The Common Thread เปิดช่องยูทูบวันที่ 24 มกราคม ปี 2018 ใช้ชื่อรายการเดิมว่า What Happened

มีผู้ติดตาม 1,000 คน เมื่อวันที่ 15 เมษายน ปี 2018

มีผู้ติดตาม 10,000 คน เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ปี 2018

นั่นคือสิ่งที่ ฟาโรห์ จักรภัทรานน เจ้าของช่องเขียนเอาไว้ในไบโอ พร้อมคำบอกเล่าว่าเขามีแมวชื่อสฟิงซ์ และมีคุณแม่เป็นแฟนพันธุ์แท้การ์ตูนเรื่อง คำสาปฟาโรห์ 

เขาชอบเรื่องลึกลับ แต่เบื่อภาพผีตุ้งแช่และเสียงประกอบที่หลอนเกินเบอร์เหมือนอยากจะไล่คนดูมากกว่า เขาเลยตั้งใจทำช่องแบบที่ไม่ต้องมีผีโผล่มาให้ตกใจ

ปัจจุบัน The Common Thread มีผู้ติดตามกว่า 6.56 แสน เป็นช่องยูทูบขวัญใจคนชอบเรื่องลึกลับ คดีที่เกิดขึ้นจริง คดีที่ยังไขไม่ได้ รวมไปถึงประเด็นสังคมที่น่าสนและควรสนใจ 

นอกจากนี้ ฟาโรห์ยังขยายฐานแฟนคลับจากนักฟังเป็นนักอ่านผ่านหนังสือเล่มแรกในชีวิตอย่าง ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ ที่บอกเล่าคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง 9 คดี โดยตั้งใจเพิ่มเนื้อหาของเรื่องให้เข้มข้น เพื่อถอดบทเรียนและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดยั้งการสร้างฆาตกร

อีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนรู้เกี่ยวกับฟาโรห์ คือเขาเป็นตัวตั้งตัวตีของแคมเปญล่ารายชื่อในเว็บไซต์ Change.org เพื่อนำร่าง ซีอุย แซ่อึ้ง ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช และคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับชายชาวจีนที่เสียชีวิตไปเมื่อ 60 ปีก่อน

ตอนนั้นฟาโรห์ใช้ช่องยูทูบเผยแพร่วิดีโอซีอุย แซ่อึ้ง และนำเรื่องในโลกออนไลน์ลงสู่สนามออนไซต์ เพราะจุดประสงค์ในการทำช่องไม่ใช่แค่บอกเล่า แต่เขาหวังให้ปัญหาสังคมได้รับการแก้ไขจริง

The Common Thread ช่องเพื่อสังคมของฟาโรห์ คนขี้โม้ที่หยิบคดีลึกลับมาเล่าแบบไม่มีผี

Before What Happened

คุณเขียนในไบโอว่าตัวเองเป็นคนขี้โม้ ความขี้โม้นี้มาจากไหน

(หัวเราะ) ความขี้โม้น่าจะมาจากความโชคดีของผม โชคดีที่ครอบครัวให้ความสำคัญกับการศึกษา อยากอ่านอะไรก็ได้อ่าน ทั้ง National Geographic หรือ ต่วย’ตูน โชคดีบ้านผมติดเคเบิล ได้เปิดโลกตั้งแต่เด็ก พอรู้แล้วผมก็อยากเล่า ได้ข้อมูลแล้วก็อยากแชร์

คุณคงไม่ใช่แค่คนชอบเล่า แต่เป็นคนชอบแลกเปลี่ยน

ครับ ผมยินดีกับการแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผล โชคดีมากที่มีเพื่อนชอบแลกเปลี่ยนความเห็นเหมือนกัน เลยอยากให้เกิดพื้นที่แบบนี้ในสังคมด้วย หนึ่งในนั้นคือช่องของผมเอง

ภาพแรกที่มองช่องของตัวเองไว้เป็นยังไง

ไม่ใช่ Vlog แน่ ๆ เพราะไม่ใช่สไตล์ผมเลย (หัวเราะ) ผมชอบชมความงามด้วยตา กินก็กิน ไม่ได้ติดถ่ายรูป จนไปเจอว่าที่ต่างประเทศมีคนเอาเคสคดีมาเล่าเยอะ ในไทยก็มี แต่จะเป็นแบบเปิดสไลด์ ไม่ใช่คนมานั่งเล่า ผมเลยเห็นพื้นที่ในการเล่าเรื่องราวเหล่านี้

ตอนนั้นตั้งโจทย์ไว้ 2 เรื่อง หนึ่ง คนต้องเห็นหน้า เพราะเวลาผมดู ผมเองก็อยากรู้ว่าคนเล่าเป็นใคร สอง ต้องมีแหล่งอ้างอิง เพราะเวลาเล่าอาจไม่ครอบคลุมทุกประเด็น คนดูควรไปตามอ่านต่อได้ 

เป็นจังหวะพอดีที่แฟนเก่าอยากทำช่องและผมอยากเล่าเรื่อง สุดท้ายเลยออกมาเป็น What Happened

ทำไม What Happened ถึงเปลี่ยนเป็น The Common Thread

อันนี้ต้องเล่าก่อนว่าตอนนั้นผมเห็นว่าประเด็นอาชญาวิทยาในบ้านเราพัฒนาได้อีก ผมอ่านกรณีศึกษาของฆาตกรต่อเนื่องในวิชาอาชญาวิทยาที่เรียนทำให้เห็นมุมมองอื่น ๆ ซึ่งไม่เคยเห็น ผมเลยหยิบ Cold Case (คดีที่ยังไม่จบ) ขึ้นมาเล่าแล้วชวนตั้งคำถามแทน

อย่างพวก Killer Story ผมตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับคนคนนี้ ทำไมเขาจึงกลายเป็นฆาตกร พอทำไป 1 – 2 เดือน เห็นว่าประเด็นที่อยากเล่ามันเยอะกว่านั้น แต่คำว่า What Happened ยังไม่ครอบคลุมเรื่องประวัติศาสตร์หรือเรื่องเหนือธรรมชาติ สุดท้ายเลยได้เป็น The Common Thread ซึ่งหมายถึงด้ายแดงที่เชื่อมกันไปมาบนกระดานสอบสวน 

นี่แหละคือชื่อที่อีกกี่ปีผมก็ยังใช้แถได้ว่า เรื่องมันเชื่อมโยงกัน

ถ้าให้ย้อนกลับไปดูคลิปแรก ๆ คุณอยากคอมเมนต์ตัวเองในตอนนั้นว่ายังไง

ผมอายุ 20 ต้น ๆ ยังอยากเล่าเรื่องให้สนุก ตื่นเต้น อย่างตอนที่พูดว่า “ฆาตกรต่อเนื่องผู้มีใบหน้าและคาแรกเตอร์สุดคูล ดูละม้ายคล้ายกับ Rocker นักไลฟ์สดในตำนานของเมืองไทยคนนี้”

ผมไม่ชอบเลย 

ตอนนี้ผมตกผลึกแล้วว่ามันคือเรื่องราวของชีวิต ราคาที่บุคคลในเรื่องเหล่านั้นจ่ายคือลมหายใจที่ดับไป หากเป็นเรื่องของคนในครอบครัวเรา เราก็คงไม่อยากให้ใครหยิบไปเล่าด้วยความสนุกเหมือนกัน 

เวลาเจอคอมเมนต์บอกว่าอยากให้หยิบเรื่องนี้มาเล่าเพราะสนุก ผมจะบอกเขาทันทีว่า นี่คือการถอดบทเรียน เพื่อลดโอกาสในการเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นต่างหาก

ทำไมคุณถึงหยุดทำช่องไป 2 ปี แล้วอะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปหลังจากนั้น

จากคลิปแรก จอนเบเนต์ แรมซี่ย์ ผมก็เอาเรื่องฆาตกรต่อเนื่องเข้ามา อย่าง เท็ด บันดี้, ริชาร์ด รามิเรซ, เฟร็ด และ โรส เวสท์ ทำไปได้ 10 เดือน ผมหยุดทำช่องไป 2 ปี เพราะไปเจอสิ่งอื่นที่สนใจ แล้วก็ได้ตกผลึกวิธีการถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ แก่นของผมแน่นขึ้น มุมมองเปลี่ยนไป ตอนนี้ผมเสริมมุมมองทางอาชญาวิทยาเข้าไป และมีแนวทางการเล่าที่ชัดเจน

อะไรคือสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปจนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่ผมตกตะกอนได้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว คือเราจะไม่โฟกัสที่ความรุนแรงของการกระทำ ผมจะไม่บอกว่าฆาตกรแทงจนมิดด้าม แทงไป 70 แผล ชื่อของเหยื่อผมก็พูดน้อยมาก ผมใช้คำว่าหญิงชรา ไม่ก็ชายวัย 30 เพราะไม่ใช่สิ่งที่ต้องโฟกัส ผมอยากหาคำตอบมากกว่าว่าทำไมเขาถึงโหดร้ายได้ขนาดนี้

The Common Thread ช่องเพื่อสังคมของฟาโรห์ คนขี้โม้ที่หยิบคดีลึกลับมาเล่าแบบไม่มีผี

The Common Thread

ทำไมถึงเลือกเล่าคดีปริศนาที่ยังไม่จบ

เพราะคดีที่จบแล้วไม่มีพื้นที่ให้คุย เป็นการเล่าให้คนฟังเฉย ๆ ขณะที่ Cold Case หรือคดีที่ยังจับคนผิดไม่ได้เป็นพื้นที่สีเทาของความไม่รู้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกัน ทั้งยังนำไปสู่การเปิดมุมมองซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมเราพัฒนาได้มากกว่านี้

THE DYATLOV PASS INCIDENT ปริศนาภูเขากินคน

แต่ละคลิปใช้เวลาทำนานไหม คุณมีส่วนในกระบวนการไหนบ้าง

ช่วงแรกผมทำช่องกับแฟนเก่า เขาพูดได้ 5 ภาษาเลยหาข้อมูลเก่ง ส่วนผมจะนำข้อมูลมาร้อยเรียงให้ดึงดูดขึ้น เราไม่ค่อยมีปัญหากับประเทศที่เก็บข้อมูลเป็นระบบ แต่ข้อมูลเยอะก็ใช้เวลาเรียบเรียงเยอะ หาข้อมูลกันหลักสัปดาห์ ตัดต่ออีก 2 สัปดาห์

ส่วนตอนที่แยกมาทำคนเดียว 100% ผมเป็นทุกพาร์ต ทั้งฟาโรห์แม่บ้าน ฟาโรห์ตากล้อง ฟาโรห์เอดิเตอร์ แต่ตอนนี้มีคนมาช่วยแล้วครับ (หัวเราะ)

กระบวนการไหนที่คุณรู้สึกสนุกหรืออยากใช้เวลามากที่สุด

พาร์ตเรียบเรียงและหาข้อมูล เพราะเจอข้อมูลใหม่เยอะมาก 

ส่วนพาร์ตตัดต่อ ตอนนี้ผมขี้เกียจ (หัวเราะ)

IWAO HAKAMADA แพะ แดนประหารที่รอการประหารชีวิต 47 ปี ก่อนได้รับอิสรภาพ

มีเรื่องไหนที่คุณอยากเล่า แต่หาข้อมูลไม่ได้บ้างไหม

หลายเคสในประเทศไทยน่าศึกษา แต่เข้าถึงข้อมูลไม่ได้ เพราะบ้านเรามีปัญหาในการเก็บและค้นคว้าข้อมูล มันกลายเป็นเรื่องเล่าที่ไม่มีแหล่งอ้างอิง ผมเลยไม่กล้าเอามาเล่า

คุณใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกคอนเทนต์

ต้องมีแก่นบางอย่างซ่อนอยู่เสมอ สังคมต้องได้อะไรกลับไป 

ยกตัวอย่าง ซาอีด ฮานาอี ฆาตกรต่อเนื่องของประเทศอิหร่าน เขาได้รับการยกย่องเพราะฆาตกรรมหญิงขายบริการซึ่งถูกมองว่าทำให้เมืองศักดิ์สิทธิ์แปดเปื้อน ปัญหาที่เราเห็นคือมีชุดความเชื่อบางอย่างวางไว้เหนือความเป็นมนุษย์ จนเกิดเป็นการทำร้ายกันเอง

ในสังคมไทยก็เหมือนกัน เราให้คุณค่ากับ ‘คน’ ไม่เท่ากัน แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้บังคับใช้กฎหมายก็ละเลยพวกเขา ฆาตกรจึงใช้ประโยชน์จากจุดนี้ จากคนที่ถูกละเลยจึงกลายเป็นเหยื่อ

SAEED HANAEI ปีศาจแห่งเมืองศักดิ์สิทธิ์

อะไรคือสิ่งสำคัญที่คนไม่ค่อยนึกถึงเกี่ยวกับคดีที่คุณนำมาเล่า

คนยังไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ใกล้ตัว ทั้งที่มันใกล้มากจนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลมหายใจต่อไปเราจะกลายเป็นเหยื่ออาชญากรรมหรือเปล่า หรือเรากำลังสร้างอาชญากรโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า 

บางคนพูดรุนแรงถึงขั้นว่า คุณหากินกับเรื่องของคนตาย คุณคิดยังไงบ้าง

ผมได้โอกาสหลายครั้งจากเรื่องเหล่านี้ แต่เป้าหมายของผมไม่ใช่เพื่อหาเงิน คลิปของผมไม่ได้เป็นมิตรกับยูทูบ ลงไปไม่มีรายได้ก็มี แต่ผมคิดว่ามันคือการสร้างพื้นที่ให้ได้แชร์มุมมอง คนจะได้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหา ผมเรียนนิติศาสตร์กับอาชญาวิทยา ทำให้เห็นว่าสื่อหลักยังไม่ได้นำเสนอประเด็นพวกนี้

ผมเลยสร้างพื้นที่ให้ตัวเองพูด และคุณก็มาพูดกับผมได้

What will happen?

อะไรคือสิ่งท้าทายที่สุดในการทำช่อง

ผมขอตอบว่าแคมเปญล่ารายชื่อในเว็บไซต์ Change.org เพื่อนำร่าง ซีอุย แซ่อึ้ง ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช ซึ่งตอนนั้นผมจริงจังมาก ผมคิดว่าด้วยพื้นที่ที่มี ด้วยข้อมูลที่เตรียมจะต้องดังแน่ ผมส่งเรื่องไปทุกสื่อ แต่เขาไม่สนใจ เหมือนโดนไม้ตีหน้า แล้วก็รับความจริงได้ว่าเรื่องนี้ทำไม่ได้ ผมเก็บเอกสารไปทิ้งทั้งหมดเลย

ผ่านไป 1 ปี พอคนในทวิตเตอร์พูดถึง สิ่งที่ผมทำจึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือเคสซีอุย แซ่อึ้ง สิ่งที่ทำให้เสียใจและอยากล้มเลิกที่สุดก็คือเคสซีอุย แซ่อึ้ง สิ่งที่ทำให้ The Common Thread เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีประโยชน์ที่สุด ก็คือเคสซีอุย แซ่อึ้ง

ได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นั้นบ้าง

ผมรู้ว่าผมไม่ได้มีพลัง ผมพลาดที่คิดว่าทำเรื่องนี้ได้ด้วยตัวคนเดียว เพื่อนผมบอกว่า ถ้าอยากให้คนสนใจก็เอาค้อนไปทุบตู้กระจกเลย แต่ผมคิดได้ว่า ถ้าทุบตู้ คนจะสนใจที่ผมใช้ความรุนแรง แต่ไม่ได้สนใจเรื่องที่ผมต้องการเรียกร้อง มันจะกลายเป็น ‘ฟาโรห์ ทุบตู้’ ไป 

หลังจากนั้น เวลาได้ไปพูดที่ไหน ผมจะบอกเสมอว่าผมเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก ‘ทุกคน’ ต้องขอบคุณทุกคนครับ

นอกจากนี้ เรื่องซีอุยก็ส่งผลถึงทิศทางช่องด้วย ผมรู้แล้วว่าถ้าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผมต้องทำอะไรให้เข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น

ทำช่องมาหลายปี คิดว่าเอกลักษณ์ของ The Common Thread คืออะไร

หน้าตาจดจำง่าย น้ำเสียง วิธีการนำเสนอ เคสที่ยังไม่จบ จนถึงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเมืองที่ผมชัดเจนมาตลอด

เมื่อเราชัดเจนในวิธีการและความคิด จะมีคนดูที่ชอบและจดจำเราเสมอ

ถ้าประเทศไทยเป็นกระดานจิ๊กซอว์ที่แหว่งไป คุณคิดว่าอะไรหายไป และ The Common Thread จะมาเติมเต็มในแง่ไหน

ผมอยากพลิกด้านจิ๊กซอว์ขึ้นมามากกว่า มันคือจิ๊กซอว์ 2 หน้า เรามีภาพที่สวยงามซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสวยจริง แต่เบื้องหลังยังมีอีกภาพที่ซ่อนอยู่ ช่องของผมคงเป็นจิ๊กซอว์ที่บอกใบ้ให้คนรู้ต่อไปว่า ด้านหลังยังมีปัญหาซุกซ่อนอยู่ พลิกขึ้นมาดูสิ

มองที่ทางของช่องตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้ายังไงบ้าง

โอ้! 10 ปีเลยเหรอ (หัวเราะ) ตอนนี้ผมตั้งคำถามก่อนว่าจะเล่าเรื่องฆาตกรรมไปถึงไหน แก่อายุ 40 ก็จะยังเล่าเรื่องแบบนี้เหรอ จำเจไป ผมเลยคิดว่าตอนนี้น่าจะหันไปเชิงประวัติศาสตร์ ขับเคลื่อนประเด็นเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

เราอยากถ่ายทอดความรู้ด้านอาชญากรรม โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อความเปลี่ยนแปลงสังคมที่เข้มข้นขึ้น จากเคสซีอุยที่ผมมีคนติดตามแค่ 2,000 เสียงตะโกนเบากว่าเสียงกระซิบ ตอนนี้ผมมีไมค์ที่จะให้คนตัวเล็ก ๆ ได้พูดถึงสิ่งที่เขาเผชิญ ด้วยจุดยืนนี้ The Common Thread จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญแน่

ส่วนปีหน้า เราจะร่วมกันตรากฎหมายต่อต้านการสะกดรอยตาม คงต้องขอแรงจากทุกคนด้วยครับ

YouTube : The Common Thread

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์