“ชีวิตครูเหมือนภาพยนตร์เรื่อง คิดถึงวิทยา ไหมคะ”
“ได้อยู่นะ แต่ในใจแอบคิดว่า อาจจะเหมือนหนังอีกเรื่องที่ครูโดนยิงตายตอนจบ (หัวเราะ)”
“หือ ครูบ้านนอก หรือคะ”
“นั่นแหละ”
ลุย-ธีระพล พงษ์พิมาย หรือ ครูลุย จากโรงเรียนบ้านบาละ อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ทำหน้าที่ครูด้วยความมานะบากบั่นมาตลอด 15 ปี ตื่นตี 4 เดินทางไป-กลับโรงเรียนและที่พักกว่า 100 กิโลเมตรต่อวัน ตามลูกศิษย์กลับมาเรียนอย่างตั้งใจไม่แพ้ตอนสอน ฟอร์มทีมครูสร้างห้องเรียนฉุกเฉินเพื่อไม่ให้นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา และสวมหมวกซ้อนกันหลายใบในทุกวินาที ไม่ว่าจะเป็นครู เพื่อน หรือพ่อ
ต่อจากนี้คือชีวิตของลุยที่ลุยฝ่าระเบิดไปสอน เพื่อความฝันเพียง 2 ประการ คือ สร้างเด็กให้สมบูรณ์และมีความสุข


ครูจนผู้ยิ่งใหญ่
นักศึกษาคณะครุศาสตร์ เอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เริ่มงานที่จังหวัดยะลาในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย 5 ปี ก่อนบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนบ้านบาละเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวตลอดมา
“ผมเป็นเด็กจน ไม่มีทางเลือกมาก บ้านก็ไม่มี เข้ารับราชการเพราะต้องใช้สวัสดิการรักษาคนในครอบครัว แต่พอมาแล้วผมกลับค้นพบว่า ยะลาไม่ใช่แค่เมืองที่สงบ แต่ที่นี่ทำให้ผมรู้สึกมีประโยชน์ เมื่อมีประโยชน์ก็มีตัวตน ที่สำคัญคือความจนของผมทำให้ผมเข้าใจลูกศิษย์ทุกอย่าง” ลุยเริ่มเล่า
สิ่งที่เขาสอนไม่ใช่แค่วิชาภาษาไทยที่ถนัด แต่คือการสอนให้เด็กเป็นคนที่สมบูรณ์และมีความสุข ใช้ชีวิตท่ามกลางสถานการณ์ใดก็ได้ โดยไม่ใช้ขีดจำกัดของชีวิตมาเป็นข้ออ้างในการกระทำผิด
“ความจนไม่ใช่ใบเบิกทางให้คุณไปขโมยของใคร” เขายกตัวอย่าง
แต่ปลายทางยากจะไปถึงด้วยหลายปัจจัย เบื้องหลังของเด็กหนึ่งคนไม่ได้มีแค่ปัญหาเดียว หากแต่ถูกรวมมาเป็นก้อนใหญ่ เด็กคนนั้นไม่ใช่แค่ไม่มาเรียน แต่มีปัญหาครอบครัว ยาเสพติด ความรุนแรง โรคภัยอยู่เบื้องหลัง ลุยจึงบอกว่า นี่เป็นงานหนัก จนตอนนี้รู้สึกท้อแท้
ไม่มีใครอยากให้ความท้อดำเนินไปถึงจุดสิ้นสุด เพราะปลายทางนั้นคงนำเขาออกจากระบบการศึกษา พร้อมด้วยเงาของนักเรียนอีกหลายคนที่ต้องเดินตามออกไป เราใช้คำว่า ‘ต้อง’ เพราะหากไม่มีลุยที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ‘ทุกวัน’ แทนที่จะเป็น ‘ทุกปี’ ตามมาตรฐาน ป่านนี้เด็กจำนวน 52 คนที่เขาฉุดรั้งไว้คงหลุดออกนอกวงโคจรไปไกลแล้ว
“ภาระงานในหน้าที่ครูไม่เอื้อต่องานที่เราชอบ ทุกวันผมไปลงเยี่ยมบ้านเพื่อเก็บข้อมูล เข้าใจปัญหาเชิงลึก และช่วยลูกศิษย์หาทางแก้ แต่ตอนนี้งานเอกสารเยอะจนไม่มีเวลาทำอะไร”


ความหดหู่ขั้นสุดของเขาเกิดขึ้นเมื่อหลายเดือนก่อน นั่นเป็นครั้งแรกที่ลุยจำใจปฏิเสธนักเรียนที่มาขอให้จัดกิจกรรม เพราะเขาจำเป็นต้องลุยงานเอกสารก่อน
“มันคือความโหดร้าย ผมบอกนักเรียนว่าไม่ว่าง” เสียงของเขาเศร้ากว่าเก่าเมื่อเล่าว่า ปัจจุบัน ลูกศิษย์คนนั้นไม่กลับมาหาเขาอีก และเขาก็ยังไม่มีเวลาไปตามหาเธอเพื่ออธิบายให้เข้าใจ
นอกจากการจัดการเวลาที่ครูหลายคนพยายามทำ ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องได้รับการแก้ไขให้เหมาะสม ลดงานเอกสารที่ไม่จำเป็นลง โดยเฉพาะรายงานที่ส่งแล้วไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์
คำถามต่อมาที่เขาตั้งให้ตัวเองคือ หากเดินต่อไป จะยังหลงเหลือความเป็นครูอยู่ไหม
ไม่มีใครทราบคำตอบ แต่ตอนนี้ที่เขาเดินอยู่ เขาขอสอนหนังสือและใช้ชีวิตดูแลเด็กอย่างเต็มที่ เพื่อตอบสนองรอยยิ้มและแววตาแห่งความหวังของเด็กน้อย ซึ่งเป็นทั้งพลังใจและฟางเส้นสุดท้าย

ครูห้องเรียนฉุกเฉิน
ครูภาษาไทยยึดหลักว่า หากในห้องไม่มีเสียงหัวเราะ แปลว่าไม่ได้สอน แต่ในบางครั้งเขาก็หัวเราะไม่ออก เมื่อสถานการณ์รอบตัวไม่เอื้ออำนวย
แม้คณะครูจะไม่ได้พักอยู่ในพื้นที่สีแดง แต่ชีวิตประจำวันของพวกเขาต้องเผชิญความเสี่ยงอยู่บ่อยครั้ง โดย 3 – 4 ครั้งเป็นการขับรถผ่านระเบิดระหว่างเดินทาง หรืออยู่ในเหตุการณ์ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐกับคนร้ายปะทะกัน
“รถต้องวิ่งตามกันไปหลายคันเป็นระยะทางเกือบ 60 กิโลเมตรเพื่อเข้าโรงเรียน เราผ่านพื้นที่สีแดง รถทหารนำหน้าอยู่ แต่จู่ ๆ เสียงระเบิดก็ดังขึ้น ทุกคนต้องหนีลงคูกันหมด เคยอยู่ในวงล้อมการปะทะจนต้องเปลี่ยนเส้นทาง มันเกิดจนชิน แต่ยอมรับว่าครูก็คน เจอระเบิดไปก็ขวัญเสีย สอนไปสั่นไป หัวเราะไม่ออก”
เดิมพื้นที่โดยรอบโรงเรียนเป็นพื้นที่สีแดง แม้ขณะนี้จะเป็นสีเขียว ก็ยังเขียวไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนต้องอยู่ให้เป็นและอยู่ให้ได้ เราถามเขากลับว่า ย้ายไปที่อื่นไม่ง่ายและปลอดภัยกว่าหรือ แต่อีกฝ่ายตอบว่า ที่นี่ยังต้องการเขา นักเรียนเชื่อว่าถ้าครูอยู่ ชีวิตพวกเขาจะเปลี่ยนไป


ผู้สอนเห็นทุกปัญหาตั้งแต่เด็กไม่มีกระดาษฝึกเขียน พ่อแม่ไม่มีทุน จนถึงบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ สุดท้ายจึงเกิดเป็นขบวนการครูขึ้น โดยอาศัยเชื้อไฟแห่งความหวังมาสุมรวมกันภายใต้ชื่อระบบ Emergency Classroom เพื่อดึงเด็กที่เสี่ยงหลุดออกนอกระบบกลับมาและยื้อไว้ให้นานที่สุด
ระบบนี้ดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้ว เพราะปัญหาเด็กเสี่ยงหลุดมีมาก่อนโควิด-19 และมีอยู่ทุกโรงเรียน ตัวลุยเคยเป็นเด็กเสี่ยงหลุดมาก่อน แต่โชคดีมีคุณครูมาฉุดรั้งไว้ คราวนี้จึงถึงตาเขาออกโรงบ้าง

“คุณรู้ไหมว่าเราต้องสู้กับอะไร นอกจากความเคยชินของเด็กที่ไม่มาโรงเรียน ยังต้องสู้กับผู้ปกครอง เพราะเขาคาดหวังให้ลูกออกไปทำงานเลี้ยงครอบครัว การดึงเด็กกลับมากลายเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยง เราจึงต้องบรรเทาให้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ขอทุน ซึ่งก็หายากมาก เพราะส่วนใหญ่เขาให้แต่เด็กเรียนดี เราใช้วิธีดึงเด็กกลับมาก่อนแล้วรีเกรด ติวทุกวัน ถ้าเขาผ่านระบบ Emergency Classroom ของโรงเรียนบ้านบาละไปได้ รับรองเกรดเฉลี่ยดีทุกคน เพราะเขาเจอคุณค่าในตัวเองและมีเราสนับสนุน
“ส่วนรายได้ที่เขาขาดไป เราก็ตั้งเป็นกลุ่มเยาวชนขึ้นมา รับทำไอศกรีมหรือเบเกอรี่ เพื่อคืนรายได้ให้ครอบครัว ทุกอย่างต้องแก้เป็นระบบ เด็ก ๆ ที่ช่วยกันดูแลส่วนใหญ่เราไปตามเขา 3 – 4 ครั้ง แต่บางครั้งจนใจจริง ๆ ก็ต้องปล่อยไป”
ผลลัพธ์ของการตามเด็กกลับห้อง คือมีนักเรียน Emergency Classroom กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย 4 – 5 คน และมีเด็กจำนวนเท่า ๆ กันกำลังเรียนอยู่ในคณะที่พวกเขาตั้งใจเลือก
กระนั้น หน้าที่ของครูก็ยังไม่จบ


ครูมาแล้ว!
“เวลาทำงานของครูไม่ได้เริ่ม 8 โมงเช้า แล้วจบ 4 โมงเย็น เราอยู่กับหน้าที่นี้ทั้งวันทั้งคืน’
แม้กระทั่งลูกศิษย์ที่เข้าระดับอุดมศึกษาแล้ว ลุยยังคงให้คำปรึกษาต่อ ทั้งการวางแผนเรียน การดูแลตัวเอง การใช้จ่าย ตลอดจนการกู้ กยศ. และคิดวิธีหาคอมพิวเตอร์ให้เด็กใช้
ถูกต้อง ลุยวางแผนจะยกคอมพิวเตอร์ของตนเองให้นักเรียนยืม เพราะลูกศิษย์มีฐานะยากจน ไม่มีทุนซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็น นอกจากนี้ เขายังมอบเงินส่วนตัวให้นักเรียนบางคนที่ต้องการจริง ๆ โดยเขาไม่ได้มองว่าเป็นการมอบให้ในฐานะครู แต่เป็นการสนับสนุนลูกในฐานะพ่อ

เคสต่อมาที่เขายกตัวอย่างคือ พิชานันท์ ผลผลา หนุ่มน้อยคนนี้อาศัยอยู่บนภูเขา แม่ไม่มีเงิน แต่อยากให้ลูกเรียน ก่อนมาโรงเรียนจึงต้องให้ลูกไปแวะเก็บน้ำยางเพื่อหารายได้
ฟาตีมะห์ อาบู คือเด็กหญิงผู้มีความตั้งใจ แต่มีความยากจนเป็นอุปสรรคใหญ่ เพราะพ่อแม่มีลูกหลายคน ทั้งหมดอาศัยรวมกันอยู่ในเพิงพักที่ต่อจากหลังบ้านของยาย มีขนาดเท่าห้องน้ำเล็ก ๆ ในปั๊มน้ำมัน
คนสุดท้ายคือ พีรพงษ์ ทองพิจิตร เด็กชายอาศัยอยู่กับยาย ตอนเช้าต้องไปเก็บน้ำยางเช่นกัน จนลุยสังเกตว่า ลูกศิษย์มีอาการสลึมสลือด้วยความเหนื่อยจนกระทบต่อการเรียน จึงจัดการคุยกับครอบครัวให้
สังเกตว่าส่วนใหญ่ ‘เด็กเสี่ยงหลุด’ มักอยู่ในระดับประถมศึกษา ด้านบนคือเคสที่ต้องไปตามถึงบ้าน เผชิญหน้ากับคนที่ไม่ต้อนรับด้วยใบหน้าบึ้งตึง แต่ลุยคิดว่า คนที่เขามาหาคือลูก จึงขยันไปอย่างไม่ย่อท้อ ส่วนผลลัพธ์ที่ตามมา คือการเปลี่ยนหน้ามุ่ยให้กลายเป็นมิตรภาพจากทุกบ้านและทุกสวน
เด็กเหล่านี้ได้รับการดูแลที่ดีขึ้นกว่าเก่า แม้จะไม่เข้าขั้นสบาย แต่ก็ทำให้พวกเขาไม่กลายเป็นคนนอก

“ครูสมัยก่อนถูกเปรียบว่าเป็นเรือจ้าง แต่ตอนนี้เราคิดว่าเหมือนโรงสี เพราะเราไม่เลือกสี ข้าวอะไรก็จะทำให้กลายเป็นข้าวที่สวยทุกเม็ด”
ตั้งแต่ลูกศิษย์ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา ครูคนนี้ตั้งใจดูแลให้เติบโตไปอย่างมั่นคง มีผลการเรียนดีเป็นรางวัลที่ทำให้ชื่นใจ จากนั้นจึงกล้าปล่อยมือ แต่ก่อนถึงปลายทางที่หวัง เราเชื่อว่าโรงสีแห่งนี้จะยังทำงานทุกวันไม่มีหยุด เพื่อสานต่อดวงตาที่เต็มไปด้วยประกายแห่งความหวัง ไม่ให้หวังนั้นดับมอดลงเร็วจนเกินไป

ภาพ : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)