ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ เป็นผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคนใหม่

เธอรับตำแหน่งหมาด ๆ ได้ราว 2 เดือนเศษ แต่ผูกพันกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมา 24 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 และเป็นผู้ริเริ่มโครงการท่องเที่ยวมากมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลักของประเทศ

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ไม่ปกตินัก สร้างความท้าทายให้แม่ทัพหญิงต้องวางกลยุทธ์ยกระดับประเทศไทยด้วยการท่องเที่ยว และบรรลุเป้านักท่องเที่ยว 25 ล้านคนภายในปีนี้ตามที่รัฐบาลตั้งธง

ฐาปนีย์เปิดประตูไม้ที่เชื่อมระหว่างห้องทำงานของเธอมายังห้องประชุม ห้องประชุมที่มีโต๊ะตัวใหญ่กลางห้องเป็นสิ่งที่เธอชอบ เธอสวมชุดผ้าไหมไทยสีทองระเรื่อทอแสงแวววับล้อกับแสงแดด

เธอนั่งลงตรงหัวโต๊ะและทักทายอย่างเป็นกันเอง เธอเปลี่ยนเป้าประสงค์ของเราในการไป ‘สัมภาษณ์’ เป็นการ ‘พูดคุย’ สบาย ๆ และตอบทุกคำถามด้วยความชัดเจน กล้าหาญ และจริงใจ

บทสนทนาว่าด้วยความท้าทายในการรับตำแหน่ง นักท่องเที่ยวจีนลดลง จนถึงเป้าหมายยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืน ด้วย Sustainable Tourism Goals (STGs) ที่สอดคล้องกับ SDGs เป้าหมายการพัฒนาด้านความยั่งยืนระดับโลก 17 ข้อ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไม่เพียงริเริ่ม ‘STGs เที่ยว 4 ดี ดีต่อโลก ดีต่อเรา’ แต่ยังชวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้าโครงการ STAR (Sustainable Tourism Acceleration Rating) เพื่อมอบดาวความยั่งยืนให้กับผู้เข้าร่วม

หากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยบรรลุ STGs ได้สำเร็จ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ยิ่งกว่านั้น หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันเอาจริงเอาจังด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จะยิ่งส่งให้ประเทศไทยของเรากลายเป็น Sustainable Tourism Destination หมุดหมายหนึ่งของโลก

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าฯ ททท. กับการพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบรรลุ STGs สู่ความยั่งยืน

การรับตำแหน่งผู้ว่าฯ ททท. ในช่วงนี้ซึ่งสถานการณ์การเมืองโลกไม่ปกตินัก ท้าทายคุณอย่างไร

ความท้าทายของเราคือการบริหารกลยุทธ์เชิงยุทธศาสตร์ 

พอเราเข้ามารับตำแหน่ง ยุทธศาสตร์ที่เราให้ความสำคัญ คือการยกระดับประเทศด้วยการท่องเที่ยว ซึ่งเราโฟกัสทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ เพื่อบูสต์เศรษฐกิจของประเทศไทย

เรามี 4 กลไกที่จะขับเคลื่อน คือ PASS และตั้งเป้าชัดเจนว่าจะทำภายใน 4 ปีนี้ คือ พ.ศ. 2567 – 2570 และความท้ายอีกอย่างคือ GDP ถ้ายึดตามสภาพัฒน์ GDP ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องแตะประมาณ 25% ของ GDP รวม ก่อนหน้านี้ปีที่ดีที่สุดเราทำ GDP อยู่ที่ 18% คือ 3 ล้านล้านบาท

ถ้าจะไปให้ถึง 25% อาจต้องแตะถึง 6 ล้านล้านใน พ.ศ. 2570 ตัวเลขแตะ 6 ล้านล้าน เท่ากับว่านักท่องเที่ยวไม่ใช่ 40 ล้านคนแน่นอน ต้องบริหารจัดการการขยายฐานกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้อยู่ที่ 60 – 80 ล้านคน ซึ่งนั่นไม่ได้เสียหาย ถ้าบริหารจัดการได้ โดยการกระจายนักท่องเที่ยวไปทั้ง 77 จังหวัด และทำให้เมืองไทยเป็นประเทศที่เที่ยวได้ทุกวัน ดังเช่นแคมเปญ ‘365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน’

กลไกขับเคลื่อน 4 ข้อ หรือ PASS ที่คุณว่าคืออะไร

P คือ Partnership 360 องศา ททท. ต้องสร้างพันธมิตรหรือพาร์ตเนอร์ที่อยู่นอกเหนืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) แม้กระทั่งทหาร เพราะแหล่งท่องเที่ยวทางทหารก็ดีมาก ๆ และมีการบริหารจัดการที่ดีด้วยเช่นกัน

A คือ Accessibility through Digital World เราต้องรักษาสมดุลระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ ต้องหาจุดเมิร์ชที่ดีที่สุดให้ได้ รวมถึง AI ด้วย ต้องมีการจัดการดาต้าเบสที่ดี เพราะดาต้าเบสทำให้เกิด AI หลายคนบอกว่า AI จะมาแทนมนุษย์ แต่สิ่งที่ AI ไม่มีคือประสบการณ์ ททท. ใช้ AI เป็นเครื่องมือในการทำงาน แต่เราบวกประสบการณ์การทำงานของคน ททท. เข้าไปด้วย นั่นทำให้มนุษย์เราเหนือกว่า 

S คือ Sub-culture Movement เป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมร่วมหรือชอบเรื่องเดียวกัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ นะคะ การเลือกตั้งที่ผ่านมาแสดงถึง Sub-culture Movement ได้แข็งแรงที่สุด จนทำให้พรรคการเมืองได้เสียงข้างมาก เพราะมีการรวมกลุ่มของคนที่เชื่อเรื่องเดียวกัน เกิดอิมแพกต์สูงมาก ๆ

เช่น ถ้าชอบดู UFO ต้องมาที่เขากระทิง พอคนที่ชอบเหมือนกันรู้ข่าว เขาก็จะตามไปดู มีจริงหรือไม่จริงไม่รู้ แต่ความเชื่อมันมีแล้ว ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Sub Culture เพื่อการท่องเที่ยว และ Sub Culture เหล่านั้นจะทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์ จนทำให้เกิดเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้ 

S คือ Sustainability ความยั่งยืนที่กำลังกลายเป็นสาระสำคัญของโลก ณ ตอนนี้

คุณคิดว่า ททท. ต่างจากองค์กรรัฐอื่น ๆ มั้ย

ททท. เป็นองค์กรที่แต่ละคนรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง มีการแข่งขันกัน แต่ไม่ใช่แข่งขันเพื่อชิงชัยเป็นการแข่งขันเพื่อให้ KPI ออกมาดีที่สุด แข่งขันเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้องค์กร จะเห็นชัดเจนว่าเวลา ททท. ทำอะไร เจอความท้าทายแบบไหน หรือเป้าประสงค์รัฐบาลจะเป็นอะไร ททท. รับได้ทั้งหมด เพราะคน ททท. เป็นนักปฏิบัติ (Doer) แต่สิ่งที่ ททท. ต้องปรับให้มากกว่านี้ คือเราต้องไม่ติดกับคอมฟอร์ตโซน ต้องพยายามคิดนอกกรอบ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวและสภาพปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง

ในช่วงที่รัฐบาลเร่งหารายได้อย่างเร่งด่วนเข้าประเทศ การท่องเที่ยวดูเป็นสิ่งแรก ๆ ที่คนนึกถึง การดึงเงินเข้าประเทศผ่านการท่องเที่ยวในวันนี้ มีแนวคิดต่างจาก 24 ปีที่ผ่านมาอย่างไร

ยุคก่อนเรามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเพราะเปิดเส้นทางใหม่ ๆ และมีกลยุทธ์ใหม่ ๆ เช่น การท่องเที่ยวเมืองรอง Unseen Destination และให้ความสำคัญกับกิจกรรม ประเพณี ประสบการณ์ท้องถิ่น เราว่ารูปแบบไม่ได้แตกต่าง เพราะพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว เขามาเพื่อใช้จ่ายเงิน เช่น ตั๋วเครื่องบิน โรงแรม

แต่สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ คือเราจะทำยังไงให้เขาอยู่นานขึ้น และใช้จ่ายต่อทริปเพิ่มมากขึ้น เขาจะต้องซื้อสินค้าอะไรเพื่อทำให้มูลค่าของการเดินทางกลายเป็นรายได้ที่กระจายทั่วถึงทั้งหมด

การท่องเที่ยวตอนนี้ Gastronomy Tourism มาแรง มีมิชลินมาช่วยสร้างกระแส และเราเน้น Sport Tourism มากขึ้น อย่างมวยไทยเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ ซึ่ง ททท. ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬา แต่เราก็ดึงกลุ่มคนรักมวยไทยมาทำเป็นกิจกรรมหรืออีเวนต์ต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดการขยายมิติของการท่องเที่ยว

อีกหมวดที่ชัดเจน คือซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่ง ททท. ขายมาหลายปีแล้วนะ อย่าง 2 ปีที่แล้ว นโยบายหลักของเราคือดึงจุดแข็งให้กลายเป็นจุดขาย ซึ่งจุดแข็งที่ว่าก็คือซอฟต์พาวเวอร์

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าฯ ททท. กับการพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบรรลุ STGs สู่ความยั่งยืน
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าฯ ททท. กับการพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบรรลุ STGs สู่ความยั่งยืน

จุดแข็งของการท่องเที่ยวยังเป็น Sea, Sand, Sun อยู่หรือเปล่า

แน่นอนค่ะ เรามีต้นทุนทางการท่องเที่ยวดีมาก ๆ หาดทราย ชายทะเล และนั่นคือข้อดี

ตลอดการทำงานด้านการท่องเที่ยวมา 24 ปี คุณมองว่าจุดอ่อนของการท่องเที่ยวไทยคืออะไร

ความปลอดภัยคือหัวใจของการท่องเที่ยว ถ้าประเทศไหนไม่มีความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวมั่นใจ ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง และนั่นทำให้เขาไม่อยากมา พอเราไปดู Global Index พบว่าความปลอดภัยและการบริหารจัดการความยั่งยืนของประเทศไทยแทบจะอยู่อันดับท้าย ๆ ของโลก

เราต้องช่วยกัน คนในประเทศไทยต้องเห็นความสำคัญในเรื่องเดียวกันและทำไปพร้อม ๆ กัน 

ฟังดูการท่องเที่ยวก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์ SWOT ด้วยเหมือนกัน

SWOT ของเราเพิ่ม R มาด้วยนะคะ เป็น SWORT

R ที่เพิ่มมา คือความเสี่ยง เราต้องมีแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่าง ๆ ในโลก ซึ่งความเสี่ยงที่ทั่วโลกเจอเหมือนกันคือสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งไม่ว่า ททท. จะเจอ R อีกสักกี่ตัว เราก็หยุดไม่ได้ เพราะการท่องเที่ยวคือปากท้องของพี่น้องคนไทยทุกคน

ส่วน T คือความท้าทายที่เราจะบูสต์เศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวและนำไปสู่ความยั่งยืน

สิ่งที่เราต้องทำคือบริหารจุดแข็งที่มีให้ดีและทำให้ดีขึ้น ที่สำคัญต้องปิดจุดอ่อนให้ได้ด้วย

ปีนี้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยต่ำกว่าเป้าไปประมาณล้านคน คุณว่ามันเกิดอะไรขึ้น

เพราะสถานการณ์ของสายการบินและสล็อตการบิน รวมถึงผู้ประกอบการและพนักงานในอุตสาหกรรมการบินของจีน ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่านักท่องเที่ยวจีนจะมาประเทศไทย 3.4 ล้านคน

แปลว่าตัวแปรสำคัญคือสายการบิน

ใช่ค่ะ แล้วก็ Mode of Transportation อื่น เช่น การเดินทางทางบกเข้มงวดกว่าสมัยก่อน เพราะประเทศจีนกำลังส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ เมื่อเราตรวจสอบดูจำนวนที่นั่งของสายการบินทั้งหมด น่าจะรับนักท่องเที่ยวจีนได้ประมาณ 3.4 ล้านคน ถ้าเราได้ Visa Exemption มา อาจรับนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มอีก 6 แสนคน หมายความว่าสายการบินจะเพิ่มไฟลต์และจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยราว 4 – 4.4 ล้านคน แต่สถานการณ์จริง สายการบินยังไม่มีความพร้อม เลยเห็นข่าวว่ามีการยกเลิกการบิน ซึ่งไม่เป็นความจริง มีการเพิ่มไฟลต์ด้วยซ้ำ แต่นั่นเป็นการคืนสล็อตการบินตามการบริหารจัดการไฟลต์บิน

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าฯ ททท. กับการพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบรรลุ STGs สู่ความยั่งยืน

เช่นนั้น อะไรทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่เยอะเท่าตอนก่อนโควิด-19

หลัก ๆ คือสายการบิน เพราะมีลิมิตของสายการบิน-ไฟลต์บิน และนโยบายการสนับสนุนการเดินทางภายในประเทศจีน สายการบินต่าง ๆ ถูกนำไปใช้เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในประเทศและมณฑลต่าง ๆ เมื่อไฟลต์บินในประเทศมีเยอะ ก็ราคาต่ำ ทำให้คนอยากเดินทาง ขณะเดียวกันไฟลต์บินต่างประเทศก็ราคาสูงกว่า แต่ถึงแม้ราคาสูง แต่นักท่องเที่ยวจีนก็เลือกเดินทางมาประเทศไทย ต้องขอบคุณจริง ๆ ค่ะ

รัฐบาลตั้งเป้านักท่องเที่ยว 25 ล้านคน ช่วงโค้งสุดท้ายมีโปรโมชันอะไรที่ดึงคนให้ถึงตามเป้า

ถ้าได้ 25 ล้านคนถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้วนะ แต่เราอยากได้มากกว่านั้น

มาตรการกระตุ้น คือกระตุ้นการเดินทางภายในประเทศ ทั้งข้ามภาคและภายในจังหวัด ดึงคนด้วยการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ และอีกมาตรการ คือการสร้างตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้กับประเทศ

ตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่ว่าคือนักท่องเที่ยวกลุ่มไหน

นักท่องเที่ยวตลาดอินเดีย ตลาดกลุ่มประเทศ CIS อย่างรัสเซีย คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ซึ่งตลาด CIS เป็นตลาดใหม่ที่เติบโตดีมาก แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวอิสราเอลก็เดินทางเข้ามาประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เขาชอบประเทศไทยมาก ๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่ม UAE ถือเป็นตลาดดาวรุ่งที่ต้องมุ่งไปเลย และ ททท. จะมีการตั้งสำนักงานที่รียาด เมืองหลวงของประเทศซาอุดีอาระเบียเร็ว ๆ นี้ด้วยค่ะ

ส่วนตลาดประเทศระยะใกล้ อย่างมาเลเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม สิงคโปร์ ก็ดีมากเช่นกัน ซึ่งกลุ่มตลาดใหม่เหล่านี้จะทำให้เราได้นักท่องเที่ยว 25 ล้านคนตามที่ทางรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้

เมื่อก่อนเราคุ้น ๆ ว่าเวลาคนต่างชาติมาเที่ยวประเทศไทย เขาจะไปวัดพระแก้ว ไปทะเล ไปเชียงใหม่ หรือไม่ก็ภูเก็ต แล้วทุกวันนี้เขามาทำอะไรกัน

Tourism Experience เปลี่ยนไป เขาเริ่มไปแหล่งท่องเที่ยวชุมชน แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมตามรอยศรัทธาทัวร์-อาหาร Sport Tourism และ Health & Wellness ประเทศเราก็ทำได้ดี

สิ่งที่ ททท. ทำมาตลอด คือ Meaningful Travel Experience แต่เราจะทำให้ลึกซึ้งกว่านั้น คือ Meaningful Relationship มากกว่าได้ประสบการณ์คือได้รับความสัมพันธ์ที่มีความหมาย หาก Meaningful Relationship เกิดขึ้น ความสัมพันธ์นั้นจะกลายเป็นตำนานที่ทำให้เขาอยากกลับมาอีก

และสิ่งหนึ่งที่เป็นพื้นฐานของนักท่องเที่ยวคือการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ก้นบึ้งของจิตใจลึก ๆ เขาค่อนข้างละอายหากเขาท่องเที่ยวแล้วทำลายธรรมชาติ คิดว่าทำลายแล้วจะเป็นบาป เหมือนฆ่ามด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะคะ ททท. ส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในหลายมิติ ทั้ง Carbon Neutrality, STGs, STAR รวมถึงบริษัทนำเที่ยวที่ต้องสร้างความใหม่และแตกต่างเพื่อสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว

ในวันที่ทุกภาคส่วนพูดเรื่องความยั่งยืน ไม่ว่าคาร์บอนหรือขยะ แล้วการท่องเที่ยวพูดเรื่องอะไร

ทุกเรื่อง (ตอบทันที) เพราะการท่องเที่ยวไม่ต้องการเป็นผู้ร้ายในสายตาทุกคน เราต้องกลับมาปรับพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ซึ่งคงไม่ได้ 100% เพราะต้องบาลานซ์ความสุขกับความใส่ใจสิ่งแวดล้อม 

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ ททท. ทำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 ปรับเปลี่ยนไปอย่างไรจนถึงปัจจุบัน

ททท. ทำมานานมาก ทั้งแนวคิด 7 Greens จนมี Thailand Tourism Awards ซึ่งเราถือว่ามีนักท่องเที่ยวคุณภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่รวยด้วยทรัพย์สิน และนักท่องเที่ยวที่รวยด้วยจิตใจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งแตกต่างกับยุคปัจจุบันตรงที่เราต้องทำให้เห็นภาพ มีเกณฑ์ชัดเจนและจับต้องได้ เหมือนสมัยโควิด-19 ที่มีมาตรฐาน SHA แสดงถึงมาตรฐานบริการ ความปลอดภัยด้านสาธารณสุข

ทำไมประเทศไทยถึงควรมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็น Sustainable Tourism Destination 

ถ้าประเทศเราไม่ประกาศตัวว่า Sustainable Tourism Destination ไม่เกิด Demand แน่นอน และประเทศไทยจะประกาศตัวว่าเป็น Sustainable Tourism Destination อย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อและเห็นว่าเราเป็นแบบนั้นจริง ๆ ที่สำคัญ ต้องมีเกณฑ์ (Criteria) อย่างชัดเจนด้วยค่ะ

เช่นที่ไหน

เกาะหมาก เขามีความชัดเจนและชัดเจนมาอย่างยาวนาน จนเป็น Low Carbon Destination หรือแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เพราะชุมชนแข็งแรง และมีธรรมนูญเกาะหมาก ซึ่งเป็นข้อตกลง 8 ข้อที่ต้องลงมือทำร่วมกันทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่

และที่นี่ก็เป็นต้นแบบของการใช้โซลาร์เซลล์ด้วย เราว่าเกาะหมากเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ ในด้านความยั่งยืน ททท. ทำงานกับเขา เห็นเลยว่าเขาไม่อะลุ่มอล่วยให้กับผู้คนที่คิดไม่ดีกับเกาะหมาก

แม้แต่ในกรุงเทพฯ แพ็กเกจทัวร์ที่ขายดีมาก ๆ คือแพ็กเกจทัวร์ที่เดินทางโดยไม่สร้างคาร์บอน เช่น วอล์กกิงทัวร์ หรือสกูตเตอร์ทัวร์เป็นสกูตเตอร์ใช้ขา ซึ่งนักท่องเที่ยวยุโรปให้ความสนใจ เขาเคยบอกไว้ว่าความสุขของการเดินทางไม่ใช่แค่เห็นสิ่งสวยงาม แต่คือการได้ทำบางสิ่งบางอย่างกลับคืนสู่ธรรมชาติ สังคม และชุมชนที่เป็นเจ้าของจุดหมายปลายทางนั้น และนั่นจะทำให้เขาอยากเดินทางมาอีกซ้ำ ๆ

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าฯ ททท. กับการพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบรรลุ STGs สู่ความยั่งยืน

แล้ว Sustainable Tourism Goals (STGs) คืออะไร 

คือหลัก 17 ข้อของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยั่งยืนที่สอดคล้องกับ SDGs เป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลก โดยมีโครงการ STAR (Sustainable Tourism Acceleration Rating) ที่มอบดาวแห่งความยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการในโครงการ หากผู้ประกอบการบรรลุเป้าหมาย จะได้รับดาว 3, 4 และ 5 ดวง ตามลำดับ ซึ่งข้อกำหนดพื้นฐานของการได้รับดาว 3 ดวง ผู้ประกอบการต้องผ่านเป้าหมาย STGs 3 ข้อ คือข้อ 13 ลดก๊าซเรือนกระจกในมิติต่าง ๆ ข้อ 16 คำนึงถึงความปลอดภัยที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และข้อ 17 บรรลุเป้าหมาย STGs ด้วยการมีพันธมิตรในหลายภาคส่วน

การจะบรรลุ STGs ได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากใครบ้าง

ทุก Stakeholder ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไกด์ โรงละคร ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า แม้กระทั่งการเดินทางแบบต่าง ๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของ STGs 

ทำไมผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของ STGs

ถ้าเขาไม่ปรับตัว เราจะไม่ Acknowledge เขา และจะไม่โปรโมตสถานประกอบการของเขาให้นักท่องเที่ยว หากผู้ประกอบการไม่มีความพร้อมด้านความยั่งยืน ก็สร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวไม่ได้ และส่งผลให้ Global Index ของประเทศไทยอยู่รั้งท้าย ททท. เลยต้องทำกุศโลบายแกมบังคับ

หากผู้ประกอบการปรับตัว เราจะมีตราการันตีจากสมัชชาการท่องเที่ยวโลก เหมือนเครื่องหมาย SHA ซึ่งเครื่องหมาย STAR จะเพิ่มต้องการให้มาที่ STGs เพราะนักท่องเที่ยวรู้แล้วว่าสถานที่นั้น ๆ มีการบริหารจัดการความยั่งยืน และด้วยความที่ ททท. เป็นนักขาย เราจะโปรโมตให้เขาขึ้นเชลฟ์เลย

STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยสู่ STGs ได้อย่างไร

ผู้ประกอบการในโครงการ STAR จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ประเทศไทยเป็น Sustainable Tourism Destination ซึ่งมัน Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ประกอบการก็ได้ยกระดับกิจการของเขาด้วย

เมืองไทยขึ้นชื่อเรื่องการบริการ และเป็นจุดเด่นที่นักท่องเที่ยวประทับใจ แล้วผู้ประกอบการจะบาลานซ์การให้บริการนักท่องเที่ยวกับการให้บริการอย่างยั่งยืนอย่างไร

เรามองว่าการบริการทั้ง 2 แบบนั้นต้องควบคู่ไปด้วยกัน ไม่ใช่มุ่งบริการเฉพาะนักท่องเที่ยว แต่ต้องมุ่งบริการสภาพแวดล้อมหรือสิ่งแวดล้อมด้วย สมมติขาขวาคือนักท่องเที่ยว ขาซ้ายคือสิ่งแวดล้อม

ถ้าผู้ประกอบการบาลานซ์ทั้ง 2 ขาได้ เท่ากับว่าเขาจะวิ่งได้เลย

ทุกวันนี้หลายสถานที่เริ่มปรับตัวสู่ความยั่งยืน หลังจากปรับแล้ว ถ้านักท่องเที่ยวที่เคยมาสถานที่นั้นเมื่อ 10 ปีก่อน เขากลับมาอีกครั้ง เขาจะรู้สึกหรือเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

เขาจะเห็นและสัมผัสได้ถึง Green Heart หรือความเป็นมนุษย์สีเขียวของผู้ประกอบการ

ถ้าต้องขอความร่วมมือคนในประเทศ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว คำขอนั้นคือ

อยากขอความร่วมมือให้เขาเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งแวดล้อม และขอร้องอย่างเดียวว่าอย่าให้ทฤษฎีเป็นแค่ทฤษฎี แต่แปลงทฤษฎีให้เป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง จนกลายเป็นความเคยชินในชีวิตประจำวัน

เมื่อทุกคนเริ่มต้นทำ รับรองว่าประเทศไทยจบสวยแน่นอนค่ะ

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าฯ ททท. กับการพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบรรลุ STGs สู่ความยั่งยืน

12 Things you never know

about Thapanee Kiatphaibool

1.  สถานที่ท่องเที่ยวโปรดสมัยเรียนมหาวิทยาลัย

หาดจอมเทียน เพื่อนชวนกันไปเล่นบานาน่าโบต

2.  ผ้าไทยผืนที่คุณชอบที่สุด

ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์

3.  ใครออกแบบชุดให้

ออกแบบเอง โดยมี Instagram Inspiration แล้วให้ช่างถอดแบบ

4.  1 เดือน คุณเดินทางสักกี่วัน

7 – 14 วัน

5.  จังหวัดที่คุณเดินทางไปบ่อยที่สุด

เชียงใหม่และภูเก็ต

6มุมที่คุณชอบที่สุดในตึก ททท.

ห้องประชุมที่มีโต๊ะใหญ่ ๆ

7คุณทานอาหารเที่ยงกับใคร

ทานกับตัวเอง เพราะเรามีเวลากินข้าวน้อยมากเลยต้องกินคนเดียว

8วิธีแก้เครียดของคุณ

ช้อปปิ้งออนไลน์ ชอบซื้อเครื่องสำอาง ดีไซน์ทอย วินเทจทอย

9.  อาร์ตทอยตัวโปรดของคุณ

น้องดาว ออกแบบโดยศิลปินจังหวัดเชียงใหม่ หน้าน้องดาวยิ้มตลอด เห็นแล้วมีความสุขมาก

10.  ข้อดีของการมีฝาแฝด

มีเพื่อนร่วมคิด คุยกันได้ทุกเรื่อง เตือนกันได้ทุกเรื่อง และทะเลาะกันได้ทุกเรื่อง

11.  สิ่งที่ลูกสาวถอดแบบมาจากคุณ

ความใจดี ลูกสาวชอบการให้ เพราะการให้เป็นสิ่งที่ทำให้เขามีความสุข ซึ่งเหมือนเราเลย

12ปีใหม่นี้คุณมีแพลนไปเที่ยวไหน

ปีใหม่นี้อยู่เปิดงานเคานต์ดาวน์ในกรุงเทพฯ 

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)