ช่วงเวลาต้นเดือนพฤษภาคมนี้นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของไทย เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าโดยสมบูรณ์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีบรมราชาภิเษกคราวนี้นับเป็นครั้งที่ 12 ในสมัยรัตนโกสินทร์

หากย้อนไปตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2325 จนถึงปัจจุบัน มหาจักรีบรมวงศ์มีพระมหากษัตริย์ดำรงสิริราชสมบัติสืบต่อกันมา 10 รัชกาลเป็นเวลากว่า 237 ปี หากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้ปรากฏมีขึ้นแล้วทั้งสิ้น 12 ครั้ง เราจะทบทวนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์ไปด้วยกัน

ครั้งที่ 1 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2325

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ปราบจลาจลในกรุงธนบุรีเป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับย้ายเมืองหลวงมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ มีพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนารถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลยคุณอขนิษฐ์ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พงศ์เทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชษฐวิสุทธิ์ รัตนมกุฎประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลที่ 3 ได้ถวายพระนามแผ่นดินสำหรับรัชกาลที่ 1 ว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต่อมารัชกาลที่ 4 เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระประโมรุราชามหาจักรกรีบรมนาถ นเรศรราชวิวัฒนวงษ ประถมพงศาธิราชรามาธิบดินทร พิชิตินทรวโรดม บรมบพิตร พระพุทธยอศฟ้าจุฬาโลกย์

พระราชพิธีครั้งนั้นเรียกว่า พระราชพิธีราชาภิเษก นับเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ หากแต่เป็นการราชาภิเษกอย่างสังเขป กล่าวคือประกอบพระราชพิธีแต่เพียงย่นย่อเท่านั้น ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุการณ์บ้านเมืองยังไม่เป็นปกติดี อีกทั้งยังขาดตำราราชาภิเษกสำหรับใช้เป็นคู่มือด้วย

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงประดิษฐานพระราชวงศ์เนื่องต่อจากการพระราชพิธีราชาภิเษกนั้นด้วย ทรงสถาปนาพระญาติวงศ์ของพระองค์เป็นพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ด้วยกัน

ครั้งที่ 2 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2328

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกอย่างสังเขปไปแล้วนั้น ก็ทรงโปรดให้สร้างพระนคร พระราชมณเฑียร พระมหาปราสาท และวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว

นอกจากนี้ ยังโปรดให้ขุนนางซึ่งเคยเป็นข้าราชการแต่ครั้งกรุงเก่าประชุมหารือกันเกี่ยวแก่การราชาภิเษก จนได้เป็นตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปีพุทธศักราช 2328

การพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งนั้นจัดขึ้นที่พระที่นั่งอมรินทราภิเษกปราสาท ซึ่งเป็นพระมหาปราสาทสำคัญ ได้แบบมาจากพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทในกรุงศรีอยุธยา พระที่นั่งหลังนี้ต่อมาเกิดไฟไหม้ใหญ่ต้องรื้อถอนออก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้สร้างพระมหาปราสาทองค์ใหม่ขึ้นตรงบริเวณเดิม เมื่อสร้างเสร็จพระราชทานนามว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

เมื่อเสร็จสิ้นการพระราชพิธีราชาภิเษกแล้ว ทรงจัดการสมโภชพระนครต่อเนื่องกันไปพร้อมกับพระราชทานนามพระนครใหม่นี้ว่า กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ (ต่อมาเปลี่ยนคำ บวร เป็น อมร ในรัชกาลที่ 4)

ครั้งที่ 3 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2352

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ทรงรับพระราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ครั้งนั้นได้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นที่ตั้งพระบรมศพของรัชกาลที่ 1 สถานที่ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีจึงอยู่ในแต่หมู่พระมหามณเฑียรเท่านั้น ซึ่งถือเป็นแบบแผนต่อมาจนปัจจุบัน

ครั้งนั้นมีพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏเหมือนกันกับรัชกาลก่อน ในรัชกาลที่ 3 ได้ถวายพระนามแผ่นดินสำหรับรัชกาลที่ 2 ว่า พระพุทธเลิศหล้าสุลาไลย ต่อมารัชกาลที่ 4 เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชฐมเหศวรสุนทร ไตรเสวตคชาดิศรสวามินทร์ สยามรัษฏินทรวโรดม บรมจักรพรรดิราช พิลาศธาดาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระพุทธเลิศหล้านภาไลย

ครั้งที่ 4 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2367

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงรับพระราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ การพระราชพิธีราชาภิเษกมิได้มีเปลี่ยนแปลงไปจากรัชกาลก่อนแต่อย่างใด พระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏก็เหมือนกันกับรัชกาลก่อน ในรัชกาลที่ 4 ได้เฉลิมพระปรมาภิไธยถวายรัชกาลที่ 3 ว่า พระบาทสมเด็จพระประมาทิวรเสรฐมหาเจษฎาบดินทร สยามินทร์วโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้งที่ 5 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2394

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงรับพระราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช การพระราชพิธีครั้งนั้นเรียกว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นครั้งแรก เนื่องจากในรัชกาลที่ 4 มีการราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 2 พระองค์ พระองค์ใหญ่คือพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า บรมราชาภิเษก ส่วนพระองค์รองคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า บวรราชาภิเษก

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 4 มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายประการ อาทิ การกำหนดเครื่องราชูปโภคที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีหมวดต่างๆ ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ รัชกาลที่ 4 ไม่มีพระราชประสงค์ใช้พระปรมาภิไธยตามธรรมเนียมเก่าซึ่งใช้พระปรมาภิไธยเหมือนกันทุกพระองค์ ทรงวางระเบียบให้แต่ละรัชกาลมีพระปรมาภิไธยต่างกัน

สำหรับพระองค์เองมีพระปรมาภิไธยในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธิสมุติเทพยพงษวงศาดิศรกระษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาทิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคย์สรรพางค์ มหาชโนตมางคประนต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมศุขุมาลย์มหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุคุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอรรคมหาบุรุศย์ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิตย์ สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเสศสิรินธร มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเสกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมหัยศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวไสย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิ์อัคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปไมยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร์ ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หากออกพระปรมาภิไธยอย่างย่อจะเป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะสังเกตว่าพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 4 ประกอบด้วยพระปรมาภิไธยที่มาจากพระนามเดิม (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎ) พระคุณวิเศษต่างๆ และพระนามแผ่นดินลักษณะดังกล่าวเป็นแบบแผนที่ใช้ต่อมาในรัชกาลต่อไป

ในรัชกาลที่ 4 นี้เองที่ได้ทรงบัญญัติให้มีพระราชพิธีฉัตรมงคลขึ้นในวันคล้ายพระวันบรมราชาภิเษก นี้เป็นที่มาของวันฉัตรมงคลของไทย

ครั้งที่ 6 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2411

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงรับพระราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ครั้งนั้นยังทรงพระเยาว์มีพระชันษาเพียง 15 ปี ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุฬาลงกรณเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเห็นว่า พระปรมาภิไธยของพระองค์มีพระนามจุฬาลงกรณ์ซ้อนกันอยู่ (ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นไปจะลงพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปไว้พอเห็นรายละเอียดสำคัญเท่านั้น)

ครั้งที่ 7 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2416

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุได้ 20 พรรษา มีพระราชดำริให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใหม่อีกครั้ง พร้อมกับเฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่ด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้งที่ 8 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2453

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงรับพระราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ มีพระราชดำริว่าการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมควรทำเป็น 2 งาน  งานแรกคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดขึ้นเพื่อให้ทรงเป็นสมเด็จพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ งานนี้เป็นงานที่จัดขึ้นระหว่างที่ตั้งพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อน สมควรที่จะงดการรื่นเริง จึงโปรดให้อีกงานหนึ่งคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช สำหรับเป็นการรื่นเริงประการหนึ่ง และสามารถเชิญบรรดาแขกต่างประเทศมาร่วมงานได้โดยเรียบร้อย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2453 จึงเป็นพระราชบรมราชาภิเษกครั้งแรกในรัชกาล มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้งที่ 9 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พุทธศักราช 2454

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชกาล เรียกว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ข้อน่าสนใจของพระราชพิธีดังกล่าวคือ ทรงโปรดให้ประกอบพระราชพิธีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และทรงโปรดให้แขกต่างประเทศร่วมในพระราชพิธี พร้อมทั้งพระราชทานเลี้ยงด้วย

อนึ่ง ในปีพุทธศักราช 2459 มีประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมด็จพระมหากษัตริย์กรุงสยามใหม่ ให้ออกพระนามขึ้นต้นว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร ทุกพระองค์ ตัวอย่าง พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเรียกแต่โดยย่อว่า พระบาทสมเด็จพระพระรามาธิบดีที่ 1 ถึงที่ 6 ส่วนภาษาอังกฤษให้ใช้ว่า Rama ตามด้วยอักษรโรมัน แต่ปรากฏว่าในรัชกาลต่อมาไม่ได้ใช้ตามแบบแผนนี้

ครั้งที่ 10 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2468

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงรับพระราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพียงครั้งเดียว และเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งนั้นมีการสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีด้วย นับเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการสถาปนาพระบรมราชินีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติใน พ.ศ. 2477 คณะรัฐบาลได้ทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ครั้งนั้นยังทรงพระเยาว์จึงยังไม่มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อทรงเจริญพระชนม์แล้วก็มีเหตุอันเป็นที่เศร้าเสียใจของคนไทยทั้งชาติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ถวายพระปรมาภิไธยและเศวตฉัตร 9 ชั้น เป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2489 และถวายพระปรมาภิไธยเต็มที่ตามธรรมเนียมโบราณเมื่อ พ.ศ. 2539 ออกพระนามอย่างย่อว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

ครั้งที่ 11 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2493

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น มีพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ครั้งนั้นมีการสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีด้วย นับเป็นครั้งที่ 2 ในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการสถาปนาพระบรมราชินีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อนึ่ง จะเห็นว่าพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ไม่มีพระนามแผ่นดินเหมือนรัชกาลก่อน ๆ

ครั้งที่ 12 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงรับพระราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถเมื่อ พ.ศ. 2559 แล้วจึงมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นใน พ.ศ. 2562 นับเป็นการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จัดขึ้นภายหลังรับราชสมบัติที่นานที่สุดถึง 3 ปีกว่า ทั้งนี้ ก็ด้วยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ห่างจากครั้งก่อนถึง 69 ปี จำเป็นต้องมีการศึกษาทบทวน และซ่อมแซมเครื่องราชูปโภคและสถานที่ต่าง ๆ ให้มีความพร้อมก่อน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ดำเนินตามอย่างการพระราชพิธีครั้งก่อน พระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏได้ทรงนำแบบแผนการเฉลิมพระปรมาภิไธยแต่เดิมมาใช้ ได้แก่ การผนวกแบบแผนของรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 6 เข้าไว้ด้วยกัน จะเห็นว่าพระปรมาภิไธยขึ้นต้นว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร คำ ปรเมนทร เป็นแบบแผนในรัชกาลที่ 4 ส่วนคำ รามาธิบดีศรีสินทร เป็นแบบแผนในรัชกาลที่ 6  

นอกจากนี้ ยังมีการนำธรรมเนียมการขนานพระนามแผ่นดินกลับอีกครั้ง โดยรัชกาลนี้มีพระนามแผ่นดินว่า พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนการสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกนับเป็นครั้งที่ 3 ในสมัยรัตนโกสินทร์ ครั้งนี้ได้เฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชินีให้มีสร้อยพระนามขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่เดิมเรียกว่า พระราชพิธีราชาภิเษก มาเรียกว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลที่ 4 นี่เอง การประกอบพระราชพิธีดังกล่าวในสมัยรัตนโกสินทร์มีขึ้นแล้วทั้งสิ้น 12 ครั้ง เว้นแต่รัชกาลที่ 8 ที่ไม่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชกาลที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้งคือรัชกาลที่ 1 เป็นพระราชพิธีอย่างสังเขปครั้งหนึ่ง และเป็นพระราชพิธีเต็มตามตำราครึ่งหนึ่ง รัชกาลที่ 5 เป็นพระราชพิธีเมื่อแรกเป็นพระเจ้าแผ่นดินครั้งหนึ่งซึ่งยังต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเป็นพระราชพิธีเมื่อทรงเจริญพระชนม์แล้ว ไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกครั้งหนึ่ง และรัชกาลที่ 6 เรียกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งหนึ่ง และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชอีกครั้งหนึ่ง สำหรับรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 9 และรัชกาลปัจจุบัน ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งเดียว

รายการอ้างอิง

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. ๒๕๔๕. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. ๒๕๔๘. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ๒๕๕๖. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย. ๒๔๕๙. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๓ น่า ๒๑๒-๒๑๗. [http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/A/212.PDF]

ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล. ๒๔๘๙. ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๕๔ เล่ม ๖๓ หน้า ๔๓๙-๔๔๓. [http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/A/054/439.PDF]

ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล. ๒๕๓๙. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๑๑ ข หน้า ๑-๓. [http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2539/B/011/1.PDF]

ประมวลเอกสารพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. ๒๕๖๒. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

Writer & Photographer

Avatar

ดนัย พลอยพลาย

นักเรียนภาษาไทย คลั่งไคล้เรื่องราวเก่า ๆ และการเดินทาง