อาหาร แฟชั่น สถาปัตยกรรม ทีมฟุตบอล 

คำตอบมีมากมายเมื่อคิดถึงเอกลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส แต่เราคงไม่นึกถึงนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเป็นเรื่องแรกแน่ ๆ 

น่าเสียดายที่คนมองข้ามเรื่องนี้ไป ฝรั่งเศสผลักดันนวัตกรรมให้เป็นหนึ่งในจุดแข็งสำคัญบนเวทีโลก มีงบประมาณด้านเทคโนโลยีต่อประชากรเป็นอันดับ 7 จาก 27 ชาติในสมาชิกสหภาพยุโรป 

ปี 2017 รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศตั้งงบประมาณ 1 หมื่นล้านยูโร (ครึ่งหนึ่งของ GDP ประเทศในตอนนั้น) สำหรับสนับสนุนงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในระดับ ‘Breakthrough’ คือไม่ใช่แค่มี แต่ต้องสำคัญและส่งผลกระทบต่อโลก 

เป้าหมายของประเทศฝรั่งเศส คือการเป็น Start-up Nation ถ้าอยากทำงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสตาร์ทอัพ ต้องนึกถึงฝรั่งเศส ไม่เพียงแต่ทุ่มงบ ยังดำเนินการสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนี้ รวมถึงประเทศไทยด้วย

2023 เป็นปีสำคัญของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศส นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญที่ทำให้ 2 ประเทศที่ดำเนินความสัมพันธ์มากว่า 300 ปีแน่นแฟ้นขึ้น

เรื่องนี้เกี่ยวกับเราอย่างไร

ถ้ามองภาพกว้าง การปกครองของรัฐบาลฝรั่งเศสแบ่งคร่าว ๆ ได้ 2 ระดับ คือระดับชาติและระดับเมือง

รัฐบาลระดับชาติเป็นเหมือนคนกำหนด Branding หรือทิศทางของประเทศ เป็นผู้สนับสนุนในช่วงเริ่มต้น รัฐบาลระดับเมืองคือผู้ลงมือทำ ลงลึกในรายละเอียด ทำให้งานเดินไปข้างหน้าได้

การเกิดของนโยบายด้านเทคโนโลยี มาจากทั้งฝั่งรัฐบาลระดับชาติและระดับเมือง ประธานาธิบดี Emmanuel Macron ประกาศชัดเจนโดยให้การสนับสนุนหลัก ๆ 3 ด้าน

หนึ่ง ให้การสนับสนุนในช่วงเริ่มต้นหรือ Early Stage ผ่านการทำงานของหน่วยงานชื่อว่า ‘Bpifrance’ อดีตสถาบันการเงินที่ผันตัวมาเป็นหน่วยตั้งกองทุนส่งเสริมสตาร์ทอัพ ให้การสนับสนุนการเงินตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจจนถึงวันที่เติบโต มีงบประมาณหลักพันล้านยูโรต่อปี

สอง ทำกองทุนสำหรับนวัตกรรมรวม 20,000 กว่าล้านยูโร ถ้าเป็นไปตามแผนปัจจุบัน ภายในเวลา 10 ปีฝรั่งเศสจะมีบริษัทที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์ พลังงานทางเลือก ระบบการบินและอวกาศ ซึ่งล้วนเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาประเทศ

สุดท้าย คือการสร้างแบรนด์ที่ชื่อว่า ‘La French Tech’ รวมสตาร์ทอัพในฝรั่งเศสเข้ามาเป็นสมาชิก เพื่อสร้างความร่วมมือและอำนาจต่อรองในการขยายงานในต่างประเทศ โปรโมตศักยภาพของบริษัทเทคโนโลยีจากฝรั่งเศส

นับตั้งแต่ประกาศในปี 2017 รายงานของวุฒิสภาฝรั่งเศสเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2022 รายงานว่ารัฐบาลใช้งบประมาณไปกับนโยบายด้านนวัตกรรม 110 พันล้านยูโรภายในปี 2010 – 2030 

ฝรั่งเศสพัฒนานวัตกรรมด้วยการสร้างระบบนิเวศหรือ Ecosystem จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปปี 2010 รัฐบาลออกโปรแกรมสนับสนุนการลงทุนในอนาคตกับสตาร์ทอัพ สร้างความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐบาล ตั้งกฎเกี่ยวกับภาษีแบบพิเศษ เพื่อช่วยสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นได้ กลยุทธ์นี้ทำให้ฝรั่งเศสมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นถึง 26 ธุรกิจ 

อีกหน่วยงานที่มีบทบาทมากคือกระทรวงต่างประเทศ ออกโปรแกรมช่วยสตาร์ทอัพตราไก่ขยายธุรกิจไปต่างประเทศง่ายขึ้น ดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในระบบนิเวศด้านนวัตกรรมในประเทศ

ที่สำคัญคือโปรแกรมนี้ไม่ได้สนับสนุนแค่บริษัทที่เป็นต้นคิดเท่านั้น แต่ส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในระบบ

บางโปรแกรมพัฒนาในเครือข่ายทางการทูตตั้งแต่ปี 2005 ร่วมกับตัวแทนจาก Bpifrance และภาคธุรกิจในฝรั่งเศส เช่น โปรแกรมที่ชื่อ NETVA (New Technology Venture Accelerator) สนับสนุนผู้ประกอบการฝรั่งเศสรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกา เน้นช่วยบริษัทในช่วงเริ่มต้น อีกโปรแกรมชื่อว่า YEi (Young Entrepreneurs Initiative) เปิดตัวในบอสตันปี 2005 ช่วยเหลือสตาร์ทอัพต่างชาติให้มีบทบาทในระบบนิเวศด้านนวัตกรรมของฝรั่งเศสมากขึ้น

กระทรวงต่างประเทศเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ช่วยสร้างแบรนด์ La French Tech เพื่อดึงดูดต่างชาติให้มาลงทุนในฝรั่งเศส ในช่วงปี 2018 – 2019 มีบริษัทภายใต้แบรนด์ La French Tech ราว 56 ธุรกิจที่ได้รับการพูดถึงในระดับนานาชาติ บริษัทเหล่านี้ช่วยแนะนำนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมของฝรั่งเศส และเป็นสะพานเชื่อมให้ต่างชาติเห็นโอกาสในการเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น

อีกเครื่องมือสำคัญของฝรั่งเศส คือ French Tech Visa วีซ่าประเภทพิเศษเพื่อจูงใจให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในต่างประเทศเข้ามาทำงานในฝรั่งเศสมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการสร้างสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ คือการเปิดให้คนเข้าถึงจุดที่สำคัญในการสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมขึ้นมาได้จริง

วกกลับมาที่ประเทศไทย ทั้ง 2 ประเทศต่างมีความสัมพันธ์ทางการทูตมายาวนาน แต่ในด้านที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี งานกลุ่มนี้เริ่มต้นไม่นาน แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้ง 2 ประเทศ

หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ผลักดันวงการสตาร์ทอัพไทยให้มีมิติและเครือข่ายกับต่างประเทศคือ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หนึ่งในงานสำคัญคือร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส จัดงานสัปดาห์ Franco-Thai Innovation and Startup Week 2023 (วันที่ 24 – 28 เมษายน พ.ศ. 2566) ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้ปี Franco-Thai Year of Innovation 2023

Franco-Thai Innovation and Startup Week จัดที่ Station F ศูนย์รวมสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ปรับปรุงมาจากสถานีรถไฟเก่าในปารีส มีสำนักงานบริษัทใหญ่ที่ทำโครงการ Incubator และ Accreator พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสตาร์ทอัพครบครัน 

รัฐบาลฝรั่งเศสปัจจุบันส่งคนจากภาครัฐเข้าไปร่วมงานกับ Station F ซึ่งริเริ่ม ก่อตั้ง และบริหาร โดยภาคเอกชน มีการแข่งขันสร้างผลงานนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั่วประเทศตลอดทั้งปี 

ดร.พันธุ์อาจ เล่าว่าฝรั่งเศสไม่ได้มีแค่ Station F ที่ตั้งเพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพเท่านั้น ถ้ามองในระดับเมืองปารีสยังมี Paris&Co พื้นที่พิเศษรวมสตาร์ทอัพภายใต้การดูแลของศาลาว่าการเมืองปารีส ซึ่งไม่เจาะจงว่าต้องเป็นคนฝรั่งเศส ใครก็ได้ที่อยู่ในแวดวงนี้ ปารีสมีนโยบายระดับเมืองเพื่อผลักดันให้เป็นเมืองสำคัญในการเป็นศูนย์รวมสตาร์ทอัพของยุโรป

งาน Franco-Thai Innovation and Startup Week 2023 จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) วันเปิดงานได้รับเกียรติจาก ธนา เวสโกสิทธิ์ เอกอัครราชทูต และ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ฝั่งฝรั่งเศสมี Olivier Becht รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศซึ่งกำกับดูแลการค้าต่างประเทศ และ François Corbin รองประธานสภานายจ้างด้านกิจการต่างประเทศและผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศร่วมงาน มีผู้เข้าร่วมทั้งไทยและฝรั่งเศสกว่า 100 คน มีหน่วยงานสำคัญในไทยอย่างมหาวิทยาลัย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) พร้อมสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

นี่ไม่ใช่งานอีเวนต์ธรรมดา เป้าหมายคือกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่าง 2 ประเทศ

ดร.พันธ์อาจ เล่าว่าหลังช่วงโควิด ไทยและฝรั่งเศสเริ่มกลับมาคุยกันเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ให้เป็นระดับ Strategic Partnership ในเชิงการทูต นี่คือกรอบความสัมพันธ์ระดับบน 2 ประเทศจะร่วมทำงานตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น โชคดีที่ไทยและฝรั่งเศสทำงานร่วมกันมานาน มีนโยบายจากทั้ง 2 ฝั่งที่สอดคล้องกัน ก่อให้เกิดการทำงานที่เรียกว่า ‘Innovation Diplomacy’ ขึ้นมา

“ต้องยอมรับว่าไทยกับฝรั่งเศสมีประเด็นคล้ายกัน คือพูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เวลาพูดเรื่องบริษัทเทคโนโลยีหรือการลงทุน ฝรั่งเศสไม่มีปัญหาภาษาอีกต่อไป ต่างจากญี่ปุ่นซึ่งยังมีประเด็นเรื่องภาษาพอสมควร ฝรั่งเศสแก้ปัญหาความไม่เป็นนานาชาติได้เร็วมาก ในช่วงแค่ทศวรรษ

“ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฝรั่งเศสไต่ขึ้นจากอันดับ 20 กว่าของโลกมาอยู่อันดับ 11 ในแง่นวัตกรรม น่าจะไต่ขึ้น Top 10 อีกไม่นาน เป็นประเทศที่หลายคนมองข้าม ส่วนใหญ่คนจะพูดถึงจีนและอิสราเอลมากกว่า ฝรั่งเศสพยายามทำให้ระบบนิเวศเป็นภาษาอังกฤษ ตลาด VC ในฝรั่งเศสมีหลากหลายตั้งแต่ Early Stage ไปจนถึงดีลใหญ่ ๆ ระดับ 100 ล้านยูโรหรือ 1,000 ล้านยูโร ฝรั่งเศสเปลี่ยนไปเยอะมาก 10 ปีที่ผ่านมาในเรื่องของสตาร์ทอัพและการลงทุน” ดร.พันธุ์อาจเล่า

สิ่งที่คนไทยอาจไม่รู้ คือเรานำสิ่งที่ได้เรียนรู้บางจุดมาปรับใช้ในบ้านเราแล้ว 

2 ตัวอย่างหลักคือเรื่องวีซ่า องค์กรอย่างกระทรวงต่างประเทศ NIA และ BOI ร่วมกันทำ Smart Visa ซึ่งในทางเทคนิคคุณสมบัติคล้ายกับ French Tech Visa เพื่อดึงดูดคนต่างชาติมาทำงานด้านเทคโนโลยีในไทย ยอดผู้เข้าร่วมโตขึ้นทุกปี

อีกตัวอย่างคือการปรับคอนเซปต์ Station F ให้เกิดขึ้นในไทย นั่นคือ True Digital Park ศูนย์รวมสตาร์ทอัพที่คนย่านบางจาก-อุดมสุข รู้จักกันดี แนวคิดการทำงานเหมือนกันทุกประการ ต่างแค่ไม่ได้สร้างจากสถานีเก่า แต่สร้างใหม่เพื่อใช้งานได้อย่างครบวงจร

300 ปีผ่านไป ไทยและฝรั่งเศสยังคงสานสัมพันธ์เฉกเช่นวันวาน ต่อจากนี้เราคงได้เห็นการร่วมมือในเฉดใหม่ ๆ แปรเปลี่ยนเป็นโอกาสใหม่ที่รอเราอยู่ข้างหน้า

ข้อมูลอ้างอิง
  • https://globthailand.com/franco-thai-innovation-and-startup-week-2023/
  • https://www.ucanews.com/news/franco-thai-innovation-week-launched-in-paris/101131
  • https://www.cea.or.th/en/news-updates/franco-thai-innovation-week-2023
  • https://engineer.kmitl.ac.th/en/post/30147
  • https://lafrenchtech.com/
  • https://www.bpifrance.com/
  • https://www.facebook.com/happyfrenchtech/

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก