The Cloud x OKMD
‘ร้านหนังสือ’ มีความโรแมนติกแฝงอยู่ระหว่างตัวอักษร เมื่อคนพูดถึงร้านหนังสือ มักจะแทนความหมายในเชิงนี้เกือบทั้งหมด ด้วยแนวคิดว่าร้านหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของการอ่าน สังคม ชุมชน ฯลฯ แต่ในความหมายที่ขีดเส้นใต้ 2 เส้นในคำว่าร้านหนังสือ ก็คืออาชีพหนึ่งเพื่อการดำรงชีวิตภายใต้กฎที่ดิน แรงงาน ทุน
การเริ่มต้นของ ‘The Booksmith’ ง่ายและธรรมดามาก เพราะเป็นการทำสิ่งที่ทำอยู่และเกิดอาการเสพติด เพราะไปพบกับ Sex, Drug, and Rock’n Roll ของธุรกิจหนังสือเข้า ดังนั้นเมื่อทุกจุดที่ชีวิตต้องเลือกทางเดิน การจะเปลี่ยนอาชีพเป็นเรื่องไม่ง่าย จากคนขายเครื่องสำอางมาก่อน การได้เข้ามาทำในสิ่งที่รักจึงยากถ้าจะต้องเดินจากไปอีกครั้ง เพราะโอกาสไม่ได้มาบ่อย เหมือนที่ฝรั่งเขาว่า Opportunity Comes Rare ผมจึงตัดสินใจคว้าตั๋วรถไฟเที่ยวนี้แล้วเดินทางต่อ และตั้งใจจะให้การขายหนังสือเป็นอาชีพสุดท้าย ใช้เลี้ยงตัวเองไปจนทำไม่ไหว ภายใต้กรอบที่สามารถออกแบบชีวิตการทำงานได้ด้วยตัวเอง พร้อมกับปรัชญาชีวิตที่บอกตัวเองว่า Small But Beautiful

เมื่อตัดสินใจแน่นอนว่าจะเปิดร้าน สิ่งที่ปวดหัวกว่านั้นคือ จะขายหนังสือหมวดไหน เพราะร้านขนาด 45 ตร.ม. (ก่อนมาขยายเป็น 70 ตร.ม. ภายหลัง) ไม่สามารถขายได้ทุกอย่าง หลังจากคิดสักพักก็ตัดสินใจเลือกเอา Art & Design เป็นหนังสือหมวดที่จะเอาเป็นตัวชูธงของร้าน เพราะพื้นฐานจากการเคยเป็นช่างภาพสมัยเมื่อหลายสิบปีก่อนทำให้ผมเข้าถึง เข้าใจหนังสือในหมวดนี้ได้ง่ายกว่าหมวดอื่นที่ต้องไปเริ่มนับหนึ่ง ในขณะที่เวลาไม่ได้มีเหลือเฟือขนาดนั้น
การเปิดร้านหนังสือคือการก้าวเข้าไปอยู่ในวงจรของธุรกิจที่มีเงื่อนไข ‘เวลา’ เป็นต้นทุนที่สูงมาก และทุกอย่างถูกผูกเอาไว้ด้วยเงื่อนไขตัวนี้อย่างเคร่งครัด ระยะเวลาเมื่อเซ็นสัญญาเปิดร้านครั้งแรกคือ 2 + 2 หมายถึงว่าอายุสัญญาแรกคือ 2 ปี แล้วสามารถต่อได้เป็น Automatic Renewal ได้อีก 2 ปี เมื่อจรดปากกาเซ็น เราจะมีเวลาที่เรียกว่า Grace Period ได้ 30 วัน คือช่วงเวลาทองที่ทำอะไรก็ต้องรีบทำ ต้องคิดเร็ว ทำเร็ว เพราะช่วงนี้ที่ยังไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ทำให้เร็ว เปิดให้เร็ว แล้วขาย นี่คือเงื่อนไขที่บอกว่าทำไมเราถึงไม่มีความฟุ่มเฟือยในเรื่องเวลา
ร้านหนังสืออาจฟังดูเป็นธุรกิจที่นิ่ง สบาย ได้อ่านหนังสือ เปล่าเลย ทั้งหมดไม่ได้บอกอะไรได้เกี่ยวกับธุรกิจหนังสือเลย มีคำกล่าวจากผู้ที่อยู่ในธุรกิจหนังสือก่อนผม และผ่านไปทำธุรกิจค้าปลีกอื่น อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต เคยบอกไว้ว่า “ถ้าทำร้านหนังสือได้ ก็สามารถทำธุรกิจอะไรก็ได้” เขาบอกต่อว่า “เชื่อมั้ยว่าธุรกิจหนังสือมี SKU (Stock Keeping Unit) มากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตซะอีก


ภายหลังประสบการณ์บอกผมเองว่าที่เขาบอกนั้นถูกต้อง หลังจากเคยได้เข้าไปทำ Book Corner ของ The Booksmith ให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหนึ่งที่มีสาขา วันหนึ่งทีมงานจัดซื้อติดต่อมาว่า ขอให้ช่วยเอา ISBN หนังสือที่ไม่มีสต็อกแล้วออกจากระบบให้ที เพราะ SKU ของหนังสือกินฐานข้อมูลเยอะมากกว่าสินค้าตัวอื่น ๆ พร้อมกับที่กฎบางอย่างของเชน อาทิ การเรียกเก็บค่า Register สินค้าในระบบที่ปกติมีการเรียกเก็บ 1 SKU ต่อค่าใช้จ่าย ต้องยกเว้นให้ธุรกิจหนังสือ เพราะ 1 ISBN คือหนังสือ 1 เล่ม แล้วเวลาเราเอาหนังสือเข้าก็จะส่งไปทีละเป็นร้อยเรื่อง
งานในร้านหนังสือไม่ได้สบายมากนัก ลองคิดดูว่าเรามีหนังสือใหม่ที่ออกเกือบจะทุกวันในต่างประเทศ ดังนั้นข้อมูลจะถูก Feed เข้ามาให้ศึกษาทุกวัน ทั้งจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ และเยอรมนี เวลาจึงหมดไปกับสิ่งเหล่านี้
ในมุมหนึ่งความที่ The Booksmith เป็นร้านเล็ก เราต้องอาศัยความเป็นเล็กพริกขี้หนูที่จะสร้างความได้เปรียบ ความได้เปรียบจะเกิดได้คือ การสร้างข้อมูลการค้าที่ดีให้กับสำนักพิมพ์ในต่างประเทศ ตลอดกว่า 10 ปีมีข้อมูลตัวเลขออกมาเสมอว่าตลาดหนังสือไม่ได้ตาย แต่กำลังค่อย ๆ ขยายตัว และมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2012


สิ่งที่เห็นและกลายมาเป็นโอกาสคือ Too Few Players ในตลาดหนังสือต่างประเทศบ้านเรา แต่สิ่งที่สำนักพิมพ์ต้องการคือจำนวนผู้เล่นที่น่าจะมากกว่านี้ หลังจากสร้างฐานข้อมูลการค้ามาระยะหนึ่ง The Booksmith ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนจำหน่ายหนังสือในประเทศในแถบอินโดจีน แทนสำนักพิมพ์ที่เงื่อนไขต่าง ๆ อาจซับซ้อนกว่า และการมี The Booksmith เป็นผู้เชื่อมในภูมิภาคจึงน่าจะเกิดผลดีมากกว่า
โครงสร้างธุรกิจของ The Booksmith นั้นได้คิดเอาไว้ว่าต้องการเป็นกำแพง หมายถึงให้คนพิงเรา เป็นก้อนน้ำแข็งในทะเล หน้าร้านคือยอดที่คนจะเห็นเราเท่านั้น แต่ข้างใต้คือสิ่งที่ใหญ่กว่า ถ้าหน้าร้านคือ Heart & Soul ก่อนน้ำแข็งที่ซ่อนอยู่คือพลังขับเคลื่อน
The Booksmith แบ่งรูปแบบธุรกิจออกเป็น 3 ส่วน หน้าร้าน ค้าส่ง และ Webstore
ในส่วนของหน้าร้านคงไม่ต้องอธิบายเพราะเป็น PR หลักของธุรกิจ แต่ส่วนของค้าส่ง หลังจากเราส่งหนังสือไปอินโดจีน จึงได้หันเข้ามามองตลาดในประเทศ ประกอบช่วงโควิดจึงได้ทดลองรับสั่งหนังสือจากสำนักพิมพ์โดยตรงให้แก่ร้านหนังสือในประเทศทั้ง Online และ Offline Store ผลตอบรับดีเกินคาด จึงทำให้มีธุรกิจเพิ่มจากที่ทำเดิม อาทิ การออกแบบและจัดหนังสือเข้าห้องสมุดสถาบันการศึกษา โรงเรียน ฯลฯ การเป็นที่ปรึกษาด้านหนังสือต่างประเทศให้แก่บางกิจการ เหล่านี้คือการทำงานที่อยู่ด้านใต้ของก้อนน้ำแข็งที่ลอยพ้นน้ำ สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีโลโก้ของร้านเราไปหมดทุกอย่าง แต่เครื่องยนต์ที่ใช้ผลิตมาจาก The Booksmith
ในการเติบโตมาพร้อมทั้งความสุขและความทุกข์ เมื่อทุกอย่างใหญ่ขึ้น แต่เราพยายามควบคุมงานบางอย่างไม่ให้ใหญ่เกินไป จะมาพร้อมความเหนื่อย เครียด และยิ่งโควิดคือโจทย์ ‘การเอาตัวรอดในธุรกิจหนังสือ’ ทั้งหมดของ The Booksmith เป็นกิจการที่ทำขึ้นแบบ Self-Funding Company หรือเราประกอบกิจการโดยอาศัยเงินหมุนเวียนภายใน ไม่ได้มีต้นทุนทางการเงินผ่านสถาบันการเงิน
ดังนั้น ในช่วงวิกฤตมีทั้งข้อดีคือเรามีปัญหาด้านเดียว แต่ก็มีข้อเสียคือการจัดการเงินทุนให้หล่อเลี้ยงทุกส่วนงานให้ได้ สมัยที่สเกลธุรกิจเล็กกว่านี้ ความสุขจะแฝงอณูในปริมาณที่มากกว่า แต่ในความเป็นจริงการอยู่ยาวในธุรกิจนี้ เราจำเป็นต้องขยายงานเพื่อให้ชีวิตไม่ได้อยู่เพียงคำจำกัดความที่ว่า “พอเลี้ยงตัวไปวัน ๆ ” สาขาที่ 2 3 4 5 จึงเกิดขึ้น



และส่วนผสมล่าสุดที่ทำให้เกิดการตัดสินใจลด Business Parameter ลงคือการทำ Webstore ขึ้นมา เป้าหมายหลักในอนาคตคือการลดจำนวนสาขาลง และสร้าง Value Proposition ให้เกิดขึ้นผ่านการทำงานที่สอดประสานระหว่างสาขาหลัก และ Webstore ที่เป็นสินทรัพย์ของเราเอง โดยมุ่งพัฒนาการลดความสำคัญของโซเชียลมีเดีย ซึ่งเปรียบเป็นเหมือนการยืมจมูกคนอื่นหายใจ ทั้งหมดนี้เพื่อให้เรากลับไปมีความสุขมากขึ้น เมื่อกลไกของธุรกิจทำงานได้สมบูรณ์เต็มวงจร
Bookselling เป็นส่วนผสมของศาสตร์และศิลป์ สิ่งที่เล่ามาข้างต้นจะเป็นเรื่องของศาสตร์เสียมากกว่า ซึ่งส่วนนี้ถึงกับมีตำราออกมามากพอสมควร อาทิ Mathematic of Bookselling ฯลฯ แต่ในส่วนของศิลป์ หรือ Arts of Bookselling คือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนและทักษะการสื่อสาร สิ่งนี้ไม่ได้มีทฤษฎีหรือแนวทางปฏิบัติตายตัว ความผูกพันกับลูกค้าคือเสน่ห์ของร้านหนังสือ การเรียกชื่อลูกค้าได้ถูก หรือจำได้ว่าเขาหรือเธอเคยซื้ออะไรไป การถามไถ่ถึงลูก การทำงาน ทั้งหมดนี้คือทักษะของความเป็นมนุษย์ล้วน ๆ การขายหนังสืออาจมีหนังสือเป็นสื่อกลาง แต่พลังความผูกพันระหว่างคนขายกับลูกค้าเป็นสิ่งที่ไม่มีไม่ได้ในร้านหนังสือ

คริสต์มาสคือช่วงเวลาที่ร้านนอกจากจะยุ่งกับการขายแล้ว ยังเป็นช่วงที่เราสนุกที่สุดในการเตรียมของขวัญให้ลูกค้า การนึกถึงว่าลูกค้าแต่ละคนมีลักษณะอะไร ชอบอะไรเป็นความสนุกอย่างหนึ่ง นั่นเพราะเราคิดถึงการเป็นเพื่อนมากกว่าการเป็นลูกค้า การ์ดแต่ละใบจะเขียนขึ้นเฉพาะบุคคลด้วยลายมือพนักงาน ก่อนใส่ซองแล้วตีครั่งตราร้านลงไป นี่คือความสนุก และมีความสุขตามมาเมื่อมีข้อความกลับว่า “ขอบคุณ” หรือการมีถุงเล็ก ๆ กล่องขนมมาวางที่ร้านเป็นของฝากจากเพื่อนที่นึกถึงกัน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ในทุกธุรกิจเมื่อมันเป็น Heart Made
โควิดคือช่วงเวลาที่เราลำบากพร้อมกับมีโอกาส และการสูญเสียโอกาสเข้ามาระคนกัน นั่นเพราะไม่มีใครได้ทุกอย่างที่ต้องการ Win Some, Lose Some แต่ท้ายที่สุดแล้วต้องรักษาตัวรอดไปให้ได้ เพราะ The Booksmith นั้นใหญ่กว่าตัวผมและทีมงาน พวกเราจึงมีหน้าที่ทำให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีให้ได้ สิ่งหนึ่งที่พูดเล่นกันในทีมว่า ถ้าทุกอย่างกลับมาได้ใกล้เคียงเดิมจริง ๆ เราอยากทำเสื้อยืดเอาไว้ใส่กวน ๆ โดยสกรีนว่า I’m survived ไว้ที่อก โดย I จะแทนทั้งตัวคนใส่ และ The Booksmith ประหนึ่งเป็นเสื้อสามารถของเรา
แต่วันนี้เรายังไม่เหมาะสมที่จะได้ใส่เสื้อตัวนั้น ยังต้องพยายามต่อไป และหวังว่าคงอีกไม่นาน

หนังสือแนะนำ
1
Financing Our Common Future (9783037786680)
ผู้เขียน : Régis Marodon
ราคา : 695 บาท
สำนักพิมพ์ : Lars Muller Publishers

โควิดทำให้เกิดอะไรบ้าง Financing Our Common Future เป็นหนังสือทั้งเล่มที่อธิบายภาพผลกระทบทางเศรษฐกิจอ่าน Visual Graphic ข้อมูลถูกโยงให้เห็นผลกระทบเป็นห่วงโซ่จากเหตุการณ์หนึ่งไปยังอีกเหตุการณ์หนึ่ง เป็นการอธิบายข้อมูลได้ดีมาก อาทิ รายได้ของประเทศไทยที่มาจากการท่องเที่ยวจำนวน 15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด เมื่อส่วนนี้หายไปผลกระทบจะเกิดขึ้นที่สิ่งใดได้บ้าง
2
Monty Don: Down to Earth (9780241347140)
ผู้เขียน : Monty Don
ราคา : 470 บาท
สำนักพิมพ์ : Dorling Kindersley Publishing

ความสงบและธรรมชาติสามารถพบเจอได้คู่กัน Monty Don เอาสิ่งรอบตัว ต้นไม้ (เป็นหลัก) และสรรพสัตว์มาบรรยายตามช่วงของฤดูกาล
3
The Chairs are Where the people go (9780865479456)
ผู้เขียน : Misha Glouberman
ราคา : 545 บาท
สำนักพิมพ์ : Farrar, Straus & Giroux Inc

ไม่มีอะไรสมบูรณ์พร้อม การยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นแม้ไม่สามารถอธิบายได้ เป็นการตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวแม้จะมีคำตอบหรือไม่ก็ตาม อาจทำให้มุมมองในการใช้ชีวิตให้มีความสุขได้
4
Bad News (9781472962850)
ผู้เขียน : Rob Brotherton
ราคา : 730 บาท
สำนักพิมพ์ : Bloomsbury

News Room Management คือหัวใจของการสร้างมาตรฐานข่าวให้น่าเชื่อถือ แต่องค์ประกอบอีกหลายอย่าง อาทิ ความเร็ว ข่าวด่วน หรือ Be the first to tell story เหล่านี้ทำให้เราข้ามสิ่งที่สำคัญที่สุดของงานการข่าว นั่นคือความน่าเชื่อถือ แล้วทำไมข่าวเหล่านี้จึงเกิดการยอมรับได้ นั่นเพราะมันกลายเป็นความคุ้นชินไปแล้ว แต่ก็บั่นทอนความน่าเชื่อถือของสถาบันหลักในเชิงสังคมลงไปเรื่อย ๆ เช่นกัน
5
Play and the City (9781472144805)
ผู้เขียน : Alex Bonham
ราคา : 705 บาท
สำนักพิมพ์ : Little Brown Book Group

คนจะย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองในความหมายที่เมืองต้องประกอบด้วย 2 สิ่งหลัก คือ เศรษฐกิจของเมืองดี และมาตรฐานความเป็นอยู่ที่มีให้พลเมืองมีความสมดุลกับการครองชีพและดำรงชีวิต
ทุกเล่มมีใน Webstore ที่ www.thebooksmith.co.th
The Booksmith
ที่ตั้ง : 5/17 ถนนนิมมานเหมินท์ ซอย 1 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50200 (แผนที่)
เวลาทำการ : วันจันทร์-พฤหัสบดี 09.00 – 20.00 น. และวันศุกร์-อาทิตย์ เปิด 09.00 – 21.00 น.
โทรศัพท์ : 09 3546 3790
Webstore : www.thebooksmith.co.th
Facebook : The Booksmith
Instagram: thebooksmithbookshop
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาร้านหนังสือเป็นแหล่งความรู้สร้างสรรค์ โดยความร่วมมือของ The Cloud และ OKMD
