The Cloud x สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

ผ้าไทย ใครว่าใส่ได้เฉพาะโอกาสสำคัญ

การตัดสินหรือจำกัดกรอบผ้าไทยมาจาก 2 ประเด็นหลัก คือการออกแบบและมุมมอง

ประเด็นแรก การออกแบบ ในที่นี้หมายถึงการออกแบบตัดเย็บสมัยก่อน เช่น ชุดผ้าไหม ชุดผ้าซิ่น ชุดผ้าไหมข้าราชการ จะมีรูปแบบ (Pattern) และเข้าถึงยาก ฉะนั้น โครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย (Ready to Wear) จึงเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของผ้าไทย

ประเด็นที่ 2 คือคนมีภาพจำว่าผ้าไทยหรือชุดไทย ๆ ต้องใส่ในโอกาสสำคัญเท่านั้น

2 ประเด็นนี้น่าสนใจและน่าชวนตั้งคำถาม เหตุใดผ้าไทยถึงถูกมองด้วยเช่นนั้นว่าเป็นของชนชั้นสูง ไม่ทันสมัย เข้าถึงยาก ทั้งที่จริงแล้วแหล่งผลิตดั้งเดิมของผ้าไทยเกือบทุกชนิดมาจากชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อหลายยุคหลายสมัย แต่วันนี้กลับเป็นสิ่งที่ไกลออกไป

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จึงจัดโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย (Ready to Wear) ชวนนักออกแบบ 4 คน จับคู่ผู้ประกอบการ 13 กิจการจาก 4 ภาคของประเทศไทย ร่วมกันตีโจทย์ แลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ และเรียนรู้ พร้อมสร้างสรรค์ผลงานภายใต้คอนเซปต์ ‘ผ้าไทยร่วมสมัย’ ร่วมกัน 

นี่คือเรื่องราวและแรงบันดาลใจของผู้อยู่เบื้องหลังวงการผ้าไทย

ภาคตะวันออก

พูดถึงผ้าท้องถิ่นภาคตะวันออก คุณนึกถึงผ้าอะไร

“ไม่มี” นี่คือคำตอบของ อร-สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์ เจ้าของแบรนด์ PAINKILLER Atelier

เธอเป็นทั้งนักออกแบบและที่ปรึกษาให้กับแบรนด์ บริษัท และองค์กรต่าง ๆ และเป็น Creative Director ของแบรนด์ Good Goods และมีบทบาทยิบย่อยอีก แล้วแต่ว่าช่วงนั้นกำลังเจออะไร

เพราะไม่มีความโดดเด่นเรื่องผ้า ภูมิปัญญาอื่นจึงเป็นสิ่งที่อรเลือก เธอเห็นว่าภาคตะวันออกโดดเด่นเรื่องภูมิปัญญาจักสาน จึงเลือกมาเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจและเป็นเทคนิคในผลงานชิ้นนี้

ผู้ประกอบการรายแรกที่อรร่วมงานด้วย คือศูนย์เรียนรู้ทางอาชีพเกี่ยวกับศิลปะภาพพิมพ์

“จุดเริ่มต้นของที่นี่เกิดจากการทดลอง” ครูแอ๊ด-อรุณี นิยมกูล เปรย

ครูแอ๊ดเริ่มจากการทุบสีของใบไม้ออกมา แต่พบว่าสีไม่มีความคงทน จึงทดลองวิธีใหม่ และมาเจอกับ Eco Print เข้าพอดี วิธีนี้อาศัยความเข้าใจกรด ด่าง และเม็ดสี เพราะทั้ง 3 สิ่งเชื่อมโยงกัน

เธอทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าจนสำเร็จภายใน 6 เดือน แถมทดลองต่ออีก 1 ปี จนได้สูตรมอร์แดนท์ (Mordant) หรือการย้อมที่ดึงเม็ดสีจากใบไม้ได้ชัดเจน กลุ่มนักเรียนของครูแอ๊ดเพิ่มขึ้นเมื่อสอนออนไลน์ เธอแบ่งปันประสบการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรียนรู้มา พร้อมแลกเปลี่ยนให้ผู้สนใจนำไปทดลอง จนเธอเองได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ กลับมาเสมอ นี่คือตัวอย่างของวงจรการเรียนรู้ที่ครูแอ๊ดนำมาใช้พัฒนางาน

“พอมีคนเข้าถึง Eco Print มากขึ้น เขาก็เริ่มเห็นคุณค่าของต้นไม้ ปลูกฝังการอยากปลูกต้นไม้ไปในตัว หรือบางคนไม่เคยปลูกต้นไม้เลย พอมาพิมพ์สีธรรมชาติ เขาต้องจดจำแล้วว่าต้นไม้ที่ให้สีแบบนี้คือต้นอะไร อย่างน้อยเขาอาจหามาปลูก มันก็เป็นการช่วยกันสร้างธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีก” ครูแอ๊ดเสริม

“Eco Print พัฒนาได้หลายแขนงเลยนะ แล้วแต่ไอเดียที่เขาเอาไปต่อยอด แปรรูปเป็นโคมไฟ หนังสือ กรอบรูป ได้หมดเลย คุณแค่พิมพ์ผ้า 1 ผืน แล้วคุณไปตีกรอบไม้ ใส่สี ติดฝาผนังก็ได้ เพราะมันเป็นงานศิลปะที่เกิดจากธรรมชาติจริง ๆ ทำได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าจะเพิ่มมูลค่ายังไง”

ผู้ประกอบการรายที่ 2 ที่อรร่วมงานด้วย คือ ปราณี ทาทัพ

คนในชุมชนเรียกติดปากกันว่า แม่ปราณี เธอย้ายมาอยู่ปราจีนบุรี พร้อมภูมิปัญญาทอผ้าที่ติดตัวมาด้วย เลยเริ่มต้นรวบรวมผู้หญิงในชุมชนมาช่วยกันทอผ้าตามออร์เดอร์หน่วยงานต่าง ๆ ที่สั่งมา

แม่ปราณีและกลุ่มไม่เคยทอตัวหนังสือสเกลใหญ่ขนาดนี้มาก่อน และครั้งนี้เป็นการทออักษรภาษาอังกฤษครั้งแรก แม่ปราณีและอรจึงแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกันหลายเรื่อง

อรบอกว่าสิ่งที่อยากให้กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนมากที่สุด คือการมีผู้นำชุมชนที่คอยดำเนินกิจกรรมและทำต่อเรื่อย ๆ มีการช่วยประชาสัมพันธ์ ช่วยทำการตลาด และวางกลยุทธ์ เช่น คิดถ้อยคำที่ดึงดูดและน่าสนใจแล้วทอออกมาเป็นผ้า วิธีนี้น่าจะขยายตลาดให้กับภูมิปัญญาของแม่ปราณีมากขึ้น

“เราเห็นคุณค่า เห็นศักยภาพของเขา เรามองออกว่างานของกลุ่มแม่ปราณีจะเติบโตไปทางไหนได้อีกบ้าง ฉะนั้น การสนับสนุนหรือส่งเสริมในสิ่งที่เขาขาดเป็นเรื่องสำคัญมาก” อรเสริมความคิดเห็น

ผู้ประกอบการรายที่ 3 ที่อรร่วมงานด้วย คือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมสตรีรักษ์โลก

กลุ่มนี้มี กุ้ง-ชดาทิพย์ ณ ตะกั่วป่า เป็นประธานกลุ่ม ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2559 กุ้งเล่าว่าเริ่มจากการตั้งโครงการเล็ก ๆ ชื่อว่า ‘โครงการขยะสร้างสรรค์’ เปิดโอกาสให้แต่ละโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนำวัสดุเหลือใช้มาเข้าร่วม และทำมาตลอดจนก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

กลุ่มวิสาหกิจจะรับเส้นด้ายเหลือใช้จากโรงงานพรมมาแปลงโฉมเป็นตุ๊กตาถักมือ 

“ตอนทำงานร่วมกับคุณอร เราก็สงสัยเหมือนกันว่างานของเราจะทำเป็นงานแฟชั่นร่วมสมัยได้อย่างไร มันไม่น่าจะไปด้วยกันได้นะ เพราะเราไม่ได้ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า” กุ้งตั้งข้อสังเกต

เธอเล่าต่อว่าอรเข้ามาออกแบบ ช่วยดูว่าส่วนไหนทำเสื้อผ้าได้บ้าง และควรทำเป็นลายอะไร อรแนะนำว่าน่าจะทำลายที่แสดงถึงท้องถิ่นนั้น ๆ จึงลงตัวที่ลายสับปะรดศรีราชาและลายท้องทะเล

“เราประทับใจมากที่คุณอรโยงสิ่งที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมให้กลุ่มได้”

ถ้ามีการออกแบบที่ดีและร่วมสมัย จะทำให้ผ้าไทยเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น

“เราไม่ได้เลือกชุมชนที่แข็งแรงที่สุด แต่เราอยากได้ชุมชนที่เขาต้องการเราที่สุด” นี่คือความคาดหวังเล็ก ๆ ของอร เธอคิดถึงชีวิตคนในชุมชน และอยากเห็นการพัฒนาเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจจริง ๆ

คอลเลกชัน Women Made ของอรและพลังหญิงทั้ง 3 กลุ่มเกิดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังความสามารถของกลุ่มผู้นำหญิงและสมาชิกผู้หญิงในกลุ่มทุกคนที่ร่วมมือกันสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา

“เราอยากให้เขาภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ และเห็นว่าผลงานของเขาต่อยอดได้มากแค่ไหนจากภูมิปัญญาดั้งเดิม การทำงานร่วมกันทำให้เขาเห็นหนทางในการพัฒนา และเห็นว่าเขาทำมันได้”

ภาคใต้

เพราะตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โย-ทรงวุฒิ ทองทั่ว จึงหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นคอนเซปต์

“ตอนทำแบรนด์ RENIM PROJECT เราเริ่มจากทำสิ่งที่สร้างผลกระทบต่อโลกให้น้อยที่สุด เพราะอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมอันดับ 2 ของโลกที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เราเลือกทำเสื้อผ้าจากผ้ามือสองเพื่อลดการใช้วัสดุ นี่คือสิ่งที่เราอยากบอกให้ผู้คนเข้าใจมาตลอด รวมถึงผลงานในครั้งนี้ด้วย

“บาติกเหมือนการวาดรูปบนเฟรม เรามองเห็นศิลปินทำงานกับศิลปะ” นี่คือความคิดของเขาหลังจากเห็นฝีแปรงตวัดลงบนผืนผ้า ซึ่งบาติกเป็นเทคนิคที่โยกำลังสนใจและเป็นอัตลักษณ์ของภาคใต้

คอนเซปต์หลักที่โยวางไว้คือเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงมีการพลิกแพลงวัสดุบางอย่าง
“เสื้อผ้าทุกชุดเราใช้ผ้ายีน” หลายคนอาจสงสัย “ปกติบาติกใช้ผ้าบาง สีติดง่าย ผ้ายีนสีอาจไม่ติดหรือสีด่าง เรามองว่าเป็นเสน่ห์ที่สวยงาม” เหตุผลที่โยเลือกผ้ายีน เพราะอยากชวนชาวบ้านออกนอกกรอบ ทดลองทำสิ่งใหม่ และถ้าเขาทำผ้าที่หนาขึ้นได้ ก็จะต่อยอดไปสู่สินค้าใหม่ ๆ ได้ในอนาคต

ผู้ประกอบการรายแรกที่โยร่วมงานด้วย คือกลุ่มบ้านบาโง 

รอซีเย๊าะ บินดอเลาะ ประธานกลุ่มบ้านบาโง เป็นกลุ่มผลิตเครื่องแต่งกายใช้เทคนิคสกรีนด้วยบล็อกเทียน มีทั้งเขียนลายด้วยเทียนดินและเขียนลายด้วยเทียนร้อน จะเรียกว่า ‘ผ้าบาติก’ ก็ย่อมได้

การทำงานร่วมกันระหว่างโยและรอซีเย๊าะได้แลกเปลี่ยนกันเรื่องลวดลาย จากเดิมเป็นลายดอกไม้ ต้นไม้ สัตว์ทะเล ก็ทดลองทำลาย Abstract ที่ร่วมสมัย เพิ่มเทคนิคซ้อนสี ซ้อนเทียนเข้าไป

ผู้ประกอบการรายที่ 2 ที่โยร่วมงานด้วย คือศรียะลาบาติก

ศรียะลาบาติกผลิตผ้าพิมพ์ลายย้อมสีธรรมชาติ เป็นลายพื้นเมืองจากสถาปัตยกรรม วัดโบราณ วัฒนธรรมการกิน วัฒนธรรมการแต่งตัว และอนุรักษ์ฟื้นฟูผ้าปักลายนิน และผ้าโบราณอื่น ๆ ควบคู่กับการวิจัยเรื่องสีธรรมชาติในท้องถิ่น ปิยะ สุวรรณพฤกษ์ มักทำวิจัยและทดสอบหาสีใหม่ ๆ ในการย้อมผ้าอยู่เสมอ เช่น เขาพบว่าสีจากเปลือกเงาะใช้แทนมะเกลือได้ หรือเปลือกมะพร้าวก็ให้สีแดงได้ด้วย

ผ้าผืน ผ้าคลุมไหล่ ผ้าตกแต่งบ้าน เสื้อผ้า คือผลผลิตจากการเสาะแสวงหาสีของปิยะ

ตอนนั้นนักออกแบบเข้ามาทำงานด้วย ได้แลกเปลี่ยนความรู้อะไรกันบ้างคะ – เราถาม

“แนวความคิดครับ เราได้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ เช่น เอายีนมาย้อมคราม ถือเป็นเรื่องใหม่จริง ๆ”

ทั้งคู่มองว่าการทำงานในครั้งนี้เหมือนเป็นการศึกษาร่วมกัน

 “เราคุยกัน รับฟังถึงปัญหาว่า ถ้าย้อมยีนก่อนย้อมคราม ผ้ายีนเป็นสีฟ้า ต้องผ่านกระบวนการกัดสีก่อนดีไหม เพื่อให้ได้สีครามธรมชาติ เราคุยกันเรื่อย ๆ เพื่อให้ภาพที่ต้องการเป็นภาพเดียวกัน”

ศรียะลาบาติกยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ สอนย้อมสีธรรมชาติ พิมพ์ลาย พิมพ์ไม้ ผ้าบาติก เรียกว่าครบวงจรภูมิปัญญา พร้อมกับทีมงานเล็ก ๆ ในท้องถิ่น ได้แก่ ทีมตัดเย็บ ทีมทอผ้า และทีมเพนต์ผ้า

ผู้ประกอบการรายที่ 3 ที่โยร่วมงานด้วย คือบาติก เดอ นารา 

รอวียะ หะยียามา เธอคิด ริเริ่ม ทำผ้าบาติกและเขียนมือเอง ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ของแต่งบ้าน มู้ดโทนสีพาสเทล สีอ่อน และสีเอิร์ทโทน สำหรับกระบวนการทำงานกับบาติก เดอ นารา เริ่มจากโยส่งตัวอย่างมาให้ดู รอวียะขึ้นงานตัวอย่างให้โยดู หลังจากนั้นก็เริ่มหาวัสดุทำงาน

“การร่วมงานกันครั้งนี้ทำให้เราได้ทดลองทำงานผ้าที่มีเท็กซ์เจอร์แตกต่างจากงานผ้าที่เราเคยทำ ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ได้ทดลอง เราใช้ทักษะ ภูมิปัญญาที่เรามี มาออกแบบและสร้างสรรค์งานผ้า”

ผ้าไทยมีราคาค่อนข้างสูง ถ้าย่อยให้ง่ายขึ้นก็จะเติบโตได้ไกล

“เราร่วมโครงการนี้เพราะอยากให้ผู้ประกอบการต่อยอดสิ่งที่เขาทดลอง เพื่อพัฒนาสินค้า สร้างรายได้ให้ตนเองและชุมชน เราอยากเป็นหนึ่งคนที่นำผ้าไทยมาต่อยอดให้คนเห็นมากขึ้น” โยทิ้งท้าย

ภาคเหนือ

เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ Ek Thongprasert และ Sculpture Studio

เพราะสนใจงานปัก Patchwork อยู่ก่อนแล้ว และภาคเหนือมีความเรียบง่าย แต่ซับซ้อน

เพราะความบริสุทธิ์ เข้าถึงง่าย ของพี่น้องชาติพันธุ์ เอกจึงตัดสินใจเลือกที่นี่ แต่ประเด็นหลักคือ

“เราสนใจกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขา สนใจวัฒนธรรมของเขา และอยากพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เขา”

เสน่ห์ของชาติพันธุ์ลีซอ คือการแต่งกายแสดงอัตลักษณ์ชัดเจน นุ่งห่มเสื้อผ้าสีสดใส ตกแต่งด้วยไหมพรมและพู่ประดับ ส่วนเสน่ห์ของชาติพันธุ์ม้ง คือผ้าปักสะท้อนเรื่องราววัฒนธรรมของหญิงชาวม้ง 

เอกมองว่าเบื้องหลังเหล่านี้เป็นเรื่องที่บางครั้งไม่ได้ถูกนำมาเล่า จึงไม่ได้ซึมซับคุณค่าเท่าที่ควร เลยอยากฟื้นเรื่องราวนี้ออกมาให้คนส่วนใหญ่เห็น เพราะมีวิถีชีวิต มีวัฒนธรรม มีความเป็นตัวตนของพวกเขาอยู่ในลายผ้านั้น ๆ ซึ่งควรค่าแก่การสืบทอด พัฒนา และประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน

ผลงานของเอกทำขึ้นภายใต้แนวคิด ‘ไดอารี่ของ 2566’ จินตนาการว่า ถ้าชาวเขามาอยู่ในเมืองจะเกิดอะไรขึ้น ลายเส้นที่ออกมาจึงมีที่มาจากช่องว่างของตึก อาคาร บ้าน เพื่อสื่อความเป็นเมือง 

“เราอยากสร้างความเข้าใจและเชื่อมเสื้อผ้าพื้นถิ่นกับคนรุ่นใหม่ ทำให้คนหมู่มากในสังคมให้ความสนใจกผ้าพื้นถิ่น และอยากให้คนภูมิใจกับชาติพันธุ์มากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นมาโดยตลอด”

ผู้ประกอบการรายแรกที่เอกร่วมงานด้วย คือนัดลดาคอตตอน

“ชื่อปลื้มค่ะ ตอนนี้ทำแบรนด์ นัดลดาคอตตอน” ปลื้ม-ผกาวดี แก้วชมพู แนะนำตัวกับเรา 

นัดลดาคอตตอน เป็นแบรนด์ชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านห้วยทราย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

นัดลดาคอตตอนส่งต่อภูมิปัญญามา 4 รุ่น ตั้งแต่รุ่นทวด รุ่นยาย รุ่นแม่ และรุ่นปลื้ม ไอเดียที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชุมชนมีมาตั้งแต่รุ่นทวด เธอค่อย ๆ พัฒนาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อเข้าถึงคนกลุ่มใหม่

ส่วนลวดลาย เธอได้รับแรงบันดาลใจจากการทำงานและการใช้ชีวิตกับชุมชน ปลื้มใช้เทคนิคทอสลับ เส้นยืนเป็นลายสายฝน และนำเศษผ้าเหลือจากชุมชนมาทำ Patchwork ตามที่ อ.เอก แนะนำ

“เรานำสิ่งที่อาจารย์เอกแนะนำ ใช้งานจากเศษผ้าหรืองานรียูสที่ทอทิ้งไว้ ลายมันสวย เราก็เอามาปะบนเสื้อแล้วไปลองขาย สิ่งนี้ตอบโจทย์ลูกค้าต่างชาติ และมีลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้น

“อาจารย์พัฒนาจุดแข็งของเราให้แข็งแรงขึ้น เราคิดว่าผ้าไทยไม่ได้หยุดอยู่แค่ว่าจะต้องเป็นเสื้อผ้าของกลุ่มข้าราชการเท่านั้น จริง ๆ ทุกเพศ ทุกวัย ก็ใส่ได้ และผ้าไทยก็ช่วยยกระดับชุมชนขึ้นมาเช่นกัน”

ผู้ประกอบการรายที่ 2 ที่เอกร่วมงานด้วย คือนายใจดี

“ชื่อ รุ่งนภา ใจดี เจ้าของแบรนด์นายใจดีค่ะ” 

นาย อดีตพนักงานบริษัทส่งออกที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นเริ่มแนะนำตัว

ชุมชนของนายมีภูมิปัญญางานปัก แบรนด์นายใจดีจึงเน้นทำผลิตภัณฑ์เป็นพวงกุญแจ กระเป๋า และของใช้ต่าง ๆ ด้วยลวดลายซิกเนเจอร์ 3 แบบ ได้แก่ ลายแบบธรรมชาติ มีดอกไม้ ต้นไม้ ภูเขา ลายวิถีชีวิต มีไร่นา มีชาวนา มีกระต๊อบ และลายตัวอักษร ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการเลี้ยงลูก

อาจารย์เอกแนะนำให้หยิบวิถีชีวิตชุมชนมาเล่าผ่านสินค้า เพื่อต่อยอดสินค้าให้มีความทันสมัย 

ผู้ประกอบการรายที่ 3 ที่เอกร่วมงานด้วย คือยาจกไฮโซ

นวภัสร์ จำใจ เริ่มต้นทำร้านยาจกไฮโซเมื่อประมาณ 4 ปีก่อน เกิดจากกลุ่มญาติที่ชื่นชอบงานเย็บปักถักร้อยมารวมตัวกัน ทุกคนเห็นความสำคัญของผ้าชิ้นเล็ก ๆ ที่เหลือจากการตัดเย็บ เลยนำมาตกแต่งเป็น Patchwork ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า หมวก รองเท้า สไตล์เย็บรุ่ย ๆ แล้วปักเพิ่มเพื่อเพิ่มมูลค่า 

“ตอนแรกคิดจะทำเฉพาะในกลุ่มเครือญาติ แต่พอเอาไปขาย ปรากฏว่าผู้คนสนใจกันมาก เลยขยายเข้าไปในชุมชน คนในชุมชนก็เริ่มทยอยมารับงานไปทำ มีการพัฒนาฝีมือมาเรื่อย ๆ แล้วก็คิดลายปักที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มยาจกขึ้นมา” หัวหน้ากลุ่มเล่าที่มาที่ไปพอให้ทำความรู้จักกันสั้น ๆ 

ยาจกไฮโซผสานภูมิปัญญาการทอและการปักเข้าด้วยกัน และพัฒนาลูกเล่น เช่น สร้างงาน 3 มิติ ทำให้ภาพรวมดูร่วมสมัยขึ้น เก๋ และไม่ซ้ำใคร แถมเป็นที่พูดถึงของกลุ่มลูกค้าชาวจีน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ต่าย-ธีระ ฉันทสวัสดิ์ เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงดีไซเนอร์ เพราะคร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มาตั้งแต่ยุคบุกเบิก เป็นที่พูดถึงในบทบาทอาจารย์ นักลงพื้นที่ เจ้าของแบรนด์ และฉายามือปราบโอทอป

ยังมีอีกสารพัดสิ่งที่ อ.ต่าย ทำ ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นมีสิ่งที่น่าสนใจอะไรบ้าง

อ.ต่าย เลือกภูมิปัญญาภาคอีสาน เขาต้องการผสานความแตกต่างเข้าด้วยกัน นี่คือความตั้งใจแรก

“ก่อนหน้านั้นเราไปดูชาวเผ่าลัวะ เห็นชาวเขานำผ้าสี่เหลี่ยมมาตัดเสื้อ ตัดเดรสได้ เรารู้สึกว่าทำไมง่ายจัง เลยลองเอารูปทรงเรขาคณิต สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม มาขมวดให้ออกมาเป็นผ้า 1 ผืน จากนั้นวาดลายด้วยเทคนิคไหมแต้มหมี่ เอาพู่กันมาแต้มเป็นลาย เราใช้วิธีนี้เพราะเร็วกว่าการมัดหมี่”

ผู้ประกอบการที่ทำงานร่วมกันทั้ง 4 บ้านมีทัศนคติที่เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ และพร้อมพัฒนา

“เราอยากให้ผู้ประกอบการได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ และเปิดใจว่าผ้าไทยใส่ในชีวิตประจำได้ เวลาทำงานกับผู้ประกอบการ เราจะดูว่าเขาอยากให้ช่วยตรงไหน และเขาต่อยอดจากสิ่งที่สอนได้ยังไง”

ผู้ประกอบการรายแรกที่ อ.ต่าย ร่วมงานด้วย คือวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่ บ้านหัวฝาย

นิดดา ภูแล่นกี่ หนึ่งในสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่ บ้านหัวฝาย บอกเราว่าที่นี่เน้นกระบวนการทำผ้าไหมครบวงจร ตั้งแต่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ตลอดจนทอผ้า เธอสืบทอดภูมิปัญญาผ้าไหมมัดหมี่มาตั้งแต่รุ่นยายและรุ่นคุณแม่ จนกระทั่ง พ.ศ. 2555 มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

ทางหน่วยงานพัฒนาชุมชนส่งกลุ่มเข้าประกวด KBO Knowledge Based OTOP ประกวดองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างจากเดิมทำมัดหมี่ มัดย้อม คือแต้มหมี่

การแต้มหมี่เป็นการใช้พู่กันจุ่มสีแต้มบนเส้นไหม ต้องกำหนดลวดลายให้เสร็จก่อน แล้วจรดพู่กันลงเส้นไหมแทนการมัด จากนั้นใช้เชือกฟางมัดแล้วค่อยย้อม ลายจะทันสมัยมากขึ้น แต่เดิมกลุ่มใช้สีเคมีในการย้อม ปัจจุบันค่อย ๆ พัฒนามาใช้สีธรรมชาติในการย้อม และคิดลวดลายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

“อาจารย์ให้คำปรึกษา พยายามหาลายที่คิดว่าเราน่าจะผลิตและจำหน่ายได้ นั่นเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือคนในชุมชนได้จริง ๆ เราให้เขาพัฒนาสิ่งนี้ต่อไป” นิดดาเล่าถึงการแลกเปลี่ยนความรู้กับ อ.ต่าย

ผู้ประกอบการรายที่ 2 ที่ อ.ต่าย ร่วมงานด้วย คือ Jutatip SKJ Design

จุฑาทิพย์ ไชยสุระ ทำผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ เส้นฝ้ายย้อมสีธรรมชาติและเสื้อผ้า

“เป้าหมายของแบรนด์ Jutatip คือการไม่ละทิ้งบ้านเกิด เราเลยสนับสนุนให้ช่างฝีมือประกอบอาชีพที่บ้าน โดยแบรนด์ของเราทำงานร่วมกับชุมชนภาคอีสานและผลิตสินค้าจากธรรมชาติ”

วิธีทำงานร่วมกัน เพ็ญเล่าว่า อ.ต่าย ช่วยพัฒนาเทคนิคซ้อนเทคนิค สร้างความแตกต่าง 

“สมมติว่าอาจารย์เล็งเห็นศักยภาพของเรา ว่าเราทำลายผ้านี้ สีนี้ได้ อาจารย์จะแนะนำให้เราเสริมเทคนิคนี้ลงไปอีก ใครมาเห็นจะได้รู้สึกว่า โอ้ ผ้านี้ทำยาก แล้วช่วยยกระดับราคาให้สูงขึ้นได้

“เรามีลายทอสายรุ้ง ปกติทอแค่ 3 กระสวย อาจารย์ต่ายบอกว่าลองทอผ้า 7 กระสวยดู พอลองทำ ก็ทำได้” เพ็ญเล่า และเธอเล็งเห็นว่าถ้าไม่มีคนเข้ามาพัฒนา ไม่มีการส่งต่อ วันหนึ่งภูมิปัญญาก็จะหายไป เธอพยายามทำงานให้เป็น Branding และพัฒนาร่วมกับนักออกแบบ เพื่อให้ลายทันสมัย น่าสวมใส่

ผู้ประกอบการรายที่ 3 ที่ อ.ต่าย ร่วมงานด้วย คือ Victory Plus 

วิฑูรย์ ไตรรัตน์วงศ์ เป็นผู้ก่อตั้ง Victory Plus ที่สนใจงานหัตถกรรมและสิ่งแวดล้อม

เขาเล่าว่าก่อนหน้านี้ทำงานประเภทเปเปอร์มาเช่และพัฒนางานให้ละเอียดขึ้น

“เราทำให้เปเปอร์มาเช่ไม่ใช่แค่ของเล่นเด็ก แต่เป็นของตกแต่งในบ้านราคาสูงได้ ที่สำคัญ เราดูแลสิ่งแวดล้อม และเห็นว่าสิ่งทอก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราเข้ามามีส่วนร่วมที่ทำให้คนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมได้”

เขาเริ่มจากเลือกวัสดุ เลือกสิ่งทอที่สร้างความสนใจและสร้างความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมได้ 

ปัญหา PM 2.5 คือเรื่องที่วิฑูรย์ให้ความสนใจ เพราะขอนแก่นก็เป็น 1 ใน 5 ของพื้นที่ที่ก่อให้เกิดปัญหานี้จากการเผาทำลายใบอ้อย เขาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจนพบว่าทำเส้นใยผ้าจากใบอ้อยได้

“เราเจออาจารย์คนหนึ่งที่ทำเส้นใยใบอ้อยหมักด้วยธรรมชาติ เราคิดว่า ถ้าเอาใบอ้อยมาพัฒนาเป็นเส้นใยในงานสิ่งทอหรือเครื่องนุ่งห่ม จะเพิ่มมูลค่าได้หลายสิบเท่า จึงตัดสินใจเอาเส้นใยมาทอผ้า

“เราเลือกทอผ้าด้วยลายขัด เป็นหลักการเดียวกันกับจักสานไม้ไผ่ เพราะอยากลองสร้างลายด้วยเทคนิคอื่น นอกเหนือจากการมัดหมี่ ส่วนการย้อมสีธรรมชาติ เราใช้ใบ เพราะรบกวนต้นไม้น้อยที่สุด”

เมื่อสีย้อมธรรมชาติให้สีอ่อน เขาต้องศึกษาวิธีให้สีเข้มขึ้น นั่นคือการใช้มอร์แดนท์ 

“บางทีเราก็ย้อมทับด้วยสีที่ต่างกัน คล้ายผสมสี เช่น สมมติย้อมครามมาแล้ว อยากให้เข้มกว่าครามต้องทำยังไง เราก็ย้อมทับด้วยสีจากฝักคูน ก็จะได้สีเข้มที่ติดโทนน้ำตาลมาด้วย” เราเห็นถึงความกระตือรือร้นของวิฑูรย์ เพราะนอกจากเรื่องนี้ เขายังนำเทคโนโลยีมาช่วยออกแบบลวดลายด้วย

ผู้ประกอบการรายที่ 4 ที่ อ.ต่าย ร่วมงานด้วย คือ ชุติกาญจน์ บุญงาม 

ศูนย์หัตถกรรมที่นี่ผลิตผ้ามัดหมี่ ผ้าซิ่นจีนแดง ผ้าพันคอ ผ้าชุด ผ้าสไบ และนำผ้ามาตัดเย็บเป็นพวงกุญแจ ยางรัดผม และเสื้อผ้าสำเร็จรูป (เรื่องการแปรรูปสินค้นมีอ.ต่ายให้คำแนะนำ) ผ้าทุกผืนเกิดจากการทอมือและย้อมสีธรรมชาติ เช่น กล้วย ขนุน ใบสาบเสือ ใบมะม่วง ฯลฯ

“อาจารย์ต่ายเข้ามาช่วยปรับเรื่องผ้า สีสัน และรูปแบบ ให้เหมาะกับการใส่ในชีวิตประจำวัน อย่างลวดลาย หรือสี อาจารย์แนะนำให้ใช้วัสดุที่มีรอบตัวมาดัดแปลง และสร้างลายให้แตกต่างจากเดิม เพื่อให้สินค้าของเรามีเอกลักษณ์ ทันสมัย ร่วมสมัย เพื่อไปสู่ระดับสากลได้

“การเกิดขึ้นของโครงการนี้เรามองว่าสำคัญนะ มีอาจารย์มาช่วยเรื่องเทคนิคต่าง ๆ คอยให้คำปรึกษา ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนางาน และเราก็พร้อมจะทดลองสิ่งใหม่ ๆ เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนาเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่ตลอด”

ชุมชนได้ยกระดับภูมิปัญญา ได้พัฒนาคุณภาพชีวิต กลับกัน อ.ต่าย ได้รับสิ่งใดตอบแทน

“เราได้ความสุข เราต้องทำทุกวันให้มีความสุข ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ ผู้ประกอบการยินดีต้อนรับมาก ๆ เราดีใจที่เขายินดีที่จะมาเรียนรู้ด้วยกัน เราเชื่อว่าเขาจะพัฒนาและต่อยอดด้วยตัวเองได้แน่นอน”

ผ้าไทยต้องไปต่อ!

นักออกแบบและผู้ประกอบการทำมีปลายทางเดียวกัน คือทำให้ภูมิปัญญาคงอยู่อย่างร่วมสมัย 

สิ่งที่ต่างกัน คือวิธีคิด วิธีทำ วิธีผลิตผลงาน และอัตลักษณ์ของทั้ง 4 ดีไซเนอร์ และ 13 ผู้ประกอบการที่ชัดเจนในตัวตน ซึ่งการมาทำงานร่วมกันครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่แต่ละท่านได้มาแลกเปลี่ยนความคิดกัน และได้ประสบการณ์ที่นำกลับไปปรับและประยุกต์กับการทำงานได้ 

สิ่งที่เหมือนกัน คือทุกคนไม่ได้อยากจบงานลงตรงที่จบโปรเจกต์ การจะทำให้ภูมิปัญญาเก่าคงอยู่ร่วมสมัยอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยเวลาและการปรับตัวของบุคคลทุกกลุ่ม ตั้งแต่ชาวบ้าน คนสร้างงาน นักออกแบบ เจ้าของแบรนด์ และผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งข้อนี้สำคัญมาก

สิ่งที่คาดหวังอยากให้เกิดขึ้น คือการสนับสนุนจากรัฐและเอกชน ที่เห็นภาพชัดที่สุด คือการบอกต่อหรือประชาสัมพันธ์สิ่งที่ทุกคนทำสู่สังคมแบบวงกว้าง สื่อสารประเด็นที่ต้องการสื่อให้คนได้เข้าใจร่วมกัน 

สิ่งสุดท้าย คือคำขอบคุณ คำขอบคุณถึงทีมผู้ริเริ่มโครงการ คำขอบคุณระหว่างคนทำงานร่วมกัน คำขอบคุณระหว่างดีไซเนอร์ ผู้ประกอบการ และช่างฝีมือทุกคน รวมถึงคำขอบคุณจากตัวเองถึงตัวเองของทุกคนในโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย (Ready to Wear) เพราะศักยภาพ ความตั้งใจ ล้วนเห็นเป็นประจักษ์ผ่านผลงานที่ผลิตออกมาในครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว

Writer

Avatar

ปิยฉัตร เมนาคม

หัดเขียนจากบันทึกหน้าที่ 21/365 เพิ่งค้นพบว่า สลัดผักก็อร่อย หลงใหลงานคราฟต์เป็นชีวิต ของมือสองหล่อเลี้ยงจิตใจ ขอจบวันง่าย ๆ แค่ได้มองพระอาทิตย์ตกจนท้องฟ้าเปลี่ยนสี วันนั้นก็คอมพลีทแล้ว

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ