุกขมัว น่ากลัว ไม่น่าไว้วางใจ และหวาดระแวงว่าตัวเอกกำลังจะได้เจอกับอะไรบ้าง (แถมยังมานั่งอ่านบทกวีอยู่หลายหน้าด้วย) ก่อนที่จะนำไปสู่บทสรุปสุดหลอนและตราตรึง

ทั้งเรื่องสั้นเรื่องนี้คือ 1% ที่เหลือ ซึ่งจุดคล้ายที่สุดมีเพียงฉากจบไม่กี่นาทีของซีรีส์ รวมถึงแรงบันดาลใจหลักที่ทำให้เกิดซีรีส์เรื่องนี้ขึ้นมา เพราะในต้นฉบับไม่ได้เอ่ยถึงลูกหลานตระกูล Usher มีความยาวไม่มาก อ่านแค่ 10 – 15 นาทีจบ ดำเนินเรื่องในสถานที่เดียว มีตัวละครหลัก ๆ อยู่เพียงเท่านี้ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับบริษัทยา และไม่มีแม้แต่ตัวละครลึกลับของ Carla Gugino เลยด้วย

ก่อนที่ Mike Flanagan จะนำเรื่องราวนี้ไปวางบนหิ้ง แล้วบรรจงสร้างองค์ประกอบรอบ ๆ ขึ้นมาใหม่ด้วยผลงานอื่น ๆ ของ Edgar Allan Poe โดยมีเรื่องเดิมอยู่ตรงใจกลางให้ดูมีน้ำหนักมากขึ้นด้วยตัวละครและเรื่องราว พร้อมทั้งยืดอายุให้เรื่องสั้นวัย 184 ปีเรื่องนี้ด้วยชื่อของ Poe ด้วยความโมเดิร์นร่วมสมัย กลายเป็นซีรีส์ที่เกี่ยวกับฝาแฝดชาย-หญิงที่ขายวิญญาณเพื่อความสำเร็จรุ่งโรจน์ของตระกูล แลกมากับจุดจบอันน่าสลดและการสิ้นสุดของสายเลือด Usher ทั้งหมด 

เนื้อเรื่องเล่าตัดสลับ 3 ไทม์ไลน์ระหว่างปัจจุบันในยุคโมเดิร์นที่ Roderick เล่าเรื่องให้ทนายความนักสืบคู่ปรับอย่าง Auguste Dupin ฟังในบ้าน การตายของลูก ๆ แต่ละคนที่เกิดขึ้นใน 2 สัปดาห์ และเนื้อเรื่องในอดีตตั้งแต่เด็ก จนถึงจุดพลิกผันว่าสองพี่น้องผ่านอะไรมาบ้าง ก่อนที่จะ ‘ขึ้นสุด’ และ ‘ลงสุด’ ได้ขนาดนี้

ฉะนั้น หากนิยามให้ถูกต้อง นี่น่าจะเป็น ‘ซีรีส์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของ Edgar Allan Poe’ มากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องบอกว่า 1% นั้นเป็น 1% ที่สำคัญมาก ๆ ในการนำไปขยายเป็นโครงนั่งเล่าที่สร้างความน่าติดตามและความอยากรู้อยากเห็นให้ทั้งคนดูและ Auguste Dupin ตลอดทั้งเรื่อง ทั้งยังเป็นการดัดแปลงที่เคารพเทิดทูนต้นฉบับ ด้วยการเพิ่มคุณค่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เพิ่มเข้ามา และซีรีส์เรื่องนี้ยังทำหน้าที่ Pay Tribute และทั้ง 8 อีพียังเต็มไปด้วยองค์ประกอบผลงานเรื่องสั้นกับบทกวีของ Edgar Allan Poe มากมาย ไม่ใช่แค่ The Fall of the House of Usher แต่รวมไปถึงการบอกใบ้เนื้อหาสำคัญล่วงหน้าอย่างชาญฉลาด

เริ่มจากตัวละครที่ทำให้บ้าน Usher ตั้งอยู่และล่มสลายอย่าง Verna ของ Carla Gugino ตัวละครนี้มาจากบทกวี The Raven ซึ่งชื่อ Verna คือการสลับอักษรของคำว่า Raven และนำคำพูดสุดฮิตจากบทกวีอย่าง Nevermore มาเป็นองค์ประกอบส่งท้าย เพื่อขีดเส้นว่าหลังจากนี้บ้าน Usher จบสิ้นแล้วอีกด้วย ในขณะที่ตัวละครนักสืบ Auguste Dupin ที่เป็นตัวละครแทนคนดูและมาแทนที่ตัวเอกไม่ทราบชื่อในต้นฉบับเรื่องนี้ มาจากเรื่องสั้นแนวสืบสวนอย่าง The Murders in the Rue Morgue, The Purloined Letter และ The Mystery of Marie Rogêt ส่วน Arthur Pym ของ Mark Hamill มาจากเรื่องราวของนักเดินทางบนเรือล่าวาฬที่ชื่อ The Narrative of Arthur Gordon Pym of Nantucket ที่หากไปหาอ่านแล้วจะเข้าใจได้ทันทีว่าทำไมนายคนนี้ถึงเป็นคนกร้านโลกขนาดนี้

ชื่อตัวละครอื่น ๆ ต่างก็มาจากคนละทิศละทาง ไม่ว่าจะเป็นชื่อลูกชายคนโต Frederick Usher ที่มาจากเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ตีพิมพ์อย่าง Metzengerstein (ราวกับเปรียบเปรยเรื่องการเป็นลูกคนแรก) กับภรรยา Morella Usher จากเรื่อง Morella, Tamerlane Usher มาจากบทกวี Tamerlane ที่ตัวเอกเป็นเจ้าสงครามอาภัพรัก คล้ายกับตัวละครนี้ที่บ้างานจนลืมคำนึงเรื่องหักอกคนอื่น และสามีของเธอ William T. Wilson จากเรื่องสั้น William Wilson และ Victorine Lafourcade ที่มาจากเรื่อง The Premature Burial

Camille L’Espanaye ตัวละครของ Kate Siegel (ภรรยา Mike Flanagan ที่เป็นขาประจำในแทบจะทุกผลงานของเขา) ได้ชื่อมาจากเรื่อง The Murders in the Rue Morgue, Napoleon Usher หรือ Leo ได้แรงบันดาลใจมาจาก Napoleon Bonaparte Froissart หรือตัวละครในเรื่อง The Spectacles, Prospero Usher หรือ Perry มาจากเรื่อง The Masque of the Red Death และ Annabel Lee จากบทกวี Annabel Lee ที่เป็นตัวแทนแห่งหญิงรูปงาม ความรัก และการสูญเสียคนรัก ดูเหมือนจะมาทำหน้าที่เดียวกันในซีรีส์เรื่องนี้ และยังมีรายละเอียดยิบย่อยอีกมากมายในแต่ละอีพี

นอกจากนี้ยังมีชื่ออีพีและรายละเอียดยิบย่อยในแต่ละอีพีที่อ้างอิงมาจากหลายผลงานและชีวิตส่วนตัวของ Edgar Allan Poe กับบุคคลและแรงบันดาลใจที่เกี่ยวข้องกับเขาในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นบทวกวี Ligeia ที่กลายมาเป็นชื่อยา ลิโกโดน (Ligodone), Eliza Usher ก็เป็นชื่อเดียวกันกับแม่ของเขา, William Longfellow เจ้าของบริษัทยา Fortunato ในซีรีส์ก็มาจากนักกวีที่ Poe กล่าวหาว่าลอกเลียนแบบผลงานของเขา, เพลง Another Brick In the Wall ของ Pink Floyd ที่ใช้ประกอบเรื่องนี้บอกใบ้ล่วงหน้าว่าสองพี่น้องฝาแฝดมีทุกวันนี้ได้ด้วยการก่ออิฐทีละก้อน โดยเฉพาะแต่ละอีพีที่เหมือนหยิบยกเรื่องราวและบทกวีมาตีแผ่ด้วยการตีความใหม่ ในแต่ละอีพีจึงมีองค์ประกอบบางอย่างและแก่นของเรื่องราวต้นฉบับนั้น ๆ อยู่ แม้ชื่อ รูปลักษณ์ เพศของตัวละคร สถานที่ และเหตุการณ์ จะแตกต่างจากเดิมมาก รวมไปถึงใช้สีเฉพาะเพื่อสะท้อนถึงนิสัยใจคอตัวละครอย่างจงใจ 

เรื่องที่อยากให้ทราบ คือจริง ๆ แล้ว The Fall of the House of Usher เกือบจะเป็นหนึ่งในซีรีส์ตระกูล The Haunting of… ซีซัน 3 แต่ท้ายที่สุดแล้ว Mike Flanagan ก็ตัดสินใจเลือกใช้ชื่อตามนิยายต้นฉบับ เนื่องจากองค์ประกอบหลายอย่างของซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้เข้าพวกกับเรื่องก่อนหน้าสักเท่าไหร่ครับ 

อย่างแรกคือการทำให้ร่วมสมัยเหมือนที่เขาเคยทำกับ 2 เรื่องก่อนหน้าที่ดำเนินเรื่องในยุคปัจจุบันและยุค 90 ตามลำดับ ความแตกต่างอยู่ตรงที่ Usher โมเดิร์นกว่าเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะการพูดถึงอัลกอริทึม และดีไซน์สถานที่ในเรื่องให้ดูล้ำสมัยเกินกว่าจะขลัง หลอน หรือน่ากลัว เหมือน 2 เรื่องก่อนหน้านี้

เหตุผลที่ 2 คือถึงแม้ว่าต้นฉบับทั้ง 3 เรื่องจะเหมือนกันตรงที่ดำเนินเรื่องหลัก ๆ อยู่ที่อสังหาริมทรัพย์ (บ้าน / คฤหาสน์) แต่ในเวอร์ชันนี้ การดำเนินเรื่องหลักหรือโลเคชันส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่บ้านหลังเดียว House of Usher เลยมีความหมายในเชิง ‘ตระกูล’ เหมือนบ้านต่าง ๆ ที่เราเรียกกันในยุคกลางหรือซีรีส์ Game of Thrones ซะมากกว่า (เพียงแต่ทั้งในหนังสือกับซีรีส์จะเหมือนกันตรงที่บ้านร่วงหล่นและถล่มจริง ๆ)

เหตุผลอีกข้อ คือที่ผ่านมา The Haunting ทั้ง 2 ซีซันมีธีมเหมือนกัน คือขายดราม่า ซึ้ง เศร้า โศกนาฏกรรม แทรกด้วยความหลอนแบบลึก ๆ ด้วยผีที่ซ่อนอยู่ตามจุดต่าง ๆ หรือหลอนด้วยเรื่องราว แต่ไม่เน้นหลอกแฮ่หรือตุ้งแช่ให้ผวากลัว (แต่ก็มีบ้างเป็นครั้งคราว) ในขณะที่ Usher เป็นผลงานที่ดุเดือด 

ทั้งหมดนี้ทำให้ Mike Flanagan นิยาม The Haunting ว่าเป็น ‘บทลำนำแสนเศร้าสลดที่มีเสียงไวโอลินประกอบ’ ในขณะที่ The Fall of the House of Usher คือ ‘เพลง Rock and Roll’ ที่เน้นมันซะมากกว่า แต่ถ้าถามว่า Usher มีองค์ประกอบที่เหมือนกับ Haunting มั้ย ก็มองว่ามีได้เหมือนกัน หากเราจะมองว่าตัวละคร Verna ตามหลอกหลอนตระกูลนี้ไปทุกที่ ในเมื่อ ครอบครัว = บ้าน ถึงแม้บ้านนี้จะไม่ได้รักกันและจ้องจะเอาชนะกันอยู่ตลอดเวลา

นอกจากเป็นผลงานซึ่งเป็นส่วนผสมและทำหน้าที่จดหมายรักเทิดทูนผลงานส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดของ Edgar Allan Poe แล้ว The Fall of the House of Usher ยังเป็นผลงานส่งท้ายที่รวมพลังทีม Avengers นักแสดงที่เคยร่วมงานกับเขามา ตั้งแต่ภรรยาคนสวยมากความสามารถ สองนักแสดงนำ Gerald’s Game (ความตลกร้ายคือ Carla Lugino เคยถูก Bruce Greenwood ที่รับบทเป็นสามีตามหลอกหลอนมาก่อนในหนังเรื่องนี้ กลับกัน ในเรื่องนี้เขาถูกเธอตามจองเวรทั้งเรื่องแทน) และนักแสดงเด่น ๆ ที่เคยร่วมงานกันมาก่อนในซีรีส์ Netflix ที่เขาเคยเป็นผู้สร้างและกำกับ ถึงอย่างนั้น นักแสดงแต่ละคนก็ทำได้ดี ทั้งการเนรมิตลุคและการแสดงจนเป็นอีกคนไปเลย

โดยตัวซีรีส์และองค์ประกอบต่าง ๆ ยังชวนให้นึกถึงองค์ประกอบในหลายเรื่องที่เคยดูมา (โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องแรงบันดาลใจ) ไม่ว่าจะเป็นการพาไปดูชีวิต Rich Assh*les หรือพวกคนรวยเวร ๆ แบบ Succession ของช่อง HBO ไม่ก็ เลือดข้นคนจาง ของบ้านเราที่ครอบครัวเป็นแค่คำนาม แต่ไส้ในแล้วไม่ได้มีความลึกซึ้งเป็นปึกแผ่นในองค์รวม แต่แตกสลายเพราะคนใน-คนแต่ง แก่งแย่งชิงดี 

นอกจากนี้ ซีรีส์ยังทำให้นึกถึงตัวละคร แนนโน๊ะ กับ ไอ้เวรกรรม ในหนัง อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม เพราะตัวละครนี้คือเวรกรรมเดินได้ หรือร่างจำแลงของ Karma (กรรม) ไม่ก็ Fate (โชคชะตา) ที่คอยจับตาดูอยู่ข้าง ๆ และเอื้อให้สถานการณ์เกิดขึ้น แต่ความแตกต่างอยู่ตรงที่ Verna ไม่ได้ทำเพื่อความสนุกเสมอไป 

ส่วน Arthur Pym ที่รับบทโดย Mark Hamill (ซึ่งเป็นแฟนคลับผู้กำกับและดีใจเนื้อเต้นที่จะได้มาร่วมงานกับเขา) ก็เป็นตัวละครรับสะสางทุกปัญหา ทำให้นึกถึงตัวละครหมาแก่อันตรายอย่าง Mike Ehrmantraut ในซีรีส์ Breaking Bad กับ Better Call Saul อยู่ไม่น้อย

กับอีกหนึ่งซีรีส์ที่ดูแล้วอดนึกถึงไม่ได้ คือซีรีส์ Dopesick ของช่อง Hulu (หาดูได้ทาง Disney+ Hotstar) ที่ดัดแปลงจากเรื่องจริงเกี่ยวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับพันล้านชื่อ Purdue Pharma ผลิต OxyContin หรือยาระงับความเจ็บปวดกลุ่มโอปิออยด์มาขาย จนกระทบกับชีวิตอเมริกันชนนับล้านชีวิต เมื่อลองดูซีรีส์ที่เน้นย้ำผลกระทบเฉพาะในอเมริกันแล้ว มีความเป็นไปได้สูงว่าเรื่องราวของบริษัท ยาตัวนี้ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น อาจเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของบริษัทที่ไร้จรรยาบรรณและปกปิดความลับอย่าง Fortunato ที่ผลิตยาคล้ายกันอย่างลิโกโดน (Ligodone) ออกมาวางขาย 

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เมื่อย้อนกลับไปมองผลงานซีรีส์ Netflix ของ Mike Flanagan ตั้งแต่ The Haunting of Hill House, Bly Manor, Midnight Mass และ The Midnight Club สิ่งที่ 4 เรื่องนี้มีเหมือนกัน คือมักพูดถึง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ ทั้งสายใยในครอบครัวที่ตัดไม่ขาด ความสัมพันธ์กับคนรักที่ไม่ผูกพันทางสายเลือด ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนกับความเชื่อและศาสนา รวมไปถึงความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ใกล้ตายแต่อยากมีชีวิตอยู่ต่อที่บอกเล่าผ่านเรื่องเล่าไซไฟ แฟนตาซี สยองขวัญตอนเที่ยงคืน 

โดยในนี้จะมีซีรีส์ตระกูล The Haunting of… ที่เป็นการรีโนเวต ในขณะที่ The Midnight Club คล้ายกับ The Fall of the House of Usher ตรงที่ยำรวมผลงานของผู้แต่งคนเดียวไว้ในเรื่องเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดครอบไว้ด้วยความ Slow Burn น้อย-มาก แต่สิ่งที่ทุกผลงานมี คือไดอะล็อกเทพ ๆ การแสดงที่สมควรได้รางวัล ปรัชญา การตั้งคำถามในเชิงอภิปรัชญา (เกี่ยวกับชีวิต ความตาย Free Will พระเจ้า นรก-สวรรค์) และข้อคิดสะท้อนชีวิตหลายแง่มุม ผ่านหลายตัวละครและพล็อตหลัก-ซับพล็อต

จุดเด่นของผลงาน Mike หลัง Ouija: Origin of Evil เป็นต้นไป นอกจากการกำกับ บท และการแคสต์นักแสดงที่แข็งแรงแล้ว คือการใช้สัญลักษณ์อันเฉียบคมที่ไม่เข้าใจง่ายเกินไป แต่ทุกคนก็เข้าใจได้ไม่ยาก ด้วยการกำหนดไอเทมบางอย่างหรือความหลอนแบบเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เช่น ประตูแดงใน Hill House หรือให้ตัวละครถูกหลอกหลอนด้วยอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอดีต วิญญาณร้าย ผี ปีศาจ โดยที่หลาย ๆ ครั้งตัวตนเหล่านี้ก็ตีความได้ 2 แง่ คือ ‘มีอยู่จริง’ และ ‘มีอยู่จริง แต่ไม่จำเป็นต้องมีจริง’

หากจะให้ขยายความอย่างหลัง (ที่ขออภัยหากอาจฟังดูน่าสับสนไปบ้าง) สิ่งที่ชัดที่สุดก็อย่างเช่นเรื่องเล่าของเด็กวัยรุ่นใน The Midnight Club ที่ทั้งเป็นเรื่องเหนือจริงและเรื่องแต่ง แต่แก่นสะท้อนชีวิตจริงได้ดีอย่างเหลือเชื่อ ความสนุกอยู่ตรงที่เราดูไม่ออกว่าเรื่องไหนจริง-ไม่จริง แต่เริ่มปะติดปะต่อได้ในภายหลัง รวมถึงตัวละครหลายตัวจากซีรีส์ Netflix ของ Mike ที่เห็นภาพหลอนต่าง ๆ ก็ตีความไปในเชิงที่ว่าเกิดภายในจิตใต้สำนึกและทั้งหมดเป็นเพียงจินตนาการได้เช่นกัน 

เช่นเดียวกันกับที่ Roderick เห็นภาพหลอนของลูก ๆ กับ Annabel Lee เพราะโรค CADASIL หรือโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งที่จริง ๆ แล้วภาพเหล่านั้นคือตัวแทนของความรู้สึกผิดที่ต่อให้ไม่มีอยู่จริงก็จริงพอให้ Roderick เห็นและรู้สึกกับมันแต่เพียงผู้เดียว

สำหรับตัวละคร Verna ที่เหมือนจะเปลี่ยนรูปลักษณ์และการแต่งกายไปตามฉากที่จำเป็นต้องปรากฏตัว หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าเมื่อตัดเธอออกไปจากสมการ ผลลัพธ์แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย เพราะสมาชิกบ้าน Usher ยังคงพบกับความล่มจมฉิบหายและชีวิตมลายสิ้นอยู่ดี และการตายที่อาจดูเหนือจริงของแต่ละคนที่เรียงตามลำดับอาวุโส (โดยเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น) ส่วนใหญ่แล้วหากไม่นับหลานแสนดีหนึ่งเดียวของตระกูลอย่าง Lenore Usher ก็จะเกิดจากการที่คนคนนั้นทำตัวเอง หรือเป็นผลกรรมจากรุ่นพ่อแม่สู่ลูกที่สะท้อนปัญหาในโลกจริงแทบทั้งสิ้น 

หากให้เรียงตามอีพี มีตั้งแต่ปกปิดเรื่องสารเคมี ทารุณสัตว์ เสพยาเกินขนาด ไร้จรรยาบรรณ อยากมีคุณค่าและบ้างาน ความหึงหวงและความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะตัวใหญ่อย่างสองพี่น้อง Roderick และ Madeline ส่วน Arthur Pym ที่ปฏิเสธ Verna (หรือในที่นี้คือการขายวิญญาณ) เขาก็ได้รับโทษไปตามระเบียบกฎหมายในบาปที่ได้กระทำมาโดยตลอด 

กล่าวได้ว่าตัวละคร Verna ถึงแม้จะมีภาพลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตที่ลึกลับ คล้ายปีศาจสี่แยกในซีรีส์ Supernatural ที่ให้ตามที่มนุษย์ปรารถนาแล้วจะมาตามมาทวงทุกอย่างเมื่อเวลานั้นมาถึง แต่การยึดบริษัทของ Roderick และ Madeline รวมถึงการสร้างภาพก่อนฮุบทุกอย่างมาเป็นของตัวเองก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว หากเราจะมองว่า Verna คือกรรมหรือบาปในแบบที่จับต้องได้ก็อาจใช่กึ่งหนึ่ง แต่อีกกึ่งหนึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากมนุษย์ 2 คนที่ทะเยอทะยานขั้นสุด ด้วยการขายวิญญาณตัวเองให้เป้าหมายที่เกินตัวแทบจะทั้งสิ้น 

ข้อดีของ The Fall of the House of Usher คือการสร้างตัวละครส่วนใหญ่ให้ขาวไปเลยหรือไม่ก็ดำไปเลย เหมือนงานส่วนใหญ่ของ Poe ที่มักพูดถึงการต่อสู้ระหว่าง 2 ฝั่ง โดยมี Lenore, Annabel Lee และ August Dupin เป็นตัวแทนสีขาว ในขณะที่ตัวละครอื่น ๆ ของบ้าน Usher ดำสนิท พอมีเรื่องร้าย ๆ เกิดขึ้น หรือเมื่อถึงคราวเช็กบิล เราไม่ได้รู้สึกเห็นใจตัวละครมากนัก แต่กลับสยดสยองและหดหู่มากกว่ารู้สึกสะใจ (ซึ่งจะว่าไปแล้ว ความร่วงโรยแบบ One-by-one ของเด็ก ๆ บ้านนี้สื่อสารได้ดีผ่านโปสเตอร์ที่ตัวบ้านกลายเป็นทรายในนาฬิกาทราย หรือสื่อถึงการนับถอยหลังก่อนจะร่วงโรยจนไม่เหลือซาก)

แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องบอกว่าความน่าสนใจของผลงานซีรีส์ Mike Flanagan คือเมื่อไหร่ที่ตัวละครไม่เป็นสีเทา ตัวละครขาว-ดำของเขาก็มักมีเฉดสีขาว-ดำที่ย่อยลงไปอีก กับมิติที่ไม่ได้แบนราบ ทำให้เข้าใจความมืดมนไร้ปรานีของตัวละครได้ เช่น Roderick และ Madeline ที่เป็นผลผลิตของความเอารัดเอาเปรียบและเติบโตอย่างเจ็บใจที่ไม่เคยได้ในสิ่งที่ควรจะได้ (คือการดูแลเอาใจใส่ สนใจ หรือการยอมรับจากผู้เป็นพ่ออย่าง William Longfellow) สองพี่น้องจึงต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาด้วยตัวเอง รวมถึงสร้างชื่อให้กับตระกูล Usher ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไร ซึ่งถามว่าคุ้มมั้ย นั่นเป็นคำตอบที่สองพี่น้องตอบได้ แต่ลูกหลานไม่ได้มีชีวิตอยู่ให้ตอบและไม่มีสิทธิ์ออกความเห็นด้วยซ้ำแม้ตอนมีชีวิตอยู่

ที่น่าสังเกตคือซีรีส์ขับเน้นถึงความสำคัญและศักยภาพที่แท้จริงของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็น Tamerlane Usher ที่เป็นคนเก่งและอยากพิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวเห็น, Camille L’Espanaye ที่รอบคอบและทำหน้าที่เก็บกวาดงานทุกอย่างให้กับพี่น้อง และ Madeline หรือคนที่ชักใยตัวจริง ซึ่งคู่ควรกับบัลลังก์ CEO บริษัท Fortunato และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแผนการฮุบบริษัทมาเป็นของตระกูล Usher มาโดยตลอดผ่าน Story Arc และไดอะล็อก อีกทั้งยังมีการนำเสนอความหลากหลายทางเชื้อชาติ สีผิว และรสนิยมทางเพศอย่างเด่นชัด ผ่านลูกต่างแม่ 5 – 6 คนอีกด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นในซีรีส์ The Fall of the House of Usher ทั้งหมดเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการขายวิญญาณที่ไม่เพียงเอาอดีตและปัจจุบันเป็นเดิมพัน แต่เทชิปที่กู้ยืมมาจากอนาคตอย่างหมดหน้าตัก ด้วยความต้องการจะกอบโกยอย่างฉาบฉวย (แบบ Extra ด้วยระยะเวลา 50+ ปี) รู้ตัวอีกที Roderick และ Madeline ก็ถูกล้อมหน้าล้อมหลังด้วยความป่นปี้จาก 2 ฝั่งของเวลา และกรรมของบรรพบุรุษอย่างพวกเขาก็ตกทอดมาถึงลูกหลาน แม้ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ชื่อตระกูล Usher ในภาษาอังกฤษยังมีความหมายทำนองว่า ‘นำมาซึ่ง / นำไปสู่’ สะท้อนถึงสิ่งที่ตระกูล Usher นำมาสู่โลกใบนี้ด้วยยา Ligodone ได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่ Verna ต้องการเห็นว่าสองฝาแฝดทำอะไรได้บ้าง เหมือนที่คนเราในชีวิตจริงมีโอกาสทำทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีมาสู่โลกใบนี้ และทั้งหมดขึ้นอยู่กับ ‘ทางเลือก’ 

นอกจากนี้ ผลงานส่งท้ายเรื่องนี้ยังเป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่โชว์ความ ‘แน่จริง’ ของผู้สร้าง / ผู้กำกับคนนี้ ด้วยการสปอยล์เองตั้งแต่ตอนต้นเรื่องว่าลูก ๆ ของ Roderick Usher ตายหมด ก่อนที่จะเล่าย้อนโดยแต่ละอีพียังบอกใบ้สภาพศพของบรรดาลูก ๆ ไว้ก่อนแล้ว ถึงอย่างนั้นการโยงเส้นประหรือการนำเสนอระว่างทางจนลากไปถึงปลายทางก็ยังคงทำได้ดีเสมอต้นเสมอปลาย 

ผลงานนี้เมื่อไปรวมอยู่บนทำเนียบกับผลงานที่ผ่านมาของ Mike Flanagan แล้วทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้กำกับคนนี้ลองมาหมดทุกแนวแล้ว ตั้งแต่ผีสยองตุ้งแช่แบบ Oculus ที่ทำให้เขาพบรักกับภรรยาครั้งแรก หนังทริลเลอร์ทุนต่ำแต่สนุกใช่ย่อยอย่าง Hush หนังสยองแฟนตาซีอย่าง Before I Wake หนังภาคต่อที่ดีกว่าภาคแรกหลายเท่าอย่าง Ouija: Origin of Evil หนัง Adaption จากงานเขียนปู่คิงอย่าง Gerald’s Game และ Doctor Sleep ไปจนถึงซีรีส์ Netflix ทุกเรื่องที่ได้กล่าวไป ซึ่งไม่ว่าจะสยองมากสยองน้อย หลอนมากหลอนน้อย น่ากลัวมากน่ากลัวน้อย สิ่งหนึ่งที่ Mike Flanagan ทำมาตลอดในทุกเรื่อง คือใช้ความเป็น Genre สยอง (หรือ Genre ใดก็ตาม) เป็นฉากหน้า โดยฉากหลังคือธีมที่มี Message ชัดเจนและสื่อสารได้ลึกซึ้งเสมอมาผ่านทุกองค์ประกอบ และจากนี้ไปเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของ Mike ในการก้าวไปทำซีรีส์แอคชัน-แฟนตาซีที่มีมากกว่า 1 ซีซัน จึงน่าจับตามองอย่างยิ่งครับว่า Mike Flanagan จะทำ The Dark Tower ออกมาหน้าตาแบบไหน

ดู The Fall of the House of Usher ทั้ง 8 อีพีได้ที่ Netflix

ข้อมูลอ้างอิง
  • collider.com
  • time.com
  • bloody-disgusting.com

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ