ริมถนนเพชรบุรี หนึ่งในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งที่ดินมีราคาแพงที่สุด ท่ามกลางเสียงแตรยนต์และมลพิษ เมื่อมองจากรถไฟฟ้าหรือจากถนนจะสังเกตเห็นอาคารสีขาวงาช้างขนาดใหญ่โดดเด่นสะดุดตา แปลกไปจากคอนโดสีเทาทะมึนและตึกแถวแบบจีนเก่าแก่ที่อยู่รายรอบ ยอดของมันสูงเสียดขึ้นเป็นแท่งเรียวแหลมราวกับจะแตะสรวงสวรรค์ เร้าอกเร้าใจให้ผู้คนที่ไม่เข้าคุ้นหูคุ้นตากับวัฒนธรรมใหม่นี้สงสัยว่าคือตึกอะไร ยิ่งเมื่อเห็นป้าย ‘ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (LDS)’ ยิ่งชวนให้ฉงนสนเท่ห์

พระวิหารกรุงเทพ

ป้ายที่เขียนว่า ‘ศักดิ์สิทธิ์แด่พระนิเวศน์ของพระเจ้า’ ก็ไม่ได้ตอบอะไรมากนัก นอกจากจะมีฝรั่งผูกเนกไทบางคนที่ยิ้มแย้มเข้ามาแนะนำตัวว่าพวกเขาคือ ‘มอร์มอน’ กลุ่มความเชื่อนิกายหนึ่ง ซึ่งนิยามตนเองว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มคริสต์ศาสนา แต่ขณะเดียวกันชาวคริสต์กระแสหลักก็ไม่ได้ยอมรับนับถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาคริสต์ หลายครั้งก็มีการต่อต้านประท้วงหรือประณาม ด้วยความเชื่อที่แปลกไปจากชาวคริสต์ทั่วไป ชวนให้สงสัยต่อไปอีกว่าพวกเขาคือใคร ฝรั่งหล่อ ๆ ผูกเนกไท ขี่จักรยานเป็นคู่ ๆ ที่พูดถึง ‘พระอติรูป’ คำที่คนไทยมักจะงงว่าเป็นใคร ค่อย ๆ ไปทำความรู้จักกัน

มอร์มอนคืออะไร

มอร์มอน เป็นกลุ่มความเชื่อหนึ่งที่ผูกพันตนเองกับพระคัมภีร์ไบเบิล ขณะเดียวกันพวกเขาก็เชื่อว่ามีคัมภีร์อีกเล่มหนึ่งที่พระเยซูคริสต์นำไปเผยแผ่ในดินแดนโลกใหม่คือสหรัฐอเมริกา โดยเป็นคัมภีร์จารึกแผ่นทองคำที่ต้องอาศัยแว่นอันหนึ่งซึ่งแปลข้อความโบราณได้ โจเซฟ สมิธ (ค.ศ.1804 – 1844 ร่วมสมัยรัชกาลที่ 1) ผู้ก่อตั้งกลุ่มนิกายนี้ เป็นผู้ค้นพบพระคัมภีร์เล่มนี้ตามคำชี้แนะของทูตสวรรค์ที่ชื่อ โมโรไน ซึ่งเขาอ่านและนำมาเรียบเรียงเป็นคัมภีร์ที่ชื่อว่า พระคัมภีร์มอร์มอน (Book of Mormon) เป็นหนังสือขนาดยาว กล่าวถึงความสัมพันธ์ของพระเจ้ากับชนเผ่านีไฟ เขายังได้เห็นรูปปรากฏของพระบิดาและพระเยซูคริสต์โดยตรงให้ก่อตั้งกลุ่มนิกายใหม่ (รูปปรากฏของทั้ง 2 พระองค์นี้เองที่มอร์มอนเรียกว่า พระอติรูป)

โจเซฟ สมิธ เทศนาสั่งสอนชนพื้นเมืองอเมริกัน

หลังจากเพียรสงสัยมานานว่า ท่ามกลางนิกายมากมายมหาศาลของชาวคริสเตียนในสหรัฐฯ นิกายใดจะเป็นนิกายเที่ยงแท้ สมิธได้รับคำตอบจากทูตสวรรค์ว่ากลุ่มคริสตจักรที่สืบทอดจาก อัครสาวกเปโตร โดยตรงนั้น ถูกศัตรูกำจัดหรือถูกปลอมแปลงไปหมดแล้ว ในขณะนั้นจึงไม่เหลือคริสตจักรใด ๆ ที่เที่ยงแท้โดยตรงจากพระเยซูคริสต์อีก เขาจึงตัดสินใจก่อตั้งกลุ่มความเชื่อใหม่ในสหรัฐอเมริกา

สมิธมีลูกหลายคนจากภรรยาจำนวนมาก ทั้งยังมีผู้ที่เชื่อถือในตัวเขาติดตามมากมาย ดังนั้น เมื่อเขาสิ้นชีวิตลงจากการถูกลอบสังหารเมื่ออายุได้เพียง 38 ปี กลุ่มความเชื่อของเขาก็แตกออกเป็นหลายกลุ่มกระจายอยู่ในรัฐโอไฮโอและยูทาห์ ประมาณกันว่ามีกลุ่มต่าง ๆ ประมาณ 70 กลุ่ม และกลุ่มที่เข้าเผยแผ่ในไทยคือกลุ่ม LDS นี้เอง

พระวิหารมอร์มอนในไทยแห่งแรก

หลังจากมอร์มอนคณะแรกเข้ามาประกาศภารกิจเผยแผ่ศาสนาในไทยตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 8 ศาสนจักรก็ค่อย ๆ ขยับขยายตัวออกไป จนมีโบสถ์เป็นจำนวนมากกระจายทั่วประเทศไทย และมีผู้รับเชื่อประมาณ 2.5 หมื่นคน เป็นโอกาสอันที่ดีจะได้มีการลงหลักปักฐานสร้างพระวิหารสำหรับศาสนิกชนชาวไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งสำหรับชาวมอร์มอนแล้ว พระวิหารนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุด พิธีกรรมบางอย่างไม่อาจประกอบในโบสถ์ทั่วไปได้ จำเป็นต้องทำในพระวิหาร ซึ่งพระวิหารในเอเชียใกล้ที่สุดอยู่ที่ฮ่องกง จึงเป็นการลำบากสำหรับมอร์มอนชาวไทย ปัจจุบันในโลกมีพระวิหารมอร์มอนกว่า 159 แห่ง และอยู่ในโครงการก่อสร้าง 23 แห่ง

ชาวมอร์มอนมีกฎข้อความเชื่อว่าสมาชิกโบสถ์ควรแต่งงานในหมู่ผู้มีความเชื่อเดียวกัน คือเป็นมอร์มอนด้วยกัน และจำเป็นต้องแต่งงานในพระวิหาร (Temple) ซึ่งถือว่าเป็นอาคารศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนจักร

พระวิหารนี้แตกต่างจากโบสถ์ตรงที่ไม่ใช่สถานที่นมัสการ หากแต่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมสำคัญเท่านั้น และสงวนไว้สำหรับสมาชิกของโบสถ์เท่านั้นด้วย เมื่อพระวิหารผ่านการอุทิศ ซึ่งเป็นศาสนพิธีคล้ายกับการเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว ก็จะไม่อนุญาตให้ผู้ไม่ได้เป็นสมาชิกเข้าอย่างเด็ดขาด ดังนั้น ในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่พระวิหารแห่งประเทศไทยจัดงาน Open House ต้อนรับบรรดาชาวไทยผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมได้อย่างทั่วถึง (เกือบ) ทุกห้อง

พระวิหารใช้ทำอะไรบ้าง

พระวิหารไม่ใช่อาคารสำหรับประชุมนมัสการเหมือนโบสถ์ (Church) ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดสำหรับทุกคนไม่ว่าความเชื่อศาสนาใด แต่พระวิหารทำหน้าที่พิเศษต่าง ๆ หลายประการ ได้แก่

1. การแต่งงาน (Sealing)

ห้องผนึก
ภาพ : ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

ในศาสนจักรเรียกว่า ‘การผนึก’ เพราะการแต่งงานตามความคิดของชาวมอร์มอนไม่ได้ผูกสัมพันธ์วิญญาณของคน 2 คนเฉพาะในโลกนี้เท่านั้น แต่มีผลผูกพันต่อไปถึงชีวิตหลังความตายอันเป็นนิรันดร์ด้วย ดังนั้น การแต่งงานจึงเป็นพิธีที่จริงจัง จำเป็นต้องศึกษากันและกันอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจ เพราะการผนึกนั้นมีผลรวมไปถึงลูก ๆ ที่จะเกิดมาและลูกบุญธรรมที่ครอบครัวอาจรับอุปถัมภ์ พวกเขาจะรวมกันเป็นครอบครัวกันไปจนตราบนิรันดร 

พิธีนี้จะทำเฉพาะในพระวิหาร ในชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาวสีขาวรูปแบบเฉพาะเท่านั้น (ชุดต่าง ๆ สำหรับการเข้าพระวิหารของสมาชิกมีจัดจำหน่ายในราคาย่อมเยาที่ร้านหนังสือภายในโบสถ์) และไม่อนุญาตให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่สมาชิกของโบสถ์เข้าร่วมในพระวิหาร 

ห้องแต่งตัวเจ้าสาว
ภาพ : ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

แต่ก่อนนั้น เมื่อยังไม่มีพระวิหารในไทย การแต่งงานจึงเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับบรรดาสมาชิก ที่อาจต้องเก็บเงินเพื่อเป็นค่าตั๋วเครื่องบินสำหรับเดินไปทางไปแต่งงานในพระวิหารที่ประเทศใกล้เคียง ซึ่งใกล้ที่สุดน่าจะเป็นฮ่องกงหรือฟิลิปปินส์ แต่ขณะนี้ชาวมอร์มอนจำนวนมากในไทยต่างรู้สึกได้รับพรจากพระเจ้าที่พวกเขาประกอบพิธีผนึกในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองได้

2. การรับบัพติศมาแทนบรรพบุรุษหรือคนที่ล่วงลับไปแล้ว 

ห้องรับบัพติศมาแทนบรรพชนหรือคนที่ล่วงลับไปแล้ว
ภาพ : ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

ความคิดนี้ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลเช่นกัน แต่ไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนักในคริสต์ศาสนากระแสหลัก ด้วยเหตุที่ชาวมอร์มอนยึดมั่นในวิถีคุณค่าแห่งความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างลึกซึ้งแนบแน่น พวกเขาเพิ่มความเป็นห่วงเป็นใยต่อเนื่องไปจนถึงบรรดาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าพิธีบัพติศมา (หรือศีลล้าง-ศีลจุ่มในคริสเตียนกระแสหลัก ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมแรกในการเข้าสู่การเป็นคริสเตียน ชาวคริสเตียนเชื่อว่าพิธีกรรมนี้นำพาความรอดพ้นหลังความตายด้วย) ดังนั้นสมาชิกของโบสถ์หลายท่านจึงต้องการให้บรรพบุรุษของตนเองได้รับความรอด

ในพระวิหารจึงมีห้องพิเศษห้องหนึ่ง เรียกว่า ‘ห้องบัพติศมาแทนบรรพบุรุษ’ ห้องนี้จำลองอ่างน้ำขนาดใหญ่ที่มีการระบุถึงในพระวิหารของ พระเจ้าโซโลมอน ในอิสราเอล ว่ามีอ่างทองเหลืองขนาดมหึมา รองรับด้วยรูปปั้นวัว 12 ตัว อันเป็นตัวแทนของเผ่าทั้ง 12 ของชาวอิสราเอล ชาวมอร์มอนนำรูปแบบอ่างทองเหลืองนี้มาปรับเปลี่ยนเป็นอ่างบัพติศมาแทนบรรพบุรุษ ขอเพียงรู้ชื่อพวกเขาก็ทำพิธีแทนคนที่ตายไปแล้วได้ โดยพิธี 1 ครั้ง ทำแทนผู้ตาย 1 คน หากมีมากกว่านั้นก็ทำเพิ่มได้เป็นคราว ๆ ไป

หลังจากรับบัพติศมาแทนผู้ตายแล้ว ผู้รับต้องเข้ามายังห้องยืนยันความเชื่อ (Confirmation) โดยจะได้รับการวางมือบนศีรษะจากปุโรหิตหรือผู้นำทางศาสนา เพื่อยืนยันคำสอนที่ตัวเองเชื่อ และรับพรจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ (Holy Spirit)

3. ห้องซีเลสเชียลหรือห้องสงบ 

ห้องซีเลสเชียล หรือ ห้องสงบ
ภาพ : ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

เป็นห้องขนาดใหญ่ ตกแต่งอย่างสวยงาม มุ่งหมายให้เหมือนเป็นแดนสวรรค์บนแผ่นดิน มีการจัดวางเก้าอี้พักผ่อน โต๊ะกลางที่ทำจากไม้สนซีดาร์ขนาดยักษ์ พรมนุ่มละเอียด และรูปภาพต่าง ๆ ที่วาดตามพระคัมภีร์ สังเกตว่าพระวิหารในไทยนี้หยิบยืมรูปแบบศิลปะไทยหลายอย่างมาใช้งาน เช่น พรมสีสดใสลายพุ่มข้าวบิณฑ์ หัวเสาแบบเสาบัวแวง หรือลวดลายไทยอื่น ๆ ที่ปรากฏอยู่ทั่วไป ไม่มากไม่น้อย และไม่รบกวนเอกลักษณ์ของศิลปะแบบอาร์ต เดโค ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะหลักของพระวิหาร 

ห้องสงบนี้เป็นห้องแห่งความเงียบ ผู้เข้าใช้จะไม่ส่งเสียงใด ๆ แต่จะนั่งอย่างผ่อนคลายรอคอยฟังเสียงจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ว่ากันว่าหลายคนก็ได้รับการแก้ปมปัญหาในใจหลังจากเข้าไปอธิษฐานภาวนาในห้องนั้น

4. ห้องคำสอน (Instruction Room)

ห้องคำสอน
ภาพ : ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

เป็นห้องสำหรับสมาชิกของโบสถ์รับฟังคำสั่งสอนจากครูผู้สอนศาสนา มีสื่อและเครื่องมือต่าง ๆ ครบครัน สังเกตดูว่าอาคารพระวิหารทั้งหลังตกแต่งด้วยไม้ตามกรอบประตูหน้าต่าง ไม้เหล่านั้นคือไม้สนซีดาร์ ซึ่งเป็นไม้ชนิดที่พระคัมภีร์ระบุไว้ว่าพระเป็นเจ้าทรงพระประสงค์ให้สร้างพระวิหารของพระองค์ด้วยไม้สนซีดาร์จากเลบานอน ซึ่งถือเป็นไม้เนื้อดี สวยงาม คงทน ชาวมอร์มอนจึงออกแบบพระวิหารของตนให้ตรงกับรายละเอียดในพระคัมภีร์

ที่ไปที่มาของสถาปัตยกรรมพระวิหาร

หลายท่านอาจเคยเดินทางไปชมพระวิหารมอร์มอนในประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่มีหลายแห่ง คงจะจดจำได้ถึงรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ชนิดที่เห็นปุ๊บก็ต้องเข้าใจได้ทันทีว่านี่คือพระวิหารมอร์มอน (หรือแม้แต่โบสถ์ทั่วไปก็ตาม) คือการใช้สถาปัตยกรรมแบบอาร์ต เดโค (Art Deco) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เคยฮิตในช่วงร่วมสมัยปลายรัชกาลที่ 5 คล้ายกับโกธิกแต่ลดรูปลง เน้นใช้วัสดุสมัยใหม่เช่นซีเมนต์ โดยมักใช้กับตึกระฟ้า ซึ่งกำลังผุดขึ้นคล้ายดอกเห็ดในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา

พระวิหารแรกที่ใช้อาคารทรงแหลมสูงเช่นนี้ คือพระวิหารซอลต์ เลค รัฐยูทาห์ (เป็นพระวิหารหลังที่ 4 ใช้เวลาสร้างถึง 40 ปี เสร็จในปี 1893) และกลายมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระวิหารมอร์มอนที่สร้างต่อเนื่องกันมาทั่วโลก 

พระวิหารซอลต์ เลค รัฐยูทาห์
ภาพ : Temples of The Church of Jesus Christ Of Latter-day Saints

ยอดแหลมนั้นมีความหมายถึงสรวงสวรรค์ ส่วนยอดแหลมที่มีขนาดเล็กลงมามีความหมายหลากหลายประการ เช่น หมายถึงปุโรหิตใหญ่อย่าง เมลคีเซแดค (หัวหน้านักบวชชาวยิวในพระคัมภีร์ไบเบิล) ยอดที่เตี้ยลงมาอาจหมายถึงปุโรหิตรองอย่าง อาโรน (ผู้ช่วยโมเสสในพระคัมภีร์) หรืออาจหมายถึงอัครสาวกทั้ง 12 ของพระเยซูก็ได้

สิ่งโดดเด่นที่สุดที่แลเห็นได้แต่ไกล คือรูปทูตสวรรค์สีทองกำลังเป่าแตร แต่เดิมหมายถึง เทวดากาบรีเอล แต่ในมอร์มอนปรับเปลี่ยนให้เป็น ทูตสวรรค์โมโรไน ซึ่งเป็นผู้นำแผ่นจารึกพระคัมภีร์มอร์มอนมาให้โจเซฟ สมิธ อ่านและแปล และเมื่อเขาอ่านเสร็จแล้ว โมโนไรก็นำกลับคืนไปพร้อมกับแว่นที่แปลจารึกภาษาโบราณนี้ได้ สำหรับชาวมอร์มอนแล้ว โมโรไนยังถือว่าเป็น ‘เทวดาแห่งวิวรณ์’ คือทูตสวรรค์ที่ทำหน้าที่เป่าแตรปลุกผู้ตายขึ้นจากหลุมศพขึ้นมารับฟังการพิพากษาจากพระผู้เป็นเจ้า ตามความเชื่อของศาสนิกชนที่มองว่ายุคนี้เป็นยุคสุดท้ายที่วันพิพากษากำลังใกล้เข้ามาถึงแล้ว

หลังคาพระวิหารซอลต์ เลค รัฐยูทาห์
ภาพ : Temples of The Church of Jesus Christ Of Latter-day Saints

ส่วนจำนวนยอดแหลมของพระวิหารนั้นไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับขนาดของอาคารและความมุ่งหมายของผู้ออกแบบ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นพัฒนาการแสวงหาเอกลักษณ์ตัวตนของชาวมอร์มอนที่น่าสนใจ เนื่องจากในสมัยของโจเซฟ สมิธ เมื่อเขาลงมือสร้างพระวิหารหลังแรกที่เคิร์ทแลนด์ ยังใช้สถาปัตยกรรมอเมริกันแบบผสมผสานศิลปะนีโอคลาสสิกและศิลปะโกธิก พระวิหาร 3 หลังที่ก่อสร้างถัดมาก็มีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก จนกระทั่งมีการสร้างพระวิหารซอลต์เลค จึงเริ่มกำหนดรูปแบบเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น

นอกจากนี้ ในการตกแต่งพระวิหารยังกำหนดระบบสัญลักษณ์เฉพาะตัวมากมายที่ไม่ปรากฏในศาสนาคริสต์นิกายอื่น เช่น รูปพระเนตรของพระเจ้าที่เห็นทั่วพิภพ รูปหินพระอาทิตย์ หินพระจันทร์ หินดาว รูปรวงผึ้ง (หมายถึงความขยันขันแข็งและถิ่นทุรกันดาร) รูปดาวหมีใหญ่ (หมายถึงการนำทางไปหาพระเจ้า)

เราออกจากพระวิหารที่มีแผนผังซับซ้อนด้วยความรู้สึกอิ่มใจ ส่วนหนึ่งเพราะบรรยากาศที่สะอาดและน่ารื่นรมย์ ส่วนหนึ่งและส่วนใหญ่ก็มาจากอัธยาศัยไมตรีของบรรดาสมาชิกโบสถ์ที่พร้อมกันแต่งชุดผ้าไทยมายืนต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ฝรั่งเอลเดอร์ซึ่งเป็นมิชชันนารีหลายคนหัดพูดไทยมาตั้งแต่อยู่สหรัฐฯ แม้ว่าอยู่ในไทยมาเพียง 6 วันก็พูดจาสื่อสารเรื่องศาสนาได้เป็นอย่างดี ต่างเชิญชวนให้เดินไปดูอีกห้องหนึ่งซึ่งเป็นหัวใจหลักของคริสตจักรที่นี่ คือ ‘โบสถ์’ อันที่จริงมันเป็นห้องนมัสการขนาดย่อม ตกแต่งด้วยไม้อย่างเรียบหรูดูมีสไตล์ พรั่งพร้อมไปด้วยอุปกรณ์โสตและสื่อ มีเปียโนไม้สำหรับบรรเลงและหนังสือเพลงสำหรับให้สมาชิกร้องตาม แต่ข้างในไม่มีรูปพระใด ๆ ทั้งสิ้นแม้แต่ไม้กางเขน

“ทำไมถึงไม่มีไม้กางเขน” ผมถามเอลเดอร์คนหนึ่ง เพราะสังเกตว่าทั้งโบสถ์ไม่มีไม้กางเขนเลย

“เป็นคำถามที่ดีนะ เพราะชาวมอร์มอนเชื่อว่ากางเขนเป็นสัญลักษณ์ของความตาย แต่พวกเราเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพในชีวิตหน้า จึงใช้รูปพระเยซูกลับคืนชีพเป็นหลัก”

ผมกวาดตาดูในห้องนมัสการของโบสถ์ก็ไม่พบรูปพระเยซูสักรูป เอลเดอร์มิชชันนารีท่านนั้นคงรู้ทัน จึงจูงมือผมลงไปที่สวน ที่นั่นมีรูปพระเยซูขนาดใหญ่ทำจากหินอ่อน ประทับยืนเหยียดพระกร (แขน) ออกเหมือนกำลังอวยพระพร

“พี่เห็นรูปนี้ไหมครับ นี่คือรูป ‘คริสตุส’ (Christus) เป็นรูปพระเยซูกลับคืนพระชนม์ชีพ”
“ตรงไหนครับที่เห็นว่าเป็นการกลับคืนพระชนม์ชีพ” ผมถาม

“ดูที่มือและเท้าสิครับ มีรอยตะปูแทงอยู่” พร้อมกับดึงให้ผมชะโงกข้ามกอดอกไม้ลงไปดูที่เท้า มีรอยตะปูจริง ๆ ด้วย

“พวกเราชาวมอร์มอนหวังว่า ด้วยการกลับคืนชีพของพระเยซู เราเองก็มีความหวังเช่นกันว่าจะกลับคืนชีพหลังความตายและมีชีวิตเป็นนิรันดร์เช่นเดียวกับพระองค์” คำอธิบายนั้นแจ่มแจ้งและเป็นคำพยานที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ผมเองก็อยากจะหวังให้ได้สัก 1 ใน 10 ของเขา

การดำรงอยู่ตลอดนิรันดร์ เป็นความหวังที่น่าพึงหวังจริง ๆ

มอร์มอนส่งเสริมให้ทุกคนและทุกครอบครัวมีความหวังว่าจะใช้ชีวิตร่วมกันไปตลอดในพระคุณ เมื่อเราตายไปจากโลกนี้แล้ว เราไม่ได้พรากจากกัน นอกจากครอบครัวแล้ว เราก็จะได้พบญาติ ๆ พี่น้องของเราอีก แม้ว่าจะเป็นคนต่างศาสนาก็มีหนทางพิเศษที่พบกันได้อีกครั้งในเวลานิรันดร์ ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว สมาชิก ผู้นำ เอลเดอร์ อธิการ หรือปุโรหิต จึงผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นจนสร้างความประทับใจได้อย่างง่ายดาย

ถ้าท่านใดสนใจเข้าชมพระวิหารครั้งนี้ที่จะมีแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ไปเยี่ยมเยียนได้จนถึงวันที่ 16 กันยายนนี้ (ยกเว้นวันอาทิตย์) 

การเดินทาง : พระวิหารกรุงเทพ ตั้งอยู่ริมถนนเพชรบุรี ขึ้นรถไฟฟ้า MRT ไปลงที่สถานีเพชรบุรีแล้วเดินต่อไปประมาณ 100 เมตร

Writers

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ