ข้าว กับ สิ่งแวดล้อม นั้นเป็น 2 เรื่องที่แยกกันไม่ออก

เมื่อต้นข้าวอาศัยน้ำ ดิน และอากาศในการหล่อเลี้ยงชีวิต

ขณะเดียวกันนาข้าวก็เป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทน หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกตัวร้ายที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลก

พูดได้ว่าข้าวเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อสิ่งแวดล้อมดี คุณภาพข้าวย่อมดี ขณะเดียวกัน หากการผลิตข้าวนั้นทำลายสิ่งแวดล้อม ความแปรปรวนของสภาพอากาศก็จะกลับมาทำร้ายต้นข้าวในสักวัน

สำหรับประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อย่างไทย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวมากถึง 60 ล้านไร่ ความสัมพันธ์ระหว่างข้าวกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่ทั้งรัฐ เอกชน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศใส่ใจอย่างถึงที่สุด

หนึ่งในตัวอย่างของความใส่ใจนั้นสะท้อนผ่านการเกิดขึ้นของโครงการ Thai Rice NAMA ที่กรมการข้าวตัดสินใจจับมือกับ Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit หรือ GIZ พาร์ตเนอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนจากประเทศเยอรมนี เพื่อพัฒนาวิธีการปลูกข้าวรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งการพัฒนาคุณภาพข้าว พัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

หลังโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2561 ในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัดภาคกลาง ไล่เรียงตั้งแต่ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี และทำงานต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ผ่านการสนับสนุนให้ชาวนาเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตอย่างทั่วถึง และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวนา เพื่อทำความเข้าใจทั้งปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญ และค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาวงการข้าวแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในวาระครึ่งทศวรรษของการทำงานหนัก จึงนับเป็นโอกาสดีที่เราได้นั่งลงคุยกับเหล่า ‘คนข้าว’ ผู้รับบทนักพัฒนาข้าวและนักสิ่งแวดล้อม ถึงเส้นทางของ Thai Rice NAMA ที่ผ่านมา และเป้าหมายที่กำลังมุ่งไป

Thai Rice NAMA ต้นแบบนาลดโลกร้อนจากงานวิจัยคนไทย เปลี่ยนวิถีชาวนาเล็กน้อย แต่กำไรมากขึ้น

ท่ามกลางบรรยากาศสบายตอนบ่ายวันหนึ่ง เราพบ ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าวพร้อมด้วย อัมพวา ศิลลนนท์ และ ลัดดา วิริยางกูร ผู้บริหารจาก Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ) ในห้องเล็ก ๆ ของออฟฟิศกรมการข้าวที่รายล้อมด้วยแปลงทดลองพันธุ์ข้าวเขียวชอุ่ม ก่อนนาทีถัดมาบทสนทนาจะเริ่มต้นขึ้นด้วยคำถามเรียบง่ายที่หลายคนสงสัยว่าพื้นที่การทำงานของกรมการข้าวเป็นอย่างไร ในวันที่ข้าวนั้นเชื่อมโยงกับทั้งวิถีชีวิตและประเด็นละเอียดอ่อนอย่างสิ่งแวดล้อม

“หน้าที่หลักของกรมการข้าวคือทำงานวิจัย วิจัยสายพันธุ์ข้าวบ้าง วิจัยระบบการผลิตข้าวบ้าง เพื่อแก้ปัญหาของวงการข้าวในยุคนั้น ๆ ซึ่งปัญหาที่มีตัวเลขชี้ชัดในยุคนี้คือเรื่องก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากนาข้าวน้ำขัง ฉะนั้น ไม่ว่ากรมการข้าวจะทำโครงการวิจัยอะไรในปัจจุบัน ก็จะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้วยเสมอ”

Thai Rice NAMA ต้นแบบนาลดโลกร้อนจากงานวิจัยคนไทย เปลี่ยนวิถีชาวนาเล็กน้อย แต่กำไรมากขึ้น

ผู้บริหารกรมการข้าวซึ่งครั้งหนึ่งเคยสวมหมวกนักวิจัยวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในนาข้าวเกริ่นปูพื้นฐานให้เราเข้าใจภาพรวม ก่อนจะขยายความต่อไปอย่างใจเย็น ก่อนยกตัวอย่างงานปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวซึ่งในระยะหลัง ๆ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้พันธุ์ข้าวรับมือกับสภาพอากาศแปรปรวนได้ดีขึ้นเป็นสำคัญ

มากไปกว่านั้น งานอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ปัจจุบันกระจายปลูกอยู่ 300 สายพันธุ์ทั่วประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางกระจายความเสี่ยงที่พันธุ์ข้าวจะเสียหายจากอากาศอันเลวร้ายของภาวะโลกรวน แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะระบบการผลิตเป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของวงการข้าวที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

“การพัฒนาระบบการผลิตข้าวทั้งประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย และ GIZ คือหนึ่งในพาร์ตเนอร์ที่เข้ามาช่วยให้เปเปอร์งานวิจัยกลายมาเป็นการพัฒนาที่จับต้องได้จริง” รองอธิบดีฯ หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของโครงการ Thai Rice NAMA อธิบายถึงเหตุผลเบื้องหลัง ก่อนตัวแทนจาก GIZ ทั้ง 2 ท่านจะขยายภาพของกระบวนการทำงานให้เราเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม

“GIZ เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากประเทศเยอรมนี ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ใน 130 ประเทศทั่วโลก สำหรับไทยที่เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก เรามองว่างานพัฒนาความยั่งยืนในภาคเกษตรสำคัญมาก เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงตัดสินใจทำงานร่วมกับกรมการข้าวในการพัฒนาความยั่งยืนของระบบการผลิตข้าว”

Thai Rice NAMA ต้นแบบนาลดโลกร้อนจากงานวิจัยคนไทย เปลี่ยนวิถีชาวนาเล็กน้อย แต่กำไรมากขึ้น

กล่าวได้ว่าทั้ง 2 องค์กรต่างเป็นชิ้นส่วนที่เข้ามาเติมเต็มกันและกัน

กรมการข้าวมีข้อมูลงานวิจัยที่รอนำไปขยายผล

ส่วน GIZ เองก็มีเงินทุนและเทคโนโลยีรอสนับสนุนให้ไปถึงเป้าหมาย

ทว่าเส้นทางกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องจากการทำงานกับชาวนาที่เผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตหนักหนาอยู่แล้วนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนดีดนิ้ว

“การจะทำให้ชาวนาเต็มใจเปลี่ยนจากวิธีทำนาแบบดั้งเดิม มาใช้วิธีที่เรานำเสนอนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องที่จะบังคับใจใครได้ กรมการข้าวและ GIZ เห็นตรงกันว่าควรทำความเข้าใจชาวนาเสียก่อนว่าเขาต้องการอะไร และโครงการ Thai Rice NAMA จะมอบสิ่งที่เขาต้องการได้อย่างไรบ้าง”

รองฯ อธิบดีขยายความถึงการทำงานว่า ต้องเริ่มจากทำให้ประเด็นไกลตัวกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและจับต้องได้ ผ่านการสื่อสารว่าแนวทางใหม่นั้นจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘3 เพิ่ม 3 ลด’ คือเพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ และลดการใช้พลังงาน ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าว

“ต้องเข้าใจว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัวชาวนามาก การจะให้เขาร่วมทำงานกับเรา เราต้องทำเป็นตัวอย่างให้เห็นก่อนว่า ถ้าเขาตัดสินใจเอาด้วย เขาจะไม่เสียอะไร และจะได้อะไรกลับมาอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเราต้องเข้าใจความจริงที่ว่าชาวนาไม่มีต้นทุนให้มาทดลองกับอะไรบ่อยนัก” เขาย้ำ

เมื่อต้องการผลลัพธ์ที่ชัดเจน ในระยะแรกโครงการ Thai Rice NAMA จึงเริ่มต้นนำเทคโนโลยีเลเซอร์ปรับหน้าดิน (Laser Land Levelling : LLL) เข้ามาใช้ในนาข้าวทดลอง ณ เครือข่ายนาแปลงใหญ่ จังหวัดสุพรรณบุรี ผลปรากฏว่า เมื่อหน้าดินเสมอกัน ปริมาณการใช้น้ำในนาข้าวก็ลดลงครึ่งหนึ่ง มากไปกว่านั้นยังค้นพบว่า หากจัดการหน้าดินอย่างมีประสิทธิภาพ การขังน้ำไว้ในนาเพื่อเลี้ยงต้นข้าวตลอดทั้งปีก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็น

Thai Rice NAMA ต้นแบบนาลดโลกร้อนจากงานวิจัยคนไทย เปลี่ยนวิถีชาวนาเล็กน้อย แต่กำไรมากขึ้น

นั่นเท่ากับว่าชาวนาจะลดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเข้านาที่แต่เดิมต้องทำอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งลงได้หลายเท่า และแน่นอนว่าเมื่อลดระยะขังน้ำไว้ในนา ปริมาณก๊าซมีเทนที่ปล่อยในนาข้าวก็ย่อมลดลง

“แต่ถึงเทคโนโลยีจะดีแค่ไหน ถ้าชาวนาเข้าไม่ถึงก็ไม่มีประโยชน์” คณะทำงานให้ความเห็นตรงกัน และคงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพวกเขาจึงตั้งกองทุนขึ้นสนับสนุนให้ชาวนาหยิบยืมเงินทุนไปซื้อเทคโนโลยีสำหรับปรับเปลี่ยนระบบการผลิตอย่างเท่าเทียม พร้อมเปิดคอร์สอบรมวิธีการทำนาอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้ชาวนาผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการแบบไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นยังเข้าไปพัฒนาองค์ความรู้การบริหารจัดการหลังการเก็บเกี่ยว อย่างการใช้ฟางข้าวให้เกิดประโยชน์ใช้สอย เพื่อลดการเผาตอซัง ต้นเหตุของฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นทุกปี

Thai Rice NAMA ต้นแบบนาลดโลกร้อนจากงานวิจัยคนไทย เปลี่ยนวิถีชาวนาเล็กน้อย แต่กำไรมากขึ้น
Thai Rice NAMA ต้นแบบนาลดโลกร้อนจากงานวิจัยคนไทย เปลี่ยนวิถีชาวนาเล็กน้อย แต่กำไรมากขึ้น

ถึงวันนี้ความสำเร็จจากการทำงานหนักตลอดหลายปีนั้นปรากฏชัดผ่านตัวเลขก๊าซเรือนกระจกในนาข้าวที่ลดลงต่อเนื่อง ปริมาณและคุณภาพของเมล็ดข้าวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงกำไรที่ขยับตัวขึ้นเป็นค่าตอบแทนความตั้งใจของชาวนา ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นผลลัพธ์ที่ย้ำให้ทีมงาน Thai Rice NAMA มั่นใจว่าพวกเขากำลังเดินมาถูกทาง

ก่อนจะบทสนทนาจะดำเนินมาถึงนาทีสุดท้าย บรรดานักพัฒนาข้าวไทยที่นั่งอยู่ตรงหน้าเราชวนให้ถอยหลังมามองภาพรวมที่ไล่เรียงมาตั้งแต่ต้น ก่อนชี้ให้เห็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่หายไปจากสมการการพัฒนาอย่าง ‘คนกินข้าว’ ที่จริง ๆ แล้วคือพลังขับเคลื่อนที่อาจทำให้วงการข้าวพัฒนาอย่างก้าวกระโดดได้ในเร็ววัน 

“หากผู้บริโภคต้องการแชร์ความรับผิดชอบในการดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการให้คุณค่าและให้มูลค่ากับข้าวที่ผลิตขึ้นอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ และมันจะเป็นการดูแลกันทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้การชาวนาเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตไปสู่วิธีที่ดีกว่าได้ง่ายขึ้นแน่นอน”

รองอธิบดีกรมการข้าวกล่าวทิ้งท้ายฝากถึงบรรดาคนกินข้าว

ซึ่งแน่นอนว่าคือพวกเราทุกคน

Thai Rice NAMA ต้นแบบนาลดโลกร้อนจากงานวิจัยคนไทย เปลี่ยนวิถีชาวนาเล็กน้อย แต่กำไรมากขึ้น

Writer

อรุณวตรี รัตนธารี

อรุณวตรี รัตนธารี

นักสื่อสารเรื่องราวของมนุษย์ผ่านอาหาร ผู้อยากเห็นระบบอาหารของไทยใส่ใจคนทุกกลุ่ม

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ