10 ตุลาคม 2023
13 K

ครับ / ค่ะ เชฟ!

ได้ครับ / ค่ะโว้ย เชฟ!

ไปตายซะ เชฟ!

จะเลเวลไหนก็มีให้หมด สำหรับ The Bear ซีรีส์ที่ดูแล้วถ้าไม่หิวจนอยากโทรสั่งข้าวมากินเดี๋ยวนั้นโดยไม่สนว่าจะดึกแค่ไหน ถ้าไม่ทำให้อยากลุกไปหยิบอุปกรณ์และวัตถุดิบในตู้เย็นมาทำเมนูหน้าตาน่ากิน หรือถ้าไม่รู้สึกสนใจการทำอาหารจนต้องไปเรียนคอร์สเสริมเพื่อรังสรรค์เมนูชวนหิวแบบในเรื่อง ก็คงอยากตะเบ็งเสียงด่าจนเส้นเลือดปูดคอ ไม่ก็หยิบมีดมาจิ้มก้นใครสักคน (ซีรีส์มีฉากนี้อยู่จริง ๆ แต่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจแต่อย่างใด) หรืออยู่ ๆ ก็อยากเรียกคนใกล้ตัวที่กำลังทำอาหารอยู่ว่า ‘เชฟ’ อย่างขึงขังดังลั่น

ท่ามกลางซีรีส์ทุกวันนี้ที่แข่งขันกันสร้างอย่างดุเดือด อันเนื่องมาจากการผุดรัว ๆ ของผู้ให้บริการสตรีมมิง เป็นเรื่องยากที่จะสร้างผลงานสักเรื่องที่มีลายเส้นชัดเจน โดยไม่หยิบสื่ออื่นที่การันตีความสำเร็จระดับหนึ่งได้อยู่แล้วมาดัดแปลง 

แต่การที่ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับคำชมและเสียงสรรเสริญแซ่ซ้องอย่างล้นหลามเรื่องความเป็นตัวเองและความสดใหม่จากไร่ออร์แกนิก ทั้งยังได้คะแนน 8.6 / 10 บนเว็บไซต์ IMDb รวมถึงซีซันแรกเข้าชิง Emmy Awards 13 รางวัล และส่งนักแสดงนำอย่าง เจเรมี อัลเลน ไวท์ (Jeremy Allen White) คว้ารางวัลนำชายลูกโลกทองคำ สาขาซีรีส์คอมเมดี้ได้ ก็น่าจะพอบอกได้แล้วว่า The Bear เป็นซีรีส์ที่มีของและน่าจับตามองขนาดไหนในยุคหลังมานี้ ส่วนการเข้าชิงทั้ง 2 เวทีอีกรอบด้วยซีซัน 2 ที่มีแต่คนชมว่า ซีซั่นแรกว่าสุดแล้ว ซีซั่นนี้ไปสุดกว่า ก็เป็นสิ่งที่น่าจะมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 100% ด้วยเช่นกัน

The Bear เป็นซีรีส์ของช่อง FX เครือข่ายโทรทัศน์ในเครือ Fox ซึ่งอยู่ภายใต้ Disney อีกที บ้านเราและบางภูมิภาคจึงหาดูเรื่องนี้ได้ที่ Disney+ Hotstar โดยซีซันแรกมี 8 อีพี ซีซัน 2 มี 10 อีพี ด้วยความยาวอีพีละเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ยกเว้นบางอีพีที่จำเป็นต้องเล่าประเด็นบางอย่างอย่างเข้มข้น ก็จะทะลุไปหลักชั่วโมงกว่าบ้าง 

เนื้อหาของซีรีส์เกี่ยวกับ คาร์เมน ‘คาร์มี’ เบอร์ซาตโต (Carmen ‘Carmy’ Berzatto) เชฟมิชลินสตาร์ 3 ดาวจากร้านอาหารระดับโลก เขาเลือกเส้นทางนี้และไล่ล่าความเป็น The Best เพราะ ไมค์กี (Mikey) พี่ชายของเขาไม่ยอมให้ไปทำงานที่ร้านขายเนื้อของครอบครัวชาวอิตาเลียนอพยพชื่อว่า The Beef (ย่อมาจาก The Original Beef of Chicagoland) ด้วยกัน แต่แล้วจู่ ๆ ไมค์กีกลับฆ่าตัวตาย จึงเป็นหน้าที่ของคาร์มีที่จะต้องกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว พร้อมแบกรับทั้งความเสี่ยง หนี้สินที่พี่สร้างไว้ก่อนจากไป ชีวิตพนักงาน และแรงกดดันของตัวเอง ด้วยการนำองค์ความรู้จากภัตตาคารหรูที่สั่งสมมา ทั้งการเรียกขานกันว่า ‘เชฟ!’ และระบบการจัดการอื่น ๆ มาปรับใช้กับร้านขายแซนด์วิชเพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ 

ใครเป็นแฟนซีรีส์อเมริกันก่อนยุคสตรีมมิงน่าจะรู้จักชื่อช่อง FX เป็นอย่างดีว่าก่อนที่จะมีให้ดูบนสตรีมมิง Hulu กับ Disney+ อย่างทุกวันนี้ นี่เป็นช่องเคเบิลที่มีความกล้าไม่น้อยไปกว่า HBO ในการนำเสนอเรื่องราวเฉพาะกลุ่ม หรือแง่มุมที่มักไม่มีเจ้าไหนหรือเรื่องไหนทำมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น Sons of Anarchy กับ Mayans M.C. เล่าเรื่องแก๊งสเตอร์ขี่มอเตอร์ไซค์ฮาร์ลีย์, Atlanta เล่าชีวิตแปลกประหลาดรายวันของชาวผิวดำในเมืองแอตแลนตา, ซีรีส์ตลกร้ายขึ้นหิ้งอย่าง Fargo, สารคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับนิกายมอร์มอนอย่าง Under the Banner of Heaven และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือซีรีส์สยองขวัญสุดจี๊ดในตำนานอย่าง American Horror Story 

ครั้งนี้ถือเป็นความกล้าอีกครั้งของช่อง FX ที่ตัดสินใจเล่าเรื่องของ ‘คน’ ใน ‘ครัว’ โดยที่ผู้สร้าง ผู้กำกับ และคนเขียนบท ชื่อ คริสโตเฟอร์ สโตเรอร์ (Christopher Storer) ที่หากให้ยกตัวอย่างชื่อผลงานก่อนหน้านี้ของเขาก็ไม่น่าจะเคยได้ยินมาก่อน หรือถ้าให้ดูจากคะแนนผลงานก่อน ๆ ของผู้สร้างคนนี้ ต้องบอกว่าอยู่ในเกณฑ์กลาง ๆ บางเรื่องก็ไม่ค่อยสู้ดีนัก ซึ่งในตอนแรกคริสโตเฟอร์เองยังไม่แน่ใจเหมือนกันครับว่าซีรีส์จะรุ่งหรือรอด จะมีใครดูมั้ย หรือคิดไปกระทั่งจะมีใครสนใจซีรีส์เกี่ยวกับคนทำอาหารมั้ย แต่ด้วยเหตุผลบางประการ (อาจเป็นตั้งแต่ตัวสคริปต์ที่แข็งแรง) ช่องเลือกเชื่อใจชายคนนี้ และดูเหมือนพวกเขาจะคิดถูก เพราะทุกวันนี้ The Bear กลายเป็นหนึ่งในเรือธงของช่องไปแล้ว 

แม้จะไม่ได้ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงหรือนิยาย แต่ The Bear เป็นซีรีส์ที่ได้รับแรงบันดาลใจบางส่วนมาจากร้านขายเนื้อชื่อ Mr. Beef ในเมืองชิคาโก หรือเมืองเดียวกับที่ร้าน The Beef ในซีรีส์ตั้งอยู่ โดยที่เจ้าของร้านเองก็ชื่อคริสโตเฟอร์เหมือนกัน คือ คริสโตเฟอร์ ซุคเคโร (Christopher Zucchero) (ซึ่งจะขอเรียกผู้สร้างซีรีส์แบบย่อว่า คริสสโตร์ และขอเรียกเจ้าของร้านว่า คริสซุค เพื่อป้องกันความสับสน)

พ่อของคริสซุคเป็นเจ้าของร้านนี้ตั้งแต่ปี 1979 และปัจจุบันเขาเองในฐานะลูกชายรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว โดยที่ทั้ง 2 คริสเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาล-ประถมต้น คริสซุคเล่าให้ Variety ฟังว่าคริสสโตร์ฉายแววผู้กำกับและคนเขียนบททั้งแต่สมัยไฮสคูล จนเมื่ออายุ 19 ปี คริสสโตร์ก็ได้มาทำงานที่ร้าน Mr. Beef และประสบการณ์ที่เขาพบเจอคือ ‘ความยุ่งเหยิงในครัว’ ที่เกินจะควบคุม และความไม่แน่นอนของบรรยากาศการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น การที่ 5 นาทีนี้กำลังเร่งด่วนหรือพูดจากันเดือดดาล อีก 5 นาทีถัดมากลายเป็นชิลล์ ๆ กันซะอย่างงั้น นี่ยังไม่นับอะไรแปลก ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ดูเหมือนตัวเองกำลังอยู่ในเซอร์เรียลสักเรื่องอีกนะ

คริสสโตร์มีไอเดียอยากนำร้าน Mr. Beef ไปสร้างเป็นผลงานสักเรื่องอยู่หลายปีดีดัก จนกระทั่งเวลาผ่านไป เมื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมโทรทัศน์ เขาไม่รอช้าที่จะบอกเพื่อนว่า จะเอาร้านนายไปสร้างเป็นซีรีส์ แต่คริสซุคตอบกลับว่า ไม่เชื่อว่ะ เอ็งไม่ทำหรอก จนวันหนึ่งคริสซุครู้ตัวอีกทีก็มีคนโทรมาแจ้ง และคริสโตร์เดินลงรถมาพร้อมกับทีมงานใส่สูท พร้อมพูดกับเขาว่า จำได้มั้ยที่ฉันเคยบอกว่าจะเขียนบทเกี่ยวกับร้านนี้ เรากำลังจะทำมันแล้ว ขอยืมร้านถ่ายตอนไพล็อตหน่อยนะพวก จากนั้นกลายเป็นว่านอกจากตอนไพล็อต (ตอนแรกที่ถ่ายทำเพื่อเสนอช่องก่อนสั่งทำฟูลซีซัน) จะถ่ายทำที่ร้าน Mr. Beef แล้ว คริสซุคยังถูกมัดมือชกให้มาแสดงเป็นตัวละครชื่อ ชีชี (Chi-Chi) ในอีพีแรกอีกด้วย 

หลังจากช่อง FX อนุมัติให้สร้างซีรีส์ The Bear ก็ได้ม็อกอัปร้านที่คล้ายกันขึ้นมาเพื่อถ่ายทำโดยเฉพาะ ส่วนคริสซุคที่เป็นเจ้าของร้าน Mr. Beef จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เคยดูซีรีส์เรื่องนี้แม้จะผ่านไป 2 ซีซันแล้วก็ตาม รวมถึงรายการที่ตัวเองเคยให้สัมภาษณ์ด้วยเช่นกัน เหตุผลไม่ใช่ว่าหยิ่ง แต่เพราะรู้สึกว่ามันแปลก ๆ และเขินที่เห็นตัวเองออกทีวีทั้งที่ไม่ใช่นักแสดง ซึ่งเมื่อมีคนถามว่าเขาจะปรับปรุงร้านให้เป็นภัตตาคารโก้หรูเหมือนที่ตัวละครคาร์มีทำกับร้าน The Bear มั้ย แน่นอนว่าคำตอบที่ได้จากคริสซุคคือ Abso-f*cking-lutely not. 

นอกจากที่กล่าวไป สถานที่และร้านอาหารที่ปรากฏในเรื่องยังได้รับแรงบันดาลใจจากร้านอื่น ๆ ที่มีอยู่จริงด้วยเช่นกันครับ เช่น Ever, Avec, Kasama และ Lao Peng You รวมถึงหนังเรื่อง Uncut Gems ของสองพี่น้องแซฟดี้ที่เป็นแรงบันดาลใจด้าน Mood & Tone ให้กับซีรีส์เรื่องนี้ไม่น้อย

แต่ก่อนจะมาเป็นซีรีส์สุดฮิต The Bear ต้องผ่านกระบวนการคิดและขั้นตอนการเตรียมตัวอะไรมาบ้าง

“ไอเดียตั้งต้นของ The Bear มาจาก คริส สโตเรอร์ ที่อยากทำสิ่งนี้มานานหลายปีแล้วค่ะ เพราะเขามองเห็นธีมและความยากลำบากเหล่านี้ในฐานะส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมร้านอาหารและธุรกิจขาดเล็กทั้งหลาย มันคือความปรารถนาจะสร้างซีรีส์ที่แสดงให้เห็นถึงความจริงแท้ว่าการทำงานในครัวเป็นยังไง และเพื่อเล่าเรื่องเกี่ยวกับคนที่อยู่เบื้องหลังจานอาหารบนโต๊ะของเรา” โจแอนนา คาโล โชว์รันเนอร์ร่วม โปรดิวเซอร์ คนเขียนบท และผู้กำกับซีรีส์ The Bear กล่าว

จากความสนใจในด้านนี้และประสบการณ์ส่วนตัว คริสโตเฟอร์ผลักดันให้ซีรีส์ The Bear เกิดขึ้นจนได้ และซีรีส์จะไม่ออกมาเจ๋งขนาดนี้หากขาด คอร์ทนีย์ สโตเรอร์ (Courtnet Storer) และ แมตตี้ แมตธิสัน (Matty Mattheson) ที่ คริส สโตเรอร์ มอบคำประกาศิตอย่าง ‘คัต’ ให้ใช้ได้เต็มที่ตลอดเวลา หากมีอะไรผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงหรือผิดจากที่ควรจะเป็น

นอกจากเป็นพี่น้องของผู้สร้าง (ขอใช้คำนี้แทนพี่สาว / น้องสาวนะครับ เนื่องจากไม่ทราบปีเกิด) คอร์ทนีย์ สโตเรอร์ ยังเป็น Culinary Producer ที่ขอแปลให้เป็นภาษาไทยว่า ‘ผู้อำนวยการอาหาร’ ของซีรีส์ The Bear อีกด้วย เธอเป็นเชฟร้านอาหารดังในปารีส และปัจจุบันมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ด้วยประสบการณ์ที่มีมายาวนาน คอร์ทนีย์มีส่วนอย่างมากกับซีรีส์เรื่องนี้ เพราะหน้าที่ตรงนี้ล้ำเลิศไปกว่าฟู้ดสไตลิสต์ที่ดูแลเรื่องความสวยงามในการจัดจานหรือหน้าตาอาหาร สิ่งที่เธอต้องทำมีตั้งแต่การสอนสกิลล์ทำอาหารให้กับนักแสดง ช่วยดูบทและเช็กความถูกต้อง เพื่อให้ออกมาน่าเชื่อถือและสมจริงที่สุด ดูจุดที่นักแสดงยืน การเคลื่อนไหวระหว่างสเตชัน ความรวดเร็วในการเคลื่อนที่ ท่าทางการทำอาหาร การพูดจา การจับมีด ช้อนส้อม จาน กระทะ หม้อ ตะหลิว ไปจนถึงคิดเมนูอาหารหน้าตาน่ากินทุกอย่างที่เราเห็นในซีรีส์

อีกเรื่องน่าสนใจที่อยากให้ทราบกัน คือคริสและคอร์ทนีย์เป็นพี่น้องกันก็จริง แต่หลังจากที่พ่อแม่ของทั้งคู่หย่ากัน แต่ละคนแยกกันอยู่ ทั้งคู่มาเจอกันอีกรอบที่ LA การร่วมงานครั้งนี้เปรียบเสมือนโลกของสองพี่น้องที่มาชนกัน คนหนึ่งคือโลกภาพยนตร์ / ละคร ส่วนอีกคนคือโลกของอาหาร ซึ่งทั้งสองต้องทำให้ดีที่สุดในด้านของตัวเองเพื่อให้ซีรีส์ออกมาดีที่สุด จึงพอจะคาดเดาได้ว่าคอร์ทนีย์น่าจะเป็นพี่สาวของคริสครับ เมื่อดูจากการที่ในซีรีส์มีตัวละครพี่สาวอย่าง นาตาลี (Natalie) ที่รูปร่าง ลักษณะ และทรงผมดูคล้ายคลึงกับคอร์ทนีย์

ส่วนอีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ แมตตี้ รับบทเป็น นีล แฟค (Neil Fak) ตัวละครร่างท้วมอารมณ์ดีที่เป็นช่างรับจบงานทุกอย่าง จนได้มาเป็นส่วนหนึ่งของร้าน The Bear ซึ่งเขาคือเชฟตัวจริงเสียงจริงที่มีประสบการณ์ในวงการอาหารมา 20 ปี เป็นเจ้าของร้านอาหารที่แคนาดา และเป็นเจ้าของช่องทำอาหารน่ากิน ๆ บนยูทูบอีกด้วย 

แมตตี้ทั้งเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับซีรีส์และร่วมแสดงเอง เพื่อจะได้ใกล้ชิดกับนักแสดง และแนะนำได้ตลอดเวลาสิ่งไหนใช่หรือไม่ใช่ หน้าที่ของแมตตี้คือการทำงานร่วมกับคอร์ทนีย์, คริส, โปรดิวเซอร์ และนักแสดง ในหน้าที่เดียวกับของคอร์ทนีย์ที่ได้กล่าวไปด้านบน เหมือนที่เราเห็นตัวละครคาร์มีกับ ซิดนีย์ (Sydney) ส่งไดนามิกกันไปมาในเรื่อง นั่นรวมถึงการร่วมเทรนนักแสดงและร่วมออกแบบครัว ออกไอเดียเรื่องพร็อปและอุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายทำ เพื่อให้ทั้งหมดออกมาเหมือนครัวจริง ๆ 

ทางด้านนักแสดงก็ฝึกซ้อมกันอย่างหนัก เพราะทุกคนต้องทำอาหารและจัดจานให้ได้จริง ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ โดยแมตตี้และคอร์ทนีย์ทำหน้าที่เป็นโค้ชให้นักแสดงแต่ละคนโดยใช้วิธีฝึกฝนที่แตกต่างกัน เพราะบางคนมีสกิลล์อยู่บ้างแล้ว บางคนทำไม่เป็นเลย (เรื่องตลกที่ต้องกล่าวถึงสักหน่อยก็คือ อีบอน มอสส์ บาครัค (Ebon Moss-Bachrach) รับบทลูกพี่ลูกน้อง ริชชี่ (Richie) ตัวจริงเป็นคนทำอาหารเป็น ถึงขั้นเก่งเลยล่ะ แต่ไม่ได้รับบทที่ต้องทำอาหาร และต้องแกล้งทำอาหารไม่เป็นเพื่อมารับบทนี้)

เจเรมีที่ต้องรับบทคาร์มีหรือเจ้าของร้าน กับคนเก่งที่สุดในซีรีส์เรื่องนี้ (ทั้งที่ไม่เคยเข้าครัวมาก่อน) ถูกส่งไปเรียนทำอาหารแบบเข้มข้นที่ ICE (Institute of Culinary Education) 2 สัปดาห์ คู่กับ อาโย เอเดบิริ (Ayo Edebiri) ที่รับบทซิดนีย์และพอมีสกิลล์ทำอาหารอยู่บ้างแล้ว เพื่อให้เข้าถึงความเป็นเชฟ และเข้าใจความยากลำบากกว่าจะเป็นอาหารสักจาน (ไม่ต้องพูดถึงความยากในการเปิดร้านอาหารสักร้าน) การเทรนครั้งนี้อยู่ในระดับที่หลังจบหลักสูตร ร้านอาหารจ้างทั้ง 2 คนมาทำงานได้จริง ๆ ซึ่งในระหว่างคอร์ส ทั้งสองยังแข่งกันเองว่าใครเก่งกว่าใคร เพื่อผลักดันตัวเองและกันและกัน อีกทั้งการที่ทั้งคู่ไม่รู้จักกันมาก่อน จึงได้ทำความรู้จักและละลายพฤติกรรมกันผ่านจานอาหารและการเทรนนี้เลยก็ว่าได้

2 สัปดาห์นั้นไม่ใช่แค่เรียนทำอาหาร แต่ยังได้เรียนรู้ตัวตน เจเรมีมีโอกาสคุยกับเชฟหลายคนเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง เรื่องราว และสอบถามประสบการณ์ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อนำไปพัฒนาตัวละครของตัวเอง รวมถึงเพิ่มมิติทั้งความเป็นเชฟและตัวละครให้มากขึ้น ซึ่งหลังจากจบหลักสูตร การทำอาหารได้กลายเป็นงานอดิเรกของเจเรมี เขามักจะทดลองทำอาหารและลองเทคนิคใหม่ ๆ อยู่เสมอ และยังจับตัวเองไปลอยกลางทะเล ด้วยการไปสมัครทำงานที่ Pasjoli ร้านอาหาร Fine Dining ฝรั่งเศสเกรดมิชลินสตาร์ 1 ดาวจริง ๆ ที่ซานตาโมนิกา เริ่มจากทำเฉพาะคืนวันพฤหัสบดี (ซึ่งนั่นก็ทำให้เขาตื่นเต้นพอแล้ว) และทำหน้าที่ง่าย ๆ อย่างทำซอสกับน้ำสต็อก พอเก่งขึ้น ภายในระยะเวลา 1 เดือน เขาก็ได้ปรับไปทำกะประจำ

และถือเป็นโชคดีอย่างมากที่เจเรมีได้พบกับเชฟที่เคยอยู่ชิคาโกมาก่อน เขาจึงได้ค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อเสริมให้ตัวละครคาร์มีมีรากฐานที่แน่นขึ้น

แม้การไปทำงานร้านอาหารจริงอาจไม่ได้ทำให้เจเรมีเก่งขนาดตัวละครคาร์มีในซีรีส์ The Bear แต่ก็ทำให้เขารับแรงกดดันได้ รู้จักนิ่ง คุ้นชินกับการทำงานในครัว และที่สำคัญคือความมั่นใจ เพราะถึงแม้เขาจะมองตัวเองอย่างถ่อมตัวว่ายังทำอาหารได้แบบงู ๆ ปลา ๆ แต่สิ่งที่เขามั่นใจว่าทำได้คือแสดงได้เหมือนเชฟ ทั้งท่าทางการทำอาหาร การพูดจา และการแสดงอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ The Bear ดูดุเดือด และส่งเขาไปคว้ารางวัลลูกโลกทองคำมาได้

The Bear ซีซั่น 1 ว่าด้วยเรื่อง ‘การเอาตัวรอด’ การทำงานในครัว เผชิญหน้ากับความรีบเร่งและหัวร้อน ไหนจะเพื่อนร่วมงาน ไหนจะหนี้สินที่ต้องจ่าย ซีซันเปิดตัวของซีรีส์เรื่องนี้จึงไม่ต่างอะไรกับหนังแนวเอาตัวรอดที่ต้องจัดการกับปัญหางเฉพาะหน้าให้มีชีวิตอยู่ในตอนนี้ไม่ก็วันพรุ่งได้ หรือไม่ก็เหมือนกาน้ำที่ต้มน้ำค้างไว้ แล้วมีไอน้ำพวยพุ่งขึ้นมาอย่างแรงเป็นระยะ ๆ พร้อมเสียงแหลม ๆ ดังตลอดเวลา นอกเหนือจากที่กล่าวไป ซีซันนี้ยังสะท้อนธีม ‘รวมกันเราอยู่’ ซึ่งแน่นอนครับว่าซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้ถ่ายทอดในแนวจับมือรวมพลังสามัคคี เฮ! หรืออะไรทำนองนั้น (ไม่งั้นคงเขินน่าดู เมื่อดูจากนิสัยตัวละครแต่ละคนแล้ว) แต่ตัวละครจะมีพัฒนาการ เติบโต และเรียนรู้ได้เอง ทั้งจากบทเรียน จากการรู้ (จัก) อีโก้และการต่อสู้กับมัน และกล้าที่จะเอ่ยปากขอโทษ 

สิ่งที่ The Bear ทำได้ดีตั้งแต่ซีซันแรกคือการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการทำอาหาร นอกจากคนไม่อินดูได้แล้ว ยังกระตุ้นให้เกิดความหิวหรือแพสชันในการทำอาหารอีกด้วย และยังมีจุดเด่นในด้านมิติตัวละคร ไดอะล็อก ไหนจะการเกิดขึ้นของเหตุการณ์สุดแรนดอมไม่มีปี่มีขลุ่ยในบางครั้ง แต่ดูแล้วก็สนุกเพลิน ๆ ดี โดยเฉพาะวิธี ‘นำเสนอ’ ที่มีตั้งแต่เล่าแบบธรรมดา เล่าแบบเอาแต่ใจ จนถึงเล่าแบบขับเน้นด้วยเทคนิค Long Take เพื่อไฮไลต์ธีมให้ชัด นั่นก็คือ ‘การทำอาหารกับคนในครัว’ ผ่านอีพี 7 ที่นาน 18 นาที หรือเกือบจะทั้งอีพีแบบไม่มีคัต แสดงถึงบรรยากาศสุดเดือดระอุยิ่งกว่าแดดประเทศไทยที่แทบจะฆ่ากันตายอยู่แล้ว (เรื่องที่บ้ามาก ๆ คืออีพีนี้นักแสดงมีเวลาซ้อมเพียงแค่วันเดียว ซ้อมเสร็จก็มาถ่ายทำเลย และทั้งหมดที่เราเห็นมาจากการถ่าย Long Take ทั้งหมด 5 รอบเท่านั้น) 

รวมถึงเน้นย้ำ ‘ปมด้านครอบครัว’ ที่คาร์มีมีต่อไมค์กีหรือพี่ชายที่รับบทโดย จอน เบิร์นธัล (Jon Bernthal) ด้วยฉากโมโนล็อก 7 นาทีในอีพี 8 แบบไม่คัต เห็นแต่สีหน้า ได้ยินแต่คำพูด แต่กลับเป็นฉากที่ลึกซึ้งถึงอารมณ์ และทรงพลังโดยไม่ต้องพึ่งความหวือหวาใด ๆ 

ในขณะที่ซีซันแรกพูดเรื่องเหล่าคนไม่สมบูรณ์ที่มารวมตัวกัน ซีซัน 2 เลือกสำรวจแง่มุมอื่น ๆ พร้อมกับผลักให้ทุกอย่าง ทั้งเนื้อเรื่อง ตัวละคร ประเด็น และตัวร้านที่เป็นเหมือนอีกตัวละคร ยกระดับไปยัง Next Level ด้วยการทำสิ่งที่ท้าทายยิ่งขึ้น อย่างการเขียนบทให้ตัวละครสร้างหนี้เพิ่ม ด้วยความทะเยอทะยานที่จะเปลี่ยน The Beef ให้เป็นร้านอาหารหรูในชื่อ The Bear ตามฝันที่คาร์มีเคยมีไว้กับพี่ชาย (เดิมพันสูงในช่วงเวลาที่ร้านอาหารต่างพากันปิดตัวลงเพราะไปต่อไม่ไหว เหมือนโลกความจริงที่มีกว่า 70,000 ร้านต้องปิดตัวเพราะโควิด-19) 

ฉะนั้น สิ่งที่เราได้ดูในซีซัน 2 ส่วนใหญ่คือการทุบร้านไปซะครึ่งซีซัน (ถึงจะทำอาหารน้อยลง แต่ก็ยังทะเลาะกันเดือดไม่ต่างจากซีซันแรก) และการจับตัวละครแยกไปฝึกวิชากันคนละทิศละทาง ให้ไปเติบโตผ่านสตอรีอาร์ตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น มาร์คัส (Marcus) ที่ไปอัปสกิลล์ทำขนมที่โคเปนเฮเกน, ทิน่า (Tina) ที่ต้องไปเรียนทำอาหารเพิ่มหลังเลื่อนระดับเป็นซูส์เชฟ, ซิดนีย์ หัวหน้าเชฟกับภารกิจหาสูตรอาหารและคิดเมนูหลักให้ร้าน, เอบราฮีม (Ebraheim) ตัวแทนคนรุ่นเก่าและความหลังท่ี่ถอนตัวเพราะชอบบรรยากาศร้านแบบเดิมมากกว่า, ริชชี ถูกส่งไปดัดนิสัยเสีย ๆ ที่ร้านอาหารหรู รวมถึงคาร์มีที่กลับมาคบหากับแฟนเก่าอีกครั้ง แต่กลับเป็นตัวละครเดียวของซีซันนี้ที่เหมือนจะเติบโต แต่กลับไม่มีอะไรมาเติมเต็มหัวใจได้

จากนั้นก็พาทุกคนกลับมารวมทีมตอนท้ายซีซัน ในแบบที่เรียกได้ว่า ‘เติบโตกันทั้งคนและร้าน’

สำหรับซีซันนี้ที่สัญญากับคนดูไว้ตั้งแต่แรกว่าเนื้อหาจะเป็นไปตามที่กล่าวไว้นี้ รวมถึงแบกรับความกดดันหลังจากซีซันแรกสร้างปรากฏการณ์ ปรากฏว่าซีซัน 2 กลับทำได้ดีกว่า ด้วยการผลักประเด็นข้างต้นนี้ให้ชัดด้วย 3 อีพีขั้นเทพ ได้แก่ 

6 Fishes ตอกย้ำความเป็น Dysfunctional Family ของครอบครัวเบอร์ซาตโต ด้วยการย้อนอดีตไปยังปาร์ตี้คืนวันคริสมาสต์สุดวายป่วงและตราตรึงใจ อีพีนี้แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าอีโก้หรือคาแรกเตอร์ที่เด่นชัด (เกินไป) อยู่ในสายเลือด ไม่มีใครยอมใครจนทุกอย่างพัง

7 Forks หรืออีพีที่หลายคนรักที่สุดในซีซันนี้ เพราะเป็น Redemption Arc ของตัวละครริชชี ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นตัวละครแนวน่ารำคาญ อีโก้สูง เจ้าอารมณ์ ขี้หงุดหงิด โวยวาย ชวนคนอื่นทะเลาะไปเรื่อย แต่หลังจากอีพีนี้และพบกับป้าย Every Second Counts (ทุกวินาทีมีค่า) เขาได้เรียนรู้และเติบโตจนกลายเป็นคนละคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม พร้อมกับเป็นแรงบันดาลใจให้คนดูกล้าเปลี่ยนตัวเองและลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างก่อนจะสายเกินไป

ปิดท้ายด้วย 8 The Bear อีพีซีซันฟินาเล่ เปิดมาด้วยฉากเปิดร้านอาหารคืนแรก ด้วย Long Take 10 นาที ให้เห็นถึงความวุ่นวายไม่ต่างจากฉาก 18 นาทีของซีซันแรก ก่อนจะพาคนดูเข้าสู่สภาวะอารมณ์สวิงตลอด 40 นาที

รู้ตัวอีกที The Bear ที่ไม่ได้เริ่มจากการเป็นซีรีส์ขายนักแสดง ก็กลายเป็นซีรีส์ที่นักแสดงมีชื่อเสียงต่างมาปรากฏตัวเป็นนักแสดงรับเชิญ ซึ่งบางคนถึงกับขอเองว่าอยากมาร่วมแจมด้วย ไม่ว่าจะเป็น โอลิเวีย โคลแมน (Olivia Colman), ซาราห์ พอลสัน (Sarah Paulson), บ็อบ โอเดนเคิร์ก (Bob Odenkirk), วิลล์ พัลเตอร์ (Will Poulter) และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ เจมี่ ลี เคอร์ติส (Jamie Lee Curtis) ในบทแม่สุดเหวี่ยง (และอารมณ์สุดซับซ้อน) ของแนท ไมค์กี และคาร์มี 

จากซีรีส์ที่เปิดฉากด้วยผู้ชายคนหนึ่ง ใส่เสื้อยืดสีขาว ผ้ากันเปื้อนสีน้ำเงิน ยืนเผชิญหน้ากับหมีที่หลุดออกมาจากกรง สู่อะไรอีกตั้งมากมายในทั้ง 2 ซีซัน รวมไปถึงความหมายของ ‘The Bear’ ที่เป็นทั้งชื่อเรื่องและฉายาของคาร์มีที่หมายถึง ‘หมีที่ดูโหดร้ายแต่ใจดี’ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าซีรีส์ The Bear ไม่เพียงพูดถึงชีวิตคนครัว ความหัวร้อน และเสิร์ฟภาพความน่ากินของอาหารจนทำเอาเราท้องร้องจ๊อก ๆ แต่ธีมหลักคือการต่อสู้กับอีโก้ของตัวเองและการเรียนรู้เพื่อเติบโต เป็นสัจธรรมในรูปแบบประโยคสั้น ๆ ที่รู้กันอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำอะไรให้มันง่ายขึ้นอย่าง This is life 

และสิ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้ทำได้ดีนอกจากทั้งหมดที่กล่าวไป คือการมี ‘หัวใจ’ ในทุก ๆ อย่าง โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดอย่างการเฉลี่ยบท โดยไม่ได้ให้ความสำคัญแค่กับตัวละครที่มีป้าย ‘ตัวเอก’ แปะอยู่บนหน้าผากอย่างคาร์มี แต่กลับเลือกถ่ายทอดให้เราได้เห็นถึงปมปัญหา ความขัดแย้ง (ทั้งภายนอกและภายในใจ) อุปสรรคที่อยากข้ามผ่าน และนิสัยใจคอของตัวละครทีมงานคุณภาพแห่งร้าน The Bear เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกคน ‘เป็นมนุษย์’ ทุกคน ‘มีบทบาทสำคัญ’ และทุกคน ‘มีคุณค่า’ จะขาดใครคนใดคนหนึ่งไปไม่ได้ พร้อมกับแสดงให้เห็นว่าความเก่งระดับเทพอย่างเดียวยังไม่พอ สำหรับใครที่จะร่วมทีมกันหรือต้องรับผิดชอบหลายชีวิตทั้งหลังครัวและหน้าร้าน หากคนคนนั้นอย่างคาร์มียังเต็มไปด้วยอีโก้ที่หนาเตอะ จนพาลกับคนรอบข้าง หรือหนักที่สุดคือโบยตีแม้แต่กับตัวเอง

สำหรับ The Bear ซีซัน 3 ยังเป็นแค่ความเป็นไปได้ (สูง) ครับ แต่คงไม่ใช่เรื่องเหนือคาดหากทางช่องจะประกาศสร้างในเร็ววันนี้ เพราะความสำเร็จที่ผ่านมา กับการปูปมบางอย่างในบทสรุปส่งท้ายซีซัน 2 ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ไปต่อได้อีก หากผู้สร้างมีเรื่องราวหรือประเด็นที่อยากเล่า และสำหรับใครที่ดูจบแล้ว อยากชวนมาลองเดาเล่น ๆ ว่า ถ้ามีซีซันหน้า ธีมจะเป็นอะไร ระหว่างเส้นทางสู่ร้านอาหารระดับดาวมิชลิน หรือ Time Skip แล้วข้ามมาในตอนที่ร้านประสบความสำเร็จแล้ว แต่ยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในแง่มุมเกี่ยวกับความสุขชีวิต และต้องเผชิญกับคำถามว่าจะรักษามาตรฐานให้ยังคงอยู่พร้อม ๆ กับพัฒนาให้ดีกว่าเดิมได้ยังไง ในยุคที่คู่แข่งหน้าใหม่เกิดขึ้นมาได้ตลอด

ดู The Bear ทั้ง 2 ซีซัน ได้ที่ Disney+ Hotstar 

ข้อมูลอ้างอิง
  • www.vulture.com
  • variety.com
  • www.eater.com
  • www.vanityfair.com
  • www.youtube.com
  • www.ice.edu

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ