The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
“ตอนผมเกิดยังมีเรือเมล์ วิ่งรับสินค้าจากกรุงเทพฯ (ทรงวาด) มาเกาะหมาก แล้วไปกัมพูชา ผมยังทันเห็นเรือใบ (คล้ายสำเภา) ขนยางพาราและมะพร้าว ใช้เวลา 3 – 5 วัน เพื่อเข้าไปส่งในเมือง”
อาจักร-จักรพรรดิ์ ตะเวทีกุล วัย 75 ปี ทายาทรุ่นที่ 4 ของเกาะหมาก เล่าย้อนความทรงจำวัยเด็กถึงสถานที่ที่เขาเกิด เติบโต และใช้ชีวิต ปัจจุบันอาจักรยังแข็งแรง เดินรอบเกาะวันละ 7 กิโลสบาย ๆ

เป็นฤกษ์งามยามดี เราชวนอาจักรมาเล่าถึงที่พักแห่งแรกบนเกาะหมาก จังหวัดตราด ที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวมานานถึง 36 ปี พร้อมกับการเป็นส่วนหนึ่งของ Low Carbon Destination หรือแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ซึ่งขับเคลื่อนมาตลอด 10 ปี จากการร่วมมือกันระหว่างชุมชน-เครือข่ายผู้ประกอบการบนเกาะหมาก ภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.
ที่น่ายินดีปรีดา คือเกาะหมากเพิ่งได้รับรางวัล ‘2023 Green Destinations Story Awards’ อันดับ 2 ของโลกด้านการจัดการและการฟื้นฟูในงาน Internationale Tourismus Borse หรือ ITB Berlin 2023 ประเทศเยอรมนี เป็นมหกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของโลก และเมื่อปลายปี 2565 ก็ได้รับเลือกให้เป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนที่ติด 100 อันดับแรกของโลก (ทั้งสองรางวัลมอบโดย Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์)


เท้าความก่อนว่า หลวงพรหมภักดี ผู้เป็นต้นตระกูล ‘ตะเวทีกุล’ มาตั้งรกรากที่เกาะหมาก จังหวัดตราด เมื่อ พ.ศ. 2453 และประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าวขนาด 3,000 – 4,000 ไร่ ภายหลังสิ้นหลวงพรหมภักดี ลูกหลานนำยางพาราเข้ามาปลูกกว่า 1,000 ไร่ ชาวบ้านที่นี่เลยทำอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก


อาจักรเล่าว่า เกาะหมากรีสอร์ท เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2530 เพราะญาติ ๆ มองเห็นโอกาสว่าจะเกิดการท่องเที่ยวขึ้นบนเกาะแห่งนี้ ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจังหวัดตราด รองจากเกาะช้างและเกาะกูด โดยเริ่มต้นจากบังกะโล 3 หลัง จนขยับขยายเป็น 10 หลัง ริมชายหาดอ่าวสวนใหญ่
“นักท่องเที่ยวสมัยนั้นเป็นแบ็กแพ็กเกอร์จากเยอรมนี ฝรั่งเศส ซึ่งนักท่องเที่ยวยุคนั้นเป็นผู้บุกเบิกจริง ๆ นะ เขามาแล้วไม่ค่อยประชาสัมพันธ์ กลัวคนมาเที่ยวเยอะ” อาจักรเล่าปนเสียงหัวเราะ
“ยุคแรกผมขายเป็นแพ็กเกจทัวร์ 3 วัน 2 คืน ราคา 1,500 บาท รวมค่าเรือ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และต้องใช้เรือประมงเพื่อไปรับนักท่องเที่ยวจากตัวเมืองมาที่เกาะ ซึ่งสมัยนั้นไฟยังต้องปั่นเองอยู่เลย”

อาจักรเล่าให้เราฟังถึงรีสอร์ตสมัยบุกเบิก ปัจจุบันการคมนาคมสะดวกสบาย น้ำ-ไฟพร้อม (แต่ต้องใช้อย่างประหยัดนะ) ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเน้นเที่ยวกันเป็นครอบครัว นักท่องเที่ยวชาวไทยก็ตบเท้ามาเยือนอยู่เรื่อย ๆ ส่วนมากนิยมมาท่องเที่ยวและพักผ่อนกันช่วงหยุดยาว
เราชวนทายาทรุ่นที่ 4 คุยถึงจุดเริ่มต้นที่เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยว Low Carbon Destination แห่งแรกของไทย ซึ่งตัวเขาเองมีส่วนร่วมทั้งฐานะทายาทและผู้ประกอบการการท่องเที่ยว
“ที่นี่เริ่มจริงจังเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มาจุดประกายเรื่อง Low Carbon Destination ด้วยมีขนาดไม่ใหญ่มาก และเจ้าของพื้นที่ยังเป็นญาติกันอยู่ เลยมีการจัดการง่ายกว่า”
เมื่อ พ.ศ. 2555 ได้เกิดการลงนามปฏิญญาเกาะหมาก Low Carbon Destination ขึ้น โดย อพท. เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รณรงค์ลดการใช้พลังงาน การผลิตพลังงานใช้เอง เช่น ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


เพื่อเน้นย้ำในการเป็นหมุดหมายของการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ที่นี่ยังจัดทำ ธรรมนูญเกาะหมาก 8 ข้อ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เห็นพ้องและต้องลงมือทำร่วมกันทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ ได้แก่
หนึ่ง ไม่สนับสนุนให้เรือเฟอร์รี่นำยานพาหนะของนักท่องเที่ยวข้ามมายังเกาะหมาก
สอง รถจักรยานยนต์ให้เช่าต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของจำนวนห้องพักบนเกาะหมาก
สาม ไม่สนับสนุนการใช้วัสดุจากโฟมหรือวัสดุที่ก่อให้เกิดมลพิษเพื่อใส่อาหาร
สี่ ห้ามทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล ของเหลือรับประทานลงในที่สาธารณะและแหล่งน้ำโดยเด็ดขาด
ห้า ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมีที่มีสารตกค้างสูง
หก ห้ามส่งเสียงดังหรือกระทำการรบกวนหรือเป็นการเดือดร้อน ในเวลา 22.00 – 07.00 น.
เจ็ด ไม่สนับสนุนกีฬาทางบกและทางทะเลที่ใช้เครื่องยนต์ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชน
แปด ห้ามนำ ห้ามเสพ ห้ามจำหน่าย สารเสพติดผิดกฎหมายทุกชนิดบนเกาะ

อีกหนึ่งสถานที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำที่เราอยากชวนคุณทำความรู้จัก คือ เกาะหมากออร์แกนิคฟาร์ม ซึ่งอาจักรขยายจากเกาะหมากรีสอร์ท โดยการชวน ดวง-ประจิตรา ประชุมแพทย์ และ เล้ง-วริศรา อริยวงศ์ปรีชา มาร่วมโปรเจกต์นี้ด้วยกัน
เล้งเป็นสาวกรุงเทพฯ ที่มาเที่ยวเกาะหมาก แต่ดันตกหลุมรักจนใช้ชีวิตและสร้างอาชีพที่นี่เป็นเวลากว่า 15 ปี ด้วยการเปิดธุรกิจส่วนตัว นั่นคือโรงเรียนสอนทำอาหารไทยขนาดเล็ก ๆ เล้งเริ่มต้นจากการเช่าบังกะโล 2 หลัง ปรับโฉมให้กลายเป็นครัวขนาดย่อม ก่อนขยับขยายมาเช่าบ้านริมทะเลหลังน้อย ๆ เป็นทั้งบ้านพักอาศัยและโรงเรียนสอนทำอาหารไทยสำหรับนักท่องเที่ยวทุกชาติ

“ห้องเรียนสอนทำอาหารของเราไม่ได้สอนแค่วิธีปรุง แต่สอนวัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทย เพราะเราคิดว่าวัฒนธรรมการกินของคนเอเชียค่อนข้างซับซ้อนและยังไม่มีใครทำให้เป็นรูปธรรม ซึ่งวัฒนธรรมการกินก็สอนให้เราเรียนรู้คนอื่นด้วย อย่างเวลาสั่งอาหาร เราก็จะถามว่า ‘กินอะไร’
“เราถามคนอื่นก่อนที่จะถามตัวเอง แล้วค่อยเลือกว่าอาหารของเราจะเข้ากับอาหารที่สั่งก่อนหน้าหรือเปล่า พอเรียนแล้วชาวต่างชาติก็จะถึงบางอ้อว่าทำไมคนรับออเดอร์ถึงงงเวลาที่เขาสั่งไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทีละ 3 จาน คนไทยจะแชร์อาหารกัน ไม่ได้กินของใครของมัน และการแชร์อาหารกันยังทำให้เราได้รับคุณค่าทางสารอาหารเพิ่ม แต่จ่ายเงินน้อยลง” เล้งเล่าให้เราฟังพร้อมยิ้มน้อย ๆ


แล้วจุดเริ่มต้นของการทำ Koh Mak Organic Farm มีที่มาที่ไปอย่างไร – เราสงสัย
“ช่วงสถานการณ์โควิด-19 เราว่างจาก Cooking School อาจักรเลยชวนมาทำ เกาะหมากออร์แกนิคฟาร์ม ที่นี่เป็นฟาร์มออร์แกนิกที่ได้การรับรองจากกรมวิชาการเกษตร และเราเรียนจบด้านปฐพีวิทยา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเคยทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อน เลยมีองค์ความรู้ประมาณหนึ่ง”
เมื่อมาเยือนฟาร์มสีเขียวแห่งนี้ นักท่องเที่ยวจะได้ทำกิจกรรมอะไรบ้าง – เราถาม
เนื่องจากบางฤดูกาลเป็นช่วงพักแปลง หากต้องการเยี่ยมชมหรือร่วมกิจกรรม กรุณาติดต่อสอบถามล่วงหน้า
“เรามีกิจกรรมปลูกผักสวนครัวที่แขกปลูกแล้วนำกลับไปดูแลต่อที่บ้านได้ อีกกิจกรรมคือ Farm to Table ชวนลูกค้าเก็บผักแล้วนำมาประกอบอาหาร ผนวกกับ Cooking Class ที่เราทำพอดี กิจกรรมนี้เราอยากให้เขาเรียนรู้ว่ากว่าจะมาเป็นอาหาร 1 จานต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง เพื่อให้เขาเห็นคุณค่าของวัตถุดิบ เวลาทานอาหาร (ไม่ว่าที่ใดก็ตาม) เขาจะอยากทานให้หมด ซึ่งมันลดขยะเศษอาหารได้”
ส่วนผักจากฟาร์มที่นี่ก็ส่งให้กับเกาะหมากรีสอร์ท และ ซีวานา บีช รีสอร์ท เกาะหมาก ผลผลิตบางส่วนนำมาขายในราคาย่อมเยา และเกาะหมากออร์แกนิคฟาร์มยังรับขยะเศษอาหาร (Food Waste) จากเกาะหมากรีสอร์ทมาผ่านกระบวนการฝังกลบ เพื่อทำปุ๋ยสำหรับปลูกต้นไม้ใหญ่ แถมเธอยังเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อนำมูลของมันไปทำปุ๋ยด้วย

จากการพูดคุยกับอาจักรและเล้ง ทำให้เราเห็นการขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยว Low Carbon ของคนเกาะหมากที่สร้างความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมให้กับชาวบ้าน ชุมชน และผู้ประกอบการ อาจักรบอกว่าที่เกาะหมาก งดเว้นกิจกรรมหรือกีฬาทางน้ำที่ต้องใช้เครื่องยนต์ ผู้ประกอบการเลยพากันเปลี่ยนเป็นการพายคายัครับลมทะเลหรือวินเซิร์ฟ และการแล่นเรือใบแทน
เล้งพาเราตระเวนรอบเกาะด้วยรถกอล์ฟไฟฟ้าของเธอ เราเห็นตลอดข้างทางของเกาะมีจุดทิ้งขยะของ Trash Hero และที่เกาะหมากรีสอร์ทก็มีจุดแยกขยะชัดเจน ส่วนไฟทางริมถนนก็ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่น่ารักดี คือที่นี่มีบริการเช่ารถกอล์ฟไฟฟ้าเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถจักรยานยนต์ปล่อยเช่า เราว่าสะดวกดีนะ สำหรับนักเดินทางที่ยกก๊วนเที่ยวกับเพื่อนหรือชวนครอบครัวไปพักผ่อน รถ 1 คัน จุสมาชิกได้ราว 6 คน

“ผมมองว่าเราควรทำให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เพื่อให้สมกับรางวัลที่เราได้รับ” อาจักรเปรย ก่อนเล้งเสริม “เราว่าควรมีป้ายตั้งแต่ต้นทาง (จากฝั่ง) ว่านักท่องเที่ยวไม่ควรนำขยะเข้ามาเกาะ หรือถ้านำเข้ามาตอนกลับก็ต้องนำกลับไปด้วย”
“ผมว่าชั่งขยะทั้งขามาและขากลับน่าจะดีนะ” อาจักรเสนอไอเดีย
“และเราอยากให้สองข้างทางมีต้นไม้ใหญ่มากขึ้น นักท่องเที่ยวจะได้รู้สึกร่มรื่น เพื่อกระตุ้นให้เขาอยากเดินหรือปั่นจักรยานแทนการเช่ารถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งมันก็ช่วยเรื่องอากาศได้ด้วยนะ” เล้งเล่า
“ถ้าเกาะหมากเป็นเกาะ Low Carbon 100% มันจะดีกับใครบ้าง” เราถามผู้ประกอบการ
“ถ้าจะเกิดขึ้นจริงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แม้ตอนนี้ยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยเราเริ่มทำแล้ว มันจะดีแน่นอนสำหรับพื้นที่ และภาพลักษณ์ของเกาะหมากเองก็เน้นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อยู่แล้ว ซึ่งระยะหลังคนไทยเริ่มเข้าใจสิ่งที่พวกเรานำเสนอ” อาจักรอธิบายถึงข้อดี
“ส่งผลดีแน่นอน ซึ่งไม่ใช่แค่เกาะหมาก แต่ส่งผลดีกับภาพรวมของประเทศ เราจะมีเกาะที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างออกซิเจนให้กับประเทศ แม้คนยังมอง Low Carbon เป็นเทรนด์ แต่ถ้าเมื่อไหร่คนมองว่าเรื่องนี้สำคัญ และเขาให้ความสำคัญ สิ่งนั้นก็จะเกิดได้จริง ๆ” เล้งเสนอความเห็น


การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างไร – เราชวนคุยต่อ
“ผมว่าสำคัญนะ คนไทยเป็นประเภทที่ต้องให้เกิดเหตุก่อนแล้วค่อยเข้าไปแก้ไข แต่ทำไมไม่ป้องกันหรือพยายามอนุรักษ์เอาไว้ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่นักลงทุนเขาไม่ค่อยคิดแบบนั้น” อาจักรเล่ายิ้ม ๆ
“ตอนนี้รุ่นผมและรุ่นลูกผมยังมีจิตอนุรักษ์ ไม่อยากพัฒนาพื้นที่ไปไกลกว่านี้ ซึ่งผมเข้าใจว่าการพัฒนากับการอนุรักษ์ต้องควบคู่กันไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่เราปล่อยให้การพัฒนาแซงการอนุรักษ์ มันก็ไม่ดีใช่ไหม ตอนนี้ที่นี่ยังไม่มีตึกสูง ยังไม่มีนายทุนใหญ่ ๆ ธรรมชาติเปลี่ยนไป แต่ถือว่ายังโอเคนะ”
“ในมุมมองเรา เราเข้าใจนักท่องเที่ยวที่เขามองหาสถานที่ที่ได้ใช้เวลากับธรรมชาติแบบเกาะหมากนะ ทุกวันนี้มันมีน้อยลงเรื่อย ๆ ถ้าไม่คิดอนุรักษ์หรือมีความคิดว่าจะต้องใช้ทรัพยากรให้หมดเพื่อตัวเรา ต่อไปรุ่นลูก รุ่นหลาน ก็คงไม่มีอะไรเหลือแล้ว ฉะนั้น การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบหรือการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนไม่ควรมีแค่เกาะหมากเท่านั้น แต่ควรเกิดขึ้นกับทุก ๆ ที่ในประเทศไทย” เล้งจบบทสนทนา

เราเห็นด้วยกับเธอ การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบควรเกิดขึ้นกับทุกพื้นที่ และอาจักรที่นั่งฟังอยู่ด้วยกันคงดีใจที่มีคนคิดอยากทำให้สถานที่ที่เขาเกิด เติบโต และใช้ชีวิต คงอยู่ด้วยความยั่งยืน
เกาะหมากมัดใจเราด้วยอากาศบริสุทธิ์ น้ำทะเลสีใสแจ๋ว และธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งหมัดนี้คงฮุกเข้ากลางใจนักท่องเที่ยวทั่วโลกด้วยเหมือนกัน ถึงทำให้ที่แห่งนี้เป็น Destination ที่ทุกคนใฝ่หา

5 Things you Should do
at Koh Mak
- ชมวิวหน้าหาดรอบเกาะหมาก เพราะแต่ละหาดมองเห็นวิวต่างกัน อย่างหน้าหาดอ่าวสวนใหญ่มองเห็นวิวเกาะขาม อีกหาดมองเห็นวิวเกาะช้าง และอีกหาดมองเห็นวิวเกาะกูด
- กินอาหารทะเลสด ๆ และปลอดภัยที่เกาะหมากซีฟู้ด ที่นี่ใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลและปลาท้องถิ่นจากประมงท้องถิ่น เพื่อลดการขนส่งจากฝั่งที่นำไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- เรียนรู้การอยู่ร่วมกับธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์ จะนั่ง นอน เดิน หรือดำน้ำ ก็ได้
- นั่งเรือเล็กหรือพายเรือคายัคข้ามไปเที่ยวเกาะกระดาดและเชื่อมไปยังเกาะขายหัวเราะ สนุกฟิน ได้แปลร่างเป็นตัวการ์ตูนติดเกาะ
- ปั่นจักรยานเที่ยวรอบเกาะ ได้ออกกำลังขาพร้อมแวะทำเวิร์กชอปย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ คาเฟ่อิงธรรมชาติ และเที่ยวหาดต่าง ๆ ได้ด้วย